25 กรกฎาคม 2562

การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบในหญิงตั้งครรภ์

การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบในหญิงตั้งครรภ์

เมื่อวานวารสาร JAMA ได้ลงสรุปคำแนะนำของ US preventive services task force เรื่องนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจจึงขอมาขยายให้ฟังง่าย ๆ สักหน่อย ความสำคัญของเรื่องนี้ตามการศึกษาเขาให้เหตุผลว่าจะลดเด็กที่ต้องติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้มากมาย แต่ผมคิดว่าเราน่าจะมีอะไรได้มากกว่านั้น

อย่างแรก เจ้าโรคไวรัสตับอักเสบบี มันเป็นสาเหตุสำคัญมากของตับแข็งและมะเร็งตับในประเทศไทย จริง ๆ ก็ทั่วทุกที่ในโลกด้วย เราสามารถป้องกันและลดโอกาสการติดต่อได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การจัดการแม่ผู้ติดเชื้อ การฉีดวัคซีน และแม้แต่เมื่อติดเชื้อแล้วก็ยังสามารถดูแลได้ดีเพื่อลดการเกิดผลแทรกซ้อนไม่ว่าการใช้ยากิน (lamivudine, tenofovir, entecarvir) หรือยาฉีด (interferon alpha) 

หากยังไม่ตั้งครรภ์ ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน คือยังไม่เคยติดเชื้อหรือไม่ได้วัคซีน หรือได้วัคซีนแล้วภูมิไม่ขึ้น อันนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคู่นอนมากกว่าหนึ่ง อาชีพแพทย์พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ผู้ชายก็ควรฉีดเช่นกันครับ หากติดเชื้อให้เข้าติดตามการรักษาตลอดนะครับ ที่ผมเจอบ่อย ๆ คือติดเชื้อแต่ไม่มีอาการเลยปล่อยตามเลย

เอาล่ะคราวนี้มาถึงคำแนะนำแล้ว สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นครรภ์ที่เท่าไร เคยตรวจมาแล้วว่าไม่ติดก็ตามที ทุกครั้งที่ตั้งครรภ์ใหม่ต้องตรวจเสมอ ตรวจให้เร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ เพราะแม้ครั้งที่แล้วเราไม่ติด ครั้งนี้เราท้อง...เราต้องซั่ม เราต้องสด แน่นอนเราจะมีโอกาสติดเชื้อครับ

ผลเลือดที่ใช้ตรวจคือ HBsAg ใช้วิธี immunoassays ที่มีความไวและความจำเพาะสูงมาก เรามากล่าวถึงกรณีไม่ติดเชื้อ สำหรับเด็กให้ฉีดวัคซีนตามปรกติครับ สำหรับแม่ให้พิจารณาฉีดวัคซีนในกรณีเป็นกลุ่มเสี่ยงข้างต้น หรือจะฉีดไว้ก็ได้ เลือกฉีดตอนตั้งครรภ์หรือหลังตั้งครรภ์ก็ได้

ในกรณีผลเป็นบวก สำหรับลูก คุณหมอจะให้ฉีดวัคซีนและอิมมูโนโกลบูลิน (โปรตีนที่จับทำลายเชื้อ) ใน 12 ชั่วโมงแรกหลังคลอดและจะฉีดวัคซีนลูกให้ครบคอร์สในแปดเดือน มีการตรวจติดตามว่าการป้องกันในลูกสำเร็จไหมเมื่ออายุประมาณ 1 ปี  สำหรับแม่จะต้องทำการตรวจอีกหลายอย่าง ตัวที่สำคัญที่สุดคือ ปริมาณเชื้อไวรัสที่เรียกว่า HBV DNA viral load และพูดคุยตัดสินใจกับหมอ เรื่องการกินยาต้านไวรัสเพื่อลดปริมาณไวรัสให้น้อยที่สุดเพื่อลดโอกาสติดไปสู่ลูก คำแนะนำให้ใช้ยา tenofovir  เมื่อปริมาณไวรัสมากกว่า 200,000 IU/mL 

ทำไมต้อง 2 แสน จากเอกสารอ้างอิงหมายเลข 4-6 (ใครอยากอ่านภาพรวมแนะนำวารสารหมายเลข 4) ของวารสารนี้มีการศึกษาการให้ยา tenofovir ที่ตั้งกลุ่มที่จะให้ยาที่ 2 แสนที่ทางผู้วิจัยเรียกว่า ปริมาณเชื้อมาก ผลปรากฏว่าหากให้ยาและใช้มาตรการการฉีดวัคซีนและอิมมูโนโกลบูลินร่วมด้วยแล้วนั้น สามารถลดโอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากแม่ได้อย่างมีนัยสำคัญและลดลงมากเสียด้วย  เพราะการใช้ยาที่เราเคยรู้ ๆ กันนั้นมาจากการศึกษาการติดเชื้อเมื่อเรื้อรังและค่าการทำงานของตับสูงกว่าปรกติ แต่ในหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้มาสนใจระยะของโรคหรือค่าการทำงาน มุ่งเป้าทีี่ลดปริมาณไวรัสเพื่อลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกนั่นเอง

อ่านฉบับเต็ม ฟรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม