03 ตุลาคม 2561

การตรวจม้าม

คุณเคยโดนล้วงและถูกคลำ อวัยวะที่ซ่อนเร้นหรือไม่

  ม้าม หนึ่งในอวัยวะที่คลำยาก แอบซ่อนตัวในซอกหลืบของซี่โครง โดยปกติแม้เราพยายามจะล้วงจะคลำก็ไม่ได้ง่ายนัก แต่ถ้าม้ามนั้น "ใหญ่" และ "ยาว" พอ เราจะคลำได้ วันนี้เรามารู้วิธีตรวจม้ามกัน

  คุณหมอจะให้คุณนอนหงาย เปิดเสื้อผ้าเผยให้เห็นพื้นที่ช่องท้อง ตามมาตรฐานจะต้องเผยตั้งแต่ใต้ราวนมลงมาถึงหน้าขา แต่คุณหมอจะไม่เปิดพร้อมกัน จะเลือกเปิดเป็นส่วน ๆ ที่จะตรวจไล่ไป ส่วนที่เหลือใช้ผ้าคลุมเอาไว้คุณจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจและไม่หนาวครับ
   การดูด้วยสายตาจะมองยากว่าโตหรือไม่ ยกเว้นว่าโตมาก ๆ จะดันผนังหน้าท้องขึ้นมา ต่อมาคุณหมอจะคลำม้าม ให้คุณนอนหงายอย่างเดิม คุณหมอจะใช้มือซ้ายโกยชายโครงด้านซ้ายของคุณ เข้าหาตัวคุณหมอแล้วใช้มือขวาค่อย ๆ คลำโดยใช้ด้านข้างของนิ้วชี้รับสัมผัสเนื้อม้าม จะเริ่มคลำตั้งแต่ขาหนีบ ...ทำไมล่ะ... เพราะถ้าม้ามโตมาก ๆ การเริ่มคลำตรงเอว คุณหมออาจจะคลำอยู่ "บน" ม้ามและไม่สามารถสัมผัสของเนื้อม้ามได้ จะพาลเข้าใจว่า ม้ามไม่โต  และจะคลำเฉียงไปทางรักแร้ซ้ายจนกว่าจะพบม้าม

  หากคลำไม่พบ อาจจะไม่โตหรือคลำยาก คุณหมอจะทำการตรวจต่อไป เพราะอะไร เพราะการคลำมีความไวในการตรวจแค่ 60-70% เท่านั้น การตรวจที่มีความไวมากขึ้นคือการเคาะ การเคาะมีทั้งสิ้นสามวิธี เพิ่มความไวในการวินิจฉัยม้ามโตขึ้นไปถึง 80% คุณหมอจะให้คุณตรวจได้สองท่า
  ท่าแรกนอนหงายแล้วใช้นิ้วเคาะบริเวณชายโครงซ้าย (Castell's Method and Percussion of Traube's space) หากม้ามโตจะเคาะได้เสียงทึบมาถึงช่องระหว่างซี่โครงช่องล่าง ๆ เลยทีเดียว  ท่าที่สองจะใช้การนอนตะแคงด้านขวาลงพื้น แล้วเคาะจากแนวกลางตัวมากด้านหน้า (Nixon's Method) สามารถเคาะหาขนาดและขอบเขตของม้ามเพื่อพิจารณาว่าม้ามโตหรือไม่

   การคลำและการเคาะจะมีความจำเพาะสูงมาก ระดับ 90% เลยทีเดียว นั่นคือหากตรวจพบว่าโตจริงจากการเคาะและคลำ ก็คือโตจริง ๆนั่นเอง 

   ปกติการตรวจม้ามก็ทำเป็นปรกติของการตรวจร่างกายทางช่องท้องอยู่แล้ว หากคุณหมอคิดว่าโรคที่น่าจะเป็นจากการถามประวัติจะมีม้ามโต คุณหมอก็จะใส่ใจการตรวจม้ามมากขึ้นครับ 

   อีกหนึ่งวิธีมาตรฐานที่สามารถให้ข้อมูลช่วยการวินิจฉัย และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ ณ ปัจจุบัน ส่วนตัวผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่ AI หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่มีวันจะมาทดแทนได้ คือ ศิลปะการตรวจร่างกายครับ

   แถม....โรคที่ม้ามโตมาก ๆ บางทีโตมากกว่าครึ่งของช่องท้องเลย ได้แก่ โรคเนืองอกเม็ดเลือดเรื้อรัง (myeloproliferative neoplasia), โรคติดเชื้อพยาธิในเลือด (Leischmaniasis), โรคมาเลเรีย, โรคทาลัสซีเมีย, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ม้าม จัดเป็นอวัยวะน้ำเหลืองนะครับ), โรค Gaucher
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม