14 ตุลาคม 2561

คุณคิดว่า "เงิน" มีผลต่อการรักษาไหม

คุณคิดว่า "เงิน" มีผลต่อการรักษาไหม

  ในโลกยุคปัจจุบัน เมื่อวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า ความรู้มากมายมหาศาล มีแนวทางการรักษาที่ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระดับดี ๆ มุ่งผลไปที่การลดความตายก่อนเวลาอันควร ลดภาวะแทรกซ้อนและความพิการ ไปจนถึงป้องกันก่อนเกิดโรค กว่าจะออกมาเป็นแนวทางคำแนะนำการรักษาต้องใช้การศึกษามากมาย

  ยาและการรักษาได้ถูกออกแบบและทดสอบอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและผลเสียน้อยที่สุด หยิบยื่นให้มวลมนุษยชาติได้มีชีวิตที่ดี แน่นอนมันก็มากับต้นทุนการวิจัยและพัฒนา มองเห็นได้ชัดกับราคายามหาศาล
  เพราะเราพูดถึงแต่ประโยชน์ทางโรคของคนไข้เป็นหลัก ไม่ได้พูดถึงตัวเงินเป็นหลัก ทำให้ยาบางอย่าง การรักษาบางอย่างมีประโยชน์สูงและแพงมาก เมื่อแพงมากคนก็เข้าถึงได้ยาก  ใครก็อยากได้ของดีแต่ไม่ใข่ทุกคนที่จ่ายได้

  ตัวอย่างแนวทางการรักษาโรคเบาหวานฉบับล่าสุดที่เป็นข้อตกลงร่วมของยุโรปและอเมริกา เพิ่มออกมาประมาณสามสัปดาห์ก่อน เราใช้ยา metformin เป็นยาลำดับแรกเพราะประสิทธิภาพสูงและราคาถูกมาก แต่หากน้ำตาลสูงมากหรือใช้ metformin ไม่ได้ผลตามที่คาด เราจะใส่ยาตัวที่สอง
  ยาตัวที่สองนี้ จะได้รับการพิจารณาตามความเสี่ยงโรคหลอดเลือด ตามความเสี่ยงโรคไตและหัวใจวาย (จำได้ไหม การรักษาจะออกแบบตามความเสี่ยงรายบุคคล) ตามความเสี่ยงการเกิดน้ำตาลต่ำ ว่าจะเลือกใช้ยาประเภทใด ปัญหาคือ ยาที่แนะนำตามหลักฐานที่ดี ราคาสูงมากทั้งสิ้น

   แนวทางนี้ได้เพิ่มข้อแนะนำอันหนึ่งขึ้นมา ที่พูดถึงประเด็นเรื่องเงิน คือหากต้องเริ่มยาตัวที่สองและมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เราจะใช้ยาตัวใด นี่เป็นครั้งแรก ๆ ของแนวทางที่ยกปัญหานี้ขึ้นมาเลย (แสดงว่ายามันแพงจริงนะเนี่ย)
  ตัวอย่างโรคเบาหวาน เขาแนะนำให้ใช้ยากลุ่ม sulfonylurea ได้แก่ glipizide, gliclazide, glimepiride หรือยากลุ่ม thiazolodinedione คือยา pioglitazone

  แม้ว่าจะมีข้อมูลออกมาว่ายา pioglitazone อาจจะไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจวาย และยา sulfonylurea จะมีโอกาสเกิดน้ำตาลต่ำมากขึ้น (เป็นรองแค่อินซูลิน) และโอกาสเกิดโรคหัวใจมากกว่าตัวอื่น ๆ ในยุคใหม่ที่แพง ๆ
  แต่ด้วยประสิทธิภาพการลดน้ำตาลที่ดี ลดผลข้างเคียงต่อหลอดเลือดได้ บวกลบคูณหารแล้วก็ยังแนะนำให้ใช้ได้ ถึงแม้ไม่ได้ดีมากแต่ก็ไม่แย่นะ ราคายาต่างกันหลายสิบเท่า ถ้าเราต้องจ่ายยาเบาหวานไปนาน ๆ ตลอดชีวิตลองคำนวณผลต่าง อาจจะเห็นชัดกว่ารายเม็ดรายเดือน

  ยาที่แพง อาจจะได้ประโยชน์มากกว่าไม่ต้องเสียค่ารักษาแพง ๆ เวลารักษาโรคหัวใจ โรคไต แต่เงินปัจจุบันที่ต้องจ่ายก็เป็นก้อนโตเหมือนกัน

  แนวทางนี้สอนให้เราได้รู้ว่า เวลาเลือกใช้ยา ไม่ได้มีแต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เราต้องใส่ใจ ยังมีข้อมูลของรายได้ ภาระการใช้จ่าย ความเสี่ยงที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง หมดยุคเห็นหน้าจ่ายยาเหมือนกันแล้ว การรักษาต้องละเอียด ผสมผสานศาสตร์แห่งวิชาและศิลปะในการเลือกศาสตร์ให้เหมาะสม ออกแบบกับคนไข้แต่ละคน

  เป็นอีกแนวทางที่น่าอ่านเพราะมีประเด็นที่ต้องคิดมากกว่าเรื่องวิทยาศาสตร์
 "เรารักษาคน ไม่ได้รักษาโรค"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม