14 กุมภาพันธ์ 2561

anaphylaxis ภูมิแพ้รุนแรง

ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงถึงตาย มาติดตามคนไข้มาที่ห้องฉุกเฉินกัน

  ชื่อก็บอก มันก็ต้องเกิดจากการแพ้สารใดสักตัว อาจเป็นสารที่เราทราบชัดๆเช่นกินหอยทะเลมาแล้วเกิด ฉีดสารทึบรังสีเวลาตรวจทางรังสีวิทยาแล้วเกิดอาการ หรือไม่ทราบเลยเช่น เข้าไปในห้องปิดมืดเมื่อสักครู่แล้วออกมาผื่นขึ้น หรือกินยาสี่ห้าตัวพร้อมๆกัน ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงพร้อมๆกัน โดยผ่านการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ชื่อว่า immunoglobulin ชนิด E เกิดกระตุ้นเซลหลายตัวให้หลั่งสารเคมีออกมาพร้อมๆกัน
   อาการที่สำคัญคือ มีอาการแสดงทางผิวหนังเช่น บวม ผื่นขึ้น ลมพิษ ร่วมกับอาการแสดงของเยื่อบุในปากหรือทางเดินหายใจ อันนี้จะไม่เห็นว่าบวมจากด้านนอก แต่บวมในข่องปากและหลอดลม หลอดลมด้านล่างก็ตีบแคบอีก  และมีอาการทางหลอดเลือดคือ หลอดเลือดขยายทั้งตัว ความดันโลหิตจะตกลง ชีพจรจะเร็วขึ้น

  อาการทั้งหมดเกิดเป็นหลักนาที ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ระหว่างนำส่งให้เปิดทางเดินหายใจโล่ง แหงนหน้าคางเชิด ฟันปลอมเอาออกให้หมด อย่าลืมหลักนับเป็นนาทีนะเข้าไปสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

   ทำไมจะต้องเร็วขนาดนั้น เพราะปัญหาสำคัญคือ ทางเดินหายใจอุดตันนั่นเอง พอมาถึงห้องฉุกเฉิน คุณหมอจะประเมินเรื่องทางเดินหายใจก่อนเลย หากปรากฏว่าทางเดินหายใจอุดตันหรือใกล้จะตัน คุณหมอจะใส่ท่อช่วยหายใจทันที หรือในรายบวมมากๆอาจต้องเจาะคอฉุกเฉิน ประเด็นนี้สำคัญที่สุด ปล่อยไว้ก็จะขาดอากาศและบวมมากจนใส่ไม่เข้า

  ในขณะเดียวกันกับการประเมินและแก้ไขทางเดินหายใจคุณหมอจะดูชีพจร ความดันทันที หากพบว่าความดันโลหิตตกจะเริ่มให้น้ำเกลือปริมาณสูงและเร็ว เพื่อชดเชยสารน้ำในเลือดที่ไหลออกนอกหลอดเลือด  จะมีคนเปิดเส้นน้ำเกลือทันที เพื่อรักษาระดับน้ำในเลือดในเพียงพอ หัวใจบีบดี ความดันไม่ตก
  ในขณะเดียวกันก็ให้ยา ..อะฮ้า เส้นน้ำเกลือยังใส่ไม่เสร็จเลยจะให้ยาอย่างไร คำตอบคือเราฉีดเข้ากล้ามเนื้อไปเลย ออกฤทธิ์เร็ว และไม่กระชากหัวใจแรงเหมือนฉีดเข้าหลอดเลือด ฉีดเข้าหลอดเลือดนี่ใช้เวลาหัวใจหยุดเต้นนะครับ ในกรณีอื่นต้องเจือจางและระวังหัวใจเต้นผิดจังหวะมากๆเลย

ยาอะไรดี...

  และยาที่เป็นยาตัวแรกจะได้รับทันทีเมื่อคิดถึงภาวะนี้ คือ adrenaline โดยจะใช้ในขนาด 0.5 มิลลิกรัม สามารถให้ซ้ำได้ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 10-15 นาที หากความดันต่ำมากก็ให้ทางหลอดเลือดดำ  adrenaline ออกฤทธิ์เร็วมาก ไปทำให้หลอดเลือดกลับมาแน่นดังเดิม หลอดลมขยายออก บวมลดลง เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตที่ชัดเจน  ถือเป็นยาที่สำคัญ และที่สำคัญกว่าคือมีทุกโรงพยาบาลเพราะเป็นยาหลักที่ใช้ในการกู้ชีวิตฉุกเฉิน
  ขนาดที่ใช้ 0.01มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม คิดเฉลี่ยน้ำหนักที่หกสิบกิโลกรัม ก็ให้ 0.5 มิลลิกรัม เพราะสูงสุดแต่ละครั้งคือไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม คือครึ่งแอมพูล ฉีดเข้ากล้ามนะครับ

   ส่วนยาแก้แพ้ antihistamine จะออกฤทธิ์ช้ากว่า และใช้ลดปฏิกิริยาที่จะเกิดต่อเนื่อง ซึ่งปฏิกิริยาส่วนมากก็เกิดจากสาร histamine นี้เป็นหลัก (ในระยะถัดมานะครับ ระยะแรกจะมีสารทุกตัวที่มาถล่มเรา) ใช้ยาฉีดไปก่อนและเริ่มยากินได้เลยเมื่อปลอดภัยดี ยาที่นิยมก็ chlorpheniramine 10 มิลลิกรัมทางหลอดเลือดดำ
  ยาสเตียรอยด์  ถือว่าบทบาทไม่มากลดความรุนแรงของโรคในระยะหลังๆได้  หรืออาจเกิดซ้ำใน 24 ชั่วโมง หากไม่มีข้อห้ามก็ใช้ hydrocortisone ขนาด 100 มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดดำ (ประโยชน์ของสเตียรอยด์ไม่ชัดเจนนะครับ)
  ยาพ่นขยายหลอดลม ให้เมื่อหลอดลมตีบแคบเท่านั้น ไม่ต้องให้เพื่อกันไว้ก่อน

  ทั้งหมดนี้ทำในหลักไม่กี่นาทีเท่านั้น เพราะสิ่งท้าทายคือ ช่วยเร็วหายเร็วตายน้อย ช่วยช้าจะช่วยยากขึ้น ทางเดินหายใจบวมใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก ระบบหัวใจล้มเหลวจนอาจจะคืนสภาพไม่ได้
  ถึงตอนนี้คนไข้ก็จะปลอดภัยระดับหนึ่ง ผลเลือดต่างๆที่ส่งไปกลับมาพอดี แยกโรคที่อันตรายเช่นหลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำปอด เมื่อเราคิดว่าเป็นภูมิแพ้รุนแรงแน่ๆ ก็รักษาประคับประคองต่อไป

  ขั้นตอนต่อไปเรื่องการหาสารที่แพ้ การป้องกัน การฉีดสารไปปรับภูมิคุ้มกัน การพกยา adrenaline ติดตัว ก็ค่อยๆทำต่อไปได้ครับ

  อ้าว..คนไข้คนใหม่ภูมิแพ้ฉับพลันรุนแรงมาอีกแล้ว  แพ้อะไรมานะ...อ๋อ..แพ้นิวคาสเซิล  โห อาการหนัก ยากจะเยียวยา


ที่มา ตำราภาวะฉุกเฉินทางอายุรศาสตร์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ
ภาพจาก foodallergycanada.ca

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม