28 กุมภาพันธ์ 2560

พยาธิใบไม้ตับ liver flukes

พยาธิใบไม้ตับ liver flukes

พยาธิเจ้าถิ่นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พยาธิที่เลือกแดนอีสานบ้านเราเป็นเมืองหลวง พยาธิที่เรารู้แต่ไม่ค่อยกลัว
ผมว่าพวกเราทุกคนรู้จักพยาธิใบไม้ในตับกันทุกคน จากการให้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วง 30 ปีหลังมานี้ ทราบว่าอย่ากินปลาดิบ ทราบว่าเป็นมะเร็ง..แต่ทำไมเรายังพบอยู่ตลอด เพราะเรามักเข้าใจผิดว่า ปลาส้ม ปลาจ่อม ปลาร้า มันไม่มีพยาธิ ลาบปลา ก้อยปลา ที่ใส่เหล้า บีบมะนาว มันฆ่าพยาธิได้นั่นเอง มันไม่ใช่ มันไม่จริง มันไม่ได้ ต้องทำสุกเท่านั้นนะครับ

พยาธิใบไม้ในตับ ชื่อเพราะๆของมันคือ Opisthorchis viverrini (ดูปากนิชานะคะ โอ-พิส-โท-คีส ฟวิ-เฟวอร์-ริ-นี่ ตรง..เฟวอร์..ให้ออกเสียงเหมือนวู้ดดี้เวลาโฆษณากระทะ..เฟอรรรรร)

กลุ่มพยาธิตัวแบน ที่พักอาศัยที่เป็นที่อยู่ปัจจุบัน เป็นภูมิลำเนาเลย คือ ทางเดินน้ำดีของมนุษย์ แมว หมา มันก็จะเติบโตออกลูกออกหลานกันในทางเดินน้ำดีเรานี่แหละครับ แถมตัวมันมีทั้งอัณฑะและรังไข่สมบูรณ์ในตัว ไม่ต้องกลัวโดนเท ได้มีลูกแน่ๆ ไข่พยาธิของมันก็อาจหลุดออกมาทางลำไส้ปะปนมากับอุจจาระ ..ตรงนี้เราก็จะตรวจพบได้..หลุดมาอยู่ในแหล่งน้ำ
มันจะมีเจ้าหอยน้ำจืดที่ชื่อว่า หอยไซ Bithynia มีมากมายตามแหล่งน้ำธรรมชาติตัวเล็กมากขนาดหัวเข็มหมุดถึงลูกปัดเท่านั้น ระยะนี้จะยังไม่ติดต่อไปถึงคนนะครับ ตัวอ่อนระยะนี้อาศัยอยู่ในหอยจนแข็งแรงดี แล้วก็จะออกจากตัวหอย คราวนี้มันแกร่งพอที่จะว่ายน้ำเองไปหาเจ้าปลาน้ำจืดตระกูลปลาตะเพียน ปลาแก้มช้ำ ปลาขาว ที่ชาวอีสานบ้านเฮาชอบเอามาทำอาหาร มันว่ายน้ำไปไชชอนฝังตัวอยู่ในเนื้อปลาในรูป ซีสต์ ฝังตัวเงียบๆนิ่งๆ รอคนจับปลาไปทำอาหาร

ถ้าสุก…มันตายเรียบครับ แต่ถ้ากินดิบๆสุกๆ เมื่อเนื้อปลาลงไปสู่ลำไส้ มันจะแตกออก..หึหึ..มันจะตื่นจากจำศีล..เดินทางเข้าสู่ท่อน้ำดีจากรูเปิดที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (ไม่รู้มันไปเรียนกายวิภาคมาตอนไหน) เข้าสู่ที่ชอบที่ชอบ ออกลูกหลานกันต่อไป
เมื่อมีการติดเชื้อเราเชื่อว่า ปริมาณมากๆ ทำให้อุดตันได้ และการอักเสบเรื้อรังผ่านสารอักเสบที่เป็นสารก่อมะเร็ง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เซลเยื่อบุทางเดินน้ำดี เจริญเติบโตผิดปกติจนหยุดยั้งไม่ได้ กลายเป็นทางเดินน้ำดีอักเสบและอุดกั้นเรื้อรัง สุดท้ายก็กลายเป็นมะเร็งทางเดินน้ำดี

ตั้งแต่ปี 2470 ที่ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรหมมาศ พบพยาธิในท่อน้ำดีในศพชาวอีสาน หลังจากนั้นก็ได้ศึกษามาเรื่อยๆ จนเมื่อปี 2506 อาจารย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ และอาจารย์ณัฐ ภมรประวัติ ได้เดินหน้าศึกษาว่าการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับตัวนี้เป็นสารก่อมะเร็ง จนได้รับการพิสูจน์และยืนยันว่า เจ้า O.viverrini นี้เป็นสารก่อมะเร็งทางเดินน้ำดีอย่างชัดเจน

การตรวจทำได้โดยการตรวจอุจจาระ และตรวจเลือดหาสารองค์ประกอบหรือปฏิกิริยาจากภูมิคุ้มกัน การตรวจอุจจาระทำได้ง่ายและราคาถูกที่สุดก็จะพบไข่พยาธิครับ เมื่อพบให้กำจัดดัวยยา praziquantel ขนาด 75 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน แบ่งให้สามเวลา โดยกินพร้อมอาหารและดื่มน้ำตาม ใช้เวลารักษา 2 วัน โอกาสหาย 91-95% ในอีกสี่สัปดาห์ลองตรวจอุจจาระถ้ายังพบไข่พยาธิให้กินยาซ้ำอีกครั้งครับ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องเลิกกินปลาดิบด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นก็ไม่หายแน่นอน

-บทความ พยาธิใบไม้ตับ จากเว็บไซต์คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
-บทความเรื่อง พยาธิใบไม้ตับ ของ อ.คม สุคนธสรรพ์ คณะแพทย์เชียงใหม่
-สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
-พยาธิใบไม้ตับในไทย จาก วารสารวิชาการ ม.อุบลฯ โดย อ.ณัฐวุฒิ แก้วพิทูลย์
-Center of Disease Control ,USA

27 กุมภาพันธ์ 2560

โรคมะเร็งท่อน้ำดี

มะเร็งท่อน้ำดี  มะเร็งที่พอจะหลีกเลี่ยงได้

  ท่อน้ำดี ทางเดินจากเซลตับรวมกันออกมานำส่งน้ำดีเข้าสู่ลำไส้ มีถุงน้ำดีคอยเป็นแก้มลิงพักน้ำดีเอาไว้และปรับปรุงคุณภาพน้ำดีให้เข้มข้นก่อนส่งสู่ลำไส้ ท่อน้ำดีมีทั้งในตับและนอกตับ มะเร็งท่อน้ำดีก็สามารถเกิดได้ทั้งในตับและนอกตับเช่นกัน บางครั้งทำให้เราสับสนกับมะเร็งตับ (จากเนื้อตับเอง Hepatocellular carcinoma) เพราะเซลต้นกำเนิดมาจากคนละแหล่งกัน การตรวจและรักษาก็แตกต่างกัน

   มะเร็งชนิดนี้มักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น อาการจะพบเมื่อโรคเข้าสู่ระยะท้ายหรือมีผลแทรกซ้อนแล้ว อาการที่พบบ่อยคือ อาการของท่อน้ำดีขยายขนาดและอุดตัน ท่อน้ำดีที่ขยายขนาดก็จะมีน้ำดีมากแต่ว่าไม่ได้ไหลดีนัก น้ำดีที่มากก็จะมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองแบบค่อยๆเป็น คันตามตัวจากน้ำดี ปัสสาวะสีเข้มมากๆคล้ายน้ำเก๊กฮวยแก่จัดๆ หรือสีน้ำชาจีนแก่ๆเลยทีเดียว  อุจจาระจะมีสีซีดจางลงเพราะสีน้ำดีนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของสีอุจจาระ หรืออาจเกิดการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี
    การตรวจร่างกายคงต้องตรวจหาโรคตับอื่นๆด้วย ผู้ป่วยที่จะคลำได้ก้อนหรือปวดนั้นมีน้อยครับ การตรวจร่างกายที่ดีก็จะพอแยกสาเหตุการเหลืองที่ดี ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม โดยเฉพาะการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการคัดกรองเบื้องต้นโดยการทำอุลตร้าซาวนด์  และถ้าพบว่าเป็นโรคการรักษาที่ดี  คือการผ่าตัดออกให้หมดทั้งส่วนในตับและนอกตับ ซึ่งไม่ได้ทำง่าย การรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสงยังไม่ได้เป็นการรักษามาตรฐาน จึงให้พิจารณาเป็นรายๆไป ในกรณีที่ผ่าไม่ได้ อาจต้องใส่สายช่วยระบายน้ำดีให้ไหลออกได้สะดวกขึ้นครับ อาจทำได้โดยการผ่าตัด การส่องกล้อง หรือ ทำผ่านทางหน้าท้องเลย

    โรคนี้สำคัญเพราะมักจะมาพบเมื่ออาการมากแล้ว โอกาสมีชีวิตรอดในช่วงห้าปีค่อนข้างต่ำ ในตับก็ 6-15% นอกตับอาจจะดีขึ้นเพราะพอแก้ไขได้ง่ายกว่าคือที่ 24-30% ถ้าเราสามารถคัดกรองได้ก็จะมีประโยชน์มาก การตรวจคัดกรองนั้นแม้ว่าหลักฐานจะยังไม่เพียงพอว่าจะให้ทำทุกราย ทำเฉพาะกลุ่มเสี่ยง  ก็ถือว่าคนไทยเป็นกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มในโลกที่คัดกรองแล้วมีประโยชน์เพราะว่า กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือโรคของท่อน้ำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ที่พบสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งชนิดนี้มากที่สุดในโลกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เมืองหลวงแห่งมะเร็งท่อน้ำดี

   การคัดกรองโรคนี้ทำได้ในสามระดับ ระดับแรกอย่าให้เกิด ระดับสองถ้าเกิดก็ตรวจทราบให้เร็ว ระดับสามคือรักษาให้หายและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

    แน่นอนว่าการกินปลาน้ำจืดแบบมีเกล็ด แบบกินดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ เข้าใจผิดว่าน้ำมะนาว เหล้าจะทำให้สุกได้นั้นมันไม่จริง วิธีที่จะหลีกเลี่ยงคือการกินอาหารปรุงสุกและล้างมือให้สะอาดสม่ำเสมอ เห็นไหมครับ เป็นวิธีง่ายๆแต่ทรงประสิทธิภาพมาก เพราะลดความเสี่ยงตั้งแต่ต้นเลย
   วิธีการต่อมาคือคัดกรองการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini) โดยการตรวจอุจจาระหากพบก็ให้ยารักษาและให้กินปลาสุก  และการคัดกรองด้วยการทำอัลตร้าซาวนด์ช่องท้องในกลุ่มเสี่ยง คืออายุมากกว่า 40 ปีเป็นคนที่พำนักในภาคอีสาน มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งตับหรือมีอาการจุกแน่นท้องเข้ารับการรักษาถูกต้องหนึ่งเดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น   สองวิธีนี้ก็จะลดโอกาสการพัฒนาไปเป็นมะเร็งท่อน้ำดีหรือถ้าเป็นก็อาจรักษาได้ทัน ผลแทรกซ้อนไม่มากนัก

   สองวิธีนี้เป็นการคัดกรองที่เป็นโครงการของประเทศเราเพราะประเทศเราพบบ่อยและเป็นปัญหา ยังไม่มีแนวทางการคัดกรองที่ชัดเจนจากที่ใด กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการคัดกรองมาตั้งแต่ปี 2556 ในชื่อ CASCAP ต่อมาทางกระทรวงยกระดับโรคนี้เป็นปัญหาระดับชาติในปี 2559 ในชื่อ โครงการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ถวายเป็นพระราชกุศลฯ เรียกสั้นๆว่า ISAN cohort  

  ผลการคัดกรองพยาธิจนมาถึง 27 กพ.2560 คัดกรองทั้งหมด 515,921 คน  ให้การรักษาพยาธิ 1553 คน ทำอัลตร้าซาวนด์คัดกรอง 256,561 คน สงสัยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี 3,214 คน คิดเป็น 1.2% (จากคนที่เสี่ยงและเข้าทำอัลตร้าซาวนด์)  ทั้งหมดก็พบมากที่ภาคอีสานและเชียงราย ส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่รับการผ่าตัดเพื่อหายขาด 1,085 ราย ประคับประคอง 887 ราย
   สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://cloud.cascap.in.th

โครงการนี้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วย คัดกรองผู้เสี่ยงและได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งท่อน้ำดีอีกมากมาย  อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงอยากรู้จักพยาธิใบไม้ในตับกันแล้วใช่ไหมครับ รอติดตามกันนะครับ

จาก แนวทางการตรวจคัดกรองวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2554

Guidelines for diagnosis and treatment of cholangiocarcinoma, British Society of Gastroenterology 2012

American Cancer Society website

เครดิตภาพ : riskcomthai.org

  

26 กุมภาพันธ์ 2560

หมอที่มาเป็นประมุขประเทศ

เมื่อหมอ...ลาออก..จะไปทำอาไร๊ ลองดูจากหมอ 3 คนนี้ครับ

คนแรก Benjamin Henry Sheares
คุณหมอชาวสิงคโปร์ เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนแพทย์เก่าแก่แห่งหนึ่งในอาเซียนคือ The King Edwad VII College of Medicine ที่สิงค์โปร์ ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ National University of Singapore สถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผ่านประวัติศาสตร์มาคู่กับประเทศสิงคโปร์ มาตั้งแต่ปี 1905 หรือปี พ.ศ.2448 ภายหลังการก่อตั้งคณะแพทย์แห่งแรกในเมืองไทย ปี 2433
คุณหมอเป็นศิษย์เก่าดีเด่น เพราะคุณหมอเรียนจบในปี 1929 หลังจากนั้นได้ทุ่มเทการทำงานทางสูติศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นบิดาของสูติศาสตร์ของสิงคโปร์ เป็นสูตินรีแพทย์ยุคต้นๆ ก่อร่างสร้างงานสูติศาสตร์มาตั้งแต่นับหนึ่ง และก็ได้มาเป็นศาสตราจารย์ทางสูติศาสตร์ที่ The King Edward VII College of Medicine นี่เอง และเป็นผู้วางรากฐานการวางแผนครอบครัวในสิงคโปร์
เมื่อเขาเลิกเป็นหมอ เขาไปเป็นประธานาธิบดีสิงค์โปร์ คนที่สองครับ ใช่แล้ววว ฟังไม่ผิดพอเลิกเป็นหมอก็ไปเป็นประธานาธิบดีกว่า 10 ปี โดยยังใช้ชีวิตสมถะเหมือนเดิม และเสียชีวิตในหน้าที่ขณะเป็นประธานาธิบดีปีที่ 10 ชื่อของท่านก็ชื่อถนนหน้าโรงแรมและสะพานข้ามอ่าวตรงโรงแรมมาริน่าเบย์แซนด์

คนที่สอง Mahathir bin Mohamad
คุณหมอชาวมาเลเซีย ขีวิตวัยเด็กค่อนข้างลำบาก ยากจน จึงดิ้นรนและตั้งใจเรียนมากคุณหมอเกิดในปี 1925 ระหว่างเรียนมัธยมก็เกิดมหาสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากต้องหยุดเรียนไม่นานและทำงานเก็บเงิน ขายกาแฟ ขายกล้วยแขก คุณหมอมหาธีร์กลับมาเรียนอีกครั้งจนจบและเข้ารับการศึกษาที่ the King Edward VII school of Medicine อีกแล้วจนจบแพทย์ เรียกว่าสถาบันนี้มีศิษย์ที่เรียนจบและโด่งดังมากมาย (...บ้านเราก็ต้อง รร.นายร้อย จปร.)
หลังจากทำงานให้รัฐบาลมาเลเซียจนถึงปี 1956 คุณหมอก็ลาออกกลับไปเปิดร้านที่ อลอร์สตาร์ บ้านเกิด เป็นหมอคนเดียวที่นั่น กิจการรุ่งเรืองมาก จนฐานะทางการเงินมั่นคง
เริ่มลงเลือกตั้งท้องถิ่นในพรรคอัมโนและได้รับเลือกตั้ง เคยถูกขับออกจากพรรคและกลับมาใหม่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม สร้างชื่อตอนเป็น รมต.ศึกษาธิการปี 1978 และก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ ในปี 1981 สร้างความยิ่งใหญ่กับมาเลเซียจนถึงปี 2003 หมอมาเป็นนายกฯอีกคนแล้ว มาดูคนที่สามบ้าง

คนที่สาม แอดมินเพจอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว medicine4layman
หลังจากที่คุณหมอรักษาคนไข้อย่างมากมาย ใช้ความพยายามและความชอบเขียนบทความลงเพจ เวิ่นเว้อก๊อกๆแก๊กๆไปตามเรื่อง เขียนนั่นบ้างนู่นบ้างตลกไปวันๆ จนอายุมาก บั้นปลายชีวิต คุณหมอลาออกจากชีวิตแพทย์ มุ่งหน้าไปจังหวัดห่างไกล เซ้งตึกแถวเล็กๆสามชั้นในตลาด ชั้นล่างเปิดเป็นร้านหนังสือมือสอง มีมุมชงชาให้ลูกค้าดื่ม เก้าอี้สองสามชุด เอาไว้คุยและแนะนำหนังสือกับลูกค้า บางวันก็ขยันทำขนมต้มแดงออกมาแจกคนที่เข้ามาในร้าน
ทุกเย็นคุณหมอปิดร้านด้วยความสดชื่นที่ได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดกับลูกค้า ออกไปวิ่งจ๊อกกิ้งที่สวนน้ำพุของเทศบาล มองดูสาวๆสวยๆ วิ่งออกกำลังไปตามเรื่อง พอชุ่มฉ่ำหัวใจ กลับมาคุณหมอก็ทำอาหารง่ายๆ จากสวนครัวหลังบ้าน ตกค่ำก็นั่งบันทึกเสียงตัวเองเป็นบทความที่ออกมาในรูป podcast ตามที่เคยทำมาตลอดตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ
ทุกเสาร์จะไปรับเป็นดีเจคลื่นเพลงลูกทุ่งรวงทอง ในชื่อ "หมอหน้ามล คนใจดี" คอยเปิดเพลงลูกทุ่งเพราะๆและตอบจดหมายแฟนๆ ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย และมีความสุข

แล้วคุณล่ะ..ถ้าลาออกจากอาชีพเดิม จะมาทำอะไร

25 กุมภาพันธ์ 2560

แนวทางการใช้ยารักษาไขมันผิดปกติของไทย ข้อควรรู้สำหรับประชาชน

แนวทางการใช้ยารักษาไขมันผิดปกติของไทย ข้อควรรู้สำหรับประชาชน

   สิ่งที่ต้องยอมรับก่อนนะครับ เรากินยาลดไขมันนี้ไม่ได้รักษาระดับไขมันเป็นหลัก แต่เพื่อลดโอกาสและความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหลัก และอย่างที่สองความผิดปกติของไขมันซึ่งจะก่อเกิดโรคหัวใจนี้ต้องแก้ไขโดยการกินยาครับ การควบคุมพฤติกรรมนั้นต้องทำแน่ๆแต่ว่าเมื่อต้องกินยาก็ต้องกินครับ  ประเด็นนี้จะไม่กล่าวอีก

1.ข้อแรกก่อน ใครบ้างที่ต้องกินยา
   สำหรับคนที่เป็นโรคหลอดเลือดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพาต หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ อันนี้คงใช้ยาแน่นอนนะครับ ข้อมูลสนับสนุนแน่นมาก ส่วนจะใช้ยาอะไรเดี๋ยวตามดูตอนท้าย ใช้ไปตลอดครับ ถ้าไม่เกิดผลข้างเคียงอันตรายมากๆจนต้องหยุดยา โอกาสเกิดผลข้างเคียงนั้นต่ำมากๆ
  สำหรับคนที่ยังไม่เป็นโรคหลอดเลือด ไม่มีโรคใดๆ

 **ต้องลองคุมอาหารและปรับพฤติกรรมก่อนเสมอสักครึ่งปี ยกเว้นกลุ่มพันธุกรรมผิดปกติ**  

ถ้ายังไม่ลดลงต้องกินยาแน่ๆ คือค่า LDL เกิน 190 ส่วนพันธุกรรมโรคไขมันในเลือดที่ผิดปกตินั้นกินยาตั้งแต่เริ่มเลย

2.แล้วถ้า LDL สูงแต่ไม่เกิน 190 ล่ะต้องกินยาไหม
อันนี้หลักฐานประโยชน์ของการกินยาไม่ชัดเจนเท่ากลุ่มแรก จึงต้องมาประเมินความเสี่ยงเพิ่ม คุณหมอจะคำนวณความเสี่ยงโดยเครื่องมือที่เรียกว่า Thai CV Risk Score โหลดได้มาใส่มือถือไว้ ถ้าคำนวณความเสี่ยงได้เกิน 10% หมายถึงโอกาสเกิดโรคหัวใจอย่างน้อย 10% ในเวลา 10 ปี กินยาแล้วน่าจะคุ้มค่าครับ แต่ก็จะลดระดับความเข้มข้นของการควบคุมลง   หรือถ้าคำนวณความเสี่ยงแล้วว่าน้อยกว่า 10% แต่ว่ามีโรคอักเสบเรื้อรัง วัดค่าความดันเลือดขากับแขนผิดปกติ มีประวัติคนในตระกูลเป็นโรคหลอดเลือดก่อนเวลาอันควร พวกนี้ก็น่าจะมีประโยชน์จากยาเช่นกันครับ

3.กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ต้องได้รับการพิจารณาทุกรายครับ คนไข้เบาหวานที่ต้องกินยาแน่ๆเพราะได้ประโยชน์สูงคือกลุ่มอายุมากกว่า 40 ปี  ส่วนถ้าอายุน้อยกว่านี้คุณหมอจะพิจารณาเป็นรายๆไปนะครับ   เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรัง คุณหมอจะพิจารณาเป็นรายๆไปครับ ที่สำคัญคือต้องปรับยาให้ขนาดเหมาะสมกับภาวะการทำงานของไต

ข้อหนึ่งเรียกป้องกันการเกิดซ้ำ (secondary prevention) ส่วนในข้อสองและสามเรียกการป้องกันก่อนเกิดโรค (primary prevention)  เราก็จะตกอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างแน่นอนครับ สามารถพิจารณาได้
    จะเลือกใช้ยาใดและความแรงเท่าใด ขึ้นกับความเสี่ยงและการจัดกลุ่มนะครับ

ในกลุ่มข้อหนึ่งจะเสี่ยงสูงมากเราจะใช้ยาในขนาดสูง หวังผลให้ลด LDL ลงอย่างน้อย 50% ของค่าเดิม

 ส่วนในข้อสองนั้นความเสี่ยงลดลงจะใช้ยาความแรงต่ำถึงปานกลาง เพื่อหวังผลลด LDL ลงอย่างน้อย 30%

 ส่วนในข้อสามก็จะใช้ยาความแรงปานกลางเพื่อหวังผลลด LDL อย่างน้อย 30% หรือได้ค่า LDL ต่ำกว่า 100 (เว้นถ้าเริ่มต้นก็สูงมากเกิน 190 จะยึดถือว่าเสี่ยงสูงตามข้อหนึ่ง)

  ยิ่งถ้าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้วอันนี้เสี่ยงมากถ้าลดลงได้ระดับ LDL น้อยลงกว่า 70 ได้ก็จะดี (หลอดเลือดสมอง ต้องการที่น้อยกว่า 100)

ก่อนหน้านี้เราไม่มีเป้าหมายกำหนด ก็ควบคุมดูจะเลื่อนลอยไปหน่อย และการที่มีเป้ากำหนดไม่ได้หมายความว่าพอถึงเป้าหมายแล้วจะหยุดกินยานะครับ มันหมายถึงเราใช้ยาได้ถึงระดับที่ควรจะปกป้องได้แล้วต่างหากให้ใช้ยาต่อไป แต่ถ้ายังไม่ถึงเป้าหมาย ก็ต้องมาพิจารณาว่าทำไทล่ะ อาจใช้ยาไม่สม่ำเสมอ มียาที่ตีกัน หรือต้องเปลี่ยนชนิดและความแรงของยา คุณหมอจะพิจารณาให้ครับ ... ถูกต้องแล้ว ถ้าเราเสี่ยง เรากินยาไปตลอดจนกว่าจะเกิดผลอันรุนแรงของยาจนต้องหยุดยาหรือต้องปรับลดความแรงลง

ยาที่ว่านั้น คือยาอะไร...ผลการศึกษาชัดเจนทุกสำนักทุกการศึกษาตลอดเวลามาสามสิบปี ว่ายากลุ่ม statin เป็นยาหลักครับ ผมจะแสดงยาที่ราคาถูก มีใช้กันทั่วไปผู้สูงอายุและไตเสื่อมระยะท้ายๆ ต้องปรับยานะครับ

 ยาความแรงสูง คือ ยา atorvastatin ขนาด 40-80 ต่อวัน หรือ rosuvastatin ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อวัน สองตัวนี้กินวันละครั้งได้ครับไม่จำเป็นต้องกินยาก่อนนอนก็ได้

ยาที่มีความแรงปานกลาง คือ ยาที่ simvastatin ขนาด 20-40 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ atorvastatin ขนาด 10-20 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ rosuvastatin ขนาด 5-10 มิลลิกรัมต่อวัน

ยาที่ความแรงต่ำ อันนี้ใช้ในผู้ป่วยกลุ่มข้อสอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เลยที่ไม่เป็นโรค คือ simvastatin ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อวัน อันนี้ต้องกินก่อนนอนนะครับ

ยาตัวอื่นๆประสิทธิภาพไม่ชัดเจนเท่ายา statin จึงเป็นยาที่ใช้เป็นตัวที่สองในกรณีใช้ statin แล้วลดลงไม่พอคือยา ezetimibe กับ fenofibrate ให้คุณหมอพิจารณาให้เราเป็นรายๆไปนะครับ
ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าถ้าค่า LDL ต่ำเกินไปจะมีผลอะไรที่ชัดเจนครับ แต่ถ้า LDL  ลดลงไปน้อยกว่า 40 ก็อาจลดยา statin ได้ครับ

อย่าลืมว่าการใช้ยาลดไขมันเป็นแค่การลดความเสี่ยงตัวหนึ่ง แบบหนึ่ง มันจะไม่ประสบผลสำเร็จถ้าปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเราไม่ดูแล ไม่ว่าจะเป็น การลดความดัน การควบคุมน้ำหนัก งดบุหรี่และเหล้า การออกกำลังกาย การกินอาหารเหมาะสม การดูแลโรคเดิมให้ดีเช่นกัน  ผลดีที่เกิดขึ้นจากการให้ยานี้ทั้งหมดมาจากการศึกษาที่ทุกคนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย  ไม่สามารถใช้ยาเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างเดียวมาลดความเสี่ยงได้

สำหรับคุณหมอทุกท่านต้องอ่านฉบับเต็มให้จบครับ ผมแนะนำทริกนิดนึง ให้อ่านแผนภูมิในภาคผนวก 3 ก่อนแล้วไล่อ่านเนื้อหาตามแผนภูมิครับ

http://www.thaiheart.org/Download/2016-RCPT-Dyslipidemia-Guideline.html

 

24 กุมภาพันธ์ 2560

โรคอันเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดมากขึ้น

ในภาวะปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น วิทยาการก้าวหน้าขึ้น คนเป็นเอดส์ไม่ตาย คนเป็นมะเร็งก็หาย วัคซีนไปทั่วทุกหัวระแหง ภาระการเจ็บป่วยและการตายได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้วในช่วง 25 ปีตั้งแต่ปี 1990 โรคติดเชื้อเดิมๆลดลงไป สาเหตุการตายการพิการในทุกๆภูมิภาคในโลกโดยองค์การอนามัยโลกและธนาคารโลก ได้ออกมาเป็นทางเดียวกันว่า ศัตรูอันดับหนึ่ง ตอนนี้คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหัวใจขาดเลือด และ โรคหลอดเลือดแดงสมองตีบ

ประเทศไทยเองนั้นได้ก้าวพ้นขีดประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว คาดเดาได้เลยว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เราก็จะต้องมีแต่ผู้ป่วยโรคนี้มากมายมหาศาล (ในประเทศกำลังพัฒนาสัดส่วนโรคนี้ยังสูสีกับโรคติดเชื้อ) แม้เราจะมีเทคโนโลยีที่ดีมากในการช่วยผู้ที่มีอาการของโรครุนแรงไม่ให้..ตาย..แต่พวกเขาก็ยังเป็นภาระและต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างมหาศาล มันจะดีกว่าหรือไม่ถ้าเราป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้..เป็นโรค..

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าสู่ยุคเบบี้บูมเมอร์ ช่วงที่เราต้องการแรงงานคนเข้ามาพัฒนาประเทศ เข้าสู่ยุคสงครามเย็น เราพัฒนาการป้องกันโรคไม่ทันปริมาณคนที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้คนเกิดมากขึ้น แต่ก็ตายมากขึ้น ในยุคนั้นคือ การตายจากการคลอดที่ไม่ปลอดภัย การขาดสารอาหาร และโรคติดต่อ สุขอนามัยที่แย่มาก ก่อกำเนิดเป็นองค์กรต่างๆที่มาแก้ไขปัญหาตรงนี้ไม่ว่าจะเป็น WHO, UNICEF, UNAIDS, FAO หรือองค์กรการกุศลต่างๆ มูลนิธิต่างๆของมหาเศรษฐีระดับโลก เข้ามาทุ่มเท การพัฒนายารักษาโรคเอดส์ การส่งอาหาร แก้ไขน้ำสะอาด ลงทุนเรื่องการเกิดรอดลูกปลอดภัย สร้างวัคซีนต่างๆ ในช่วง 50 ปีหลังมานี้ เรื่องพวกนี้ลดลง ผู้คนอยู่รอดมากขึ้น แต่เรากลับต้องมาเผชิญกับ ศัตรูอีกอย่างหนึ่งที่เกิดมาคู่ขนานกัน

เมื่อผู้คนอยู่ได้นานขึ้น อาหารการกินพัฒนาขึ้น โลกทุนนิยมเข้าครอบคลุมทั่วทุกที่ ในทางการแพทย์นั้น เราพัฒนาการรักษาไปถึงสุดยอดภูเขาน้ำแข็ง คุณเป็นอัมพาตมาในสี่ชั่วโมงครึ่ง เราก็มียาที่ช่วยได้ หลอดเลือดหัวใจคุณตีบเฉียบพลัน เราใส่สายสวนไปแก้ไขได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ถุงลมโป่งพองคุณกำเริบลมแทบไม่เข้าปอด เรามีเครื่องช่วยหายใจที่ปรับแรงดันได้ คุณหัวใจล้มเหลวปอดล้มเหลวร่วมกับไตวาย เราใส่เครื่อง ECMO ใส่เครื่องฟอกเลือด คุณก็รอดมาได้
แต่ขอถามว่ารอดมาเพื่อ...เป็นครั้งต่อไป..หรือไม่ แม้เทคโนโลยีจะดีขึ้นอัตราตายลดลง แต่การเจ็บป่วยและการเกิดโรคใหม่นั้นไม่ได้ลดลงมากนัก

เรามีการคิดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากโรคที่เรียกว่า Disability Adjusted Life Year (DALYs) เราต้องสูญเสียทรัพยากรทั้งทางตรงเช่นค่ารักษา และทรัพยากรทางอ้อมเช่น ไม่สามารถทำงานได้ เงินของลูกหลานที่ต้องเอามาดูแล มาคำนวนเป็นความสูญเสียเท่าไรที่ต้องสูญเสียไป หากเกิดโรคนี้ต่อคนหนึ่งคน ในหนึ่งปี

ในระดับทั้งโลก เราสูญเสียทรัพยากรต่อปีในแง่ (DALYs)สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 129.8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่อุบัติเหตุท้องถนนแค่ 75.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โรคติดเชื้ออันดับหนึ่งคือเอดส์สูญเสีย 81.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี โรคอันเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดมากขึ้น แนวโน้มนี้ก็จะพุ่งมากขึ้น ตามวิถีชีวิตและสังคมที่สูงอายุมากขึ้น

แนวโน้มยาและการศึกษาปัจจุบันจะมุ่งแก้ไขโรคกลุ่มนี้มากที่สุด เพราะมีผลกระทบสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการเลิกบุหรี่ การควบคุมความดันโลหิต การปรับอาหาร การคุมไขมัน การคัดกรองโรค วัคซีน
เป้าหมายคือต้องการให้ชีวิตมีความสุขมากกว่าอยู่นานแต่อมโรค ลดปัจจัยสุดร้ายสามอันดับแรกตามลำดับมากน้อย คือ ความดันโลหิตสูง บุหรี่ และ แอลกอฮอล์

ถามใจคุณเอง..ถึงเวลาปรับอาหารการกินหรือยัง
ถามใจคุณเอง..ลุกขึ้นมาออกกำลังกายได้หรือยัง
ถามใจคุณเอง..เลิกสูบบุหรี่ เลิกเหล้าได้หรือยัง
ถามใจคุณเอง..ลงทุนเพื่ออนาคต เพื่อใช้ชีวิตอย่างสบาย หรือเพื่อรักษาโรค
ถามใจคุณเอง..ยังเชื่อสื่อที่ไม่น่าเชื่อถือ แล้วทำตามอีกไหม
..
..
.. .สำหรับแฟนเพจคงทราบดีว่าผมเน้นเรื่องพวกนี้มาโดยตลอด
..
อีกไม่กี่เพลา จะได้พบกับ แนวทางการใช้ยาเพื่อรักษาและลดความเสี่ยงจากโรคไขมันในเลือดผิดปกติ ฉบับประเทศไทย ปี 2559 ที่เพิ่งออกมา ของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย

อัลตร้าซาวนด์มือถือ

เทคโนโลยี ไปเร็วจริงๆ เคยอ่านเรื่องนี้เมื่อไม่นาน ผมเองคิดว่าในอนาคตคงจะมีเครื่องมือแบบนี้ แต่คงไม่ใช่ยุคเราแล้ว
..
..ไม่เลย มันมาถึงเร็วกว่าที่คิด จนได้มาลองจับอยู่ในมือตัวเอง
..
..ไม่ได้มาโฆษณาใดๆ อยากให้เห็นว่าโลกหมุนเร็วดี เครื่องตรวจอัลตร้าซาวนด์ ตรวจครรภ์ ช่องท้อง หลอดเลือด และหัวใจ โดยเป็นหัวตรวจ ปลายสายเป็นพอร์ต ไมโครยูเอสบี ต่อกับแท็บเล็ตหรือ โทรศัพท์แอนดรอยด์ แล้วก็จิ้มตรวจได้เลย การทำงานไม่ได้เต็มพิกัดเหมือนเครื่องใหญ่ แต่ในงานคัดกรองง่ายๆ งานด่วน ก็พอช่วยตัดสินใจได้ดี ผมลองทำอัลตร้าซาวนด์ช่องท้องและเอคโค่ ภาพใช้ได้เลย เก็บได้ ใส่ cloud ได้

แม้ไม่มี doppler mode มีแค่ color, m mode ไม่มีโปรแกรมคำนวนค่า ต้องจดมาใส่แอปเอาเอง แต่ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของเทคโนโลยีที่ใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
ราคาเท่าอีโคค่าร์คันหนึ่ง ยังแพงอยู่ ตัวโปรแกรมไม่ได้หลากหลาย ในอนาคตคงมีการพัฒนาแน่ๆ หัวพอร์ต ต่อมือถือ งานอีอาร์คงได้ใช้มาก

แต่ว่าสำหรับอายุรแพทย์ทุกท่าน มันไม่สามารถ ไม่เคยสามารถ และ ไม่มีวันสามารถ ทดแทนทักษะการซักประวัติ ทักษะการตรวจร่างกายได้ ไม่สามารถทดแทนการคิดวิเคราะห์ได้ มันเป็นแค่ตัวช่วยเท่านั้นนะครับ อยากให้ดูแค่ความก้าวหน้า ที่มันเร็วมากขึ้นๆ เท่านั้นเอง

23 กุมภาพันธ์ 2560

วัคซีนไข้เลือดออก ข้อสรุป ข้อเท็จจริง

วัคซีนไข้เลือดออก ข้อสรุป ข้อเท็จจริง

  แอดมินสนใจเองวัคซีนไข้เลือดออกมานานแล้วครับ เมื่อวานได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัววัคซีนไข้เลือดออก ได้ไปฟังกลุ่มปูชนียบุคคลผู้ที่พัฒนาวัคซีนตัวจริงและผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องการติดเชื้อไข้เลือดออกและต่อสู้กับไข้เลือดออกมาตลอดชั่วชีวิตของท่าน จึงอยากมาเล่าให้แฟนเพจทั้งหลายฟัง เรื่องยาวหน่อย อ่านไปหาอะไรมากินไป เดี๋ยวก็จบ

   ผมขอชื่นชมบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่จัดงานและผู้บรรยาย ที่เนื้อหาไม่ได้..”ขายของ”..แต่อย่างใด ผมเองไปร่วมฟัง เตรียมข้อมูลไปเต็มที่ อยากไปฟังผู้คิดค้นวัคซีนบรรยายเต็มที่ ก็สมใจครับ แทบไม่มีการค้าเจือปน จริงอยู่แม้จะมีบริษัทข้ามชาติเป็นผู้ผลิต แต่ผมจะเอาแต่ข้อเท็จจริงเท่านั้นมาบอกเล่าให้ฟัง

   ถามว่าทำไมต้องมีการสร้างวัคซีนไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออกสร้างภาระมากมายในโลกนี้นะครับ กว่าครึ่งโลกที่เสี่ยงและกว่า 20%ที่ป่วย การควบคุมไข้เลือดออกขององค์การอนามัยโลกเองก็ทำได้ไม่ดีนัก การสร้างเครื่องมือในการตรวจและวินิจฉัยเราทำได้ดีพอควร แต่การป้องกันยังไม่ดีนัก วัคซีนจึงเป็นประเด็นสำคัญ   แล้วใครล่ะที่เป็นต้นคิดการใช้วัคซีนเพื่อปกป้องคนบนโลกนี้ คนนั้นคือ ท่านศาสตราจารย์ ณัฐ ภมรประวัติ คือคนไทยเรานี่เองครับ เมื่อห้าสิบปีก่อน ท่านได้ลงทุนลงแรงและถ่ายทอดเจตนาจากรุ่นสู่รุ่น จนห้าสิบปีหลังจากความตั้งใจนั้น วัคซีนจึงได้ถือกำเนิดขึ้น แม้อาจารย์ณัฐจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เจตนารมณ์ได้บรรลุความจริงแล้วครับ

  วัคซีนไข้เลือดออก พัฒนามากจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมของไวรัสไข้เหลืองมาเข้ากับไข้เลือดออกทั้งสี่สายพันธุ์ จึงไม่มีความสามารถในการก่อโรคแต่จะมีความสามารถในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ต้องใช้ทั้งสี่สายก็เพราะปัจจุบันมีการระบาดหมดเท่าๆกัน

  การศึกษาทำในประเทศในอเมริกาใต้และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะที่นี่คือแหล่งปัญหาของไข้เลือดออกในโลกนี้ ที่อื่นพบเล็กน้อยเท่านั้น ประเทศไทยเองก็เป็นจุดศึกษาที่สำคัญมากๆ (ใครสนใจอ่านหาเพิ่มได้ CYD-TDF 14 ในเอเชีย,CYD-TDF 15 ในอเมริกาใต้, CYD 23 ในประเทศไทย) จากการศึกษานี้ที่เราพบสำคัญคือกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกเริ่มขยับขึ้นจากเด็กมาสู่ผู้ใหญ่มากขึ้น การศึกษาวัคซีนได้ทำทั้ง ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในภูมิภาคต่างๆ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ในระยะต่างๆของการทดลอง ปัจจุบันยังไม่การศึกษาที่ทำในคนมากมายขนาดเกือบ 40,000 คนเลย จึงเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน  
   การศึกษาทำในเด็กอายุ 2-14 ปีในเอเชีย และ 9-16 ปีในอเมริกาใต้ (ทางอเมริกาใต้พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก) โดยให้วัคซีนเทียบกับยาหลอก และวัดผลสามเรื่อง คือ โอกาสติดเชื้อและมีอาการ  การป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล และ ถ้าป่วยแล้วจะรุนแรงไหม ติดตามสูงสุด 5 ปี ได้ผลดีและจะสรุปดังนี้

1. วัคซีนมีประโยชน์สูงสุดสำหรับช่วงอายุ 9-16 ปีตามการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าต่ำกว่า 9 ปีจะไม่เกิดประโยชน์ แต่ว่ามันไม่ชัดเจนและไม่ปลอดภัยเท่าเก้าปี ส่วนทำไมต้องสิบหก เพราะการศึกษาระบุทำในอายุเท่านี้ และออกมาผลก็ดี

2. แต่วัคซีนระบุ ให้ฉีดถึง 45 ปี ข้อมูลตรงนี้มาจากการ extrapolate คือการคาดเดาอย่างมีวิธีการ ไม่ได้เกิดจากการศึกษาโดยตรง คือแบบนี้ครับ จากการศึกษาก่อนหน้านี้หลายๆอัน เราพบว่ายิ่งเราอายุมากขึ้นระดับภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออกเราก็มากขึ้น อันนี้เป็นความจริงทั้งโลก ถ้าเราฉีดในเด็กโตซึ่งภูมิเขาน้อยกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว ยังพบว่าระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นขนาดนี้ ถ้าไปฉีดในผู้ใหญ่ก็น่าจะ..เพิ่มภูมิ...ได้มากกว่าเด็ก  ย้ำเป็นการคำนวณคาดการณ์นะครับ ทางองค์การอนามัยโลกก็พอรับได้กับหลักการนี้ จึงยินยอมให้ฉีดในอายุ 9-45 ปี

3. มากกว่า 45 ปี ข้อมูลไม่ชัดเจน จึงไม่ได้แนะนำ ตามหลักการก็น่าจะดี แต่ความเป็นจริงยังไม่มีผลการศึกษายืนยัน โดยเฉพาะระดับภูมิที่สูงพอควรแล้ว ฉีดไปอาจไม่ช่วยเพิ่ม และการเกิดโรคในผู้สูงวัยไม่ได้รุนแรงเหมือนในเด็กโตและเด็กเล็ก ปัญหาของผู้ใหญ่คือ เลือดออกและตับอักเสบ มากกว่าช็อก (แต่ก็ช็อกได้นะครับ)

4. ข้อสี่นี่ ถือเป็นการค้นพบและการเปลี่ยนแปลงใหญ่เลยทีเดียว  เดิมเราคิดว่าถ้าเคยมีภูมิอยู่แล้ว ใส่เชื้อไข้เลือดออกเข้าไปอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง แต่ปรากฏการณ์นี้กลับพบว่า นอกจากไม่ได้ติดเชื้อรุนแรงแล้ว ภูมิคุ้มกันยังจะดีขึ้น และได้ผลต่อวัคซีนมากขึ้น ดังนั้นวัคซีนจึงได้ผลดีในกลุ่มอายุเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก เพราะเด็กโตอายุเกินเก้าปีในประเทศไทย เกือบ 80% เคยได้รับเชื้อมาแล้ว และยิ่ง๔อายุมากขึ้นประสิทธิภาพวัคซีนยิ่งสูงขึ้นในทุกๆกลุ่มย่อยการศึกษา

5. ประโยชน์จริงๆของวัคซีนตามการศึกษาที่เพ่งเล็งประสิทธิภาพ คือ ลดการติดเชื้อที่มีอาการ ต้องการอย่างน้อย 25% และควรได้อย่างน้อย 70% ตามที่คาดการณ์ไว้ของการศึกษา ปรากฏว่า ผลออกมาโดยรวมป้องกันการติดเชื้อมีอาการได้ 65.6% เกือบถึงเป้า แต่ที่ลดอย่างชัดเจนและมีนับสำคัญทางสถิติมากคือลดความรุนแรง ลดการเกิดโรคแบบรุนแรงลงได้ 92.9% ลดอัตราการเข้ารับการรักษาในรพ.ลดได้ 80.2% คือฉีดแล้วมักจะไม่เป็นโรครุนแรงนั่นเอง

6. มันมีสี่สายพันธุ์ก็จริง แต่การตอบสนองของวัคซีนก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งสี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่สองจะตอบสนองน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ระดับประมาณแค่ 40-50% แต่ถ้าดูภาพรวมทุกสายพันธุ์ก็พอใช้ได้

7. ส่วนที่กังวลว่า เด็กที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การฉีดวัคซีนจะเป็นการทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันครั้งแรก แล้วถ้าติดเชื้อครั้งต่อไปจะรุนแรงมากขึ้น ประโยคนี้เป็นจริงแค่บางส่วน มันมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้องด้วยเช่นระยะเวลาที่ติดเชื้อสองครั้งห่างกันไหม สายพันธุ์เชื้อ ...จากการศึกษาเด็กที่ไม่มีภูมิมาก่อนมาฉีด แล้วเมื่อเป็นโรคก็ไม่ได้พบว่าความรุนแรงต่างจากเด็กที่ไม่ได้ฉีดครับ

8. ผลข้างเคียง ที่เจอแน่ๆคือ เจ็บ..อาจมีไข้ ..บวมแดงได้ ไม่พบปฏิกิริยาที่รุนแรง มีรายงานการตายหลังฉีดวัคซีน...ทางบริษัท..ทางบริษัทนะครับ แจ้งว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุของวัคซีน

9. มันจะป้องกันได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์หรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ใช่ครับ เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง สิ่งสำคัญคือเราต้องควบคุมยุง ป้องกันยุง กำจัดลูกน้ำยุงลาย (มันอยู่ในบ้านนะครับ ไม่ได้อยู่ในท่อระบายน้ำ) และเมื่อเป็นไข้ก็ต้องรีบทำการวินิจฉัยและรักษา ต่อให้รัฐบาลลุงตู่ใจป้ำให้ฉีดฟรีทั้งประเทศ ถ้าไม่ควบคุมปัจจัยอื่นๆร่วมด้วยก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

10. ตกลงจะฉีดไหม...ผมใช้หลักการเดิมของวัคซีนนะครับ ถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าฉีดได้ ถ้าไม่มีข้อห้ามการฉีด และถ้ามีสตางค์ไม่เดือดร้อน ก็ฉีดทุกตัวที่เหมาะกับเราครับ  มันจะอยู่นานไหมเจ้าภูมิคุ้มกันเนี่ย จาการติดตามพบว่าในระยะเวลาห้าปีที่ศึกษามานี้ระดับภูมิคุ้มกันก็ยังไม่ตก คงต้องรอการศึกษาติดตามต่อไป (อย่าลืมว่าไทยเป็นแดนระบาด เราอาจมียุงกัดมาช่วยกระตุ้นภูมิอยู่เกือบตลอดเวลา)

ยังมีรายละเอียดสนุกๆเกี่ยวกับไข้เลือดออกจาก อ.ประเสริฐ ทองเจริญ, อ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร, อ.สมศักดิ์ โล่เลขา, อ.อุษา ทิสยากร, อ.ทวี โชติทิพยสุนทร, อ.สุธี ยกส้าน ชื่อทั้งหมดนี้คือปรมาจารย์ไข้เลือดออกของโลก ที่เป็นคนไทย วัคซีนที่มีต้นกำเนิดจากไทย แม้จะมีการให้ทุนและซื้อการพัฒนาจากบริษัทยายักษ์ใหญ่ แต่นี่ก็คือก้าวสำคัญอันหนึ่งในการต่อสู้เชื้อโรคร้าย ที่ผมสรุปแบบไม่ให้มีผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเจือปน เพื่อคุณๆแฟนเพจทุกคน

22 กุมภาพันธ์ 2560

สวัสดีวัยเด็ก..กับ..มานี มานะ ชูใจ

สวัสดีวัยเด็ก..กับ..มานี มานะ ชูใจ

ผมจะพาทุกคนย้อนอดีตไปประมาณปีพศ. 2525 กับสิ่งที่เด็กไทยในยุคนั้นอ่านกันทุกคน และยังคิดถึงเรื่องราวแสนสนุก ภาษาที่งดงาม มิตรภาพที่ยั่งยืน ครับ เราจะไปพูดถึงผลงานชิ้นประวัติศาสตร์ ของ อ.รัชนี ศรีไพรวรรณ กับแบบเรียนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาที่ยังตรึงตาตรึงใจพวกเรามาจนถึงทุกวันนี้ครับ

กระทรวงศึกษาธิการต้องการออกแบบเรียนให้เด็กได้รู้จักคำในภาษาไทยง่ายๆที่สวยๆ จำนวนคำเพิ่มขึ้นตามชั้นเรียน ใครอ่านดูก็จะพบว่าตอนปิติอยู่ประถมหนึ่งเรื่องราวจะง่ายๆ แต่พอขึ้นประถมหกเรื่องราวจะซับซ้อนและมีคำศัพท์มากขึ้น อันนั้นคือในแง่การเรียนภาษาไทย

นอกเหนือจากเรื่องภาษา ก็จะยังสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตเช่น การเกษตร การลงแขกเกี่ยวข้าว เรื่องราวประเพณี งานสงกรานต์ งานกฐิน เรื่องราวเกี่ยวกับความดี เก็บเงินได้เอาไปคืน ช่วยผู้ด้อยโอกาส เรื่องกฎหมาย อย่างเช่น ยาเสพติดให้โทษ ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งประธานนักเรียน
เรื่องราวทำให้เราได้คิดตามได้ ติดตามการเติบโตทางความคิดร่วมไปกับเด็กๆ ที่แข็งแรงและเฉลียวฉลาดขึ้น เหมือนเราได้อ่านนิยายเรื่องยาวเป็นเวลาหกปี เขื่อไหมครับตอนเปิดเทอมได้รับหนังสือเล่มนี้ ลุยอ่านเลยครับ สนุกสุดๆ มันโหยหาตอนต่อไปเหมือนดูซีรี่ส์ยุคนี้

ตอนที่ชอบที่สุดคือตอนที่ เด็กๆไปเที่ยววัดร้างแล้วเพชรพุ่งฉมวกใส่งู และตอนที่บาดใจที่สุดคือตอนที่แม่ของเพชรไปเก็บของป่าแล้วเสียชีวิต อย่าสงสัยว่าผมจำได้อย่างไร จำไม่ได้หรอกครับ แต่ว่ามี PDF book เก็บไว้และทุกวันนี้ก็ยังอ่านอยู่ ได้ข่าวแว่วๆว่าอาจจะมีพิมพ์ใหม่ให้เก็บสะสม ราคาในตลาดตอนนี้ครบชุดไม่ถูกเลยนะครับ

วารสารอะเดย์ได้เคยให้อาจารย์รัชนีเขียนเรื่องราวต่อจากนี้และได้รวบรวมเป็นหนังสือชื่อ "ทางช้างเผือก" เล่าเรื่องราวต่อจากยุคนั้นหลังจากห่างหายมาเกือบยี่สิบปี และ บทส่งท้ายที่คุณหมอมานี ได้พบกับเศรษฐินีชูใจ เพื่อมางานแต่งงานของเกษตรกรตัวอย่าง ปิติ และไปเยี่ยมความสำเร็จของเพื่อนผู้เคยด้อยโอกาส เพชรและจันทร

แม้ว่า อ.รัชนี ศรีไพรวรรณได้จากเราไปแล้ว แต่ผลงานของอาจารย์ก็ยังเป็นเพชรน้ำเอกในวงการวรรณกรรม บันทึกเรื่องราวได้สวยงาม อ่านทีไร ได้กลิ่นดอกหญ้า เสียงไก่ร้อง เด็กๆเดินไปโรงเรียนที่เป็นอาคารไม้เก่าๆ สังคมแห่งมิตรภาพ ยิ้มสยาม และความสดใสในวัยเด็กอีกครั้ง

ใครอยากย้อนอดีต เพจ มานะมานีปิติชูใจ ที่ผมลิงค์มาให้ ที่รวมนักท่องอดีต ที่มองหาความสดใสยุคแฟนฉัน และรวม PDF book ครบสิบสองเล่ม 220 กว่าเมกะไบต์วางไว้ใน google drive (จะวางไว้สองสัปดาห์นะครับ) ต้องใช้ wifi จึงไม่หงุดหงิด เอาไป extract อ่านต่อไป ได้จากทางเน็ตนานมาแล้ว เก็บไว้สักพัก เอามาอ่านเวลารำลึกความหลัง (อย่าเอาไปดัดแปลงใดๆนะครับ เก็บไว้อ่านอย่างเดียว เพื่อพวกเรา)

เอ้า..ใครมีความทรงจำอย่างไร บอกกันหน่อยสิครับ..น้องๆรุ่นใหม่ ลองอ่านดูครับผมรับรอง ไม่แพ้ แฮรรี่พอตเตอร์ หรือ game of throne อย่างแน่นอน

การให้การป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกรณีมีเพศสัมพันธ์แต่ไม่ได้ป้องกันตัว

การให้การป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกรณีมีเพศสัมพันธ์แต่ไม่ได้ป้องกันตัว

สรุปเป็นข้อๆนะครับ เหมือนเราประสบเหตุด้วยตัวเองจะทำอย่างไร แนวทางของแต่ละที่จะคล้ายๆกัน ผมจะหยิบของ DHHS มาเป็นหลักครับ

1.นับเวลาก่อนเลย ยิ่งเร็วยิ่งเกิดประโยชน์ ถ้าปล่อยเวลาล่วงเลยไปหลังจากเสี่ยงไปมากกว่า 72 ชั่วโมงจะไม่เกิดประโยชน์ในการป้องกันแล้ว

2.สองข้อที่ต้องใช้ประเมิน คือ เสี่ยงแบบไหน คือมีเพศสัมพันธ์ทางใดก็จะเสี่ยงไม่เท่ากัน และอย่างที่สองคือ คนที่เราไปมีสัมพันธ์ด้วยเสี่ยงไหม เขาเป็นเอดส์ เขาไม่เป็นเอดส์ หรือว่าไม่รู้เหมือนกัน ตัวเลขจาก CDC
a.อัตราเสี่ยง นับต่อ 10,000 นะครับ ถ้าเป็นฝ่ายรับ ทางช่องคลอด 8 ,ทางทวารหนัก 138 ,ทางปาก เสี่ยงต่ำ
b.ฝ่ายรุก ทางช่องคลอด 4, ทางทวารหนัก 11, ทางปาก เสี่ยงต่ำ
c.น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด ไปโดนผิวหนังหรือเยื่อบุที่ไม่ฉีกขาด เสี่ยงต่ำมาก แต่ถ้าไปโดนตรงที่ฉีกขาดก็เสี่ยงเพิ่มขึ้น
d.Sextoy ไม่เสี่ยง (ถ้าใช้ถูกวิธีและไม่มีแผลฉีกขาด)

3.คนที่ไปมีสัมพันธ์ด้วย ถ้าไม่ทราบผลเลือดก็ตีเป็นเสี่ยงครับ  จะเสี่ยงมากสุดสำหรับคนที่เป็นเอดส์และไม่ได้รักษา ถ้าให้การรักษาแล้วก็เสี่ยงลดลง

4.รีบพาตัวเองและคู่สัมพันธ์มาตรวจ ทั้งไวรัสเอดส์ ตับอักเสบ และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อยืนยันภาวะเริ่มต้น ถ้าเป็นอยู่แล้วให้เข้ารับการรักษา แต่ถ้าเราไม่เป็นและ พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ก็เสี่ยง คู่สัมพันธ์เป็นเอดส์ อันนี้ต้องกินยาป้องกันแน่ แต่ถ้าเสี่ยงต่ำหรือไม่สามารถพาคู่สัมพันธ์มาตรวจได้ คุณหมอจะคุยเป็นกรณีไปครับ

5.ยาที่ใช้ จะใช้ยาสามตัว สูตรที่แนะนำเพราะประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงต่ำ คือ ยา tenofovir/emticirabine เป็นยาเม็ดรวมกินวันละครั้ง ร่วมกันยาอีกหนึ่งตัวในสองตัวเลือกนี้ คือ raltegravir ขนาด 400 มิลลิกรัม กินวันละสองครั้ง  หรือยา dolutegravir ขนาด 50 มิลลิกรัม กินวันละครั้ง   ใช้เวลาในการรักษา 28 วัน  ส่วนสูตรสำรองจะใช้ยา tenofovir/emticirabine เป็นตัวหลักคู่กับ darunavir ขนาด 800 มิลลิกรัมวันละครั้ง คู่กับ ritonavir ขนาด 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง

6.ถ้าการตรวจในข้อสี่ ทำไม่ได้หรืออาจทำให้การเริ่มยาล่าช้าออกไป ให้เริ่มยาและตรวจประเมินตามให้เร็วที่สุด อย่าให้ล่าช้าออกไป รพ.ต่างๆจึงตรวจมียากลุ่มนี้ไว้บ้างเผื่อฉุกเฉิน และสามารถใช้กับการประสบอุบัติเหตุเข็มทิ่มตำได้เช่นกัน

7.และติดตามผลเลือดเอดส์ และตับอักเสบ อีก 4-6 สัปดาห์ ครั้งที่สองที่สามเดือน เพื่อยืนยันการติดเชื้อหรือไม่  และถ้าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วยต้องตรวจซ้ำที่หกเดือนด้วย เพราะกลุ่มนี้จะตรวจจับได้ช้า

8.ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลเรื่องจิตใจ และความสม่ำเสมอการกินยา การป้องกันนี้จะสำเร็จขึ้นกับความสม่ำเสมอการกินยา แต่ภาวะจิตใจเปราะบางอาจเป็นอุปสรรคในคำแนะนำ ใน CDC แนะนำให้ยาแบบ starter pack คือให้ยาสักสามถึงสี่วันแล้วนัดมาประเมินซ้ำ ดูแลจิตใจซ้ำ ก็จะช่วยดูแลเรื่องความสม่ำเสมอได้ และถ้ารพ.ไม่ได้เก็บยาได้มากพอ ก็จะมีเวลาหายามาเพิ่มด้วย

9.อย่าลืมประเมินเรื่องการตั้งครรภ์ ส่วนผู้ถูกกระทำรุนแรงทางเพศต้องมีการให้ยาเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย หนองใน เชื้อคลามิเดีย เชื้อทริโคโมแนส ใช้ยาฉีด ceftriaxone 250 มิลลิกรัมหนึ่งครั้งเข้ากล้าม ยากิน azithromycin ขนาด 1 กรัม และยากิน metronidazole ขนาด 2 กรัม กินครั้งเดียว

10.ในกรณีเสี่ยงประจำและกินยา truvada ป้องกันเป็นประจำอยู่แล้ว (โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย) ก็ไม่ต้องทำตามแนวทางนี้ครับ   และถ้าต้องมาเข้ารับการรักษาแบบผิดพลาดบ่อยๆ ให้เปลี่ยนมาสอนวิธีควบคุมป้องกันที่ดี และ กินยาป้องกันในระยะยาวดีกว่าครับ

บทความที่ได้รับความนิยม