ช่างสักแห่งเอาช์วิทช์ (the tattooist of Auschwitz) หนังสือที่จะทำให้คุณรู้จักความหวังในการดำรงชีวิต ความรัก การดิ้นรนปรับตัว ผ่านมุมมองอันน่าสลดในค่ายกักกันเอาช์วิทช์ ค่ายมรณะแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง
เขียนโดย Heather Morris โดยสัมภาษณ์และบันทึกจากความทรงจำของ ลาลี โซโคลอฟ นักโทษผู้สักลายให้นักโทษด้วยกัน โดยสัมภาษณ์เป็นเวลา 3 ปี แปลไทยโดย โสณนา เชาว์วิวัฒน์กุล โดยสำนักพิมพ์แมรี่โกราวด์ ความหนา 300 หน้า ราคาปก 290 บาท ขอบอกปกสวยมาก แถมที่คั่นลายเดียวกับปกมาสองอันด้วย ลายปกเป็นลายทางสีฟ้าขาว คือ ลายชุดนักโทษแห่งค่ายกักกันเอาช์วิทช์นั่นเอง หาซื้อได้ตามร้านออนไลน์ทุกแห่ง ผมจัดมาจาก readery.co ครับ
อย่าเพิ่งคิดว่าเรื่องราวจะน่าเศร้า หดหู่ ไม่เลยครับ ลองอ่านรีวิว ยั่วน้ำลาย ป้ายยา ดูก่อน
ที่ค่ายกักกันเอาชวิทช์ ทุกคนจะถูกบังคับให้ทิ้งชื่อเสียงเรียงนามและความสำคัญในอดีตไป เหลือแต่เพียงหมายเลขที่จะถูกสักไว้ที่แขน เป็นสิ่งใช้เรียกแทนคนนั้น ก่อนที่จะเข้าค่ายจะได้รับการสักเลข คนที่ไม่ได้รับการสักส่วนมากคือจะต้องเข้าห้องรมแก๊ส
ลาลี ยิวหนุ่มเจ้าสำราญจากสโลวาเกีย ประเทศในเขตปกครองของนาซีเยอรมัน เขารับอาสามาเป็นแรงงานแทนสมาชิกคนอื่นในบ้าน เพื่อให้พี่ชายลูกสอง น้องสาวและพ่อแม่ของเขาได้อยู่รอด ลาลีมีความผยอง ไม่ยอมแพ้ มีความเด็ดเดี่ยวในแววตา แต่ค่ายกักกันได้บั่นทอนหลายอย่างออกไป
ลาลีเป็นคนหูไวตาไว ไม่ยอมแพ้ ตั้งเป้าหมายว่าเขาจะออกจากค่ายแบบมีชีวิตให้ได้ จึงยอมอดทน ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแสนทารุณที่นั่น รู้อยู่ รู้เย็น จนกระทั่งเขาป่วยจากโรคระบาดและรอดตายมาได้จากรถขนศพอย่างปาฏิหารย์ เพื่อนหลายคนช่วยเขาไว้ เมื่อเขาฟื้นมา เขายิ่งไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา จนไปสะดุดตาช่างสักเลขคนเดิมเข้า และรับเขามาเป็นผู้ช่วย และสุดท้ายก้ได้ขึ้นเป็นมือหนึ่ง (เพราะคนเดิมคงถูกสังหาร ชีวิตในเอาชวิทช์ จะหวังเพียงว่าได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกเท่านั้น)
เมื่อเข้าช่วยนาซี นาซีจะดูแลเขาดีขึ้นนิดนึง เพราะต้องทำงานให้ จะได้รับการปันอาหารเพิ่ม ได้รับที่นอนดี ๆ และมีโอกาสไปสำรวจค่ายตามจุดต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย (แม้จะเสี่ยงตายก็ตาม) ลาลีได้ใช้ความสามารถในวาทศิลป์และความสามารถการพูดหลายภาษา ติดต่อนักโทษหญิงแลกอาหารกับทรัพย์สินที่เหล่านักโทษหญิงต้องจัดเก็บจากนักโทษด้วยกัน (ในเอาชวิทช์ เงินไม่มีค่า สิ่งที่มีค่ามากคือ อาหารและน้ำ และเพชรพลอย) ติดต่อช่างก่อสร้างที่มาจากภายนอกแลกอาหารกับเพชรพลอย จนเขาสามารถหาสิ่งของมาแลกความสะดวกและข่าวสารในค่ายได้
จนวันหนึ่งเขาได้มาพบ "กิทา" หญิงสาวชาวสโลวาเกียที่มาค่ายกักกันเช่นกัน เขาเริ่มหลงเสน่ห์และรักเธอ และได้สานความสัมพันธ์ด้วยสถานการณ์ เวลา โอกาสที่จำกัด แต่ก็ทำให้ทั้งคู่รักกัน มีความหวังในการดำรงชีวิตอยู่เพื่อกันและกัน ใฝ่ฝันว่าสักวันจะอยู่ร่วมกัน
แต่แล้วเมื่อกองทัพโซเวียตมาปลดปล่อยค่าย ทำให้กิทาและลาลี ต้องแยกจากกันไปโดยไม่รู้ว่าจะมีโอกาสพบกันอีกหรือไม่ ต่างคนต่างไม่รู้หนทางข้างหน้า จนในที่สุด....
เอาล่ะไม่เล่าต่อ เดี๋ยวไม่สนุก เรื่องราวของการดิ้นรนเอาชีวิตรอด การปรับตัวแบบที่ไม่เคยต้องทำมาก่อน ความหวังและความรักที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต ทำให้ช่างสักแห่งเอาชวิทช์ผู้นี้ต่อสู้อย่างทรนง เรื่องราวได้บอกถึงชีวิตคนในค่าย ความอดอยาก ความลำบาก ความสิ้นหวัง การทรมาน ความตาย จิตใต้สำนึกของผู้คุม วิถีชีวิตในค่าย จนถึงสภาพสังคมหลังสงคราม
ผมได้ไปเหยียบสถานที่จริงทุกที่ที่ลาลีเล่ามา จึงอินมากและรู้สึกขนลุกจริง ๆ ครับ กับประสบการณ์ราวตาเห็นของลาลี ... แต่เมื่ออ่านจบ เราจะได้เรียนรู้ถึงคุณค่าแห่งชีวิต และคุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป สนุกและน่าติดตามมากครับ ไม่ได้หดหู่และไม่ได้โรแมนติกสุดขั้ว แต่กลมกล่อมและได้ข้อคิดมากมายจากเล่มนี้ครับ
เช่นเคย ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับผู้แปล ผู้แต่ง และสำนักพิมพ์ เพียงแต่อ่านแล้วชอบและมาเล่าให้ฟังครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น