31 มกราคม 2564

การตัดสินใจเลือกโดยให้ผู้กินยาได้ร่วมมีส่วนตัดสินใจ

 จากคำถามสองคำถาม ที่ถามไปเมื่อเย็นนี้ครับ

คำถามแรก เรื่องยาที่ออกฤทธิ์ยาวนาน กินเดือนละครั้ง เทียบกับยาเดียวกันแต่ออกฤทธิ์สั้นกว่า
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2804690456513636&id=1452805065035522

คำถามสอง ยาเม็ดรวมสามชนิด กินพร้อมกัน ราคาสูงกว่านิดนึง เทียบกับยาเม็ดแยก กินสามเม็ด
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2804807403168608&id=1452805065035522

ท่านที่สนใจ สามารถคลิ้กไปอ่านคำตอบที่หลากหลายในคอมเม้นต์ได้ ทั้งหมดนี้ผมอยากให้รู้ว่า ไม่ว่าข้อมูลการศึกษาจะเป็นอย่างไร แนวทางจะเป็นอย่างไร การตัดสินใจเลือกโดยให้ผู้กินยาได้ร่วมมีส่วนตัดสินใจ สำคัญมาก

อาจจะสำคัญต่อ การติดตามการรักษา ความสม่ำเสมอของการรักษา มากกว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แห่งยานั้นก็ได้

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

30 มกราคม 2564

TIA transient ischemic attack

 TIA transient ischemic attack คือโรคสมองขาดเลือดนั่นเอง แต่ว่าขาดเลือดเพียงชั่วคราว อาการที่พบคืออาการของอัมพาตตามตำแหน่งหลอดเลือด และหายกลับคืนสภาพเดิมได้เอง และต้องไม่พบความผิดปกติใด ๆ จากการถ่ายภาพรังสี (แต่ต้องใช้ MRI-DWI นะ)

ส่วนมากอาการมักจะหายใน 1 ชั่วโมง (จริง ๆ ก็ 10-15นาที) ต่างจากคำจำกัดความเดิมที่หายใน 24 ชั่วโมง เพราะเรามีการรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือดที่ดีในสมองขาดเลือด ถ้าเราคิดว่าเป็น TIA แล้วรอนานขนาดนั้น คงเสียโอกาสการรักษาสมองขาดเลือดที่ขาดจริงและไม่คืนสภาพ

เกิด TIA อย่าคิดว่าโชคดีนะ ที่ไม่เป็นอัมพาต !!

มีการศึกษามากมาย แถมยืนยันไปในทางเดียวกันด้วยว่า หากเกิด TIA แล้ว โอกาสเกิดขาดเลือดของจริงจะสูงมาก โดยเฉพาะในสามเดือนแรก 30-40% เลยทีเดียว และยิ่งหากติดตามระยะยาวดังเช่นการศึกษานี้ เขาติดตามผู้ป่วยที่อยู่ใน Framingham Heart Study คือการศึกษาความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดขนาดใหญ่และติดตามยาวนานมาก โดยเอาข้อมูลย้อนหลังมาวิเคราะห์เทียบกันว่า ในคนที่เคยมี TIA เมื่อติดตามระยะยาวจะมีโอกาสเกิด Stoke มากกว่าคนที่ไม่เคยเกิด TIA สักเท่าไรกัน

ติดตามระยะยาว ประมาณ 60 ปี ตามจนผลัดชั่วอายุคน ได้คนมาวิเคราะห์ 14000 กว่าคน เมื่อปรับตัวแปรเริ่อง เพศ อายุพบว่า คนที่เคยเกิด TIA มีโอกาสเกิดอัมพาตมากกว่าคนที่ไม่เคยมี TIA สูงประมาณ 4 เท่าในการติดตามที่ 10 ปี

เป็นอาการเตือนที่แท้จริง และต้องเข้ารับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยง ไม่ว่าจะเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ลดน้ำหนักตัว ออกกำลังกาย ลดไขมัน ควบคุมปัจจัยโรคร่วม ใช้ยาต้านเกล็ดเลือดและยาลดไขมัน สิ่งต่าง ๆ นี้จะลดโอกาสเกิดอัมพาตในอนาคตได้ครับ

เหมือนคว้าแชมป์ฤดูกาลที่แล้ว ก็มีโอกาสคว้าแชมป์ฤดูกาลนี้สูงมากเช่นกัน

Lioutas V, Ivan CS, Himali JJ, et al. Incidence of Transient Ischemic Attack and Association With Long-term Risk of Stroke. JAMA. 2021;325(4):373–381. doi:10.1001/jama.2020.25071

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

สรุปเนื้อหาจากงานวิชาการเรื่องการจัดการวัคซีนของ HITAP เมื่อ 29 มกราคม 2664

 สรุปเนื้อหาจากงานวิชาการเรื่องการจัดการวัคซีนของ HITAP เมื่อ 29 มกราคม 2664

1. วัคซีนโควิด ไม่ใช่มาตรการที่จะหยุดยั้งโรคได้ทั้งหมด ยังต้องใช้การรักษาสุขอนามัย กินร้อน ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เพื่อจะช่วยการยับยั้งโรค

2. การศึกษาเรื่องโรคโควิดและวัคซีนโควิด มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีชุดความจริงอันใหม่ที่มีหลักฐานมากกว่ามาเปลี่ยนแปลงความรู้เดิมได้เสมอ และปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมากด้วย คงต้องติดตามข่าวที่เชื่อถือได้และเป็นปัจจุบันที่สุด

3. ณ เวลาปัจจุบัน ผลของวัคซีนโควิดคือ "ลดความรุนแรงของโรค" ส่วนเรื่องลดการแพร่กระจาย เรื่องลดการติดเชื้อ หรือผลการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะมาอ้างประสิทธิภาพเหล่านั้น ยังต้องรอผลการศึกษาที่ทำอยู่ในระยะยาว และการศึกษาใหม่ที่ออกมาโดยตรง

4. จากผลการศึกษาหลักคือ ความรุนแรงของโรค ดังนั้นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ควรจะได้รับวัคซีนคือ คนที่เป็นโรคแล้วจะรุนแรง คือ ผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ผู้ที่น้ำหนักตัวมากเกินกำหนด และเมื่อกลุ่มคนที่กล่าวมาได้วัคซีนเพียงพอแล้ว จึงกระจายไปสู่บุคคลกลุ่มอื่นต่อไป

5. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นอีกกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อน เพราะต้องดูแลคนกลุ่มเสี่ยงสูง และเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่มไป หากบุคลากรป่วยและติดต่อกันจำนวนมาก (ลองคิดดูว่า คนที่รักษาเราก็ป่วย มันคงไม่ค่อยดีเท่าไร)

6. ถามว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่แพร่ระบาด หรือลดการแพร่กระจายจากคนนั้น จริงหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่อง ลดการแพร่กระจายหรือลดการติดเชื้อ ดังนั้นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดยังคงต้องติดตามต่อไป หรือแม้แต่ vaccine passport ก็อาจต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะมันไม่ได้ยืนยันว่าคนที่ฉีดจะไม่แพร่เชื้อหรือไม่ติดเชื้อ แต่ช่วยไม่ให้ติดเชื้อแล้วอาการหนัก

7. การฉีดวัคซีนโดยภาพรวมให้ถึงเป้าหมาย นอกเหนือจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจด้านเศรษฐกิจและสังคม ว่าอย่างน้อย เราก็มีมาตรการป้องกันโรคที่ดีพอ ที่จะทำให้ประเทศกลับมาเหมือนเดิมได้ เราจะดำเนินการฟื้นฟูประเทศอย่างมั่นใจมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายให้ #วัคซีนฟรี# กับประชาชน ตามลำดับความจำเป็นและข้อมูลทางวิชาการ

8. ตอนนี้ให้ใช้วัคซีนตามข้อมูลที่ศึกษาและข้อบ่งชี้ ยังไม่มีข้อมูลว่า ฉีดวัคซีนรวมกันจากหลายบริษัท หรือฉีดปนกันต่างบริษัท หรือฉีดเร็วกว่า ฉีดช้ากว่า จะดีหรือไม่ดีกว่ากัน ทั้งหมดเป็นการประยุกต์แนวคิดที่น่าสนใจ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนการประยุกต์ต่าง ๆ จึงแนะนำให้ใช้ตามหลักฐานปัจจุบันก่อน และยังไม่แนะนำให้ใช้นอกเหนือข้อบ่งชี้เพราะตอนนี้วัคซีนยังไม่เพียงพอ

9. ในอนาคตจะมีวัคซีนเพียงพอ (หรืออาจล้นตลาดได้) ด้วยกำลังการผลิตวัคซีนของบริษัทที่ได้รับการอนุมัตินั้น ถือว่าภายในหนึ่งปีนี้น่าจะเพียงพอ และยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังจะผลิตเพิ่ม รวมทั้งต้องคิดต่อเนื่องเรื่องการกลายพันธุ์หรือการกระตุ้น เข็มสามเข็มสี่ต่อไปด้วย ดังนั้นกำลังการผลิตกำลังเดินหน้าเต็มพิกัด

10. ความปลอดภัยของวัคซีนและประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่ วัคซีนก็ใหม่ เราคงไม่สามารถรอให้เกิดคำว่า ปลอดภัย "100%" ได้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ และเราอาจแย่จากตัวโรคไปก่อน แค่เราพิสูจน์ว่าประโยชน์มากกว่าผลเสียอย่างชัดเจน และพอจัดการผลเสียนั้นได้ ก็เพียงพอในการนำวัคซีนมาจัดการในทางสาธารณสุข และช่วยสร้างความเชื่อมั่นฟื้นฟูเศรษฐกิจ

11. สำหรับเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน จะเริ่มมีข้อมูลมากขึ้นเพราะปริมาณการฉีดมากแล้ว ในปัจจุบันพบอันตรายถึงแก่ชีวิตในผู้ที่รับวัคซีน แต่ตอนนี้เท่าที่สืบสวนพบว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัววัคซีน อาจจะเคยติดเชื้อมาก่อน หรือมีโรคร่วมอื่น ที่ทำให้เสียชีวิต

** ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ไม่เท่ากับ เสียชีวิตจากวัคซีน** ต้องมาพิสูจน์เสมอว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แม้แต่วัคซีนที่เรากำลังจะฉีดในอีกไม่กี่เดือน ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ อย่าเพิ่งไปโทษวัคซีน ต้องพิสูจน์ก่อนเสมอ

12. สำหรับเรื่องประสิทธิภาพโดยรวม การลดการติดเชื้อในระดับชุมชนหรือประเทศ ต้องรอเก็บข้อมูลในไทยหลังรับวัคซีน ข้อมูลประเทศต่าง ๆ ที่มีนั่น เขามีบริบทที่ต่างจากเรา และหากเราไปดูข้อมูลประเทศที่ฉีดไปแล้ว ส่วนใหญ่บริบทก็ต่างจากเรามาก หรือประเทศบริบทใกล้เคียงเราก็ยังรับวัคซีนน้อยเกินไปกว่าที่จะคำนวณได้ ดังนั้นข้อมูลประเทศอื่น ๆ ใช้ได้เพียงเป็นแนวทางเท่านั้น

ผมสรุปมาในแง่ที่ประชาชนควรเข้าใจ และต่อไปทางภาครัฐน่าจะมาสื่อสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากขึ้นครับ ใครต้องการรับฟังซ้ำ ตอนนี้ทางเพจ hitap https://www.facebook.com/HITAPTHAILAND/
ได้ลงเทปบันทึกภาพและเสียงการสัมมนานี้ให้ฟังได้ฟรีครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "COVID-19 vaccine 士"

29 มกราคม 2564

รีวิวหนังสือตำราแพทย์ An Insiders Guide to Clinical Medicine

 รีวิวหนังสือตำราแพทย์ An Insiders Guide to Clinical Medicine

ขอขอบคุณร้าน @Meditext ซื้อตำราแพทย์เป็นเรื่องง่าย ๆ https://www.facebook.com/medicaltextbook/

หนังสือเกี่ยวกับอะไร : ตำราเกี่ยวกับการตรวจร่างกายทางการแพทย์ในทุกระบบ แสดงวิธีการตรวจ คำอธิบาย ชื่อเรียกอาการและอาการแสดงต่าง ๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และเตรียมตัวสอบภาคปฏิบัติ

รูปแบบ : แบ่งเป็นบทตามระบบ มีภาพประกอบเป็นภาพจริง มีตารางเพื่อรวบรวมให้อ่านง่าย มีไดอะแกรมเพื่อแยกอาการต่าง ๆ แสดงการตรวจพร้อมอธิบายเป็นขั้นตอน ดู คลำ เคาะ ฟัง การทดสอบพิเศษ เช่น cassava maneuver ในแต่ละอาการและอาการแสดงจะบอกพยาธิกำเนิดคร่าว ๆ บอกวิธีการ approach และการแยกโรคให้ ว่าปรกติเป้นอย่างไร ผิดปกติแล้วคิดถึงสิ่งใด

รายละเอียด : อาการที่พบบ่อยและออกสอบบ่อย การตรวจร่างกายครบทุกระบบ แต่ละระบบครบทุกวิธี ใช้เป็นเช็คลิสต์ตรวจสอบความถูกต้องได้เลย แปลผลการตรวจพบและการทดสอบเป็นตาราง วิธีคิดแบบแผนภูมิต้นไม้สำหรับการตรวจร่างกาย การสืบค้นพื้นฐาน เช่น แบบทดสอบต่าง ๆ ทางประสาทและสมอง, scoring system, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเอ็กซเรย์

เหมาะกับใครมากที่สุด : นักเรียนแพทย์ชั้นคลินิก นักเรียนแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านที่จะต้องสอบรายยาว สอบรายสั้น หรืออาจารย์จะเอาไว้สอน เอาไว้ออกสอบ

ข้อสังเกตของหนังสือ : เน้นวิธีปฏิบัติ จำไปใช้มากกว่าความเข้าใจ ทฤษฎีและคำอธิบายประกอบการตรวจยังมีไม่มาก หากสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่ม ต้องไปค้นต่อ ที่สำคัญคือ อ้างอิงและบรรณานุกรมมีไม่มากนัก

รูปเล่ม : กระดาษอาร์ต ปกอ่อน เย็บกาว ถ้าเปิดกางมาก มีโอกาสหลุดเป็นแผ่นสูง หนา 510 หน้า ขนาดใหญ่และหนักพอควร เหมาะกับการตั้งโต๊ะหรือห้องสมุด สีและภาพชัดเจน ตัวอักษรมาตรฐานไม่เล็กเกินไป

ผู้แต่งและรวบรวม Archith Boloor และ Anudeep Padakanti จาก Kasturba Medical Colleges ประเทศอินเดีย สำนักพิมพ์ Jaypee Brothers medical Publishers ราคาจากร้าน Meditext เล่มละ 1,290 บาท

ติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/medicaltextbook/

ผมแนบตัวอย่างในเล่มมาให้ดูในภาพด้านล่างนะครับ

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

วิธีการเลิก vape (บุหรี่ไฟฟ้า)

 วิธีการเลิกบุหรี่มีมากมาย แล้ววิธีการเลิก vape (บุหรี่ไฟฟ้า) มีบ้างไหม

คำถามนี้น่าสนใจมากครับ และไม่มีคำแนะนำมาตรฐาน ผมได้รวบรวมจากวารสารและเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลจากผู้ใช้ vape มาเล่าให้ฟังครับ

ความสนใจและข้อมูลเรื่องนี้จะสามารถหาได้จากวารสารทางกุมารเวชศาสตร์เป็นหลัก อย่างต้นทางของเรื่องนี้ก็มาจาก JAMA pediatrics ทำไมเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า ปริมาณการใช้ vape โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เรียกว่า JUUL มีการใช้อย่างมากในเด็กและเยาวชน (สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อตามข้อมูลไปในเวลานานขึ้น คนกลุ่มนี้ใช้ vape ลดลง) เมื่อมีปริมาณการใช้มากมาย อุบัติการณ์ของโรคหรือเหตุไม่พึงประสงค์จากเวปก็มากขึ้นไปด้วย การศึกษาจึงเริ่มจาก painpoint จุดนี้

ข้อมูลจาก JAMA Pediatrics ลงข้อมูลจาก Population Assessment on Tabacco Health study) ส่วนหนึ่งของการศึกษา เก็บข้อมูล ธค. 2016 ถึง มค. 2018 ที่เป็นช่วงเวลาที่มีการใช้ JUUL สูงมาก มีข้อมูล 14,798 ราย ในคนที่เคยเวปนั้น 44.5% มีความคิดที่จะเลิกอย่างจริงจังที่จะเลิกเวป และมี 24.9% ที่เคยทดลองเลิกเวปมาแล้วในหนึ่งปี ข้อมูลตรงนี้บอกได้ว่าแม้มีคนใช้มาก ก็มีคนอยากเลิกมากเช่นกัน แต่เราไม่มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะเลิกเวปเลย

ข้อมูลน่าสนใจในวารสาร Addiction เมื่อ 15 กรกฎาคม 2020 พบว่า มีคนที่เลิกบุหรี่แล้วมาใช้เวป (maintainer) ต้องการจะเลิกทั้งหมด (abstainer) แต่เนื่องจากไม่ทราบวิธีที่ดีและไม่มีแนวทางชัดเจน ทำให้ maintainer บางส่วนต้องกลายเป็น relapser (ไม่ว่ากลับไปสูบบุหรี่หรือใช้บุหรี่คู่เวป) จากข้อมูลวารสารนี้ มีผู้เข้ามาให้ความเห็นมากมาย ได้รวบรวมลงมาตีพิ​มพ์ใน Addiction เมื่อ 26 พ.ย. 2020 พบว่ามีความพยายามใช้สารทดแทนนิโคตินเพื่อเลิกเวป และมีการตั้งบริการเลิกเวปในอังกฤษและอเมริกา ซึ่งผลการเลิกหรือตัวเลขผู้เลิกได้ยังไม่มีการเก็บข้อมูลเป็นระบบชัดเจน มี vaper ประมาณ 25% จากสถานการณ์จริง ซึ่งคำแนะนำส่วนมากคือ ใช้วิธีเดียวกันกับการเลิกบุหรี่ปรกติ

ข้อมูลตรงนี้สอดคล้องกับ คำแนะนำของศูนย์การแพทย์ซีดาร์ไซนาย ที่สหรัฐอเมริกา คือยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่มากพอว่ากระบวนการเลิกบุหรี่จะใช้ได้ผลกับการเลิกเวป แต่อาจจะช่วยลดอาการอยากนิโคตินได้ โดยเฉพาะการใช้สารทดแทนนิโคติน

มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ SmokeFreeTeen ที่ช่วยแนะนำวิธีลดเลิกผลิตภัณฑ์นิโคติน ลงแนะนำในคอลัมน์ CNN Health เมื่อ19 สค. 2020 จะแนะนำตั้ง end dateโดยใช้ personal quit plan โดยกรอกแบบสอบถามแล้วจะออกมาเป็นมาตรการที่แต่ละคนใช้ต่างกัน ในภาพรวมคือ กำหนดวันเลิก เรียนรู้อาการถอนนิโคติน หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะกลับไป vape ไม่ได้มีคำแนะนำการเจ้าคลินิกหรือใช้ยาอดบุหรี่

เมื่อเรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ก็ต้องทำวิจัย ปัจจุบันนี้มีการทำแล้วเดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง ตอนนี้เรามาดูคำแนะนำของฝั่งผู้ที่ใช้เวป ว่ามีวิธีอย่างไร จากเว็ปไซต์ vaping360.com และการสัมภาษณ์ผู้ใช้เวปและให้คำปรึกษาผู้ใช้เวปโดยตรง คำแนะนำออกมาในทางเดียวกันในแบบนี้ครับ

1. ถ้าใช้ vape ระบบปิดคือ JUUL แนะนำให้ปรับลดมาเป็นชนิดที่นิโคตินต่ำลง หากใช้ระบบเปิดให้ปรับลดความเข้มข้นนิโคตินลงเอง โดยระยะแรกแนะนำให้ใช้อุปกรณ์เดิม เพราะถ้าใช้อุปกรณ์ใหม่อาจมีปัญหาไม่คุ้นชินจนเลิกได้ยาก

2. สุดท้ายถ้าเป็นไปได้ ให้เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ระบบเปิดที่ปรับแต่งปริมาณนิโคตินได้ ให้ปรับลดปริมาณนิโคตินจนถึงเป็นศูนย์ได้
!! ข้อมูลตรงนี้จะไม่ตรงกับการศึกษารวบรวมข้อมูลที่ผ่านมา ที่บอกว่า non-nicotine electronic delivery device มีโอกาสหยุดบุหรี่น้อยกว่าอย่างอื่น

4. แต่ผู้ใช้ vape หลายคนก็บอกว่า วิธีที่ดีคือ ค่อย ๆ ลดปริมาณนิโคตินจนหยุดได้

5. แนะนำอาการลงแดงบุหรี่ อาการถอนบุหรี่ ให้ผู้ต้องการเลิกได้รับรู้ และเตรียมรับมือ โดยไม่ใช้ปริมาณนิโคติน หรือไม่เพิ่มปริมาณการสูบ

6. ไม่แนะนำทิ้งอุปกรณ์ในวัน end date เพราะอาจกลับไปหาบุหรี่แทน
!! คำแนะนำนี้จะต่างจากการเลิกบุหรี่ที่เราแนะนำทิ้งอุปกรณ์ทุกอย่างในวัน quit date

เมื่อสอบถามกลุ่มผู้ใช้ vape ก็พบว่ามีคนที่ใช้วิธีนี้แล้วเลิกได้ขาด (เป็น abstainer) อยู่พอสมควรครับ แต่ยังไม่มีการเก็บเป็นสถิติที่ชัดเจนตามวิชาสถิติ

แล้วมีการศึกษาเพื่อหาวิธีเลิกเวปไหม ตอบว่ามีครับ แต่ยังไม่เสร็จต้องรอ เป็นการศึกษาจากกลุ่ม truth initiatives ชื่อว่า the Quit Vaping Study ลงทะเบียนการศึกษาวิจัย NCT04251273 ศึกษาวิธีช่วยเลิก vape ในผู้ใช้ vape 4อายุ 18-24 ปีที่ต้องการเลิก vape (กลุ่มที่มีการใช้มากสุด) โดยการใช้คำแนะนำตามด้วยการส่งข้อความช่วยกระตุ้น เทียบกับการให้คำแนะนำอย่างเดียว จากการคำนวณต้องการตัวอย่างการศึกษา 2600 คน

รายงานเบื้องต้น ตีพิมพ์ใน Journal of Medical Internet Reserch จากกลุ่มแรกที่ใช้เพื่อคำนวณจำนวนคนเข้าวิจัย (เป็นการศึกษาแรก ไม่มีงานอื่นไว้เทียบ จึงต้องทำตัวเทียบเอง) 269 ราย ติดตามการศึกษาจนครบเดือนแรก 80% ของคนที่เข้าร่วม พบว่าเมื่อใช้การส่งข้อความ สามารถหยุดสูบในสามสิบวัน 16.2% เมื่อเทียบกับแนะนำเฉย ๆ หยุดสูบที่สามสิบวัน 8.3% ครึ่งต่อครึ่งเลย แต่คงต้องรอดูผลสุดท้ายเมื่อจบการวิจัย

สรุปว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะเลิกเวปอย่างไรจึงดีที่สุด ข้อสรุปปัจจุบันจึงเป็นการค่อย ๆ ลดปริมาณนิโคตินลง (น้ำยา e-liquid มีหลายความเข้มข้นและปรับเองได้ด้วย) จนเหลือศูนย์แล้วหยุดเวปครับ

ที่มา (วารสารหลัก)

Smith TT, Nahhas GJ, Carpenter MJ, et al. Intention to Quit Vaping Among United States Adolescents. JAMA P่PS2iatr. 2021;175(1):97–99. doi:10.1001/jamapediatrics.2020.2348

Graham AL, Jacobs MA, Amato MS, Cha S, Bottcher MM, Papandonatos GD.
Effectiveness of a Quit Vaping Text Message Program in Promoting Abstinence Among Young Adult E-Cigarette Users: Protocol for a Randomized Controlled Trial
JMIR Res Protoc 2020;9(5):e18327

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร และข้อความพูดว่า "บุหรี่ไฟฟ้า เรามีวิธีหยุด เราย็หัห ไหมนะ"

28 มกราคม 2564

คำศัพท์แห่งปีของ Merriam-Webster Dictionary คือ "Pandemic"

 คำศัพท์แห่งปีของ Merriam-Webster Dictionary คือ "Pandemic"

คำนี้ใช้กับการระบาดของโรคติดต่อ ที่มีการระบาดในวงกว้างในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน ในหลายประเทศ และหลายทวีปในโลก มีประชากรจำนวนมากติดเชื้อ และได้รับความเดือดร้อนพร้อมกัน

ตัวอย่างของ pandemic ก็คือ โควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A 2009

ส่วนการระบาดของไข้หวัดใหญ่ประจำปี ที่มักจะต่างเวลากันในแต่ละซีกโลก เรียกว่า seasonal epidemic

มาจากคำกรีกว่า pan ที่แปลว่าทั้งหมดทั้งมวล และ demos ที่แปลว่าประชาชน รวมเป็น pandemos เมื่อมาเป็นภาษาอังกฤษในยุคศตวรรษที่ 17 ใช้เป็นคำว่า pandemic

ปรากฏการณ์ pandemic ส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก มักเกิดจากไข้หวัดใหญ่
pandemic ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ชัดเจนคือ

black death การระบาดของกาฬโรคในยุคกลาง

spanish flu ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

COVID-19 ในเวลาปัจจุบัน

เราอยู่ในยุคสมัยที่กำลังจะเป็นประวัติศาสตร์

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร

รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force) ตอนที่ 4/4

 รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force)

ตอนที่ 4/4

ข้อมูลเรื่อง ENDs ในกระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ (ในที่นี้มีแต่ข้อมูลของ vaping ไม่มีข้อมูลของ Heated Tobacco Products)

ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการใช้ vape เพิ่มขึ้นอย่างมากในอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และโดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ระบบปิดบรรจุเสร็จที่เรียกว่า "JUUL" ที่ส่วนมากมีปริมาณนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ (เลือกปริมาณนิโคตินได้ แต่ปรับแต่งไม่ได้) และตามมาด้วยอุบัติการณ์อันตรายจาก vape ที่เพิ่มขึ้น ในปี 2019 มีโรคที่เกิดจาก ENDs ที่เรียกว่า EVALI (electronic-cigarette, or vaping, product use–associated lung injury) ที่เกิดจากใช้นิโคตินเหลวไม่ถูกสัดส่วนและปนเปื้อนสารอื่นโดยเฉพาะน้ำมันกัญชา

เหตุผลหนึ่งของความนิยมใช้ ENDs คือใช้เพื่อเลิกบุหรี่ ซึ่งมีผู้ใช้ ENDs หลายคนใช้แล้วประสบความสำเร็จคือเลิกได้ทั้งหมดและหยุด ENDs ได้จริง อีกหลายคนที่หยุดบุหรี่ได้จริง แต่ต้องใช้ ENDs ต่อไปแทนบุหรี่ จากการติดนิโคตินและพฤติกรรมการสูบ (Hand-Mouth interaction) จากตัวเลขงานวิจัยที่น่าเชื่อถือที่สุด (แต่ก็มีอคติและแปรปรวนพอควร) คือ ใช้ ENDs ต่อไปถึง 27% ของกลุ่มที่เลิกบุหรี่ได้ ไม่นับพวกที่ใช้ทั้งบุหรี่และ ENDs

สำหรับข้อมูลจากงานวิจัยและการศึกษาในปัจจุบัน ยังไม่รับรองให้ใช้ ENDs เป็นหนึ่งในกระบวนการเพื่อใช้เลิกบุหรี่ เพราะข้อมูลจากงานวิจัยยังไม่มีน้ำหนักสนับสนุนเพียงพอ และความแปรปรวนในตัวงานวิจัยเอง เนื่องจาก ENDs มีหลายแบบ หลายรุ่น ปรับแต่งได้ แต่ละงานวิจัยและการศึกษาก็ใช้ ENDs ที่แตกต่างกัน ผลการศึกษาจึงกระจัดกระจายและลดความหนักแน่นลง

ผลของ ENDs (ที่ตั้งใจใช้ในกระบวนการเพื่อเลิกบุหรี่) ต่อสุขภาพโดยรวม เมื่อเทียบกับหักดิบ รายงานนี้ไม่พบการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ เพราะปัจจุบันมีการศึกษาในเรื่องนี้ของ ENDs ออกมาน้อย โดยเฉพาะการศึกษาที่ยาวนานพอที่จะเห็นผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมได้ ยังคงต้องติดตามต่อไป การศึกษาที่มีในปัจจุบันที่ตั้งเป้าดูผลกระทบต่อสุขภาพ จะเป็นระยะสั้นและตัวชี้วัดเป็นตัวชี้วัดทางอ้อม (surrogate outcome) ที่ยังไม่สามารถแปลผลต่อไปยังผลต่อร่างกายที่แท้จริงได้ยาก (clinical outcome)

ผลของ ENDs (ที่ตั้งใจใช้ในกระบวนการเพื่อเลิกบุหรี่) ต่ออัตราการหยุดบุหรี่ เมื่อเทียบกับหักดิบ มีรายงานการศึกษาทั้งช่วยหยุดบุหรี่ได้ดีกว่าและไม่ได้ต่างจากการหักดิบหรือเลิกโดยใช้สารทดแทนนิโคติน ผลการศึกษายังไม่ไปในทางเดียวกันและมีรายงานการศึกษาในแง่ใช้ ENDs เพื่อเลิกบุหรี่ ไม่มากนักและข้อมูลที่มีก็ไม่เป็นทางเดียวกันเพราะระเบียบการวิจัยและอุปกรณ์ของ ENDs ที่หลากหลายมาก

อีกข้อที่สำคัญคือ ในรายงานการศึกษาหลายชิ้นพบว่า ไม่ว่าผู้ใช้ ENDs ในการศึกษาจะหยุดบุหรี่ได้หรือไม่ก็ตาม อัตราการใช้ ENDs ต่อเนื่องหลังจากจบการศึกษาไปแล้วสูงตั้งแต่ 40-80% ในการติดตามหลังจบงานวิจัยไปแล้ว 3-9 เดือน

มีการศึกษาหนึ่งที่ทางเพจเคยเล่าให้ฟังไปแล้ว เปรียบเทียบการหยุดบุหรี่ที่หนึ่งปี ระหว่างการใช้สารทดแทนนิโคตินและ vaping products (ที่มีการควบคุมปริมาณเพื่อการวิจัย) ผลออกมาว่า vaping product ช่วยให้หยุดบุหรี่ได้มากกว่าสารทดแทนนิโคติน แต่ว่าในคนที่ใช้ vape แล้วหยุดบุหรี่ได้มีการใช้ vaping product ต่อไปอีกพอสมควร ประเด็นนี้จึงยังเป็นที่ถกเถียงว่าสามารถใช้เพื่อหยุดบุหรี่ได้จริงไหม เพราะสุดท้ายคือต้องใช้ ENDs ต่อเนื่อง

ผลกระทบของ ENDs ต่อร่างกายเมื่อใช้ในกระบวนการเพื่อเลิกบุหรี่ เนื่องจากการศึกษาของ ENDs เพื่อหยุดบุหรี่ทำในระยะสั้น ผลที่ได้จริงเป็นผลระยะสั้นเท่านั้น มีผลมากกว่าเมื่อเทียบกับหักดิบ และยังไม่สามารถแปลผลถึงอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว

ผลระยะสั้นที่พบ การศึกษาที่ทำมาหลายชิ้น จะวัดเป็นตัวชี้วัดทางอ้อม (surrogate outcome and biological outcome) และผลกระทบในแง่อื่นที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ ดังนั้นประเด็นเรื่องอันตรายเมื่อเทียบกับการหักดิบ จึงยังไม่มีข้อมูลชัดเจนครับ

สรุปคือ ในปัจจุบันยังมีข้อมูลการใช้ ENDs เพื่อการเลิกบุหรี่น้อย ยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลมากกว่านี้ ข้อมูลส่วนมากมาจากประเทศอังกฤษ เพราะที่อังกฤษอนุมัติให้ใช้ ENDs เพื่อการเลิกบุหรี่ภายใต้การควบคุมของคลินิกเลิกบุหรี่ได้ และเขาจัดการได้ดี

● ในขณะนี้จึงยังไม่แนะนำให้ใช้เพื่อการเลิกบุหรี่ครับ (อย่าลืมว่านี่เป็นผลการวิจัยจากฝั่งอเมริกานะ)

ต้นเรื่อง คือ วารสารนี้ แต่ผมเติมด้วยการค้นเพิ่มจากบรรณานุกรมที่ระบุในวารสารนี้และจากอ้างอิงอีกต่อหนึ่ง
Patnode CD, Henderson JT, Coppola EL, Melnikow J, Durbin S, Thomas RG. Interventions for Tobacco Cessation in Adults, Including Pregnant Persons: Updated Evidence Report and Systematic Review for the US Preventive Services Task Force. JAMA. 2021;325(3):280–298. doi:10.1001/jama.2020.23541

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร และข้อความพูดว่า "USPSTF 2021 REPORTS SMOKING CESSATION ข้อมูลของ ENDs ในก้ารเลิกบุหรี่ยัง ในการเลิก จำกัดและไม่ ชัดเจน ต้องระวังอันตราย ระยะสัน และการ เปลี่ยนไปติด ENDs"

electronic stethoscope

 electronic stethoscope

ส่งเสียง บันทึกเป็นไฟล์ได้ น่าสนุก เอามาสอนได้

เท่าที่ฟังเอง คุณภาพเสียงจากไฟล์ยังไม่เท่าฟังเอง (ผมใช้ 3M littmann cardiosteth)​ จากไฟล์แยกเสียงยากกว่า

ขอบคุณเทคโนโลยี

ปล. ของชาวบ้านเขา ขอมาถ่ายรูปเฉย ๆ ไม่มีทรัพย์ซื้อหรอก

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร

รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force) ตอนที่ 3/4

 รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force)

ตอนที่ 3/4

กระบวนการเพื่อใช้เลิกบุหรี่ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่หาคำตอบยาก เพราะส่วนใหญ่การศึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่มักจะไม่รวมหญิงตั้งครรภ์ และในการศึกษาที่ปรากฏในสรุปของ USPSTF นี้ก็มีขนาดประชากรไม่มาก ดังนั้นข้อมูลจากวารสารนี้จึงเป็นหลักฐานที่ไม่หนักแน่นเหมือนกับกลุ่มคนปรกติที่สูบบุหรี่

อีกข้อที่ต้องทราบคือ ผลของกระบวนการเพื่อใช้เลิกบุหรี่ในหญิงตั้งครรภ์ อาจจะไม่ได้เห็นผลในช่วงตั้งครรภ์ โดยมากจะเห็นผลหลังตั้งครรภ์ และนอกจากผลของตัวหญิงเอง ยังมีผลของทารกหรือกระบวนการคลอดอีกด้วย ส่วนผลในระยะยาวจะยังมีน้อยครับ

ดังนั้นกระบวนการเลิกบุหรี่ในหญิงตั้งครรภ์จะมีตัวเลขและระดับความหนักแน่นของหลักฐานที่ต่างออกไป ต้องแยกคิดต่างหาก

ข้อแรก ผลของกระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ต่อผลสุขภาพโดยรวม ในหญิงตั้งครรภ์จะเป็นผลในเรื่องสุขภาพมารดาและทารกในช่วงการคลอด พบว่ากระบวนการที่ใช้เลิกบุหรี่มีประโยชน์ในเรื่องลดการคลอดก่อนกำหนด อย่าลืมนะครับว่าเทียบกับการหักดิบ ส่วนภาวะสุขภาพมารดาและทารกอื่น ๆ มีข้อมูลน้อยมาก อาจเป็นเพราะไม่มีการศึกษาที่มีเป้าหมายเรื่องนี้มากนัก ที่พอมีประโยชน์แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติคือ ทารกน้ำหนักตัวน้อย และภาวะตายคลอด

และเมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาคิดประเมินสุขภาพโดยรวมก็พบว่า กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ในหญิงตั้งครรภ์ ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมารดาและทารก มากกว่าการหักดิบ แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

อาจเป็นเพราะระยะเวลาที่จะติดตามผลมันสั้นมาก อาจจะยังไม่เห็นผล ประโยชน์ที่เกิดส่วนใหญ่เกิดจาก ความสำเร็จในการหยุดบุหรี่ มากกว่า วิธีการที่ใช้ แต่อย่างไรเนื่องจากข้อมูลไม่มากพอ จำเป็นต้องรอข้อมูลที่มากกว่านี้และการศึกษาที่มีเป้าหมายเรื่องสุขภาพมารดาและทารกมากกว่านี้

ข้อสอง ผลของกระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ต่ออัตราการหยุดบุหรี่ ข้อมูลเรื่องนี้มีความแตกต่างกันมาก เพราะมีความหลากหลายใน กระบวนการเลิกบุหรี่ มีเรื่องข้อจำกัดและความกังวลในการใช้ยาเลิกบุหรี่ หรือแม้แต่ข้อกำหนดการศึกษาที่ใช้ยาเลิกบุหรี่ ที่ส่วนมากจะไม่รวมหญิงตั้งครรภ์เข้ามาในการศึกษา ทำให้ กระบวนการเลิกบุหรี่ ที่พบในรายงานนี้ เกือบทั้งหมดคือ การปรับพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรมหรือการให้คำแนะนำ มีผลช่วยหยุดบุหรี่มากกว่าหักดิบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตั้งแต่ 1.3 -1.4 เท่า ส่วนการสารทดแทนนิโคตินสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการหยุดบุหรี่ได้ก็จริง แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและขนาดงานวิจัย ผู้ที่เข้าร่วมการศึกษามีน้อย

สรุปว่าในหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่อยู่ แนะนำให้หยุดบุหรี่และใช้กระบวนการเพื่อเลิกบุหรี่มาช่วย จะประสบความสำเร็จมากกว่าหักดิบ และข้อมูลสนับสนุนมากที่สุดคือ การพูดคุย ปรับพฤติกรรม แนะนำและติดตามผล ส่วนการใช้สารทดแทนนิโคตินหรือยาอดบุหรี่ มีข้อมูลน้อยเกินกว่าจะสรุปได้ และยังต้องคิดถึงผลแทรกซ้อนหรืออันตรายที่อาจจะเกิดกับมารดาและทารก ที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไปอีกด้วย

ข้อสาม ผลกระทบต่อร่างกายในกระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ เรื่องความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด เรื่องตายคลอด มีรายงานน้อยมาก และพบว่าความผิดปกติของมารดาและทารกที่รายงานนั้น ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระหว่างการใช้สารทดแทนนิโคติน และการหักดิบ

ด้วยเหตุที่มีการใช้ยาเลิกบุหรี่น้อยมากในหญิงตั้งครรภ์ ข้อมูลจึงน้อยตาม และด้วยความที่ปริมาณข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างการศึกษามันน้อยมาก เวลาที่ข้อมูลมีการขยับไปทางใดทางหนึ่งไม่กี่ตัว มันจะส่งผลต่อผลการศึกษาของข้อมูลโดยรวมเยอะมาก เช่น เราเก็บข้อมูล 100 คน ถ้ามีผลข้างเคียงเกิด 3 คน สัดส่วนก็ไม่มาก แต่ถ้าเรามีข้อมูลรวมแค่ 5 คนแล้วเกิดผลข้างเคียง 3 คน สัดส่วนจะยิ่งใหญ่มากทีเดียว ถ้าเราสามารถออกแบบให้ศึกษาจำนวนคนมากกว่านี้ หรือสามารถเก็บข้อมูลเยอะกว่านี้ โอกาสที่จะเกิดโดยความบังเอิญจะลดลง และความถูกต้องแม่นยำจะสูงขึ้น

และยังไม่สามารถแยกได้ว่าความผิดปกติของมารดาและทารกนี้ เกิดจากยาอดบุหรี่ สารทดแทนนิโคติน หรือเกิดจากการสูบบุหรี่ของมารดา

โดยกระบวนการเพื่อเลิกบุหรี่ที่พบผลข้างเคียงต่อสุขภาพน้อยที่สุดคือ การให้คำแนะนำและการปรับพฤติกรรม

● สรุปว่า เรื่องผลข้างเคียงและอันตรายต่อสุขภาพโดยรวมนั้น ข้อมูลมีน้อยเกินกว่าที่จะสรุปได้ เท่าที่มีข้อมูลนั้น ยังไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าการเข้ากระบวนการเพื่อเลิกบุหรี่และหักดิบ โดยวิธีที่มีข้อมูลว่าผลเสียต่อสุขภาพน้อยที่สุดคือ การรับคำปรึกษาและปรับพฤติกรรม ดังนั้น หากหญิงตั้งครรภ์จะเลิกบุหรี่ ควรเข้ารับคำแนะนำการปรับพฤติกรรม เพราะมีประโยชน์ชัดเจนเรื่องช่วยหยุดการสูบบุหรี่และผลเสียน้อยที่สุดในวิธีทั้งหมด

จากสามข้อที่อธิบายมา พอสรุปได้ว่า แม้ข้อมูลเรื่องประโยชน์จะยังไม่ชัดเจนและมีการศึกษาน้อย แต่แนวโน้มการเลิกบุหรี่ในช่วงตั้งครรภ์ มีผลดีต่อการคลอดและทารกในครรภ์ และมีเพิ่มโอกาสจะหยุดบุหรี่ได้ในช่วงหลังคลอด (เพราะส่วนมากเวลาตั้งครรภ์จะหยุดสูบ บางส่วนกลับไปสูบใหม่หลังคลอด)

หากสนใจกรุณาติดตามตอนที่ 4/4

ต้นเรื่อง คือ วารสารนี้ แต่ผมเติมด้วยการค้นเพิ่มจากบรรณานุกรมที่ระบุในวารสารนี้และจากอ้างอิงอีกต่อหนึ่ง
Patnode CD, Henderson JT, Coppola EL, Melnikow J, Durbin S, Thomas RG. Interventions for Tobacco Cessation in Adults, Including Pregnant Persons: Updated Evidence Report and Systematic Review for the US Preventive Services Task Force. JAMA. 2021;325(3):280–298. doi:10.1001/jama.2020.23541

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร และข้อความพูดว่า "USPSTF 2021 REPORTS SMOKING i CESSATION สำหรับหญิงตั้ง ครรภ์ ผลของการเลิก บหรี่ มีประโยชน์ ต่อต่อสุขภาพแม่ และเด็ก แต่ข้อมูลจำกัด และเน้นที่การปรับ พฤติกรรม"

27 มกราคม 2564

สุดยอด 4 ขุนพลของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ

 สุดยอด 4 ขุนพลของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ

ชื่อ ฮิงาชิโนะ เคโงะ คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ ในเรื่องการเขียนหนังสือที่มีความซับซ้อนแต่เชื่อมโยงกันอย่างน่าอัศจรรย์

เทคนิคการเปิดประเด็น ที่เหมือนหลอกเราให้มืดแปดด้าน แล้วเปิดแสงสว่างปลายอุโมงค์ด้านหนึ่ง ทำให้เราต้องเดินและคิดตาม โดยไม่รู้ว่าเรามาทางถูกในการคิดปริศนานั้นหรือไม่ รวมทั้งเขียนได้ชวนติดตามมาก

ผลงานของเคโงะมีมากมาย ตอนนี้ออกมาให้แฟน ๆ ได้เสพกันอย่างเต็มอิ่ม ผมเองก็โดนไปเป็นสิบเล่ม แต่ที่เอามาให้ดูนี้ น่าจะเป็น สี่สุดยอดของเคโงะ

1. หลังเลิกเรียน ผลงานชิ้นแรกที่ประกาศลายเซ็นเฉพาะตัวในงานเขียน ออกมาเล่มแรกในปี 1985 ก็ได้รับรางวัลเอโดงาว่า รัมโป น่าทึ่งมากกับวิศวกรที่เพิ่งเขียนงานชิ้นแรก

2. ความลับ สุดยอดเรื่องราวของความซับซ้อนและเล่นกับความรู้สึก เล่มนี้ออกมาในปี 1998 ได้รับรางวัลจากสมาคมนักเขียนรหัสคดีแห่งญี่ปุ่น

3. **กลลวงซ่อนตาย** เล่มนี้คือสุดยอด ประกาศความเป็นหนึ่งในโลกวรรณกรรม เขียนขึ้นในปี 2006 และได้รับรางวัลนาโอกิ ที่ถือว่าเป็นสุดยอดรางวัลนักเขียน และทำให้เคโงะฮิตติดลมบนมาถึงทุกวันนี้

4. ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ นักอ่านไทยน่าจะรู้จักเล่มนี้ดีที่สุด พลิกแนวมาเป็นเรื่องอบอุ่นใจ และทำได้ดีสุดยอด อ่านแล้วทึ่งมาก แม้ไม่ได้รางวัล แต่น่าจะยอดขายดีที่สุด

ทั้งสี่เล่มได้รับการทำเป็นภาพยนตร์ ซีรี่ส์ แปลทำในหลายภาษา ผมมีครอบครองทั้งสี่เล่มและอ่านสองจบทุกเล่ม และหากถามว่าเล่มไหนสุดยอดที่สุดสำหรับผม ยกให้ "กลลวงซ่อนตาย" ครับ

ใครอยากเริ่มอ่านเคโงะ แนะนำสี่เล่มนี้ก่อน รับรองเดี๋ยว เคโงะดอง เคโงะแช่อิ่ม จะเต็มบ้านท่านแน่นอน

เอ้า.. แฟนเคโงะ มารวมตัวกัน มาโชว์ มาให้ความเห็น ถล่มยาป้ายกันด่วน

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร, หนังสือ และกุหลาบ

รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force) ตอนที่ 2/4

 รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force)

ตอนที่ 2/4

มาถึงข้อที่สองคือ กระบวนการที่ใช้ในการเลิกบุหรี่ มีผลต่อการหยุดบุหรี่หรือไม่ ซึ่งถ้าเราคิดด้วยเหตุผลและตรรกะแล้ว ก็น่าจะมีผลแน่นอน ช่วยเพิ่มการหยุดบุหรี่แน่ แล้วหลักฐานที่ออกมาเป็นอย่างไร และในภาวะปัจจุบันที่มีแนวคิดการใช้ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงอื่น ๆ มาแทนบุหรี่เผาไหม้แบบเดิม มันช่วยในการหยุดบุหรี่ได้จริงไหม เรามาค่อย ๆ อ่านกันไปครับ

ผลการศึกษาออกมาว่า กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ สามารถเพิ่มการหยุดบุหรี่ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับการเลิกเอง

นอกจากมีประโยชน์ชัดเจนโดยเฉลี่ย risk ratio 1.83 เท่าเทียบกับเลิกเอง พบว่าการใช้วิธีใช้ยาและไม่ใช้ยาร่วมกันจะดีกว่าวิธีเดียว และใช้ยามากกว่าหนึ่งตัวมีประสิทธิภาพดีกว่าหนึ่งตัว โดยเรียงลำดับสัดส่วนยาที่เลิกได้คือ สารทดแทนนิโคติน ยาbupropion ยาvarenicline ยาvarenicline ประสิทธิภาพสูงมากได้ค่า risk ratio 2.24 เท่า ถึงแม้เราไม่ใช้ยาใด ใช้แต่การปรับพฤติกรรมก็ยังมีประโยชน์มากกว่าการเลิกเองอย่างมีนัยสำคัญ

บอกเราชัดเจนว่า การเลิกบุหรี่ที่ประสบความสำเร็จคือ หยุดการสูบได้นั้นควรเข้าระบบและกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ ส่วนเมื่อหยุดบุหรี่ได้แล้ว ผลของสุขภาพจะดีขึ้นอย่างไรก็เป็นเรื่องของ การไม่มีบุหรี่ อันเกิดจากประสิทธิภาพของ กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่อีกทีหนึ่ง ตรงนี้อาจจะงง ลองอ่านซ้ำอีกรอบนะครับ เพราะการคิดตามหลักฐานและสถิติ มันแยกประเด็นต่าง ๆ ออกจากกัน ไม่ปะปนกัน

แต่ว่าจะไปแปลความว่าวิเศษหรือนี่คือปลายทางของการรักษาบุหรี่ก็คงไม่ใช่ เพราะว่า

1. การศึกษาเกือบทั้งหมดที่นำมาสรุป เป็นการศึกษาผลลัพธ์ในระยะสั้น 6-12 เดือน ตามมาตรฐานการเลิกบุหรี่ ไม่รู้ว่านานกว่านี้ กระบวนการเลิกบุหรี่จะยังส่งผลหรือไม่ หรือบางทีที่อัตราการเสียชีวิตที่ลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ อาจเกิดจากกลับไปสูบซ้ำหลังจาก 6-12 เดือนก็เป็นได้ เพราะการติดตามอัตราตายจะต้องใช้เวลานานว่าอัตราการหยุดบุหรี่

2. การศึกษาเกือบทั้งหมดทำในคนที่มีความตั้งใจจะเลิกบุหรี่ และสามารถปฏิบัติตัวตามวิธีต่าง ๆ ได้ดี นั่นคือเราต้องตั้งพื้นฐานบนความตั้งใจอันแรงกล้าเสมอ

3. มีการศึกษาที่เก็บข้อมูลจากชีวิตจริง เป็นปริมาณน้อย ส่วนมากข้อมูลมาจากอาสาสมัครที่ได้รับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเลิกบุหรี่ ถึงแม้กลุ่มที่เลิกเอง ก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ชวนให้เลิกบุหรี่และมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการได้ตลอดเวลา ความเชื่อมั่นและผลทางจิตใจอันนี้ มีอิทธิพลต่อผลการศึกษา และประปรับใช้ในบ้านเรา

บอกว่าถ้าอยากเลิกบุหรี่ ควรหาตัวช่วยครับ ง่ายสุดคือสายด่วน 1600 หรือปรึกษาแพทย์ใกล้บ้าน ปัจจุบันมีร้านยาเข้าโครงการเภสัชกรช่วยเลิกบุหรี่มากมาย สามารถปรึกษาได้เช่นกัน และถ้าเป็นไปได้ภาครัฐต้องทุ่มเทเพื่อ กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ มากกว่านี้

มาถึงข้อที่สาม คือ กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ต่าง ๆ นั้น มันมีผลเสียด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่ โดยคัดเลือกเอาการศึกษาวิจัยที่ตั้งเป้าหมายเพื่อศึกษาผลเสีย พบว่า ไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับผลเสียหรืออันตรายต่อสุขภาพใด ๆ

ต้องขออธิบายแบบนี้ ในการศึกษาต่าง ๆ ของกระบวนการที่ใช้เลิกบุหรี่ จะมีผลไม่พึงประสงค์เสมอ ถ้าเป็นผลข้างเคียงของยาหรือสารทดแทนนิโคติน ที่เราทราบเรื่องผลข้างเคียงของยาอยู่แล้ว อันนี้จะไม่นับครับ แต่จะบอกไปเลยว่าอาจจะเจอผลข้างเคียงของยาอะไรบ้าง เพราะยาหลอกหรือการเลิกเองจะไม่เจอผลข้างเคียงจากยาอย่างแน่นอน เช่นอาการชักจากยาbupropion อาการคลื่นไส้อาเจียนจากยา varenicline

แต่ผลอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ้วนขึ้น จนไปถึงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิด โรคทางจิตเวชที่เกิด สามารถบอกได้จากการศึกษาว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ (รวมทุกอย่างนะครับ) เพราะอาจเกิดจาก ผลจากการหยุดบุหรี่ เช่น อ้วนขึ้น ผลจากโรคที่สูบบุหรี่มาเดิมเช่น โรคหัวใจ

ก็เรียกได้ว่า กระการบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ ไม่มีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งสองข้อ แม้งานของ USPSTF นี้จะไม่ได้สรุปเป็นคำแนะนำการปฏิบัติออกมาแต่ก็บอกได้ว่า กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ มีประโยชน์มากกว่าโทษและเพิ่มโอกาสการหยุดบุหรี่ ถ้าอยากเลิกบุหรี่ แนะนำให้เข้าสู่กระบวนการจะเกิดประโยชน์สูงที่สุดครับ

เราใช้เวลาอ่านและทำความเข้าใจเรื่องของ กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ สำหรับคนทั่วไปที่สูบบุหรี่ เรียบร้อยแล้ว ใช้เวลานานและต้องอ่าน ต้องทำความเข้าใจกันเรียบร้อย ในส่วนของผลการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์และประเด็นเรื่องของเวปที่ผมจะอธิบายต่อไป เราจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และไม่ยาวนานแบบนี้ครับ

หากสนใจกรุณาติดตามตอนที่ 3/4 ต่อไป

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force) ตอนที่ 1/4

 รายงานเรื่องการเลิกบุหรี่ของ USPSTF ล่าสุด (United States Preventive Services Task Force)

ตอนที่ 1/4

หน่วยงานนี้ของสหรัฐอเมริกาจะรวบรวมหลักฐานทางการแพทย์เพื่อตอบคำถามทางสาธารณสุขที่จะต้องออกมาแนะนำเป็นแนวทางกับหน่วยงานอื่น ๆ และประชาชนทั่วไป ได้ออกคำแนะนำมาหลายครั้ง และครั้งนี้ได้รวบรวมหลักฐานใหม่ ๆ มาเพื่อตอบคำถามสามคำถาม เกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ และได้ตีพิมพ์ออกมาในวารสาร JAMA ผมคิดว่ามีข้อคิดที่นำมาปรับใช้ได้กับบ้านเมืองเราเช่นกัน คำถามสามข้อนั้นคือ

1. กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ มีผลต่อสุขภาพหรือไม่ ทั้งอัตราการตาย อัตราการเจ็บป่วยพิการ (ในประชากรสองกลุ่มคือ คนทั่วไปที่สูบบุหรี่และหญิงตั้งครรภ์)

2. กระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ มีผลต่อการหยุดสูบบุหรี่หรือไม่ ในประชากรทั้งสองกลุ่ม คือ คนทั่วไปที่สูบบุหรี่และหญิงตั้งครรภ์

3. กระบวนที่ใช้เลิกบุหรี่ต่าง ๆ นั้นเกิดผลเสียอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

เรามาอ่านกันไปทีละข้อ แล้วเราจะเข้าใจเรื่องคำแนะนำจากหลักฐาน และระดับคำแนะนำ (evidence-based medicine) เรามาเริ่มที่ข้อแรกก่อน ว่ากระบวนการเพื่อการเลิกบุหรี่ มีผลต่อสุขภาพหรือไม่

การเลิกบุหรี่ที่เราพูดถึงในปัจจุบันมีสองแบบคือ เลิกเองหรือที่เรียกว่า หักดิบ ไม่ใช้เครื่องมือใดหรือไม่ได้ใช้ระบบบริการทางการแพทย์เลย ส่วนอีกแบบคือ กระบวนการเลิกบุหรี่ มีทั้งใช้คำแนะนำ พฤติกรรมบำบัด ใช้สื่อออนไลน์ ติดตามด้วยระบบคลินิกเลิกบุหรี่ การใช้ยาอดบุหรี่ การใช้สารทดแทนนิโคติน ไปกระทั่งการใช้ electronic nicotine delivery devices (ENDs) เช่นบุหรี่ไฟฟ้า (ต่อไปผมจะเรียกว่า เวป vape เพื่อไม่ให้สับสนกับบุหรี่เผาไหม้แบบเดิม)

🚩ข้อมูลที่ออกมาคือ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว การใช้กระบวนการเพื่อเลิกบุหรี่ สามารถลดผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมได้จริง แต่ว่า ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ อ้าวทำไมเป็นแบบนั้น ทำไมขัดกับที่เรารู้มา มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ

เนื่องจากเป้าหมายที่ข้อนี้สนใจคือ อัตราการเสียชีวิต อัตราความพิการและสูญเสียจากโรค การเกิดโรคหลอดเลือดต่าง ๆ จึงต้องใช้การศึกษาที่มีเป้าประสงค์การศึกษา (primary outcome) เพื่อวัดผลด้านสุขภาพโดยตรง จะมาวัดทางอ้อมหรือเป็นเป้าหมายรองของการศึกษาไม่ได้ จากการรวบรวมก็พบว่ามีการศึกษาที่มีเป้าประสงค์หลักเรื่องผลสุขภาพโดยรวม มีน้อยมาก และที่เป็นการศึกษาแบบทดลองคือ controlled trials น้อยมาก เพราะการติดตามผลสุขภาพโดยรวมแบบนี้นั้นใช้เวลานาน จึงมีการศึกษาที่ทำเรื่องนี้ไม่มาก ส่วนมากเป็นการรวบรวมติดตามข้อมูลระยะยาวของหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีไม่มาก

นอกเหนือจากปริมาณการศึกษาที่มีเป้าประสงค์โดยตรงแบบนั้นมีไม่มาก ก็ต้องเข้าใจในข้อจำกัดของการศึกษาแบบเฝ้าติดตาม หรือรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง ว่าจะมีความโน้มเอียงและความแปรปรวนมากมาย ยิ่งเก็บข้อมูลหลายมิติยิ่งที่ตัวกวนเยอะ มีปัจจัยอื่นที่อาจไม่ได้แก้ไขซึ่งไปส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมด้วย และหากใช้วิธีการทางสถิติเพื่อพยายามปรับข้อมูลให้ตรงกันเพียงพอที่จะมาเปรียบเทียบกันได้ กระบวนการแบบนี้ยิ่งทำหลายครั้ง ยิ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผลการศึกษาที่ผ่านกระบวนการหลายครั้งนั้น

ที่กล่าวว่าต้องใช้เวลายาวนาน เพราะการติดตามจนเกิดอัตราการตาย หรือเกิดโรคนั้น จะนับเริ่มจากเก็บข้อมูล ในช่วงที่เก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ ก็จะมีเรื่องอายุที่มากขึ้น โรคอื่นที่มาเกิด วิธีการรักษาโรค มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้การแปลผลโดยตรงระหว่างกระบวนการที่ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ กับ ผลสุขภาพโดยรวม ทำได้ยากมากขึ้น

🚩และการแปลผลว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับการเลิกบุหรี่แบบไม่ต้องใช้ตัวช่วย (หักดิบ) ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีผล หรือ ไม่เกิดประโยชน์ มันเกิดประโยชน์นะครับ แต่ด้วยกระบวนการทางสถิติที่จำกัดด้วยหลักฐานที่หนักแน่น ด้วยหลักฐานที่ดีที่สุดที่มีและหาได้ (มีหลักฐานระดับ A เช่นการทดลองแบบควบคุมทางการแพทย์อยู่น้อย)​ ออกมาว่า ลดผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ นั่นคือยังเกิดประโยชน์นะครับ ไม่ว่าจะเลิกโดยวิธีใดก็ตาม

อีกประการจากการศึกษาคือ รวบรวมข้อมูลจากผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว คือ มีความเสี่ยงและอันตรายจากการสูบบุหรี่ไปแล้ว จะมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อติดตามไปจะเกิดผลเสียแน่นอน แม้จะเลิกบุหรี่ด้วยวิธีใด ผลเสียก็ยังเกิดขึ้น ถึงการศึกษาจะไม่ได้เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยแบบโดยตรง ก็พอบอกได้ว่า อย่าเริ่มสูบจะดีกว่า เพราะถ้าเริ่มสูบแล้วมันเกิดผลเสียอย่างแน่นอน

หากสนใจกรุณาติดตามตอนที่ 2/4 ต่อไป

ต้นเรื่อง คือ วารสารนี้ แต่ผมเติมด้วยการค้นเพิ่มจากบรรณานุกรมที่ระบุในวารสารนี้และจากอ้างอิงอีกต่อหนึ่ง
Patnode CD, Henderson JT, Coppola EL, Melnikow J, Durbin S, Thomas RG. Interventions for Tobacco Cessation in Adults, Including Pregnant Persons: Updated Evidence Report and Systematic Review for the US Preventive Services Task Force. JAMA. 2021;325(3):280–298. doi:10.1001/jama.2020.23541

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "USPSTF 2021 REPORTS SMOKING CESSATION เข้าใจที่มาของคำ แนะนำ และวิเคราะห์ว่า ทำไม กระบวนการ เลิกบุหรี่จึงลดผล เสียต่อสุขภาพ แต่ไม่มีนัยสำคัญ ทางสถิติ"

บทความที่ได้รับความนิยม