โซมาเลีย ประเทศที่ตั้งบนแหลมแห่งแอฟริกา (horn of africa) ประเทศที่มีเรื่องราวความขัดแย้ง สงครามในประเทศ หลายท่านคงได้เห็นกรุงโมกาดิซูจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดัง "black hawk down" วันนี้เราจะย้อนกลับไปประเทศโซมาเลียเมื่อ 40 ปีก่อน
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง หลายประเทศในแอฟริกาได้อิสรภาพ แต่ทว่ากลับถูกปกครองใต้ระบอบเผด็จการจนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า สาธารณสุขมูลฐานไร้คนสนใจ ประชากรในประเทศยากจน อดอยากและล้มตาย
เดือนสิงหาคม 1977 เกิดไข้ทรพิษระบาดในประเทศโซมาเลีย เป็นการระบาดต่อเนื่องกันมาในประเทศแถบเอเชียใต้และแอฟริกา ในยุคสมัยนั้นโรคไข้ทรพิษ ยังมีการแพร่ระบาดและคร่าชีวิตผู้คนไปมาก และเป็นหัวข้อสำคัญขององค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติ เพราะนี่คือความมั่นคงที่สำคัญของโลก
โลกที่กำลังฟื้นขึ้นมาหลังสงคราม อุดมไปด้วยโรคติดเชื้อ องค์การอนามัยโลกได้มีความพยายามจะควบคุมโรคระบาดหลายโรคอันเนื่องมาจากสุขอนามัยที่ไม่ดี โรคอหิวาตกโรค โรคมาเลเรีย โรคโปลิโอ ทีมกำจัดโรคและสืบสวนโรคเร็วขององค์การอนามัยโลกที่ทำงานเกี่ยวกับไข้ทรพิษ วนเวียนทำงานในประเทศแถบนี้ตามรายงานการระบาดใน บอตสวานา ปากีสถาน บังคลาเทศ และเอธิโอเปีย (ประเทศของท่านผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกคนปัจจุบัน)
เมื่อมีการระบาดในโซมาเลีย ทีมเคลื่อนที่เร็วขององค์การอนามัยโลกเข้ามาควบคุมทันที สามารถจัดการควบคุมโรค จัดตั้งศูนย์กักกันโรค และฉีดวัคซีนไข้ทรพิษให้ทุกคนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 1977 ทางศูนย์ได้ดำเนินการสืบสวนโรคกว้างออกไปในรัศมีอีกกว่าร้อยกิโลเมตร มีการรายงานผู้ป่วยต้องสงสัย และได้รับการตรวจยืนยันอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่มีรายงานอีกแล้ว ทางศูนย์กำลังจะปิดการดำเนินการ แต่ทว่า..
ในคืนวันที่ 12 ตุลาคม 1977 มีข้อมูลแจ้งว่าพบเด็ก 2 คนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างจากเมืองมาร์ก้า ถึง 90 กิโลเมตร เมืองมาร์ก้าคือเมืองที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลและศูนย์ควบคุมโรคไข้ทรพิษ ในโซมาเลียตอนใต้
เจ้าหน้าที่สองคนของศูนย์ควบคุมโรคตัดสินใจที่จะไปพาเด็กสองคนมาที่ศูนย์ในคืนนั้น แต่อย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่ของศูนย์ไม่ใช่คนในพื้นที่ และต้องเคลื่อนย้ายที่ทำงานไปตลอด จึงจำเป็นต้องอาศัยคนนำทาง ค่ำคืนนั้นพวกเขาได้คนนำทางเป็นพ่อครัวและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเมืองมาร์ก้า คือว่า ตอนนั้นทรัพยากรบุคคลมีน้อยมาก หนึ่งคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ต้องทำหลายหน้าที่ เจ้าหน้าที่คนนั้นชื่อ Ali Maow Maalin
มาลินพาเด็กสองคนและเจ้าหน้าที่มาถึงศูนย์อย่างปลอดภัย เด็กสองคนนั้น คนหนึ่งรอดชีวิต อีกคนหนึ่งเสียชีวิต คนที่เสียชีวิตคือ Habiba Nur Ali ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้ป่วยรายสุดท้ายในโลกที่เสียชีวิตจากไข้ทรพิษ เด็กทั้งสองคนนี้ไม่ได้รับวัคซีน ในบางส่วนของแอฟริกายังเชื่อว่าการรับวัคซีนเป็นสิ่งไม่ดี แต่เมื่อโครงการปูพรมวัคซีนขององค์การอนามัยโลกเข้ามาร่วมกับความร่วมมือของรัฐบาลเผด็จการทหารของแอฟริกา (วัคซีนฟรี) การฉีดวัคซีนก็ครอบคลุมทั้งหมด ถ้าทุกคนยอมฉีดจริง...
สิบวันหลังจากที่มาลินไปรับเด็กไข้ทรพิษ มาลินเริ่มล้มป่วย มีไข้สูง มาลินไปพบแพทย์ ในตอนแรกแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นไข้มาเลเรีย โรคร้ายอันดับหนึ่งของแอฟริกาและของโลกมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากติดตามอาการไป สองถึงสามวัน มาลินเริ่มมีตุ่มน้ำใสขึ้นตามตัว ปวดเมื่อย แพทย์ที่ดูแลขณะนั้นให้การวินิจฉัยว่า น่าจะเป็นสุกใส (chicken pox) ทำไมไม่มีใครคิดถึงไข้ทรพิษเลย ?
เพราะมาลินอยุ่ในสถานที่ที่มีการสืบสวนโรคและฉีดวัคซีนกันถ้วนหน้า วัคซีนไข้ทรพิษนั้นทรงอานุภาพมาก สามารถป้องกันการติดโรคได้อย่างชะงักงัน แต่ตุ่มน้ำใสก็ลุกลามและลักษณะไม่เหมือนสุกใส กลับเหมือนไข้ทรพิษมากขึ้น มาลินเองก็เก็บตัวเงียบ ไม่ได้แจ้งข้อมูลใด ๆ จนเพื่อนร่วมงานของเขาสังเกตเห็นลักษณะผื่นและคิดว่า อย่างไรเสียน่าจะเป็นผื่นไข้ทรพิษแน่นอน เพื่อนร่วมงานคนนั้นจึงนำความไปแจ้งศูนย์ป้องกันโรค เพื่อสินรางวัลนำจับ 35 ดอลล่าร์สหรัฐ
ผลปรากฎว่ามาลินเป็นไข้ทรพิษ variola minor คาดว่าติดมาจากเด็กหญิงคนสุดท้ายในโลกที่เสียชีวิตจากไข้ทรพิษนั่นเอง ผู้คนรอบตัวเขา 91 คน ต้องมาสืบสวนโรคและกักกันโรค ในฐานะที่อาจจะเป็นผู้เสี่ยงการติดเชื้อกลุ่มสุดท้ายในโลก แม้ 12 คนใน 91 คนจะไม่ได้รับวัคซีน แต่ทั้ง 91 คนก็ไม่มีใครติดเชื้อเลย และได้รับการปล่อยตัวหลังจากกักกันนานถึง 6 สัปดาห์ มีการปิดเมืองนานสองสัปดาห์ และปูพรมฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 54,777 ราย
แล้วทำไมมาลินจึงป่วยเป็นไข้ทรพิษได้ คำตอบนี้กลับตอบได้อย่างง่ายดาย เพราะมาลินหลบเลี่ยงการฉีดวัคซีนนั่นเอง เขาสารภาพว่ายังกลัวการฉีดวัคซีน แม้ว่าตัวเขาจะต้องรับหน้าที่เชื้อเชิญชาวบ้านมารับวัคซีนก็ตาม โชคดีที่มาลินมารับการรักษาตัวทันและหายดีในที่สุด หลังจากนั้น ไม่มีรายงานการเจ็บป่วยไข้ทรพิษอย่างเป็นทางการอีกเลยในโซมาเลียและในโลก
ผ่านมาอีก 2 ปี หลังจากการปูพรมวัคซีนสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และติดตามการเกิดโรคมาสองปี องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยืนยันว่า Ali Maow Maalin คือผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้ทรพิษจากธรรมชาติรายสุดท้ายในโลก และสามารถกำจัดโรคไข้ทรพิษหมดไปจากโลกได้อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ธันวาคม 1979 (ส่วน เจเน็ต ปาร์กเกอร์ ที่ติดเชื้อไข้ทรพิษหลังจากมาลิน เป็นการติดเชื้อเนื่องจากอุบัติเหตุในห้องทดลองเชื้อโรค)
หลังจากนั้นมาลิน ได้อุทิศตัวเพื่อรณรงค์วัคซีนทั่วแอฟริกา เป็นผู้ประสานงานภูมิภาคแอฟริกาขององค์การอนามัยโลก ในช่วงที่รณรงค์เพื่อกำจัดโรคโปลิโอนั้น มาลินได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทดสอบวัคซีนอีกด้วย และมาลินได้เสียชีวิตลงในช่วงนั้น แต่ไม่ได้เสียชีวิตจากวัคซีน แต่เสียชีวิตเนื่องจากโรคมาเลเรีย โรคแรกที่ทางคณะแพทย์คิดว่าเขาป่วยเมื่อ 36 ปีก่อน ... นั่นเอง
กลับมาที่ยุคปัจจุบัน แม้การแพทย์จะเจริญรุดหนาไปเพียงใดก็ตาม มหันตภัยจากโรคร้าย โดยเฉพาะโรคติดเชื้อ ยังไม่หมดสิ้นไป เรายังคงต้องต่อสู้และอยู่ร่วมกับโรคต่าง ๆ ไปอีกนานเท่านาน
ท่านผู้โดยสารอย่าลืมตรวจสอบสัมภาระของท่าน ลุงหมอแอร์ ยินดีที่ได้รับใช้พวกท่านอีกครั้ง ไว้โอกาสหน้าฟ้าใหม่ เราจะพากันไปท่องเที่ยวย้อนอดีตกันอีกครา สวัสดีครับ
ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่องราวของไข้ทรพิษและทีมกำจัดโรคได้ตามลิ้งก์ด้านล่างนี้
เรื่องราวของฝีดาษ
โดนัลด์ เฮนเดอร์สัน ผู้กำจัดฝีดาษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น