เมื่อคนไข้มีข้อมูลเท่ากับเรา
ผมมาเล่าเรื่องให้ฟังนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแต่ผมปิดชื่อและเขียนคำสนทนาให้ง่าย เพราะคนไข้เป็นชาวต่างประเทศ
มีคนไข้มาขอรับคำปรึกษารายหนึ่ง เป็นหนุ่มใหญ่อายุ 58 ปี ชาวอเมริกัน เขามาอยู่เมืองไทยหลังจากลาออกจากราชการทหาร แต่งงานกับสาวไทยมาทำไร่ที่บ้านเรา เขาบอกว่าเพื่อนของเขาเคยมารักษากับผม จึงแนะนำมา
คนไข้แข็งแรงดี เป็นอดีตนายทหารสหรัฐในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ดูแลตัวเองดี เล่นเวท ออกกำลัง กินอาหารสุขภาพกว่าผมหลายเท่า มาพร้อมผลเลือดที่ไปตรวจมา ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด การทำงานของไต คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
เขามาถามว่า เขาไปตรวจเลือดมาพบระดับไขมันในเลือดสูง และเกือบเป็นเบาหวาน เขาต้องกินยาไหม และปฏิบัติตัวอย่างไร ... ปกติ ผมมักจะถามกลับว่า เหตุใดจึงไปตรวจเลือดล่ะ กินยาหรือป่วยอยู่ไหม เข้าใจนะครับว่าการป้องกันก่อนเกิดโรคและการรักษาหลังเกิดโรคไม่เหมือนกัน
เขายิ้มและบอกว่า ไม่ต้องตกใจ พ่อและพี่ชายเขาเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ พ่อเขาเสียชีวิตที่อเมริกา เขาอ่านหนังสือและพบว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม จึงตัดสินใจตรวจ ผมก็แอบถามนะว่าหนังสืออะไร ... เฮ้ย ควักคินเดิลมาเปิดให้ดูเลย "the cholesterol myth" คิดในใจ อย่างนี้ต้องอ่าน หนังสือไรฟะ ขับเคลื่อนให้มาตรวจได้เลย
โอเค...ผมก็ซักประวัติและตรวจร่างกาย เอาผลเลือดที่เขาให้มานั้น กดคำนวณ ASCVD risk ซึ่งไม่ได้ใช้นานแล้ว เพราะส่วนใหญ่ใช้แต่ Thai CV risk ก็รักษาแต่คนไทยเนอะ ชาวต่างชาติที่มารักษาทั้งหมดก็เป็นโรคแล้ว ไม่ต้องคำนวณให้เมื่อยตุ้ม
ผมก็ให้คำแนะนำว่าเขาจะมีประโยชน์จากการกินยา statin ด้วยตัวเลขความเสี่ยงที่เกิน 7.5% เขาพยักหน้าและบอกว่าเขาคำนวณมาก่อนหน้านี้แล้ว ..เฮ้ย !!!
ขอถามต่ออีกนิด เราก็บอกว่าคุณเก่งมากเลย ตามข่าวทางการแพทย์ตลอด เขาบอกว่าเขาดู CNN และอ่าน USA today สำนักข่าวพวกนี้รายงานเรื่องทางการแพทย์และข้อสรุปทางการแพทย์บ่อย ๆ และไปค้นต่อในเว็บไซต์ heart.org !!! แถมโชว์แอปคำนวณ ASCVD ที่เป็นค่าของเขามาให้ดูด้วย ตรงกันเป๊ะ
ครับ..นั่นคือเว็บไซต์ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกาครับ ที่ออกไกด์ไลน์ให้หมอ ๆ ท่องกันหัวบวมนี่แหละ แต่หน้าเว็บนี้เป็นความรู้สำหรับประชาชน ..อื้อหือ ความระวังตัวของผมเพิ่มขึ้น 10 เท่า
และเขายังอ่านเจอด้วยว่า ยา statin เพิ่มการเกิดเบาหวาน !! แล้วตกลงเขาต้องกินไหม กินนานแค่ไหน แล้วยา statin ที่นี่แพงไหมเพราะเขาต้องจ่ายเอง มีกี่ตัว แต่ละตัวต่างกันมากไหม ... เขาถามสุภาพมากนะครับ ยิ้มแย้ม ไม่ได้คุกคาม ... แต่ผมนี่สิ เหมือนอยู่ต่อหน้ากรรมการคุมสอบ ใจสั่น เหงื่อซึม ภาษาก็ง่อยอยู่แล้ว แถมยังต้องตอบปัญหาแบบอธิบายให้เข้าใจ ไม่ใช่ "แจ้งให้ทราบแล้วบอกให้ทำ"
...ข้อดีของการรู้ภาษาแค่งู ๆ ปลา ๆ คือ เขาชมว่าผมอธิบายได้ง่ายดี ไม่ซับซ้อน อยากจะบอกว่า ไม่ได้ว่าอธิบายเก่งหรอก แต่รู้คำศัพท์กับพูดได้แค่นี้แหละ....
ลงท้ายด้วยการให้ยา statin อธิบายผลข้างเคียงและนัดมาดูว่า statin ที่ให้มันลด LDL ได้ไหม ก่อนออกไปต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ออกบัตรนัดว่า ระบุเน้น ๆ เลยนะ วันนัดมาตรวจเลือดไม่ต้องงดอาหาร เดี๋ยวผิดพลาด ผมจะต้องใช้ภาษามือทำงานอีก
เป็นไง เมื่อเทียบกับข่าวแชร์มั่ว ๆ ทางไลน์ ทางเฟส ของพวกเรา นั่นก็ยากนะ กว่าจะปรับความเข้าใจ แก้ไขความเชื่อที่อาจเป็นผลร้ายกับเขา
แต่นี่..ก็ไม่ง่ายเลยเช่นกัน
เป็นคุณ... คุณอยากเจอแบบไหนครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น