31 พฤษภาคม 2561

สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับบุหรี่

สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับบุหรี่ ความเชื่อที่อาจเชื่อกันมานานแต่ไม่ถูกนัก ทั้งหมดนี้ผมสรุปมาจากงานเขียนของผมที่ศึกษาและลงบทความเรื่องบุหรี่มาตลอดนับตั้งแต่ 31 พฤษภาคม ปีที่แล้ว
1. บุหรี่มีพิษภัยต่อผู้สูบแน่ๆ ทั้งจากสิ่งที่สูดเข้าโดยตรง (mainsteam smoke) และควันจากการเผาไหม้ที่ปลายมวน (sidestream smoke) ที่อันตรายกว่าควันเข้าปอดเสียอีก
2. คนรอบข้าง ได้รับควันมือสองอย่างชัดเจนและก่อโรคด้วย ทั้งควันจากปลายมวนและจากที่ผู้สูบบุหรี่พ่นออกมา รวมเรียกว่า secondhand smoke
3. ควันทั้งหลายในข้อหนึ่งและสอง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายโรคอย่างชัดเจน และเมื่อหยุดการสูบก็พบว่าโอกาสเกิดโรคลดลงเช่นกัน ถือได้ว่าเป็นสาเหตุการเกิดโรคอันหนึ่งเลย
4. ควันมือสาม ที่หลงเหลือในสิ่งแวดล้อม ที่นอน เสื้อผ้า ของใช้ มีจริง !! แต่ยังพิสูจน์ความสัมพันธ์การเกิดโรคได้ไม่ชัดเจนเหมือนควันมือหนึ่งและมือสอง
5. บุหรี่ยาเส้น ไปบ์ ซิการ์ อันตรายพอๆกันกับบุหรี่มวน ไม่ว่าแบบใดยี่ห้อใด จะแบบไลท์ หรือแบบปกติ มีกรองหรือไม่มีกรอง
6. นิโคตินคือตัวการสำคัญที่ทำให้ติด แม้นิโคตินจะมีพิษโดยตรงน้อยมาก แต่อันตรายใหญ่หลวงของมันคือ มันทำให้เราเสพติด
7. บุหรี่ไม่ได้มีอันตรายแค่ควันที่เราเห็น สารต่างๆที่ตามองไม่เห็นและดูดซึมไปเรียบร้อยแล้วก่อนจะพ่นควันออกมา ได้เข้าไปทำลายร่างกายโดยที่เราคิดว่าไม่มีเพราะ..ไม่เห็น
8. อันตรายของบุหรี่ไม่ได้มีแค่โรคทางเดินหายใจ สารในบุหรี่สามารถไปสร้างความเสียหายได้เกือบทุกอวัยวะ หลอดเลือดแขนขา หลอดเลือดหัวใจ เยื่อบุช่องปากอักเสบถึงเป็นมะเร็ง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ การดื้ออินซูลินมากขึ้นในผู้ป่วยเบาหวาน
9. ทุกโรคที่ปรากฏมีการศึกษาชัดเจนว่า สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยง เลิกสูบความเสี่ยงลดลง คำแนะนำการรักษาโรคมาตรฐานเกือบทุกอันกำหนดการเลิกบุหรี่เป็นคำแนะนำระดับควรทำอย่างยิ่ง ระดับหลักฐานที่ดีมากน่าเชื่อถือ
10. การสูบบุหรี่ต่อเนื่องแค่เพียงหนึ่งมวนต่อวันก็เพิ่มการเกิดโรคอย่างมาก มีนัยสำคัญทางสถิติเทียบกับผู้ที่ไม่สูบ และยิ่งสูบมากอัตราการเกิดโรคยิ่งมากขึ้น
11. การเลิกบุหรี่แค่ 6 เดือนความเสี่ยงต่างๆของท่านจะลดลงเกือบครึ่ง และถ้าหยุดต่อเนื่องห้าปี ความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆลดลงเกือบเท่าคนปรกติ
12. การเลิกบุหรี่เป็นหนึ่งในการรักษาที่ยากที่สุด หลายคนต้องเลิกหลายครั้ง หลายวิธี จึงสำเร็จ การล้มเหลวในครั้งแรกเป็นสิ่งที่ไม่น่าอาย ต้องสนับสนุนและช่วยต่อไป
13. สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่คือ แรงจูงใจของผู้สูบและกำลังใจจากครอบครัว เพื่อนใกล้ชิด หากแรงจูงใจได้รับการสนับสนุนและคนใกล้ชิดช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ไม่ทอดทิ้ง โอกาสประสบความสำเร็จสูงมาก
14. การรักษาเพื่อการเลิกบุหรี่ที่ใช้ในคลินิกเลิกบุหรี่มาตรฐาน คือ การรักษาที่ค้นคว้าแล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อย ขอให้เชื่อมั่น มีกำลังใจ เข้าถึงและปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง
15. มาตรการต่างๆที่ภาครัฐออกมา ทั้งการเพิ่มภาษี การจำกัดบริเวณสูบบุหรี่ กำหนดอายุผู้ซื้อบุหรี่ การไม่แบ่งขาย การลดรสชาติบุหรี่แบบต่างๆ ล้วนแต่เป็นมาตรการที่ศึกษาและพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์จริงในการลดปริมาณผู้สูบปัจจุบันและป้องกันนักสูบหน้าใหม่
16. ปัจจุบันบุหรี่ถือเป็นความเสี่ยงการเกิดโรครุนแรงอันดับสาม รองจากความดันโลหิตสูงและอ้วนลงพุง องค์การอนามัยโลกและลูกข่ายได้พยายามควบคุมยาสูบอย่างเต็มที่ในสองสามปีนี้ และเริ่มได้ผล
17. ประเทศไทยได้อนุวัติกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องการควบคุมยาสูบมาใช้เรียบร้อย เราหวังว่าความร่วมมือของภาคครอบครัว ภาครัฐ ภาคเอกชน ในเรื่องการสาธารณสุข เศรษฐกิจและการค้า จะทำให้การสูบบุหรี่ลดลง ปริมาณผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ลดลง
18. คำพูดที่ยังเป็นจริงอยู่เสมอคือ ...ติดเพราะอยากลอง...ติดง่ายเลิกยาก...เลิกยากแต่เลิกได้ สุดยอดแห่งการป้องกันและรักษาคือ ไม่เริ่ม ไม่สูบ ไม่ติด
19. ความเชื่อต่างๆที่ผิด เช่นเลิกบุหรี่แล้วจะตาย เลิกบุหรี่แล้วโรคจะแย่ เลิกบุหรี่แล้วไม่มีอะไรแก้เครียด ทุกอย่างมีคำตอบมีทางออก ให้ปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านและติดตามเพจเลิกบุหรี่ต่างๆได้ (เพจนี้ด้วย)
20. มีแอพปลิเคชั่น "คลินิกฟ้าใส" ให้ดาวน์โหลดมาอ่านและศึกษา รวมทั้งสายเลิกบุหรี่ quit line 1600 และ สถานพยาบาลทุกแห่ง ต้อนรับผู้ที่พร้อมเลิกบุหรี่เพื่อช่วยเหลือให้สำเร็จเสมอ
เลิกบุหรี่ ไม่ต้องรอ เลิกได้เลย

30 พฤษภาคม 2561

เลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่าง angiodysplasia

สาเหตุสำคัญของเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่าง angiodysplasia
ทางเดินอาหารส่วนบนและส่วนล่างแยกกันที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น (จุดที่ยึดกับ Ligament of Trietz) สาเหตุสำคัญของเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้นคือแผลในกระเพาะอาหาร ส่วนสาเหตุสำคัญของเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่างอันหนึ่งคือ angiodysplasia หลอดเลือดจัดเรียงตัวผิดไป
ทำไมจัดเรียงตัวผิดไปทำให้เลือดออกได้ ปรกติหลอดเลือดจะเรียงตัวใต้ชั้นเยื่อบุของลำไส้ เรียงตัวเรียบร้อยแข็งแรง แต่ถ้าเกิดการเรียงตัวผิดปกติไม่ว่าจะเป็นระดับหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ หลอดเลือดฝอย จะมีจุดที่ผนังบาง แรงดันหมุนวน โอกาสเลือดออกจึงมาก
สาเหตุนี้เป็นสาเหตุสำคัญของเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่างของผู้สูงวัย เพราะหลอดเลือดที่ลำไส้จะมีการขาดเลือดบ่อย แต่เวลาสร้างไม่ได้สร้างดีๆ เหมือนสมัยหนุ่มๆสาวๆแล้ว
โดยทั่วไปเลือดจะออกไม่มากและหยุดเองได้ ส่วนน้อยเท่านั้นที่เลือดออกมากจนต้องรักษาเร่งด่วน
หลังจากเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่าง อาการที่สำคัญคือถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายเป็นเลือดสดเลย เมื่อทำการส่องกล้องเข้าไปดูจะเป็นตำแหน่งหลอดเลือดที่ขยุกขยุยคล้ายฝอยทองและยิ่งถ้ามีจุดเลือดออกใหม่ๆ รอบๆจุดเลือดออกนั้นซีดที่เรียกว่า "pale halo sign" ก็จะชัดเจนขึ้น
แต่การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างก็อาจจะไม่ได้พบทุกราย บางทีกระจุกเลือดเล็กมาก หรืออยู่ในซอกหลืบ ในกรณีสงสัยก็อาจตรวจต่อโดยการถ่ายภาพเฉพาะหลอดเลือดโดยการฉีดสีที่เรียกว่า angiogram ก็จะเห็นกระจุกฝอยและตำแหน่งที่ชัด การทำ angiogram อาจทำร่วมกับการถ่ายภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยเลย หรือถ้าหากไม่ต้องการฉีดสี มีข้อห้ามการฉีดสี ก็สามารถใช้เครื่องเอ็มอาร์ไอ เปิดย่านตรวจหลอดเลือดแดง และใช้โปรแกรมตัดเนื้อเยื่ออื่นที่ไม่ใช่หลอดเลือดออกไป จะได้ภาพหลอดเลือดชัดมาก
ยังไม่พอ หากไม่แน่ใจว่าจุดใดเลือดออกก็จะมีการฉีดเม็ดเลือดแดงที่ติดสารกัมมันตภาพรังสีเข้าไปในหลอดเลือดแล้วถ่ายภาพรังสีนิวเคลียร์ดูว่าเม็ดเลือดแดงที่ควรอยู่ในหลอดเลือดมันเล็ดลอดออกมาในลำไส้ไหม คล้ายๆกับเทคนิคการจับพ่อบ้านโดยใช้จีพีเอสติดรถ ควรแสดงเส้นทางจากที่ทำงานกลับบ้านเท่านั้น ถ้าเกิดออกนอกเส้นทางไปแถวรัชดา...คาดเดาว่าอีกไม่นานเลือดจะออก
ส่วนถ้าเลือดออกในส่วนลำไส้เล็ก เราก็จะมีกล้องส่องลำไส้เล็กแต่กล้องตัวนี้ไม่ได้มีทุกที่และใช้ยากครับ (enteroscopy) หรือใช้กล้องจิ๋วกลืนลงไปถ่ายภาพแล้วส่งสัญญาณภาพแบบไร้สายมาดู (wireless capsule endoscopy)...แต่ส่วนมากเลือดออกแบบนี้จะอยู่ที่ลำไส้ใหญ่มากกว่า
ส่วนการรักษา..ประเด็นแรกเรารักษาเมื่อเกิดเลือดออกนะครับ หากบังเอิญไปส่องกล้องแล้วเจอเข้าโดยทั่วไปก็ไม่ได้รักษาครับ ประเด็นที่สอง ส่วนมากเลือดมันหยุดเองถ้าการแข็งตัวของเลือดดี ไม่ได้มีภาวะเลือดไม่แข็งหรือกินยาที่ต้านการแข็งตัวของเลือด (เรื่องแข็งตัวนี่ต้องให้ชัด ว่าการแข็งตัวของอะไร)
การรักษาไม่ว่าเพื่อให้เลือดหยุดหรือกันการออกซ้ำ ก็จะมีการรักษาผ่านกล้องเช่น จี้ด้วยหัวจี้อาร์กอน จี้ด้วยหัวจี้ความร้อน การฉีดสารหดตัว(ของเลือด) การคลิป หรือแม้แต่ผ่าตัดตรงจุดเลือดออกนั้นผ่านกล้อง
การรักษาโดยผ่านการสวนสายสวนหลอดเลือด ใส่สายสวนไปที่หลอดเลือดไปเลี้ยงลำไส้ใหญ่ ฉีดสีดูว่าออกจากจุดใด แล้วไต่ตามเส้นทางนั้นไปฉีดสารที่เป็นเจลโฟมไปอุดหลอดเลือดนั้นเลย
การรักษาผ่านการผ่าตัด ส่วนมากคือตัดลำไส้ส่วนนั้นทิ้งไป มักจะทำเมื่อการรักษาโดยส่องกล้องหรือทางหลอดเลือดไม่สำเร็จ หรือไม่สามารถทำได้ ในอีกกรณีที่เลือดออกมาฉุกเฉินมาก ผ่าตัดนี่จะชะงัดมาก ความสำเร็จในการหยุดเลือดสูงที่สุด
ยากินทั้งฮอร์โมนเพศ ยา thalidomide ยา octreotide ยังมีการศึกษาน้อยและยังไม่ได้รับรองผลชัดเจน
และอย่าลืมแยกโรคสำคัญสำหรับเลือดออกในลำไส้ คือ มะเร็งของลำไส้ ที่เพจเราย้ำมาหลายครั้งครับ

ผู้ชนะเลิศรางวัลมุกเสี่ยวสามสมัยซ้อน

เก็บตกงานเวียนเทียนเมื่อคืน
แก้ไขปัญหาน้ำตาเทียนหยดใส่
ก้มลงไปบอกเทียนเบาๆว่า
"อยู่กับเขาน้องมีแต่เสียน้ำตา มาห้องพี่ดีกว่าจะไม่ให้เสียน้ำใจ"
แก้ไขปัญหาดอกไม้ไหว้พระราคาแพง
ให้บอกแม่ค้าคนสวยเบาๆว่า
"ดอกไม้กำนี้ราคาแพงเกินไป ถ้าน้องมากำหัวใจก็ไม่แพงเกินเลย"
แก้ไขปัญหาลืมเอาไม้ขีดไปเวียนเทียน
ให้บอกสาวน้อยที่อยู้ใกล้เบาๆว่า
"วันนี้เทียนพี่มันมืดบอด ขอแค่น้องมาจุดให้ตลอดก็ไม่มืดดับ"
แก้ไขปัญหาหลังเลิกแล้วคนรอรถมาก
ให้แว้นไปตรงหน้าสาวเจ้าที่หมายตา
"รอสองแถวมันนานเปลืองเวลา ซ้อนท้ายพี่ดีกว่าไม่เปลืองอะไร"
และทุกข้อสาวเจ้าตอบกลับมาว่า
"สำหรับพี่ น้องไม่ว่าตลอดไป แต่แฟนน้องคงไม่ใช่เพราะเค้าชอบ..ตลับปืน !!"
จากแอดมิน โหมด เช็คสเปียร์อินเลิฟ ผู้ชนะเลิศรางวัลมุกเสี่ยวสามสมัยซ้อน

29 พฤษภาคม 2561

ต่อมใต้สมอง

รู้จัก ต่อมใต้สมอง (pituitary gland)

  ในร่างกายมนุษย์เรานั้นมีศูนย์การควบคุมอยู่หลายจุด หนึ่งในการควบคุมฮอร์โมนในร่างกายที่สำคัญมาก เกือบ 80% ของฮอร์โมนจะถูกควบคุมที่นี่ ส่วนที่อยู่ลึกสุดของสมอง ... ต่อมใต้สมอง
  ชื่อก็บอกอยู่แล้ว มันจะวางตัวอยู่ที่ฐานกระโหลก สมองมนุษย์จะคล้ายๆพุ่มดอกไม้วางบนพาน พานนั้นคือฐานกระโหลกเป็นรูเปิดติดต่อสมองกับหลอดเลือดเบื้องล่าง และเป็นทางส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทต่างๆ ใต้กว่าพื้นฐานกระโหลกก็คือจมูกและเพดานปาก ดังนั้นจุดใต้กระโหลกจึงแทบจะเป็นจุดที่ลึกที่สุดของสมองเลยทีเดียว

  ในสมัยที่เรายังอยู่ในท้องแม่ ส่วนหนึ่งของเยื่อด้านนอกของตัวอ่อนที่เรียกว่า ectoderm ก่อตัวขึ้นสูงเป็นเจดีย์ พุ่งขึ้นไปบรรจบกับส่วนหนึ่งของสมองที่ยื่นสมองที่ยื่นลงมาเพื่อร่วมกันก่อเกิดเป็นศูนย์ควบคุมฮอร์โมนของร่างกายมนุษย์
  เนื้อเยื่อส่วนที่ยื่นขึ้นไปพัฒนาไปเป็นเซลสร้างและหลั่งฮอร์โมน อยู่ด้านหน้าของต่อมนี้ ส่วนเซลประสาทที่ยืดลงมาจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส จะหมุนไปอยู่ด้านหลังทำให้ต่อมใต้สมองด้านหลังนี้ไม่ได้หลั่งฮอร์โมนเอง แต่รับเอาฮอร์โมนจากสมองมาเก็บและส่งออกเมื่อต้องการ  ด้วยความที่ต่อมทั้งส่วนหน้าและส่วนหลังมันชิดสมอง การควบคุมการหลั่งก็ถูกควบคุมจากสมองอีกทอดหนึ่งด้วย

  ความเป็นจริงแล้วสัตว์มีกระดูกสันหลังจะมีต่อมใต้สมองทั้งสิ้น และมีสามส่วนด้วย เอ๊ะ..ส่วนที่สามคืออะไร เป็นส่วนตรงกลางที่ชื่อว่า intermediate lobe เชื่อว่าหน้าที่ในการสร้างเซลเม็ดสีที่ผิวหนัง ในมนุษย์ส่วนกลางนี้จะฝ่อไป (ไม่อย่างนั้นเราคงเป็น "มิสทีค" กันหมด)
  จึงสรุปว่าเมื่อโตเต็มวัยเราจะมีต่อมใต้สมองสองกลีบหน้าหลัง ขนาดเท่าถั่วเหลือง อยู่ในส่วนลึกที่สุดของสมอง ใกล้กับเส้นประสาทสมองคู่ที่สองหรือเส้นประสาทตา ส่วนกลีบกลางฝ่อไปหมด

  ต่อมใต้สมองควบคุมฮอร์โมนอะไรบ้าง

ขอกล่าวที่ต่อมใต้สมองส่วนหลังก่อน

1. ฮอร์โมนออกซิโตซิน (oxytocin) ฮอร์โมนที่ใช้ในการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่มดลูกเวลาคลอดบุตร (หลายๆคนในเพจเรา ไม่มีโอกาสได้ใช้ฮอร์โมนนี้) เราก็จะเห็นว่าบางครั้งสูตินรีแพทย์ก็ให้ฮอร์โมนสังเคราะห์ตัวนี้เวลาจะคลอดหรือหลังคลอดเพื่อกระตุ้นการบีบตัวมดลูก   และอีกหน้าที่คือ บีบตัวท่อน้ำนมเวลาเด็กดูดนม ยิ่งดูดยิ่งไหลออก จึงให้เด็กดูดนมบ่อยๆเพื่อกระตุ้นการสร้างและการบีบตัวนี่เอง (ยืนยันอีกครั้ง หลายคนในเพจเราก็ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนนี้)

2. ฮอร์โมนเอดีเอช (ADH : antidiuretic hormone) ฮอร์โมนที่ใช้ดูดน้ำเข้ามาคืนร่างกายที่ท่อไต ถ้าร่างกายขาดน้ำ เลือดเข้มข้นและแรงดันตก หน่วยรับสัมผัสจะส่งสัญญาณไปให้ปล่อยฮอร์โมนตัวนี้ไปดูดน้ำที่ท่อไตเพิ่ม ในกรณีขาดฮอร์โมนตัวนี้ร่างกายก็ไม่ดูดน้ำกลับ ปัสสาวะก็จะมากล้นใสปิ๊ง เรียก โรคเบาจืด นั่นเอง

มาที่ต่อมด้านหน้า ต่อมด้านหน้านี้เป็นตัวสร้างและหลั่งฮอร์โมน โดยคำสั่งจากสมอง

3. ฮอร์โมนโกรธ … โกร๊ท(Growth) แล้วกันนะ อย่าโกรธกันเลย เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ใช้ในการเจริญเติบโตในเด็กครับ จะเป็นเด็กแคระหรือเด็กยักษ์ก็ขึ้นกับฮอร์โมนนี้ และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วฮอร์โมนนี้จะคอยควบคุมกลไกการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย และถ้ามีมากเกินไปจะไม่สูงด้านบนแล้วนะ แต่จะออกด้านข้างเรียกว่า acromegaly

4. ฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (Thyroid Stimulating Hormone) ฮอร์โมนตัวนี้จะคอยสั่งการต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้นหรือลดลง ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ คำสั่งของ TSH จะมากคือค่าสูง  ส่วนถ้าฮอร์โมนไทรอยด์สูง คำสั่ง TSH จะลดลงคือค่าจะต่ำ แต่ความผิดปกติบางอย่างผิดที่จุดสั่งการเลยก็มี TSH ผิดปกติเองเลยเช่น เนื้องอกของส่วนที่ผลิต TSH

5. ฮอร์โมนควบคุมต่อมหมวกไต (AdrenoCorticoTropic Hormone) ส่งคำสั่งไปควบคุมการสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์ที่ต่อมหมวกไต เวลาพบผู้ป่วยที่กินยาสเตียรอยด์มากจนต่อมหมวกไตถูกกดการทำงาน เราจะใช้ฮอร์โมนตัวนี้ฉีดเข้าไปเพื่อกระตุ้นดูว่า ต่อมหมวกไตตอบสนองดีหรือไม่  เรียกว่า ACTH Stimulation Test

6. ฮอร์โมนควบคุมเพศ ชื่อว่าฮอร์โมน Gonadotropin- Releasing Hormone(GnRH) เพื่อไปควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของต่อมเพศคือรังไข่และอัณฑะ เพื่อให้สร้างฮอร์โมนเพศและสร้างเซลสืบพันธุ์ ควบคุมการตกไข่  ถ้าขาดไปก็จะเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาวช้า หรือไม่เข้าสู่วัยหนุ่มสาว...ใครเอ่ย..ปีเตอร์แพน ไง

7. ฮอร์โมนควบคุมการสร้างน้ำนมชื่อว่าฮอร์โมน Prolactin ที่มักจะสร้างตอนให้นมบุตร หากมาสร้างเวลาอื่นจะทำให้มีน้ำนมไหลผิดปกติทั้งชายและหญิง
  ข้อพิเศษคือ ฮอร์โมนอื่นๆจะมีสัญญาณจากสมองมากระตุ้นการสร้าง แต่ฮอร์โมนตัวนี้จะมีสารจากสมองคือ dopamine มายับยั้งการสร้าง ดังนั้นถ้ากินยายับยั้งโดปามีนเช่น ยากันอาเจียน metoclopramide ก็มีนมไหลได้  หรือมีก้อนไปกดเบียดจะทำให้การยับยั้งทำไม่ได้ ฮอร์โมนจะเกินน้ำนมจะไหล  ส่วนฮอร์โมนตัวอื่นๆถ้ามีก้อนมากดเบียดฮอร์โมนจะขาดตกบกพร่องไป 
   เป็นโรคของต่อมใต้สมองที่สามารถใช้ยารักษาได้ดี ยานั้นคือ bromocriptine ที่ไปออกฤทธิ์ที่ตัวรับโดปามีน เหมือนการเพิ่มสัญญาณยับยั้งให้กลับมาปรกตินั่นเอง

   จะเห็นว่าต่อมใต้สมองควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเกือบทั้งหมดของร่างกาย ถ้ามีโรคของต่อมใต้สมองเช่นเป็นก้อน หรือมีก้อนจากอวัยวะข้างเคียงมากดเบียดจะทำให้มีความผิดปกติมาก เช่น ต่อมใต้สมองขาดเลือดเวลาตกเลือดหลังคลอด มีก้อนซีสต์อันเกิดจากความผิดปกติของการสร้างต่อมใต้สมองตั้งแต่แรกเกิด
  การตรวจการรักษาจึงซับซ้อนและมักจะถูกนำไปออกข้อสอบเป็นประจำ การผ่าตัดรักษาก็จะยากเพราะต้องผ่าตัดผ่านเข้าไปทางด้านหลังโพรงจมูก ที่เป็นช่องเล็กๆเท่านั้น

  เห็นเป็นต่อมเล็กๆแต่สำคัญยิ่ง เป็นคอมมานด์เซ็นเตอร์ ราบ 11ของต่อมในร่างกายเลยนะครับ  (อุ๊บสส)

Wine and French Paradox

สวัสดีวันวิสาขบูชาประจำปี 2561 วันนี้ทุกท่านคงใจใส ใจสบายกันถ้วนหน้า เราก็เลยนำเสนอเรื่องราวเบาๆที่ย้อนแย้งกับวันทางศาสนานะครับ Wine and French Paradox

  เรื่องของแอลกอฮอล์กับผลต่อสุขภาพ มีการศึกษาออกมามากมายทั้งที่เป็นการศึกษาดูเรื่องสารต่างๆ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณไขมันในเลือด หรือดูเป้าหมายหลักเลยคืออัตราการเสียชีวิตหรืออัตราการเกิดโรค คนที่บอกว่าไม่เกิดประโยชน์ใดๆก็มี คนที่บอกว่ามีประโยชน์นะก็มี (และมักถูกค่อนขอดว่า ข้ออ้างดื่มเหล้า) ทำไมแอลกอฮอล์ที่ทุกคนรู้ว่าเกิดผลเสียจึงมีการศึกษาแบบนี้ออกมาได้
  ในปี 1981 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสได้สำรวจอุบัติการณ์และความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจอุดตัน และพบว่ากลุ่มตัวอย่างจากเมืองตูลุส เมื่องลียง และเมืองสตราสบูร์กของฝรั่งเศสมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำกว่าทางตอนเหนือของยุโรปคือที่เบลฟาสต์และกลาสโกว์ ทั้งๆที่ปริมาณพลังงานและปริมาณไขมันอิ่มตัวเท่าๆกัน ต่อมาก็มีการศึกษาวิจัยออกมาทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลและการทดลองออกมาคล้ายๆกันว่า ประเทศฝรั่งเศสมีอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่าประเทศอื่นในยุโรปทั้งๆที่บริโภคไขมันอิ่มตัวพอๆ กัน
  ไขมันอิ่มตัวนี้ เป็นที่ชัดเจนมานานแล้วว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัจจุบันแนะนำให้มีพลังงานจากไขมันอิ่มตัวรวมไขมันทรานส์ไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้ต่อวัน และมีไขมันทรานส์ต่ำที่สุด แต่ในการศึกษาก่อนหน้านี้ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในการศึกษารับประทานไขมันอิ่มตัวเฉลี่ย 15% ต่อวันเลยทีเดียว

  จึงมีความสงสัยสองประการ ประการแรกทฤษฎีไขมันอิ่มตัวมันไม่จริงเสียแล้ว หรือมีสิ่งอื่นที่มาทำให้ชาวฝรั่งเศสมีโรคน้อยกว่า การพิสูจน์สิ่งที่เรียกว่า French Paradox ได้ตำเนินไปในช่วงปี 1980-1990 จนกระทั่งพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่อธิบายปรากฏการณ์ที่กลับหัวอันนี้คือ แอนติออกซิแดนท์ในไวน์แดง  สรุปว่าทฤษฎีไขมันอิ่มตัวทำให้เกิดโรคยังถูกต้องอยู่ แต่มีปัจจัยอื่นมาแทรกแซงผลการทดลองในบางกลุ่ม ทำให้เกิดปรากฏการณ์กลับหัวแบบนี้  (แม้จะมีความเป็นไปได้จากเหตุอื่นได้อีก เช่นไขมันที่อาจต่างออกไปจากภูมิภาคอื่น แต่ทฤษฎีไวน์แดงได้รับการยอมรับมากที่สุด)
  ปัจจุบันเราก็เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ว่าจะการทดลองใดว่า French Paradox และต้องสืบค้นว่าทำไมผลการศึกษากลุ่มที่กลับหัวจึงเป็นแบบนี้ เพราะสิ่งสำคัญคือ หรือทฤษฎีนั้นจะผิด !!

  เรากลับมาที่ไวน์แดง เมื่อมีการศึกษาต่อมาก็พบว่าคนฝรั่งเศสในยุคนั้นดื่มไวน์แดงที่ได้จากการหมักขององุ่นแถบนั้น ต่างจากภูมิภาคอื่นที่นิยมเบียร์หรือวิสกี้มากกว่า ผลการศึกษาพบว่าในไวน์แดงน่าจะมีสารสำคัญที่เป็นตัวแอนตี้ออกซิแดนท์ไขมัน ทำให้ไขมันในเลือดที่เป็นสาเหตุหลักของหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นไม่ส่งผลมากนัก อันได้แก่ polyphenols, resveratrol, หรือแม้กระทั่งตัวแอลกอฮอล์ในปริมาณเหมาะสม (เขาดื่มไวน์ในมื้ออาหารเล็กน้อยครับ นับหน่วยเป็นดื่มไม่ใช่เป็นลัง) 
   คำแนะนำในอาหารสุขภาพปัจจุบันและอาหารเมดิเตอร์เรเนียน สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกินวันละสองดื่มมาตรฐานในชายและหนึ่งดื่มมาตรฐานในหญิง สำหรับปริมาณการดื่มต่อวัน และหากเป็นไวน์แดงก็จะดีกว่า   พอเห็นคำแนะนำแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะไปซื้อไวน์มาดื่มนะครับ หากท่านไม่ดื่มอยู่แล้วก็ดีกว่า อย่าลืมผลเสียอื่นจากแอลกอฮอล์เช่นผลเสียที่ตับและค่าพลังงานที่สูงมากพอๆกับไขมัน ทำให้อ้วนได้  แต่สำหรับคนที่ดื่ม คำแนะนำสอนให้ดื่มเป็น ไม่ใช่ให้ดื่มเมา

  การรวบรวมการศึกษาในวารสาร Pathophysiology of Haemostasis and Thrombosis  ปี 2002 พบว่าคนที่ดื่มไวน์แดงอย่างเหมาะสมมีอัตราการเกิดโรคหัวใจต่ำกว่าคนที่ไม่ดื่ม 32% และมีนัยสำคัญทางสถิติ หรือเมต้าอนาลัยสิสอันเดียวกันที่ลงมาในวารสาร circulation ก็พบว่าดื่มเบียร์เหมาะสมพบอัตราการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่า 22%  ***ย้ำว่าดื่มเหมาะสมไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวันและคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆด้วยนะครับ***

สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันได้แก่ น้ำสุรา เมรัย เครื่องดื่มมึนเมาอื่น ๆ และการเสพยาเสพติดอื่นๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้า หรือแม้แต่บุหรี่ แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในการประกอบกิจการทั้งปวง และเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตในการงาน ในวัย ในเพศ

ที่มา
 1.  
 2.Circulation. 2002;105:2836-2844




  

28 พฤษภาคม 2561

ยาไมเกรนตัวใหม่ Calcitonin Gene-Related Peptide erenumab

หลายท่านคงได้ยินข่าวยาไมเกรนตัวใหม่ หลายท่านแอบดีใจเพราะเป็นโรคนี้มานาน เรามาทำความรู้จักกันสักเล็กน้อย
1. โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคที่ทรมานมาก เป็นได้ทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานทำให้สูญเสียหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก หลายๆครั้งที่คนปวดมากๆจะบอกว่า อยากจะตายๆให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
2. การรักษาโรคไมเกรน ก็จะมีการปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รักษาร่างกายให้แข็งแรง การใช้ยาเพื่อแก้ไขอาการปวดเฉียบพลัน และหากเป็นบ่อยและรุนแรงก็ให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ
3. ยาที่ใช้รักษาอาการเฉียบพลันที่เฉพาะเลยคือกลุ่ม ยาจับกับ 5-HT 1D เพื่อต้านการออกฤทธิ์ ที่เรารู้จักกันในกลุ่มยาลงท้ายด้วย -triptan หรือยาแก้ปวดทั่วไปก็ใช้ได้เพราะอาการปวดแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนนั้น paracetamol ก็หายบางคนใช้ NSAIDs
4. ยาป้องกันที่นิยมใช้คือ ยากันชักเช่น topiramate ยาควบคุมการเต้นหัวใจ propranolol แต่ยากลุ่มนี้ต้องกินยานาน ผลข้างเคียงสูงทำให้อัตราการติดตามยาต่ำมาก โรคไม่หาย จึงมีการพัฒนายาป้องกันตัวใหม่ขึ้นมา Calcitonin Gene-Related Peptide (CGRP)
5.เจ้า CGRP คือโปรตีนที่เซลประสาทสร้างขึ้น มีผลในการควบคุมกระแสประสาทความเจ็บปวดและการขยายหลอดเลือดที่เป็นกลไกหลักของอาการปวดศีรษะไมเกรน หากเรายับยั้งการทำงานของเจ้าโปรตีนนี้ได้เราอาจรักษาไมเกรนได้ดี ก่อนหน้านี้มีการพัฒนายากลุ่มนี้ แต่ผลข้างเคียงสูงมาก (ตับอักเสบ)
6. จึงมีแนวคิดการใช้ ภูมิคุ้มกันของเราเองไปจับกับ CGRP ไม่ให้ทำงานได้ เพราะเป็นภูมิคุ้มกันของมนุษย์เราเอง ปฏิกิริยาจึงไม่มากและจับตรงจุด มีการสร้าง "กองทัพโคลน" ของแอนติบอดีที่จะไปจับโปรตีน CGRP นี้ เรียกว่า monoclonal antibodies คือสังเคราะห์มาแต่โคลนที่จะจับกับ CGRP อย่างแม่นยำ
7.การศึกษาในสัตว์ทดลองและคนปกติทั่วไป คนที่เป็นไมเกรนได้ผลดี จึงมีการศึกษาเปรียบเทียบในมนุษย์ที่เป็นไมเกรนปานกลางถึงรุนแรง ชื่อการศึกษา STRIVE ลงในวารสาร NEJM ปีที่แล้ว เพื่อวัดผลยาที่ชื่อ erenumab ในการปกป้องไมเกรนที่หกเดือน
8. นำผู้ป่วยที่ปวดไมเกรน 4-15 วันที่ปวดต่อเดือน อายุประมาณ 40 เป็นสุภาพสตรีเกือบ 80% ได้รับการป้องกันมาแล้วและล้มเหลวมาครึ่งหนึ่ง จำนวน 955 คน แบ่งเป็นได้รับ erenumab ขนาด 70 มิลลิกรัมใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง 28 สัปดาห์ กลุ่มสองได้ erenumab 140 มิลลิกรัม อีกกลุ่มได้ยาหลอก ติดตามอาการปวดว่าจะลดลงไหมที่หกเดือน
9. ผลการศึกษาพบว่ายาหลอกจะลดปวดลงได้ 1.8 วัน ส่วน erenumab 70 มิลลิกรัมลดปวดลง 3.2 วัน และ erernumab 140 มิลลิกรัมลดปวดลง 3.7 วัน ซึ่งความแตกต่างกันของยานั้นแตกต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาลำดับรองที่ดูคือ ปริมาณคนที่ปวดลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของความรุนแรงเดิม พบว่ากลุ่มได้ยาทั้งสองขนาด ลดลง 50% ยาหลอกลดลง 25% แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
10. ผลข้างเคียงที่พบบ้างคือ ปฏิกิริยาตรงจุดที่ฉีด ที่พบในกลุ่มได้ยามากกว่าแต่ไม่รุนแรง มีผลเรื่องเป็นหวัดคัดจมูกพอๆกัน ส่วนการเกิดผลเสียรุนแรงมากๆแทบไม่พบเลย
11. การศึกษา STRIVE เป็นการศึกษาสำคัญในการรับรอง erenumab การใช้ยากลุ่มนี้ในการรักษาไมเกรน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีการศึกษายา Fremanezumab ลงในวารสาร JAMA ในการป้องกันไมเกรนในลักษณะเดียวกัน ใช้ Fremanezumab 225 และ 675 มิลลิกรัมเทียบยาหลอก "แต่ว่าระยะเวลานั้น" ฉีดใต้ผิวหนัง"เดือน"ละครั้ง 12 สัปดาห์ ดูผลการลดปวดที่ 12 สัปดาห์ก็ลดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน
12. อนาคตการปรับแต่งการทำงานโดยใช้สารต่างๆของร่างกายแบบมุ่งเป้าตรงจุดที่เรียกว่า targeted therapy หรือ precision medicine กำลังเข้ามาในทุกๆโรค แพทย์ยุคใหม่ต้องเข้าใจเรื่อง immunology เป็นอย่างดี

สมาคมแพทย์โรคทรวงอกอเมริกา ได้สรุปการศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า

สมาคมแพทย์โรคทรวงอกอเมริกา ได้สรุปการศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าออกมาสักพักแล้ว เมื่อใกล้วันงดสูบบุหรี่จึงออกมาอีกครั้ง
การศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามีมากมายในตอนนี้เพราะในอเมริกาได้รับความนิยมมาก และในยุโรปหลายๆประเทศอนุญาตให้ใช้ได้ ภายใต้การควบคุมที่ดี
การศึกษาที่ทาง ATS สรุปมานี้บอกว่า แม้สารพิษจากการเผาไหม้จะน้อยกว่า แต่สารอื่นๆที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอันตรายต่อทางเดินหายใจได้ และประเด็นสำคัญที่สุดที่เขาห่วงคือ การดึงดูดเยาวชนและนักสูบหน้าใหม่เข้าสู่การใช้นิโคติน และปัจจุบันยังไม่ได้รับรองให้ใช้ในแง่การเลิกบุหรี่ครับ
smoke free, nicotine free.

27 พฤษภาคม 2561

โซคราตีส

เล่าสู่กันฟัง บ่ายๆวันอาทิตย์

  สำหรับใครที่ชอบดูฟุตบอลคงจะปฏิเสธได้ยากว่าทีมชาติบราซิลยุคปี 1982 คือสุดยอดทีมตลอดกาล ด้วยสไตล์การเล่นที่เร้าใจ ไม่มีรับ รุกใส่ตลอด ไม่ให้หายใจหายคอ (ฟุตบอลนะครับ ฟุตบอล แม่บ้านใจกล้าอย่าไปเทียบกับพ่อบ้านสมัยนี้ที่เล่นแต่เกมรับ ยิงได้หนึ่งประตูมันอุดเลย) ลีลาแซมบ้าเร้าใจ  แถมยังมีผู้เล่นชั้นนำอัจฉริยะในทีมมากมาย ซิโก เปเล่ แจร์ซินโญ่ เอแดร์
  จริงๆโดยส่วนตัวผมชื่นชอบ ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชุดทริปเปิ้ลแชมป์มากกว่านะ นั่นคือ invincible ของจริง รู้ๆว่าเบคแฮมจะโยมมาให้ ดไวท์ ยอร์ค โหม่ง แต่สกัดไม่ได้

  ในทีมบราซิลชุดนี้มีนักฟุตบอลคนหนึ่งที่เปเล่ยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดนักฟุตบอลตลอดกาลของโลก (หึหึ..สงสัยเปเล่ไม่รู้จัก คาริอุส) แถมเป็นกัปตันทีมชาติบราซิลในปี 1982 อีกด้วยชื่อเต็มๆ ของเขายาวมาก เรารู้จักเขาในนาม "โซคราตีส"
  โซคราตีส เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้ยากจนนักในบราซิล เขาเลือกทางเดินนักฟุตบอลในสโมสรในบราซิลและโด่งดังมากกับสโมสรโครินเธียนส์ เคยไปค้าแข้งกับทีมม่วงมหากาฬ ฟิออเรนติน่าในลีกอาชีพอิตาลีอยู่พักหนึ่ง ก็กลับมาบราซิล ด้วยความสนใจสองอย่างของเขา หนึ่งคือเรื่องการเมือง เพราะครอบครัวเขาถูกผลกระทบจากการปฏิวัติในบราซิลสมัยเด็ก เขาเป็นหนึ่งในร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทหารตามแบบไอดอลของเขา ฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบาและ เออร์เนสโต เช กูวาราแห่งโบลิเวีย

  ส่วนความสนใจอีกอย่างของเขาคือ แพทยศาสตร์  โซเครตีสเรียนแพทย์จนจบ แม้จะไม่ได้ค่อเนื่องเพราะเรียนในขณะมีอาชีพนักฟุตบอลด้วย เขาเรียนแพทย์ที่คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยเซา เปาโล ในบราซิล และทำงานเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเขตเทศบาล Ribeirão Preto ทางตอนเหนือของเมืองเซา เปาโล (ชื่อเป็นภาษาโปรตุเกส บราซิลเป็นประเทศเดียวในลาตินอเมริกาที่ใข้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาหลัก ส่วนประเทศอื่นใช้ภาษาสเปน)
 นับว่าน้อยมากที่นักฟุตบอลอาชีพ จะเลือกมาเรียนแพทย์ แต่โซเครตีสก็ทำสำเร็จอย่างดี ความสามารถในเชิงการแพทย์ การเมืองและความสามารถในสนาม ทำให้โซเครตีสได้รับฉายาว่า "the doctor"  คือสามารถครบเครื่อง คล้ายๆฉายาของวาเลนติโน รอสซี่ นักแข่งมอเตอร์ไซค์โมโตจีพีชาวอิตาเลียน ที่เก่งกาจทั้งทักษา การอ่านเกม และ ตุกติก (ครับ ด็อกเตอร์รามอส)

  โซเครตีส ใช้ชีวิตหลังจบอาชีพค้าแข้งไม่ค่อยสวยหรู ดื่มจัด สูบจัด ทำให้มีปัญหาสุขภาพบ่อยๆ จนเมื่อปี 2011 เขาป่วยหนักต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหารและแรงดันเลือดในช่องท้องสูง โรคนี้เป็นผลที่ตามมาของตับแข็งเรื้อรัง จากประวัติของโซเครตีสนั้นดื่มเหล้ามาก ก็น่าจะเป็นตับแข็งจากการดื่มเหล้า  หลังจากนั้นเขาก็เสียชีวิตเนื่อบจากภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อในกระแสเลือด คนที่ตับแข็งจะติดเชื้อในกระแสเลือดง่ายมาก โดยเฉพาะจากแบคทีเรียในช่องท้องในลำไส้ของเราเอง

  หนึ่งในตำนานนักุตบอลที่ประสบความสำเร็จหลายด้าน น้องชายเขา Rai ก็เลือกเส้นทางนักเตะได้เป็นกัปตันทีมชาติบราซิลเช่นกันและนำทีมชาติบราซิลเป็นแชมป์โลกในปี 1994 ในฟุตบอลโลกที่สหรัฐอเมริกา

ทั้งผู้เล่นทั้งคนดู..ลุ้นพอๆกัน ในเกมฟุตบอล

ทั้งผู้เล่นทั้งคนดู..ลุ้นพอๆกัน ในเกมฟุตบอล
คนดู..รายงานอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจในช่วงุฟตบอลโลกปี 2006 ที่เยอรมนี วิเคราะห์อย่างเป็นระบบและตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ปี 2008 เป็นรายงานจากเมืองมิวนิคและแคว้นบาวาเรียของเยอรมัน พบว่าในช่วงุตบอลโลกนั้นมีผู้ป่วยโรคหัวใจโดยรวมเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับภาวะปรกติ
เกือบ 70% ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจมาทราบก็ตอนฟุตบอลโลกนี่แหละ และเกิดสูงในวันที่เจ้าบ้านเยอรมันลงเตะ เป็นชายมากกว่าหญิง อายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปี
ส่วนมากเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่ใช่แค่ใจสั่นนะครับ แต่เป็นแบบที่ต้องให้ยาต้องช็อกไฟฟ้ากันเลย อัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทั้ง ST elevation และ Non-ST elevation เพิ่มมากกว่าเวลาปรกติ
แต่ว่าอัตราตายไม่ได้สูงมากนัก อาจเป็นเพราะมาโรงพยาบาลทันเวลา
ผู้เล่น ... มีรีวิวออกมาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสในปี 2012 ถึงสาเหตุที่นักกีฬาแข็งแรงๆ แต่หัวใจวายเฉียบพลันคาสนามดังที่เป็นข่าวบ่อยๆ จากการวิเคราะห์ข้อมูลก็พบว่าส่วนมากเกิดจากความผิดปกติที่ซ่อนเร้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่เกิดหรือมาเกิดทีหลัง แต่พวกนี้จะไม่เคยมีอาการมาก่อน ตรวจพบยากมาก เรามักจะวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อเกิดอาการ
1. ผนังหัวใจหนาผิดปกติ ทำให้เกิดการขวางกั้นทางเดินเลือดตัวเองขณะบีบตัว (hypertrophic obstructive cardiomyopathy) ในกรณีของมาร์ค วิเวียง โฟเอ้ นักเตะคาเมอรูน ที่เสียชีวิตคาสนามในปี 2003
2. หลอดเลือดโคโรนารีวางตัวผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด (congenital coronary artery abnormalities) นักกีฬาก็มักจะเสียชีวิตตอนอายุน้อยๆ โชคดีอาจตรวจพบก่อน แต่ส่วนใหญ่ก็จะมาเจอตอนฉีดสีหลอดเลือดเวลามีอาการ
3. หัวใจเต้นผิดจังหวะอันเกิดจากหัวใจห้องล่างขวาผิดรูป (arrythmogenic right ventricular dysplasia) มีโครงสร้างหัวใจห้องล่างขวาผิดปกติ ขยายขนาด มีจุดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะและเกิดหลายครั้ง จนหัวใจเริ่มผิดปกติ และเมื่อวันดีคืนร้ายก็... อันโตนิโอ เปอร์ต้า นักเตะวัย 22 ของทีมเซบีญ่าในสเปน ก็เสียชีวิตคาสนามเช่นกันในปี 2007
4. commotio cordis โดนกระแทกตรงๆที่ทรวงอก ในจังหวะพอดีที่หัวใจคลายตัว ไปเกิดการกระตุ้นคลื่นไฟฟ้าซ้อนกันพอดีเป๊ะ ...โชคร้ายมาก...เรารายงานไปเมื่อสองเดือนก่อน แต่จริงๆเกิดมากในกีฬาเบสบอลมากกว่า
5. ตายไม่ทราบสาเหตุ หลายๆคนเชื่อว่าเกิดจากยาโด๊ปเช่น เมลโดเนียมที่มาเรีย ชาราโปว่า เคยโดนจับ หรือ แอนโดรเจนในกรณีของดีเอโก้ มาราโดน่าในฟุตบอลโลกปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา
สุดท้าย เกเร็ธ เบลและผองเพื่อน ก็พาราชันชุดขาวคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีกต่อเนื่องกันสามสมัย โดยเอาชนะทีมที่ดีที่สุดตลอดกาลไป 3-1 ขอแสดงความยินดีด้วยครับ ฮึ่มมมมม ฝากไว้ก่อนนะคาริอุสสสสสส

26 พฤษภาคม 2561

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด
ภาพเอ็กซเรย์แสดง ก้อนในปอดกลีบซ้ายด้านล่าง ผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นมะเร็งปอด
เมื่อสามปีก่อนคนไข้มีเอ็กซเรย์เดิมเทียบ ยังไม่มีก้อนแต่อย่างใด
ประวัติคนไข้ข้อหนึ่งคือสูบบุหรี่วันละยี่สิบมวน ต่อเนื่องกันมาสี่สิบปี เพิ่งหยุดเมื่อสามปีก่อนเพราะได้รับการวินิจฉัยถุงลมโป่งพอง
แม้การสูบบุหรี่จะไม่ใช่สาเหตุเดียวของมะเร็งปอดและถุงลมโป่งพอง แต่เป็นสาเหตุสำคัญที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
เลิกสูบบุหรี่ และ อย่าคิดลอง เลยครับ

PR ทางการแพทย์

PR ทางการแพทย์
per rectal examination หรือ Digital Rectal Examination หนึ่งในการตรวจร่างกายพื้นฐานที่ถูกลืมเลือน หลายปีที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายท่านได้ทำการศึกษาออกมาว่าการตรวจทวารหนักด้วยนิ้วที่ทำกันมาเป็นร้อยๆปีนั้น อาจไม่ได้ข้อมูลเท่าไร
ด้วยข้อมูลความไวและความจำเพาะของการตรวจจับมะเร็งต่อมลูกหมาก ประมาณ 0.5 หรือ 50% เท่านั้น ทำให้หลายๆคนคิดว่าการตรวจทางทวารหนักมีประโยชน์หรือไม่
ก่อนที่เราจะตัดสินเรามาดูวิธีการตรวจกันก่อน ข้อที่จะไม่ตรวจนั้นตำราทางศัลยกรรมสอนเอาไว้เลยว่าจะไม่ตรวจอยู่สองกรณีคือ คนไข้ไม่มีก้น หรือ หมอไม่มีนิ้ว ก็แสดงว่าแทบไม่มีข้อห้ามการตรวจเลย
จริงๆแล้วก็มีแต่ข้อควรระวังเท่านั้น ไม่มีข้อห้ามที่ชัดเจน ข้อควรระวังคือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจต้องระวังเวลาตรวจอาจเกิดแผลหรือติดเชื้อได้ และระวังเวลาผู้ป่วยมีแผลหรือฝี เพราะเจ็บมาก
นอกจากนั้นตรวจได้ เป็นการตรวจที่ถือว่าอันตรายต่ำมาก ไม่มีการรุกล้ำใดๆ เพราะไม่ได้เกิดแผลหรือทางเปิดผิวหนังลงไป แค่...ทะลวง..เท่านั้น
ผู้ป่วยก็จะอยู่ในท่าตะแคง งอเข่าชิดอก เปิดพื้นที่ก้นให้ตรวจง่าย หรืออาจตรวจในท่านอนหงายหากผู้ป่วยไม่สะดวกตะแคง การโก้งโค้งตรวจนั้นผมไม่เคยพบในตำรามาตรฐานนะ จะมีแต่ฉากในหนัง ในการตรวจมาตรฐานควรนอนตะแคงครับ
แพทย์ผู้ตรวจ แน่นอนใส่ถุงมือปรกติก็พอ และหล่อลื่นด้วยสารหล่อลื่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นวาสลีน หรือเยลลี่เควาย ชโลมให้เพียงพอนะครับ ฝืดไปจะเจ็บหรือถุงมือขาดได้
การตรวจให้ดูบริเวณรอบทวารหนัก รอยแผล รอยฝี ตุ่มน้ำ ริดสีดวง แล้วค่อยๆใช้นิ้ว "แตะ" เบาๆ บริเวณหูรูดทวารหนัก ส่วนนี้ไวต่อการสัมผัสและบอบบางนะครับ เพื่อดูปฏิกิริยาของหูรูดว่าดีไหม เป็นการตรวจระบบประสาทส่วนไขสันหลังส่วนล่างที่ดี
หลังจากนั้น ค่อยๆเลื่อนปลายนิ้วเข้าไปในช่องทวารช้าๆ เฉียงๆ ห้าม..ทะลวง..ตรงๆตั้งฉากนะครับ ผู้ที่ได้รับการตรวจจะตกใจและเจ็บ
เมื่อเลื่อนนิ้วเข้าไป ปลายนิ้วเราจะได้สัมผัสและบอกข้อมูลอะไรบ้าง
- อุจจาระ แข็งตันหรือไม่ มีอุจจาระหรือไม่ และเมื่อดึงนิ้วออกมาก็สามารถดูสีอุจจาระว่าสีอะไร ถ่ายดำมีเลือดออก หรือเป็นเลือดสด หรือุจจาระสีเทาซีดของทางเดินน้ำดีอุดตัน
- ก้อนต่างๆ เช่นก้อนที่ปลายนิ้ว ที่อาจเป็นก้อนเนื้อลำไส้ ก้อนเนื้อมดลูกที่นูนดันมาสัมผัสนิ้ว
- ลูกหมาก เป็นการตรวจที่นิยมมาก สามารถสัมผัสว่าลูกหมากโตหรือไม่ โตไปทางกลีบซ้ายหรือขวา แข็งหรือนุ่ม มีก้อนแข็งด้วยหรือเปล่า
- สัมผัสในช่องท้องอื่นๆ เช่น ไส้ติ่งบางชนิดที่ชี้มาด้านหลัง น้ำหรือการอักเสบในอุ้งเชิงกรานของสตรี
- ตรวจกำลังของหูรูด โดยให้ขมิบ หรือ "ยุ่ม" ก้น ในภาษาอีสาน เวลาตรวจการบาดเจ็บของไขสันหลัง หรือทดสอบรีเฟล็กซ์ของวงรอบประสาทส่วนล่าง โดยบีบปลายปิ๊กกาจู้แล้วดูว่าหูรูดขมิบหรือไม่ หรือสัมผัสปุ่มคลิทอริสในสตรี หรือดึงปลายสายสวนปัสสาวะแล้วดูปฏิกิริยาสนองตอบ
จะเห็นว่ามีข้อมูลที่เราตรวจได้มากมายจากการตรวจทวาร ที่แม้บางโรคความไวความจำเพาะจะไม่สูงมากนัก แต่หากไปคิดรวมกับความเสี่ยงและประวัติที่ดีจะสามารถบอกการวินิจฉัยเบื้องต้นได้แม่นยำเพื่อออกแบบการตรวจพิเศษต่อไป
ราคาไม่แพง เสียแค่ถุงมือหนึ่งข้างกับวาสลีนเล็กน้อย ใช้เวลาไม่นาน ไม่ได้รุกล้ำหรือเกิดอันตรายแต่อย่างใด
แม้คนที่ได้รับการตรวจจะรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย แต่ประโยชน์แห่งการตรวจยังมีมากมาย แค่อธิบายให้เข้าใจเท่านั้นเอง
ยังเป็นการตรวจที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งครับ

25 พฤษภาคม 2561

Pragmatic Clinical Trials

วิชาแพทย์เป็นสาขาประยุกต์รวมของวิทยาศาสตร์หลายสาขา การหาความรู้ทางการแพทย์ก็ต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน คือ ปัญหา รวบรวมข้อมูล ตั้งสมมติฐาน ทดลอง สรุปผล ดังที่เราได้เห็นตัวอย่างในการศึกษารูปแบบต่างๆทางการแพทย์และระเบียบวิธีวิจัยทางสถิติ
เช่น การเก็บข้อมูลไปข้างหน้าเทียบระหว่าผู้ที่ดื่มเหล้ากับไม่ดื่มเหล้าว่าอัตราการเกิดตับแข็งต่างกันหรือไม่ การศึกษาทดลองแบ่งกลุ่มผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวว่าเมื่อให้การรักษามาตรฐานแล้วการให้ยาใหม่เข้าไปจะลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมหรือไม่ เมื่อเทียบกับยาหลอก (ก็คือเทียบกับการรักษามาตรฐานนั่นเอง)
แต่ในการศึกษาแบบนี้เราจำเป็นต้องกำหนด "เกณฑ์" กลุ่มตัวอย่างที่จะมาเข้ารับการศึกษาและกลุ่มที่จะไม่รับเข้าศึกษาที่ชัดเจน เพื่อคัดเอากลุ่มคนที่ตรงวัตถุประสงค์ของเรามาศึกษาตอบคำถามหนึ่งข้อที่เราสนใจ เช่น เราต้องการศึกษาผลการรักษาของยาเบาหวานตัวใหม่ในคนที่ยังไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เวลาเราคัดเลือกคนที่จะเข้ามาศึกษา เราก็กำหนดอายุชัดเจน 18-60 ปี มีหลักฐานเป็นเบาหวานแน่ๆ ไม่เคยเป็นโรคไต โรคหัวใจ คัดกรองสารพัดวิธีแล้วว่าไม่มีโรคแน่ๆ จึงนำมาแบ่งกลุ่มศึกษา
สมมติว่าผลออกมาดีมาก เราจะไปเหมาว่าคนไข้เบาหวานทุกคนใช้ยานี้แล้วจะดีมาก..ทำไม่ได้นะครับ หรือผู้ขายยาจะมาโฆษณาว่าเป็นยาที่ดี ก็ต้องบอกให้ครบถ้วนว่าที่ว่าดีน่ะ ดีในกลุ่มคนไข้ใด
ในชีวิตจริง เราจะไม่สามารถคัดกรองละเอียดแบบนั้นได้ บางวิธีที่เขาคัดกรองและตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีโรคอื่น ภาวะอื่น เขาใช้วิธีที่แพงมาก ซับซ้อนมากเกินกว่าจะมาใช้ในสถานการณ์ปรกติ ให้มั่นใจว่าผลออกมาชัดเจน ไม่มีข้อกังขา ถ้าเราทำไม่ได้ดังที่ข้อการทดลองกำหนด เราจะใช้ยาตัวใหม่นี้ได้จริงหรือ ???
และในเวลาศึกษาวิจัย ผู้เข้ารับการทดลองหรือกลุ่มตัวอย่างจะถูก "จับตามอง" อย่างละเอียดและต้องทำตามด้วย มีการวัดติดตามผล เอาล่ะตัวอย่างเดิมยาเบาหวานใหม่ เวลาเขาคัดเลือกแบ่งกลุ่มซึ่งก็ยากแล้วในทางปฏิบัติ แต่ละกลุ่มต้องทำเหมือนกัน ปฏิบัติตัวเหมือนกัน กินอาหารคล้ายๆกัน ไม่ใช้ยาอย่างอื่นหากไม่ได้ผ่านการรับรองจากผู้วิจัย เข้ารับการติดตามตลอด ทั้งหมดนี้ทำเพื่อควบคุมตัวแปรปรวนทั้งหลายที่จะมาทำให้ผลการศึกษาเปลี่ยน ทำให้นิ่งที่สุด ผลการศึกษาจะได้ตอบคำถามที่เราต้องการได้แบบไม่มีตัวกวน (confounders)
ถามว่าในชีวิตจริงเป็นแบบนั้นไหม ... ถ้าใช้ยาใหม่แล้วไม่ได้ออกกำลังกายตามกำหนด แถมไปกินยานู่นนี่นั่นสารพัด แล้วผลการรักษามันเหมือนหรือแตกต่างจากการทดลอง มันก็บอกไม่ได้ว่าดีขึ้นหรือเลวลงจากยา ?? แล้วเราจะนำผลการศึกษามาใช้ได้จริงหรือไม่ ??
จริงๆ เราก็มีวิธีอ่านการศึกษาและการประยุกต์ใช้นะครับ (critical appraisal and implication) แต่ว่าจะมาแนะนำการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้การจำลองสถานการณ์จริงเพื่อตอบคำถามที่เรียกว่า Pragmatic Clinical Trials (PCTs) pragma : practice คือในทางปฏิบัตินั่นเอง
การศึกษาแบบนี้ส่วนมากมักจะเป็นการศึกษาแบบทดลองมากกว่าเฝ้าติดตามเก็บข้อมูล ผู้เข้าร่วมการศึกษาจะเปิดกว้างมีเกณฑ์การเข้าร่วมและคัดออกไม่มาก แบ่งกลุ่มตามระเบียบวิธีวิจัยมาตรฐาน ติดตามผลและคิดคำนวณทางสถิติเหมือนวิธีวิจัยมาตรฐาน
เรามาดูตัวอย่างกัน ถ้าผมจะทำการทดลองว่ายาใหม่ A จะทำให้ผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับการรักษามาตรฐานแล้วยังไม่ดีขึ้น สามารถคุมอาการและนอนโรงพยาบาลน้อยลงไหม ผมก็กำหนดคนที่จะเข้าร่วมคือผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับการรักษามาตรฐานครบแต่มีเกณฑ์ไม่ดีขึ้นเช่นต้องมานอนโรงพยาบาลด้วยโรคหืด หรือกำเริบมาที่ห้องฉุกเฉินบ่อยๆ ไม่ได้สนใจอายุ เพศ โรคร่วม เอามาแบ่งกลุ่มให้ยาสูด A หรือยาหลอก A หรือ เทียบกับยาสูด B ก็ได้ แล้วติดตามผลที่สามเดือนว่าสิ่งที่ผมสนใจจะลดลงไหม
เวลาที่คนไข้มาติดตามอาการแต่ละเดือน หมอที่ดูแลอาจจะปรับยาอื่นก็ได้ ให้ยาอื่นเพิ่มรักษาโรคใดๆอีกก็ได้ คนไข้จะพ่นถูกวิธีทุกครั้งไหม (เราคิดว่าน่าจะถูก) อันนี้ไม่ได้เป็นตัวแปรควบคุม ก็จะมีคนถามว่าแบบนี้ตัวกวนก็มากมายเลย คำตอบคือใช่ แต่นี่คือสถานการณ์จริง เวลาที่เราให้ไปเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะใช้ถูกหรือไม่ กินยาอื่นหรือไม่ ต่างจากการศึกษาที่เรียกว่า Controlled Trials ที่จะมีการควบคุมทุกขั้น สูดยาต้องถูกต้องไม่น้อยกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ ใครใช้ยาอื่นจะถูกคัดออกจากการศึกษา ยาต้องใช้ตามโปรโตคอลที่ได้รับเท่านั้น
แม้จะมีตัวแปรปรวนมากแต่คือตัวแปรปรวนตามธรรมชาติของมนุษย์ จึงพอบอกได้ว่าถ้าทำในทางปฏิบัติซึ่งตัวแปรปรวนมากๆนี่แหละ ผลจะออกมาเป็นแบบใด มันจะดีเหมือนการทดลองที่เข้มงวดเคร่งครัดหรือไม่
แต่ระเบียบวิธีวิจัยก็ยังทำตามมาตรฐานนะครับ สามารถแบ่งกลุ่มย่อยทั้ง subgroup และ Pre-specified ได้ตามปรกติ โดยตรวจสอบตามมาตรฐาน CONSORT สำหรับ pragmatic trials ได้ ส่วนเกณฑ์ที่จะดูว่าการศึกษาใดมีความ pragmatic มากน้อยแค่ไหน (อาจไม่ต้อง pragmatic ทั้งหมด) เราใช้เกณฑ์ที่ชื่อว่า PRECIS-2 criteria ...น้องๆพี่ๆ ที่สนใจไปศึกษาเพิ่มได้ มีการศึกษามากมาย
การทำวิจัยแบบ pragmatic นอกจากจะเห็นถึงสถานการณ์จริงแล้วยังสามารถวิเคราะห์เรื่องราคา ความคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขได้ง่ายกว่า เพราะตัวแปรตามธรรมชาติได้ถูกประเมินตอนทำไปแล้ว สิ่งที่ได้คือสิ่งที่เกิดจริง
แม้รูปแบบนี้จะมีตัวแปรปรวนมาก ทั้ง confouders และ bias วิธีคิดวิเคราะห์ก็จะซับซ้อนกว่า แต่สิ่งที่ได้คือของจริง real-world practice
ท่านหมื่นในละครคือของลวงตา ลุงหมอหนุ่มวัยชราคือของจริง

การศึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่แบบการทดลองทางการแพทย์

การศึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่แบบการทดลองทางการแพทย์ นานๆมีมาสักฉบับ
ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาการให้รางวัล 800 ดอลล่าร์สหรัฐกับพนักงานที่เลิกได้ ผลการเลิกดีกว่าเลิกมาตรฐานสามเท่า มีการให้รางวัลแบบสะสมเดือนต่อเดือนถ้าไม่สูบบุหรี่ แต่ถ้าสูบจะถูกหักเงิน พบว่าสำเร็จมากกว่าวิธีให้รางวัลถึงสองเท่า แต่นี่คือคนที่สนใจเลิกนะครับ
(แสดงว่าแรงจูงใจนี่มีผลมากๆ)
ทางมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียได้ทำงานวิจัยขึ้นมาใหม่คล้ายๆแบบนี้ โดยเลือกในกลุ่มพนักงานบริษัท ก็เป็นบริษัทที่มีการตรวจสุขภาพพนักงาน มีการถามเรื่องบุหรี่ และมีโครงการเลิกบุหรี่ให้พนักงาน โดยส่งอีเมลไปเชิญพนักงาน 54 บริษัท ว่าจะเข้าร่วมโปรแกรมหรือไม่ ถ้าไม่ตอบกลับถือว่าเข้าร่วม เพราะนายจ้างเขามีโปรแกรมให้เลิกอยู่แล้ว 6006 ราย โดยในหกพันกว่ารายนี้ มีรายที่แจ้งความจำนง "อยากและต้องการ" ที่จะเลิกบุหรี่อย่างแข็งขันอยู่ 1191 ราย คือเป็น 19.8% (โหย..มีใจรักอยากเลิกสุดๆ แค่ 20%เอง)
ทุกคนที่อยากเลิกจะได้รับสื่อการสอน การอบรม การทำความเข้าใจการเลิกบุหรี่ผ่านทางสื่อออนไลน์ และมาจัดกลุ่ม เป็นกลุ่มที่ได้รับคำแนะนำมาตรฐานและกลุ่มที่ได้รับการทดลอง กลุ่มที่ได้รับการทดลองแบ่งเป็นสี่กลุ่มย่อยนะครับ
กลุ่มที่ได้การรักษามาตรฐานคือให้ความรู้ เสริมพลังใจ(ไม่ได้ใช้คลินิกเลิกบุหรี่นะครับ) 813 ราย หลังจากนั้นก็มาแบ่งเป็นกลุ่มทดลองย่อยสี่กลุ่ม (เนื่องจากสี่กลุ่มนี้วิธีไม่เหมือนกัน จึงจะมี bias และ allocation ที่ต่างกัน) ดังนี้
1. ให้ยาอดบุหรี่ และสารชดเชยนิโคตินเช่นหมากฝรั่ง แผ่นแปะ ให้ฟรีเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ยาอดบุหรี่ควบคุมโดยแพทย์ มีการสอนการใช้สารชดเชยนิโคติน (สั่งและส่งให้ทางหน้าเว็บของเขา)
2. ให้บุหรี่ไฟฟ้าฟรี ไม่เกิน 6 เดือน ยี่ห้อ NJOY พร้อมนิโคตินเหลว 1.0% หรือ 1.5% และรสชาติตามชอบ ให้ 20 set ต่อสัปดาห์ (สั่งและควบคุมการใช้ทางเว็บไซต์) โดยไม่มียาอดบุหรี่หรือสารชดเชยนิโคตินในข้อแรกเลย
3. ให้เงินรางวัลถ้าอดได้ที่เดือนที่หก (มีการติดตามตลอดนะ) จำนวน 600 ดอลล่าร์สหรัฐ (หมื่นแปด ..ตรงนี้สำหรับบางคนอาจไม่ได้จูงใจมากหากรายได้สูง)
4. ให้เงินโบนัส 100 ดอลล่าร์เดือนแรก 200 ดอลล่าร์เดือนที่สอง 300 ดอลล่าร์เดือนที่หก ถ้าพิสูจน์ว่าแต่ละครั้งที่ให้อดบุหรี่ได้จริง (มีวิธีทดสอบ) ถ้าอดไม่ได้ก็เลิกและถอนเงินกลับ (โหดมาก)
โดยกลุ่มที่สามและสี่ ได้ยาและผลิตภัณฑ์ชดเชยนิโคตินฟรีเช่นกัน
น่าสนใจดี วัดผลว่าเดือนที่หก จะมีคนเลิกบุหรี่ได้กี่คน เลิกได้นั้นต้องประวัติเลิกได้จริงและยืนยันด้วยผลตรวจสารโคตินีนในปัสสาวะ (urine cotinine) และหากเป็นกลุ่มใช้สารชดเชยนิโคตินหรือบุหรี่ไฟฟ้าจะเพิ่มการดู คาร์บอกซีฮีโมโกลบิน คือคาร์บอนมอนอกไซด์ที่จับเม็ดเลือดแดง มาจากบุหรี่เผาไหม้ ในความเห็นส่วนตัวผมว่าไม่มาตรฐานเท่าไหร่นัก เพราะมาตรฐานจะใช้การวัดคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ ถ้ามีก็น่าจะสูบ ถ้าไม่มีคงไม่สูบแน่ๆ
การเก็บข้อมูลแบ่งเป็นสองขยัก เพราะขยักแรกกลุ่มตัวอย่างไม่พอ คนไม่ได้อยากเลิกมากขนาดนั้น โดยคิดวิเคราะห์โดยรวม และดูเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเลิกจริงจังที่แจ้งความจำนง 1191 คนด้วย เรามาดูผลกัน
มาดูข้อมูลโดยรวมก่อน ส่วนมากที่เจ้าร่วมการศึกษาอายุ 44-45 ปี สูบบุหรี่มา 18-20 ปีเฉลี่ยที่ครึ่งซองต่อวัน ผู้ชายผู้หญิงพอๆกัน น่าสนใจคือเป็นคนที่อยากเลิกแต่ไม่มีโอกาสหรือเข้าไม่ถึงวิธีถึงเกือบ 90% ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาแล้วแค่ 10%
การศึกษาไม่ได้แจกแจงรายได้ ซึ่งมีส่วนเพราะค่าเงินรางวัลอาจไม่จูงใจในกลุ่มรายได้สูง
ส่วนคนที่ต้องการเลิกจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนะครับ การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย รายได้ดีและส่วนมากใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกมาก่อน
ผลโดยรวมอัตราการเลิกที่หกเดือน 1.3% เท่านั้น กลุ่มที่แนะนำเฉยๆ เลิกได้ 0.1% กลุ่มหนึ่ง 0.5% กลุ่มสอง 1.0 % กลุ่มสาม 2% กลุ่มสี่ 2.9% โดยกลุ่มที่เลิกได้อย่างมีนัยสำคัญคือกลุ่มที่ได้เงิน ส่วนกลุ่มอื่นๆไม่มีนัยสำคัญ และถ้าเทียบว่ากลุ่มที่ได้เงินจะเลิกได้มากกว่ากลุ่มไม่ได้เงินไหม คำตอบคือใช่ 4-5 เท่าตัวเลยทีเดียว
ตรงนี้บอกอะไร บอกว่าในกลุ่มที่พอมีโอกาสเข้าร่วม แรงจูงใจไม่แรง แม้ได้โอกาสดีๆแบบต่างๆ อัตราการเลิกก็ไม่ได้สูงมากนัก พอๆกับหักดิบเลิกเองเลย แม้การได้รับเงินรางวัลจะมีนัยสำคัญต่างจากการเลิกมาตรฐานและบุหรี่ไฟฟ้า แต่ตัวเลขก็ไม่ได้มากเท่าไรนัก
แรงจูงใจของตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว ...ลองมาดูข้อมูลของคนที่อยากเลิกดูบ้าง
สำหรับคนที่อยากเลิกเป็นทุนเดิม 1191 ราย ก็ได้รับการแบ่งกลุ่มไม่ต่างจากกลุ่มรวม แต่ผลการศึกษาต่างกันมาก ผมจะวงเล็บตัวเลขโดยรวมมาด้วยเพื่อเปรียบเทียบ
การแนะนำเฉยๆ 0.7%(0.1%) กลุ่มให้ยาฟรี 2.9%(0.5%) กลุ่มให้บุหรี่ไฟฟ้าฟรี 4.8%(1.0%) กลุ่มได้รางวัล 9.5%(2.0%) กลุ่มที่สะสมเงินและเอาคืนหากไม่เลิก 12.7%(2.9%) จะสังเกตว่าแนวโน้มไปในทางเดียวกันกับกลุ่มใหญ่ แต่ตัวเลขมากกว่าหลายเท่าเลย และการจูงใจก็ยังสำคัญมาก
บอกเราว่า ถ้าใครมีแรงจูงใจแล้วเราเสนอทางเลือกเพิ่มให้เขา แนะนำหนทาง ช่วยเขาอัตราการเลิกจะสูงขึ้น
*** นี่ขนาดยังไม่เข้าคลินิกเลิกบุหรี่อย่างเป็นทางการนะ คิดดูว่าถ้าประชาสัมพันธ์ดีๆ ชักจูงคนให้เห็นผลเสียของบุหรี่ ชักจูงให้เลิก เมื่อเขาพร้อมก็ให้การช่วยเหลือทันที และยิ่งเป็นกระบวนการของคลินิกเลิกบุหรี่ที่ดีแล้ว รับรองว่า อัตราการเลิกบุหรี่จะเพิ่มหลายเท่า เราจะช่วยลดอันตรายโรคจากบุหรี่ได้มากมายขนาดไหน ***
นานๆจะได้เห็นการศึกษาแบบ RCTs ในการเลิกบุหรี่สักทีครับ เลยมาเล่าสู่กันฟัง สามารถไปอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ (ไม่ฟรีนะครับ)
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMsa1715757…

24 พฤษภาคม 2561

ตำบักหุ่ง...ส้มตำอีสาน

ตำบักหุ่ง...ส้มตำอีสาน
ขนาดจานกลาง ใส่ปูนิดนึง ปลาร้าพอได้กลิ่น เฉลี่ยเกลือโซเดียม 1000 มิลลิกรัมต่อจาน
แต่นี่มันเด็กๆ ส้มตำอีสานที่เราจัดๆกันนั้น ไม่ได้กินเป็นจานเดี๋ยวนี้กินเป็นถาด ปลาร้าเป็นต่อนๆ (ต่อน = ชิ้น) ใส่น้ำปลาร้าเพิ่ม..เป็นแซ่บนัว
ดังนั้นส่วนมากเกลือจะเกิน 1000 มิลลิกรัมแน่นอน ในคนที่จำกัดเกลือเช่นโรคไต โรคหัวใจวาย โรคความดันโลหิตสูง จะกินเกลือได้ไม่เกิน 2200 มิลลิกรัม แค่จานเดียวก็ครึ่งนึงแล้ว ดังนั้นคนควบคุมเค็มต้องหักใจนะ (แต่กลิ่นปลาร้ามันหอมมมม)
สารพันวิธีกินเพื่อระวังเค็ม
1. บอกแม่ค้า อย่าใส่เกลือ น้ำปลา ผงชูรสเยอะ ... ก่อนบอกกรุณามองซ้ายขวาด้วยว่าแฟนแม่ค้าอยู่แถวนั้นหรือไม่
2. กินหลายๆคน มาช่วยกันเฉลี่ยๆเกลือ อย่าเก็บไว้กินคนเดียว เพื่อนจะเคือง
3. กินมะละกอ กินเครื่อง สะเด็ดน้ำด้วย เกลืออยู่ในน้ำ ..สรุป กินเรียบ แถมเหลือน้ำในจาน เอาข้าวเหนียวมาจ้ำกินอีกต่างหาก
4. ลดปลาร้าลงหน่อย แรกๆก็จะรวดร้าวหัวใจที่ไม่มีปลาร้า หรือน้อยลง หลังๆก็จะไปกินร้านอื่น เอ้ย...ชินไปเอง
5. สั่งเป็นจาน อย่าสั่งเป็นถาด ส้มตำมันมีอาถรรพ์ สั่งมาเท่าไรหมดเรียบ ถ้าร้านไหนขายเป็นถาด ก็บอกเอาตำถาด แต่ใส่จาน !!! อย่าลืมหลบอีโต้แม่ค้าด้วยนะ
ด้วยความปรารถนาดีจาก จอมมารยามดึก

บทความที่ได้รับความนิยม