18 เมษายน 2563

ส่องกล้องเร็วหรือช้า ฉบับเข้าใจง่าย

เวลาที่คุณหรือคนที่คุณรัก มีอาการเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน แล้วจะอย่างไรต่อ ...

ตามมาตรฐานการรักษา จะต้องดูแลเรื่องทางเดินหายใจว่าไม่มีการสำลักเลือด ต้องดูแลเรื่องระบบไหลเวียนว่าจะไม่ช็อก ต้องมีการประเมินระบบไหลเวียนเลือด มีการให้เลือด ให้สารน้ำ แยกแยะว่าเป็นเลือดออกด้วยเหตุใด และให้ยารักษาเหตุนั้น เช่น
▪เลือดออกจากแผล ให้ยาลดกรด
▪เลือดออกจากหลอดเลือดดำหลอดอาหารโป่งพอง ให้ยาตีบหลอดเลือด

แน่นอนว่าหากฉุกเฉินมาก คงต้องเข้ารับการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยหยุดเลือดด้วยวิธีต่าง ๆ มากมายหรือเข้ารับการผ่าตัดเพื่อหยุดเลือด หรือฉีดสีไปอุดเลือดทางหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงกระเพาะอาหาร

แต่ถ้าไม่ถึงกับอันตรายถึงชีวิตทันที แต่ก็เสี่ยงสูงที่จะเกิดเลือดออกซ้ำหรืออันตรายต่อเนื่อง บางทีก็ไม่ต้องส่องกล้องทันทีทันใด แนวทางต่าง ๆ ในปัจจุบันแนะนำให้เข้ารับการตรวจส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบนภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อพร้อม หมายถึงเมื่อให้ยา ให้เลือด ตระเตรียมให้ปลอดภัย เพราะวัตถุประสงค์หลักของการส่องกล้องคือ การตรวจหาสาเหตุเลือดออก และช่วยหยุดเลือดที่ยังไหลต่อเนื่องหลังจากรักษาเบื้องต้นแล้ว

แล้วถ้าส่องกล้องเร็วกว่านั้น คือ ภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากได้รับปรึกษา จะให้ผลดีไหม มีการศึกษาจากฮ่องกงลงตีพิมพ์ใน NEJM เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ว่าหากนำผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงแต่พอรอได้ มาจัดกลุ่มว่าส่องกล้องเลยภายใน 6 ชั่วโมง เทียบกับการส่องกล้องใน 24 ชั่วโมงตามปรกติ

พบว่าอัตราการเสียชีวิต โอกาสเกิดเลือดออกซ้ำ การเข้ารับการผ่าตัดในกลุ่มส่องกล้องทันทีใน 6 ชั่วโมง สูงกว่ากลุ่มรักษาตามปรกติ แต่ไม่มีนัยสำคัญ

คงจะพอบอกได้ว่า หากไม่ได้อันตรายเร่งด่วนถึงแก่ชีวิต การส่องกล้องเร็วทันทีก็ไม่ได้ช่วยให้ผลลัพธ์ได้ดีมากขึ้น น่าจะเหมาะกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยที่ไม่สามารถส่องกล้องได้แบบ 24 ชั่วโมงและทุกโรงพยาบาล การดูแลเบื้องต้นและจัดเตรียมคนไข้ให้ดี ก่อนไปส่องกล้องทางเดินอาหาร จะยังให้ผลที่ดีเช่นกัน

ผมเขียนอธิบายและวิจารณ์วารสารเอาไว้ที่
https://medicine4layman.blogspot.com/2020/04/blog-post_18.html
ใครอ่านแล้วมาให้ความเห็นกันได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม