คำถามว่าทำไมโลกตะวันตกไม่ใส่หน้ากากและโลกตะวันออกใส่หน้ากาก ตอนนี้เริ่มมีความคืบหน้า
คิดว่าบทความที่ผมเขียนอันนี้คงไม่สามารถไปตัดสินถูกผิดได้ แต่ละพื้นที่มีบริบทแห่งความจำเป็นที่แตกต่างกันครับ ท่านลองอ่านแล้วเก็บกลับไปคิดวิเคราะห์เพิ่มเอาเองครับ ผมก็รวบรวมมาจากวารสารทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เช่นกัน
คำถามสำคัญนี้มีคนศึกษาและตีพิมพ์ในวารสาร science ของ american association of the advancement of sciences ทั้งในวารสาร lancet respiratory medicine และมาจาก chinese center of disease control ออกมาเป็นคำแนะนำของ WHO, CDC, US general surgeon ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้
เรามาดูคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกกันก่อน คำแนะนำอย่างเป็นทางการคือ มีหลักฐาน (ย้ำว่ามีหลักฐานนะครับ) ว่าการสวมหน้ากากในวงกว้างกับทุกคน ไม่มีประโยชน์ใด ๆ เพิ่มขึ้นในการลดการแพร่กระจายเชื้อ แถมยังมีหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่าอาจจะเพิ่มการกระจายเชื้อหากถอดใส่ไม่ถูกวิธีหรือใช้ชนิดหน้ากากไม่เหมาะสม ซึ่งคำแนะนำนี้มาจากการศึกษาทางระบาดวิทยาและการควบคุมการติดเชื้อขององค์การอนามัยโลก แน่นอนมันเป็นภาพของสาธารณสุขระดับนานาชาติ ภาพรวมและครอบคลุมโรคระบาดในเกือบทุกโรค คำแนะนำนี้ทางศุนย์ควบคุมโรคสหรัฐและ US General Surgeon ได้เหห็นพ้องต้องกันว่า ควรใส่หน้ากากเฉพาะผู้ที่ป่วย ผู้ที่มีโอกาสแพร่เชื้อ ผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ คนกลุ่มนี้เขาเรียกว่า “ผู้ที่จำเป็นต้องใช้หน้ากาก” และออกคำแนะนำมากำชับด้วยว่า แม้จะสวมหน้ากากแต่ไม่ทำมาตรการอื่นร่วมด้วย การสวมหน้ากากก็ดูไม่มีประโยชน์
ทำให้เราเห็นการควบคุมโรคของคนในฝั่งโลกตะวันตก พวกเขาจะไม่ใส่หน้ากากหากไม่พบว่ามีอาการป่วยและมีเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากตามคำจำกัดความเท่านั้นที่มีการสวมหน้ากาก คำถามสำคัญคือ มันยังเป็นคำแนะนำที่ดีหรือไม่ เพราะอัตราการติดเชื้อมันก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลายประเทศในฝั่งโลกตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองก็ตาม อัตราการติดเชื้อของประเทศกลุ่มนี้ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับซีกโลกตะวันตก และในซีกโลกตะวันออกนี้มีคำแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกคน ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ก็ตาม
ศูนย์การควบคุมโรคของจีนและในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของจีน ได้ศึกษาวิจัยและตีพิมพ์งานวิจัยมากมายในช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ระบาดมากในประเทศจีน และได้ออกคำแนะนำมาค้านคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่า การไม่ใช้หน้ากากอนามัยในกลุ่มประะชากรทั้งหมดถือเป็น "ข้อผิดพลาดอันใหญ่หลวง" ขององค์การอนามัยโลก
ประเทศในแถบเอเชียเลือกให้ความสำคัญกับ กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ ด้วยเชื่อว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่แพร่กระจายเชื้อหลัก เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่า มีการแพร่กระจายเชื้อในกลุ่มที่ไม่มีอาการ คนกลุ่มนี้ยังสามารถปฏิบัติงานและพูดคุยได้ตามปรกติ ส่วนคนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการ หรืออาการหนักนั้น พวกเขาจะไม่ออกไปไหนและถูกควบคุมตัวด้วยมาตรการของรัฐ การสวมหน้ากากทุกคนจะถือเป็นการป้องกันสังคมคนรอบข้างไม่ได้เป็นการป้องกันการติดเชิ้อเข้าตัวเอง
และเนื่องจากไม่สามารถไปทดสอบการติดเชื้อในผู้ที่ไม่มีอาการได้อย่างครอบคลุม รวมทั้งเสียงบประมาณในการทดสอบคนที่ไม่มีอาการ จึงออกคำแนะนำให้ทุกคนสวมหน้ากาก เพื่อตัดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อในคนที่ติดโรคแต่ไม่มีอาการเลยหรือยังไม่แสดงอาการ ด้วยมาตรการนี้แสดงให้เห็นผลที่ตามมาว่าตัวเลขการแพร่กระจายเชื้อจะลดลง
** แม้ว่าจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าการสวมหรือไม่สวมหน้ากากอนามัยจะส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโรค** ดูเหมือนว่าหลายชาติทางฝั่งตะวันตกเช่นออสเตรียและเชค เริ่มสนใจในมาตรการของจีนและประเทศในฝั่งเอเชีย เพราะดูเหมือนว่ามาตรการการสวมหน้ากากอนามัยทุกรายน่าจะมีประโยชน์ แต่ไม่มีสิ่งใดมีประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว ปัญหาที่เกิดจากการสวมหน้ากากอนามัยทุกคนก็มีไม่น้อยเช่นกัน
นักระบาดวิทยาและสถิติทางการแพทย์ทุกมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกให้ความเห็นไปในทางเดียวกันหมดว่า ปัญหาสำคัญสำหรับการสวมหน้ากากอนามัยทุกรายคือ ปริมาณหน้ากากอนามัยที่ไม่เพียงพอ เกิดการขาดแคลน และปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงหากการขาดแคลนนี้เกิดกับบุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้าที่สำคัญในการจัดการและควบคุมเชื้อโรค ดังเช่นปัญหาที่เกิดอยู่ในยุโรปและอเมริกาในขณะนี้
ผู้วิจัยทุกคนในงานวิจัยที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร the Lancet Respiratory ได้ให้ความเห็นไว้ตรงกันว่า หากไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนหน้ากากและสามารถจัดสรรหน้ากากและอุปกรณ์การป้องกันให้กับ "ผู้จำเป็นต้องใช้หน้ากาก" อย่างพอเพียงแล้ว การสวมหน้ากากอนามัยทุกคนก็น่าจะเป็นมาตรการที่ดีในการลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยเฉพาะในส่วนผู้ที่ไม่มีอาการหรือผู้ที่ยังไม่แสดงอาการ
แต่ปัญหาเรื่องความขาดแคลนอุปกรณ์ อุปทานของอุปกรณ์การป้องกันมีความสำคัญมาก เป็นปัญหาสำคัญของยุโรปและของทั่วโลกในขณะนี้ หลาย ๆ ประเทศมีคำแนะนำให้จัดสรรกับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าให้เพียงพอก่อน ด้วยเหตุที่บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงและสัมผัสโรคสูง มีโอกาสแพร่กระจายสู่บุคคลภายนอกสูง
อีกสาเหตุคือ การใช้หน้ากากในบุคลากรทางการแพทย์สามารถป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรได้มากกว่าบุคคลทั่วไป มีหลักฐานอยู่บ้างว่าการใช้หน้ากากในบุคลากรลดการติดเชื้อในบุคลากรทั้ง ๆ ที่หลักการทางการแพร่กระจายเชื้อว่า การสวมหน้ากากยังเป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อจากผู้สวมออกสู่ภายนอก แต่ที่สามารถป้องกันบุคลากรผู้สวมหน้ากากด้วยเพราะว่าบุคลากรผู้สวมหน้ากากนั้นมีความชำนาญในการป้องกันตัวเองด้วยวิธีอื่นร่วมกับวิธีสวมหน้ากาก ไม่ว่าจะเป็นการล้างมืออย่างมีประสิทธิภาพ หรือการเว้นระยะห่างเพียงพอ
ประเทศทางฝั่งตะวันตกมีปัญหาหลักคือการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน และปัญหาการขาดแคลนยังมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น จึงไม่สามารถกระจายหน้ากากได้ทั่วทุกคน แต่จะสงวนไว้สำหรับผู้ที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนการใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าหรือใช้ซ้ำ (ที่จริงเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง) เริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้น โดยเสริมหน้ากากเข้ามาภายหลังจากให้ผู้จำเป็นแล้ว ระหว่างนี้ต้องทำเรื่องอื่นที่พอปฏิบัติได้ไปก่อน
ดังนั้นวิธีที่ดีคือ ใช้ทั้งการล้างมือและการเว้นระยะห่างทางสังคม ร่วมกับการสวมหน้ากาก การสวมหน้ากากอย่างเดียวจึงไม่สามารถช่วยลดการกระจายเชื้อได้ หากจะลดการแพร่กระจายจะต้องใช้มาตรการอื่นที่เข้มแข็งร่วมกับการสวมหน้ากากด้วยเสมอ
และมาตรการการสวมหน้ากากกับประชากรทุกคน จะต้องจัดการจัดสรรทรัพยากรอุปกรณ์ให้เพียงพอ ในบางประเทศมีการใช้อุปกรณ์แบบใช้ซ้ำหรือดัดแปลงอุปกรณ์ป้องกันเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ จะต้องอาศัยการรับรองการยืนยันและการศึกษาถึงประสิทธิภาพของการใช้ซ้ำหรือการดัดแปลงอุปกรณ์นั้นก่อน จากหน่วยงานที่รับผิดชอบประจำท้องถิ่นนั้น
ไปค้นเพิ่มและอ้างอิงต่อที่
1.rational use of facemask in COVID-19 pandemic. Lancet Respiratory Medicine, Mar 20th 2020
2.Science, Mar 28th 2020
3.CNN, Mar 30th 2020
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น