23 กรกฎาคม 2562

ตรวจภูมิคุ้มกันไข้เลือดออก

"สถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นสูงมาก" พาดหัวข่าวเดียวกันนี้ในหลาย ๆ สื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความตื่นรู้ทำให้ผู้คนที่มีไข้เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลเร็วขึ้น เพิ่มโอกาสการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่ม เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดผลข้างเคียงรุนแรง แต่ต้องระวังสิ่งหนึ่งด้วย...ผลการตรวจทาง serology

  การวินิจฉัยไข้เลือดออกในทางปฏิบัติ อาศัยอาการ การตรวจร่างกาย ท้องถิ่นและช่วงเวลาระบาด ร่วมกับผลการตรวจนับเม็ดเลือด (complete blood count) โดยติดตามเป็นระยะ ส่วนการวินิจฉัยเพื่อยืนยันการติดเชื้อ dengue virus ที่ชัดเจนจำเป็นต้องอาศัยการตรวจหาตัวเชื้อหรือปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อเชื้อ (ภูมิคุ้มกันของร่างกาย)
  คำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยในปัจจุบันแนะนำใช้ผลการตรวจทางซีโรโลยี การตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อด้วยแอนติเจน ชนิด NS1 และแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG สำหรับเชื้อไข้เลือดออกเดงกี่ ขอขีดเส้นใต้ย้ำสามครั้ง **เพื่อช่วยการวินิจฉัย** เท่านั้น

การตรวจชนิดนี้มีผลบวกปลอม มีผลลบปลอมได้ สามารถข้ามปฏิกิริยากับการติดเชื้ออื่น ๆ ที่เป็นไวรัสใกล้กันเช่นไข้สมองอักเสบ JE ,ไข้เหลือง, ไข้ชิคุนกุนย่า, ไข้ซิก้า หรือหากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของคนนั้น ๆ บกพร่องไปผลการตรวจก็คลาดเคลื่อน  แต่ที่สำคัญที่สุดคือที่จุดเวลาต่าง ๆ ของการเกิดโรคผลการตรวจจะต่างกัน

  เรามักจะตรวจพบ NS1 ได้ตั้งแต่วันแรก ๆ ของไข้และมักจะหายไปในวันที่สามหรือสี่ของไข้ เราจะตรวจพบ IgM ในวันที่สี่ของไข้ ส่วนระดับ IgG มักจะตรวจพบช้ากว่าอาจจะเป็นวันที่เจ็ดหากเป็นการติดเชื้อเดงกี่ครั้งแรก แต่จะตรวจพบเร็วกว่าและระดับขึ้นสูงมากในการติดเชื้อครั้งหลัง ๆ 
  หลายครั้งที่เราจะตรวจไม่พบในวันแรกของไข้ ประเด็นคือ ผู้ที่มาพบแพทย์เร็วในวันแรกหรือวันที่สองของการเกิดไข้ ด้วยความคาดหวังที่จะรู้เร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาเร็ว หากมาตรวจแล้วพบผล "negative" อาจจะชะล่าใจคิดว่าไม่ได้ติดเชื้อไข้เลือดออก ทำให้ชะล่าใจไม่ไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและวินิจฉัย กลับมาอีกครั้งอาจเกินเยียวยา

กลับไปที่ประโยคแรก...การวินิจฉัยต้องติดตามเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ามาพบหมอและตรวจเลือดจะใช่หรือไม่ใช่ จะต้องติดตาม สังเกตอาการและเข้ารับการตรวจตามนัดหรือหากจำเป็นก็ต้องเข้ารับการสังเกตอาการในโรงพยาบาล อย่าตัดสินด้วยผลเลือดแค่ครั้งเดียว

เพื่อป้องกันไข้เลือดออก คืนนี้เรามามุดมุ้งกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม