29 กุมภาพันธ์ 2563

I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output

ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก
I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลือในสภาแต่อย่างใด
โดยปรกติสุขทั่วไปแล้ว ร่างกายมนุษย์เราจะรักษาสมดุลสารน้ำในตัวได้อย่างดี ไม่ให้น้อยเกิน ไม่ให้มากเกิน หากเสียสมดุลและร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลได้ หรือมีภาวะใด ๆ เกิดขึ้นและร่างกายไม่สามารถใช้กลไกรักษาสมดุลตามปรกติได้จะเกิดปัญหาแน่นอน แต่ว่าปฏิบัติการ I/O นี้ แม้จะไม่สมดุลด้วยตา แต่มันอาจจะสมดุลในความจริง
เรามาดูน้ำเข้าระบบก่อน intake น้ำเข้าระบบมาจากสองแหล่งคือ ทางเดินอาหารและทางเมตาบอลิซึม
1. ทางเดินอาหาร มาจากน้ำดื่ม น้ำนั่นโน่นนี่ และมาจากน้ำที่ปนอยู่ในอาหาร น้ำที่ได้รับจากส่วนนี้เป็นทางเข้าระบบเป็นหลัก และสามารถปรับได้ง่ายมา เวลาเราควบคุมสารน้ำในโรคเรื้อรังเช่น โรคไต โรคหัวใจ เราจึงมุ่งเน้นการควบคุมในส่วนนี้
1.1น้ำดื่ม 1000-1500 ซีซี
1.2น้ำที่ปนอยู่ในอาหาร 500 ซีซี
2. น้ำที่ได้จากกระบวนการเมตาบอลิซึม กระบวนการทางชีวเคมี เคมีอินทรีย์ต่าง ๆ ในร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสันดาปพลังงาน จะมีผลผลิตจากปฏิกิริยาคือ น้ำ น้ำที่ได้จากกระบวนการเคมีในร่างกายนี้อยู่ที่ประมาณ 500 ซีซีต่อวัน
คราวนี้เรามาดูน้ำที่ออกจากระบบ output น้ำออกจากระบบแบ่งออกเป็นสองอย่างเองคือ ออกจากปัสสาวะ และออกแบบไม่สามารถคำนวณได้ชัดเจน (insensible loss)
1. ทางปัสสาวะ ถือเป็นทางออกหลักการควบคุมทางออก ผู้คุมกฎคือ ไต โดยการควบคุมจากระบบฮอร์โมนและระบบความเข้มข้นของสารละลายในเนื้อไต เวลาสารน้ำเกิน จุดที่เราจะมาควบคุมจัดการมากที่สุดคือที่ไต นับประมาณ 100-1500 ซีซี
2. insensible loss น้ำส่วนเล็กน้อยที่ออกมาทางอุจจาระ ทางลมหายใจ ทางเหงื่อ ทางพื้นที่ระหว่างเซลล์ รวมแล้วออกมาประมาณ 1000 ซีซี สารน้ำปริมาณนี้ตรวจวัดยาก และมีปัจจัยแปรปรวนมาก เช่น
...เมื่อถ่ายเหลว น้ำส่วนนี้จะมากขึ้น
...เมื่ออากาศร้อน น้ำส่วนนี้จะมากขึ้น
...เมื่อหอบมากหรือใส่ท่อช่วยหายใจ น้ำส่วนนี้จะมากขึ้น
...เมื่อมีแผลไฟไหม้พื้นที่กว้าง ผิวหนังที่คอยควบคุมหายไป น้ำส่วนนี้จะมากขึ้น
...เมื่อมีการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด เยื่อบุช่องท้อง น้ำส่วนนี้จะมากขึ้น
3. สารน้ำที่ออกมาจากช่องเปิดต่าง ๆ เช่น ทางเปิดลำไส้หน้าท้อง ทางเปิดจากรูระบายต่าง ๆ ท่อระบายจากเยื่อหุ้มปอด เยื่อบุช่องท้องเป็นต้น สารน้ำส่วนนี้จะเกิดเมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วย จึงยังไม่ได้นำมาคิดตามปรกติ
สารน้ำที่เราเห็นชัดเจนคือ น้ำดื่มที่เราดื่ม และปัสสาวะที่เราขับออกมา จะเห็นว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ I/O เท่านั้น ดังนั้นเวลาเราต้องใช้ประโยชน์ของ I/O เช่น การบันทึกสารน้ำเวลานอนโรงพยาบาล บันทึกเวลาเป็นโรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจวายเรื้อรัง เราอย่าใช้แค่ น้ำดื่ม + น้ำเกลือ = ปัสสาวะ เพราะเป็นการตั้งสมการที่ผิด เราจะประเมินปฏิบัติการ I/O ผิดไป เราต้องคำนึงถึงส่วนอื่นด้วย
เพราะหากเราใช้ปฏิบัติการ I/O ผิดออกไป ... เราจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม