04 กุมภาพันธ์ 2563

varenicline สำหรับผู้ประกันตน

คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ได้มีมติรับรองการใช้ยาอดบุหรี่ varenicline สำหรับผู้ประกันตน ที่เข้าเกณฑ์และเข้ารับการรักษาในคลินิกเลิกบุหรี่ เกณฑ์นั้นได้แก่
1. มีโรคประจำตัวที่เป็น non communicable disease เช่นเบาหวาน ถุงลมโป่งพอง
2. มีความตั้งใจจริงที่จะเลิกบุหรี่
3. สูบบุหรี่อย่างน้อยวันละ 20 มวน หรือสูบภายในสามสิบนาทีแรกหลังตื่นนอน
โดยต้องเข้ารับการติดตามเป็นระยะในสถานพยาบาลคลินิกเลิกบุหรี่
ถือเป็นข่าวดีทีเดียวสำหรับการเลิกบุหรี่ เมื่อใช้มาตรการนี้ควบคู่กับการลดผู้สูบรายใหม่ จำนวนผู้สูบบุหรี่จะลดลง โรคจากการสูบบุหรี่จะลดลง คุณภาพชีวิตประชาชนทั้งผู้สูบมือหนึ่งและมือสองจะดีขึ้น
คร่าว ๆ เกี่ยวกับการเลิกและยาตัวนี้นะครับ
ยาตัวนี้ varenicline มีมานานแล้ว จากการศึกษานับว่าเป็นยาอดบุหรี่ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด เพราะออกฤทธิ์จับกับตัวรับ แอลฟ่า-4,เบต้า-2 ในสมอง อันเป็นจุดออกฤทธิ์ของนิโคตินในสมอง หากยาตัวนี้ไปแย่งจับจุดออกฤทธิ์ของนิโคติน จะทำให้เกิดผลสองอย่าง
อย่างแรก นิโคตินที่สูบเข้าไปจะแทบไม่ทำงาน คือ ไม่ได้ผลบวกจากการใช้นิโคตินเหมือนเดิม สูบบุหรี่แล้วไม่ "อร่อย" ไม่ถึงใจเหมือนเดิม... ความสุขจากการสูบจะหายไป
อย่างที่สอง ตัวมันจะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับระดับอ่อน ๆ ทำให้มีสารโดปามีนออกมาบ้าง ไม่ขาดหายไปทันทีจนถึงขั้นลงแดง เรียกว่าช่วยลดอาการลงแดง "craving" ... ความทรมานจากการหยุดสูบลดลง
เมื่อคนสูบไม่มีความสุขจากการสูบต่อไปและไม่ค่อยทรมานจากการหยุดสูบ โอกาสเลิกสำเร็จจึงสูง เมื่อใข้ร่วมกับวิธีอื่นไม่ว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรม แรงเสริมจากครอบครัวและสังคม การใช้สารทดแทนนิโคติน หรือแม้แต่ใช้ร่วมกับยาอดบุหรี่ตัวอื่นเช่น bupropion SR, nortriptyline จะทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก
นับว่าเป็นข่าวดีจริง
ในส่วนตัวที่ใช้ยานี้มาหลายสิบราย พบว่าข้างเคียงตามที่เอกสารกำกับยาเขียนไว้คือ คลื่นไส้อาเจียน พบน้อยมาก ที่พบบ่อยคืออาการไม่สดใส ง่วงเหงา แต่ผมคิดว่าเป็นผลชั่วคราวจากการหยุดบุหรี่มากกว่า
ผู้ป่วยสามารถใช้และทนยาได้ดี แต่ยาจะมีรูปแบบการกินที่ซับซ้อนเล็กน้อย คือ สามวันแรก กินขนาด 0.5 มิลลิกรัมวันละเม็ด สี่วันต่อมากินขนาด 0.5 มิลลิกรัม วันละสองเม็ด และถึงกำหนดวันเลิกพอดี (quit date) หลังจากนั้นกินยาในขนาดวันละ 1 มิลลิกรัมวันละสองเม็ด อีก 11 สัปดาห์พร้อมติดตามผู้ป่วย
จากประสบการณ์ ผมไม่เคยใช้ยาจนครบ 12 สัปดาห์ หากผู้ป่วยเลิกได้และติดตามแล้วมั่นใจว่าเลิกจริง ผมก็หยุดยาครับ เป็นการย้ำความสำเร็จและประหยัดค่าใช้จ่าย ถามว่าเลิกก่อนกำหนดมีคนกลับมาสูบใหม่ไหม มีครับ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นจากหยุดยาก่อนหรือไม่ มันมีหลายปัจจัย แต่เท่าที่ปฏิบัติ (คัดเลือกคนไข้ที่ตั้งใจจริง) โอกาสสำเร็จสูงและกลับมาสูบซ้ำไม่เกิน 10%
จึงไม่อยากใช้คำว่า "ยาเลิกบุหรี่" เพราะตัวยาเองนั้นเลิกไม่ได้ จะเลิกได้พลังใจและครอบครัวต้องแข็งกล้า ยาเป็นแค่ตัวช่วยหรือยา "อด" บุหรี่เท่านั้น
และผมคิดว่าในอนาคตหากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ น่าจะขยายไปถึงผู้ติดบุหรี่ที่ยังไม่เป็นโรค (เลิกก่อนเป็นโรคดีกว่า) หรือผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดรุนแรง เกณฑ์ที่ว่าสูบมากกว่า 20 มวนต่อวันหรือตื่นมา 30 นาทีต้องสูบเลย มันคือการวัดคะแนนการติดบุหรี่ Fagerstrom test สองข้อในหกข้อ แต่เป็นสองข้อที่น้ำหนักมาก มีแค่สองข้อนี้ก็ติดหนักแล้ว ในอนาคตน่าจะขยายผลได้
แต่เกณฑ์ข้อตั้งใจเลิกจริง ๆ อันนี้สำคัญมาก หากยิ่งความตั้งใจแรงกล้า ตัวช่วยจะลดลงได้ หากความตั้งใจเด็ดเดี่ยวสุด ๆ หักดิบเลยก็มีนะครับ แต่ถ้าความตั้งใจไม่มากพอ อันนี้ต้องช่วยเยอะและโอกาสล้มเหลวก็มากด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม