31 พฤษภาคม 2565

สรุปเรื่องเลิกบุหรี่ในวันงดสูบบุหรี่โลก 2022 : Tobacco is Killing Us and Our Planet : การลดยาสูบช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

 สรุปเรื่องเลิกบุหรี่ในวันงดสูบบุหรี่โลก 2022 : Tobacco is Killing Us and Our Planet : การลดยาสูบช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

1.ความตั้งใจและพร้อมที่จะเลิกบุหรี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดและสำคัญเป็นอันดับแรกของการเลิกบุหรี่ หากใจไม่พร้อม ใจยังไม่อยากเลิก หรือถูกบังคับ โอกาสจะเลิกสำเร็จมีน้อยมากครับ

2.ปัจจุบันนี้เรามีความรู้และหนทางช่วยเหลือเพื่อเลิกบุหรี่มากมาย ถ้าเราไม่ทราบหรือสนใจ อาจลองอ่านหรือศึกษาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ หรือปรึกษาแพทย์ได้ ผู้ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ไม่ทราบวิธีเลิกและวิธีช่วยเลิกครับ

3.มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอยู่บ้าง ที่ว่าเลิกบุหรี่ทันทีอาจเสียชีวิต หรือเลิกบุหรี่จะทำให้แย่ลง ความจริงแล้ว การเลิกบุหรี่มีแต่เกิดประโยชน์และเกิดตั้งแต่วันแรกที่เลิก อาจต้องเจอการเปลี่ยนแปลงเช่น ไอและเสมหะมากขึ้นในช่วงแรก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หงุดหงิดจากการอดบุหรี่ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีวิธีช่วยเหลือครับ

4.นอกเหนือจากใจที่เข้มแข็ง คนสำคัญมากคือคนรอบตัวและครอบครัว หากครอบครัวให้การสนับสนุน เอาใจช่วย และช่วยดูแลกันตลอดกระบวนการเลิกบุหรี่ จะเพิ่มโอกาสสำเร็จมากขึ้น การเลิกบุหรี่จึงเป็นกิจกรรมครอบครัวที่เสริมสร้างแรงบวก น่าสนับสนุน และเป็นประโยชน์กับผู้สูบบุหรี่

5.กระบวนการเลิกบุหรี่จะเริ่มตั้งแต่ก่อนวันกำหนดเลิก มีการปรึกษาเพื่อเตรียมตัว การลดปริมาณสูบก่อนวันเลิก การเริ่มใช้ยาตั้งแต่ก่อนวันเลิก และเมื่อถึงวันเลิกเราจะไม่สูบอีกต่อไป การเตรียมตัวก่อนเลิกจะทำให้เรารับการอาการลงแดงบุหรี่ได้ดี ไม่กลับไปสูบซ้ำ

6.ยาอดบุหรี่ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดคือ varenicline (ใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ) ตอนนี้ทางบริษัทเก็บคืนไปเพื่อตรวจสอบ ขณะนี้ยังไม่จำหน่าย ผมโทรสอบถามว่าน่าจะประมาณหลังกลางปี ตอนนี้เราใช้ยา bupropion SR ไปก่อน (ระวังในโรคลมชัก) หรือใช้ยา nortriptyline ก็ได้ ทั้งหมดร่วมกับหมากฝรั่งนิโคติน (แผ่นแปะ เห็นว่าไม่นำเข้ามา) จะช่วยลดอาการอยากบุหรี่ ลดการสูบซ้ำ โอกาสเลิกสำเร็จสูงขึ้น

7.ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ออกมาช่วยเลิกบุหรี่เช่น ลูกอม L-cysteine ก็ใช้ได้ผล (มีใช้ในไทยแล้ว), ยา cytisine ที่ทำงานคล้าย varenicline น่าจะทำงานได้ดี (รอวิจัยเพิ่ม) ส่วนบุหรี่ไฟฟ้านั้น แม้จะมีผู้ใช้แล้วเลิกบุหรี่มวนจุดสูบได้จริง แต่หลายคนยังต้องใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่องและยังอาจเจอสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้า จึงยังไม่ถือเป็นการเลิกบุหรี่ในตอนนี้

8.เมื่อเลิกบุหรี่ได้แล้ว ยังคงต้องติดตาม ให้การดูแลและให้กำลังใจต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันบุหรี่ยังเข้าถึงง่าย ถึงแม้ราคาจะสูงขึ้นและถูกจำกัดพื้นที่การสูบ การกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำแม้เพียงมวนเดียวก็ทำให้การเลิกบุหรี่ที่ผ่านมา ต้องกลับไปทำใหม่

9.การกลับมาเลิกสูบอีกครั้ง ไม่ใช่สิ่งผิด เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่เลิกสูบได้ก็ผ่านการเลิกบุหรี่และไม่สำเร็จมาหลายครั้ง การกลับมาเริ่มกระบวนการเลิกบุหรี่อีกครั้ง ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการรักษาสุขภาพ และควรสนับสนุนเต็มที่ทุกครั้ง

10.อันตรายจากควันบุหรี่มือสอง (bystander smoker) มีจริงและน่าเป็นห่วงมาก เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้สูบ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัยที่มาสนับสนุนการเลิกบุหรี่ ที่ไม่ได้ดีเฉพาะตัวเอง ยังดีกับคนรอบข้างอีกด้วย

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "World Health Organization FCTC WHFRAMWORKCONVENTION POISONING OUR PLANET #TobaccoExposed Throughout its lifecycle. tobacco pollutes the planet and damages the health all people."

30 พฤษภาคม 2565

การวินิจฉัยและการรักษาโรคที่สาเหตุ

 จุกแน่นท้อง ไม่หายสักที กินยาหลายที่ก็แค่บรรเทา ... ปัญหาที่ไม่ใช่เพียงแค่การวินิจฉัยทางการแพทย์


ผู้ป่วยสุภาพสตรีอายุ 67 ปี นอนบนเตียงตรวจเพราะไม่ค่อยมีแรง นั่งยืนนาน ๆ ไม่ค่อยไหว มาตรวจเพราะอาการจุกแน่นแสบท้องเป็น ๆ หาย ๆ มาสามปี กินยามาหลายที่หลายขนาน ผมขอข้ามการซักประวัติและการตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยโรค dyspepsia หรือโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นทำงานผิดปกติ ตรวจและแยกโรคที่เป็นอาการเตือนทั้งหลายออกไปหมดแล้ว สรุปว่าเป็นโรคกระเพาะ

แต่ทำไมไม่หาย ?!?!?

มองดูผู้ป่วยผอม หน้าตาตึงเครียด ผู้ป่วยเบื่ออาหาร กินได้น้อย ไม่อยากเดินไปไหนมาไหนเพราะปวดหัวเข่าทั้งสองข้าง เมื่อดูและตรวจหัวเข่า ก็พบว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมที่รุนแรงพอสมควร กล้ามเนื้อรอบหัวเข่ามีขนาดเล็กและไม่แข็งแรง

ได้ความว่าปวดเข่ามานาน กินยาแก้ปวดมาหลายที่หลายขนาน ทั้งหมอจ่ายให้ ทั้งซื้อกินเอง เมื่อปวดไม่หายก็ไม่อยากเดิน นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บนเตียง ใช้ยานอนหลับบ่อย ๆ

อืม…ปวดท้อง ปวดเข่า มันก็เกี่ยวข้องกันได้นะ โดยเฉพาะสารพัดยาแก้ปวดเข่า ที่มีผลข้างเคียงระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรืออาจเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ถ้าใช้แต่ยาบรรเทาอาการปวดและอักเสบ (NSAIDs) ซึ่งเป็นปลายเหตุโดนไม่แก้ต้นเหตุ ทำให้ต้องใช้ยาตลอดและเกิดอันตรายจากการใช้ยามากขึ้น

ดังนั้นอาจต้องคุยและปรึกษา 'ต้นเหตุ' ที่ไม่ใช่อาการสำคัญ ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบหมอ

เอาล่ะถ้าปวดเข่าและมีอันตรายจากการใช้ยาขนาดนี้ การรักษาควรจะเป็นการผ่าตัดรักษาข้อเข่า เช่นการเปลี่ยนข้อเข่า จะได้แก้ไขปัญหาและลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดลง จะได้ไม่ต้องเจออาการปวดท้องจากยาแก้ปวด

หรือหากยังไม่พร้อมจะผ่าตัด (หรือหลังผ่าก็ตาม) การทำกายภาพบำบัด การเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบเข่า การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ก็เป็นการรักษาที่ตรงจุดอีกอันหนึ่ง เพราะ

…เมื่อทำกายภาพ… อาการปวดจะลดลง ใช้ยาแก้ปวดลดลง

…เมื่อทำกายภาพ… กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น การเคลื่อนที่และเดินทำได้มากขึ้น

…เมื่อทำกายภาพ…จะเหนื่อยและต้องการพลังงาน จะกินได้มากขึ้น ใส่สารอาหารได้มากขึ้น

…เมื่อทำกายภาพ…มีความเหนื่อยล้า ก็จะนอนหลับสบายขึ้น พักผ่อนได้ดีขึ้น

…เมื่อทำกายภาพและฝึกเดิน… จะทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น ลดภาวะพึ่งพา มีความสุขในการใช้ชีวิต ความตึงเครียดและเศร้าซึมจะลดลง

การรักษาผู้ป่วยรายนี้คงเป็นเรื่องของการทำกายภาพบำบัดและคุยปรึกษาเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เพื่อที่จะแก้ไขสาเหตุของปัญหาหลายประการ และต้องคุยร่วมกันกับผู้ดูแลเพื่อวางแผนการรักษาให้ตรงกัน ปรับให้เข้ากันมากที่สุด

การเลือกใช้ยาแก้ปวด ยารักษาอาการปวดจุกท้อง จึงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการรักษาที่อาจไม่ประสบความสำเร็จและเกิดวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากไม่แก้ไขต้นเหตุครับ

29 พฤษภาคม 2565

เมื่อลุงหมอเจอผู้แทนยา … คุยอะไรกัน

 เมื่อลุงหมอเจอผู้แทนยา … คุยอะไรกัน


คิดว่าหลายท่านในนี้เคยเห็นภาพผู้แทนยาเข้าพบและพูดคุยกับคุณหมอ และนึกสงสัยว่าคุยอะไรกัน วันนี้ขอมาแอบเม้าท์ผู้แทนให้ฟังนะครับ ซึ่งผมรู้ว่าหลายคนที่อ่านอยู่เป็นผู้แทนยา หลายคนเป็น 'เจ้านาย' ของผู้แทนยา และหลายคนก็คือคุณหมอที่คุยกับผู้แทนยา

การสนทนาระหว่างผู้แทนยากับคุณหมอนั้น มีหลายหัวข้อ และกลยุทธที่ใช้คุยก็ต่างกัน เป็นเทคนิคของผู้แทนยาแต่ละคน เราต้องยอมรับว่าผู้แทนยามีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งในหลายข้อคือเพื่อผลประโยชน์ทางยาของบริษัทตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด และก็ไม่ได้เชียร์จนเกินพอดี เกินกว่ากติกามารยาทที่กำกับอาชีพผู้แทนยา

วันนี้มาบอกเล่าประสบการณ์ที่ผู้แทนมาคุยกับลุงหมอนะครับ ส่วนคุยกับหมอท่านอื่นก็จะต่างกันไปบ้างครับ

1.บอกข้อมูลยา ก็แน่นอนครับนี่คือหน้าที่อันหนึ่งของผู้แทนคือ แจ้งข้อมูลต่าง ๆ ของยา การใช้ยา ข้อบ่งชี้ ข้อห้าม อ้าว..แล้วคุณหมอไม่รู้ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้หรือ ก็ทราบครับ แต่ผู้แทนก็จะสรุปมาให้อีกรอบ มาย้ำเตือนความจำ ตรงนี้ก็จะทำให้หมอจดจำได้ และเมื่อได้ยินบ่อย ๆ ก็มีโอกาสใช้ยานั้นได้มากขึ้นด้วยครับ

ผมรู้ว่าหลายท่านก็คิดว่า แล้วข้อมูลที่มาบอกคุณหมอทั้งหลายน่ะ เชื่อถือได้ไหม จากที่ผมพบเจอมา ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นก็มาจากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ทั้งนั้นครับ เรียกว่า มีหลักฐานพิงหลังกันหมดครับ แต่จะเป็นหน้าที่ของผู้ฟังแล้วล่ะ ที่ต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และระบาดวิทยา เพื่อวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของแต่ละการศึกษานั้น ๆ เอาเอง

2.มาอัพเดตข้อมูลใหม่ ๆ ของยานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่มีอัตราการแข่งขันสูง (การศึกษามันก็จะเยอะตามไปด้วย) หรือยาที่กำลังฮิตติดลมบน จะมีข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ ออกมาเรียกว่าอ่านกันไม่ทันเลยล่ะ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาประโยชน์อันใหม่ หรือการเปรียบเทียบกับการรักษาเดิม การศึกษาเรื่องความปลอดภัย การศึกษาข้อมูลจริงจากการใช้จริง

ผู้แทนก็จะเข้ามาแจ้งข่าว นำเสนอ แบบตรงเป้า…แต่เป็นเป้าของผู้แทนนะครับ นั่นคือผู้นำเสนอย่อมนำเสนอข้อมูลไฮไลท์ที่เป็นจุดเด่นของตัวเอง ผู้ฟังก็ต้องเข้าใจด้วยและอย่าลืมว่า บางทีก็ยังมีข้อมูลที่เขาเลือกจะไม่นำเสนอ เพราะมันอาจไม่ได้ดึงดูด หรือไม่ใช่เป้าหมายในการสื่อสารนั้น ดังนั้นต้องระลึกว่า อาจจะไม่ใช้ทุกรายละเอียด เราอาจต้องซักถามหรือศึกษาเพิ่มเติม

ข้อดีอีกอย่างคือ สำหรับการศึกษาที่บริษัทยานั้นมีส่วนร่วมหรือได้ประโยชน์ เราอาจได้ข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารหัวใหญ่ ๆ หรือได้วารสารตัวเต็มที่เราอาจเข้าไม่ถึงจากหนทางธรรมชาติได้ ผมเองก็แอบขอวารสารตัวเต็มอยู่เสมอ (ถ้าไม่ติดลิขสิทธิ์และเผยแพร่ได้ ส่วนใหญ่จะได้มาครับ)

3.มาคุยเพื่อ 'remind'หรือบอกว่ายังมียานี้ยานั้น พร้อมใช้อยู่นะ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือหลักการของโฆษณาอันหนึ่งนะครับ เห็นบ่อย มาปรากฏบ่อย ย่อมจำได้ ไม่ลืม โอกาสสั่งจ่ายก็บ่อย อันนี้ก็ไม่ผิดอะไร เพราะการสั่งจ่ายยาไม่ขึ้นกับเห็นหน้าค่าตากันบ่อย เพียงแต่ถ้าจะต้องใช้ยานี้ยานั้นตามข้อบ่งชี้ หมอจะจำยาที่รู้จักบ่อย เห็นบ่อย ได้ก่อนตัวอื่น (ไม่ใช่แค่หมอหรอก ทุกคนแหละครับ เป็นจิตวิทยาการตลาดพื้นฐาน)

บางทีก็บอกข้อมูลหมดแล้ว การศึกษาก็ยังไม่มีออกใหม่ การไปพบก็อาจแค่มาเตือนความจำว่า ยังมียาตัวนี้ตัวนั้นอยู่ ผู้แทนหลายคนก็บอกย้ำยี่ห้อ หรือบางคนไม่ต้องบอกยี่ห้อ เห็นหน้ามาก็รู้แล้วว่าจะมาบอกยาใด (เห็นไหม ขนาดผมยังเป็นผลของการตลาดนี้เลย)

อาจจะไม่ต้องคุยเป็นทางการ แวะเจอกันแป๊บ ๆ ก็รีมายด์กันได้ เจอตามร้านกาแฟ ทางเดิน แอบทักเรื่องผลบอลแล้วแทรกรีมายด์สักนิด อันนี้ก็มี (วันไหนลิเวอร์พูลแพ้ ไม่ค่อยมีใครมาใช้มุกนี้กับผมมากนัก)

4.คุยสัพเพเหระ (อันนี้มีข้อสามแทรกด้วยเล็กน้อย) ส่วนมากจะพบในกรณี หมอกับผู้แทนเจอกันบ่อยแล้ว รู้จักกันหมด (รู้ไส้รู้พุง) โอเค ใส่เสื้อติดป้ายบริษัทนั้นนี้ คนนี้ เรารู้แหละว่ายาอะไร แต่มาคุยเรื่องอื่น ไม่นานมานี้ก็มาคุยเรื่องเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ซึ่งทั้งหมอและผู้แทนยา ไม่มีสิทธิเลือกตั้งกันทั้งคู่ (ก็เลยไม่ชี้นำการเมืองกันได้) บางคนก็เล่าเรื่องท่องเที่ยว น้ำท่วมฝนตกรถติด ของกินที่นั่นที่นี่ โอ้ย สารพัด

การคุยสารพัดเรื่องนี้ เป็นเทคนิคของผู้แทนแต่ละคน มีการถ่ายทอดเคล็ดวิชากันรุ่นต่อรุ่น นี่แก..หมอคนนี้ ชอบเรื่องนี้ เม้าท์เรื่องนั้น ก็ทำให้เปิดการสนทนาและเข้ากันได้ดีใช่ไหมล่ะครับ ส่วนมากผู้แทนยาก็จะทำการบ้านมาก่อน ถามหัวหน้า ถามผู้แทนคนก่อน ไม่ง่ายเหมือนกันนะ

คิดว่าผู้แทนหลายคนน่าจะทำการบ้านมาพอควร เวลามาคุยกับผมทีไร มีแต่เรื่องประชุมวิชาการกับวารสารออกใหม่ ฮ่า ๆ คุยเรื่องอื่นบ้างก็ได้นะครับ สงครามโลก แดนบราวน์ สามก๊ก เพลย์สเตชั่น

5.ชวนเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ ทั้งกิจกรรมวิชาการของบริษัทตัวเองและกิจกรรมวิชาการของสมาคมวิชาชีพที่บริษัทตัวเองเข้าร่วมและสนับสนุน ผมคิดว่าเรื่องนี้พูดได้และไม่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอันไม่สมควรนะ

จริงอยู่ว่า พอหมอได้รับโอกาสเข้าร่วมและได้รับการสนับสนุน ก็อาจจะเกิดความเกรงอกเกรงใจ หลายคนจะมองว่าคงใช้ยาของเขามากกว่าปกติ แต่จริง ๆ แล้วมีส่วนน้อยมากครับ ตัวหมอเองก็ทราบดีถึงข้อกำหนดนี้และตัวผู้แทนและบริษัทเองก็เข้าใจข้อกำหนดนี้ ที่จะไม่ล้ำเส้นจริยธรรมของตัวเองและของอีกฝ่าย ส่วนถ้าจะเกิดรักชอบส่วนตัว อันนั้นไปห้ามไม่ได้ครับ

ไม่ว่าจะทางออนไลน์ ออนไซต์ หรือเว็บคาสต์ ผู้แทนยาก็จะมาชวนเข้าร่วมและจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้เพราะรู้ว่าคุณหมอไม่ค่อยว่าง ทำไม่เก่ง (ส่วนลุงหมอนั้นคือขี้เกียจ)

6.อันนี้แถม บางคนถือกาแฟมาฝาก … ถามว่าได้ไหม คือว่ามีมาตรฐานจริยธรรมของแพทยสภาและจริยธรรมของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ ได้กำหนดเกณฑ์ของพวกของฝากของกำนัลว่าจะมีค่าได้ไม่เกินเท่าไรและจะต้องไม่ชี้นำหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ในทางตรง และผู้แทนยาจะเคร่งครัดในจุดนี้มากครับ

ส่วนมากของฝาก (ที่มาฝากผมนะ) จะเป็นเครื่องดื่ม ขนมปัง หรือเครื่องเขียนเช่นปากกา โพสต์อิต สมุด ส่วนหนังสือนั้นผู้แทนยากับบริษัท ก็สามารถกำนัลผลิตภัณฑ์ทางการศึกษา ที่ไม่ได้ชี้นำสินค้าของเขาได้ เช่น หนังสือ ตำราวิชาการครับ ไม่เคยเห็นผู้แทนยาซื้อหนังสือแนวพ่อรวยสวนลูก หรือเทรดหุ้นมาฝากซักที

ทุกคนก็จะมองว่า รับของเขามาก็ย่อมเกรงใจ และสั่งยาหรือสินค้าของเขานั่นแหละ อืมมม มันก็คล้าย ๆ ข้อห้าที่ผ่านมา มันมีจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพกำกับอยู่ครับ ถามว่ามีเกรงใจไหม ก็คงจะมีบ้างในบางคน แต่ไม่เกินมาตรฐานวิชาชีพครับ

สุดท้ายจะเป็นคำถามยอดฮิตที่ติดในใจเลยนะครับ ทำไมผู้แทนยาจึงสวย หล่อ แต่งตัวเนี้ยบ ดูดีกันแทบทุกคน อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ คุณจะส่งคนไปทำการค้า ก็ต้องเลือกต้องดูดี โดยเฉพาะความเรียบร้อย ถามว่าให้เลือกคุยกับผู้แทนสาวแต่งหน้าสดใส ผู้แทนหนุ่มเชิ้ตขาวไทด์ดำ กับ หมอชราหน้าหนุ่ม ใส่เสื้อยืดคอกลม กางเกงยีนน้ำเงิน รองเท้านันยางสีขาว ถือถุงผ้าเก่า ๆ คุณจะคุยกับใครล่ะครับ…

อ้อ อย่าลืมดูลายสกรีนสีน้ำเงินบนอกเสื้อด้วยนะครับ จะเขียนว่า 'อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว'

28 พฤษภาคม 2565

ออกซิเจนกระป๋อง สดชื่น แก้เหนื่อย จริงหรือ จำเป็นหรือ

 ออกซิเจนกระป๋อง สดชื่น แก้เหนื่อย !!


ร่างกายคนเรามีวิธีการสกัดเอาออกซิเจนจากอากาศมาใช้ได้อย่างวิจิตรพิสดารมากและทรงประสิทธิภาพมากทีเดียว ตั้งแต่การใช้ระบบถุงลมปอดที่มีมากมายเพิ่มพื้นที่ การรีดเยื่อหุ้มเซลล์และผนังหลอดเลือดฝอยให้บางเฉียบสำหรับแก๊สออกซิเจน พัฒนาฮีโมโกลบินมาเพื่อจับออกซิเจนจากปอดไปส่งที่ต่าง ๆ มีระบบออกซิเจนละลายในน้ำเลือดเพื่อรักษาความดันออกซิเจน

ถ้าร่างกายเริ่มขาดออกซิเจน เนื้อเยื่อเริ่มขาดออกซิเจน (hypoxia) ไม่ว่าจะเกิดจากระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง (hypoxemia) เช่นมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือ เม็ดเลือดลดลง หรือเกิดจากส่งออกซิเจนไปไม่ถึงปลายทาง (decrease oxygen delivery) เช่น หัวใจล้มเหลว หรือช็อก

ร่างกายจะปรับตัวเพื่อทำให้การขนส่งออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อได้ดีที่สุด ไม่ว่าการหลั่งสารต่าง ๆ ไม่ว่าการเพิ่มการบีบตัวหัวใจ ไม่ว่าการเพิ่มการสร้างเม็ดเลือด หรือระดับออกซิเจนในเลือดที่ต่ำและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดที่คั่ง จะไปกระตุ้นให้สมองสั่งร่างกายสูดลมหายใจแรงขึ้นเร็วขึ้น

กระบวนการทั้งหมด ทำเพื่อรักษาระดับออกซิเจนให้คงที่และมากพอจะส่งถึงเนื้อเยื่อต่าง ๆ หากพบว่าความดันออกซิเจนในเลือดลดลง หรือความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดลดลง แสดงว่าสุดขีดที่กลไกร่างกายจะชดเชยได้และต้องช่วยเหลือ หนึ่งในวิธีนั้นคือ เพิ่มสัดส่วนและแรงดันออกซิเจนในอากาศที่เราสูดเข้าไป (มีหลายวิธีนะ เช่น เติมเลือด ให้สารน้ำ เพิ่มแรงบีบหัวใจ)

จากที่อธิบายมาจะเห็นว่าเราจะเติมออกซิเจนทางลมหายใจ เมื่อกลไกร่างกายชดเชยไม่ไหวเท่านั้น ซึ่งจะมีข้อบ่งชี้ชัดเจน เช่น ความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดต่ำและมีอันตรายจากออกซิเจนที่ต่ำนั้น ยังไม่พอนะครับ ควรจะมีการศึกษามารองรับด้วยว่าการเติมออกซิเจนในภาวะที่ขาดและอันตรายอันนั้นจะได้ประโยชน์ จึงเป็นข้อบ่งชี้การให้ออกซิเจนที่สำคัญ

เช่น การให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นและต้องกู้ชีพ โรคหืดกำเริบและออกซิเจนในเลือดต่ำ หรือบางภาวะเราก็ให้ออกซิเจนแม้ออกซิเจนในเลือดไม่ต่ำ เช่น ลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดแบบเกิดเอง

ในบางภาวะที่เราเคยให้ออกซิเจน ต่อมาพิสูจน์แล้วว่าไม่เกิดประโยชน์เช่น อัมพาตเฉียบพลัน หรือ หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ปัจจุบันนี้พบว่าหากไม่พบออกซิเจนในเลือดต่ำลง ก็ไม่ต้องให้ออกซิเจนทุกราย ออกซิเจน ถือเป็น 'ยา' ที่ให้ผิดพลาดและไม่มีข้อบ่งชี้มากที่สุดตัวหนึ่งของวงการแพทย์ครับ

ดังนั้น การสูดออกซิเจน โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่พิสูจน์แล้ว จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ในบางภาวะอาจเกืดอันตราย เช่น โรคถุงลมโป่งพองกำเริบ หากสูดออกซิเจนมากเกินไป อาจหยุดหายใจได้ และห้ามคิดว่า เติมไว้ให้เต็มไว้ก่อนหรือสำรองไว้ เพราะร่างกายเราใช้ออกซิเจนและปรับออกซิเจนแบบเรียลไทม์ ไม่มีสะสม มีระบบรักษาความอิ่มตัวออกซิเจนและความดันออกซิเจนในเลือดให้คงที่ เติมเข้าไปเท่าไร มันก็อาจไม่ได้เพิ่มจากจุดที่ดีที่สุดมากนัก

ดังนั้นหากไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ไม่ควรให้ออกซิเจนไม่ว่าในรูปแบบใดครับ แค่อาการเหนื่อย ไม่สดชื่น หรือกลัวว่าออกซิเจนจะต่ำ ไม่ต้องให้ออกซิเจนนะครับ

27 พฤษภาคม 2565

การวัดความดันโลหิตที่ข้อมือ ยังไม่ใช่การวัดมาตรฐาน

 วัดความดันที่ข้อมือ


อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน ได้ใส่ลูกเล่นและกลไกเพื่อตรวจวัดข้อมูลทางสุขภาพมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของคนยุคปัจจุบัน อุปกรณ์ได้รับการพัฒนามากขึ้นเพื่อมีหลายหน้าที่ในเครื่องมือชิ้นเดียว ตัวอย่างเช่นเป็นทั้งนาฬิกา สามารถตรวจจับชีพจร นับก้าวเดินในแต่ละวัน นับการเปลี่ยนท่าทางการนอนหลับในเวลากลางคืน

หนึ่งในหน้าที่เสริมที่ทางผู้ผลิตใส่มาด้วยคือ ตรวจวัดความดันโลหิต ที่ข้อมือ ถามว่ามันใช้ได้ไหม

สำหรับการติดตามวัดความดันนอกโรงพยาบาล เรานิยมใช้สองวิธีคือ ซื้อเครื่องไปวัดเองที่บ้านและใช้เครื่องวัดความดันติดตัวติดแขนที่จะวัดให้ตลอด 24 ชั่วโมงตามที่เราตั้งช่วงเวลา (ambulatory BP) ไม่ว่าจะเป็นแบบใด จะเป็นแถบวัดความดันพันรอบต้นแขนเสมอ

มาตรฐานการวัดความดันโลหิต จะใช้การวัดที่ต้นแขนในท่านั่งที่มีโต๊ะรองรับแขน เพื่อเป็นมาตรฐานในการสื่อสารให้ตรงกันว่าค่าความดันเท่าทั้นเท่านี้ ต้องมาจากการวัดแบบนี้นะครับ

การวัดความดันจากหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ จะมีความแปรปรวนสูงเพราะเปลี่ยนตามท่าทางได้ง่าย แปรปรวนสูงเพราะพื้นที่การสั่นสะเทือนจากหลอดเลือดที่ใช้ตรวจความดัน มีขนาดแคบมาก

ปัจจุบันเรายังไม่ใช้การวัดความดันโลหิตจากข้อมือมาเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยและติดตามโรคความดันโลหิตสูงครับ และยังแนะนำเครื่องวัดความดันแบบดิจิตอล วัดที่แขนที่แถบวัดกว้างและยาวพอ ในท่าทางการวัดที่ถูกต้อง เป็นมาตรฐานในการวัดความดันที่บ้านครับ

22 พฤษภาคม 2565

ไขปริศนา การตายของโจโฉ

 ไขปริศนา การตายของโจโฉ

สาย ๆ วันอาทิตย์แบบนี้เรามานั่งโซฟานุ่ม ๆ จิบกาแฟอุ่น ๆ อ่านเรื่องราวเฟ้อฝันทางการแพทย์ของเราต่อไป วันนี้เรามาเล่าถึงโจโฉครับ
โจโฉ หรือ Cao Cao ในภาษาอังกฤษ หนึ่งในตัวละครเอกเรื่องสามก๊ก ผู้ควบคุมวุยก๊กและก่อร่างสร้างวุยก๊กจนยิ่งใหญ่
โจโฉดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ ควบคุมและรวบอำนาจทางการบริหารเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร อย่างเบ็ดเสร็จโดยควบคุมฮ่องเต้ทั้งหลังฉากและหน้าฉาก
เราอาจจะเคยอ่านหรือเคยรับฟังว่าโจโฉคือตัวร้ายสำคัญในสามก๊ก แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาคืออัจฉริยะคนหนึ่ง มีความเป็นเลิศทั้งบู๊และบุ๋น หมั่นเพียรศึกษา เรียนรู้ทุกศาสตร์เพื่อให้ตัวเองสามารถปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความฉลาดและเด็ดขาดยิ่ง กูรูหลายคนในไทยยกย่องโจโฉและเขียนเรื่องราวในมุมมองความโดดเด่นเชิงการปกครองของโจโฉมากมาย
แต่ข้อเสียสำคัญของโจโฉคือ ขี้กลัว หวาดระแวง ส่วนหนึ่งเป็นลักษณะนิสัยของเขา อีกส่วนเกิดจากมีคนจ้องจะสังหารเขาอยู่เสมอ ทำให้เขาประหารมือดีมือดัง ตัดขุนพลและเสนาบดีคู่ใจไปมากมาย และนี่ก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุของการตายของโจโฉ
หลังจากศึกเซ็กเพ็ก (ศึกผาแดง ในตอนโจโฉแตกทัพเรืออันโด่งดัง) โจโฉเริ่มมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง อาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อปวดก็จะรุนแรงพอสมควร ต้องให้แพทย์หลวงประจำราชสำนักมาทำการรักษาบ่อย ๆ
แพทย์หลวงคนหนึ่งของโจโฉ คือ จี๋ผิง (เกียดเป๋ง) ได้ร่วมกับฝ่ายปฏิวัติวางแผนสังหารโจโฉโดยการวางยาพิษ ผสมในยาแก้ปวด แต่โจโฉรู้ทัน เพราะมีหูตามากร่วมกับการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่ดี (หรือหมอยังละอ่อน) แพทย์หลวงจึงถูกสังหารไป
ระยะเวลากว่า 10 ปีหลังจากศึกเซ็กเพ็ก โจโฉสามารถยึดดินแดนและสยบกองกำลังอิสระในแคว้นต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก พร้อมกันกับอาการปวดหัวที่ค่อย ๆ รุนแรงขึ้น บรรดาแพทย์ราษฎร์แพทย์หลวง ได้รับการเทียบเชิญแกมบังคับให้มารักษาอยู่เรื่อย ๆ ผลัดหน้ากันเข้ามา รักษาดี โจโฉหายปวดก็รวยไป รักษาไม่หายก็ซวยไป
ทุกคนรักษาโดยการใช้ยาแก้ปวด ในนิยายไม่ได้ระบุ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มฝิ่นและกัญชา เพราะใช้เวลาไม่นานทุกคนและหายปวดแบบชะงัดในช่วงสั้น ๆ ต้องใช้ยาเดิมซ้ำอีก น่าจะเป็นสมบัติการติดยาของฝิ่น (ปัจจุบัน อนุพันธุ์ของฝิ่นที่มาใช้รักษาอาการปวดคือ มอร์ฟีน)
สุดท้ายอาการปวดรุนแรงขึ้นและเริ่มมีอาการเตือน (Red Flag Signs) อาการปวดศีรษะส่วนมากจะไม่ได้เกิดจากโรคอันตราย แต่ถ้ามีอาการเตือนบางอย่าง เช่น แขนขาอ่อนแรง ชักเกร็งกระตุก อาเจียนรุนแรง ตามัวภาพซ้อน อาจจะมีโรคในโพรงกะโหลกศีรษะ ต้องทำการสืบค้นเสมอ
อาการเตือนที่มาพร้อมปวดหัวของโจโฉคือ มีอาการวิงเวียนอาเจียน และตามัว (ไม่ได้ระบุว่าภาพซ้อนหรือไม่) อันเป็นอาการที่บ่งบอกถึงความดันในโพรงกะโหลกที่สูงขึ้น (increase intracranial pressure) อาจจะเกิดจากก้อนเนื้อที่โตขึ้น เกิดจากก้อนเนื้อไปอุดตันโพรงสมองทำให้น้ำในสมองคั่ง หรือเกิดจากลิ่มเลือดดำอุดตัน
ลักษณะสำคัญคือ ปวดรุนแรง เวลานอนมักจะปวดมากและปวดมากหลังตื่นนอน (อยู่ท่านอนทั้งคืน) เวลาไอจามจะปวดมากขึ้น อาจจะมีเดินเซ ตาพร่ามัวจากจอประสาทตาบวม และอาจมีภาพซ้อนจากเส้นประสาทสมองคู่ที่หกพิการ (lateral rectus palsy) จากความดันสมองไปกดนั่นเอง
และมีคุณหมอที่สามารถวินิจฉัยทะลุถึงสาเหตุด้วยคือ หมอฮัวโต๋ แพทย์ผู้โด่งดังในยุคสมัยสามก๊กของจีน
หมอฮัวโต๋ โด่งดังมากจากวิธีการรักษาตามพยาธิกำเนิดของโรค คือท่านไม่ได้รักษาตามอาการอย่างเดียว ยังไปแก้ไขต้นกำเนิดของโรคให้หายขาดจากโรคนั้นเลย หลายครั้งหมอฮัวโต๋ ใช้ยาหรือการรักษาที่ไม่ได้รักษาอาการแต่ไปแก้ไขกลไกการเกิดโรค
ถ้าเรามองภาพไม่ออกก็ยกตัวอย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การใช้ยา methotrexate ไม่ได้ลดปวด แต่ไปแก้ไขพยาธิสภาพ (DMARDs) ของโรค หรือในเรื่องสามก๊ก หมอฮัวโต๋รักษาอาการบาดเจ็บจากแผลเป็นหนองโดยการขูดโพรงหนองออก ท่านรักษากวนอูที่โดนเกาทัณฑ์ (ลูกธนู) ปักที่แขนขวา จนกลัดหนองและปวดมาก รักษาโดยไม่คำนึงว่ากวนอูรบอยู่ฝ่ายใดอีกด้วย
แน่นอนดังมาก ก็ได้รับเชิญจากโจโฉเช่นกัน …
หมอฮัวโต๋มาตรวจวินิจฉัยโจโฉและให้ยารักษาตามอาการ แบบหายชะงัด ผมคิดว่าน่าจะเป็น opioid ขนาดแรง จนโจโฉขาดหมอฮัวโต๋ไม่ได้ (หรือขาดยาไม่ได้นั่นแหละ) จนหมอฮัวโต๋ต้องหนีไป แต่โจโฉก็ไปตามกลับมา หมอฮัวโต๋จึงเสนอการรักษาที่สาเหตุ
อาการของโจโฉที่เกิดจากความดันในโพรงกะโหลกสูงมานานพอควร น่าจะเกิดจากเนื้องอกที่โตขึ้นเรื่อย ๆ หรือเนื้องอกที่ไปกดเบียดโพรงสมองทำให้น้ำในโพรงสมองไหลเวียนไม่ดี
ถ้าเราคิดถึงโรคเนื้องอกที่โตช้า ๆ และพบบ่อยในผู้ใหญ่ ก็น่าจะเป็น meningioma เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง มีมักกดเบียดโพรงสมองและโพรงเลือดดำบ่อย ๆ และเป็นเนื้องอกโตช้าที่พบบ่อยมาก หรือ astrocytoma เนื้องอกของเซลล์ที่คอยพยุงระบบประสาทในสมอง แต่เจ้า astrocytoma ที่ไม่รุนแรงและโตช้ามักพบในเด็ก ส่วน astrocytoma ที่พบในผู้ใหญ่มักจะรุนแรง เช่น Glioblastoma multiforme (แต่นั่นแหละ พบในผู้ใหญ่ได้)
อีกข้อที่อาจจะสนับสนุน astrocytoma คือ โจโฉเสียชีวิตค่อนข้างเฉียบพลันหลังปวดหัวรุนแรง ตรงนี้ผมคิดถึงเลือดออกที่ก้อนมะเร็งสมอง หรือ ก้อนมะเร็งไปเบียดหลอดเลือด ซึ่ง astrocytoma มักมีพฤติกรรมเช่นนี้บ่อย โดยเฉพาะ pilocytic astrocytoma
การรักษาเนื้องอกสมองที่มีการกดเบียดและความดันขึ้นสูง คือ การผ่าตัดและการใส่สายระบายน้ำและความดันโพรงสมอง หากตัดไม่หมดก็ฉายแสง หรือในบางรายอาจใช้ยามุ่งเป้าเพื่อไปทำลายหลอดเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกนั้น (EGFR inhibitor)
หมอฮัวโต๋ของเราคงคิดถึงเนื้องอกที่ไปกดเบียดโพรงสมอง จึงนำเสนอวิธีผ่าตัดกะโหลกให้กับโจโฉ เรามีหลักฐานการเจาะกะโหลกเพื่อรักษาจากโครงกระดูกชาวจีน ย้อนไปตั้งแต่สมัย ค.ศ. 200-300 ยุคสามก๊กนี่ด้วยนะครับ หรือน่าจะเป็นคุณหมอฮัวโต๋ที่ทำผ่าตัดเอาไว้ก็เป็นได้
แต่โจโฉเป็นคนขี้ระแวง โดยเฉพาะคนใกล้ตัว และโดยเฉพาะหมอใกล้ตัว
ครับ..โจโฉมองว่า หมอฮัวโต๋จะสังหารตนแบบเนียน ๆ ด้วยการเจาะหัวกะโหลก เลยขังลืมหมอฮัวโต๋เสียเลย จนหมอฮัวโต๋ตายในคุก (บางคนว่าเขาหนีออกไปได้) ลืมไปด้วยว่าหมอฮัวโต๋คือมือหนึ่งในการรักษาโรคนี้ในตอนนั้น (น่าจะเป็นมือเดียวด้วย ที่ทำการผ่าตัด) และทิฐิมานะก็สูงเกินกว่าจะอภัยหมอฮัวโต๋ ให้ออกมารักษาตนอีก
สุดท้ายก็ปวดหัวรุนแรงและเสียชีวิตเฉียบพลันในปี ค.ศ.220 ก็น่าจะเป็นเนื้องอกในสมองนี่แหละครับ และมีผลแทรกซ้อน ไม่เลือดออกก็ลิ่มเลือดดำอุดตัน
ทางการจีนได้เคยอ้างว่าพบหลุมศพและโครงกระดูกโจโฉ แต่ไม่มีรายงานการพิสูจน์ศพและสาเหตุการตายแต่อย่างใด
ถึงแม้เราไม่ทราบว่าโจโฉเป็นอะไรเสียชีวิต โจโฉก็ยังโลดแล่นในใจเรามายาวนานเกือบสองพันปี และน่าจะยังโลดแล่นต่อไปชั่วกาลนาน
จบบริบูรณ์
อาจเป็นภาพวาดรูป 1 คน

21 พฤษภาคม 2565

เราจะคัดกรองว่าเราแพ้อาหารชนิดใดด้วยการตรวจเลือด ได้หรือไม่ ?

 เราจะคัดกรองว่าเราแพ้อาหารชนิดใดด้วยการตรวจเลือด ได้หรือไม่ ?

การแพ้อาหาร คือ กินอาหารเข้าไปแล้ว อนุภาคโปรตีนส่วนหนึ่งในอาหารที่กิน (antigen) ไปกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผ่านทางเซลล์หลายชนิดและสารเคมีหลายชนิดในร่างกาย อาการจะเกิดขึ้นเร็ว ทันที ลุกลามทั้งทางเดินอาหารและนอกทางเดินอาหาร เช่น ผื่น ลมพิษ คัน ตาบวม หน้าบวม อาเจียน หรือรุนแรงมากอาจถึงขั้นกล่องเสียงและท่อหลอดลมตีบแคบ ระบบไหลเวียนล้มเหลว
ปฏิกิริยาชนิดนี้เรียกว่า ภูมิคุ้มกันไวเกิน (hypersensitivity) ชนิดที่หนึ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่ชื่อ mast cell ส่วนมากเกิดผ่านกลไกของภูมิคุ้มกัน immunoglobulin E (IgE) และหลั่งสารเคมีสุดท้ายที่เป็นเหตุทำให้เกิดอาการคือ ฮีสตามีน เราจึงใช้ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีนในการรักษาโรคนี้
เอาล่ะ เราพักไว้ตรงนี้ก่อน เรามาดูชุดการตรวจหาแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจงกับอาหารแต่ละชนิดกัน
การวินิจฉัยโรคแพ้อาหารจะใช้ประวัติการกินอาหารและอาการที่เกิด ร่วมกับการตรวจร่างกาย หากไม่ชัดเจนหรือระบุชนิดอาหารได้ยากจะมีการตรวจหลายชนิดที่ช่วยระบุเช่น การตรวจปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (skin prick test) ที่จะนำแอนติเจนเฉพาะต่อสารนั้นในปริมาณน้อย มาทำปฏิกิริยากับตัวเรา แล้วดูผลการทดสอบว่ามีผื่น มีลมพิษหรือไม่
ในบางรายที่มีประวัติการแพ้อาหาร แต่ยังไม่ได้ระบุชนิดที่ชัดเจน การตรวจหา specific immunoglobulins ต่ออาหารชนิดนั้นนับเป็น 'ทางเลือก' ทางหนึ่งเพื่อช่วยวินิจฉัยว่าอาจจะแพ้อาหารนั้น ไม่ได้แม่นยำถึงขนาดบอกว่าจะแพ้อาหาร ส่วนมากจะสัมพันธ์กับ ทนอาหารชนิดนั้นไม่ได้มากกว่า (ไม่ใช่ปฏิกิริยาภูมิไวเกิน)
โดยชนิดของอิมมูโนโกลบูลินที่ตรวจส่วนมากจะเป็น IgG ก็อาจจะไม่ได้ตรงประเด็นกับกลไกการเกิดโรคที่ผ่าน specific IgE สักเท่าไรนัก หรือแม้การตรวจหา specific IgE ต่ออาหารชนิดนั้น ก็ยังบอกได้แค่ 'น่าจะ' หรือมีโอกาสเกิดการแพ้ เมื่อร่วมกับประวัติและตรวจร่างกาย
คราวนี้เราเอาสองเรื่องมาผสมกันนะครับ คือ ความรู้พื้นฐานเรื่องปฏิกิริยาภูมิไวเกินและการแพ้อาหาร ว่าจะสามารถใช้การตรวจหา specific IgG (หรือบางที่มี IgE) เพื่อมาบอกโรคหรือให้หลีกเลี่ยงอาหารใด ๆ ได้หรือไม่ หากไม่เคยมีอาการใดมาก่อนเลย
ข้อแรกนะครับ การตรวจพบ specific Ig ต่ออาหารใด ไม่ได้สัมพันธ์กับการแพ้อาหารนั้นนะครับ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับทนอาหารนั้นได้หรือไม่ มากกว่าการแพ้ และการ 'ทนได้' หรือไม่ก็ไม่ได้ระบุจากเจอ Ig เท่านั้น ต้องอาศัยข้อมูลทางคลินิกประกอบเสมอ ดังนั้นไม่น่าจะใช้ได้ครับ
ข้อสอง ถึงแม้รายงานจากการตรวจจะออกมาว่าคุณมี specific Ig ต่ออาหารชนิดนี้ ไม่ได้หมายความว่าคุณแพ้อาหาร เอาล่ะ ถ้าผมสมมติว่าเป็นการแพ้อาหารจริง ๆ แล้วกันนะ และตรวจ Ig ขึ้นด้วย รายงานบอกว่าคุณแพ้ผลิตภัณฑ์จากนม (dairy products) คำถามคือ แล้วแพ้ส่วนไหนของนมล่ะ โปรตีนเวย์ โปรตีนเคซีน โปรตีนเฉพาะในนมวัว หรือจากชีส ปฏิกิริยาภูมิไวเกินจะเฉพาะกับแอนติเจนอันใดอันหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงใช้ในการคัดกรองและบอกโอกาสก่อนเกิดแพ้อาหารได้ยาก
ต่อเนื่องจากข้อสองนะครับ เกิดรายงานออกมาว่าคุณแพ้ dairy products แล้วคุณจะต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนม (ที่ก็ไม่รู้ว่าแพ้จริงหรือไม่) คุณจะมีค่าเสียโอกาสที่จะได้รับอาหารที่มีคุณค่าสูง โดยใช้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนมาตัดสิน
ข้อสามนะครับ การตรวจพบแอนติบอดี หรือ specific Ig ต่ออาหารใด ไม่ได้หมายความว่า Ig นั้น ๆ จะทำงานในรูปแบบแพ้อาหาร หรือจะทำงานในรูปช็อกแพ้อาหาร การตรวจพบไม่ได้หมายถึงมันต้องทำงานอย่างที่มันควรจะเป็นหรือที่เราคิด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คริสเตียโน่ โรนัลโด คือเครื่องหมายของการถล่มประตู แต่การตรวจพบคริสเตียโน่ โรนัลโดในทีมแมนยู ไม่ได้หมายถึงทีมแมนยูจะได้ประตูเป็นกอบเป็นกำเสมอไป หรือจะต้องชนะได้แชมป์เอฟเอคัพเสมอไปครับ
อ้าว …ดูเหมือนการเดินไปตรวจหา specific IgG หรือ IgE ต่ออาหารหลากหลายชนิด โดยไม่เคยแพ้มาก่อน จะไม่เกิดประโยชน์ใช่ไหม ??
เราไปดูคำประกาศจาก American Academy of Allergy ,Asthma and Immunology 2010 ออกมาประกาศว่า "IgG and IgG subclass antibody tests for food allergy do not have clinical relevance, are not validated, lack of sufficient quality control, AND SHOULD NOT BE PERFORMED." และ NIAID ก็ประกาศเช่นกัน
เช่นกันกับแคนาดา (Canadian Medical Associations) , อังกฤษและยุโรป (European Academy of Allergy and Clinical Immunology), ออสเตรเลีย (Australasian Society of Clinical Immunology and Allergy) ไม่แนะนำในการตรวจเพื่อคัดกรองหรือตรวจหาการแพ้อาหารในผู้ใหญ่ที่ไม่มีประวัติอาการของการแพ้อาหารมาก่อน เหมือนกันหมด (ไปค้นหาเรื่องนี้ได้ครับ จากองค์กรดังกล่าว อ่านฟรีทุกตัวเลย)
เรียกว่าหลักฐานไม่หนักแน่น คำแนะนำที่ออกมาจึงไม่แนะนำ เพราะไม่เกิดประโยชน์และอาจเกิดความเข้าใจผิดและเสียโอกาสอีกด้วยครับ แต่ถ้ามีอาการ มีประวัติ ให้คุณหมอที่เขาสงสัยส่งตรวจและแปลผล อันนี้ 'พอได้' นะครับ
อ้อ..ตำราอีกเล่มที่แนะนำะครับคือ Clinical and Molecular Immunology ของ Abul Abbas ครับ เจ๋งมาก
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

บทความที่ได้รับความนิยม