18 กุมภาพันธ์ 2561

Rhesus Bloodgroup

หลังจากที่เราได้เรียนรู้เรื่อง หมู่เลือด BOA ไปแล้ว (เรียก ABO ดูมันซ้ำๆเนอะ) มาต่ออีกนิดกับหมู่เลือดที่สำคัญอีกอย่าง Rhesus

  เราจะเข้าใจได้ชัดเจนถ้าเรารู้จักความเป็นมา หลังจากแลนสไตนเนอร์ได้รับรางวัลโนเบลเรื่องหมู่เลือด ความรู้เรื่องหมู่เลือดได้เผยแพร่กว้างขวางพร้อมกับการพัฒนาของวิชาเวชศาสตร์และธนาคารเลือด  จริงๆแล้วตั้งแต่ปี 1921 เริ่มมีคำถามว่าแม้หมู่เลือด ABO จะตรงกันแต่ก็ยังมีปัญหาเลือดตก ตะกอนเลือดแดงแตก แสดงว่าน่าจะมีคำอธิบายมากกว่านั้น

  ในช่วงปี1937-39 แลนสไตนเนอร์และ Alexander Weiner ได้ศึกษาถึงว่าถ้าหากเรานำเลือดของลิงรีซัส (Rhesus monkey) ที่มีแอนติเจน M เหมือนกับมนุษย์ ไปฉีดให้กับกระต่าย กระต่ายจะไม่ตายตอนนั้นเพราะกระต่ายไม่มีแอนติบอดีต่อ M  แต่ถ้าหลังจากนั้นเอาเลือดกระต่ายไปสกัด ได้ซีรัมออกมา จะสามารถไปตกตะกอน เลือดที่มีแอนติเจน M ได้
  หลักการนี้ เราเรียกว่า แอนติเจนบางชนิดสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (alloantibody) ที่จะไปทำลายแอนติเจนนั้นหากได้รับครั้งต่อไป แม้จะเป็นเนื้อเยื่อหรือแอนติเจนของสายพันธุ์เดียวกันเอง เช่นคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง คนเหมือนกันแต่ว่า แอนติเจนและพันธุกรรมต่างกัน 

  เอาล่ะ วิทยาศาสตร์อธิบายยาก เรามาดูภาพง่ายๆกัน ความจริงที่ว่าคนทั่วไปส่วนมากจะเป็น Rh+ คือมีแอนติเจน Rh แต่คนส่วนน้อยจะเป็น Rh- คือใสๆ ไม่มีแอนติเจน ไม่มีแอนติบอดี

   หากมารดาที่มีเลือด Rh- ที่พบน้อยๆนี้ ตั้งครรภ์เด็กที่เป็น Rh+   ก็ต้องสันนิษฐานแบบนั้นไว้ก่อนเพราะ Rh+ มันพบมาก แน่นอนเลือดแม่และลูกย่อมถึงกันได้ เลือดลูกที่เป็น Rh+ บางส่วนเข้าสู่ตัวแม่
เกิดอะไรขึ้น.... ร่างกายแม่ไม่เคยรู้จัก Rh+ มาก่อน และบังเอิญว่าเจ้า แอนติเจน Rh มันกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีทีเดียว ...ร่างกายแม่ก็จะรับรู้และสร้างแอนติบอดีขึ้นมาเงียบๆ

  ตั้งครรภ์แรกจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เป็นแค่การเริ่มต้น แต่คราวนี้ในตัวแม่จะสร้าง แอนติบอดีต่อ Rh+ เรียบร้อย  ตัวแม่ปลอดภัยเพราะตัวแม่ Rh- ไง  (จำได้ไหม แอนติเจนและแอนติบอดีมันต้องตรงกันมันจึงจะเกิดปฏิกิริยา)

  เอาล่ะ ...เรื่องราวก็ดำเนินไปที่แม่ตั้งครรภ์ที่สอง  โอกาสลูกก็เป็น Rh+ อีกนั่นแหละ เพราะมันพบบ่อยกว่า แต่คราวนี้ไม่ง่ายแล้ว แอนติบอดีต่อ Rh+ ที่แม่สร้างขึ้น มันเป็นแอนติบอดี้ชนิด IgG ที่ผ่านรกได้ !!!

   แน่นอน แอนติบอดีต่อRh+ จากแม่เข้าสู่ลูก สิ่งที่ลูกจะพบคือ เลือดแดงแตก ซีด นั่นไม่เท่าไร แต่สารบิลิรูบินสารเหลืองที่ได้จากการสลายเม็ดเลือดมันจะไปสะสมที่สมองลูก ทำให้ลูกพิการ ปัญญาอ่อน พัฒนาการผิดปกติจากสารเหลือง เรียกความผิดปกตินี้ว่า kernicterus นั่นเอง
  และโรคนี้ก็คือโรค hemolytic disease of the newborn สามารถลดความเสี่ยงและอันตรายได้หากทราบว่าแม่ Rh- และในตัวแม่มีแอนติบอดีต่อ Rh+ เรียบร้อย โดยฉีดสาร anti-D immunoglobilins ไม่ให้แอนติบอดี Rh+ ของแม่ไปจับทำลาย เม็ดเลือดที่มีแอนติเจน Rh+ ของลูก

  anti-D มาใช้กันหลังปี 2000 เดิมคือ Rh factor ตามชื่อการค้นพบจากลิง Rhesus และต่อมาเปลี่ยนเป็น anti LW (Ladnstiener and Wiener) และสุดท้ายก็เป็น anti-D

  แม้ว่าชื่อจะมีหลายชื่อแต่มาจากต้นกำเนิดแหล่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น โรเบิร์ต แพตทินสัน, ทอม ครูซ, กงยู, ณเดชน์, น้องนาย นภัทร, ลุงหมอชราหน้าหนุ่ม ทั้งหมดนี้ก็มาจากที่เดียวกัน คือ แอดมินเพจอายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียว ...ด้วยประการฉะนี้ แล

เครดิตภาพ : national geographic

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม