18 กุมภาพันธ์ 2563

อีโบลา

อีโบลา .. มหาภัยไวรัสร้ายถล่มโลกโคตรพิฆาตจักรวาล .. ให้เสียงภาษาไทยโดยภัณฑรักษ์ อ่านเล่นสนุก ๆ นะครับ
เอาล่ะในเวลานี้ทุกคนกำลังตกใจกับอัตราการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ระบาดเร็วและกระจายกว้างขึ้น เหตุอันหนึ่งที่ระบาดเร็วเพราะ คนที่เจ็บป่วยนั้นอาการไม่หนักมาก เมื่อไม่หนักมากก็ยังเดินทางได้ และความตระหนักในการป้องกันลดลง ต่างจากอีโบลาที่แม้การแพร่กระจายจะแคบ ไม่กี่ประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก เพราะความรุนแรงของโรคสูงมาก ผู้ที่เจ็บป่วยเกือบทุกรายอาการหนัก แต่การกักกันทำได้ง่ายกว่า
** อัตราการระบาด อัตราการป่วย อัตราการเสียชีวิต ** ต่างกันมากนะครับ
เรามาดูเรื่องราวของอีโบลา มีการทบทวนความรู้อ่านสนุก ๆ ใน Intensive Care Medicine สัปดาห์ก่อน เขาเล่าว่าอย่างไร เรามาอ่านสรุปกัน
1. อย่างที่กล่าวไปนะครับ โรคมันรุนแรงมาก ใครที่ติดก็ป่วย ใครที่ป่วยก็หนัก โอกาสเสียชีวิต 70-80% ทีเดียว ไม่ว่าคนนั้นจะแข็งแรงดีหรืออ่อนแอ มีโรคประจำตัวก็ตาม ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตเริ่มลดลง หมายถึงเรามีวิธีจัดการเมื่อป่วยได้ดีขึ้น ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันด้วย ในประเทศที่มีการจัดการเรื่องนี้ดี เช่นในยุโรปหรืออเมริกา (ส่งไปรักษา) อัตราการเสียชีวิตลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 20%
2. ไวรัสอีโบลา ก่อโรคเหมือนไข้เลือดออกแต่ไม่ใข่ไข้เลือดออกเดงกี่อย่างในบ้านเรา ในกลุ่ม filoviridae virus มีที่ก่อโรคในคน 4 สายจาก 6 สาย แหล่งสะสมโรคจะอยู่ในสัตว์ตระกูลไพรเมต (เช่นลิงไม่มีหาง) ค้างคาว ชะมด คนไปติดมาโดยบังเอิญ แต่สามารถก่อโรคในคนและแพร่จากคนสู่คนได้ โรคที่มีแหล่งก่อโรคในสัตว์จะควบคุมยากมากนะครับ การสร้างวัคซีนก็ไม่ง่าย
3. การติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง น้ำเหลือง น้ำลาย อาเจียน อุจจาระ เลือด เข้าทางผิวหนังที่ฉีกขาดหรือเยื่อเมือกเป็นหลักครับ จะเห็นว่าการติดต่อก็ไม่ง่าย ไม่เหมือนโคโรน่าไวรัส หรือไข้หวัดใหญ่ ที่แพร่กระจายผ่านละอองฝอยน้ำมูกน้ำลาย เข้าร่างกายก็ติดได้แล้ว การแพร่กระจายโรคอีโบลาจึงไม่สูง ส่วนการติดทางละอองฝอยนั้นจะเกิดในที่มีระบายอากาศแย่ ในห้องปิดตาย (ยังกะฆาตกรรม) หรือจากการทำหัตถการทางการแพทย์
4. เมื่อไวรัสเข้าตัวจะแพร่และเกาะเซลล์ต่าง ๆ ที่มีบริเวณที่ไวรัสสามารถจับได้ หลัก ๆ คือ อวัยวะน้ำเหลือง แล้วเข้าไปแพร่พันธุ์เสร็จแล้วทำลายเซลล์นั้น และแพร่ออกไปอีก (กินบนเรือนขี้บนหลังคาโดยแท้) โดยแพร่หลัก ๆ ทางระบบน้ำเหลืองของร่างกาย เนื่องจากสามารถก่อโรคได้ในหลายเซลล์ หลายอวัยวะ อาการแสดงจึงหลากหลายและพลังทำลายล้างสูงมาก ระดับบอสใหญ่
5. เมื่อรับเชื้อเข้าไป เวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์จะเริ่มมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว อาการเหมือนไข้หวัด ไข้เลือดออก หลังจากนั้นอาการจะเริ่มรุนแรงมีอาการทางระบบทางเดินอาหารมากขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง อันนี้แหละเป็นจุดเริ่มต้นของอาการขาดน้ำ เพราะกินไม่ได้และเสียสารน้ำออกไป ระยะนี้ต้องทดแทนสารน้ำให้พอ
*** จะเห็นว่าแทบไม่มีอาการเฉพาะเจาะจงที่ระบบอวัยวะใดเลย อาการก็เหมือนการติดเชื้อทั่วไป ถ้าไม่มีประวัติสัมผัสโรคก็แทบจะไม่มีข้อมูลบ่งชี้โรคเลย ***
6. หลังจากนั้นหากโรครุนแรงไปอีก จะมีภาวะช็อก เลือดออกทางเดินอาหาร การขาดสารน้ำอย่างรุนแรงทำให้ตับ ไต สมอง ได้รับบาดเจ็บ ระบบอวัยวะล้มเหลวทั้งตัว จากการขาดสารน้ำ การช็อก การบาดเจ็บของเซลล์ทั่วร่างกาย สารเคมีต่าง ๆ ออกมาเพื่อต้านเชื้อโรคสุดฤทธิ์ เมื่อถึงขั้นนี้จะเป็นระยะที่เกิดผลแทรกซ้อนเต็มขั้นของการติดเชื้อใดก็ได้ หากรุนแรงมากพอ จะเกิดภาวะนี้หมด ...เช่นเคย ไม่มีอะไรจำเพาะเจาะจงกับอีโบลาเลย มาถึงขั้นนี้แล้วยังไม่มีอาการจำเพาะเลย
** แล้วเราจะตรวจอีโบลาได้อย่างไรล่ะ **
7. คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ ให้ตรวจหาสารพันธุกรรมของอีโบลาด้วยวิธี RT-PCR จากสิ่งส่งตรวจในเลือด ที่สามารถตรวจได้ตั้งแต่วันแรก ๆ ของการเจ็บป่วย แต่...ต้องมีประวัติสัมผัสโรคด้วยนะครับ การตรวจอื่น ๆ ไม่มีความไวและความจำเพาะใด ๆ ต่อโรคอีโบลาทั้งสิ้น แต่ยังคงต้องตรวจเพื่อแยกโรคอื่นด้วย ตามการระบาดแต่ละภูมิภาค ในแอฟริกาคงต้องแยกมาเลเรีย บ้านเราคงต้องแยกไข้เลือดออก มาเลเรีย ไข้ไทฟอยด์ ไข้ไทฟัส
8. การรักษาหลักคือการประคับประคองระบบอวัยวะ ก็คือการรักษาประคอง MODS หรือ ช็อกติดเชื้อรุนแรงนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการให้สารน้ำ ยากระตุ้นความดัน การช่วยหายใจ การรักษาทดแทนไต ซึ่งต้องติดตามการรักษาใกล้ชิดมากตั้งแต่ต้น คนที่รักษามีโอกาสติดเชื้อสูงมาก คำแนะนำจึงให้ผู้ป่วยนอนใน "the cube" เป็น biosecure cube ห้องพลาสติกที่มีทางเข้าอากาศ ทางออกอากาศ มีช่องให้สอดมือเจ้าไปทำการพยาบาล แบบที่เห็นในหนังเลยครับ ถามว่าการแพร่กระจายจากคนสู่คนเกือบทั้งหมดก็เกิดในสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์นี่แหละ จึงต้องป้องกันแบบนี้
9. แม้แต่รักษาอย่างดี ก็ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก เรามียาที่น่าจะเกิดประโยชน์อยู่บ้าง แต่ยาพวกนี้วัดผลยาก เพราะเคสน้อย ไม่สามารถทำ placebo controlled trial แบบดี ๆ ได้ ยาที่มี RCT คือ ZMAPP (เป็น monoclonal Ab สามตัวผสมกัน) ว่ามีประสิทธิภาพดีกว่ายาหลอก แต่ว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจุบันมีการใช้ monoclonal antibodies หลายตัว เพื่อไปจับกับตำแหน่งที่ไวรัสจะมาเชื่อต่อกับเซลล์เพื่อเข้าเซลล์ ร่วมกับยาต้านไวรัส Remdesivir (ที่เราคิดว่าอาจจะใข้รักษา COVID-19 นี่แหละ) ข้อมูลล่าสุดก็พบว่าลดอัตราการเสียชีวิตหากเทียบกับ ให้ ZMAPP อย่างเดียว แต่ที่ว่าลดลงนั้น อัตราการเสียชีวิตยังอยู่ที่ระดับ 50% อยู่ดี
10. การป้องกันโดยการกักกันโรค ควบคุมพื้นที่ระบาด ใช้อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้ป่วย, เพิ่มการใช้อุปกรณ์หน้ากาก ชุด ถุงมือ กับบุคลากรการแพทย์, การรักษาใน the cube, การใช้วัคซีนเฉพาะในพื้นที่ระบาด ทั้งหมดนี้ยังสำคัญมาก เพราะอัตราการป่วยและอัตราการตายจากโรคสูงมาก และการรักษาทั้งหมดยังไม่ได้รับรองผลแต่อย่างใด การป้องกันทำได้ดีและง่ายกว่า ซึ่งตรงข้ามกับ COVID-19
"อยู่คนเดียวระวังไวรัสอันตราย ให้ลุงหมอมาอยู่ข้างกาย..รับรอง ปลอดภัย" (ฟืดฟาด ๆ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม