13 กุมภาพันธ์ 2563

case series

ช่วงเวลานี้มีวารสารวิชาการที่สนุกสนาน อ่านแบบวางไม่ลงออกมาเยอะเลย หยิบมาเล่าให้ฟังหนึ่งอัน เกี่ยวกับ case series
case series คืออะไร คือการรวบรวมกรณีคนที่เป็นโรค เพื่อมาศึกษารายละเอียดการเกิดโรค อาการ อาการแสดง สิ่งตรวจพบ การดำเนินโรค เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในโรคนั้น ไม่ได้เป็นงานวิจัยเปรียบเทียบ ส่วนมาก case series จะเป็นการเก็บข้อมูล ณ จุดเวลาใด หรือย้อนหลัง อาจมีข้อมูลสำคัญที่ไม่ครบ ไม่ได้บันทึก ทำให้มีความโน้มเอียงสูง ตัวแปรปรวนเยอะมาก ดังนั้นลำดับขั้นความน่าเชื่อของข้อมูลจะสู้กลุ่มที่ออกแบบมาตั้งใจเก็บข้อมูลไม่ได้ พวกนั้นจะวางแผนว่าจะเก็บอะไร มีการกำหนดรูปแบบชัดเจน เช่น registry data หรือ prospective cohort
แล้ว case series มีประโยชน์อันใด ... ในกรณีเริ่มทำการศึกษาแรก ๆ เพื่อดูข้อมูลพื้นฐานของโรคนั้น ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างไวรัส COVID-19 ที่เป็นไวรัสใหม่ แน่นอนว่าไม่มีข้อมูลมาก่อน การทำ case series จะช่วยบอกลักษณะของโรคได้ หรือในโรคที่พบน้อยมาก ๆ การจะไปตามเก็บข้อมูลแบบไปข้างหน้าอาจต้องใช้เวลานานมาก หรือเก็บปริมาณมากมายที่จะเสียเงินทุนและทรัพยากรสูง เช่น ต้องการศึกษาการบาดเจ็บจากการถูกเปลือกทุเรียนตบหน้า อันนี้เกิดไม่บ่อย จะไปติดตามดู 20-30 ราย อาจใช้เวลานับสิบ ๆ ปีกว่าจะเก็บข้อมูลคนบ แต่ถ้าเก็บแบบ case series ย้อนหลังจะใช้เวลาน้อยกว่า อันนี้ก็พอรวบรวมเป็นหลักฐานที่ดีได้เช่นกัน
เรามายกตัวอย่างจาก research letter จากปักกิ่ง ประเทศจีน มีรายงาน case series 13 ราย ที่มีการติดเชื้อไวรัส COVID-19 นอกเมืองอู่ฮั่น โดยเก็บข้อมูลจากศูนย์การแพทย์ในปักกิ่ง ที่รับการส่งผู้ป่วยมา (แสดงว่าต้องป่วยนะ) ลงในวารสาร JAMA เมื่อ 7กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
พบว่า 12 รายมีการเดินทางไปเมืองอู่ฮั่นหรือมีญาติใกล้ชิดเดินทางไปอู่ฮั่น .... พอบอกได้ว่าการเข้าแดนระบาดเป็นข้อมูลการติดเชื้อที่สำคัญ ... แต่จะบอกเต็มปากไม่ได้เพราะเก็ยแต่ข้อมูลผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลจากผู้ที่เข้าออกเมืองอู่ฮั่นทั้งหมดแล้วมาคิดอัตราการติดเชื้อ
พบว่ากลุ่มอายุเฉลี่ยคือ 34 ปีและส่วนมาก 77% เป็นผู้ชาย ... อันนี้บอกอะไรไม่ได้เลย ไม่ได้แปลว่าผู้ชายจะเสี่ยงมากกว่า หรือ ติดในคนอายุประมาณ 30 เพราะอาจเป็นผู้ชายที่เดินทางเข้าอู่ฮั่นมากกว่า และกลุ่มอายุ 30 จะรักการเดินทางมากกว่าก็ได้นะ ... อย่างเช่น สำรวจการติดเชื้อกามโรคในกลุ่มผู้เที่ยวบริการทางเพศ พบว่า 91% เป็นผู้ชาย ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะเสี่ยงติดมากกว่า อาจนะหมายถึงผู้ชายเที่ยวบ่อยกว่าก็ได้
พบว่า 12 คนมีไข้เพียง 1.6 วัน ... อันนี้บอกว่าระยะการเกิดไข้ไม่นาน ไม่ได้หมายความว่าโรคไม่รุนแรงครับ ห้ามไปแปลว่า ส่วนมากก็ไข้วันสองวัน งั้นไปตะลุยอู่ฮั่นกันเถอะ อย่ากลัว อันนี้คือแปลเกินการศึกษา บอกได้แค่ว่าโรคนี้ส่วนมากมีไข้ไม่นาน เท่านั้น
มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล 61.5% ... อันนี้พอบอกได้ว่า นอกจากไข้ไม่นาน อาการร่วมที่พบบ่อยคือคัดจมูกน้ำมูกใส แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่ไม่มีอาการน้ำมูก จะไม่เป็นโรค อย่าลืมข้อจำกัดว่า มันมีแค่ 60% เองนะที่มีอาการ อีก 40% เป็นโรคแต่ไม่มีอาการนี้ ... อีกอย่างการศึกษานี้เก็บข้อมูล ณ จุดเวลาหนึ่งเดือนเท่านั้น เราไม่รู้หรอกว่า 60% ที่มีน้ำมูกคัดจมูก เขาเป็นภูมิแพ้จมูกอยู่แล้วหรือไม่ เพราะการศึกษาไม่ได้ตัดกลุ่มที่มีปัญหาอยู่แล้วออกไป หรือ ไม่มีเกณฑ์ล่วงหน้าว่าหากมีภูมิแพ้จมูกจะไม่เอามาคิด
ผมยกตัวอย่างแค่ข้อมูลสามข้อ จากการเก็บข้อมูลยี่สิบข้อ ที่เราไม่สามารถเอาตัวเลขที่ได้ไปใช้ตรง ๆ จำเป็นต้องคิดว่า ที่มาของการเก็บข้อมูลคืออะไร ข้อจำกัดคืออะไร จะแปลผลได้ระดับแค่ไหน เอาไปอ้างอิงจะน่าเชื่อถือเพียงใด ... การจะเข้าใจสิ่งนี้ จะต้องมีความรู้เรื่อง research methodology และ critical appraisal พอสมควร ไม่อย่างนั้นจะมีการใช้งานวิจัยมาแปลแบบมีอคติ ไม่ว่าจะเข้าข้างตัวเอง หรือให้ร้ายคนอื่นได้
ทักษะการอ่านจับใจความและการวิเคราะห์ข้อมูล ถือเป็นทักษะแห่งศตวรรษนี้ครับ เพราะข้อมูลข่าวสารมากเหลือเกิน ต้องฝึกทุกคน ไม่ใช่เฉพาะวารสารวิชาการ แต่ข่าวต่าง ๆ ก็ต้องทำเช่นกัน
ยุคใหม่แล้วนะครับ ต้องเก่ง ต้องรู้ทัน informative disruption ... จะมาใช้ทักษะเก่าๆ เปย์ไม่อั้น หน้าตาหล่อ คารมดี ลีลาเร้าใจ ไซส์กัดฟัน แบบลุงหมอหน้าหนุ่มไม่ได้แล้วนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม