อาการปวดหลัง ปัจจุบันมีข้อมูลการรักษาอย่างไรบ้าง
อาการปวดหลังเป็นเพียงอาการ จึงต้องไปตรวจเพื่อรับการวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการทำงาน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูกที่หัก งอ เสื่อม หรือไปกดทับเส้นประสาท และรับการรักษาเพื่อลดอาการปวด รวมทั้งคืนสภาพให้กลับมาทำงาน ใช้งานได้ตามปกติ การแก้ไขทั้งสองส่วนนี้ต้องทำไปควบคู่กันจึงจะรักษาประสบผลสำเร็จ
วารสาร Annals of Internal Medicine วิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งอเมริกา ได้รวบรวม การรักษาเพื่อลดอาการปวดและคืนสภาพการใช้งาน ว่าใช้ได้มากน้อยเพียงใด น่าสนใจดีครับ เพราะเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากๆ ปกติวารสารนี้จะอ่านยากและเป็นสถิติที่มากมายละลานตา ผมทำลิงค์ฉบับเต็มผ่าน google drive เอาไว้ด้านล่าง ส่วนที่จะเขียนนี่คือ สรุปใจความเท่านั้น
ผลการศึกษานี้มาจาการรวบรวมการศึกษาที่คุณภาพดี น่าเชื่อถือ 114 การศึกษาจาก 2847 วารสาร ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่สรุปนี่นะครับ แต่ละคนก็ตอบสนองไม่เหมือนกัน แต่อยากให้ดูภาพรวมและวิธีต่างๆมากกว่า
วิธีไม่ใช้ยา
1. การออกกำลังกาย เรื่องนี้มีการศึกษามากที่สุด มีผลชัดเจนในการแก้ไขอาการปวดเรื้อรัง ส่งผลลดอาการปวดและคืนสภาพการใช้งานได้ดี โดยลดอาการปวดได้ดีปานกลางถึงดีมาก ได้ผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะออกกำลังด้วยวิธีใดก็ไม่ค่อยแตกต่างกัน (ต้องถูกวิธีด้วยนะครับ)
2. ไทชิ การศึกษามีน้อยมาก ไม่มีเทียบกับอย่างอื่น บอกได้แค่ว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลยเล็กน้อย
3. โยคะ มีการศึกษาสำหรับอาการปวดหลังเรื้อรัง สามารถลดอาการปวดได้ปานกลาง คืนสภาพการทำงานได้ไม่มากนัก และมีผลในระยะเวลาสั้นๆ ไม่มีการศึกษาถึงผลระยะยาว
4. ฝังเข็ม สำหรับอาการปวดหลังเฉียบพลันสามารถลดอาการปวดได้ดีปานกลางพอๆกับยาต้านการอักเสบ แต่ก็มีผลในระยะสั้นๆและไม่ส่งผลในการคืนสภาพการใช้งาน สำหรับปวดหลังเรื้อรัง ลดปวดและเพิ่มการใช้งานได้ดี แต่ผลมักจะเกิดในช่วงเวลาสั้นๆหลังฝังเข็มเท่านั้น
5. นวด มีผลในการลดอาการปวดหลังเฉียบพลันมากกว่าเรื้อรัง ส่งผลลดปวดในช่วงสั้นๆ ไม่ได้ลดได้มากนัก การศึกษานี้ไม่ได้ระบุว่านวดแบบใด ผมแนะนำนวดแผนไทยครับ
6. จัดกระดูก (spinal manipulation) มีแต่การศึกษาในอาการปวดหลังเรื้อรังครับ มีผลดีแค่ช่วงสั้นๆ ในระยะยาวไม่ต่างจากวิธีอื่น ลดปวดได้ไม่มาก พอๆกับการนวด แต่ไม่ส่งผลกับการคืนสภาพการทำงาน
7. กาย ใจ สัมพันธ์...mindfulness based stress reduction ไม่รู้จะแปลอย่างไร อ่านในวารสารจะเป็นเรื่องการผสานการรักษาทั้งกายและจิตเวช การศึกษามีไม่มากเนื่องจากเป็นวิธีใหม่ ประสิทธิภาพไม่มากนัก การศึกษาในระยะยาวยังไม่เห็นผล
ส่วนการใช้อัลตร้าซาวนด์ เลเซอร์ ข้อมูลมีไม่มากพอจะมาสรุปครับ
ก็จะสรุปว่าวิธีต่างๆนั้น มีผลน้อยถึงปานกลางทั้งการลดปวดและการคืนสภาพการทำงาน อาจต้องใช้ยาร่วมด้วย วิธีที่ดูจะทรงประสิทธิภาพมากที่สุด รักษาได้ทั้งอาการปวดและคืนสภาพการใช้งานได้ดี ใช้ได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือการออกกำลังกายครับ ตรงนี้แนะนำให้ปรึกษานักกายภาพบำบัด ที่เขาจะออกแบบการออกกำลัง การใช้งานได้ดีครับ
จะได้ลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นลงไป และถ้าอ่านวารสารต่อ ถึงเรื่องการใช้ยานั้น จะพบว่าประสิทธิภาพของยาแต่ละตัวก็ไม่มากนัก และ ไม่ได้ดีมากไปกว่าการรักษาแบบไม่ใช้ยา
ลิงค์ที่ให้ มีทั้งการรักษาแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา ถ้าใครอยากอ่านสรุปเรื่องการใช้ยา...ต้องร้อยไลค์นะครับ
https://drive.google.com/open?id=0Bw862GrW7-8LZDkzY3RLcGVhbEk
https://drive.google.com/open?id=0Bw862GrW7-8LRS1zdWF5U0ljYTQ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น