30 กรกฎาคม 2566

Filmmaker,Failmaker บันทึกกำ(กับ)

 จดหมายถึงคุณเบนซ์ ธนชาติ ศิริภัทราชัย เจ้าของผลงาน "Filmmaker,Failmaker บันทึกกำ(กับ)"

คุณนี่นะ สำนวนการเขียนกวนจีนไม่เคยเปลี่ยน กวนตั้งแต่เล่มแรกมายังเล่มนี้ ทำไมผมจะต้องซื้อหนังสือกวน ๆ ของคุณทุกเล่มด้วย มันช่างเป็นการกวนที่สนุกจิ๊บเป๋ง กัด ๆ คัน ๆ ไม่ทิ้งลายเลยนะคุณ
บอกตามตรง ไอ้เรื่องเล่าประสบการณ์ใครก็ทำได้ หนังสือแบบนี้เกลื่อนตลาด คุณนี่ไม่คิดนะเปลี่ยนแนวหรือไงกัน เขียนออกมาได้ บันทึกประสบการณ์แบบมุมมองตัวเองในแง่มุมที่ไม่ได้นำเสนอคนอื่น แบบคิดสนุก ๆ ในใจ ถามจริงมันจะขายได้หรือคุณ ไอ้ความคิดสนุก ๆ ในใจที่ถ่ายทอดมาแบบกวน ๆ เนี่ย ใครมันจะติดจนซื้อทุกเล่มแบบผมกัน
จนมาเป็นผู้กำกับแล้ว คุณคิดว่าคุณเป็นคนเขียนบทหรือไง ปล่อยให้คนเขียนบทเขาทำงาน ไม่ใช่ไปแย่งวิธีการเล่าเรื่องที่โคตรมันส์ ชวนตามจนจบแต่ละบท คุณไม่น่าไปแย่งงานเขาทำนะ รู้ว่าเขียนมันส์ น่าติดตาม แต่ก็..นะ..คุณคือผู้กำกับนะเว้ย
เรื่องเกี่ยวกับกองถ่าย ความยากลำบากเกี่ยวกับกองถ่าย ความสับสนอลหม่าน ทำไมคุณจะต้องเล่าให้มันสนุก และไม่เครียดด้วย เรื่องแบบนี้มันต้องเครียดสิฟระ จะมาเล่าแบบสนุก ชวนอ่านชวนหัว จนเรื่องเครียดเป็นรอยยิ้มแบบนี้ มันเสียมู้ดนะคุณ
ตอนคุณเล่าเรื่องคุณติดโควิด คุณเขียนเรื่องความเจ็บป่วยน้อยมาก โธ่ ๆ อุตส่าห์รออ่าน แล้วได้อ่านอะไร อ่านวิธีการผ่านไปได้แบบมองโลกแง่ดี แบบยิ้มได้ แบบได้ข้อคิดแบบนี้ มันพล็อตทวิสต์เกินไป ทำเอาอ่านจนจบในสองชั่วโมง จำไว้นะ ไม่ได้รออ่านเรื่องนี้
สุดท้ายก็ซื้อมาอ่านเหอะคุณ สนุกแหละ ประสบการณ์ผู้กำกับ และนักแสดงจำเป็น (ร้อนเงิน) นอกจากตำรวจก็มีคุณเบนซ์นี่แหละที่เขียนได้ (มันส์อยู่คนเดียวแหละไอ้แว่น..ขอยืมสำนวนในเล่มมาใช้) เล่มไม่หนา อ่านตอนพักกลางวัน ต่อพักเบรกอีกเบรกก็จบแล้ว มันวางไม่ลงจริงคุณ
Filmmaker,Failmaker บันทึกกำ (กับ) โดยคุณเบนซ์ ธนชาติ แน่นอนว่าของสำนักพิมพ์แซลมอน เพราะเขาเป็นผู้กำกับของแซลมอน !! ไม่น่าจะมีใครเอาไปพิมพ์ได้ ปกสวยแบบมินิมอล ราคาปก 270 บาท
ติดตามมาทุกเล่ม กินเงินผมมาทุกเล่มเลยนะ ตาเบนซ์ ธนชาติ
ขอแสดงความนับถือ สองจอก
จากลุงหมอ ที่อิจฉาอยากจะออกพ็อกเก็ตบุ๊กบ้าง

29 กรกฎาคม 2566

พิธาวาสเตตินกับการป้องกันโรคหลอดเลือดในผู้ป่วย HIV : REPRIEVE

 ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับ พิธา …

…วาสเตตินกับการป้องกันโรคหลอดเลือดในผู้ป่วย HIV
การศึกษานี้ชื่อว่า REPRIEVE ทำการศึกษาทดลองผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ที่ได้รับการรักษาแล้วได้ยาต้านไวรัสแล้ว ควบคุมได้ดีทีเดียว (ไม่เห็นว่าใช้ยาอะไร แต่ศึกษาหลังปี 2019 น่าจะเป็น integrase inhibitor-based กันเป็นส่วนมาก) โดยเลือกผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดระดับต่ำถึงปานกลาง ระดับ LDL เฉลี่ยที่ 108 mg/dL จำนวน 7769 ราย อายุประมาณ 50 ปี มาแบ่งครึ่ง ๆ กิน pitavastatin 4 มิลลิกรัมต่อวัน (ของบ้านเราเม็ดละ 2 มิลลิกรัม กิน 0.5-1 เม็ดเอง) เทียบกับยาหลอก ติดตามไป 5 ปี
วัดผลรวมการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (MACE outcome) พบว่ากลุ่มกินยาพิธาเกิดโรค 4.81 ต่อพันรายปี กลุ่มกินยาหลอกเกิดโรค 7.32 ต่อพันรายปี คิดบวกลบแล้วกลุ่มกินยาพิธา ลดโอกาสเกิดโรคได้มากกว่ายาหลอก 35% และมีนัยสำคัญทางสถิติ แถมเป็นจริงในทุก ๆ ผลย่อยที่เอามารวมกันด้วย ระดับไขมันก็ลดลงจนได้เป้าอยู่ที่ประมาณ 100 ผลข้างเคียงรุนแรงไม่มี ส่วนการปวดกล้ามเนื้อพบมากกว่าชัดเจนในกลุ่มได้ยาพิธา และพบโอกาสเบาหวานมากขึ้นในกลุ่มได้ยาพิธา ..แต่ตรงนี้ได้คำอธิบายเดิมมาใช้ คือ ผลเสียไม่รุนแรงแต่ประโยชน์มากกว่าโทษแบบไม่เห็นฝุ่น
ก็สรุปว่าการใช้ยา pitavastatin ลดโรคหัวใจในผู้ป่วยเอชไอวีที่กินยาต้านจนอาการดี แต่ว่า ทำในผู้ป่วยที่เสี่ยงไม่มากและ LDL ไม่สูงนัก ก็ไม่รู้ว่าเสี่ยงสูงจะได้ผลแบบนี้ไหม และหากระดับแอลดีแอลสูงหรือควบคุมไม่ได้จะได้ผลแบบนี้ไหม และที่สำคัญ ก็ไม่รู้ว่าถ้าไม่ใช่พิธา ผลจะออกมาเป็นแบบนี้ไหม จะใช้ simvastatin, atorvastatin, rosuvastatin อันนี้ไม่รู้
ยาพิธานี้ มีปฏิกิริยาระหว่างยาและการจัดการยาที่ต่างออกไปจากสเตตินกลุ่มอื่น อาจเป็นสาเหตุที่เลือกยานี้ เรื่องปฏิกิริยาของสเตตินเป็นคำแนะนำตอนที่เราใช้ยาต้านไวรัสเป็น efavirenz หรือ nevirapine based แต่พอมาเป็น dolutegravir, raltegravir ที่ไม่ค่อยไปยุ่งกับไขมันและไม่ค่อยไปยุ่งกับยาอื่น ๆ ก็เลยทำให้ผลการศึกษาออกมาในทำนองนี้ จะอ้างอิงไปใช้กับยาอื่นไม่ได้นะ
ดังนั้นถ้าเป็นเอชไอวี รักษาดีแล้ว ต้องการความลดเสี่ยงโรคหัวใจเมื่อคุณเริ่มมีความเสี่ยง มีไขมันสูง ตัวเลือกการใช้ pitavastatin ก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ ใครสนใจไปอ่านฟรีได้เลยที่ nejm.org แต่จำกัดเวลานะครับ ของฟรีมีจำกัด

28 กรกฎาคม 2566

โอเมก้าสามจากอาหาร ไม่ทำให้เกิด AF

 เบา ๆ ก่อนนอน

มีการศึกษาแบบ meta-analysis รวบรวมงานวิจัยการใช้โอเมก้าสามแบบ supplementary ที่ใช้เพื่อการรักษาโรคไขมันในเลือดและโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าได้ประโยชน์นะครับ ลดไขมันลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำได้ แต่ว่ามีรายงานพบอุบัติการณ์โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ AF เพิ่มขึ้น รวม ๆ คือ 25% และจะพบชัดเจนเป็นเป็นสองเท่า หากดูเฉพาะรายที่ได้โอเมก้าสามมากกว่า 1 กรัมต่อวัน
และต่อมามีงานวิจัยเพื่อตอบคำถามอีกว่า ถ้าโอเมก้าสามแบบยาเม็ดเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ AF แล้วโอเมก้าสามที่ได้จากการกินปลา จะเกิดเหมือนกันไหม อันนี้รวบรวมการศึกษาแบบเฝ้าระวัง ที่วัดผลปริมาณการกินปลา โอเมก้าสามในเนื้อปลา เทียบระดับโอเมก้าสามในเลือดและในเนื้อเยื่อ พบว่าการกินโอเมก้าสามที่มาจากเนื้อปลา ไม่ว่าจะเป็น DPA, EPA, EPA/DHA ไม่เพิ่มโอกาสเกิด AF แถมมีแนวโน้มลดการเกิดอีกด้วย
สรุปว่า โอเมก้าสามจากอาหาร ได้ผลไม่เท่ากับ โอเมก้าสามแบบเม็ด และการกินปลาเพื่อหวังผลโอเมก้าสาม ก็ไม่ทำให้เกิด AF แต่อย่างใด

ความรู้จากราชวิทยาลัยสู่ประชาชน : การคัดกรองมะเร็ง ตอนที่ 2 : อ.ศุทธินี อิทธิเมฆินทร์

 ความรู้จากราชวิทยาลัยสู่ประชาชน : การคัดกรองมะเร็ง : อ.ศุทธินี อิทธิเมฆินทร์ 


แบ่งออกเป็นสองตอน ส่วนแรกคือคำแนะนำในการคัดกรอง ส่วนที่ของคือความเข้าใจและปรัชญาของการคัดกรอง มาต่อที่ส่วนที่สองเรื่องความเข้าใจและปรัชญาพื้นฐานของการคัดกรองมะเร็ง


  1. การคัดกรองในอุดมคติ ต้องแม่นยำ ผลบวกปลอมต่ำมาก ทำง่ายทำได้หลายที่ ราคาไม่แพงและคุ้มค่า ปลอดภัย ถ้าทำแล้วเจอสามารถลดการเสียชีวิตหรือเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ สุดท้ายคือต้องทำได้จริงในทางปฏิบัติ สรุปว่ายังไม่มีวิธีที่สมบูรณ์ … ดังนั้นการเลือกใช้วิธีใดคัดกรอง ควรอิงตามการศึกษาที่มี ซึ่งคิดประเมินผลต่าง ๆ มาเป็นอย่างดีแล้ว สุดท้ายเขาจะสรุปมาในแนวทางการคัดกรอง

  2. การคัดกรองมีผลเสียเสมอต่อให้คัดกรองได้ดี คือ เพิ่มความเครียด, เพิ่มโอกาสต้องทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มไปอีก, เรื่องของราคา, มีผลต่อการประกันภัยบางอย่าง  … และในสถานการณ์ที่การคัดกรองไม่ได้เยี่ยมมาก ผลเสียจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

  3. การคัดกรองมะเร็งในปัจจุบัน ยังต้องทำการแยก average risk คือความเสี่ยงทั่วไปจากอายุ ก็จะคัดกรองตามอายุ เลือกวิธีที่เหมาะตามสถานการณ์ และต้องซักประวัติตรวจร่างกายแยก increased risk คือ ความเสี่ยงสูงกว่าปรกติ ก็จะใช้อีกแบบ เช่น การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั่วไปเราเริ่มที่อายุ 45 ปี ใช้การตรวจอุจจาระได้ แต่ในคนที่มีประวัติครอบครัว อาจจะต้องทำในอายุน้อยกว่า 45 และใช้การส่องกล้องตรวจ

  4. มะเร็งที่ลุกลามเร็วมาก การคัดกรองอาจไม่เกิดประโยชน์ เช่นมะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งที่การดำเนินโรคช้ามากจนไม่รักษาก็ไม่เกิดอันตราย อันนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์ หรือมะเร็งที่การรักษาตั้งแต่ต้นแล้วไม่ได้เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี หรือไม่ได้ลดความยุ่งยากการรักษา การคัดกรองก็อาจไม่เกิดประโยชน์….ไม่ใช่มะเร็งทุกอย่างจะคัดกรองได้ และไม่ใช่มะเร็งที่คัดกรองได้จะเกิดประโยชน์เสมอไป 

  5. หนึ่งในความสำคัญที่ถูกละเลยหากจะคัดกรอง คือ การพูดคุยตัดสินใจร่วมกันก่อนคัดกรอง คุยกันว่าผู้ที่จะเข้ารับการคัดกรองมีความเสี่ยงระดับใดและจะใช้วิธีใด ถ้าผลออกมาเป็นบวกจะทำอย่างไรต่อ และมะเร็งที่คัดกรองนั้นหากพบเจอเข้า มีวิธีการรักษาแบบใดบ้าง และผู้ที่จะเข้ารับการคัดกรองพร้อมที่จะรักษาเพียงใด พร้อมจะลดความเสี่ยงการเกิดโรคไหม … การคัดกรองมะเร็ง ควรทำ pre-test and post-test counselling เสมอ

  6. การคัดกรองมะเร็ง ต้องเข้าใจวิธีคิดเชิงสถิติวินิจฉัยมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น sensitivity, specificity, predictive value, incidence, mortality, case-fatality และ bias ตัวอย่างของ bias ที่สำคัญ ในการคัดกรองมะเร็ง ที่จะดูว่าการทดสอบนี้ดี ตรวจจับมะเร็งได้ และทำให้คนไข้ไม่ตาย 

    1. Lead-time bias คือ ไปตรวจพบมะเร็งก่อนเกิดอาการ ซึ่งการตรวจพบนั้นไม่ได้เปลี่ยนการดำเนินการหรือเปลี่ยนคุณภาพชีวิตคนไข้เลย สิ่งที่พบคือ อุบัติการณ์โรคที่เพิ่มขึ้น และดูเหมือนการอยู่รอดจะนานขึ้นเท่านั้น (นานเพราะไปเจอก่อน) ต้องพิจารณาด้วยว่าการตรวจคัดกรองที่เราจะใช้มี lead time bias หรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดการตรวจรักษาเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็น เสียเงินทอง มีอันตรายจากการตรวจเกินจำเป็นและเครียดจัด

    2. Length-time bias คือ เอาหนึ่งวิธีไปตรวจหามะเร็งในช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งที่ได้คือ โอกาสจะเจอมะเร็งชนิดนี้แหละแต่เป็นกลุ่มย่อยที่ดำเนินโรคช้า เพราะกลุ่มที่ดำเนินโรคไวก็เสียชีวิต อยู่ไม่นานพอจะจับได้ ผลออกมาคือ วิธีการตรวจนี้ดักจับมะเร็งได้แถมไม่ตายอีกด้วย … ก็เพราะกลุ่มที่ตาย มันดักจับไม่ได้ไงล่ะ 

  7. สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ตัวยอดนิยมคือ CEA, CA 19-9, AFB, CA125, CA15-3 ยังไม่มีหลักฐานและคำแนะนำเพื่อคัดกรองมะเร็งแต่อย่างใด … การตรวจยีนก่อมะเร็ง ยังไม่สามารถใช้เป็นการคัดกรองในคนปกติได้ แต่อาจใช้ในคนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (hereditary cancer) เพราะส่วนมากเป็นการตรวจ germline mutation

  8. คิดถึงผลที่ตามมาเสมอ ว่าตรวจคัดกรองแล้วจะทำอะไรต่อ ถ้าคิดว่าจะไม่ทำต่อ ทำต่อไม่ได้ หรือไม่คุ้มค่าที่จะทำ ให้คิดทบทวนและคุยปรึกษากับคนไข้ให้ดี เช่น จะคัดกรองมะเร็งปอดทำไมถ้าอย่างไรก็ไม่เลิกบุหรี่  จะคัดกรองมะเร็งลำไส้ไหม ถ้าป่วยเป็นโรคเบาหวาน+ความดัน+ไขมัน+ไตวาย+อัมพาต+ตับแข็ง+ถุงลมโป่งพอง+หัวใจล้มเหลว+หลอดเลือดแดงโป่งพอง คัดกรองแล้วจะผ่าตัดไหม 


จบตอนที่ 2


26 กรกฎาคม 2566

ความรู้จากราชวิทยาลัยสู่ประชาชน : การคัดกรองมะเร็ง ตอนที่ 1 : อ.ศุทธินี อิทธิเมฆินทร์

 ความรู้จากราชวิทยาลัยสู่ประชาชน : การคัดกรองมะเร็ง ตอนที่ 1 : อ.ศุทธินี อิทธิเมฆินทร์

แบ่งออกเป็นสองตอน ส่วนแรกคือคำแนะนำในการคัดกรอง ส่วนที่ของคือความเข้าใจและปรัชญาของการคัดกรอง ขอเริ่มที่ส่วนแรกก่อนนะครับ
การคัดกรองนี้ใช้กับกลุ่มประชากรทั่วไป (average risk) ส่วนกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปรกติเช่น มีรอยโรคที่บ่งชี้มะเร็งในอนาคต มีประวัติครอบครัว หรือเคยตรวจพบยีนก่อมะเร็ง อันนี้จะใช้แนวทางนี้ไม่ได้ต้องปรึกษาคุณหมอเป็นกรณีไปครับ
🚩🚩มะเร็งเต้านม 🚩🚩
แนะนำใช้การทำ mammogram และอาจเสริมด้วยการทำอัลตร้าซาวนด์เต้านมในบางราย เช่น เนื้อเต้านมยังหนาแน่นมากในสุภาพสตรีอายุน้อย โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี ให้ทำทุกปี และเมื่ออายุมากขึ้น 50-75 ปีอาจขยายเป็นสองปีต่อครั้งได้
และเมื่ออายุมากอาจจะคัดกรองต่อไปได้ หากประเมินว่ายังสามารถใช้ชีวิตต่ออย่างมีคุณภาพได้ และสามารถผ่าตัดได้หากพบก้อน
สำหรับการตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเองหรือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แนะนำทำได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปีและไม่มีความเสี่ยงเพิ่มมากกว่าปรกติ
🚩🚩มะเร็งปากมดลูก🚩🚩
แนะนำทำตั้งแต่อายุ 20-65 ปี โดยใช้การตรวจภายในและเก็บเซลล์จากปากมดลูกไปทำการตรวจสอบเซลล์ที่ผิดปกติ (Pap Smear) ร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (ไวรัสก่อมะเร็ง) โดยตรวจหาดีเอ็นเอของไวรัส ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจทั้งสองอย่างพร้อมกันในการตรวจภายในครั้งเดียว
หากตรวจ Pap Smear อย่างเดียวแนะนำตรวจทุก 3 ปี แต่ถ้าตรวจ HPV DNA ร่วมด้วยแนะนำให้ตรวจทุก 5 ปี และไม่ว่าจะฉีดวัคซีน HPV มาแล้วหรือไม่ก็แนะนำตรวจคัดกรองเหมือนกัน
เมื่อายุถึง 65 ปี ถ้าตรวจคัดกรองต่อเนื่องมาโดยตลอด และผลการตรวจเป็นปกติ เป็นเวลาย้อนหลังต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี สามารถหยุดคัดกรองได้
🚩🚩มะเร็งลำไส้ใหญ่🚩🚩
เกณฑ์เสี่ยงทั่วไปคือ อายุมากกว่า 45 ปี แนะนำตรวจคัดกรองเมื่ออายุตั้งแต่ 45 ปี และยุติการคัดกรองเมื่ออายุ 75 ปี คำแนะนำการตรวจและระยะห่างในการตรวจขึ้นกับวิธี ซึ่งแต่ละสถานที่แต่ละโอกาสเหมาะสมแตกต่างกัน
➡️การตรวจอุจจาระด้วยวิธี FOBT ตรวจหา heme ของมนุษย์ในอุจจาระ แนะนำตรวจทุกปี หากผิดปกติแนะนำส่องกล้อง
➡️การตรวจอุจจาระเพื่อหา DNA ที่ผิดปกติในกลุ่มน่าจะเป็นมะเร็ง (fecal DNA) แนะนำตรวจทุก 3 ปี หากผิดปกติไปส่องกล้อง
➡️การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonography) ความไวไม่แพ้ส่องกล้อง เห็นโครงสร้างนอกลำไส้ด้วย ไม่รุกล้ำ แต่…ตัดชิ้นเนื้อไม่ได้ อาจจะต้องส่องกล้องอีก อันนี้ทำทุก 5 ปี
➡️ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เป็นมาตรฐาน gold standard ในการคัดกรอง ทำทุก 10 ปี
🚩🚩มะเร็งปอด🚩🚩
มะเร็งปอดจะคัดกรองในคนที่เสี่ยงพอสมควรเท่านั้น คือ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และมีประวัติสูบบุหรี่อย่างน้อย 20 ซองปี ไม่ว่าจะยังสูบอยู่หรือเลิกไปไม่เกิน 15 ปี ถ้ามีสมบัติถึงเกณฑ์สามารถเข้ารับการคัดกรองได้ โดยวิธีการจะใช้ low dose CT chest เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกแบบไม่ฉีดสารทึบแสง และใช้ความแรงรังสีไม่มาก
โดยทำทุกปี จนกว่าจะพ้นเกณฑ์คือเลิกบุหรี่มาเกิน 15 ปี หรืออายุมากจนคิดว่าการคัดกรองแล้วหากรักษาก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร และที่สำคัญจะคัดกรองต่อเมื่อคนคนนั้นตัดสินใจเลิกบุหรี่
🚩🚩มะเร็งลูกหมาก🚩🚩
ทำเฉพาะในเพศชาย อายุตั้งแต่ 50-75 ปีและมีช่วงเวลาชีวิตเกินกว่า 10 ปี ถ้าอายุน้อยจะต้องมีประวัติครอบครัวมะเร็งลูกหมากร่วมด้วยที่ชัดเจน ซึ่งข้อมูลการคัดกรองปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงเพราะความไวและความจำเพาะยังไม่ดีมากพอ ปัจจุบันจึงใช้วิธีที่ไวที่สุดเท่ามีอยู่
การคัดกรองใช้การตรวจทางทวารหนัก ร่วมกับการใช้ผลเลือด PSA ถ้าค่า PSA มากกว่า 10 จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลูกหมากถึง 50% สและหากต่ำกว่า 4 โอกาสมะเร็งลูกหมากจะต่ะ และหากยังไม่ชัดเจน อาจตรวจค่า free PSA มาคำนวณร่วมด้วย ถ้าสัดส่วน free PSA น้อยกว่า 10% จะแนะนำไปตัดชิ้นเนื้อตรวจต่อไป
จบตอนที่ 1

23 กรกฎาคม 2566

A Man Called Ove

 คุณคิดว่าคุณจะเข้าใจคนคนหนึ่งได้เมื่อไร กับ A Man Called Ove

อูเว่ เป็นชายชราที่ทุกคนเห็นว่าเขาขี้โมโห ยึดความคิดของตัวเอง ไม่ฟังความเห็นใคร ทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ กันทุกวัน ใครมาวอแวกับเขา เขาก็จะตอกกลับอย่างดุดันและหยาบกระด้าง แม้กระทั่งเพื่อนบ้านใหม่ ที่กำลังย้ายบ้านเข้ามา และต้องฝ่าฝืนกฏหมู่บ้าน (อันแสนแปลกประหลาดที่อูเว่เป็นคนตั้ง) ที่ห้ามขับรถเข้ามาในเขตที่อยู่อาศัย แต่เขาต้องขนของเข้ามาและคุณแม่ของครอบครัวใหม่ก็ตั้งครรภ์เสียด้วย
อูเว่เสียพ่อตั้งแต่อายุยังน้อย ต้องทำงานเลี้ยงตัวเองมาตลอด มีชีวิตในกฏเกณฑ์และสิ่งที่จับต้องได้ ซื่อสัตย์ ยอมหักไม่ยอมงอ ชีวิตทั้งชีวิตมีแต่สีขาวและสีดำ สิ่งนั้นได้ สิ่งนี้ไม่ได้ เขาคิดว่าโลกนี้คงวุ่นวายมากหากคนไม่ทำตามกฏ เขาพยายามทำให้ทุกอย่างและคนรอบข้างทำตามกฏระเบียบ จนทะเลาะกับเขาไปทั่ว
จนมาวันหนึ่ง อูเว่ เริ่มพบสีสันในชีวิต
ซอนย่า เป็นสุภาพสตรีที่ใจดี มีชีวิตที่ไม่ยึดกับกฏ ให้โอกาสทุกคน เธอเข้ามาในชีวิตอูเว่และเริ่มทำให้เขารู้ว่า ชีวิตไม่ได้มีแต่ขาวและดำ การใส่สีสัน การยืดหยุ่นในชีวิต มันก็ไม่ถึงกับตาย จนเมื่อทั้งคู่เสียลูกในท้องจากอุบัติเหตุที่ปารีส โดยที่อูเว่สังเกตเห็นคนขับรถบัสของเขา ที่ออกอาการเมาตั้งแต่ออกรถ อุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้ซอนย่าต้องติดรถเข็นไปตลอดชีวิต อูเว่เกรี้ยวกราดมากขึ้น โทษทุกคน โทษระบบ ที่ทำให้เขาและภรรยาต้องมาเป็นแบบนี้ ในขณะที่ซอนย่ากลับมองโลกในแง่ดี และใช้โอกาสที่เหลืออยู่ในชีวิต ทำให้ผู้ชายคนนี้ไม่ยึดติดกับความคิดตัวเอง
จนวันที่ซอนย่าจากไป
อูเว่เศร้าหมองจนอยากฆ่าตัวตายหลายครั้ง ซึ่งไม่เคยสำเร็จ เพราะแต่ละครั้งจะมีเหตุที่ทำให้เขาต้องออกไปช่วยเหลือคนอื่น ก็ช่วยเหลือในแบบอูเว่ ด่า บ่น สบถ แต่ไปช่วยแบบเต็มที่เช่นกัน ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจที่ต้องเสียภรรยาไป แต่สิ่งต่าง ๆ ที่เขาทำให้ภรรยาในขณะมีชีวิตอยู่ เริ่มผลิดอกออกผล อูเว่เริ่มเข้าใจโลก ทำเพื่อคนอื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่เข้าใจ แต่ก็ทำเพราะมันคือสิ่งที่ควรทำในชีวิต จนวาระสุดท้ายของอูเว่
ทั้งเรื่องคุณจะได้พบกับความขัดแย้งในหัวใจของอูเว่ ความรุนแรงในหัวใจและระเบียบของอูเว่กับสิ่งงดงามจากที่ซอนย่ามอบให้ ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งการซื้อรถ การซื้อของ การซ่อมบ้าน การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน การเลี้ยงแมว ความมีสีสันและอ่อนโยนของซอนย่า ที่ละลายหินผาในใจของอูเว่ แล้วคุณจะได้พบว่า สาเหตุที่คนคนหนึ่งต้องระเบียบจัดและอยากทำทุกอย่างให้ถูกต้องคืออะไร และได้รู้ว่าลึก ๆ ในจิตใจของคนอินโทรเวิร์ตสุดขั้วแบบนี้ เขาก็มีหัวใจที่อ่อนหวานเช่นกัน
ผู้เขียนเล่าเรื่องราวจากวัยเด็กมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นที่มาของความคิดและพฤติกรรมของอูเว่ สลับกับเหตุการณ์ที่เกิดในปัจจุบัน ที่ทำให้อูเว่มองโลกและการกระทำที่เปลี่ยนไปจากซอนย่าและเพื่อนบ้านใหม่ของอูเว่ เล่าเรื่องได้กลมกลืนตัดภาพสลับอดีตและปัจจุบันได้ลงตัว แถมยังสนุกสนาน ครบรสชาติและสีสันแห่งชีวิต คำบรรยายที่ทำให้ทราบถึงก้นบึ้งส่วนลึกจิตใจอูเว่ ที่ไม่ได้หยาบกระด้าง แถมยังอ่อนไหวและรักภรรยาอย่างสุดหัวใจ
เขียนโดยเฟดดริก บัคมัน แปลไทยโดย ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี สนพ. Merry Go Round ราคาปก 340บาท พร้อมที่คั่นลายสวย ปกสวยมาก ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ จะทำให้คุณสนุก มัน ชุ่มชื่นและอิ่มในหัวใจครับ เป็นเพื่อนที่ดีในวันหยุดยาวที่จะมาถึงนี้ครับ

21 กรกฎาคม 2566

MASLD : Metabolic dysfunction - Associated Steatotic Liver Disease

 เปลี่ยนชื่อ Non Alcoholic

เมื่อประมาณหกเดือนก่อน มีการประกาศใช้ชื่อโรคใหม่ สำหรับโรคไขมันพอกตับ และเมื่องานประชุมโรคตับยุโรปไม่นานมานี้ก็ประกาศเรื่องนี้อีกรอบ เรามาทบทวนก่อนทราบของใหม่
NAFLD : non alcoholic fatty liver disease เป็นชื่อกลุ่มโรคที่พบไขมันผิดปกติที่เนื้อตับอันไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ มาตรฐานต้องเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ แต่ปัจจุบันก็มีหลายวิธีที่ไม่ต้องเจาะ เช่นการใช้คลื่นเสียง การใช้เอ็มอาร์ไอ การใช้ผลการตรวจเลือดมาเข้าสมการ ความสำคัญคือ ถ้าไม่จัดการก็จะเกิดตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคตได้ การจัดการส่วนมากคือ การควบคุมน้ำหนัก ลดอาหารมัน ออกกำลังกาย การใช้ยายังไม่เป็นที่ตกลงชัดเจนเด็ดขาด
Non Alcoholic SteatoHepatitis คือ กรณีข้างบนและมีตับอักเสบร่วมด้วย
คราวนี้มาดูคำใหม่ ผู้จัดเขาให้คำอธิบายว่า จะได้สื่อถึงต้นกำเนิดโรคและปฏิบัติรักษาได้ดีขึ้น รวมทั้งไม่เป็น "stigma" หรือตราบาปว่ามีความเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์หรือไม่ … แต่วิธีการจัดการโรคยังเหมือนเดิม
MASLD : Metabolic dysfunction - Associated Steatotic Liver Disease เอามาแทน NAFLD
MASH : Metabolic dysfunction Associated SteatoHepatitis เอามาแทน NASH
บอกว่ามันเกิดจากหลายสาเหตุ และการรักษาต้องเป็นองค์รวมคล้ายโรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome)
MetALD : Metabolic Dysfunction Alcoholic Liver Disease คือ MASLD ที่เกิดจากแอลกอฮอล์ มีกำหนดว่า ชาย 210 กรัมแอลกอฮอล์ต่อสัปดาห์ หญิง 140 กรัมแอลกอฮอล์ต่อสัปดาห์ (ประมาณสามดื่มมาตรฐานต่อวันในชาย และสองดื่มมาตรฐานต่อวันในหญิง) การรักษาก็ไม่ใช่เลิกเหล้าอย่างเดียว ต้องรักษา metabolism ที่เปลี่ยนไปด้วย
แต่อีกหลายปีกว่าตำราหรือแนวทางมาตรฐานจะเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้หมดครับ คงค่อย ๆ ทยอยกันเปลี่ยนครับ

20 กรกฎาคม 2566

อัปเดตเรื่อง EVALI ที่พบว่ารุนแรงน้อยลง

 อัปเดตเรื่อง EVALI กันสักหน่อย

ทบทวน e-cigarette or vaping use-associated lung injury หรือ EVALI คือภาวะปอดอักเสบเฉียบพลันจนใกล้จะล้มเหลว มีการแลกเปลี่ยนแก๊สที่บกพร่องมาก สาเหตุเกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โรคนี้มีการรายงานและพบมากก่อนการระบาดของโควิด-19 ประมาณหนึ่งปี เมื่อวิเคราะห์สาเหตุเกือบทั้งหมดเกิดจากวิตามินอีอะซีเตต ที่ผสมในบุหรี่ไฟฟ้า ทำไมต้องเป็น vitamin E acetate เพราะมันเป็นสารสำคัญที่ใช้เพื่อทำให้ THC ในน้ำมันกัญชาสามารถทำงานในรูปบุหรี่ไฟฟ้าได้
หลังจากปี 2019 การเก็บข้อมูลก็แทบหยุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
หลังจากการระบาดลดลงในปี 2020 หน่วยงานทางเวชสถิติของอเมริกา ได้บรรจุรหัสวินิจฉัยโรค U07.0 สำหรับ EVALI จากนั้นมีรายงานยอดอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี จาก 11000 เป็น 30000 ในช่วงสามปี ในฐานข้อมูลผู้ป่วย 330 ล้านคน ซึ่งล้อไปกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
แต่ว่าความรุนแรงของ EVALI ลดลงมาก ส่วนใหญ่ยังหายใจไหว ไม่ล้มเหลว ไม่รุนแรง เกือบ 70% สามารถรักษาเป็นผู้ป่วยในธรรมดา มีเพียง 1-2% ที่รุนแรงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ และเมื่อนำมาส่องกล้องและเอาไปตรวจชิ้นเนื้อ พบว่าระดับความรุนแรงระดับเซลล์ก็ลดลง เมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้นและโรคที่เปลี่ยนเราก็เลยได้ข้อมูลเพิ่มดังนี้
1.สาเหตุที่พบ vitamin E acetate ในบุหรี่ไฟฟ้า เพราะว่าคนที่สูบกัญชา คิดว่าการสูบแบบเผาไหม้จะอันตราย จึงมีแนวคิดเอาสารสกัด THC จากกัญชามาทำเป็นน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จะได้เผาไหม้น้อยลง ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องมี VitE acetate กลายเป็นว่าทำให้เกิด EVALI
2.จากการสำรวจในเยาวชน พบว่าผู้ที่เป็น EVALI มีการใช้ THC ที่มีวิตะมินอีอะซีเตต มากกว่า 80% ถึงแม้ว่าจะไม่รุนแรง แต่ยังใช้กันมาก
3.ข่าวการใช้ THC ทำให้เกิด EVALI ทำให้การใช้ THC มีความระมัดระวังมากขึ้น ใช้ปริมาณน้อยลง รุนแรงน้อยลง แต่สัดส่วนการใช้ยังไม่ลดลงและจำนวนผู้ใช้โดยรวมเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
4.ปัญหาในการวินิจฉัยคือ การไม่บอกข้อมูล โดยเฉพาะกับเยาวชนที่มากับพ่อแม่ ทำให้ข้อมูลที่ได้น้อยกว่าความจริง หรือไม่บอกส่วนผสมของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอีกปัญหาคือ ภาพเอ็กซเรย์ที่เป็นกระจกฝ้า (groundglass) พบได้ในหลายโรค พอบุหรี่ไฟฟ้าใช้มากขึ้น โอกาสจะถูกวินิจฉัยจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าฝ้านั้นจะเกิดจาก EVALI แท้จริงหรือจากโรคอื่นก็ตาม ยิ่งช่วงโควิดอาจมี EVALI ปลอม มากขึ้น
5.มีการศึกษาผลกระทบเชิงสมองและสติปัญญาของ EVALI แต่ผลยังสรุปไม่ได้ กลุ่มตัวอย่างน้อยมากและติดตามยังไม่นานพอ แต่โรคปอดอันนี้มีแน่ ๆ ทั้งเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลัน
6.สรุป : เลิกหมดทุกผลิตภัณฑ์นิโคตินหริอยาสูบ จะดีที่สุด มันก็ไม่ง่ายแต่ก็ท้าทายมากทั้งคนเลิกและคนช่วย
ส่วนตัว : ใครทำคลินิกเลิกบุหรี่ หรือทำแบบซักประวัติคัดกรองการสูบบุหรี่ ต้องถามแยก บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่เผาไหม้แบบเดิม บุหรี่แบบ HTC ผู้ป่วยหลายคนไม่นับบุหรี่มวนกับบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งเดียวกัน และอาจต้องติดตามรูปแบบบุหรี่ไฟฟ้และน้ำยาด้วย จะ POD จะ MOD จะ PG จะ VG จะ low nic, no nic หลากหลายและเยอะมาก
See insights and ads
Boost post
All reactions:
62

ผ้าเช็ดตัวที่ใช้แล้วสามวัน พบเชื้อโรคมากกว่า 80 ล้านตัว

 มีเยอะ ใช่ว่าจะก่อปัญหา

มีข่าวส่งมาว่า "มีงานวิจัยว่าผ้าเช็ดตัวที่ใช้แล้วสามวัน พบเชื้อโรคมากกว่า 80 ล้านตัว"
และมีคำแนะนำให้ซักผ้าเช็ดตัว ผึ่งแดดบ่อย ๆ
จริงครับ ควรซักผ้าเช็ดตัว ผึ่งแดดบ่อย ๆ แล้วแต่ความสะดวกแต่ละคน แต่อยากบอกว่า การไปเจอเชื้อโรคกว่า 80 ล้านตัว มันไม่ได้ส่งผลอะไรครับ เพราะมันคือเชื้อโรคที่ผ้าเช็ดตัว
มันยังไม่ได้เข้าร่างกาย ซึ่งก็ไม่ได้เข้าง่าย ๆ แถมร่างกายก็มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีอีก ต่อให้เป็นโรคภูมิคุ้มกันไม่ดี การเอาผ้าเช็ดตัวมาเช็ดก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคจากเชื้อโรคในผ้าเช็ดตัวนะครับ
อีกอย่างเชื้อโรคบนตัวเรา ในปากเรา ที่มือเรา มีมากกว่าในผ้าเช็ดตัวเสียอีก
บางทีปริมาณเยอะก็ไม่รุนแรง ในบางกรณีปริมาณส่วนน้อย แต่ก่อพิษรุนแรงก็มีนะครับ

19 กรกฎาคม 2566

อาหารต้านชรา ลดสมองเสื่อม

 อาหารต้านชรา ลดสมองเสื่อม ???

การศึกษาจาก Rush Alzheimer’s Disease Center และจากฮาร์เวิร์ด ลงนำเสนอและตีพิมพ์ใน NEJM คืนนี้ เขาศึกษาอาหารที่เรียกว่า MIND diet คือ อาหารลูกผสมระหว่างอาหาร DASH ที่แสดงให้เห็นประโยชน์ในการลดความดันและอันตรายจากความดันโลหิตสูง ผสมกับอาหาร Mediterranean ที่แสดงผลลดโรคหัวใจและหลอดเลือดชัดเจน เรียกว่าเอาอาหารที่มีบทพิสูจน์ "ความดี" มารวมกันเลย แล้วดูว่า จะข้ามไปชะลอสมองเสื่อมได้ไหม
ศึกษาในคน 604 คนกินอาหารลูกผสมเทียบอาหารควบคุมทั่วไป กินอย่างเคร่งครัดตลอดสามปี พบว่าระดับคะแนนที่มาวัดว่าสมองยังดีอยู่ไหม สมองเสื่อมไหม ระดับคะแนนี้ดีขึ้นนะครับ แต่ถ้าเทียบสองกลุ่ม อาหารลูกผสมกับอาหารธรรมดา พบว่าต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
เอาเป็นว่าอาหารที่ได้ชื่อว่า เจ๋ง จากการศึกษาวิจัยมากมาย เมื่อนำมาใช้เพื่อลดสมองเสื่อม กินแล้วสมองดี ก็ไม่ได้ต่างจากอาหารปรกติทั่วไปนัก
ดังนั้นหากใครมาบอกว่า กินนี่นะ ช่วยสมองเสื่อม กินนี่สิ ช่วยจำดี .... ก็ขอให้คิดเพิ่มอีกขั้นแล้วกันนะครับ ว่่ามีผลแบบนั้่นจริงไหม

17 กรกฎาคม 2566

คนที่ดื่มเหล้า สามารถดีท็อกซิฟายด์ ตับตัวเอง

 คุณรู้ไหม คนที่ดื่มเหล้า สามารถดีท็อกซิฟายด์ ตับตัวเอง

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำอันตรายมากที่สุดที่ตับ แต่ก็ทำลายอวัยวะอื่นด้วย คือ ลำไส้ ตับอ่อน หัวใจ กระดูก
โรคจากการดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มมีผลตั้งแต่การดื่มแอลกอฮอล์ 6 ดื่มมาตรฐานต่อวัน เป็นเวลาสองสัปดาห์ (ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือสะสม) ประมาณเบียร์ลิตรครึ่ง หรือ เหล้า 1 กั๊ก (200 ซีซี) แค่นี้ก็มีไขมันพอกตับแล้ว
โรคไขมันพอกตับ เราแยกเป็นเกิดจากแอลกอฮอล์ ซึ่งพบมากในบ้านเรา และ แบบไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ อันนั้นเกิดจากการดื้ออินซูลิน อ้วน กินเยอะ
ในผู้ป่วยโรคตับจากแอลกอฮอล์ที่ไม่มีอาการ พบว่า ⅓ นั้นมีพังผืดรุนแรงไปแล้ว ดังนั้น อย่ารอให้เกิดอาการแล้วค่อยเลิกนะครับ
จากการศึกษากลไกการเกิดโรคจากแอลกอฮอล์ พบว่ากลไกในคนคล้ายกับในสัตว์ทดลองมาก เราจึงทดสอบว่าหลังจากหยุดเหล้าแล้ว ความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ มันคืนสภาพไหม ทั้งตับ ตับอ่อน ลำไส้ หัวใจ กระดูก
พบว่าทั้งค่าที่วัดได้ต่าง ๆ และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ในสัตว์ทดลองนั้น การทำงานของตับในมิติต่าง ๆ ดีขึ้นและเนื้อเยื่อคืนสภาพเดิมได้จริง
สำหรับในมนุษย์นั้น อ้างอิงว่ากลไกเดียวกัน และผลเลือด ผลค่าต่าง ๆ ผลภาพเอ็กซเรย์ดีขึ้น แม้ว่าการศึกษาการตัดชิ้นเนื้อจะยังไม่มากพอ แต่เชื่อได้ว่าเมื่อคุณเลิกแอลกอฮอล์ นอกจากจะไม่เสียหายเพิ่มแล้ว อวัยวะภายในของคุณยังฟื้นสภาพอีกด้วย
ยิ่งเลิกเร็ว การคืนสภาพจะดี หากปล่อยให้เสียหายมาก การคืนสภาพจะช้าและไม่สมบูรณ์ รวมทั้งอาจเกิดอันตรายจากแอลกอฮอล์ ก่อนการคืนสภาพ
มาคืนสภาพตับกันเถอะครับ เลิกเหล้า เพื่อคุณเองและคนที่คุณรัก
Alcohol Res. 2021; 41(1): 05. Published online 2021 Apr 8. doi: 10.35946/arcr.v41.1.05

14 กรกฎาคม 2566

eschar ในผู้ป่วยโรค scrub typhus

 แสดงภาพ eschar ในผู้ป่วยโรค scrub typhus

ผู้ป่วยหญิง อาชีพเกษตรกร มีไข้ต่ำ ๆ สลับไข้สูงมา 12 วัน ปวดศีรษะตลอด บางครั้งรุนแรง ปวดเมื่อยตามตัว
ถามประวัติแผลหรือผื่น ผู้ป่วยบอกว่าไม่มี
เมื่อตรวจร่างกาย พยายามพลิกหาตามซอกขาซอกแขน ราวนม รักแร้ ก็พบ eschar ที่ซอกขาด้านหลัง
ด้วยความที่แผลอาจจะเล็ก ไม่เจ็บไม่ปวด ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของแผล ดังนั้น หากสงสัยโรคไข้ไทฟัส ที่ยังพบมากในบ้านเรา การพลิกตัวตรวจอย่างถี่ถ้วนจะช่วยการวินิจฉัยได้ดี (แต่อย่าลืมแยกโรคและคิดถึงโรคอื่นร่วมด้วยเพราะมันไม่ได้เฉพาะเจาะจง)
และเน้นย้ำเรื่องความเหมาะสมในการตรวจ ควรปิดม่านหรือตรวจในที่รโหฐาน แจ้งผู้ป่วยให้ทราบวิธีและวัตถุประสงค์การตรวจ เปิดเผยส่วนร่างกายเป็นส่วน ๆ ที่จะตรวจเท่านั้น ค่อย ๆ ขยับและปกปิดต่อเนื่องไป
ควรมีบุคคลที่สามอยู่ตรวจด้วยเสมอ โดยเฉพาะแพทย์ชายและคนไข้หญิง ต้องมีบุคคลที่สามบุคลากรการแพทย์เพศหญิงอยู่ด้วยเสมอ ย้ำว่าเสมอ นะครับ



May be an image of 1 person and tick
See insights and ads
Boost post
All reacti

บทความที่ได้รับความนิยม