31 ตุลาคม 2561

ภาพแสดง Frank's Sign

วันนี้มาดูของจริงกัน กับ Frank's sign
รอยกรีดขวางติ่งหู สัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นนะครับ แต่หากมีอาการเข้าได้ ก็ต้องคิดถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเสมอ
ยิ่งผู้ป่วยรายนี้ อายุ 80 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง แม้ได้รับการรักษาและป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจอย่างดี โอกาสเกิดโรคก็ยังสูงเพราะอายุมาก
...
และหู...แบบนี้
อ่านบทแรกของหู Frank's sign ได้ที่นี่
http://medicine4layman.blogspot.com/2018/09/franks-sign.html
ดูเพิ่มเติม

ภาพแสดงลิ่มเลือดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ปอด

ลิ่มเลือดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ปอด acute pulmonary embolism
หนึ่งในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนทางอายุรกรรมที่วินิจฉัยยากที่สุดและอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด รับรองติด 10 อันดับอย่างแน่นอน เพราะอาการ อาการแสดงมันไม่มีความเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด
เป็นสิ่งที่ต้องคิดเอาไว้ในใจตลอดเวลา หากมีผู้ป้วยระบบหายใจและหัวใจล้มเหลว
...
ภาพด้านซ้ายคือ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดทรวงอก ที่วงสีเหลืองคือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ปอดด้านซ้ายและขวา ที่ปกติดี ไม่มีลิ่มเลือดไปอุด
ส่วนภาพด้านขวา เป็นภาพเอ็กซเรย์จริงจากผู้ป่วย แสดงให้เห็นว่าในหลอดเลือดมันไม่เต็ม ๆ สวย ๆ และมีอะไรสีเทา ๆไปอุดไว้ แม้จะไม่ได้ตัน 100 % แต่ก็อุดเกือบตัน สิ่งนั้นคือลิ่มเลือดที่ไปอุดถึงสองข้างในเวลาเดียวกัน
ผู้ป่วยอายุประมาณ 70 มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มีอารการเหนื่อย ๆ เวลาออกแรงมาแล้ว 3 วัน วันนี้เหนื่อยมาก เจ็บหน้าอก ตรวจร่างกายพบหัวใจโต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเหมือนมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจจากการขาดเลือด ตรวจเอนไซม์ที่ไวต่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็ขึ้นสูงเล็กน้อย
เหมือนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป๊ะเลย .... ความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้ว 77% ให้ออกซิเจนมากสุด ขึ้นมาที่ระดับ 85% เท่านั้น
เหลือบมองคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบลักษณะที่ตำราชอบเขียน แต่พบไม่บ่อยคือ S1Q3T3 และผลตรวจ d-dimer สูงมาก (แสดงว่าเกิดลิ่มเลือดในร่างกาย) และไปถ่ายเอ็กซเรย์พบลิ่มเลือดอุดตันดังภาพ
เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตยังทำงานได้ดี จึงไม่เรียกว่า massive pulmonary embolism เป็นการใช้ศัพท์ที่ไม่ตรงนัก massive ที่ควรแปลว่าขนาดใหญ่ หรือจำนวนมาก แต่กลับไม่ใช่ในโรคนี้ จะเรียกว่า massive เมื่อระบบไหลเวียนโลหิตเริ่มผิดปกติ ซึ่งถ้าผิดปกติต้องผ่าตัดหรือรักษาผ่านสายสวนหรือให้ยาละลายลิ่มเลือด
แต่ถ้าไม่ massive ให้ประคับประคองและให้ยาป้องกันเลือดแข็งตัวต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งหาสาเหตุการเกิดลิ่มเลือดด้วย
ดูเพิ่มเติม

30 ตุลาคม 2561

tumor marker ช่วยจริงหรือ


หนาวแล้วทำไงดี

เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา หนาวแล้วทำไงดี
การเข้าสู่ฤดูหนาวหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางของลมประจำฤดูเป็นหลัก จะส่งผลต่ออุณหภูมิและความชื้นในอากาศ สิ่งที่เราต้องเผชิญคืออุณหภูมิลดลง (ซึ่งมันก็ยังร้อนอยู่ดี) และความชื้นลดลง แอดมินใจดีแสนว่างก็ลองไปขุดคุ้ยหา เกร็ดความรู้สู้ความหนาวมาฝากกันครับ
1.ในฤดูหนาว ร่างกายต้องสร้างอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ปกติการสร้างอุณหภูมิจะให้พลังงานสะสมนะครับ เราไม่ต้องกินอะไรเพิ่มกว่าเดิม อุณหภูมิบ้านเราไม่ได้ลดลงรุนแรงขนาดจะใช้พลังงานสำรองไม่พอ
2.จากข้อหนึ่ง เราอาจจะอ้วนขึ้นหากเรากินมากขึ้น ยิ่งฤดูหนาวแล้วเราจะทำตัวเป็นหมี กินและฝังตัวในที่นอน สบาย กินอร่อย เดินน้อย ออกกำลังน้อย วันหยุดสังสรรค์เยอะ ก็จะกินมากและอ้วน
3.ดื่มเหล้าแก้หนาว มันแก้หนาวไม่ได้นะครับ แอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยที่ผิวหนังขยายตัว ยิ่งสูญเสียความร้อนเร็วขึ้นอีก คิดดูนะครับตั้งวงข้ามคืน กลางลมหนาว ร่างกายจะสูญเสียความร้อนมากมาย
4.การออกกำลังกาย การออกแรงเป็นการสร้างความร้อนและการนำพลังงานสำรองมาใช้ ช่วยคลายหนาวได้ แต่หากอุณหภูมิเย็นมากควรสวมเสื้อให้มิดชิดเพื่อป้องกันความร้อนและความชื้นออกไปขณะออกกำลังกาย ออกกำลังกลางแจ้ง ได้รับแดด ได้ความอุ่น ได้วิตามินดี
5.เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรเลือกที่กันลมเข้าและลดความชื้นออกจากร่างกายได้ เช่น ผ้าใยสังเคราะห์ หรืออาจเลือกสวมใส่สองชั้น กันลมกันหนาวชั้นนอก อีกชั้นรักษาความอุ่นความชื้น อย่าลืมผ้าพันคอ ถุงมือ ถุงเท้า หมวก
6.ใช้สารเพื่อลดการระเหยความชื้นเช่นวาสลีนทาผิว ลิปมันทาปาก ก็จะทำให้ลดอันตรายจากผิวแห้งผิวแตก คันและเกาจนเกิดแผล โดยเฉพาะผู้สูงวัย
7.ลมและความแห้ง สามารถกระตุ้นโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ให้กำเริบได้ นำพาเอาสารกระตุ้นการแพ้ เกสร ฝุ่น เข้าทางเดินหายใจได้ ดังนั้นใครเป็นโรคต้องระวังเวลาไปเที่ยวหรือสวมหน้ากากลายสวย ๆ เก๋ ๆ หนึ่งในเครื่องแต่งตัว ช่วยลดฝุ่นเข้า ลดความชื้นออกจากร่างกาย
8.จิบน้ำบ่อย ๆ ความชื้นจะระเหยทางผิว เยื่อบุ การจิบน้ำบ่อย ๆจะทำให้ชุ่มชื้น ส่วนใหญ่เราจะไม่อยากดื่มมากเพราะฉี่บ่อย แต่เทียบบวกลบผลแล้ว จิบน้ำดีกว่าครับเป็นน้ำอุ่น ๆ ก็จะจิบง่าย สบาย
9. เวลานอนกลางคืน อย่านอนคลุมโปง ออกซิเจนจะไม่พอ ถ้าหนาวมากให้ใส่ชุดกันหนาว หมวกคลุมศีรษะ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่เราคุ้นเคยที่นอนสบาย
หนาวที่แล้วห่มผ้านอนเดียวดาย
หนาวปีกลายห่มผ้าอยู่เหงาเหงา
หนาวปีนี้คงมีใครห่มกับเรา
แต่มันเศร้าถึงหนาวหน้า..ก็ห่มผ้าอยู่คนเดียว

29 ตุลาคม 2561

ยา macrolide

เวลาติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ แต่แพ้ยา penicillin จะทำอย่างไร

  ยากลุ่มเพนิซิลิน อย่างเช่น amoxicillin, penicillin, cloxacillin ที่เราใช้กันบ่อย ๆ ก็มีคนแพ้ยากลุ่มนี้พอสมควร อนาคตเราจะสามารถคาดเดาการแพ้ยาเพนิซิลินจากการตรวจยีนได้ ทางนักวิจัยไทยกำลังพัฒนาอยู่ ถ้าเราแพ้ยาเพนนิซิลิน (รวมอะม็อกซี่ซิลินด้วย) จะทำอย่างไร
  คำแนะนำมาตรฐานคือให้ใช้ยากลุ่มอื่น เพราะเรายังมียากลุ่มอื่นที่สามารถฆ่าเชื้อได้ กลุ่มที่แนะนำคือยากลุ่ม macrolide เช่น erythromycin, roxithromycin, clarithromycin, azithromycin สี่ตัวนี้ใช้เป็นหลัก (ส่วนตัวอื่นคือ16 membered นั้นใช้น้อยจึงขอไม่กล่าว)

  เรามารู้จัก macrolide กันสักเล็กน้อย ... อ้อ ในกรณีแพ้ยาเพนิซิลิน เราอาจจะเพิ่มโอกาสการแพ้ยากลุ่มเบต้าแลคแตมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าแพ้เพนิซิลินที่เป็นยากลุ่มเบต้าแลคแตมแล้วจะต้องแพ้ยาเบต้าแลคแตมตัวอื่น ๆ 100% เสมอไป ... แต่ก็นะ ถ้ามีทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า ก็ใช้ยาที่ปลอดภัยกว่าดีกว่า

   ยา macrolide ตัวแรกที่ทำออกมาคือ erythromycin แต่เนื่องจากมันทนกรดได้น้อย  มีผลข้างเคียงคลื่นไส้อาเจียนเยอะ มีอันตรายต่อตับบ้าง แถมต้องกินยาวันละสามถึงสี่ครั้งก็ไม่สะดวก จึงได้ปรับโครงสร้างทางเคมีมาเป็น roxithromycin และ clarithromycin ที่ทนกรดมากขึ้น ผลข้างเคียงลดลง สามารถรับประทานวันละสองครั้งได้  เรียกว่าสะดวกขึ้น แถมเจ้า clarithromycin ยังเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อแบคทีเรียกรัมลบบางตัวได้อีก (K.pneumoniae, M.catarrhalis ที่ก่อโรคไซนัสและปอดอักเสบ) 
   ส่วนยา macrolide อีกกลุ่มคือ azithromycin อันนี้จะมีผลข้างเคียงน้อยมาก สามารถให้ยาวันละหนึ่งครั้ง ยาแพร่กระจายเข้าเนื้อเยื่อได้ดีมาก (แต่อยู่ในเลือดได้ไม่ดี รักษาการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ไม่ดีนัก) และมีปฏิกิริยาระหว่างยาน้อยกว่าที่ยาข้างต้น

   ยาดูดซึมดี ขับออกทางตับ ดังนั้นแทบไม่ต้องปรับขนาดยาหากไตดี ยกเว้นยา clarithromycin ที่ต้องปรับขนาดยาหากไตเสื่อมมาก ๆ ส่วนปฏิกิริยาระหว่างยาจะต้องพิจารณาในการใช้ยา erythromycin, clarithromycin, roxithromycin (14 membered) โดยเฉพาะยาควบคุมการเต้นของหัวใจที่อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้

  ข้อบ่งชี้ในปัจจุบัน ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียทางเดินหายใจส่วนบน ที่แพ้เพนิซิลิน (ไม่แพ้ก็ใช้ได้นะ) การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (นิยม clarithromycin, azithromycin และไม่ใช้ roxithromycin) การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ยกเว้นซิฟิลิสเพราะเริ่มดื้อ) เช่นหนองในเทียม โรคติดเชื้อมัยโคแบคทีเรีย

  แต่ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ใช้กันบ่อยคือ ใช้แทนเพนิซิลินเพื่อรักษาแบคทีเรียในลำคอในกรณีแพ้ยาเพนิซิลินนั่นเอง

ข่าวยา baloxavir

ข่าวสั้น ทันสมัย ง่ายนิดเดียว

องค์การอาหารและยาสหรัฐได้รับรองยารักษาไวรัสไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่ baloxavir สำหรับรักษาการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ไม่รุนแรง มีอาการมาไม่เกิน 48 ชั่วโมง และรับรองสำหรับอายุมากกว่า 12 ปี

  ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ต่างจาก oseltamivir คือออกฤทธิ์ไม่ให้ไวรัสไปแบ่งตัวในเซลล์ โดยเป็นยากินแค่หนึ่งครั้งเท่านั้น จากผลการศึกษาระยะสองพบว่าสามารถลดปริมาณไวรัสได้เร็วกว่ายาเดิมคือ oseltamivir เล็กน้อย และจากการศึกษาระยะสามคือ CAPSTONE -1 ที่ศึกษาว่าอาการป่วยจะหายเร็วกว่ายาหลอกและลดไวรัสเร็วกว่ายา oseltamivir หรือไม่ (การศึกษาส่วนมากเป็นชาวญี่ปุ่น เพราะเป็นยาของทางญี่ปุ่นและบริษัทยาสนับสนุนงานวิจัย)

  พบว่าจากกลุ่มตัวอย่าง 1064 คน (ส่วนมากเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H3N2) พบว่าลดอาการได้เร็วกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ คือ 53.7 ชั่วโมง เทียบกับ 80.2 ชั่วโมง และการลดปริมาณไวรัสได้มากกว่า oseltamivir ในผู้ป่วยจริง โดยที่ผลข้างเคียงในระดับที่ไม่ต่างจากยาหลอก

  ทาง US FDA จึงรับรองการใช้ด้วยหลักฐานการศึกษานี้ เหตุที่ต้องมียาใหม่ ๆ เพราะเราเริ่มพบการดื้อยาตัวเดิม oseltamivir แล้วนั่นเอง  ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่ายาเดิมยังใช้ได้ดีครับ แต่ต้องเลือกให้ยาให้เหมาะสมเช่นกัน ไม่ให้เกินจำเป็นและควรฉีดวัคซีนป้องกันเป็นวงกว้างด้วย

  อนึ่ง ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณวิชัย ศิริวัฒนประภา มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

28 ตุลาคม 2561

ย้อนอดีต คอมพิวเตอร์

ก่อนนอนคืนนี้ผมมาเล่าบ่นประสบการณ์ที่ผมเชื่อว่าทุกคนก็เคย ... ใครอ่านแล้ว มาเล่าต่อ ๆ กันได้ครับ
แอดมินเป็นคนที่สนใจเครื่องคอมพิวเตอร์มานานแล้วนะครับ เริ่มตั้งแต่สมัยมัธยมต้น ตอนนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี จอโค้ง ๆ ตัวอักษรสีขาวหรือสีเขียว วางบนเครื่องซีพียู ต้องเสียบแผ่นดิสก์ครับ เด็ก ๆ ยุคนี้อาจไม่รู้จักแผ่นดิสก์ ขนาด 5.25 นิ้วบาง ๆ หรือขนาด 3.5 นิ้วที่แข็ง ๆ เครื่องที่ทันสมัยสมัยนั้นราคาไม่น้อยกว่า 25,000 บาท แพงมากนะครับ ผมต้องไปอาศัยใช้ตามโรงเรียน
สมัยนั้นระบบปฏิบัติการยอดฮิตคือ MS-DOS ของไมโครซอฟต์นี่แหละ ใส่แผ่นดิสก์เข้าไปเพื่อบูตเปิดเครื่อง พิมพ์คำสั่งเพื่อใช้งาน ใครจำได้บ้าง cls, dir, md, copy, format
โปรแกรมต่าง ๆ บรรจุในแผ่นดิสก์ เซฟก็ต้องเซฟลงดิสก์ อีกสักพักจึงมีฮาร์ดดิสก์ออกมาระดับความจุอย่างหรู 40-60 เมกะไบต์ เล็กกว่าแฟลชไดรว์ที่เราใช้หลายเท่า
สมัยนั้นผมโชคดีที่ได้คอมพิวเตอร์มือสองมาเครื่องหนึ่ง เอามาเรียนเอง DOS และขยับไปเรียนรู้โปรแกรมสำเร็จรูปสมัยนั้น cu word, wordperfect, dBase, lotus 123 มีใครทันไหมเนี่ย เหมือนเดิมเลยคือไปซื้อหนังสือมือสองที่จตุจักร มาเปิดเล่นโปรแกรมเหล่านี้ที่ท่านผู้ใจดีส่งมาให้พร้อมเครื่องคอม
เคยไปลงเรียนคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้นฮิตมาก เพราะเป็นของใหม่ในบ้านเรา ผมเรียนภาษาคอมพิวเตอร์สองภาษาคือ ภาษาเบสิก และภาษาปาสคาล ตอนนั้นตื่นเต้นมากเพราะเราสามารถสั่งคอมพิวเตอร์ได้ ส่วนภาษาอื่น ๆ ความสามารถไม่ถึง
แถว ๆ มัธยมปลาย โปรแกรมต่าง ๆออกมาวางขายและมีของเถื่อนออกมาขายด้วย ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมออกแบบ AutoCAD หรือแนวคิดเรื่อง AI ในสมัยนั้นเพิ่งเริ่มจุติ
ระยะนี้เครื่องคอมพิวเตอร์พัฒนาไปเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ตัวแรกที่ผมใช้คือ windows 3.1 ใข้เม้าส์คลิก ๆ นี่แหละ เกม minesweeper กับ solitire ที่แถมมาคือสุดยอดเกม โปรแกรมออฟฟิศเริ่มออกมาขาย ไม่ว่าจะเป็นค่ายไมโครซอฟต์ออฟฟิศ ค่ายโลตัสสูท
เกมบนวินโดวส์เริ่มเข้ามาสมัยนั้นสุดฮิตคือ wolf3D เริ่มมีระบบอินเตอร์เน็ตสายโทรศัพท์ ต้องใช้โมเด็ม เริ่มรู้จัก www. และการส่งไฟล์แบบ FTP การสื่อสารแบบอักษร telnet จนถึงเรื่องสุดท้ายในเรื่องราวคอมสมัยมัธยมคือ อีเมล์ (และยังเป็นการสื่อสารหลักมาถึงทุกวันนี้)
หลังจากนั้นความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ก็หยุดชะงักไป เพราะการเรียนแพทย์อย่างหนัก มีโอกาสใช้บ้างคือ เวิร์ดเพื่อพิมพ์งาน แค่นั้นจริง ๆ หาข้อมูลยังเข้าห้องสมุด ทำสไลด์ยังเขียนแผ่นใสอยู่เลย
มาใช้คอมอีกครั้งคือต้องเขียน พิมพ์ นำเสนอและทำวิจัย กัดฟันซื้อโน้ตบุ๊คตัวแรกตั้งแต่เข้าเป็นแพทย์ประจำบ้าน เครื่องนั้นใช้ยาวนานถึง 6 ปีทีเดียว มาเรียนรู้วินโดวส์อีกครั้งคือ วินโดวส์ 95 ต้องมาซื้อหนังสืออ่าน word, excel, powerpoint, spss เรียกว่าเหมือนเพิ่งออกจากถ้ำ มันเปลี่ยนเร็วมาก ๆ
หลังจากนั้นก็ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานมาตลอด เก็บข้อมูล วิเคราะห์คลินิกบุหรี่ ใช้ excel เก็บสถิติ พิมพ์งาน พรีเซนต์ แต่งรูป ใช้หาข้อมูล แต่ในคอมของผม ไม่มีเกมเลยนะครับ ไม่ได้เล่นและเปลืองพื้นที่
แรก ๆ ก็ซื้อตามร้าน เขาจะลงซอฟต์แวร์เถื่อนมาให้ ก็ทะนงตัวมากว่าทำไมต้องใช้ของแท้ด้วย ตอนนั้นซื้อของเถื่อนใช้แหลก จุดเปลี่ยนคือ เครื่องผมติดไวรัส ข้อมูลหายเกลี้ยง
หลังจากนั้นก็ซื้อแอนตี้ไวรัสของแท้ใช้ เริ่มรู้ว่าการได้อัปเดต ใช้งานอย่างเต็มที่ มันไม่แพงเลย ยิ่งปัจจุบันราคาถูกลงมาก แต่ก็ยังไม่ได้มาใช้ของแท้นะ
ตามมาด้วยการอยากใช้ของแท้แต่ฟรี...จึงเรียนรู้การใช้ open source นำเครื่องมาลง linux ใช้และเรียนรู้มาเองทั้ง ubuntu, linux mint และมาใช้ลีนุกซ์มินต์ เพราะว่ามีครบถ้วนที่เราต้องการ คือมี libre office ใช้แทน MS office ช่วงสองปีก่อนจะทำเพจ ผมใช้แต่ open source
แต่ด้วยความที่ไม่ชิน และชอบลูกเล่นของ MS office มากกว่า อีกอย่างเวลาไปใช้งานที่อื่น ๆ ขี้เกียจพกโน้ตบุ๊คไป ชาวบ้านเขาใช้วินโดวส์ ใช้ mac กันหมด สามปีหลังมานี้จึงใช้ windows, office, antivirus, ใช้แค่นี้เท่านั้นครับในคอม ฯ ของผมทั้งโน้ตบุ๊คและเครื่องตั้งโต๊ะ
ซื้อของแท้ใช้ ก็รู้สึกปลอดภัยพอควรนะครับ อัพเดตตลอด ระวังเวลามีสิ่งแปลกปลอม ยังไม่มีปัญหาใด ๆ เลย ทุกอย่างลงเองทำเอง มีปัญหาก็พอแก้ไขได้ รู้สึกยุคนี้วิชาคอมพิวเตอร์มันเป็นมิตรกับผู้ใช้มาก ไม่ต้องเรียนรู้มากมาย ไม่ต้องมีชุดคำสั่งต้องจำเยอะ
ผมคิดว่าอนาคตข้างหน้า วิชาคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ จะสำคัญไม่แพ้วิชาภาษาอังกฤษเลยครับ

ศาสตร์และศิลป

หลาย ๆ ท่านที่ได้อ่านบทความที่ผมนำมาลง อาจจะนึกสงสัยว่าชีวิตจริงมันทำได้แบบที่เขียนจริงหรือ ผมจะขอยกตัวอย่างจากบทความของตัวเองแล้วกัน

  เรื่องแรก วัคซีนมะเร็งปากมดลูกเก้าสายพันธุ์ ถึงแม้ว่าสรรพคุณของวัคซีนจะดูดีน่าจะฉีด แต่อุปสรรคสำคัญคือราคาวัคซีนที่สูงพอควร หรือปัญหาสำคัญที่ทั้งโลกเจอคือวัคซีนไม่พอฉีด  สำหรับราคาภาครัฐอาจจะได้งบมาซื้อไม่มากนัก การใช้ตัวสองสายพันธุ์ก็ไม่ได้แย่นัก ราคาถูกและรัฐให้ฟรี ถ้าเราคำนึงถึงความคุ้มค่าคำตอบอาจจะมาอยู่ที่สองหรือสี่สายพันธุ์
  ส่วนคนที่ไม่มีงบจริง ๆ หรือไม่มีที่ซื้อ ปัญหาเดียวกันเลย การป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็ยังใช้ได้ดี
  *** การที่ไม่ได้กินอาหารที่หรูหราที่สุด ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่อิ่ม ***

  เรื่องที่สอง การให้ออกซิเจนเฉพาะรายที่จำเป็น เราจะพบว่าบางรายไม่จำเป็นแต่หากได้รับแล้วไม่ได้เกิดโทษ บางครั้งทำให้คนไข้สงบลง อาการดีขึ้น เพราะเขาได้รับการรักษาอันเป็นรูปธรรม หรือหากไม่ได้อาจจะรู้สึกไม่มั่นคงในอาการของตน หรือการรักษา ในกรณีแบบนี้ผมเองก็เคยให้นะครับ ไม่ได้หลอกลวงหรือตามใจ แต่ผมเชื่อว่า placebo effect และ nocebo effect ผลดีหรือผลลบจากยาหลอกมันมีจริง ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่มีมันมีจริง
  แต่ต้องดูข้อห้ามและงบประมาณด้วย เอาที่เป็นกลาง ๆ การรักษามันจะได้ไปต่อได้ บางทีเราก็ต้องทำแบบนี้เช่นกัน เป็นศิลปะการดูแล
   *** เราไม่ต้องฆ่าศัตรูทุกคน เพื่อให้ได้ชัยชนะในสงคราม ***

  เรื่องที่สาม เรื่องการใช้ยา sulfonylurea ในผู้ป่วยเบาหวานที่ปัจจุบันใช้ลดลง เพราะเรามียาใหม่ ๆ ที่ปลอดภัยกว่าและสามารถปกป้องอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีกว่า ราคาที่สูงมากอาจทำให้พวกเขาเอื้อมไม่ถึง ไม่ว่าจะสิทธิการรักษาหรือจ่ายเอง ถึงข้อมูลในการศึกษาจะออกมาด้อยกว่ายาใหม่ แต่ด้วยประสิทธิภาพที่ยังดี มีใช้ทั่วไป ราคาไม่แพง ใช้ได้ในวงกว้าง เราอาจจะลดผลเสียจากโรคไม้มากกว่ายาใหม่ ๆ ด้วยซ้ำเพราะปริมาณที่ใช้มันมากกว่า
  แต่เราต้องรู้ทันเข้าใจกลไกและข้อควรระวัง เพิ่มสิ่งนี้มาอีกนิด แม้จะจุกจิกและวุ่น ๆ แต่ทรงประสิทธิภาพ เอามาแทนราคายาได้เลย
  *** รองเท้าที่ส้นสึก ก็เดินถึงปลายทางได้เหมือนรองเท้าชั้นดี แค่ต้องรู้จังหวะการเดิน ***

  แต่บางเรื่อง มันคือหนทางที่ต้องเปลี่ยน ไม่มีทางประนีประนอม ถ้าหากไม่เปลี่ยนเราจะเดินตกเหว เช่น เรื่องการใช้ยาอะม็อกซี่ซิลิน ในผู้ป่วยที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หลายคนบอกว่าหมอก็ไม่ยอมเลิกจ่าย ร้านยาก็พยายามให้ คนไข้ก็ขอทุกที  แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันเปลี่ยนได้ไงครับ แต่ต้องพยายาม อดทน ไม่ยอมแพ้ ไม่สามารถทำสำเร็จในวันเดียวและด้วยคน ๆ เดียว
 
  การดูแลรักษาคนไข้ ไม่จำเป็นต้องทำตามตำราตามแนวทางแบบตรงไปตรงมา แต่ต้องรู้จักการพลิกแพลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ กับคนไข้ กับสภาพแวดล้อม หลักการทางวิชาการเราต้องมีเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ ใช้ความรู้ความจริงที่ปรับเปลี่ยนได้ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพราะวิชาแพทย์เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ขณะเดียวกัน การเลือกเอาหลักการใดมาใช้ ใช้อย่างไร ใช้กับใคร อะไรเข้าก่อนอะไรตามหลัง โดยใช้หลักการมนุษยธรรมและจริยธรรม ตามกาลเทศะ ถือเป็นศิลปะที่ต้องฝึกฝน

   ไกด์ไลน์เหมือนแผนที่ ถ้าไม่มีคงเดินหลง
   แผนที่ให้เดินตรง ก็อาจลงคูที่ขวาง
   ใช้ศิลป์ใช้ปัญญา ปรับสะกิดบิดเส้นทาง
   รู้จักเดินสายกลาง ถึงที่หมายอย่างดังตั้งใจ

ชีวิตจริงมันทำได้แบบที่เขียนจริงหรือ

หลาย ๆ ท่านที่ได้อ่านบทความที่ผมนำมาลง อาจจะนึกสงสัยว่าชีวิตจริงมันทำได้แบบที่เขียนจริงหรือ ผมจะขอยกตัวอย่างจากบทความของตัวเองแล้วกัน
เรื่องแรก วัคซีนมะเร็งปากมดลูกเก้าสายพันธุ์ ถึงแม้ว่าสรรพคุณของวัคซีนจะดูดีน่าจะฉีด แต่อุปสรรคสำคัญคือราคาวัคซีนที่สูงพอควร หรือปัญหาสำคัญที่ทั้งโลกเจอคือวัคซีนไม่พอฉีด สำหรับราคาภาครัฐอาจจะได้งบมาซื้อไม่มากนัก การใช้ตัวสองสายพันธุ์ก็ไม่ได้แย่นัก ราคาถูกและรัฐให้ฟรี ถ้าเราคำนึงถึงความคุ้มค่าคำตอบอาจจะมาอยู่ที่สองหรือสี่สายพันธุ์
ส่วนคนที่ไม่มีงบจริง ๆ หรือไม่มีที่ซื้อ ปัญหาเดียวกันเลย การป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็ยังใช้ได้ดี
*** การที่ไม่ได้กินอาหารที่หรูหราที่สุด ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่อิ่ม ***
เรื่องที่สอง การให้ออกซิเจนเฉพาะรายที่จำเป็น เราจะพบว่าบางรายไม่จำเป็นแต่หากได้รับแล้วไม่ได้เกิดโทษ บางครั้งทำให้คนไข้สงบลง อาการดีขึ้น เพราะเขาได้รับการรักษาอันเป็นรูปธรรม หรือหากไม่ได้อาจจะรู้สึกไม่มั่นคงในอาการของตน หรือการรักษา ในกรณีแบบนี้ผมเองก็เคยให้นะครับ ไม่ได้หลอกลวงหรือตามใจ แต่ผมเชื่อว่า placebo effect และ nocebo effect ผลดีหรือผลลบจากยาหลอกมันมีจริง ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่มีมันมีจริง
แต่ต้องดูข้อห้ามและงบประมาณด้วย เอาที่เป็นกลาง ๆ การรักษามันจะได้ไปต่อได้ บางทีเราก็ต้องทำแบบนี้เช่นกัน เป็นศิลปะการดูแล
*** เราไม่ต้องฆ่าศัตรูทุกคน เพื่อให้ได้ชัยชนะในสงคราม ***
เรื่องที่สาม เรื่องการใช้ยา sulfonylurea ในผู้ป่วยเบาหวานที่ปัจจุบันใช้ลดลง เพราะเรามียาใหม่ ๆ ที่ปลอดภัยกว่าและสามารถปกป้องอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีกว่า ราคาที่สูงมากอาจทำให้พวกเขาเอื้อมไม่ถึง ไม่ว่าจะสิทธิการรักษาหรือจ่ายเอง ถึงข้อมูลในการศึกษาจะออกมาด้อยกว่ายาใหม่ แต่ด้วยประสิทธิภาพที่ยังดี มีใช้ทั่วไป ราคาไม่แพง ใช้ได้ในวงกว้าง เราอาจจะลดผลเสียจากโรคไม่มากกว่ายาใหม่ ๆ ด้วยซ้ำเพราะปริมาณที่ใช้มันมากกว่า
แต่เราต้องรู้ทันเข้าใจกลไกและข้อควรระวัง เพิ่มสิ่งนี้มาอีกนิด แม้จะจุกจิกและวุ่น ๆ แต่ทรงประสิทธิภาพ เอามาแทนราคายาได้เลย
*** รองเท้าที่ส้นสึก ก็เดินถึงปลายทางได้เหมือนรองเท้าชั้นดี แค่ต้องรู้จังหวะการเดิน ***
แต่บางเรื่อง มันคือหนทางที่ต้องเปลี่ยน ไม่มีทางประนีประนอม ถ้าหากไม่เปลี่ยนเราจะเดินตกเหว เช่น เรื่องการใช้ยาอะม็อกซี่ซิลิน ในผู้ป่วยที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หลายคนบอกว่าหมอก็ไม่ยอมเลิกจ่าย ร้านยาก็พยายามให้ คนไข้ก็ขอทุกที แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันเปลี่ยนได้ไงครับ แต่ต้องพยายาม อดทน ไม่ยอมแพ้ ไม่สามารถทำสำเร็จในวันเดียวและด้วยคน ๆ เดียว
การดูแลรักษาคนไข้ ไม่จำเป็นต้องทำตามตำราตามแนวทางแบบตรงไปตรงมา แต่ต้องรู้จักการพลิกแพลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ กับคนไข้ กับสภาพแวดล้อม หลักการทางวิชาการเราต้องมีเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ ใช้ความรู้ความจริงที่ปรับเปลี่ยนได้ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพราะวิชาแพทย์เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ขณะเดียวกัน การเลือกเอาหลักการใดมาใช้ ใช้อย่างไร ใช้กับใคร อะไรเข้าก่อนอะไรตามหลัง โดยใช้หลักการมนุษยธรรมและจริยธรรม ตามกาลเทศะ ถือเป็นศิลปะที่ต้องฝึกฝน
ไกด์ไลน์เหมือนแผนที่ ถ้าไม่มีคงเดินหลง
แผนที่ให้เดินตรง ก็อาจลงคูที่ขวาง
ใช้ศิลป์ใช้ปัญญา ปรับสะกิดบิดเส้นทาง
รู้จักเดินสายกลาง ถึงที่หมายอย่างดังตั้งใจ

27 ตุลาคม 2561

ออกกำลังกายกัน


แนะนำซีไรท์ และ readery

เบื่อ ๆ เซ็ง ๆ ให้เปลี่ยนสไตล์หนังสือที่อ่าน
คำแนะนำที่มีรุ่นพี่แนะนำมานาน ถ้าเบื่อ ถ้าตื้อ ให้ลองอ่านหนังสือแนวอื่นที่ตัวเองไม่คุ้น จะได้เปิดโลกยอมรับสิ่งใหม่ หนีสิ่งเก่า ๆ โดยปรกติผมชอบอ่านเรื่อง non fiction, เรื่องอัตชีวประวัติ ,เรื่องราวประวัติศาสตร์
วันนี้มาจับวรรณคดีซีไรท์ดูบ้าง เป็นซีไรท์ที่สอง "พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบ" ต่อจาก "ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต" ที่เพิ่งหามาอ่านเมื่อไม่นานนี้ (แต่คุณวีรพรได้ซีไรท์เรื่องแรกมาหลายปีแล้วครับ)
เดินเข้าร้านช่วงนี้มีแต่หนังสือใหม่ ๆ รับงานหนังสือที่กทม. เติมความรู้ให้สมองครับ
และมี podcast แนะนำหนังสือเรื่องต่าง ๆ สนุกดี คนจัดพูดเป็นกันเองดี เป็นคนก่อตั้งร้านหนังสือออนไลน์ชื่อ readery.co เป็นหนุ่ม ๆ อารมณ์ดี ชอบอ่านหนังสือ มาแนะนำหนังสือน่าอ่านแบบสนุก ๆ เหมือนแนะนำให้เพื่อน ๆ ฟัง ผมฟังมาหลาย episode แล้วสนุกมาก
ค้นได้ใน soundcloud, joox, spotify หรือจาก apple podcast กับ readery podcast ถึงแม้หนังสือที่เขาแนะนำจะวางบนร้านของเขา แต่ถ้าฟังเนื้อหาที่เขาแนะนำ เขาไม่ได้โฆษณาร้านหรือแนะนำให้ไปซื้อที่ร้านเขาเลย ฟังรื่นหูเลยครับ
ผมยังชอบไปเลือกหนังสือตามร้านมากกว่า ยกเว้นไม่พบจริง ๆ จึงสั่งออนไลน์ ส่วนหนังสือภาษาต่างประเทศ อันนี้อีบุ๊กล้วน ๆ เลยครับ
หลังจากไปซื้อหาหนังสือมาหลายที่ หลายประเทศ ขอบอกว่าหนังสือบ้านเราก็ไม่ได้แพงมาก เพราะเลือกใช้กระดาษคุณภาพสูง หากเลือกใช้กระดาษปรูฟหรือกระดาษรียูส อาจจะถูกกว่านี้ แถมร้านหนังสือแฟรนไชส์หลายที่ก็สั่งซื้อง่าย
แต่ก็ต้องบอกว่าสังคมนักอ่านในต่างประเทศเขาก้าวไกลกว่าเรา ตัวเลือกมากมาย และราคาไม่แพง
หนังสือเป็นสินค้าปลอดภาษีนะครับ ถ้าคิดค่าภาษี ค่านำส่ง จะราคาแพงกว่านี้มาก ใกล้สิ้นปี เรามาเลือกหนังสือดี ๆ เป็นของขวัญให้คนที่คุณรักนะครับ
ปล. ช่วงนี้ปวดไหล่ ไม่มีแรงพิมพ์บทความ เห็นบทความวิชาการแล้วเบลอ ๆ ออกมาอ่านหนังสือสไตล์อื่น ๆ บ้าง

ยา ACEI กับมะเร็งปอด

สวัสดีครับ ที่นี่รายการข่าวเช้าเขย่าโลก มาพบกับท่านผู้ชมทุกวันในเวลารับอรุณแบบนี้ วันนี้เราจะมาพูดถึงข่าวสำคัญที่ทาง CNN ลงพาดหัวว่าเป็น breaking news เลยนะครับ ว่ายาลดความดันกลุ่ม ACEI ยาลดความดันที่ลงท้ายชื่อด้วย อีปริ้ว ทั้งหลายนั้นอาจจะมีผลต่อการเกิดมะเร็งปอด !! แหม เรื่องนี้น่าตกใจทีเดียว เป็นกระแสมากมายในโลกสื่อสังคมออนไลน์ ทางรายการเราก็ได้เชิญแขกรับเชิญมาให้ความเห็นเรื่องนี้ แขกรับเชิญคนนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรเลยครับ หน้าตาก็งั้น ๆ แค่มีหลายคนบอกว่าแซ่บเหลือใจ ครับ..พบกับชายชราหน้าหนุ่ม หรือ ลึงหมอ เอ้ย...ลุงหมอใจดี ครับ
...ภาพตัดมาที่ลุงหมอ ..เดินกระย่องกระแย่งออกมาจากหลังฉาก นั่งลงและหอบเหนื่อยเป็นที่อเน็จอนาจยิ่งนัก....
พิธีกร : ลุงหมอครับ ข่าวที่ออกมาเรื่องยาลดความดันกับมะเร็งนี่มันจริงหรือครับ
ลุงหมอ : จริงสิครับ แต่ว่าเป็นจริงตามผลการศึกษาวิจัยนะครับ งานวิจัยเขากำหนดว่าถ้าตัวเลขตามนี้เรียกว่าใช่ เมื่อผลออกมาตามนั้นมันก็แปลว่าใช่ ส่วนจะเอามาแปลได้จริง ๆ หรือไม่ ก็ต้องดูองค์ประกอบอย่างอื่นด้วยครับ
พิธีกร : หมายความว่าไงครับ แสดงว่างานวิจัยมันไม่น่าเชื่อถือหรือครับ
ลุงหมอ : ก็ไม่ใช่ครับ งานวิจัยนี้ก็ดีนะ แต่บอกเพียงว่า ในกลุ่มคนที่ใช้ยา ACEI เราพบผู้ป่วยมะเร็งปอดมากกว่ากลุ่มที่ใช้ยา ARB ซึ่งเป็นยาคล้าย ๆ กันใช้แทนกันได้ มันเป็นแค่ความสัมพันธ์ไงครับ ไม่รู้ว่าคนที่หยุดยา ACEI แล้วมะเร็งมันจะลดลงไหม เราพิสูจน์แค่ขาไป ไม่ได้พิสูจน์ขากลับ มันจึงเป็นแค่ความสัมพันธ์ ไม่ได้เป็นเหตุผล
พิธีกร : แต่มันก็เกิดต่างกันนะครับ ในเนื้อข่าวบอกว่ามากกว่าถึง 14%
ลุงหมอ : ใช่ครับ นั้นคือเปรียบเทียบกันสองตัว ยา ACEI มีโอกาสพบมะเร็งมากกว่าการใช้ยา ARB 14% แต่ถ้ามาดูตัวเลขจริงที่ไม่ได้เทียบเปอร์เซ็นต์ จะพบว่า ACEI พบมะเร็ง 1.6 ต่อหนึ่งพันคน ส่วน ARB พบแค่ 1.2 ต่อหนึ่งพันคน ถ้ามาหักลบกันจริง ๆ นิดเดียวเองนะ อันนี้ถ้าความแตกต่างกันมันมากมายมหาศาลอาจจะพอคิดว่าเป็นเหตุผลได้ แต่นี่มันไม่มากครับ
พิธีกร : ลุงหมอจะบอกว่ามันเชื่อไม่ได้หรือครับ
ลุงหมอ : เชื่อได้ครับ เป็นข้อมูลที่ดีระดับหนึ่ง ไม่ได้แม่นยำ 100% เพราะเขาเก็บข้อมูลมาจากฐานข้อมูลทั่วไปมาวิเคราะห์ แม้จะตั้งคำถามเรื่องยาตัวนี้ มะเร็งชนิดนี้ แต่ฐานข้อมูลที่มีมันเป็นฐานข้อมูลรวมครับ ไม่ได้ออกแบบมาเก็บข้อมูลนี้โดยตรง มีตัวแปรปรวนมากมาย
พิธีกร : หมายความว่าข้อมูลที่มีนี้ ไม่ได้เก็บละเอียดพอหรือครับ
ลุงหมอ : จะว่าแบบนั้นก็ได้ หรือภาษาวิจัยเขาเรียกมีตัวกวน confounder เยอะครับ เวลาเก็บตั้งคำถามว่า กินยา ACEI เท่านั้น ไม่ได้ควบคุมว่ากินสม่ำเสมอแค่ไหน กิน ๆ หยุด ๆ ก็ถือว่ากิน หรือในฐานข้อมูลที่แสดงมีการจำแนกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ แต่ไม่ได้แยกว่าสูบมากสูบน้อย เพราะมันมีผลกับการเกิดมะเร็ง
พิธีกร : อันนี้ผมงงครับ ลุงหมอช่วยขยายความนิดนึง
ลุงหมอ : อย่างที่เขาแสดง เขาบอกว่าทั้งสองกลุ่มมีผู้ที่รายงานว่าสูบบุหรี่พอ ๆ กัน เมื่อตอนเริ่มต้นการศึกษา แต่เราไม่ได้ควบคุมว่าเขาต้องสูบไปตลอดการศึกษา เกิดคนที่สูบตอนแรกแล้วเลิกไปพบมากในคนที่กินยา ARB แบบนี้ ARB ก็อาจจะเกิดมะเร็งน้อยกว่าไง หรือ คนที่สูบบุหรี่นั้น ในกลุ่ม ACEI เป็นคนที่สูบจัดสูบนาน โอกาสที่คนกิน ACEI จะเป็นมะเร็งก็สูงขึ้น
พิธีกร : โอ้โห แบบนี้ตัวแปรปรวนก็มากสิครับ จะเชื่อได้หรือครับ
ลุงหมอ : ก็เป็นข้อจำกัดของการศึกษาแบบนี้ครับ แต่ผู้ทำเขาก็พยายามแยกมาให้แล้วล่ะว่า ถ้าแบ่งกลุ่มย่อย ๆ ต่าง ๆ ผลจะเปลี่ยนไหม แนวโน้มคือ พยายามคิดแยกตัวแปรปรวนออกมา ผลรวมก็ยังเหมือนเดิมคือ พบมะเร็งปอดในกลุ่ม ACEI มากกว่า
พิธีกร : ทำไมหรือครับ ทำไมยาสองตัวนี้มันถึงต่างกัน
ลุงหมอ : เจ้า ACEI มันทำให้มีโปรตีน bradykinin และ substance P เพิ่มขึ้นในปอด และเราพบว่าไอ้เจ้าสารสองตัวนี้มันส่งผลต่อการเจริญของเซลล์ในปอด มีมากเกินอาจทำให้เป็นมะเร็ง เคยมีการศึกษาก่อนหน้านี้เป็นสิบปีนะ ผลการศึกษากระจัดกระจายต่างกันออกไป บางอันออกแบบดีแต่ติดตามแค่สามปี ไม่ทันเห็นมะเร็ง บางทีก็ไปศึกษามะเร็งชนิดอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งปอด
พิธีกร : อ๋อ เลยเป็นที่มาของการศึกษานี้
ลุงหมอ : ใช่แล้วครับ การศึกษานี้รวบรวมขนาดใหญ่เกือบแสนคน ด้วยระยะเวลาติดตามมากถึง 10 ปีขึ้นไปเลย ผลการศึกษาออกมาน่าเชื่อดี ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอย่างที่เราคุยกัน แต่ก็เป็นฐานข้อมูลที่ดี อนาคตอาจจะมีการทดลองที่รัดกุมกว่านี้ ควบคุมมากกว่านี้มาให้คำตอบ
อีกอย่างเจ้า bradykinin เนี่ยมันทำให้ไอ เป็นผลข้างเคียงสำคัญของ ACEI ผู้วิจัยเขายังคิดว่า ก็เพราะมันมีผลทำให้ไอหรือเปล่า คนไข้จึงตื่นตัวเข้ามาตรวจและพบมะเร็งมากกว่าอีกกลุ่ม
พิธีกร : หมายความว่าตอนนี้เรายังใช้ ACEI ได้ใช่ไหมครับ
ลุงหมอ : ใช้ได้ครับ ยังไม่ถึงขั้นเลิกใช้เพราะข้อมูลยังไม่หนักแน่นพอ อีกอย่าง ยา ACEI ในการศึกษานี้ส่วนมากคือ ramipril, lisinopril และ perindopril แต่ในบ้านเราส่วนมากคือ enalapril ส่วนกลุ่มใหม่ ๆ ที่ใช้รักษาโรคหัวใจอย่าง sacubitril ที่ทำการศึกษาเทียบกับ enalapril ก็ยังไม่มีข้อมูลนะ ยา ACEI ยังเป็นยาที่ดี ราคาไม่แพง อยู่ในบัญชียาหลัก ถ้ามีผลข้างเคียงค่อยไปใช้ยา ARB แทนก็ได้ครับ
พิธีกร : ข่าวลงเสียน่ากลัวเลย แสดงว่าต้องมาอ่านรายละเอียดจึงได้ข้อเท็จจริงใช่ไหมครับ
ลุงหมอ : ใช่ครับ ข่าวคือขายข่าว โซเชียลต้องดึงใจคน ยุคนี้เร็ว ถ้าอะไรไม่ดึงดูดใจ นิ้วเลื่อนปรื้ดหรือกดรีโมทเปลี่ยนช่องเลย ส่วนข้อเท็จจริงต้องมาอ่านรายละเอียดและพิจารณาอย่างมีสติ
พิธีกร : ก่อนจบรายการ ลุงหมออยากฝากอะไรไหมครับ เห็นว่าไม่เคยออกรายการทีวีมาก่อน เป็นการเปิดเผยโฉมหน้าครั้งแรก
ลุงหมอ : คือเบื่อน่ะครับ ไปไหนคนจะทักว่า ติ๊ก เจษฎาภรณ์ตลอด ...ก็ดูที่หูนะครับ ติ่งหูผมจะสั้นกว่านิดนึง จะได้ไม่ทักผิดคน สุดท้ายนี้ก็ขอให้ลิเวอร์พูล ได้แช...
พิธีกร ..ตัดบทด้วยความหงุดหงิด : เรื่องข่าวสิลุงหมอ
ลุงหมอ : อ่อ..แหะ ๆ เผลอไป ก็เวลาฟังข่าวอะไร ช่องทางใด ให้มาคิดทบทวนก่อนเชื่อนะครับ ยุคนี้ข่าวสารมาก ต้องกรองให้ดี กรองแล้วต้องมากลั่นอีกด้วย
พิธีกร : วันนี้ต้องขอขอบคุณลุงหมอมากนะครับ ที่มาให้ความกระจ่างกับพวกเรา ไม่ให้เชื่อข่าวทันทีที่เห็นครับ แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าครับ สวัสดี ..อ้าว..ลุงหมอไปไหน
ทีมงาน ...ตะโกนบอก เมื่อกี้น้องมิวเดินผ่านมา แกวิ่งตามไปโน่นแล้วล่ะพี่
ที่มาการศึกษาที่เป็นต้นกำเนิดข่าว อ่านฟรี โหลดฟรี
Hicks Blánaid M, Filion Kristian B, Yin Hui, Sakr Lama, UdellJacob A, Azoulay Laurent et al. Angiotensin converting enzyme inhibitors and risk of lung cancer: population based cohort study BMJ 2018; 363 :k4209
https://www.bmj.com/content/363/bmj.k4209

26 ตุลาคม 2561

เราไม่จำเป็นต้องให้ออกซิเจนกับคนไข้ทุกคน

เราไม่จำเป็นต้องให้ออกซิเจนกับคนไข้ทุกคน
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทราบ บางครั้งเราเห็นว่าคนไข้เข้ามาในโรงพยาบาลจะได้รับการใส่สายออกซิเจน หรือเวลาคนไข้เหนื่อยก็มักจะเข้าใจว่าออกซิเจนทำให้หายเหนื่อย แต่ความจริงมันไม่เป็นแบบนั้นเลย
ในช่วงสองถึงสามปีมานี้ มีหลายการศึกษาทางการแพทย์ที่เป็นแบบการทดลองเลยนะครับ ว่าการให้ออกซิเจนในโรคต่าง ๆ ในระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนที่ระดับต่าง ๆ มีผลต่ออัตราการเสียชีวิตอย่างไร ผลการรักษาอย่างไร การศึกษาที่ทำออกมามาก ๆ คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน โรคระบบทางเดินหายใจกำเริบเฉียบพลัน การศึกษาวิจัยแต่ละฉบับอ่านยาก ต้องอาศัยความรู้เรื่องสถิติมาก แต่....วารสารนี้ที่ตีพิมพ์ใน British Medical Journal ได้สรุปคำแนะนำการให้ออกซิเจนมาเป็นแบบอินโฟกราฟฟิก สีพาสเทลสวย ๆ ที่สำคัญอ่านฟรีด้วย ใครที่สนใจผมทำอ้างอิงและลิงก์มาให้ด้านล่างแล้ว เป็นมิติใหม่ของวารสารการแพทย์เลย
และขอสรุปคร่าว ๆ ว่า
ในการเจ็บป่วยเฉียบพลันทั่ว ๆ ไป ไม่มีหลักฐานว่าการให้ออกซิเจนจนความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้วเกิน 97% จะเกิดประโยชน์ (ในกรณีมีความจำเป็นต้องได้ออกซิเจน) และมีหลักฐานว่าทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มด้วย
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ถ้าความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้วเกิน 92% การให้ออกซิเจนไม่เกิดประโยชน์และมีโอกาสเพิ่มอัตราการเสียชีวิต (ตัวเลขจะวิ่งอยู่ที่ 90-92%)
บางภาวะยิ่งต้องระวังเช่น ถุงลมโป่งพอง หรือภาวะหายใจล้มเหลวจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง ยิ่งให้ออกซิเจนมากยิ่งเป็นผลเสีย แต่บางภาวะเช่นลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดหรือพิษจากแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ จะต้องใช้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง ตั้งเป้าความอิ่มตัวที่ระดับ 100%
สิ่งที่ต้องคำนึงด้วยเช่น การใส่สายออกซิเจนก็จำกัดการเคลื่อนที่ เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ เพิ่มโอกาสเกิดเลือดกำเดาไหล และมีค่าใช้จ่ายที่เกิด (โดยไม่จำเป็น) นอกจากนี้การให้ออกซิเจนจะต้องมีการติดตามผลจากการให้ออกซิเจน ว่าให้เพราะอะไร จะเลือกขนาดการรักษาเท่าไร ตอนนี้ได้เป้าหมายหรือยัง ต้องปรับแต่งอย่างไร สมควรหยุดหรือยัง มีผลข้างเคียงเกิดหรือยัง
ไม่ใช่ให้แล้วให้เลย รักษาใจหมอ เพิ่มความอุ่นใจให้ผู้ป่วยและญาติ แต่ว่าจริง ๆ อาจไม่มีประโยชน์และเกิดโทษด้วยซ้ำ ออกซิเจนเป็นหนึ่งในการรักษาที่ "ไม่สมเหตุสมผล" มากที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์การรักษา จนมาถึงปัจจุบันและอาจจะผิดพลาดต่อไปอีกหากเราไม่ทบทวนแก้ไข
ให้ออกซิเจนเมื่อต้องให้ ถ้าจะใช้ทบทวนก่อน
ออกซิเจนไม่ใช่โดราเอมอน คิดให้ดีก่อนจะให้กับใคร
ที่มา...แนะนำอย่างแรงให้อ่าน บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับอ่านได้ และฟรี
Siemieniuk Reed A C, Chu Derek K, Kim Lisa Ha-Yeon, Güell-RousMaria-Rosa, Alhazzani Waleed, Soccal Paola M et al. Oxygen therapy for acutely ill medical patients: a clinical practice guideline BMJ 2018; 363 :k4169
https://www.bmj.com/content/363/bmj.k4169…

25 ตุลาคม 2561

การลดการบริโภคโซเดียมในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

สรุปย่อที่น่าสนใจจากบทความเรื่อง การลดการบริโภคโซเดียมในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ของ อ.จริยา บุญภัทรรักษา นักวิชาการโภชนาการจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ลงตีพิมพ์ในวารสารโภชนบำบัด ปีที่ 25 ฉบับที่หนึ่ง ม.ค.-เม.ย. 2560
อาจารย์เขียนเรื่องการลดเค็มในอาหารไว้ดีมาก ผมขอนำมาสรุปง่าย ๆ ให้ท่านได้ฟังสิบข้อสั้น ๆ เหมือนเดิม
1. ปรกติแล้วตามธรรมชาตินั้นร่างกายควบคุมเกลือได้ แต่หากป่วยเช่นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดัน ประสิทธิภาพการควบคุมเกลือจะลดลง หากบริโภคเกลือมากร่างกายจะกำจัดส่วนเกินไม่ไหว สมดุลน้ำและเกลือจะผิดปกติ ทำให้น้ำและเกลือเกิน
2. เกลือแกง ไม่ใช่ โซเดียม เกลือแกงมีโซเดียม 40% อาหารอื่น ๆ ก็มีโซเดียม ร่างกายใช้โซเดียมในการปรับสมดุลน้ำและเกลือ โซเดียมจึงสำคัญ
3. แต่ละวันความต้องการโซเดียมคือ 2.4 กรัมต่อวัน เท่ากับเกลือแกงแค่ 1.5 ช้อนชาเท่านั้น !! ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคความดันไม่ควรกินโซเดียมเกิน 2 กรัมต่อวัน ก็น้อยกว่าหนึ่งช้อนชาต่อวัน
4. แต่ทว่าในอาหารแต่ละอย่างก็มีโซเดียมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าว ถั่ว เนื้อสัตว์ ผลไม้ แม้กระทั่งน้ำดื่ม ก็ไม่ได้มากนักแต่ก็พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย ถ้าเรายิ่งเติมโซเดียม เติมเกลือแกงลงไปในอาหารอีก มันก็จะเกิน
5. เกลือแกงที่มองเห็นง่าย ก็เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอส น้ำจิ้ม ผงชูรส ซุปก้อน เราก็ควรลดการปรุง ปรุงให้น้อย ซดซุปน้อยลง ถ้าทำอาหารเองก็อย่าเติมมาก
6. เกลือแกงที่มองไม่เห็น เช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมถุง ขนมที่มีการเติมผงฟู ในคนที่ต้องจำกัดเค็มก็ต้องหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ และยังมีน้ำแร่ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ของนักกีฬา ชีส ที่มีโซเดียมสูง
7. อาหารจานเดียวก็มีโซเดียมสูง เช่น ข้าวกะเพราไก่มีโซเดียม 972 มิลลิกรัมต่อจาน เส้นใหญ่เย็นตาโฟมีโซเดียม 1,076 มิลลิกรัมต่อชาม เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วมีโซเดียม 2,589 มิลลิกรัมต่อจาน ส้มตำไทยมีโซเดียม 2,190 มิลลิกรัมต่อจาน ควรลดอาหารเหล่านี้ลง
8. อาหารไทยปรกติที่ไม่ปรุงเพิ่ม จะมีโซเดียมอยู่แล้วประมาณ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้นยิ่งเราปรุงเพิ่ม โซเดียมยิ่งเพิ่ม ยิ่งกินอาหารแปรรูป โซเดียมยิ่งมาก
9. สามารถใช้รสชาติอื่น ๆ ชูรสได้เช่น เปรี้ยว เผ็ด ใส่พืขสมุนไพรเครื่องเทศทดแทนได้ หรือควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อ แนะนำอาหารที่มีโซเดียมน้อยกว่า 120 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (เพราะเรากินหลายหน่วยบริโภค)
10. เมื่อเราลดเค็มไปสักระยะ ร่างกายจะชิน กินจืดได้ อาจจะทรมานในช่วงการปรับตัวช่วงแรกเท่านั้น สามารถลดการนอนโรงพยาบาล ลดบวม ลดความดันโลหิตและคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ลดเกลือ ลดเค็ม ทนไม่นานก็คุ้น
กินเค็มมาก เป็นทุน ชีวิตเฉา
แต่ถ้าลด กิจกรรม ของสองเรา
ทนไม่ไหว หมองเศร้า เน่า...คาเตียง

hemolacria คือ น้ำตาสีเลือด

ภาพจากวารสาร NEJM แสดงภาพชายคนหนึ่ง มีอาการเลือดออกจากลูกตา ไม่เจ็บไม่ปวด ออกเอง เขามีแค่โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง
เรียกอาการนี้ว่า hemolacria คือ น้ำตาสีเลือด ...ชื่อภาษาไทยนี่ผมตั้งเอง อย่างกับซีรี่ส์เกาหลี
จากภาพถามว่าภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใด ...คำตอบคือ ไม่ได้เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ
ภาวะนี้พบยากมาก ในผู้ป่วยรายนี้ตรวจแล้วเกิดจากเนื้องอกของหลอดเลือดฝอย hemangioma ที่ลูกตา บางโอกาสก้อนเนื้องอกนี้เกิดแตกออกเลือดจึงไหลปะปนกับน้ำตา
ภาวะอื่นที่พบได้อีกเช่น การติดเชื้อ การบาดเจ็บ และเลือดกำเดาออกย้อนทางท่อน้ำตา (มันมีท่อให้น้ำตาไหลลงจมูก ทำให้เวลาร้องไห้ท่านสะอื้นลงจมูก)
นี่เอง..ร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด อะเฮื้อ

24 ตุลาคม 2561

กล้วย

อายุรศาสตร์แหนมเนือง เมื่อพบกล้วยดิบบนจานเครื่องแหนม

มีหลายคนบอกว่าท้องผูกให้กินกล้วย อีกหลายคนบอกว่าลดอาการท้องเสีย ตกลงเป็นอย่างไร

กล้วยเป็นผลไม้ยอดนิยม ปลูกง่าย คุณค่าทางอาหารสูงและราคาไม่แพง เป็นที่มาของสำนวนมากมาย เช่น ปอกกล้วยเข้าปาก (กรุณาอย่าจินตนาการมากไป)
  กล้วย เป็นแหล่งอาหารเส้นใยที่สำคัญ เพราะกล้วยขนาดกลาง ๆ ยาวประมาณ 7 นิ้ว จะมีเส้นใยราว 4 กรัม แต่ถ้ากล้วยที่ยาวและใหญ่เช่น 9 นิ้วอาจมีเส้นใยสูงถึง 7 กรัม เราต้องการเส้นใยอาหารประมาณ 25-30 กรัมต่อวัน คุณกินกล้วยใหญ่ ๆ ลูกหนึ่งก็ได้ไปหนึ่งในสามแล้ว

   เส้นใยอาหารเราแบ่งเป็นสองชนิดคือเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำ ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างให้อุจจาระเป็นก้อน มีเนื้อมีมวล ลำไส้บีบได้ง่าย และเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ ส่วนเส้นใยที่ละลายน้ำจะช่วยปรับสมดุลในการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน  กล้วยมีเส้นใยทั้งสองชนิดมีเส้นใยไม่ละลายน้ำมากกว่าในสัดส่วนสองในสาม ดูน่าจะเป็นผลดีช่วยลดอาการท้องผูกมากกว่า แต่มันก็ไม่จริงอย่างนั้นทั้งหมด
  อย่าลืมว่าในอาหารหนึ่งอย่างก็มีสารอาหารมากกว่าหนึ่งชนิด ที่อาจส่งผลขัดกันได้เช่นกล้วย ในกล้วยไม่สุก (แต่มีมันก็ไม่ดิบนะ) จะมีสัดส่วนของแป้งสูงมาก แป้งนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและเส้นใยละลายน้ำเมื่อกล้วยสุก เจ้าแป้งปริมาณมากนี้เองที่ทำให้ท้องผูก

  แป้งปริมาณมากร่วมกับ "เพคติน" ที่มีมากในกล้วยดิบ จะสามารถอุ้มน้ำและก่อร่างสร้างอุนจิให้ก้อนใหญ่ขึ้น แต่ว่าจะแข็งไม่นุ่ม (หากปริมาณน้ำไม่พอ) เคลื่อนที่ยาก นั่นคือถ่ายยาก ลำไส้ต้องบีบตัวมาก ช่วยชะลออาการท้องเสียไปจนถึงอาจทำให้ท้องผูกอ่อน ๆ ด้วย
  สมุนไพรกล้วยดิบจึงใช้ในการรักษาอาการถ่ายเหลวนั่นเอง  แต่ถ้าเราดื่มน้ำมาก ๆ ก็อาจจะทำให้ถ่ายเป็นก้อนและอ่อนนุ่มก็ได้นะครับ (อันนี้คิดเองเพราะผมค้นไม่เจอสูตรกินกล้วยดิบแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ)

   ในทางตรงข้าม กล้วยก็มีสารที่เป็น พรีไบโอติก คือ สารอาหารให้แบคทีเรียในลำไส้มาก ทำให้ถ่ายอุจจาระได้ดี รวมถึงเมื่อกล้วยเริ่มสุก แป้งในผลกล้วยจะลดลงแปรสภาพเป็นน้ำตาล สมบัติการทำให้ท้องผูกอ่อน ๆ จะลดลง ช่วยเป็นยาที่ทำให้อุจจาระคุณภาพดี (ไม่อยากใช้คำว่ายาระบาย เพราะยาระบายมันใช้เพื่อรักษาอาการท้องผูก)  และในกล้วยมีกรดอะมิโนทริปโตแฟน ที่เชื่อกันว่าทำให้นอนหลับสบาย หลักฐานมันไม่ชัดเจนขนาดเป็นเหตุเป็นผลกัน แค่น่าจะทำให้หลับสบายตามกลไกทางชีวเคมี  ตื่นเช้ามาก็ถ่ายคล่อง เริ่มต้นเช้าวันใหม่อย่างโล่งท้อง

  สรุปว่ากล้วยนั้น มีทั้งข้อดีในการลดท้องเสียและข้อดีในการลดท้องผูก สรุปว่าช่วยปรับสภาพในลำไส้ให้ขับถ่ายเป็นปรกติ สุขอนามัยการขับถ่ายและลำไส้ดีขึ้นมากกว่าจะใช้เพื่อแก้ไขอาการอันใดอันหนึ่ง 

    แต่ว่าแต่ละคนจะตอบสนองกล้วยไม่เหมือนกัน บางคนไวต่อกล้วย แค่กินกล้วยดิบแข็ง ๆ ไม่เท่าไรก็รักษาอาการท้องเสียได้ หรือบางคนกินกล้วยดิบเป็นหวีก็ไม่หาย ในทางตรงข้ามก็เช่นกันบางคนอัดกล้วยสุกอ่อนปวกเปียกเป็นหวีก็ไม่ได้ถ่ายคล่องขึ้น แถมได้น้ำตาลปริมาณมากเข้าไปอ้วนอีก และอย่าลืมว่ากล้วยสุกเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีแร่ธาตุโปตัสเซียมสูง หากผู้ป่วยไตเสื่อมกินมาก ๆ อาจมีปัญหาเกลือแร่โปตัสเซียมในเลือดสูงได้ ต้องระมัดระวังในผู้ป่วยไตเสื่อมด้วยนะครับ

  นั่งกินแหนมเนืองก็คิดเวิ่นเว้อได้เรื่อยเปื่อย...แถมคิดกลอนได้อีกต่างหาก

   เลือกกล้วยดี อุนจีไร้ทุกข์
   เลือกกล้วยสุก  ลื่นปรื้ดแจ่มใส
   เลือกกล้วยดิบ ท้องเสียหายไป
   เลือกกล้วยใหญ่ ๆ อิ่มไวนอนฝันดี

บทความที่ได้รับความนิยม