28 เมษายน 2567

มะเร็งปอด hypertrophic pulmonary osterarthropathy

 ผู้ป่วยรายนี้ป่วยเป็นมะเร็งปอด แต่เรื่องราวของคุณหมอที่ตรวจได้ ไม่ธรรมดา

ผู้ป่วยชาย 62 ปี มีอาการปวดบวมข้อเข่าและข้อเท้า เป็น ๆ หาย บวมแดงเป็นพัก เป็น ๆ หาย ๆ มาสี่เดือน ไปหาคุณหมอที่คลินิกต่างอำเภอ
การวินิจฉัยโรคอาจจะเป็นข้อเสื่อม โรคข้อติดเชื้อเรื้อรัง โรคเกาต์ แต่คุณหมอที่คลินิกต่างอำเภอมองเห็น เล็บของผู้ป่วยเป็นลักษณะนิ้วปุ้ม (clubbing of fingers)
จึงซักประวัติเพิ่มพบว่า ผู้ป่วยสูบบุหรี่ทุกวันมา 30 ปี วันละซอง ตรวจร่างกายพบเสียงปอดด้านซ้ายเบาลง
คุณหมอสงสัยเป็นมะเร็งปอด และมีสิ่งตรวจพบ ข้อใหญ่อักเสบ นิ้วปุ้ม ที่น่าจะเป็น hypertrophic pulmonary osterarthropathy หนึ่งในอาการแสดงนอกปอดของมะเร็งปอด (paraneoplastic syndrome) ถ้าทำเอ็กซเรย์ตรงข้อและกระดูก พบ periosteal reaction ก็จะครบสามข้อ arthritis+clubbing+periosteal reaction
เกิดจากมะเร็งปอดหลั่งสาร vascular endothelial growth factors มาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระดูก
เมื่อมาตรวจก็พบว่าน่าจะเป็นมะเร็งปอดจริง รอผลตัดชิ้นเนื้อ ย้อมหาตัวรับยามุ่งเป้า เพื่อวางแผนการรักษา
ขอปรบมือให้น้องหมอคนนั้น ที่ตรวจร่างกายได้ถี่ถ้วนดีมาก

27 เมษายน 2567

ข้าวแช่

 ข้าวแช่มะลิปรุง มาพยุงให้ร้อนคลาย

เย็นลิ้นแทบละลาย อิ่มสบายแสนชื่นใจ
ต่อด้วยเมี่ยงคะน้า เติมคุณค่าสมุนไพร
หอมขมิ้นกลิ่นกระชาย น้ำตาลไหม้หวานถึงคน
ตบท้ายด้วยของหวาน ลอยแก้วตาลน้ำเชื่อมชล
ออกจากร้านก็สุดทน นี่เมืองคนหรือทะเลทราย
ประสบการณ์กินข้าวแช่ครั้งแรกในชีวิต น้องเชฟมาบอกว่า เอาน้ำปรุงมะลิเทใส่ชามข้าว กินเครื่องเคียงก่อน แล้วค่อยตักข้าวหอม ๆ น้ำแช่หอม ๆ เย็น ๆ ชื่นใจดีเหมือนกันนะ

Zerlasiran ยาลดไขมัน Lp(a) โดยยับยั้งระดับสารพันธุกรรม

 Zerlasiran ยาลดไขมัน Lp(a) โดยยับยั้งระดับสารพันธุกรรม

1.Lipoprotein a [Lp(a)] คือ ส่วนผสมระหว่าง apolipoprotein B100 กับ apolipoprotein A ซึ่งเจ้า Lp(a) มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าเป็นส่วนของก้อนตะกรันไขมันในหลอดเลือด ถ้ามี Lp(a) สูง จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจตีบ
2.การสร้าง Lp(a) ถูกควบคุมด้วยยีน LPA ดังนั้นถ้าไปรบกวนการถอดรหัสของยีน LPA ไม่ให้เกิดการสร้าง Lp(a) ก็น่าจะยับยั้งที่ต้นขั้วเลย เราทำได้ไหม ตอบว่าทำได้โดยใช้หากเราใช้เทคโนโลยี RNA ไปยับยั้ง เราเรียกว่า short interfering RNA หรือ siRNA ยากลุ่มนี้จะลงท้ายด้วย -siran
3.ยา zerlasiran ก็เป็น siRNA มันจึงออกฤทธิ์ตรงเป๊ะ ตรงจุด ไม่ไปรบกวนการทำงานอื่น ๆ ของร่างกายเลย ยาเคยผ่านการทดลองระยะที่หนึ่งมาแล้ว ครั้งนี้มาทำการศึกษาระยะที่สอง เพื่อศึกษาความปลอดภัย ความทนต่อยาและระดับ Lp(a) ที่ลดลงหลังได้ยา
4.ทำการศึกษาในคนสุขภาพดี ตรวจวัดระดับ Lp(a) เกิน 150 mmol/L ปกติเกิน 60 ก็เสี่ยงแล้ว ถ้าใช้ยาลดไขมันใด ๆ ก็ต้องอยู่ในสภาวะคงที่มาก่อน เรียกว่าควบคุมตัวแปรปรวนกันพอสมควร กลุ่มแรกพวกไม่มีโรคได้คนมา 32 คนฉีดยาครั้งเดียว มีทั้ง 30-100-300-600 ส่วนกลุ่มที่สองเป็นโรคที่คงที่ ใช้ยาเดิมคงที่ ได้มา 37 คน กลุ่มนี้จะมาแบ่งฉีดยาสองโด๊ส มีทั้ง 200x2 - 300x2- 450x2 ทั้งสองกลุ่มเทียบกับยาหลอก
5..ติดตามผลตั้งแต่ 150 วันและระยะต่าง ๆ จนครบ 1 ปี ผลปรากฏว่าผลข้างเคียงที่พบมากที่สุดคือปวดหัว 33% แต่ไม่รุนแรง และเกิดปวดบวมตรงจุดฉีดยาแบบไม่รุนแรงถึง 81% ไม่ทำให้ต้องถอนตัวจากการศึกษา และเกือบทั้งหมดเกิดในกลุ่มฉีดหลายครั้ง สรุปว่า ผลข้างเคียเล็กน้อย ไม่รุนแรงและไม่ต่างจากยาหลอก
6. มาดูผลการลด Lp(a) กันบ้าง ขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัม จะลด Lp(a) ลงมาจากเดิมได้ 95% ยาหลอกลดได้ 10% โดยตัวเลขไขมันจะขยับเพิ่มขึ้นเมื่อเวลานานออกไป (ก็ยาอ่อนฤทธิ์ลง) เมื่อติดตามผลที่หนึ่งปีพบว่าระดับ Lp(a) ลดลงจากเดิมประมาณ 30% โดยขนาดยาที่ส่งผลลดไขมันได้ดีสุดคือ 300 มิลลิกรัมสองเข็ม ห่างกันแปดสัปดาห์
ทำไมเลือกเอาการศึกษานี้มาเล่า
1.มันว้าวมากกับเทคโนโลยีใหม่
2.ทำให้รู้ว่า มันไม่ได้มีแต่ไขมัน LDL ที่ส่งผลต่อโรคนะ
3.คนทำคือ Steven E. Nissen เขาคือ ออฟเพ่นไฮเมอร์ สำหรับยาไขมัน
4.ฟรี JAMA, Apr 8th 2024
และอย่าเพิ่งว้าวเกินไป
1.นี่เป็นแค่การศึกษาระยะที่สองเท่านั้น กลุ่มตัวอย่างไม่ถึง 50 คนเลย
2.การศึกษาบอกว่ายาลด Lp(a) ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะลดโรคหรืออัตราการตายได้
3.ยังไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนว่า ลด Lp(a) แล้วโรคจะลดลง อันนี้ไม่เหมือนโคเลสเตอรอลและแอลดีแแอล

25 เมษายน 2567

เรื่องเล่าจากคลินิก : ไตวาย ต้องฟอกเลือด

 เรื่องเล่าจากคลินิก : ไตวาย ต้องฟอกเลือด

ขณะกำลังซื้อของอยู่ในร้านสะดวกซื้อ เสียงไลน์ก็ดังขึ้น "วันนี้คลินิกเปิดไหมคะ ขอนัดตั้งแต่ร้านเปิดเลยค่ะ" อืมม ท่าจะเป็นเรื่องร้อน คุณหมอหน้าหนุ่มจึงตอบกลับว่า "เปิดเวลาเดิมครับ เข้ามาได้เลย" และรีบบิดมอไซค์ไปที่คลินิก
เมื่อไปถึงและเปิดร้านเสร็จพอดี ก็มีคู่ชายหญิงมาจอดรถและเดินเข้ามาในร้าน "สวัสดีค่ะ ที่ไลน์มานัดเมื่อสักครู่นี้ค่ะ"
หลังจากเข้ามาพัก วัดสัญญาณชีพ ทำประวัติผู้ป่วย ซึ่งทุกสิ่งอย่างเป็นปกติ ท่าทาง การเดิน สีหน้า หายใจ ชีพจร เว้นแต่ใบหน้าที่กังวลทั้งคู่ ปัญหาของสามีภรรยาคู่นี้คือ "เขาไตวายรุนแรงจนต้องฟอกเลือดเลยไหม"
เล่าประวัติคร่าว ๆ คือ ทั้งคู่ไปเที่ยวก่อนสงกรานต์ที่ชายทะเล ขับรถกันไปเอง แน่นอนว่ารถเยอะจึงใช้เวลาบนรถนานและเมื่อย เขาจึงไปที่ร้านยาซื้อยาแก้ปวดและคลายกล้ามเนื้อมากิน ตลอดเวลาสงกรานต์กินยาที่ซื้อมาตลอดและหมดไป อาการทุเลา หลังจากนั้นอีกห้าหกวันเมื่อถึงบ้าน ไปซื้อยาตัวเดิมมากินอีกเพราะขับรถกลับก็เมื่อยเช่นกัน กินมาได้สามวันเกิดปวดท้อง ปวดตื้อ ๆ แรงสลับเบา ไม่บีบ ไม่ร้าวที่ใด ปวดตรงเอวขวาด้านหลังมากกว่าจุดอื่น ก็เลยไปหาหมอที่ รพ.แห่งหนึ่งมาก่อนแล้ว
"คุณหมอแจ้งว่าอะไรครับ" คุณหมอหน้าหนุ่มยิงคำถามเข้าเป้าเลย
คำตอบที่ได้ทำให้งุนงงไปเลย ผู้ป่วยแจ้งว่า ได้รับการตรวจเลือดและพบว่าเป็นไตวายระยะที่ 4 เกือบต้องฟอกเลือดแล้ว จริง ๆ ผมคิดว่าคุณหมออาจจะบอกเรื่องราวอีกหลายอย่างและนัดติดตาม แต่คำว่าไตวายระยะที่สี่ (จากห้าระยะ) มันน่าจะทำให้เขาอึ้งไปจนจับใจความอื่นลำบาก
เมื่อถามประวัติต่อ พบว่าก่อนหน้านี้ผู้ป่วยแข็งแรงดี ไม่เคยมีอาการแบบนี้ ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เอกสารก็แจ้งว่าค่าไตอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเมื่อดูเอกสารผลการตรวจ พบว่าค่า creatnine ณ วันตรวจวันแรกเท่ากับ 1.4และเมื่อตรวจติดตามในอีกเจ็ดวันค่าขยับเป็น 1.7 ผลเลือดอื่นปกติ และผลปัสสาวะปกติ
เอกสารนั้นคำนวณค่าการกรอง GFR มาให้ด้วย และหากนำมาคิดตามค่าการกรองที่ลดลงในโรคไตเสื่อมเรื้อรังจะเป็น Chronic Kidney Disease ระยะที่ 4
ก็เลยต้องเดินไปหยิบน้ำมาให้คนไข้และภรรยา อธิบายช้า ๆ พร้อมวาดรูปประกอบ ใจความเป็นแบบนี้
การคำนวณค่า GFR จากผลเลือด creatinine แล้วเอามาระบุระยะของไตเสื่อม เราใช้ในโรคไตเสื่อม "เรื้อรัง" นะครับ คือต้องเสื่อมแบบไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงช้า ๆ อย่างน้อยสามเดือน ร่วมกับมีหน้าที่อื่นของไตบกพร่องหรือขนาดไตเล็กลง
ในกรณีนี้ อาการเฉียบพลัน ของเดิมปกติ มีการเปลี่ยนแปลงเร็วในหลักสัปดาห์แบบนี้เรียกว่า acute kidney injuries มันเฉียบพลันครับ เอาเกณฑ์เรื้อรังมาใช้ไม่ได้ และในไตวายเฉียบพลันจะใช้ข้อบ่งชี้อื่นในการฟอกเลือด เช่น เลือดเป็นกรดไม่หาย สารน้ำคั่งค้าง เกลือแร่ผิดปกติมากจนร่างกายรวน ไม่ใช้ GFR ครับ
พอบอกไตวายระยะที่ 4 ใกล้ฟอกเลือด สามีภรรยา (ที่ลูกอยู่กับคุณยายที่บ้าน) จึงเครียดและกังวลมาก
หลังจากที่อธิบายการดำเนินโรค ให้หยุดยาทั้งหมด ดื่มน้ำเยอะ ๆ และติดตามผล พบว่าอีกห้าวันค่า creatinine ลดลงเหลือ 1.5 และลดลงเหลือ 1.0 ในอีกสิบวัน ปัสสาวะปกติ เกลือแร่ปกติ ความดันปกติ คิดว่าสาเหตุที่ทำให้เกิด "ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน" คือ ยาต้านการอักเสบ NSAIDs และอาการปวดท้องบริเวณเอว อาจเป็น acute papillary necrosis กรวยไตมีการอักเสบและเนื้อตาย ผลจากยา NSAIDs ได้
อาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้นะ แต่ว่ามีหลักฐานให้คิดแค่นี้ครับ อยากมาฝากกันว่า ผลการตรวจปัจจุบันเมื่อตรวจค่า creatinine มักจะแถมการคำนวณ GFR มาให้ บางที่ระบุระยะไตเสื่อมให้ด้วย แต่ว่า อย่าใช้เพียงผลเลือดมาอธิบายอาการทั้งหมด ให้ใช้ประวัติ ตรวจร่างกาย และการติดตามอย่างระวัง มาใช้ประกอบการแปลผลนะครับ
ตอนนี้ผู้ป่วย และ "ครอบครัว" กลับมาใช้ชีวิตปกติสุขดีแล้วครับ

24 เมษายน 2567

Atomic bomb Injuries

 Atomic bomb Injuries จากเอกสารและบันทึกจากระเบิดที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ

หลังสงคราม สหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งหน่วยงาน Atomic Bomb Casualty Commission (ABCC) เพื่อสำรวจความเสียหายทุกด้านของระเบิด เป็นหนึ่งในแผนการศึกษาผลจากระเบิดในโครงการแมนฮัตตันด้วย ผลที่ออกมา ผมเลือกมาให้พวกเราได้เข้าใจกันง่าย ๆ
วัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านสงครามนะครับ จะไม่ไปคิดว่าใครผิดใครถูก เพราะไม่มีคนผิดคนถูกในสงคราม มีแต่คนตายและสูญเสียเท่านั้น
ความรุนแรงของระเบิดและความเสียหายขึ้นกับระยะห่างจากจุดระเบิดในแนวราบ วัดจากจุด hypocenter หรือใต้จุดระเบิด และความเสียหายขึ้นกับการกระจายและรังสีนิวเคลียร์อันนี้วัดจากความเข้มรังสีตามโครงสร้างโลหะวัดจากจุดระเบิด
การบาดเจ็บทันทีหลังระเบิด เกิดจากแสงวาบที่ทำให้ตาบอดชั่วคราวได้ ต่อมาจะมีคลื่นกระแทกที่รุนแรงระดับบิดโครงสร้างอาคารที่เป็นเหล็กได้ คลื่นกระแทกนี้สามารถทำให้อวัยวะภายในฉีกขาดได้ด้วยตัวเอง กระดูกและข้อต่อหักได้
และหากร่างกายปลิวไปกระแทกของแข็งก็จะเกิดการบาดเจ็บและอันตรายจากการกระแทกจากของแข็งอื่นที่ปลิวมาโดนอีกด้วย บันทึกจากผู้รอดชีวิตบอกว่าเศษกระจกที่กระจายทั้งเมือง เข้าเสียบร่างกายผู้เคราะห์ร้ายจนเลือดออกทั้งตัว
แนะนำหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บแบบนี้ แนะนำให้นอนราบแบนติดกับพื้นให้มากที่สุด
ต่อจากคลื่นกระแทกจะตามมาด้วยคลื่นความร้อน ใต้จุด Hypocenter ได้มีการประมาณว่าความร้อนสูงเกือบเท่าผิวดวงอาทิตย์ แล้วแผ่กระจายออกโดยรอบและจะเริ่มบรรเทาลงในรัศมีประมาณ 2 กิโลเมตร จากบันทึกของผู้รอดชีวิตบอกว่า แม่น้ำโมโตยาสุกลายเป็นหม้อน้ำเดือดต้มผู้เคราะห์ร้าย ผู้คนที่หนีร้อนจากบนพื้นกระโดดไปเสียชีวิตในน้ำมากมาย
ผลจากความร้อนสูงมาก จะทำให้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นผม ไหม้ทันทีกลายเป็นโปรตีนแข็งจับก้อน และหลุดลุ่ยออกจากร่างกาย หลอมรวมไปกับเสื้อผ้าเลยก็มี
ทางเดียวที่จะช่วยไม่ใช่ถอดเสื้อ แต่คือตัดหนังที่หลอมติดกับเสื้อออกไป โปรตีนในร่างกายจะเสียสภาพ ผิวหนังหลุด กล้ามเนื้อทำงานไม่ได้ เกิดการขาดน้ำรุนแรง ภาพที่ผู้รอดชีวิตเขียนจากความทรงจำ คือ ผู้ประสบเหตุเดินไปมาทั้ง ๆ ที่ผิวหนังหลุดห้อย ใบหน้าคล้ำดำ ไม่มีดวงตา ไม่มีจมูกและปาก
ผู้คนส่วนมากจะเสียชีวิตจากการถูกเผาและการเสียน้ำจากแผลไฟไหม้ คำแนะนำคือให้หาแผ่นผ้าคลุมตัวหลายชั้น นอนราบโดบปกป้องมือ เท้าและใบหน้าให้มากที่สุด
อันตรายจากการแผ่รังสี ที่แย่คือ รังสีนิวเคลียร์พวกนี้มองไม่เห็นจะทะลุทะลวงเข้าทำลายร่างกายทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ยังไม่นับฝุ่นกัมมันตรังสีที่ค่อย ๆ ลงมาร่วมกับการควบแน่นของน้ำที่เรียกว่า ashes of death และ black rain สิ่งเหล่านี้คือกัมมันตภาพรังสีล้วน ๆ
ในระยะเฉียบพลันจะทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว ผมร่วง ผิวหนังลอก ปากและลิ้นเปื่อย หลอดเลือดฝอยแตก เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดต่ำ บันทึกจากแพทย์เขียนถึง spot of death คือจุด petechiae เลือดออกใต้ผิวหนัง คุณหมอเขียนว่าหากใครมีจุดแบบนี้ขึ้นอีกไม่นานก็เลือดออกทั่วตัวจนเสียชีวิต โดยไม่มีทางช่วยได้เลย
ภาพในพิพิธภัณฑ์ฮิโรชิมา แสดงภาพทหารที่มีจุดแบบนี้และระบุว่าเสียชีวิตในอีกสองวัน ทั้ง ๆ ที่อยู่ในบ้านไม้ห่างจากจุดระเบิดไปหนึ่งกิโลเมตร และมีชิ้นส่วนดองทางพยาธิวิทยาแสดงชิ้นเนื้อส่วนลิ้นและคอหอยที่เต็มไปด้วยจุดเหล่านี้
อันนี้ยากที่จะป้องกัน ต้องลงไปอยู่ในหลุมหลบภัยเท่านั้น
ฆาตกรต่อมาคือ มะเร็ง ทั้งมะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำคอและช่องปาก (อาหารและน้ำปนเปื้อน) มะเร็งเต้านมและที่พบมากสุดคือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูคีเมีย ที่พรากชีวิต ซาซากิ ซาดาโกะ เด็กน้อยนกกระเรียนหนึ่งพันตัวอันโด่งดังนั่นเอง ตัวเลขประมาณว่า 38% ของผู้รอดชีวิต เสียชีวิตในอีก 7 ปีต่อมาด้วยโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ที่เรียกรวมว่า A-bomb disease
ทางองค์กร ABCC แถลงว่า ผลจากระเบิดนั้นจะไม่ส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลาน ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (มีนักวิจัยชาวญี่ปุ่นร่วมอยู่ด้วย) แต่ชาวญี่ปุ่นไม่เชื่อ เรียกกลุ่มผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูทั้งสองครั้งนี้ว่า Hibashuka ที่คนในสังคมญี่ปุ่นจะไม่แต่งงานและสืบลูกหลานด้วย เนื่องจากเชื้อว่ายังมีเชื้อร้ายแห่งระเบิดอยู่ในตัวและไม่ควรสืบสานลูกหลานต่อไป
"ไม่มีใครคือผู้ชนะในสงคราม"

22 เมษายน 2567

Bompedoic acid ยาลดไขมันที่ไม่ปวดกล้ามเนื้อ

 Bompedoic acid ยาลดไขมันที่ไม่ปวดกล้ามเนื้อ

ยาลดไขมัน ที่เราหวังผลลดอุบัติการณ์ลดโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหลัก ส่วนระดับการลดไขมันใช้เพื่อเป็นตัวปรับขนาดยาที่ควรใช้ ปัจจุบันออกมามากมาย statin, ezetimibe, pcsk9i, siRNA, fibrate, omega-3 โดยยาหลักในปัจจุบันคือ statin เพราะประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงต่ำ ราคาถูก เข้าถึงได้ง่าย หาก statin ใช้ไม่ได้จึงไปใช้ยาอื่น
ความเป็นจริงหลังจากที่แนวทางการลดความเสี่ยงได้เผยแพร่ใช้ เราคิดว่าจะลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง แต่กลับลดลงไม่ได้เท่าที่ควร ด้วยสาเหตุเรื่องของยา statin นี่แหละ
ไม่อยากใช้ยา กลัวผลข้างเคียง หรือเจอผลข้างเคียงขึ้นมาจริง ๆ และผลข้างเคียงที่ทำให้ต้องหยุดยามากที่สุดคือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ทำให้เราคิดค้นยาที่จะมาปิดจุดบอดของ statin ตรงนี้หลายตัว แต่ตัวที่จะมาพูดถึงวันนี้คือ bompedoic acid
bompedoic acid เป็น ATP lyase inhibitor ในขั้นตอนการสังเคราะห์โคเลสเตอรอล พูดภาษาชาวบ้านคือ มันยับยั้งการสร้างโคเลสเตอรอลในสายพานการผลิตเดียวกันกับที่ statin ออกฤทธิ์ แต่ยับยั้งคนละจุด (ก่อน statin) จุดเด่นของมันไม่ใช่ยับยั้งได้ดีกว่า แต่ว่ามันจะทำงานของมันที่ตับเท่านั้น ไม่ไปทำงานที่กล้ามเนื้อ มันจึงไม่เกิดปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปิดจุดอ่อน statin
bompedoic acid ลด LDL ลงได้ประมาณ 25% ส่วนการลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามการศึกษาหลักคือ CLEAR outcomes trials ศึกษาในคนที่มีโรคหลอดเลือดแล้วหรือคนที่ยังไม่มีโรคแต่เสี่ยงสูง โดยไม่สามารถใช้ยา statin ต่อได้หรือต้องใช้แค่ขนาดต่ำมาก พบว่าใช้ bompedoic acid ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ลดอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดได้ดีกว่ายาหลอก 13% และมีนัยสำคัญ โดยน้ำหนักไปทางโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาคือกรดยูริกในเลือดสูงและเพิ่มการเกิดเกาต์ เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ยาจดทะเบียนตำรับในไทยแล้วในชื่อ nexletol แต่ยังไม่รู้ว่าวางขายหรือยังครับ และยังมียาเม็ดรวมกับ ezetimibe อีกด้วย น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในคนที่ทนยา statin ไม่ได้ และยังไม่อยากขยับไป PCSK9i หรือ small interfere RNA
ภาพ : เครื่อง AED หน้าห้าง yodobashi ที่อะคิฮาบะระ ดีจัง มี AED เยอะ

21 เมษายน 2567

นินเทนโด สโตร์

 นินเทนโด สโตร์

สำหรับสาวกเกมเมอร์ ในประเทศไทยไม่มีร้านจำหน่ายเกมและสินค้าของนินเทนโดอย่างเป็นทางการ แต่ที่ญี่ปุ่น มีทั้งโตเกียว เกียวโต และโอซาก้า
ใครที่คิดว่ามีแต่เนิร์ดเกมเข้าไปดู คิดผิดล่ะครับ มีคนทุกวัยจากทุกประเทศมาต่อแถวเข้าชม เข้าซื้อของที่นี่
ภายในมีสินค้าที่ระลึกแบบถูกลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น แก้วน้ำ สมุด พวงกุญแจ เสื้อ ผ้าขนหนู การ์ด และสารพัด
โดยมาจากตัวละครในเกมนินเทนโด ซีรี่ส์มาริโอ เคอบี้ สปลาตูน เซลด้า ปิ๊กมิน ทั้งตัวเอก ตัวร้าย มาให้เลือกแบบจุใจ
เกมนินเทนโดสวิตช์ (เฉพาะเกมที่บริษัทนินเทนโดทำและจำหน่าย) ทั้งเครื่องและแผ่น จอยสติ๊กแบบต่าง ๆ (เกมเป็นโค้ด) แผ่นสมาชิก NSO แบบหยิบมาจ่ายเงินที่เคานท์เตอร์ได้สบาย
แถมใครเป็นสมาชิก my nintendo เช่นผม ก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด ได้แต้มสะสมไปอีก
พนักงานแนะนำเหมือนเป็นคนบ้าเกมเลยครับ เวลาแนะนำ ดูอินมากทั้งสีหน้าและแววตา ทุกคนที่นี่มีความสุขมากเหมือนมาดิสนีย์แลนด์เลย (พนักงานที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใส และ หล่อโคตร)
พอออกจากนินเทนโดสโตร์ จะมี โปเกมอนสโตร์ แคปคอมสโตร์ เอาไว้ดักเงินในกระเป๋าคุณต่อไป
แถมผมไปเยือนสแควร์อินิกซ์ ที่เต็มไปด้วยไฟนอลแฟนตาซีทุกจุดในร้าน ซึ่งตั้งในย่านอะคิฮาบาระ ซึ่ง..ทุกมุมเมืองกำลังฉลองอัพเดตใหม่ของเกนชินอิมแพ็กต์
หรือแม้แต่ร้านต่าง ๆ ก็มีเกม มีเครื่อง มีอุปกรณ์เสริม ทั้งมือหนึ่ง และมือสอง ไม่ว่าจะเป็น เพลย์สาม สี่ ห้า, สวิตช์, 3DS วางขายแบบละลานตา
หรือสินค้าพวกสมุดภาพ หนังสือ พวกนี้ถูกกว่าคิโนะในไทย (หักภาษี)
ใครเป็นคอเกม และไปญี่ปุ่น ต้องไปเยี่ยมเยือนให้ได้ครับ อุตสาหกรรมเกมของญี่ปุ่น ถือว่าใหญ่มากทีเดียว
อ้อ...พ่อรูปหล่อในภาพ คือบุคคลที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุด เขาคือนายทหารราบชื่อ ลิงค์ หาได้ชื่อเซลด้าตามชื่อเกมไม่ คุณเซลด้าคือชื่อเจ้าหญิงที่ทรงพลังที่สุดในเรื่องครับ

20 เมษายน 2567

เทคนิคที่สำคัญมากเวลาไปเที่ยว คือ อย่าอดมื้อเช้า

 เทคนิคที่สำคัญมากเวลาไปเที่ยว คือ อย่าอดมื้อเช้า

คุณนอน อดอาหารมาทั้งคืน และเช้านี้จะไปเที่ยวต่อ ถึงแม้คุณจะไม่ได้รู้สึกหิว และความตื่นเต้นมันกลบความหิวไปหมด
แต่คุณควรใส่พลังงานเข้าไป มันไม่ใช่แค่มีแรงสำหรับแขนขากล้ามเนื้อ แต่มันสำคัญต่อสมอง หัวใจ ไต เซลล์ต่าง ๆ จะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งวัน
มันมีงานวิจัยแบบ prospective cohort ลงใน BMJ ทำในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวสก็อตแลนด์ 2400 กว่าคน แยกกลุ่มกินข้าวเช้าอย่างเป็นทางการเต็มรูป กับไม่ได้กินหรือกินจุบจิบเล่น ๆ แล้ววัดผลความอึด และความสุข รวมทั้งการบาดเจ็บจากการท่องเที่ยว
พบว่ากลุ่มที่ตื่นมากินอาหารเช้าเต็มรูป มีความอึดมากกว่า เที่ยวมีความสุขมากกว่า และบาดเจ็บน้อยกว่า อย่างมีนัยสำคัญด้วย
มื้อนี้ผมอยากกินร้านเล็ก ๆ ที่พนักงานทำใหม่ ๆ ให้ลูกค้าและลองเข้าไปสั่งชุดอาหารเช้า สื่อสารได้แค่นี้แหละ ถ้ารู้จักอาหารและภาษาน่าจะได้มากกว่านี้
นั่งกินขนมปังปิ้งใหม่ ๆ ไข่สด จิบกาแฟอุ่น ๆ มองดูผู้คนขวักไขว่ เดินจ้ำอ้าวตามกันเจ้าสถานีรถไฟ คนที่นี่ใส่สูทชุดดำเกือบหมด
ชีวิตช่างมีระเบียบวินัย แต่ก็รีบเร่งและวุ่นวาย
เลือกร้านนี้เพราะอะไร...เพราะพนักงานยิ้มน่ารักมากเลยครับ ก่อนจะออกจากร้านก็แวะไปบอกเธอสักหน่อย "อาริกาโตะ โกไซมัส"

สวนนาระ กับ กวาง อาการป่วยหลังจากสัมผัสกวาง

 สวนนาระ กับ กวาง

นาระ เป็นเมืองหลวงเก่าแก่มากของญี่ปุ่น ทุกวันนี้ยังมีหลักฐานร่องรอยความเก่าแก่ที่สำคัญตรงวิหารโทไดจิ อาคารไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนรอบวัดเป็นสวนสาธารณะนาระ ที่มีกวางเหลียวหลังเดินเต็มไปหมด
โรคติดต่อจากกวางที่เราคิดถึงกันน่าจะเป็นโรคบรูเซลล่า (brucellosis) แต่ความเป็นจริงแล้วเจอจากกวางแบบที่เจอที่นาระแบบนี้ เจอน้อยมาก มักเจอในปศุศัตว์วัวควายแพะ หรือในอดีตจะพบในกลุ่มนายพรานล่าแล่เนื้อสัตว์ (สุขอนามัยยังไม่ดี)
ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวะให้อาหารกวางที่เมืองนาระ ไม่ต้องกังวลว่าจะติดเชื้อบรูเซลล่านะครับ
ยกเว้นคุณไปสัมผัสกวางป่วย หรือตัวคุณป่วยเป็นโรคที่ภูมิคุ้มกันลดลง และหากคุณมีอาการป่วยหลังจากสัมผัสกวางสักหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ก็อาจเกิดโรคได้นะครับ (แม้ว่าโอกาสจะต่ำมากก็ตาม) เช่น
วัณโรค
บรูเซลล่า
Q fever
Leptospirosis
และวิธีที่ดีเวลาไปเที่ยวและเล่นกับกวางคือ
1.หลีกเลี่ยงสัตว์ป่วย มันจะซึมหรือขี้โมโห
2.สัมผัสเบา ๆ อย่าให้เกิดแผล
3.ไม่กินขนม ไม่ดื่มน้ำ ไม่สูบบุหรี่ เวลาเล่นกับกวางเพราะอาจมีละอองฝอยหรือสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าตัวได้
4.ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส ให้คุณเดินตรงไปล้างมือในวิหารโทไดจิ หรือพิพิธภัณฑ์นาระ ใช้สบู่ฟอก

19 เมษายน 2567

Fukuoka category

 Fukuoka category

เป็นระบบการแบ่งรอยโรคซิสต์แบบ intraductal papillary mucinous neoplasms หรือซิสต์ของท่อตับอ่อน ว่าแบบใดน่าสงสัย แบบใดเสี่ยงสูง โดยเสี่ยงสูงจะมีโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนถึง 10%
ตั้งชื่อจากเมืองฟูคุโอกะ ที่จัดประชุม เรียกว่า Fukuoka Consensus ในปี 2012 แทนที่ sendai criteria เดิม
อยากบอกว่าคุณหมอที่คิดค้นโรคต่าง ๆ ที่ได้ชื่อเป็นญี่ปุ่น มาจากฟูคุโอกะ เยอะมาก

18 เมษายน 2567

ผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากเหตุสงครามและการระเบิดที่ฮิโรชิมา

 "ยามเยี่ยมเยือนเหยียบย่างกลางอดีต

แว่วเสียงหวีดกรีดก้องร้องเรียกหา
หยดเลือดนองกองร่างพร่างน้ำตา
พรากมารดาพรากลูกยาพรากดวงใจ
สงครามก่อเพียงคนน้อยที่เห็นแย้ง
ราคาแพงแทนตอบ-อสงไขย
ชีวิตคนบริสุทธิ์สุดอาลัย
ต่อนี้ไปจะไม่ซ้ำย้ำโศกา"
ขอแสดงความอาลัยแด่ดวงวิญญาณผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากเหตุสงครามและการระเบิดที่ฮิโรชิมา เมื่อ 79 ปีก่อน
และจะไม่มีฮิโรชิมาอีกต่อไป

Minamata disease

 Minamata disease

โรคที่เกิดจากการสัมผัสสารปรอท ปนเปื้อนจากการกิน โดยพบในปี 1954 จากน้ำเสียปนเปื้อนสาร methylmercury ที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ 1932-1968 เมื่อพิสูจน์แล้วมีการเอาผิดโรงงานนั้นด้วย
ชื่อโรคมาจากเมือง minamata ในเขตเมืองคุมาโมโต้
ถ้าจำสับสน จะเป็น minamoto คือนามสกุลของชิซุกะจัง จากโดราเอมอน

17 เมษายน 2567

อักษรเบรล (Braille)

 เบรล

ชอบและถูกใจสิ่งนี้ ความเท่าเทียมและให้โอกาส
ที่นี่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการทางสายตามากมาย ทางเท้าเกือบทุกเส้นหลัก มีทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา มีทางเท้าหยุดก่อนถึงแยก
บนรถไฟมีป้ายอักษรเบรลในห้องน้ำ อย่างในภาพที่เห็นคือ มือจับแสดงตำแหน่งที่นั่งอยู่บนเบาะที่นั่งด้วย (JR limited express train)
อักษรเบรล (Braille) เป็นอักษรสัมผัสประกอบด้วยชุดจุดหกจุดมาสลับตำแหน่งให้เกิดอักษร สามารถสัมผัสจุดทั้งหมดได้ในนิ้วเดียว ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1822 โดย Louise Braille ซึ่งตาบอดตั้งแต่เด็ก และพัฒนามาใช้ทั่วโลก ตั้งแต่ 1862
มีการตั้งองค์กรเพื่อความเป็นมาตรฐานและแปลเป็นหลายภาษาในโลก
เวลาไปเที่ยว ชอบมองสิ่งเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้

Kawasaki disease

 Kawasaki disease

โรคหลอดเลือดขนาดกลางที่มีการอักเสบเรื้อรัง ในผู้ใหญ่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบได้ ในเด็กจะมีไข้ เยื่อบุต่าง ๆ บวมแดง ต่อมน้ำเหลืองโต
ตั้งชื่อให้เกียรติแด่ Tomisaku Kawasaki ที่อธิบายโรคนี้ในเด็กสี่ขวบตั้งแต่ปี 1961 คุณหมอคาวาซากิศึกษาโรคนี้อย่างจริงจัง เขียนในตำรากุมารเวชชั้นนำในโลก และได้เป็นผู้อำนวยการศึกษาโรคคาวาซากิอีกด้วย

16 เมษายน 2567

เบนโตะ กฎหมายควบคุมเกลือในอาหาร

 อันนี้คือ เบนโตะ (อาหารกล่อง) ทึ่ซื้อมากินบนรถไฟชินคันเซ็น

อยากลองมานาน ได้ลองเสียที ไม่รู้ว่าผมคิดไปเองไหม ว่ารสชาติหนักเค็ม จริง ๆ ไม่ใช่แค่เบนโตะ อาหารเกือบทุกชนิด ดูจะหนักเค็ม
นี่ขนาดญี่ปุ่นออกกฎหมายควบคุมเกลือในอาหาร ระดับผู้ผลิตอาหาร และลดเกลือในอาหารต่าง ๆ ลงมาได้เกินครึ่ง และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงอย่างมาก
ทำแบบนั้นจนคนเสียชีวิตลดลง .. แต่อาหารตอนนี้ก็ยังเค้ม...เค็ม ไม่รู้ว่าแต่ก่อนจะขนาดใหน
เมืองไทยเราคงทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเราไม่มีกฎหมายมาควบคุมความเค็ม และถึงมีกฎหมายที่ดี เราก็ไม่มีรถไฟความเร็วสูง ให้มานั่งกินแบบนี้

ฮาจิโกะ ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับภาวะเลือดออกในสมอ

 ฮาจิโกะ

ฮาจิโกะ เป็นชื่อของสุนัขพันธุ์อาคิตะ ผู้เป็นเจ้านายคือ ฮิเดซาบุโร อุเอโนะ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมการเกษตรที่มหาวิทยาลัยโตเกียว คือคุณเจ้าของนี่ก็โด่งดังพอตัวแล้วนะครับ เพราะเป็นหนึ่งในทีมฟื้นฟูเมืองโตเกียวตอนที่มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเขตคันโต ปกติมันจะมารับเจ้านายที่สถานีชิบุยะทุกวัน วันหนึ่งเจ้าหมาน้อยไม่ได้พบเจ้านายที่สถานี เพราะศาสตราจารย์อุเอโนะ เสียชีวิตในขณะสอนหนังสือ
ความโด่งดังของฮาจิโกะ คือ มันมาเฝ้ารอเจ้านายทุกวัน เป็นเวลาอีกกว่าเก้าปี จึงเสียชีวิต ผู้คนที่ชิบุยะ ให้ความรักใคร่มาก และครอบครัวฮิเดซาบุโรก็จัดงานศพให้ด้วย ปัจจุบันมีรูปปั้นของฮาจิโกะอยู่ที่เทอมินอล 21 โคราช ..และที่แยกชิบุยะ ใกล้กับจุดห้าแยกที่คนมาข้ามถนนกันบ่อย ๆ
ฮิเดซาบุโระ อุเอโนะ เสียชีวิตจากเลือดในสมอง ปัจจุบันเราพอทราบปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับภาวะเลือดออกในสมอง ตีพิมพ์และรวมรวมจาก American Heart Association คือ
1.อายุ
2. เพศชาย
2. การดื่มเหล้า
3. โรคความดันโลหิตสูง
โดยปัจจัยเสี่ยงเรื่องความดันโลหิตสูงมีน้ำหนักมากที่สุด รองมาคือ การดื่มเหล้า !!! ซึ่งทั้งสองปัจจัยสามารถปรับได้ทั้งสิ้น ส่วนไขมันในเลือดสูงและบุหรี่จะเสี่ยงกับหลอดเลือดสมองตีบมากกว่า ซึ่งไม่มีบันทึกว่าอุเอโนะมีปัจจัยเสี่ยงใด
ส่วนฮาจิโกะ เสียชีวิตจากโรคมะเร็งและติดเชื้อโรคเท้าช้างในสุนัข
อนุสรณ์แห่งความรักและสัตย์ซื่อที่ใจกลางแยกแห่งความวุ่นวาย ชิบุยะ
May be an image of 3 people and text that says "宝くじ"
See insights and ads
Boost
All reactions:
198

Hasimoto's thyroiditis

 Hasimoto's thyroiditis

ชื่อโรคการอักเสบของต่อมไทรอยด์ เกิดจากภูมิคุ้มกันตัวเองมาจับทำลายต่อมไทรอยด์ มีภาวะไทรอยด์สูงบ้างต่ำบ้าง แต่สุดท้ายปลายทางจะต่ำ เพราะทำลายจนเกิดพังผืดไปหมด
ชื่อมาจาก Hakaru Hashimoto คุณหมอนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคิวชู คุณหมอไปเรียนและทำวิจัยที่เยอรมัน งานวิจัยเรื่องต่อมไทรอยด์อักเสบนี้ ก็ทำและตีพิมพ์ที่เยอรมัน ในยุคนั้นมีโรค Reidel's thyroiditis ก็คือกลไกเดียวกันนี้แหละ แต่อักเสบจนเป็นพังผืดและลามไปอวัยวะอื่น ทำให้คนเข้าใจต้นตอของโรคว่าเกิดจากไทรอยด์
มักตรวจพบ anti-microsomal antibody
คุณหมอฮะชิโมโต้ สร้างชื่อเสียงจนทางมหาวิทยาลัยคิวชู นำชื่อคุณหมอมาตั้งเป็นชื่อถนนสายหนึ่งในวิทยาลัย

15 เมษายน 2567

Ishihara Test

 Ishihara Test

แผ่นทดสอบตาบอดสี ที่เราคุ้นชินเวลาไปต่อใบขับขี่ คิดค้นมานานมาก โดยคุณหมอประจำกองทัพพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น Shinobu Ishihara (คิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับเสาหลักดาบพิฆาตอสูร Kojo Shinobu)
คุณหมอต้องการสร้างกองพันที่สุดยอด และต้องไม่มีตาบอดสี จึงคิดค้นแผ่นทดสอบนี้ขึ้นมา ใช้ในปี 1917 โดยฉบับดั้งเดิม อิชิฮาระเป็นคนวาดด้วยสีน้ำและเป็นตัวอักษร คาตางานะ

Tsutsugamushi disease

 Tsutsugamushi disease

ชื่อโรคที่เกิดจากเชื้อ Orientia tsutsugamuchi หรือเชื้อ Ricketsia เดิม
ทำให้เกิดโรคสครับไทฟัส หรือรากสาดใหญ่ ยังพบอยู่บ่อยในปัจจุบัน และพบได้บ่อยในไทย
ชื่อมาจาก tsutsuga ที่แปลว่า ความเจ็บป่วย และ mushi ที่แปลว่าแมลง เพราะโรคนี้นำโรคจากไรอ่อนที่อยู่บนตัวหมัดนั่นเอง

14 เมษายน 2567

Tawara Node AV node

 Tawara Node

จุดเชื่อมต่อทางไฟฟ้าที่สำคัญในหัวใจคือ จุด atrio-ventricular node หรือ AV node ถูกค้นพบและอธิบายโดย Sunao Tawara นักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่ค้นพบ ในปี 1905 ได้ชื่อว่า Tawara node
ส่วนสายไฟที่ต่อจาก AV node ที่เรียกว่า Purkinje fiber ตอนนั้นเรียกว่า Tawara Thigh หรือขาทั้งสองข้างของทาราวะ คือเส้นใยเพอคินเจ้ มันมีสองข้างลากลงมาเหมือนขาสองข้างเลยไปหัวใจห้องล่างซ้ายและขวา
และเนื่องจากตอนเริ่มศึกษานั้น Tawara ยังเป็นผู้ช่วยวิจัยอยู่ที่ Marburg อีกชื่อของ AV node คือ ชื่อผู้ร่วมวิจัย Ludwid Aschoff เรียกว่า Aschoff-Tawara node

บทความที่ได้รับความนิยม