31 กรกฎาคม 2562

กฎการไม่ออกเสียง

เจ้าของเม้นท์ เป็นครูสอนภาษา ที่รู้จักกัน ไปเรียนเมืองนอกมาหลายปี มีเทคนิคการใช้งานภาษาอังกฤษที่หลากหลาย ผมขออนุญาตเจ้าของเม้นท์ มาโพสต์เป็นเม้นต์ใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์กับสาธารณะครับ
ขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติม เผื่อน้องๆ พี่ๆ หรือคนทั่วไปนำไปใช้ได้ค่ะ
#กฎการไม่ออกเสียง
สำหรับบางตัวอักษรจะมีรูปแบบเฉพาะของมันมาเลยว่าเมื่อไหร่ที่มันจะไม่ออกเสียง เอาจริงๆ ไม่ต้องท่องหรอกค่ะ เจ้าของภาษายังไม่จำเลยเรื่องพวกนี้ ให้ใช้คำนั้นๆ ไปเดี๋ยวก็จำได้เองว่ามันไม่ออกเสียง แต่ก็จะขอให้เป็นความรู้ไว้นะคะ
A ไม่ออกเสียง
- เวลาทำ ADJ ที่ลงท้ายด้วย cal ให้เป็น ADV โดยการเติม ly เข้าไปเป็น -cally จะออกเสียงรวมเป็น /คลี่/ ไปเลย เช่น logically, musically, romantically
B ไม่ออกเสียง
- ถ้า b อยู่หลัง m เมื่อเป็นตัวสะกด จะไม่ออกเสียง b เช่น limb, dumb, bomb, tomb, climb
- ถ้า b อยู่หน้า t มักไม่ออกเสียง b เช่น debt, doubt, subtle และรวมไปถึงคำที่สร้างจากรากศัพท์เหล่านี้อย่าง debtor, doubtful, subtleness
D ไม่ออกเสียง
- d ไม่ออกเสียงในคำต่อไปนี้ handkerchief, Wednesday, sandwich, handsome
- d ไม่ออกเสียงเวลาเป็นคำควบ dg เช่น pledge, dodge, grudge, hedge
G ไม่ออกเสียง
- g ไม่ออกเสียงถ้ามันมี n ตามหลัง เช่น champagne, foreign, sign, feign ยกเว้น magnet, igneous, cognitive, signature
H ไม่ออกเสียง
- h มักไม่ออกเสียงเมื่อมันตามหลัง c, g หรือ r เช่น choir, chorus, ghastly, ghoul, rhythm
K ไม่ออกเสียง
- k ไม่ออกเสียงถ้ามันมี n ตามหลัง เช่น knife, knee, know, knock
N ไม่ออกเสียง
- ถ้า n อยู่หลัง m เมื่อเป็นตัวสะกด จะไม่ออกเสียง n เช่น autumn, hymn, column, solemn
P ไม่ออกเสียง
- p ไม่ออกเสียงเมื่อมันเป็นพยัญชนะต้นควบกับ s, t หรือ n เช่น psychiatrist, pneumonia, Pterodactyl
S ไม่ออกเสียง
- s มักไม่ออกเสียงถ้ามันมี l ตามหลังและอยู่ตรงกลางคำ เช่น island, isle, aisle, islet
T ไม่ออกเสียง
- t ไม่ออกเสียงในคำต่อไปนี้ castle, Christmas, fasten, listen, often, whistle, thistle, bustle, hasten, soften, rapport, gourmet, ballet
U ไม่ออกเสียง
- u ไม่ออกเสียงเมื่อมันตามหลัง g แต่อยู่หน้าสระตัวอื่น เช่น guess, guidance, guitar
W ไม่ออกเสียง
- w ที่เป็นพยัญชนะต้นจะไม่ออกเสียงถ้ามันมี r ตามหลัง เช่น wrap, wring, wreck, wrestle
- w ไม่ออกเสียงในคำต่อไปนี้ who, whose, whom, whole, whoever, answer, sword, two

ตัว P ที่ไม่ออกเสียง

ตัว P ที่ไม่ออกเสียง
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมไม่ออกเสียง แต่รากศัพท์มันใช้มาแบบนี้ การใช้ในปัจจุบันก็ออกเสียงไปแบบไม่มี P นี่แหละ อย่าอ่านออกเสียง "เพอะ" ออกมาทีเดียว
1. pneu- เช่น pneumonia ออกเสียง นิวโมเนีย, pneumothorax นิวโมทอแร่กซ อันนี้จะเป็นคำที่แปลว่าลม แปลว่าปอด
2. ptosis ออกเสียง โทสิส แปลว่าหนังตาตกครับ
3. pseudo- เป็น prefix ที่แปลว่าเสมือน ของเทียม คล้าย ๆ ออกเสียงว่า สูโด เช่น pseudohyponatremia ภาวะเสมือน hyponatremia ก็คือ ผลเลือดโซเดียมในเลือดต่ำเหมือนกัน แต่สาเหตุมันเกิดจากอย่างอื่นไม่ใช่สมดุลน้ำและเกลือแร่แต่อย่างใด หรือ pseudochylothorax น้ำในช่องอกที่ขาวเป็นน้ำนมเหมือนกัน แต่ไม่ได้เกิดจากไตรกลีเซอไรด์ อันนี้เกิดจากโคเลสเตอรอล
4. psittacosis เป็นชื่อโรคติดเชื้อ อ่านว่า ซิตตาโคสิส มาจากเชื้อ Chalmydial psittaci ที่พบในสัตว์ปีกโดยเฉพาะนกแก้ว นกเลี้ยง แล้วแพร่มาที่คนสัมผัส
5. pterygium อ่านว่า เทอรีเกี่ยม นี่คือต้อเนื้อครับ แต่ถ้าขี้เกี้ยม คือ จิ้งจก
6. pterygoid อ่านว่า เทอรีกอย เป็นชื่อกล้ามเนื้อที่อยู่ที่กระพุ้งแก้มด้านใน มีหน้าที่เคี้ยว กัดฟัน
7. psoriasis อ่านว่า ซอริเอสิส หรือ ซอเรียสิส คือชื่อโรคสะเก็ดเงินครับ อีกคำที่เกี่ยวกับเงิน ๆ คือ เศรษฐกิจ (มันเกี่ยวกันหรือ สะกิด ๆ เหมือนกัน)
8. ptyalin อ่านว่า ไทอาลิน ชื่อเอนไซม์ในน้ำลาย มีหน้าที่ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาล หลั่งจากต่อมน้ำลาย
9. psych- เป็นรากคำ อ่านว่า ไซ เช่น psychologist ไซโคโลจิสต คือ นักจิตวิทยา, psychiatry ไซคิเอตรี้ คือ วิชาจิตเวชศาสตร์
10. อันนี้กลางคำ corps อ่านว่า คอร..มีเสียง สึ ของตัวเอสเบา ๆ แปลว่ากลุ่มคนที่ทำงานอย่างเดียวกัน อย่าออกเสียง คอรป..สึ จะกลายเป็น corpse ที่แปลว่าซากศพครับ
อ้อ..ให้พูดว่าตัว P ที่ไม่ออกเสียง อย่าพูดว่าตัว P ที่เสียงหาย เดี๋ยวพูดผิดจะหน้าแดงไปตาม ๆ กัน

ฝรั่ง

หวังว่าจบบทความนี้ คุณจะเข้าใจฝรั่งมากขึ้น
ฝรั่งเป็นผลไม้ที่หาง่าย ราคาไม่แพง มีทุกฤดูกาล เราสามารถนำฝรั่งมาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง
1.ใบฝรั่ง สามารถทำความสะอาดเคี้ยวลดกลิ่นปาก จากฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียอ่อน ๆ
2.ใบฝรั่งสามารถนำมาโขลกคั้น ลดอาการท้องเสียได้จากสารแทนนิน
3.ผลฝรั่งมีพลังงานไม่มาก สามารถนำมาหั่นเป็นเต๋าเล็ก ๆ เป็นอาหารว่างขบเคี้ยวได้ แต่กินมากไปก็อ้วนและท้องอืดได้
4.ผลฝรั่งมีวิตามินซีสูงมาก ขนาดประมาณหนึ่งถ้วย 150 กรัม ได้วิตามินซีเกือบเพียงพอในหนึ่งวันเลย ฝรั่งสดครึ่งลูกถือว่าวิตามินซีเกินกว่าที่ต้องการเลย
5.ใยอาหารสูงมากเช่นกัน มีประโยชน์ทั้งอิ่ม ดีต่อลำไส้ ลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลจากไฟโตสเตอรอล
ผมมักจะแนะนำผู้ป่วยที่ต้องการอาหารเคี้ยวเล็กน้อย พอแก้หิวในช่วงบ่าย ๆ ให้นำฝรั่งหนึ่งในสี่หรือครึ่งผล นำมาหั่นเป็นลูกเต๋าเล็ก ๆ ในกล่องและแช่ตู้เย็นไว้ เมื่อถึงเวลาก็หยิบมาเคี้ยวช้า ๆ และกินเท่าที่จัดไว้ ไม่กินเพิ่มกว่านั้นเพื่อเป็นการควบคุมปริมาณ ความหวานอมเปรี้ยว เคี้ยวสนุก และเย็นชื่นใจจะช่วยให้ความสดใสในช่วงบ่ายของวันได้อย่างดี

30 กรกฎาคม 2562

การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัด ไม่ว่าจะทำด้วยสาเหตุใด  คุณหมอและนักกายภาพบำบัดจะพิจารณาความเหมาะสม เพื่อวางแผนระยะสั้นระยะยาว

ความสำคัญอยู่ที่แผนอันนั้น เป็นแผนให้ญาติและผู้ป่วยสามารถปรับใช้ได้เหมาะสมกับโรคและสภาพแวดล้อม

ผู้ป่วยและญาติต้องฝึกฝน ปฏิบัติต่อเนื่อง สม่ำเสมอ หากมีข้อปัญหาให้นำมาปรึกษาและปรับปรุง

การไปพบหมอและนักกายภาพ เพียงเพื่อให้ “เขาทำให้” แล้วกลับบ้าน จะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย ต้องใช้ความอดทน พยายาม และลงมือทำเองเสมอ

การกายภาพบำบัดและการฟื้นฟู มีความสำคัญไม่แพ้การรักษาและป้องกัน

essential thrombocytosis : ET

อีกหนึ่งโรคที่ใช้แอสไพรินรักษา โรคเกล็ดเลือดสูงกว่าปรกติชนิดปฐมภูมิ (essential thrombocytosis : ET)
อย่างที่ทราบกันดีว่ายุคนี้เราใช้แอสไพรินเพื่อวัตถุประสงค์ต้านการจับตัวกันของเกล็ดเลือดเป็นหลัก ในโรคเลือดบางชนิดที่มีเกล็ดเลือดสูงกว่าปรกติ การใช้แอสไพรินเพื่อลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือดจึงมีความสำคัญเพื่อป้องกันหลอดเลิอดอุดตันนั่นเอง
โรค ET เป็นโรคที่มีความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เกิดเซลล์ต้นกำเนิดเกล็ดเลือดในไขกระดูกที่เรียกว่า Megakaryocyte อย่างเกินกำหนด เกินการควบคุม ทำให้เกล็ดเลือดออกมาในกระแสเลือด ผลของการมีเกล็ดเลือดมากเกินไป นอกจากเลือดจะหนืด ตกตะกอนอุดตันง่าย เกล็ดเลือดยังอาจจับตัวกันอุดตันหลอดเลือดที่ต่าง ๆ จะมีอาการอวัยวะขาดเลือดหลาย ๆ ที่ได้
โดยมากโรคนี้จะพบเพราะไปตรวจเลือดเจอ อันนี้คือไม่มีอาการ (เกณฑ์อันหนึ่งที่ใช้ในการวินิจฉัยคือเกล็ดเลือดมากกว่า 450,000 ตัวต่อเลือดหนึ่งซีซี) หรือมีอาการของหลอดเลือดตัน หลอดเลือดตีบแล้วตรวจเลือดพบเกล็ดเลือดสูง ถ้าสงสัยเราจะไปเจาะตรวจไขกระดูกต่อไป ก็จะพบเซลล์ต้นกำเนิดเกล็ดเลือดมากมาย แบ่งตัวเต็มไปหมด แถมยุคปัจจุบันมีการตรวจโครโมโซมอีกต่างหาก เราพบว่า คนไข้โรค ET จะไม่มี philadephia chromosome และประมาณครึ่งหนึ่งจะพบ Janus Kinase 2 mutations หรือ JAK2 mutations
เรื่องฟิลาเดเฟียและJAK2 อ่านได้ที่นี่
https://medicine4layman.blogspot.com/2018/01/jak-kinase.html
โดยที่ต้องแยกสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเกิดเกล็ดเลือดสูงเช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โรคเซลล์อื่นในไขกระดูกมากเกินปกติทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและพังผืด (myeloproliferative neoplasia)
เมื่อได้การวินิจฉัย เราก็จะให้การรักษาเพื่อ ลดเซลล์เกล็ดเลือดและลดโอกาสที่เกล็ดเลือดจะมาจับตัวกัน
ลดเซลล์เกล็ดเลือดใช้ยา hydroxyurea ถ้าไม่ตอบสนองก็จะใช้ยา anagrelide
ป้องกันเกล็ดเลือดจับตัวกัน ใช้ aspirin ขนาดต่ำ
โรคนี้มักจะไม่หายครับและต้องเฝ้าระวังมันแปรสภาพไปเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันด้วย ต้องติดตามเป็นประจำสม่ำเสมอ แถมยังต้องระวังหลอดเลือดตีบตันจากเหตุอื่นตามอายุ เพราะโรค ET มักจะเกิดกับผู้สูงวัยก็จะมีเบาหวานความดันไขมันบุหรี่ ที่เป็นตัวการหลอดเลือดตีบอยู่แล้วด้วย
"JAK2 มิวเตชั่นคือ ET ชีช้ำกะหล่ำปลีคือมิวแต่งงาน"

29 กรกฎาคม 2562

ปรัชญาของหมอยุคใหม่

ฝากถึงน้อง ๆ หมอนะครับ
1.สิ่งที่ดีที่สุดที่เราให้กับคนไข้ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดที่คนไข้ต้องการจากเรา
2.อย่าไปตำหนิหรืออคติกับหมอคนก่อน เพราะเขาอาจมีเหตุผลจำเป็นบางอย่างที่เราไม่รู้
3.ความสมัครสมานสามัคคีในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้
4.ทำงานเป็นทีมกับทีมการรักษา เป็นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผล
5.ให้เกียรติคนไข้เสมอ เพราะเขาให้เกียรติเราอย่างมากเช่นกัน
6.อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว และยึดถือตัวตนแห่งตนจนมากเกินไป จงยอมรับฟังและปรับปรุงข้อผิดพลาดของตัวเองด้วย
7.นอกเหนือจากทำปัจจุบันขณะให้ดีแล้ว เราควรพัฒนาสังคมสาธารณสุขให้คนรุ่นหลังให้ดีขึ้น
8.ความรู้ความสามารถ ณ ปัจจุบัน ไม่สำคัญเท่าการพร้อมเรียนรู้และขวนขวายเสมอในอนาคต
ลุงหมอ ณ แอนฟิลด์

ข่าวสั้น SHINE study

ข่าวสั้น ทันสมัย ง่ายนิดเดียว

เป็นที่รู้กันว่าการปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงในช่วงที่เกิดโรคหลอดเลือดแดงในสมองตีบเฉียบพลัน (อัมพาต) ทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดี ไม่ว่าคนไข้จะเป็นเบาหวานหรือไม่ก็ตาม

คำแนะนำของสมาคมแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดอเมริกาแนะนำรักษาระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับระยะเฉียบพลันที่ 140-180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยการติดตามเจาะเลือดใกล้ชิด

การศึกษา SHINE ทำมาตอบคำถามว่าแล้วถ้าหากลดระดับน้ำตาลลงมามากกว่านี้จะมีผลการรักษาดีกว่าไหม โดยนำผู้ป่วยอัมพาตเฉียบพลันมาแบ่งกลุ่มควบคุมเคร่งครัดโดยใช้อินซูลินหยดเข้าหลอดเลือด ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้เกิน 80-130 (หยดอินซูลินถ้าต้องการควบคุม) เทียบกับกลุ่มควบคุมปรกติคือใช้เจาะปลายนิ้วและฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังเป็นครั้งคราวเพื่อรักษาระดับน้ำตาล 80-180 ติดตามดูผลการรักษาที่ 90 วันเป็นอย่างไร คนที่มาเข้าการศึกษาส่วนมากเป็นเบาหวานนะครับ

ผลออกมาปรากฏว่า ผลการรักษาที่ 90 วันก็ไม่ได้แตกต่างกันในแง่ความพิการ การช่วยเหลือตัวเอง แต่ว่ากลุ่มที่ใช้อินซูลินหยด เกิดปรากฏการณ์น้ำตาลในเลือดต่ำจนต้องหยุดการศึกษา และน้ำตาลต่ำมาก มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน

ก็สรุปว่า การคุมเข้มระดับน้ำตาลโดยใช้การหยดอินซูลิน ไม่ได้ประโยชน์เพิ่มและแถมมีอันตรายมากขึ้นด้วย (แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยสูงปรี๊ดนะครับ) สำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดแดงสมองตีบเฉียบพลัน

อยากอ่านฉบับเต็ม คลิกที่นี่ แต่อันนี้ ไม่ฟรี
https://jamanetwork.com/journals/jama/article-abstract/2738553

แอสไพริน กับ การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

แอสไพริน กับ การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

1.แอสไพริน, เบบี้แอสไพริน, เอเอสเอ มีสมบัติต้านการแข็งตัวของเลือด สมบัติสำคัญในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะที่หลอดเลือดหัวใจและสมอง ใช้มานาน ราคาไม่แพง ทุกคนที่ได้ยาจะได้รับคำเตือนเรื่องยากัดกระเพาะ เลือดออกง่าย

2.ย้อนกลับไปสมัยก่อนที่ความรู้และวิทยาการในการรักษาและป้องกันโรคหลอดเลือดของเรายังไม่ก้าวหน้าขนาดนี้ แอสไพรินคืออาวุธสำคัญในการรักษา เพียงอาวุธเดียว ดังนั้นถ้าเทียบกับไม่มีอาวุธใดเลย แอสไพรินจึงมีประโยชน์มาก แม้โทษจะมากก็ตามที

3.กลับมายุคปัจจุบันที่ความรู้เรื่องการป้องกันโรคหลอดเลือดมีมากขึ้น เรารู้ว่าจะต้องกินอย่างไร ออกกำลังกายอย่างไร ควบคุมความดัน เบาหวานอย่างไร ขดลวดค้ำยันดีมาก เทคโนโลยีการรักษาสุดยอด ทำให้ความยิ่งใหญ่ของแอสไพรินลดลง หลาย ๆ กรรมวิธีปัจจุบันมีน้ำหนักในการลดการเกิดโรคดีกว่าแอสไพรินด้วย

4.ในแง่การป้องกันหลังจากเกิดโรคแล้ว หลอดเลือดตันแล้ว แก้ไขแล้ว อันนี้ไม่มีข้อโต้แย้งว่าการใช้แอสไพรินลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ (secondary prevention) มีประโยชน์ที่ชัดเจนเป็นคำแนะนำมาตรฐานที่ตรงกัน แต่อย่าลืมพิจารณาเรื่องเลือดออกในคนที่เสี่ยงเลือดออกและป้องกันด้วย

5.สำหรับการใช้ยาเพื่อป้องกันก่อนการเกิดโรค (primary prevention) ในอดีตมีการใช้มากเพราะเครื่องมือและเทคโนโลยีในข้อสามยังไม่พัฒนา แต่เมื่อมาในปัจจุบันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้นักวิจัยเริ่มสงสัยในประสิทธิผลของยาแอสไพรินจึงต้องศึกษา

6.งานวิจัยสามงาน คือ ASPREE ทำในคนที่ไม่มีโรคและสูงวัย, งานวิจัย ARRIVE ทำในคนไม่มีโรคแต่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจพอควร เมื่อให้แอสไพรินพบว่าไม่ได้ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจแถมเพิ่มโอกาสเลือดออกมากขึ้น ส่วนการศึกษา ASCEND ทำในคนที่ยังไม่มีโรคและเป็นเบาหวาน พบว่ามีประโยชน์ในการลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเล็กน้อย พอกันกับโอกาสที่จะเลือดออกเพิ่มขึ้น

7.จากงานวิจัยสามงานนี้และผลการรวบรวมการศึกษาแบบ meta analysis ออกมาเป็นคำแนะนำของสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกา, คำแนะนำของวารสาร JAMA ,สรุปจาก medscape และลงข่าว CNN ว่า "เราไม่ให้ aspirin เพื่อป้องกันโรคแบบแจกทุกคนไม่เลือกหน้าอีกแล้ว เราต้องพิจารณาความความเสี่ยงเช่นกัน"

8.สำหรับคนที่ความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจในสิบปี ต่ำกว่า 7.5% หรือความเสี่ยงเลือดออกสูงมาก ถ้ายังไม่เริ่มยาก็ไม่ควรเริ่ม ถ้าเริ่มมาแล้วน้อยกว่าสิบปี ก็แนะนำให้หยุด (คุยกันระหว่างหมอและคนไข้ถึงประโยชน์และโทษให้ชัดก่อน) อเมริกาให้ใช้เรื่องคำนวณ ASCVD แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเราน่าจะใช้เครื่องคำนวณ Thai CV Risk แทนได้ครับ

9.สำหรับคนที่เสี่ยงเลือดออกต่ำ มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้สูง และโอกาสเกิดโรคหัวใจในสิบปีสูงกว่า 15% พิจารณาการใช้ยาแอสไพรินเพื่อป้องกันการเกิดโรคได้ (การพิจารณาคือคุยผลดีผลเสียกับคนไข้เสมอ) ส่วนการลดการเกิดมะเร็งลำไส้ ผลยังไม่ชัดเจนเท่าไรนะครับ แต่ถ้าเริ่มยามาแล้วมากกว่าสิบปี จะพิจารณาให้ต่อไปเมื่อความเสี่ยงโรคหัวใจสูงกว่า 10% มีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้สูง สำหรับความเสี่ยงกลาง ๆ คือ 7.5%-15% ให้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป

10.อย่าลืมว่านี่คือการให้ยาเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคนะครับ การใช้ยาโดยเสี่ยงเกิดโรคต่ำจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าและหากเกิดผลเสียขึ้นมาจะยิ่งไม่คุ้มมาก เราจึงไม่สามารถแจกยาแบบ "routine" ให้ทุกคนได้และควรหยุดหากไม่เกิดประโยชน์

ตัวอย่างที่ดีของความรู้และแนวทางการปฏิบัติทางการแพทย์ที่เปลี่ยนไปเมื่อความรู้พัฒนามากขึ้น

อ่านเพิ่มเติมได้
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2737592
https://www.medscape.com/viewarticle/916006_2
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S073510971933877X?via%3Dihub
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2721178
https://edition.cnn.com/2019/07/22/health/aspirin-daily-use-adults-heart-study/index.html

28 กรกฎาคม 2562

เฉลยที่มาและจุดจบของ "อับดุล"

คุณรู้จัก "อับดุลโชว์" ตามงานวัดหรือไม่ ถ้าคุณไม่รู้เราจะมาเฉลยที่มาและจุดจบของ "อับดุล"
ขอบคุณ อีเจี๊ยบและหมอแล็บเช่นเคย
เศรษฐกิจเมืองไทยแย่ลงตามลำดับ ปีนี้มีกิจการล้มละลาย ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ผู้คนเครียดและขาดความหวัง ข่าวสารในโลกออนไลน์แพร่สะพัดไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ
สองหนุ่มคู่หู อีเจี๊ยบและหมอแล็บ โดนพิษเศรษฐกิจ ถูกเลิกจ้าง เงินสะสมก็เริ่มร่อยหรอ ที่นาที่บ้านก็ถูกยึด ทุนทำกินก็ไม่มี ทั้งสองคนมานั่งปรับทุกข์กันที่สนามหลวง มีทั้งหัวเราะ ร้องไห้ ตามประสาคนเคยค้าม้าเคยขี่
หมอแล็บ : เจี๊ยบ เราว่าเรามาร่วมกันหารายได้พิเศษกันเหอะ ขืนปล่อยแบบนี้ อีกสองเดือนเราต้องขายของเก่าแน่
อีเจี๊ยบ : แล้วนายจะทำอะไร ยุคนี้ข้าวยากหมากแพง ทำอะไรก็เจ๊ง
หมอแล็บ : โน่น คนดูหมอเพียบเลย ถ้าเราแอบโกง ๆ ความเชื่อคนนิด ๆ เราน่าจะทำเงินได้ ฉันมีไอเดียดี ว่าแต่แกจะกล้าทำหรือเปล่า
อีเจี๊ยบ : เฮ้ย อย่ามาดูถูก ว่าแต่จะทำอะไร

ทั้งคู่คิดกลโชว์ขึ้นมาโชว์หนึ่ง เนื้อหาของโชว์คือ อีเจี๊ยบจะทำตัวเป็นคนมีวิชา เลี้ยงสมุนที่เป็นพลังงานลึกลับ พลังงานนี้โคตรฉลาด รู้ทุกเรื่อง กูเกิลชิดซ้าย เพียงแต่พลังงานนี้จะตื่นคน ต้องปิดบังตัวไว้จึงจะมาสิงในร่างทรงและตอบคำถามได้
ตกลงกันว่า หมอแล็บจะมุดเข้าไปอยู่ในสุ่มไก่ขนาดใหญ่ที่เอาผ้าสีดำปิดไว้มิด คอยตอบคำถามและทำทีเป็นมีพลังงานลึกลับเข้าสิง ส่วนอีเจี๊ยบทำหน้าที่เป็นคนมีวิชา คอยร่ายวิชาและถามคำถามโชว์ความอัจฉริยะของพลังงานลึกลับ คอยเรียกเงินผู้เข้าชม น่าจะได้วันละไม่ต่ำกว่าห้าร้อยบาทหวาน ๆ
อีเจี๊ยบ : แล้วจะเรียกชื่อนายว่าอะไร ตอนที่นายมุดสุ่มไก่ เรียกว่า ไมเคิล ดีไหม

หมอแล็บ : ส่ายหน้า..เมิงคิดได้ไงวะ เอางี้ เรียกชื่อที่ดูลึกลับหน่อย อับดุล ดีไหม
อีเจี๊ยบ : พยักหน้า..เมิงก็ไม่ได้คิดหรูกว่าตรูเล้ย ...ก็ได้ ๆ
ทั้งคู่ตกลงกันว่า ลำดับการตอบคือ หญิง เสื้อสีขาว ใส่กางเกง มาคนเดียว ส้ม น้ำดื่ม ... โดยจดโพยไว้ด้วย ส่วนคนถามคืออีเจี๊ยบจะหาสิ่งที่จะมาตอบให้ได้ตามคำถาม จะได้ดูว่าไม่ได้เตรียมกันมา เพราะถามจากสิ่งที่อยู่นอกสุ่มไก่ในเวลานั้นทันที ..อุบ๊ะ ไอเดียเจ๋ง

และถ้าตั้งตำถามที่ให้เลือกตัวเลือกสองอย่าง หรือสามอย่าง ให้เลือกตัวเลือกตัวแรกตามลำดับอักษรในพจนานุกรมทั่งภาษาไทยและอังกฤษ อะฮ้า..ดูมีความรู้
สามวันต่อมา การแสดงปาหี่ต้มคนดูก็เริ่มขึ้นที่ท้องสนามหลวง ใต้ต้นมะขามนั่นเอง

หลังจากเกริ่นและชักจูงคนแล้ว อีเจี๊ยบก็ครอบหมอแล็บด้วยสุ่มไก่แล้วเริ่มการแสดง
อาจารย์เจี๊ยบ : อับดุลเอ้ย
อับดุล : เอ้ย
อาจารย์เจี๊ยบ : เหนือรู้ ใต้รู้ สว่างรู้ มืดรู้ ?
อับดุล : รู้หมดแหละเฟร้ย
อาจารย์เจี๊ยบสะดุ้งเล็กน้อย ส่ายตามองหาเหยื่อตามโพย
อาจารย์เจี๊ยบ : อับดุลเอ้ย ที่อาจารย์ชี้นี่ หญิงหรือชาย ?
อับดุล : ผู้หญิง ...ตามด้วยเสียงฮือของฝูงชน

อาจารย์เจี๊ยบ : เดินไปอีกฝากของวง ..อับดุลเอ้ย คนนี้ใส่เสื้อสีอะไร
อับดุล : สีขาวครับ...ฝูงชนฮืออีก
กระบวนการต้มคนดูดำเนินไปตามโพย เรียกเก็บเงินเป็นระยะ ตามวาทศิลป์ของอีเจี๊ยบ จนมาถึงช่วงตอบคำถาม อาจารย์เจี๊ยบบอกว่า เดี๋ยวจะหาว่าเตี๊ยมกัน จะตอบคำถามยาก ๆ เลยก็ได้
อาจารย์เจี๊ยบ : อับดุลเอ้ย เลือกตั้งครั้งนี้ใครจะได้เป็นรัฐบาล พลังประชารัฐ หรือ อนาคตใหม่

อับดุล : พลังประชารัฐ .. เสียงฮือผู้คนอีกแล้ว

อาจารย์เจี๊ยบ : มีใครที่นี้ เรียนจบวิศวะมาบ้างครับ เชิญ ๆ ครับออกมาเลย เดี๋ยวหาว่าเตี๊ยม ลองภูมิอับดุลได้เลย แล้วคอยตรวจคำตอบ สรุปว่าวิศวะหนุ่มคนนั้นให้ถามอับดุลว่า รถยนต์รุ่น ××× ใช้น้ำมันดีเซล มีคนไม่กี่คนที่รู้ อับดุลจะรู้ไหม
อาจารย์เจี๊ยบ : อับดุลเอ้ย รถใหม่ ××× ใช้น้ำมันอะไร ระหว่าง น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน หรือ น้ำมันพืช นี่เลยท่านทั้งหลาย ให้สามตัวเลือก ไม่เก่งจริงตอบไม่ได้
อับดุล : น้ำมันดีเซล ...คนดูปรบมือเกรียว
เฟี้ยว..จึ๊ก..ตุ่บ เสียงคนเงียบ หมอแล็บนิ่ง นึกในใจ แหม..อีเจี๊ยบมันกะล่อนได้ใจ แล้วรอตอบคำถามต่อไป
อาจารย์ : เรากินยาลดไขมันเพื่อลดอะไร ไขมันในเลือด หรือ อัตราตาย
อับดุล : ไขมันในเลือด ...เสียงคนซุบซิบ ๆ อุบอิบ ๆ

อาจารย์ : เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์กินยาไขมัน โคเลสเตอรอล หรือ แอลดีแอล

อับดุล : โคเลสเตอรอล ..คราวนี้คนโห่
อับดุลเริ่มแปลกใจ แต่ก็เล่นไปตามบท
อาจารย์ : คำถามสุดท้ายแล้วนะอับดุล ตอบดี ๆ ปีที่แล้วใครได้แชมป์ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีก ลิเวอร์พูล กับ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
อับดุล : อีเจี๊ยบ เมิงเล่นไร แต่ก็ต้องตอบตามบท ...แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คราวนี้เสียงด่าตามมา

พรึ่บ สุ่มไก่ถูกเปิด พายุเท้าเข้าโหมกระหน่ำอับดุล พร้อมกุญแจมือจากตำรวจ สายตาอับดุลมองเห็นอีเจี๊ยบสลบอยู่และมีกุญแจมือเช่นกัน ก่อนจะหมดสติเพราะพายุประชาทัณฑ์ อับดุลแพนด้ามองเห็นชายคนหนึ่งเดินออกไปอย่างเร็ว และแล้วก็...เป็นอันอวสานโชว์อับดุล
บทส่งท้าย

หลังจากที่ตอบคำถามวิศวะหนุ่มแล้ว คนดูกำลังตื่นเต้น เตรียมใส่เงินในตะกร้าเพิ่มอีก หมอดูไพ่ยิปซีชราที่นั่งใกล้ ๆ ลุกขึ้นมาแล้วเดินมากลางวง ท่ามกลางความงุนงงของทุกคน หมอดูชรายกมือซ้ายขึ้นมาในระดับสายตา นาฬิกาแปลก ๆ ของเขาดีดหน้าจอกลมขึ้นมา กริ๊ก แล้วเขาใช้มือขวากดที่ปุ่มเม็ดมะยมนาฬิกา เสียงดัง เฟี้ยว จึ๊ก อาจารย์เจี๊ยบก็ล้มฟุบลงดังตุ่บ

หลังจากนั้นเขาคลี่ป้ายผ้าออกมาเป็นข้อความว่า : เงียบไว้..ผมจะเปิดโปงพวกนี้เอง
แล้วเขาก็ยกมือมาปลดหูกระต่ายที่คอเสื้อเชิ้ต พูดออกมาใส่หูกระต่ายนั้น ทุกคนงงมากเพราะเสียงที่ออกมาเป็นเสียงของอาจารย์เจี๊ยบที่ล้มสลบไปเมื่อสักครู่ แล้วเขาก็เริ่มถาม อับดุลเอ้ย เรากินยาลดไขมันเพื่อลดอะไร... เหตุการณ์ก็เป็นไปดังข้างต้น

ในขณะที่ผู้คนรุมประชาทัณฑ์อีเจี๊ยบและหมอแล็บ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ทุกคนลืมสังเกตไปว่าหมอดูไพ่ยิปซีผู้ชรานั้น เดินออกไปอย่างรวดเร็ว ท่าทางทะมัดทะแมง ดึงหน้ากากและวิกผม เก็บสำรับไพ่ ถอดเสื้อเชิ้ตเก่า ๆ ออก ภายใต้เสื้อเชิ้ตและหูกระต่ายสีดำ ปรากฎเป็นเสื้อยืดคอกลมสีขาว มีตัวอักษรสกรีนสีน้ำเงินเข้มที่หน้าอกว่า ..."อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว"

วิธีการอ่านหนังสือสไตล์ลุงหมอ

มีคนไถ่ถามกันมา ... จัดเวลาอ่านหนังสืออย่างไร หยิบมาเล่าให้ฟังสบาย ๆ วันอาทิตย์

แต่ต้องบอกก่อนว่าผมก็อ่านก็ฟัง สะสมวิธีการอ่านมาตั้งแต่สมัยประถม ลองถูกลองผิดมาหลายสิบปี ได้เป็นวิธีแบบนี้ แม้จะเป็นวิธีส่วนตัวแต่คิดว่าลองเอาไปดัดแปลงตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนครับ เรื่องนี้ยาว ไปชงกาแฟอุ่น ๆ มาด้วยนะครับ

ขอแบ่งขนิดหนังสือก่อนครับ ผมจะแบ่งหนังสือเป็นสามอย่างคือ หนังสือที่ใช้ในหน้าที่การงาน (หรือการเรียนหากน้องยังเรียนอยู่) หนังสือที่อ่านเพื่อพัฒนาความรู้ และหนังสือเพื่ออารมณ์และความรู้สึก สัดส่วนในการอ่านของผมคือ 5:3:2 ซึ่งสัดส่วนนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้นะครับ ในบางช่วงบางจังหวะของชีวิตที่ต้องศึกษามาก อาจจะใช้สัดส่วน 8:0:2 เลยแต่สิ่งที่อยากให้ทำคือจัดแบ่งชนิดของหนังสือก่อนครับ เรามาดูในแต่ละชนิด

หนังสือเพื่อหน้าที่การงาน แต่ละคนจะต้องใช้ต่างกัน หนังสือเพื่อพัฒนาความรู้ของบางคนอาจเป็นหนังสือเพื่อหน้าที่การงานของอีกคน เช่น ผมเองเวลาอ่านหนังสือเรื่องการเงินการลงทุน คือหนังสือหมวดพัฒนาความรู้ของตัวเองแต่อาจเป็นหนังสือในหน้าที่การงานที่คนในอาชีพนักวางแผนการเงินต้องใส่ใจกว่า 50%

  ในหนังสือหมวดนี้สิ่งสำคัญคือต้องทำประจำ ไม่ว่าจะอ่านเพื่อเรียนเพื่อสอบ อ่านเพื่อแก้ไขปัญหาการทำงาน หรือเพื่อทบทวนความรู้ ต้องมีเวลาส่วนนี้อ่านหนังสือนี้เป็นตาราง เป็นกิจวัตรครับ  ส่วนใครจะวางตารางอย่างไรแล้วแต่คน ผมจะขอยกตัวอย่างตัวเองนะครับ
  ผมจะใช้เวลาในการอ่านหนังสือเพื่อหน้าที่การงานทุกวัน วันละสองถึงสามชั่วโมงโดยประมาณ เวลาที่ใช้ส่วนใหญ่คือหลังละครจบก่อนเข้านอน และในสองถึงสามชั่วโมงนี้ในแต่ละช่วงของปีจะโฟกัสต่างกันด้วย

  สี่เดือนจะเป็นความรู้การแพทย์พื้นฐาน หยิบมาทบทวนเช่นสรีรวิทยา ชีวเคมี กายวิภาค พยาธิวิทยา พันธุกรรม เภสัชวิทยา สี่เดือนจะเป็นอายุรศาสตร์ในทุกสาขา และอีกสี่เดือนเป็นความรู้ด้านเวชบำบัดวิกฤต อันนี้คือแผนใหญ่อ่านสะสมไปเรื่อย ๆ วนไปเรื่อย ๆ ในทุกปี ตั้งเรื่องที่จะอ่านในแต่ละช่วงและอ่านเสริมในเรื่องที่ต้องต่อยอดเป็นของแถม
  เช่น ในระยะเวลาที่อ่านการแพทย์พื้นฐาน ในช่วงปีนี้คือสี่เดือนนี้ทบทวนชีวเคมีเรื่อง สารอาหาร จึงออกมาเป็นบทความชีวเคมีของไขมัน และเภสัชวิทยาเรื่องยาแก้ปวด สรีรวิทยาของระบบไหลเวียน ตั้งใจไว้ประมาณนี้ ค่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ ส่วนในสี่เดือนแรกจะอ่านเรื่องราวของอายุรศาสตร์ระบบโรคข้อและรูมาติซั่ม กับอายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร ทั้งหมดนี้จะอ่านแบบทบทวนนะครับ เช่นจาก Harrison, CMDT

  แต่ในสองถึงสามชั่วโมงนี้ใช้เวลาอ่านทบทวนต่าง ๆ ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งจะเป็นการสืบหาปัญหาคนไข้ที่ต้องเจอในแต่ละวัน ที่อาจเป็นเรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องที่ตั้งใจไว้ และวารสารที่ออกมาใหม่ ๆ ผมตั้งใจอ่านสัปดาห์ละอย่างน้อยสี่เปเปอร์ครับ

  ผ่านไปสามถึงสี่ปี เราก็จะทบทวนได้มาก ยิ่งอ่านมากยิ่งทำสม่ำเสมอ ครั้งต่อไปจะยิ่งใช้เวลาสั้นลง เข้าใจเร็วขึ้น สามารถเพิ่มความรู้ใหม่ ๆ ได้มากขึ้นไม่เสียเวลาทวนของเดิมอย่างเดียว ข้อสำคัญคือต้องให้เวลาตรงนี้และทำอย่างสม่ำเสมอ อย่าโกง

  หนังสือหมวดที่สอง หนังสือเพื่อพัฒนาความรู้ คนเราควรมีความรู้ด้านกว้างด้วยครับ การมีความรู้กว้างนอกจากทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเข้าใจมากขึ้น ยังมองสิ่งที่เราเชี่ยวชาญในอาชีพของเราดีขึ้นอีกด้วย

  เวลาในการอ่านหนังสือหมวดนี้ จะเป็นช่วงว่างครับใช้การสะสม การผ่อนส่ง เช่นหลังอาหารเช้า ช่วงว่างตอนบ่าย หรือเวลารออาหาร กินกาแฟ ดังนั้นข้อสำคัญคือต้องมีหนังสืออยู่พร้อมจะอ่านตลอดเวลา หลายคนใช้วิธีอ่านสองถึงสามเล่มในเวลาเดียวกัน วางหนังสือตามที่ต่าง ๆ อยู่ที่ไหนอ่านที่นั่น แต่สำหรับผม ผมจะอ่านทีละเล่ม ผมจึงพกหนังสือติดตัวตลอด หนังสือบางเล่มนอกจากอ่านแล้วจะจดโน้ตด้วย ก็จะพกหนังสือ สมุด ปากกาพร้อมกัน
  เช่น ประมาณสัปดาห์ก่อนผมอ่านเรื่องความรู้การแพทย์ทางเลือก ก็จะพกหนังสือไว้ติดตัว (ไม่ได้ขีดหรือติดโพสต์อิตเพราะเป็นหนังสือห้องสมุด) วางแผนจะศึกษาสี่เล่มใช้เวลาทั้งหมดสองถึงสามสัปดาห์

  หนังสือหมวดนี้เลือกที่คุณสนใจนะครับ เนื่องจากความสนใจผมกว้างมากจึงอ่านมาก ไม่ค่อยชอบหาจากอินเตอร์เน็ต จึงอ่านเยอะมากเพื่อมาประกอบเรื่องราว บางทีก็ได้เรื่องอื่นแถมมาบ่อย ๆ

  หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องจดโน้ตด้วย เพราะอ่านหลายเล่มในเรื่องเดียว และผมยืมหนังสือห้องสมุดบ้าง ซื้อมาแล้วขายต่อบ้าง ถ้าไม่บันทึกจะต่อไม่ติด ในเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนังสือหมวดนี้ที่ผมอ่านคือ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อ่านทั้งภาษาไทยและอังกฤษไปห้าเล่ม บันทึกได้พอสมควร วาดภาพ แผนภูมิ เราจึงเข้าใจมากขึ้น

  มาถึงหนังสือหมวดที่สาม เพื่ออารมณ์และความรู้สึก การจัดหนังสือเพื่ออารมณ์และความรู้สึกนี้แล้วแต่คนนะครับ อย่างหนังสือเรื่อง mindset, อิคิไก, ทำอาหาร, ท่องเที่ยว ผมจะจัดเป็นหมวดหมู่เพื่อความรู้สึก แม้ว่าหนังสือจะเป็นจิตวิทยาการพัฒนาตัวเอง หรือสอนการเที่ยว ผมอ่านเพื่อเติมเต็มความรู้สึกอยากอ่านอยากรู้ ถามว่าเอาไปใช้ได้ไหมก็เอาไปใช้ได้ เพียงแต่ไม่ได้จริงจังเหมือนหมวดพัฒนาความรู้ของผมครับ แต่เมื่อใดที่ตั้งใจจะพัฒนาหรืออ่านจริงจังจะขยับไปอ่านตามแบบที่สองครับ
   ส่วนหนังสือนิยาย เรื่องสั้น นิยายแปล วรรณกรรม การ์ตูน ผมก็จะจัดในหมวดนี้เช่นกันครับ (บางเรื่องที่จริงจังเช่น รามเกียรติ์หรือสามก๊ก ผมจัดไปเป็นหมวดพัฒนาความรู้เพราะจริงจังมาก)

  หนังสือหมวดนี้ในส่วนตัวจะอ่านเมื่ออยากอ่าน หรือสลับฉากเวลาเบื่อและเหนื่อยจากสองหมวดแรก ไม่ได้ระบุเวลาชัดเจน เพียงแต่เวลาอ่านแล้วมักจะติดลม บางครั้งจะเลยเถิดไปเบียดเวลาของหนังสืออ่านเพื่อพัฒนาความรู้บ้างก็ไม่เป็นไร ยืดหยุ่นได้ เวลาติดลมบางทีไม่นอนก็มีนะครับ ตอนที่อ่านนิยายของปราปต์ นิยายชุดนักสืบกาลิเลโอ บางทีเริ่มเที่ยงคืนกะว่าสักชั่วโมงก็พอ ปรากฏว่าตีสี่ครับ จบเล่มหรือจบสองเล่มก็มี

  หนังสือกลุ่มนี้ผมจะอ่านเวลาเฝ้าคนไข้ อยู่เวร (เป็นคนที่แปลกคือเวลางานจะไม่อ่านหนังสือวิชาการ แต่จะอ่านนิยาย) หรือเวลาปลอดจากงานและภาระใด ๆ แล้วยาว ๆ เช่นเวลาเดินทางบนรถโดยสาร ขึ้นเครื่องบิน เป็นการฆ่าเวลาด้วย

  เพราะหนังสือหมวดนี้เราอ่านเพื่ออารมณ์และความรู้สึกครับ อ่านเอามัน อ่านเอาอยากรู้ จึงไม่ได้ใช้เวลามากนัก แต่ละเล่มหรือแต่ละเรื่องจึงอ่านจบได้เร็วและหลายครั้งก็นำมาอ่านซ้ำในเวลาและอารมณ์ที่ต่างกันครับ

  อันนี้คือการวางแผน การอ่านเพื่อการงานอาชีพจะวางแผนเป็นหลักการ การอ่านเพื่อพัฒนาความรู้จะตั้งเป้าเรื่องอยากรู้แล้วกะเวลาคร่าว ๆ หลวม ๆ ในช่วงสั้น ๆ สองถึงสามสัปดาห์ในแต่ละเรื่อง ส่วนการอ่านเพื่ออารมณ์และความรู้สึกจะไม่ได้วางแผนอะไร คิดอยากหรืออะไรแว่บเข้ามาทำให้อยากก็จัดการเลย เติมเวลาที่เหลือหรือแทรกเพื่อตัดอารมณ์เครียด
  อีกประการที่นำมาคิดคือ เรื่องงบประมาณหนังสือ ช่วงไหนตึงมือก็จะเอาเรื่องเดิมมาอ่านซ้ำ ไม่ได้มีเรื่องอื่นเพิ่ม หาวารสารฟรี หรือไปหาหนังสือจากในห้องสมุด ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยยืมหนังสือมาอ่านที่บ้าน ชอบไปอ่านให้จบหรือให้เสร็จในเป้าที่ต้องการที่ห้องสมุดมากกว่าไปเลือกมาอ่านครับ

  เดิมทีผมเป็นคนที่เรียนหนังสือปานกลาง แต่ก็ถือเป็นโชคดีเพราะการที่เราเรียนไม่ได้เก่งมาก เราจึงต้องอาศัยทักษะอื่นมาชดเชย ต้องอาศัยอ่านมาก อ่านบ่อย อ่านเข้าไป ฝึกสรุป ฝึกเขียน ทำบ่อย ๆ เข้าสิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี สิ่งที่ได้แน่ ๆ คือทักษะการอ่าน การจับใจความ การคาดเดาเรื่อง การ skim การ scan
  พอทำไปนาน บ่อย สม่ำเสมอ ไม่ท้อ ทำให้อ่านได้เร็ว มีสมาธิอ่านหนังสือได้ง่าย อ่านได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีแสงสว่าง สามารถอ่านแล้วพักและกลับมาต่อจุดเดิมได้ ทั้งตำราหรือนิยาย

  สำหรับน้อง ๆ พี่ ๆ เพื่อน ๆ ไม่มีใครเริ่มใหม่ไม่ได้ ถ้าอยากอ่าน อยากจัดสรรเวลา ต้องลองทำและปรับแต่งไปด้วยตัวเอง อดทน อย่าขาดวินัย ไม่มีอะไรง่ายแต่ก็ไม่มีอะไรยาก

  แหม..ยังอยากเล่าต่อไปเรื่อง การอ่านในยุคเทคโนโลยี มันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านของเราอย่างไร อีบุ๊ก แทบเล็ต พ็อดคาสต์ ออดิโอบุ๊ก สังคมออนไลน์ แยกเล่าได้อีกเรื่อง ถ้ามีคนอยากรู้จะเขียนเล่าให้ฟัง

  หรือจะมาเล่าสู่กันฟังในงาน #สุขใจที่ได้อ่าน2 วันเสาร์ที่ 3 ส.ค.นี้ก็ได้นะครับ แหะ ๆ แอบขายของ

บทความที่ได้รับความนิยม