30 มิถุนายน 2563

ยาลดอาการอาเจียน metoclopramide

ยาลดอาการอาเจียน metoclopramide
ยาลดอาการอาเจียนตัวนี้เป็นยาที่ประสิทธิภาพดี ราคาถูก มีอยู่ทุกโรงพยาบาล ทั้งในรูปยากินและยาฉีด ตามกลไกการออกฤทธิ์แล้ว ตัวยาจะไปยับยั้งการสื่อสารของ chemoreceptor trigger zone ในก้านสมอง ทำให้อาเจียนลดลง
เจ้า chemoreceptor trigger zone มันมีความไวต่อยาและสารเคมีหลายชนิด เมื่อร่างกายมีสารเคมีเหล่านั้นในกระแสเลือดและผ่านไปที่สมอง ร่างกายจะตรวจจับได้ ส่งสัญญาณไปที่ vomiting center ที่สมองและส่งสัญญาณไปบังคับกล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อหน้าท้อง ให้อาเจียนออกมา
เป็นกลไกการป้องกันตัวอันหนึ่งของร่างกายจากสารเคมีไม่พึงประสงค์ เช่น ยาแก้ปวดชนิดอนุพันธ์ของมอร์ฟีน ยาเคมีบำบัด แต่เมื่อเราจำเป็นต้องใช้ยาหรือสารเหล่านี้ จึงต้องให้ยาควบคุมอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ด้วย
การควบคุมอาการอาเจียนที่ chemoreceptor trigger zone จะมีตัวรับสารเคมีหลายชนิด ยาลดอาการอาเจียนชนิดต่าง ๆ จะไปทำงานที่ตัวรับต่างกัน สำหรับ metoclopramide ไปทำงานเพื่อยับยั้งการสื่อสารของสารสื่อประสาทโดปามีน 2 และด้วยการทำงานอันนี้จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงอันหนึ่งที่สำคัญคือการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้อร่างกายผิดปกติ เช่นลิ้นแข็ง ตัวเกร็ง ปากลิ้นควบคุมยาก ที่เรียกว่า tardive dyskinesia สัมพันธ์กับขนาดยาและอัตราการให้อย่างรวดเร็วทางหลอดเลือด
ข้อห้ามอีกข้อที่สำคัญคือ ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรค pheochromocytoma โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตที่มีการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติครับ จะทำให้เกิด catecholamines crisis ฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมามากจนเสียชีวิตได้
อีกหนึ่งข้อบ่งชี้ที่เพิ่งได้รับการรับรองของยา metoclopramide คือการรักษากระเพาะอาหารทำงานน้อยลงในผู้ป่วยเบาหวาน (diabetic gastroparesis) ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานานและคุมโรคไม่ดี การทำงานของกระเพาะอาหารจะแย่ลง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นท้อง โดยแยกสาเหตุอื่นไปหมดให้ได้ก่อน วิธีรักษาใหม่คือ ใช้ยา metoclopramide แบบพ่นจมูก เพื่อไปเพิ่มการเคลื่อนที่ของกระเพาะโดยไม่ต้องผ่านทางเดินอาหารที่มีปัญหาในโรคเบาหวานนั่นเอง
ยา metoclopramide มีมานานมาก มีชื่อทางการค้าหลายยี่ห้อแต่ที่เราเรียกกันติดปากคือ plasil เม็ดละ 10 มิลลิกรัม สามารถหาซื้อได้ตามร้านยาเช่นกัน และอย่าลืมว่ามันไม่ได้แก้ไขอาการอาเจียนได้จากทุกกลไก รวมทั้งต้องระวังการเคลื่อนที่ผิดปกติของร่างกายจากการใช้ยาเสมอนะครับ

29 มิถุนายน 2563

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง colonoscopy

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง colonoscopy
ปกติเราจะทำการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนล่างเพื่อตรวจรักษาโรค เช่น ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรือเพื่อการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ แน่นอนว่าการทำหัตถการนี้บางครั้งต้องใช้ยากล่อมประสาท อาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อ อาจมีปฏิกิริยาต่อระบบประสาท และรุนแรงมากคือลำไส้ทะลุ
ถ้าเราคิดด้วยตรรกะง่าย ๆ ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ย่อมมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากกว่าผู้แข็งแรงใช่ไหมครับ นั่นคือตั้งพื้นฐานที่ว่าผู้ที่ทำการส่องกล้องและทีมดูแลพร้อมมาก
แต่ทว่าผู้ป่วยส่วนมากที่ต้องเข้ารับการทำส่องกล้องตรวจก็มักเป็นผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวมากเสียด้วย เอาล่ะสิ ... ไม่เป็นไร
ตามข้อมูลการสำรวจของ อเมริกาและแคนาดา พบว่าในภาพรวมผลแทรกซ้อนของการทำส่องกล้องนี้อยู่ที่ประมาณ 2 เหตุการณ์ต่อการตรวจ 1000 ครั้ง ส่วนมากคือเลือดออก เหตุแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น ๆ พบน้อยมาก และสำหรับการศึกษาที่ทำในผู้สูงวัย (อายุ 50 ขึ้นไป) พบว่าผลแทรกซ้อนอยู่ที่ 2.6% (จำนวนคน) และถ้าไปคิดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 75 ปี ผลแทรกซ้อนจะอยู่ที่ 6.8% ส่วนมากคือเลือดออกเช่นกัน
และทุกผลแทรกซ้อนสามารถดูแลและจัดการได้ดี ... !!! โอกาสทะลุมีไม่ถึง 1% และไม่ถึง 0.2 ครั้งต่อการส่องกล้อง 1000 ครั้ง
หากไปดูอัตราการเสียชีวิตหรือผลเสียจากการเกิดมะเร็ง จะมีตัวเลขสูงกว่าอันตรายแทรกซ้อนจากการตรวจรักษามากมาย
ก็จะพอสรุปได้ว่าด้วยเทคโนโลยีการรักษาและตรวจ colonoscopy ในยุคปัจจุบันนั้นปลอดภัยมาก และคุ้มค่าหากทำตามข้อบ่งชี้ และยิ่งคุ้มค่าหากได้พบโรคในระยะแรก โดยเฉพาะมะเร็งระยะแรก ตามเป้าวัตถุประสงค์ของการส่องกล้องครับ
ลองอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
Causada-Calo N, Bishay K, Albashir S, Al Mazroui A, Armstrong D. Association Between Age and Complications After Outpatient Colonoscopy. JAMA Netw Open. 2020;3(6):e208958. doi:10.1001/jamanetworkopen.2020.8958
Ko CW, Riffle S, Michaels L, et al. Serious complications within 30 days of screening and surveillance colonoscopy are uncommon [published correction appears in Clin Gastroenterol Hepatol. 2010 Dec;8(12):1100]. Clin Gastroenterol Hepatol. 2010;8(2):166-173. doi:10.1016/j.cgh.2009.10.007

การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน โดยไม่ใช้ยา ... ทำได้เลย

การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน โดยไม่ใช้ยา ... ทำได้เลย
รับประทานอาหารที่มีธาตุแคลเซียมให้เพียงพอ ... ผมเจตนาใช้ประโยคนี้เพราะ **เน้นที่การรับประทานอาหาร ไม่ใช่ยาเม็ดแคลเซียม แนวทางทุกแนวทางแนะนำเหมือนกันคือ เติมแคลเซียมและวิตามินดีจากอาหารที่กินประจำวันเป็นหลักครับ การดูดซึมดีกว่า พิษจากยาน้อยกว่า (โดยเฉพาะอาการท้องผูกและปฏิกิริยาระหว่างยา) ราคาถูกกว่า ตรงกับการใช้ชีวิตมากกว่า และที่สำคัญอร่อยกว่าครับ
ความต้องการโดยทั่วไปคือ 800-1000 มิลลิกรัมต่อวัน หากรับประทานอาหารหลากหลาย ไม่เลือกหรือจำกัดอาหารที่กินจะได้นับเพียงพอแน่นอน แหล่งอาหารแคลเซียมชั้นดี ราคาถูกคือ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส เต้าหู้ จากแหล่งอื่นเช่น ผักสด เนื้อสัตว์
ท่านสามารถดื่มนมปรกติมาตรฐานกล่องละ 10 บาทที่วางจำหน่ายได้เลย หากท่านดื่มนมแล้วท้องอืดหรือถ่ายเหลว ให้ค่อย ๆ เริ่มทีละน้อยหรือปรับเพิ่มปริมาณ จะเลือกใช้นมปราศจากแล็คโต๊ส หรือนมถั่วเหลืองแทนก็ได้
และแคลเซียมจะต้องทำงานคู่กับวิตามินดีเสมอ ธรรมชาติมนุษย์สร้างให้เราสังเคราะห์วิตามินดีให้พอ จากการรับประทานอาหารหลากหลายและได้รับแสงแดด แต่ปัจจุบันเรารับประทานอาหารไม่หลากหลาย โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่กินน้อยลง (หนักแป้ง น้ำตาลมากกว่า) รวมทั้งได้รับแสงแดดลดลงมาก จากการป้องกันและครีมกันแดด ทำให้โดยเฉลี่ยประชาชนไทยขาดวิตามินดี ควรเสริมเนื้อปลา โดยเฉพาะปลาทะเลมากขึ้น รับประทานเครื่องในสัตว์บ้าง ร่วมกับออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อรับแสง เพิ่มวิตามินดี
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ไม่แนะนำให้รับประทานโปรตีน "ที่มากจนเกินไป" คำแนะนำคือโปรตีนที่ 1.0 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งคือค่าปรกตินั่นเอง และผู้ที่ป่วยโรคกระดูกพรุนควรมีวิตามินเคที่เพียงพอ ร่างกายเราสร้างวิตามินเคได้เองครับ แค่ท่านรับประทานอาหารเส้นใยให้มากพอ เช่น ถั่วเมล็ดแข็ง ธัญพืช ผลไม้ เส้นใยจะไปให้อาหารแบคทีเรียในลำไส้ และแบคทีเรียจะตอบแทนเราด้วยการให้วิตามินเคกลับคืนมาครับ
ข้อแนะนำที่สำคัญต่อมาคือ การออกกำลังกาย ถือเป็นสิ่งสำคัญ (การออกกำลังกายมีความสำคัญทุกเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว) และที่ต้องย้ำมาก ๆ คือ ควรออกกำลังกายตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร เริ่มวันนี้เลย และทำให้สม่ำเสมอ
**อย่าคิดเริ่มออกกำลังกายเมื่อเกิดโรคเพราะมันสายเกินไป**
การออกกำลังกายเพื่อลดโอกาสกระดูกพรุน จะแตกต่างบ้างจากผู้ที่กระดูกพรุนไปแล้ว ในแง่การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อชนิดยกน้ำหนักหรือต้องออกแรงเบ่งแรงเกร็งกล้ามเนื้อมากเกินไป หรือมีแรงกระแทกสูง ๆ เช่น ยกบาร์เบล บิดตัวแรง ๆ กระโดดกระแทก เพราะท่านกระดูกพรุนไปแล้ว การไปเพิ่มแรงเค้นแรงเครียดกับกระดูก อาจหักมากขึ้น
เรามาเน้นการออกกำลังกายกัน
1.ต้องมีการลงน้ำหนัก มีการกระแทกสักหน่อย เช่น มีการวิ่ง เดิน กระโดด เพิ่มแรงกระทำต่อกระดูกและกล้ามเนื้อให้มีการสร้างการสลายที่สมดุล
การเสริมกล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังกายสู้แรงต้าน เช่น ยกเวท ใช้เครื่องในยิม หรือใข้น้ำหนักตัวเอง เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงช่วยกระดูกรับน้ำหนัก ประมาณ 30% ของปริมาณการออกกำลังกายปรกติ
**เว้นแต่หากเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ห้ามยกน้ำหนักมากเกินไปนะครับ ต้องปรึกษาคุณหมอและนักกายภาพบำบัดเสมอ**
2. เสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อแกนกลาง หลัง อก เอว ท้อง เพื่อการทรงตัวที่ดี ไม่ล้มง่าย สำหรับผู้สูงวัยเช่น ไทเก๊ก ไทชิ โยคะ สำหรับผู้ไม่สูงวัยก็ทำได้ หรือการออกกำลังกายแบบแอโรบิกทั่วไปก็เสริมกล้ามเนื้อแกนกลางได้ดีเช่นกันครับ
3. แนวทางเขียน posture training ฝึกนั่งนอนยืนเดินให้มั่นคง ผมไปอ่านวารสารต่างประเทศมา เขาแนะนำลีลาศครับ ก็ดีนะ ..เอ้า สุขกันเถอะเรา ชะช่า เศร้าไปทำไม ชะช่า...
สุดท้ายคือประเมินและจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดหกล้ม ในทางวิชาการเราจะมีแบบประเมินคิดเป็นคะแนนหลายอย่างมากครับเช่น FRAT (อย่าเขียนผิดเป็น FART) หรือ FRAST,ฯลฯ เพื่อจะได้คำนวณและติดตามแบบเป็นรูปธรรม ผู้สนใจลองอ่านเพิ่มได้ แต่ผมจะยกสิ่งที่ทำได้เลยนะครับ
1. ทบทวนยาที่ใช้ก่อน ยาหลายตัวเพิ่มโอกาสล้ม (โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว กินยาหลายอย่าง) ที่พบบ่อย คือ ยานอนหลับ ยาลดอาการวิงเวียน ยาทางจิตเวช ยาลดความดัน ยาแก้แพ้ ถ้าใช้อยู่ต้องใช้อย่างระวังหรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง
2. ปัญหาสายตาและการมองเห็น จากปัญหาของผู้ป่วยเช่น สายตา ต้อหิน ต้อกระจก เบาหวาน ควรได้รับการแก้ไขเท่าที่แก้ไขได้ หรือจากสภาพแวดล้อมเช่น ไฟฟ้าให้ความสว่าง
3. เท้า รองเท้า พื้น บางท่านเป็นตาปลา บางท่านเป็นเบาหวานมีอาการเท้าชา บางท่านกระดูกทับเส้นประสาทมีอาการชา ทำให้การรับรู้ของเท้าลดลง ล้มได้ ควรปรับรองเท้าให้กระชับ ไม่หลวม ไม่กัด และปรับพื้น อย่าให้ลื่น มีอุปกรณ์ช่วยเดิน มีราวจับกันล้มกันลื่น
4. ความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น
สิ่งสำคัญคือ อย่ารอให้กระดูกหักหรือกระดูกพรุน ทำเลยวันนี้ เริ่มเร็วเริ่มก่อนดีกว่า ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่ามาก และต้องทำเองครับ
"สุขภาพดีไม่มีขาย อยากด้าย ให้ไปร้านขายอุปกรณ์ปักเย็บ นะครับ"
อ่านฟรี (ผู้ให้บริการสาธารณสุขทุกท่าน ควรอ่านเอกสารหมายเลข 2)
1.Long-Term Drug Therapy and Drug Discontinuations and Holidays for Osteoporosis Fracture Prevention
Howard A. Fink, Roderick MacDonald, Mary L. Forte, Christina E. Rosebush, Kristine E. Ensrud, John T. Schousboe, Victoria A. Nelson, Kristen Ullman, Mary Butler, Carin M. Olson, Brent C. Taylor, Michelle Brasure, and Timothy J. Wilt
Annals of Internal Medicine 2019 171:1, 37-50
2.Thai Osteoporosis Foundation (TOPF) position statements on management of osteoporosis, 2016
https://www.sciencedirect.com/…/artic…/pii/S240552551630084X

28 มิถุนายน 2563

asystole protocol

ที่ห้องประชุมแห่งหนึ่ง ท่ามกลางคนเข้าร่วมหลายร้อยคน บุรุษหนุ่มมากด้วยชื่อเสียง ยืนเด่นบนเวที ไฟส่องหน้า มีไมค์ลอยคาดที่หู
"วันนี้เราจะมาเรียนการส่งพลังของเรา ไปสู่ใจที่แน่นิ่งของคนอื่นนะครับทุกคน" ไลฟ์โค้ชชื่อดังยกมือขอเสียงกรี๊ด
ถ้าคุณเห็นใคร ที่หัวใจเขาแน่นิ่ง ไม่ไหวติง ไม่มีชีวิตชีวา หัวใจของเขา.. หัวใจของเขา มันเป็นเส้นตรงไปแล้วพี่น้องงง เราต้องช่วยให้เขาฮึดสู้ เราต้องช่วยให้เขาหลุดพ้นจาก asystole ให้ได้
กรี๊ด ๆ พร้อมเสียงปรบมือสนั่นฮอลล์
พี่น้องต้องเข้าใจ ถ้าใจเขานิ่ง ไม่มีไฟ ไม่มีแรงกระตุ้นด้วยตัวเอง เขาต้องได้รับแรงกระตุ้น ใช้แรงนะพี่น้อง ยังไม่ต้องใช้ไฟ ยังไม่ต้องใส่ defib ให้เรา บีบ เราเค้น มอบพลังให้เขา ใช่แล้ว เราต้อง
.. chest compression.. และช่วยต่อลมหายใจให้เขา ใส่ท่อ บีบ bag
แล้วไงต่อน่ะหรือพี่น้อง...
จำไว้ไหมที่โค้ชสอน ใจนิ่งต้องดูโปรโตคอล
โปรโตคอลอะไรนะ ไหนพูดพร้อมกัน เอ้า นึง ส่อง ส้ำ
"asystole protocol"
ดีมากพี่น้อง ท่องไว้นะ ท่องไว้ เรามาทบทวน asystole protocol อีกรอบนะ เพื่อหาต้นตอไง ต้นตอสาเหตุเท่านั้น ที่จะช่วยเรารอดวิกฤตได้ พี่น้องที่รัก
อย่างแรก ตรวจสายใยหัวใจเขาก่อน ว่าสายใย สายป่านเขาขาดไหม ใช่แล่ว lead มันหลุดหรือเปล่า ต้องตรวจให้ดี
อย่างสอง เอ้าพูดพร้อมกัน "อย่างสอง" ดีมากทุกคน มันต้องอย่างนี้ พลังต้องมา ใจต้องฮึกเหิม
อย่างสอง ขจัดข้อผิดพลาด มีของสำรอง เราต้องตรวจ asystole อย่างน้อย 2 lead ว่าใจเขาหมดแรงจริง
เก่งมากทุกคน มันต้องแบบนี้ ห้องเรียนไลฟ์โค้ชของเรา มันต้องพลังเต็มเปี่ยมแบบนี้
สุดท้าย สุดท้ายก่อนมอบพลังจากมือเราสู่ใจเขา เราต้องตรวจว่าเราปรับ amplitude ของเครื่องตรวจให้เต็มที่ ว่าใจเขาหมดแรงหมดไฟจริง เราต้องใช้สิ่งยิ่งใหญ่ มองสิ่งยิ่งใหญ่ใช่ไหมพี่น้อง
คราวนี้พอครบสามข้อ เราก็จัดการเลย สูดลมหายใจลึก ๆ ส่งพลัง.. ใช่แล้ว นั่นแหละ ยกมือขึ้นมา ประสานมือกัน แล้วส่งพลังเลย ส่งไป ตรงเข้าหัวใจเขา เอาหนัก ๆ แรง ๆ 100 ครั้งต่อนาทีไปเลย
เอ้า ปรบมือ.. เฮ เห็นไหม พวกเราทำได้ ปลุกยักษ์ในตัวคุณ
..... เอาล่ะ เดี๋ยวเราพักกันสักครู่ ช่วงต่อไป เราจะมาปลุกไฟ จุดความหวัง พลังสุดยอดกันต่อไป
... ใครอยากฟังคอร์สต่อไป ชำระเงินด้านหน้า สแกนคิวอาร์โค้ดได้เลย ถูก ๆ พี่น้อง เพื่อไฟในใจเรา แค่นี้ถูกมาก ชั่วโมงละห้าแสนบาทเท่านั้น จ่ายภายในสิบนาทีนี้ ลดเหลือสี่แสนเก้าหมื่นทันทีคร้าบ
หัดไลฟ์โค้ชกับเขาบ้าง

ฟรีแลนซ์ผู้ยิ่งใหญ่

ฟรีแลนซ์ผู้ยิ่งใหญ่ ..
สัปดาห์ก่อนไปคุยกับน้องหมอคนหนึ่ง ผมเคยสอนเขาสมัยเขาเป็นนักเรียนแพทย์ จนเวลาผ่านมานานจึงได้มาพบเขาอีกรอบ และได้ขอนำเรื่องราวของเขามาเป็นหัวเรื่องในวันนี้ครับ
มีคุณหมอ เภสัชกร ทันตแพทย์ นักเทคนิค กายภาพ บางส่วนประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ คือ รับทำงานวิชาชีพตัวเองนี่แหละแต่ไม่มีต้นสังกัดประจำ ทำตามที่ได้รับจ้างมา อาจจะรับเป็นเดือนเป็นรายสัปดาห์หรือเป็นรายครั้ง บางคนก็ทำงาน 8 ชั่วโมง 16 ชั่วโมง ออกจากที่นี่ไปต่อที่นั่น สะสมรายได้เอาเอง ส่งประกันสังคมแบบส่งเอง เป็นอิสระ แต่ความมั่นคงลดลงเล็กน้อย
การใช้ชีวิตส่วนมากก็อยู่ตามโรงพยาบาล บนรถ หรือบางทีก็ห้องพักรายวันรายเดือน เวลาไปต่อเวรที่ไหนยาว ๆ รูปแบบการใช้ชีวิตจะต่างจากกลุ่มทำงานประจำบ้างครับ เลยรวบรวมมาเป็นข้อคิดแบบนี้
1. การติดต่อสื่อสารสำคัญมาก ต้องมีการสื่อสารครบและพร้อม โทรศัพท์ต้องว่างและติดต่อได้เสมอ หลักการคือมีสองเบอร์สองเครื่อง ห้ามหนึ่งเครื่องสองเบอร์ แบตพร้อมเพาเวอร์แบ๊งค์ต้องมี ไลน์ อีเมล เฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ ต้องพร้อม เน็ตห้ามขาด ติดต่อมาต้องรีบติดต่อกลับ โอกาสได้งานอยู่ตรงนี้
2. รถยนต์ต้องพร้อมใช้ ไม่ต้องรถหรูรถแพง แต่ต้องซ่อมง่าย อะไหล่เพียบ ราคาไม่แพงไม่รอนาน รถตลาดญี่ปุ่นดีสุด บำรุงรักษาให้ดีเพราะต้องใช้เดินทางบ่อย ความปลอดภัยสำคัญ สำคัญคือ ทะเบียน พรบ. ห้ามขาดเด็ดขาด พี่ตำรวจจะถามหา
3. กินง่ายนอนง่าย อาหารจานเดียว อาหารกล่องต้องกินได้อยู่เป็น หรือช่วงรีบด่วน กินแซนด์วิชแฮมเบอร์เกอร์ในรถได้ น้ำขวดต้องพกเต็ม นอนที่ไหนก็ได้ ห้องพักแพทย์เวร โรงแรม กระทั่งในรถ ดังนั้นเครื่องนอน หมอนเป่าลม ผ้าห่มเล็กจะติดรถไว้เสมอ
4. อุปกรณ์ต้องครบสไตล์มินิมอลลิสต์ คือ พกน้อยแต่ใช้งานได้หลากหลาย อันนี้สนุก
เสื้อผ้า เสื้อทำงานและลำลองสองสามชุด ซักรีดพร้อม แขวนและพับในรถ รองเท้าอีกคู่ ถุงเท้า มีพร้อม
อาหารกินง่าย ขนมปัง เพาเวอร์บาร์ บะหมี่ น้ำขวดสองขวด
 ยาง่าย ๆ พาราเซตามอล ยาแก้แพ้ ยาแก้ท้องเสีย ผงเกลือแร่
เครื่องบันเทิงและใช้งาน แนะนำโน้ตบุ๊กดี ๆ สักตัว ก็พอ ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเน็ต เล่มเกม หรือใช้ทำงานพิมพ์งาน เพาเวอร์พ้อยต์ (ผมก็พกโน้ตบุ๊กเล็ก ไว้รับงานฟรีแลนซ์งานเขียนงานสอนต่าง ๆ นะ กับอีบุ๊กรีดเดอร์กับนินเทนโดสวิตช์)
ชุดทำความสะอาดร่างกายและประทินความงาม กระเป๋าเล็กพร้อมใช้
5. จัดการเงินเก็บ ภาษีให้ดี เนื่องจากไม่มีเงินเดือน ทุกครั้งที่ได้ค่าจ้างมาต้องตามใบกำกับภาษีเสมอ เอาไว้ยื่นภาษี อันนี้สำคัญ ได้แล้วแบ่งเงินเก็บทันที ฉุกเฉินและออมยาว หัดลงทุน แล้วจึงแบ่งกินใช้อื่น ๆ เรื่องการจัดสรรเงินสำคัญต้องมีวินัย ห้ามหลุด เวลาขาดงานจะได้ไม่เดือดร้อนมากนัก
6. พร้อมออกกำลังกาย ถ้าวนเวียนในพื้นที่ใดนาน ๆ สมัครฟิตเนสไว้เลย รายเดือน รายปี พร้อมเมื่อไรก็ไปทันที อุปกรณ์ออกกำลังกาย ชุดกีฬา รองเท้า ผ้าขนหนู ชุดอาบน้ำชุดเล็ก ให้พร้อมใช้ เพราะเวลาไม่แน่นอน มีเวลาเมื่อไรให้แบ่งมาออกกำลังกายดูแลสุขภาพด้วย
7. จัดสรรเวลารายปี พยายามวางแผนหลักรายปีให้ได้ แม้จะเปลี่ยนแปลงมักจะไม่หนีจากเดิมมากนัก วางเลยจะทำงานกี่เปอร์เซ็นต์ จะกลับเยี่ยมบ้าน จะเที่ยวพักร้อน จะทำงานเสริม และต้องจดบันทึกตารางติดตัว จะเป็นสมุดออร์แกไนเซอร์ (อันนี้น้องแนะนำ จดแผน จดเบอร์ จดเงิน) หรือแอปพลิเคชั่นก็ตามสะดวก
8. รับผิดชอบตัวเอง เพราะมันมีอิสระมาก ๆ ส่วนมากมักจะปล่อยปละละเลย อย่าทิ้งงานขาดงาน เพราะจะเสียชื่อ มีอะไรให้บอกผู้ว่าจ้างตรง ๆ อย่าโกหก ต้องพูดขอโทษ ขอบคุณ ให้ติดปาก
9. มีมนุษยสัมพันธ์ดี เครือข่ายสำคัญ ต้องติดต่อเอาไว้ งานได้งานมีก็เพราะความสัมพันธ์จุดนี้ วางตัวให้เหมาะต้องเรียนรู้ สำคัญคือ อย่าด่าใคร เพราะเราไม่รู้ว่าสักวันเราอาจต้องกลับมาพึ่งพาเขาก็ได้
10. ซื้อประกันเพื่อความมั่นคงของตัวเองและคนที่เรารัก ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เลือกตามความเหมาะสม ออมเงินระยะยาว ระยะกลาง ชีวิตฟรีแลนซ์ต้องรับผิดชอบสูงครับ แลกมากับอิสระในการทำงาน
เหมือนหนังเรื่องดัง ไงครับจำได้ไหม
ฟรีแลนซ์
-ถ้าสวย น่ารัก ให้รักลุงหมอ-

27 มิถุนายน 2563

งู

ก่อนนอน มาดูงูลุงหมอก่อน
งูกัดให้ดูดพิษออก ... ผิดอย่างแรง ไม่ควรดูดออก ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ปิดแผลแล้วรีบส่งโรงพยาบาล
งูกัดให้ขันชะเนาะเหนือแผล ... ควรเลิกทำได้ ไม่ต้องขันอะไรทั้งสิ้น ล้างแผลปิดแผล อยู่นิ่ง ๆ แล้วรีบไปรพ.ที่ใกล้ที่สุด
แผลงูพิษจะมีรอยเขี้ยวสองรู ... มันไม่ถูกเสมอไป งูพิษน่ะมีเขี้ยวพิษหนึ่งคู่อันนี้จริง แต่รอยแผลจากงูพิษมันไม่ต้องมีสองรูเสมอไป มันอาจจะกัดแฉลบ กัดแล้วโดนเขี้ยวเดียวก็ได้นะ
แผลรอยฟันหลายรอยแสดงว่างูไม่มีพิษ ... ไม่ใช่อีกแหละ เพราะรอยเขี้ยวพิษ อาจไม่ชัดขนาดนั้น อาจมองเห็นปนกับเขี้ยวอื่น ๆ ก็ได้
งูพิษกัดต้องเกิดพิษ ... ไม่จำเป็นนะครับ มันอาจกัดแบบไม่เจตนาปล่อยพิษ มันอาจปล่อยมาไม่มากถึงระดับเกิดพิษ หรือร่างกายเราจัดการได้ก็ไม่เกิดพิษ
งูพิษกัดต้องได้ซีรุ่มทุกครั้ง ... ไม่จำเป็น จะให้เมื่อเกิดพิษและมีข้อบ่งชี้ เพราะไม่ได้เกิดพิษทุกครั้งที่กัด และซีรุ่มก็ไม่ได้ปลอดภัย จะให้เมื่อ "มั่นใจว่าได้ประโยชน์แน่ ๆ " เท่านั้น
งูพิษกัดตาย ... พบไม่มากครับ ส่วนมากที่มีปัญหาคือ ติดเชื้อจากการถูกกัด น้ำลายในปากงู ติดเชื้อบาดทะยัก สิ่งเหล่านี้สร้างปัญหามากกว่าพิษงู
ผู้ชายไม่เจ้าชู้ก็เหมือนงูไม่มีพิษ ... หึหึ ผมเห็นงูพิษทั้งหลายเนี่ย ตายทุกราย ถ้าไม่ตาย งูตัวนั่นก็ "ถูกเป็ดกิน"
ราตรีสวัสดิ์ครับ

การติดเชื้อมาเลเรียจากเชื้อ Plasmodium falciparum

สองจังหวัดนี้มีความสำคัญในเรื่องโรคมาเลเรีย
การศึกษาการใช้ยารักษามาเลเรียดื้อยาในประเทศไทย นำมาสู่แนวทางทางเวชปฏิบัติที่พัฒนามากขึ้น ในอดีตเราใช้ยาควินินรักษามาเลเรียได้ดี แต่เพราะเชื้อพลาสโมเดียมมันดื้อยามาก ต่อมาเราได้พัฒนามาใช้ยา artesunate, artemisnin derivatives เพื่อต่อกรกับพลาสโมเดียม
นักวิจัยจีน Dr. Tu You ที่คิดเรื่องยาและการรักษานี้ ได้รับรางวัลโนเบลเลยนะครับ
แต่ปัจจุบันเชื้อพลาสโมเดียม ที่ก่อโรคมาเลเรียรุนแรงคือ Plasmodium falciparum ดื้อยามากขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาใหม่ การศึกษาที่ทำในประเทศไทยพบว่าในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ มีการดื้อยามากและต้องใช้ยาที่ไม่เหมือนพื้นที่อื่นของประเทศ
ตามแนวทางการรักษาโรคมาเลเรียประเทศไทยปี 2562 โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และกองโรคติดต่อจากแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำไว้ดังนี้ครับ
สำหรับการติดเชื้อมาเลเรียจากเชื้อ Plasmodium falciparum (Pf malaria)
อาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน รักษาโดยใช้ยากินประมาณ 3-4 วันครับ
พื้นที่จังหวัดอุบลฯ และศรีสะเกษ : Artesunate-Pyronaridine แบบยาเม็ดรวม (Pyramax)
พื้นที่อื่น : Piperaquine-Dihydroartemisnin แบบยาเม็ดรวม (Eurartesim)
หากอาการรุนแรง มีผลแทรกซ้อนรุนแรง เราจะใช้ยาฉีด artesunate ครับ โดยฉีดและหยดเข้าหลอดเลือดดำจนกว่าอาการจะดีขึ้นแล้วจึงปรับเป็นยากิน
ใครที่อยู่ในเขตสองจังหวัดดังกล่าว ต้องระมัดระวังตัวเวลาเดินทาง อาจใช้ครีมหรือสมุนไพรทากันยุง นอนกางมุ้ง และหากป่วยไข้เฉียบพลัน ประวัติอยู่อาศัยในจังหวัดหรือเข้าพื้นที่จังหวัดนั้นใน 1-2 สัปดาห์ก่อนเกิดไข้เป็นประวัติที่สำคัญมากเลยครับ
"หญิงศรีสะเกษหน้ามล สาวอุบลก็งามตา"

ใครที่เสี่ยงกระดูกพรุน คัดกรองอย่างไร ควรตระหนักเมื่อไร

ใครที่เสี่ยงกระดูกพรุน คัดกรองอย่างไร ควรตระหนักเมื่อไร
จากตอนที่แล้ว เรารู้จักอันตรายจากกระดูกสะโพกหัก จากกระดูกพรุนมาแล้ว วันนี้เราจะมาจับประเด็นเรื่องความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
กระดูกพรุน มีความผิดปกติทั้งโครงสร้างระดับเซลล์ และแร่ธาตุที่เสริมความแข็งแกร่งให้กระดูก กระดูกคนเรามีชีวิตนะครับ มีการสร้างและสลายตลอดเวลา ในวัยเด็กก็สร้างมากกว่าทำลาย ขยับมาเท่า ๆ กัน สมดุลในวัยผู้ใหญ่ และเมื่อเข้าสู่วัยชราก็จะทำลายมากกว่าสร้าง อันเป็นสิ่งปรกติ นั่นคือ กระดูกพรุนเป็นภาวะที่เกิดตามธรรมชาติ เราไม่สามารถไปฝืนได้ จากวัยที่เพิ่มและฮอร์โมนที่ลดลง
การรักษากระดูกพรุน จึงไม่ได้มีเป้าหมายให้คุณแข็งแรงเป็นอมตะเช่นซูเปอร์แมน แต่หวังผลให้ใช้ชีวิตได้ดี อยู่กับกระดูกพรุนให้ได้ ลดปัจจัยเสี่ยงที่พึงปรับได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ***โอกาสกระดูกหักต้องลดลง**
แนวทางปัจจุบัน ให้หาความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักคู่กับกระดูกพรุนเสมอ หากใครมีทุนทรัพย์พอ สามารถวัดมวลกระดูกได้ตลอดก็ทำได้ แต่สำหรับคนส่วนมากที่ทุนทรัพย์ไม่มาก หรือภาพรวมที่ต้องดูแลคนไข้ทั้งประเทศ เราคงต้องคัดสรรหาคนที่เสี่ยงมากพอ เพื่อจะมารักษา มาตรวจ มาให้ยา
● เราใช้แบบทดสอบความน่าจะเป็น ที่ตัวเลขหลังคำนวณได้คือ โอกาสเกิดประดูกหักในช่วงเวลา 10 ปี สามารถใช้แบบทดสอบได้ดังนี้ (ค้นกูเกิ้ล และกดตัวเลขออนไลน์ได้เลย)
• WHO FRAX score มีฐานข้อมูลของคนไทยด้วย
https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/tool.aspx?country=57
เมื่อทำแบบทดสอบแล้วพบว่าเรามีโอกาสเสี่ยงกระดูกหักกระดูกพรุน ก็จะไปวัดมวลกระดูกเพื่อวินิจฉัยและรักษา
⚠️⚠️*แต่ถึงแม้ทำแบบทดสอบแล้วไม่เสี่ยง ก็ควรปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงเช่นกัน*⚠️⚠️
ส่วนการตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน คงจะต้องใช้การวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (bone mass density) เป็นสำคัญ มีวิธีวัดหลายอย่าง แต่ที่ใช้กันมาก มีการศึกษารองรับมาก คือการวัดด้วยวิธี Dual Energy X-ray Absorptiometry เรียกสั้น ๆ ว่า DXA เด๊กซ์ซ่า
ตำแหน่งที่วัดคือ กระดูกสันหลังส่วนเอว และกระดูกต้นขา ในข้างที่ไม่ใช่ข้างถนัด หรือไม่เคยมีการหักมาก่อน แล้วนำค่าที่ได้มาคำนวณทางสถิติ ..*** การวัดค่าที่กระดูกส่วนอื่น เช่น ที่ข้อมือ ไม่ถือเป็นมาตรฐานการวินิจฉัย จะทำก็ต่อเมื่อมีข้อจำกัดอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่สามารถวัดที่สันหลังและต้นขาได้เท่านั้น **..
ค่าที่ได้จะมาคำนวณทางสถิติ เทียบกับความหนาแน่นกระดูกที่ดีที่สุดของสุภาพสตรีในวัยผู้ใหญ่ที่กระดูกเจริญเต็มที่ ในเชื้อชาติเดียวกัน หากมีความแปรปรวนจากค่าเฉลี่ยมากกว่าค่าที่กำหนดจะถือว่า กระดูกพรุน (T-score less than -2.5 SD)
หากไม่มีความเสี่ยงหรือข้อบ่งชี้อื่น ๆ เราจะแนะนำวัดความหนาแน่นมวลกระดูก
สุภาพสตรี อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
สุภาพบุรุษ อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
สุภาพสตรีที่ผอมมาก ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 20 (ผอมมากเสี่ยงกระดูกพรุน แต่อ้วนมาก เสี่ยงทุกโรคเลยนะครับ... ดักคอไว้ก่อน)
และอย่างที่กล่าวไว้ว่า หากพบว่าเสี่ยงกระดูกหัก และ มีภาวะกระดูกพรุน ให้เข้ารับการหาสาเหตุ รักษาและติดตาม แต่หากไม่เสี่ยงและกระดูกไม่พรุน ก็ห้ามประมาท อย่างไรเสีย การปฏิบัติตัวเพื่อลดโอกาสกระดูกหักและกระดูกพรุนยังเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและสมควรทำเสมอ
แล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร ติดตามต่อไปนะครับ วันนี้จะไปแห่แชมป์

26 มิถุนายน 2563

.มาเลเรีย คือ โรคติดต่อที่เป็นมหันตภัยอันดับหนึ่งขององค์การอนามัยโลก

มาเลเรีย คือ โรคติดต่อที่เป็นมหันตภัยอันดับหนึ่งขององค์การอนามัยโลกมานานจนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่สำคัญสองประการคือ เป็นโรคที่ติดต่อจากยุงสู่คน และ ตัวเชื้อก่อโรคมีการดื้อยาสูง
มาเลเรียที่เชื้อก่อโรค 5 ชนิด ทุกตัวอยู่ในจีนัส Plasmodium มีชนิดย่อย 5 สปีชี่ส์คือ P.falciparum, P.vivax, P.ovale, P.malariae, P.knowlesi โดยตัวที่ก่อปัญหามาก รุนแรงมาก และสร้างตำนานความน่ากลัวให้มาเลเรียคือ Plasmodium falciparum
พื้นที่สีแดงของ Plasmodium falciparum ที่มีการดื้อยาสูง ฆ่ายาก พื้นที่นั้นคือลุ่มน้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เองครับ ไข้สูงเฉียบพลันในพื้นที่ประเทศไทยจึงต้องมีการวินิจฉัยแยกโรคมาเลเรียอยู่เสมอครับ (เหมือนไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อชิคุนกุนย่า ไข้ซิก้า ที่เป็นเชื้อท้องถิ่นของเรา)
ในเมื่อการวินิจฉัยและการรักษาจำต้องแยก P.falciparum ออกมาให้ได้...
นับเป็นโชคดีที่เราอยู่ในแดนระบาด นักเทคนิคการแพทย์วิชาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วทุกแห่งของประเทศเราสามารถแยกชนิดของมาเลเรียได้ไม่ยากเลย โดยการใช้อุปกรณ์พื้นฐานคือกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น ด้วยการตรวจฟิล์มเลือดที่เรียกว่า thick film และ thin film ด้วยลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดเมื่อติดเชื้อจะมีลักษณะต่างกัน ตัวเชื้อโรค plasmodium ก็มีลักษณะแตกต่างกัน
ด้วยความน่าเชื่อถือและแม่นยำสูงมากครับ
และอีกหนึ่งความมั่นใจที่คนไทยน่าจะได้รู้ นอกจากความสามารถในการแยกเชื้อและวินิจฉัยของนักเทคนิคการแพทย์แล้ว เราจะมีชุดตรวจเร็วที่สามารถแยกมาเลเรียออกเป็น Plasmodium falciparum และ non-falciparum Plasmodium เรียกว่า Rapid Diagnostic test for malaria และชุดการตรวจนี้ก็กระจายอยู่ทั่วประเทศเช่นกัน
เพราะการรักษา non-Pf ไม่ต่างกันมาก ยกเว้น P.knowlesi ซึ่งต้องยืนยันโดยการตรวจสารพันธุกรรม (PCR) แต่หากอยู่ในข่ายต้องสงสัย P.knowlesi (ยังไม่ยืนยัน) ก็อาจรักษาแบบ non-Pfไปก่อนได้
ความก้าวหน้าในการดูแลรักษาโรคมาเลเรียในประเทศไทย ถือว่าก้าวหน้าระดับโลกนะครับ สามารถหาคู่มือการดูแลรักษามาเลเรีย ประเทศไทย 2562 โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
"กำจัดยุงหยุดมาเลเรีย กำจัดเมียหยุดเผด็จการ"
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ
มานานจนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่สำคัญสองประการคือ เป็นโรคที่ติดต่อจากยุงสู่คน และ ตัวเชื้อก่อโรคมีการดื้อยาสูง
มาเลเรียที่เชื้อก่อโรค 5 ชนิด ทุกตัวอยู่ในจีนัส Plasmodium มีชนิดย่อย 5 สปีชี่ส์คือ P.falciparum, P.vivax, P.ovale, P.malariae, P.knowlesi โดยตัวที่ก่อปัญหามาก รุนแรงมาก และสร้างตำนานความน่ากลัวให้มาเลเรียคือ Plasmodium falciparum
พื้นที่สีแดงของ Plasmodium falciparum ที่มีการดื้อยาสูง ฆ่ายาก พื้นที่นั้นคือลุ่มน้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เองครับ ไข้สูงเฉียบพลันในพื้นที่ประเทศไทยจึงต้องมีการวินิจฉัยแยกโรคมาเลเรียอยู่เสมอครับ (เหมือนไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อชิคุนกุนย่า ไข้ซิก้า ที่เป็นเชื้อท้องถิ่นของเรา)
ในเมื่อการวินิจฉัยและการรักษาจำต้องแยก P.falciparum ออกมาให้ได้...
นับเป็นโชคดีที่เราอยู่ในแดนระบาด นักเทคนิคการแพทย์วิชาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วทุกแห่งของประเทศเราสามารถแยกชนิดของมาเลเรียได้ไม่ยากเลย โดยการใช้อุปกรณ์พื้นฐานคือกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น ด้วยการตรวจฟิล์มเลือดที่เรียกว่า thick film และ thin film ด้วยลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดเมื่อติดเชื้อจะมีลักษณะต่างกัน ตัวเชื้อโรค plasmodium ก็มีลักษณะแตกต่างกัน
ด้วยความน่าเชื่อถือและแม่นยำสูงมากครับ
และอีกหนึ่งความมั่นใจที่คนไทยน่าจะได้รู้ นอกจากความสามารถในการแยกเชื้อและวินิจฉัยของนักเทคนิคการแพทย์แล้ว เราจะมีชุดตรวจเร็วที่สามารถแยกมาเลเรียออกเป็น Plasmodium falciparum และ non-falciparum Plasmodium เรียกว่า Rapid Diagnostic test for malaria และชุดการตรวจนี้ก็กระจายอยู่ทั่วประเทศเช่นกัน
เพราะการรักษา non-Pf ไม่ต่างกันมาก ยกเว้น P.knowlesi ซึ่งต้องยืนยันโดยการตรวจสารพันธุกรรม (PCR) แต่หากอยู่ในข่ายต้องสงสัย P.knowlesi (ยังไม่ยืนยัน) ก็อาจรักษาแบบ non-Pfไปก่อนได้
ความก้าวหน้าในการดูแลรักษาโรคมาเลเรียในประเทศไทย ถือว่าก้าวหน้าระดับโลกนะครับ สามารถหาคู่มือการดูแลรักษามาเลเรีย ประเทศไทย 2562 โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
"กำจัดยุงหยุดมาเลเรีย กำจัดเมียหยุดเผด็จการ"

กระดูกสะโพกหัก เนื่องจากหกล้ม ในผู้ป่วยกระดูกพรุน

ภาพที่เห็นคือ กระดูกสะโพกหัก เนื่องจากหกล้ม ในผู้ป่วยกระดูกพรุน
หญิงอายุ 70 ปี หกล้มเนื่องจากเสียหลัก ไม่ได้ตกจากที่สูง จากยืนมาเป็นล้มสะโพกซ้ายกระแทกพื้น หลักจากกระแทกแล้วปวดพอสมควรและเดินลำบากมาก มาตรวจพบว่ากระดูกข้อสะโพก ในส่วนกระดูกต้นขาหัก
เราเรียกกระดูกหักที่ไม่ได้เกิดจากแรงกระแทกรุนแรงหรือหักในที่ไม่ควรหักจากแรงกระแทกว่า pathological fracture
หมายถึงกระดูกที่มีโรคอยู่เดิม เมื่อถูกแรงกระแทกไม่มากก็หักได้ โรคที่พบบ่อยเช่น มะเร็ง โรคกระดูกพรุน สำหรับสุภาพสตรีรายนี้เธอมีภาวะกระดูกพรุนอยู่เดิม เมื่อหกล้มกระแทก แม้ไม่แรงมากก็ทำให้หักได้ และตำแหน่งข้อสะโพกนี้ก็หักบ่อย
ตำแหน่งที่หักบ่อย มีข้อสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ
🚩สำหรับกระดูกข้อมือ จะสังเกตความผิดปกติได้ง่าย รักษาไม่ยากนัก และไม่ทำความเสียหายมากเท่าไร
🚩สำหรับกระดูกสันหลัง แม้จะดูว่าอันตรายเพราะชิดไขสันหลัง ทางเดินประสาทสำคัญ แต่กระดูกสันหลังมีหลายข้อ และมีระบบเชื่อมโยงที่ดี อาการของกระดูกสันหลังหักคือ ปวดหลัง นานเข้าจะมีหลังโก่ง ความสูงลดลง แต่ถ้าหักรุนแรงหรือองศาไปกดทับเส้นประสาทจะเกิดความเสียหายได้มาก และส่งผลให้การใช้ชีวิตแย่ลง
🚩🚩ส่วนการหักที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คือ กระดูกสะโพกหัก เพราะจะทำให้เดินไม่ได้ ขยับลำบาก มีผลแทรกซ้อนมากมาย ทั้งหลอดเลือดดำอุดตัน แผลกดทับ ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก ทั้งหมดนี้เนื่องจากขยับไม่ได้
ตัวเลขที่ศึกษามาพบว่าอัตราการเสียชีวิตหลังจากกระดูกสะโพกหักสูงถึง 20% ในปีแรกที่หัก และจะเพิ่มขึ้นในปีถัด ๆ ไป แต่จะไม่มีอัตราเร่งมากเท่าปีแรก (ข้อมูลในไทยประมาณ 18%)
และประมาณ 40% ของคนที่กระดูกสะโพกหักจะเดินไม่ได้ดีดังเดิม กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยกระดูกหักจากกระดูกพรุน เป็นจำนวนมากคืออายุตั้งแต่ 70 ปี และสาเหตุที่พบมากคือหกล้ม
แนวทางการรักษากระดูกสะโพกหักในยุคปัจจุบันจึงพยายามซ่อมแซมให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าความเสี่ยงจากการผ่าตัด ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้การผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสะโพกไม่อันตรายเหมือนแต่ก่อน เพราะหากเดินหรือขยับไม่ได้ ปัญหาจะตามมาอีกมากมาย
หากจะป้องกันกระดูกสะโพกหัก เราจะต้องลดโอกาสการเกิดกระดูกพรุน และลดโอกาสหกล้ม สองปัจจัยนี้คือต้นตอและสาเหตุสำคัญของกระดูกข้อสะโพกหักรวมทั้งผลแทรกซ้อนที่ตามมา
ส่วนใครเสี่ยงและจะคัดกรองอย่างไร ติดตามตอนต่อไปครับ

22 มิถุนายน 2563

วิถีการจดบันทึกแบบบูโจ

ฟังเร็ว ซื้อเร็ว เล่าเร็ว
ผมเคยได้ยินเรื่องราวของการจดบันทึกแบบบูโจ (bullet journal) มาสักพักแล้ว อ๊ะ..บูลเล็ต ที่แปลว่าหัวเรื่องนะครับ ไม่ใช่วารสารเกี่ยวกับลูกปืน แต่ไม่ได้สนใจมาก เพราะอะไร เพราะตัวเองผยองครับ ลำพองว่าตัวเองก็จดบันทึกเก่ง มีไอเดียการจดบันทึกที่เลิศมาก
แต่ผมโง่ไปถนัด .. การคิดว่าตัวเองรู้ ตัวเองเก่งแล้วไม่เรียนรู้ คือความผิดพลาดที่เลวร้ายมาก !!
จนมาได้ยินเรื่องนี้อีกครั้งจาก Readery Podcast เล่าเรื่องราวของที่มาบูโจ หลักการและปรัชญาของบูโจ ทำให้ผลต้องหันมาอ่าน ตั้งใจเลยนะว่าต้องหามาอ่านให้ได้ ฟังจบตอนค่ำ เช้าวันรุ่งขึ้นโทรไปร้านหนังสือและไปรับในตอนเที่ยงเลย นั่งอ่านในร้านกาแฟจนจบ ... กาแฟหนึ่งถ้วย ชาร้อนหนึ่งกา สโคนสองก้อน
หนังสือเรื่องนี้บอกเล่าวิธีการจดบันทึกของคนที่เป็นโรค attention deficit ว่าเขาจัดการความคิดอย่างไร แต่บอกก่อนว่าไม่ใช่เป็นแบบสอนวิธีทำแบบจับมือสอน แต่เป็นการสอนให้เข้าใจว่า ที่ต้องทำแบบนี้ จดแบบนี้ เพราะอะไร เพื่ออะไร เมื่อเราเข้าใจ เราจะประยุกต์ให้เข้ากับสไตล์ของเราได้ไงครับ
สำหรับคนที่ยังไม่เคยเริ่มจดบันทึก นี่คือโอกาสและวิธีที่ดี ที่จะจัดระบบความคิด จัดสรรลำดับความสำคัญ สอนการใช้บูลเล็ต คือ สัญลักษณ์หน้าข้อความ ที่จะช่วยเราแยกความสำคัญ และมองปราดเดียวก็สามารถจดจำและจัดการได้ทันที
การแบ่งหน้ากระดาษ การสรุปรายการที่ต้องทำ ควรทำ และบันทึก การวางแผนวัน แผนเดือน แผนปี พร้อมเหตุผลว่าเราทำแบบนี้เพื่ออะไร อ่านรวดเดียวจบและสามารถนำมาปรับใช้ได้เลยครับ
ผมเองก็เป็นคนจดบันทึกเช่นกัน พอได้รู้เรื่องราวของคนที่รักการบันทึกแบบนี้ รู้สึกมีความสุขมากครับ ใครที่อยากเริ่มจดบันทึก เริ่มอยากจัดการความคิดตัวเอง จัดเวลาให้คุ้มค่า หนังสือเล่มนี้เหมาะมาก
ผมชอบที่เขาพูดว่า เทคโนโลยีช่วยให้เราจัดการงานและคุยกับคนรอบตัวได้ง่าย แต่การจดบันทึกด้วยมือ จะทำให้เราคุยและติดต่อจัดการกับตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ..โอ คมมาก
หนังสือปกดำสนิท สวยมาก เขียนโดย Ryder Carroll แปลโดย นรา สุภัคโรจน์ สำนักพิมพ์บุ๊กสเคป ขนาดเอห้า สามร้อยเก้าสิบหน้า ราคาปกสามร้อยเก้าสิบห้าบาท วางขายตามร้านทั่วไป ผมซื้อจากบีทูเอสครับ แต่คิดว่าตามร้านทั่วไปก็มี หน้าเว็บรีดเดอรี่ก็มีครับ
ลองดูครับ ..กระดาษหนึ่งแผ่น สมุดหนึ่งเล่ม ปากกาหนึ่งด้าม และการเปิดแนวคิดใหม่ ๆ อาจเปลี่ยนชีวิตคุณได้เลย
ลุงหมอ จอมป้ายยา ... (โดนพี่โจ้พี่เน็ตป้ายมาก่อน 555)

บทความที่ได้รับความนิยม