20 เมษายน 2563

ASV mode

เทคโนโลยียุคใหม่ช่วยเราได้มาก

ปรกติแล้วการใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น จะมีโหมดการทำงานมาตรฐานไม่กี่อัน และเจ้าไม่กี่อันนี้ถือว่าใช้ได้ดีทีเดียวคือ
▪ controlled mode  เครื่องควบคุมจังหวะเองทั้งหมด
▪ assisted mode  เครื่องช่วยตามกำหนดเท่านั้น และช่วยในับสนุนเวลาคนไข้เริ่มหายใจเอง
▪ support mode เครื่องคอยสนับสนุนคนไข้โดยที่คนไข้เริ่มหายใจเอง
ถ้าไอซียูเรามีเครื่องที่ปรับได้เท่านี้ ผมถือว่าพอแล้ว ด้วยโหมดแค่นี้เรารับมือคนไข้ได้หมด แต่เราต้องขยันดู ขยันปรับ หากมีโหมดที่พัฒนามากขึ้น จะช่วยให้เราสบายขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นข้อยังคับจะต้องมี

ตัวอย่างในภาพ ASV mode มาจาก Adaptive Support Ventilation 

ปกติการปรับเครื่องใน support mode เราจะปรับให้เครื่องช่วยหายใจจ่ายลมให้ผู้ป่วยตามเกณฑ์ที่เรากำหนด เมื่อผู้ป่วยเริ่มหายใจเอง (เครื่องจะไม่ช่วย) เครื่องจะซื่อสัตย์มาก ไม่ว่าผู้ป่วยจะหายใจได้พอหรือไม่ อัตราเร็วเท่าไร มันก็จะช่วยด้วยคำสั่งเดิมที่เราปรับ เราจึงต้องมาปรับเครื่องบ่อย ๆ ตามสรีรวิทยาผู้ป่วยที่เปลี่ยนไป

แต่ใน ASV mode นั้น เมื่อเราใส่ข้อมูลน้ำหนักตัวคนไข้ เครื่องจะคำนวณปริมาณลมที่ต้องให้ในหนึ่งนาที (minute ventialtion : ปริมาณลมต่อการหายใจแต่ละครั้ง × จำนวนครั้งการหายใจในหนึ่งนาที) โดยเทียบกับค่ามาตรฐานที่บรรจุมาในเครื่อง แล้วทดสอบจากแรงลมหายใจที่ผู้ป่วยหายใจเข้าออกทั้งสิ้นสามครั้ง เครื่องจะได้ค่าที่เครื่องพอใจ (จะเห็นว่า เป็นความคิดของเครื่องทั้งนั้น) กำหนดมาเป็นกรอบที่เครื่องรับได้

เช่น เคริ่องจะพยายามให้ผู้ป่วยหายใจให้ได้ ปริมาณลมแต่ละครั้ง 400-450 ซีซี และอัตราการหายใจที่ 12-16 ครั้งต่อนาที เพื่อจะให้ได้ minute ventialtion ปริมาณลมในหนึ่งนาที ตามน้ำหนักและค่ามาตรฐานของเครื่อง ถ้าผู้ป่วยหายใจน้อยไปหรือหายใจเร็ว การขยายตัวของปริมาตรต่อความดันที่ใส่เข้าไปไม่ดี เครื่องจะปรับความดันช่วยเหลือขึ้นเอง และใช้ค่าที่หายใจในครั้งก่อนหน้านี้ มาปรับในการช่วยครั้งต่อไป เรียกว่าปรับครั้งต่อครั้ง เราเองคงไม่สามารถไปปรับได้บ่อยขนาดนั้น  

แต่ถ้าหายใจได้ดี อัตราการหายใจไม่สูง complianceของปอดดีขึ้น เครื่องจะลดการจ่ายลม ช่วยเราน้อยลง ให้เราหายใจเองได้มากขึ้น เป็นโหมดที่ดีในการหย่าเครื่อง 

และจะมีขีดอันตรายเตือนด้วย ว่าหากหายใจต่ำมากจนอาจเกิดอันตราย เครื่องจะปรับการช่วยเหลือจาก support mode เป็น controlled mode ทันที พร้อมกับร้องเตือนเราทันที เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับคนไข้ 

แต่อย่างที่เน้น เป็นการคิดการช่วยเหลือจากเครื่องและฐานข้อมูลในคนปรกติ เราจึงต้องมาปรับเครื่องตามสรีรวิทยาการหายใจของผู้ป่วยแต่ละคนตามโรคตามเวลาเสมอ เพียงแต่ไม่ต้องบ่อยมากเท่านั้น

เหมาะกับผู้ป่วยที่มีแรงกระตุ้นการหายใจ มีพลังกล้ามเนื้อมากพอที่จะหายใจ และพยาธิสภาพในปอดไม่รุนแรง ไม่ได้ต้องการความดันหลอดลมสูงมากนัก ต้องเลือกใช้ให้ถูกแล้วผู้ป่วยจะสบายครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม