30 สิงหาคม 2564

ยาอดบุหรี่ varenicline มีข้อแจ้งเตือนออกมานะครับ

 ตอนนี้ใครใช้ยาอดบุหรี่ varenicline มีข้อแจ้งเตือนออกมานะครับ

สองสัปดาห์ก่อน องค์การอาหารและยาสหรัฐและบริษัทไฟเซอร์ ได้ประกาศเรียกคืน ยาอดบุหรี่ varenicline ในบางรุ่นการผลิต เนื่องจากตรวจพบว่ามีสาร N-nitroso-varenicline เกินกว่าอัตราที่กำหนด การประกาศแบบนี้เราจะพบได้กับยาหลายตัวหลายยี่ห้อนะครับ เนื่องจากเป็นกระบวนการตรวจสอบคุณภาพร่วมกันขององค์กรควบคุมและบริษัทผู้ผลิต เพื่อตรวจปัญหาให้พบก่อนเกิดอันตราย

สาร N-nitroso-varenicline เป็นสารไนโตรซามีนชนิดหนึ่ง ในทางทฤษฎีแล้วมีแนวโน้มเกิดมะเร็งในคนหากมีปริมาณสะสมสูงเกินไป แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ว่าจะเกิดจริงหรือไม่นั้น ยังไม่ชัดนะครับ เพียงแค่นี้ก็เพียงพอให้ดึงรุ่นการผลิตที่ผิดปกติออกจากตลาด หยุดจำหน่ายชั่วคราวและตรวจสอบจนปลอดภัยก่อน แล้วจึงออกจำหน่ายใหม่ ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเรื่องพิษเฉียบพลันทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ

บริษัทไฟเซอร์ประเทศไทยจำกัด ก็ได้ออกเอกสารบอกว่าตรวจพบบางรุ่นของยานี้ มีสาร N-nitroso-varenicline เกินเช่นกัน และเป็นการตรวจจากล็อตที่หมดอายุไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามทางบริษัทก็หยุดจำหน่ายทุกรุ่นเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจก่อน

ใครที่ทำงานเรื่องเลิกบุหรี่ ตอนนี้มีทางเลือกลดลงนะครับ เพราะ varenicline น่าจะเป็นยาที่ทรงพลังที่สุดในการเลิกบุหรี่แล้ว ตอนนี้คงต้องใช้ ยากิน bupropion SR, ยาอม L-cysteine, สารทดแทนนิโคติน nicotine gum ซึ่งยาต่างๆ เหล่านี้หาได้ยากขึ้น สารทดแทนนิโคตินก็หยุดการนำเข้าไปหลายชนิดแล้ว

ต้องใช้โอกาสในการระบาดของโรคโควิดครับ กระตุ้นการเลิกบุหรี่ เพราะมีข้อมูลว่าหากสูบบุหรี่อยู่ การอักเสบจากควันบุหรี่ในปอดจะทำให้ติดเชื้อรุนแรงได้ง่ายขึ้น และพฤติกรรมการสูบ ไม่ว่าการพ่นควัน การอยู่รวมกัน หรือแย่สุดคือสูบมวนเดียวกัน ก็เพิ่มโอกาสการติดเชื้อไวรัสโรคโควิดได้เช่นกันครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "Plizer CHAMPIX 0.5 mg CHAMPIX 1 mg Film-coated tablets Varenicline 4-week treatment Initiation pack contaling Week 1 11 x 0.5 mg Film-coated tablets and Week 4 42 ×1 mg Film-coated tablets Oral use Do not use box has been opened"

ข่าว ESC

 รายงานข่าวและความรู้ใหม่ ๆ กันต่อเนื่องนะครับ

1. การลดเกลือโซเดียม มีประโยชน์จริงนะครับ งานวิจัยในจีน เขาศึกษาวิธีการลดเกลือโซเดียมแบบใหม่ จากเดิมที่เราจะให้ลด คือตัดทิ้ง แต่นี่เขาให้เกลือทดแทน คือจากเกลือโซเดียม 100% มาเป็นเกลือที่ประกอบด้วยโซเดียม 75% และโปตัสเซียม 25% (ตามมาตรฐานการรักษาโรคความดันและหลอดเลือด คือ ลดโซเดียม เสริมโปตัสเซียม) โดยศึกษาในผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่เป็นอัมพาตแล้ว หรือมีความเสี่ยงสูงคืออายุมาก แบ่งให้เกลือปรกติและเกลือทดแทน ติดตามผลประมาณ 5 ปี พบว่าโอกาสเกิดอัมพาตลดลง โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดลดลง อัตราตายลดลง โดยค่าโปตัสเซียม ไม่ได้สูงมากขึ้น อาจจะเปลี่ยนแนวคิดการทำเกลือ ส่วนผสมเกลือ และการลดเกลือ จากตัดขาดมาเป็นเกลือทดแทน ที่อาจจะมีประสิทธิผลมากกว่าวิธีปัจจุบัน น่าสนใจครับ

ไม่ฟรี https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2105675…

2. ผู้ป่วยที่ต้องช่วยชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล แล้วเอาไปทำหัตถการหลอดเลือดหัวใจทันที อาจไม่เกิดประโยชน์ การศึกษากลุ่มเล็ก ๆ ในเยอรมัน นำผู้ป่วยที่ต้องกู้ชีพนอกโรงพยาบาล และแค่สงสัยว่าเกิดจากปัญหาโรคหัวใจ เมื่อมาถึงโรงพยาบาล มาทำการสวนหลอดเลือดหัวใจตรวจและรักษาเลย เทียบกับกลุ่มที่ไปเข้าไอซียูก่อน รักษาภาวะทั่วไปก่อนจึงไปทำหัตถการ พบว่ากลุ่มที่นำไปสวนหลอดเลือดหัวใจเลย มีอัตราการรอดชีวิตที่หนึ่งเดือนต่ำกว่า ผลแทรกซ้อนทางระบบประสาทก็สูงกว่า สรุปว่าการเอาไปสวนหัวใจทันที ไม่น่าจะเกิดประโยชน์ แต่ขอให้ใครที่สนใจไปอ่าน พิจารณาเรื่องของ selection bias และ allocation concealment ที่ส่งผลถึงผลการศึกษาได้ ผมยังไม่สรุปตามวารสารนะครับ เพราะเห็นว่ายังมีจุดสังเกตของวารสารอีกมาก

ไม่ฟรี https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2101909…

อาจเป็นรูปภาพของ สถานที่ในร่ม และแหล่งน้ำ

29 สิงหาคม 2564

เข้าร่วมประชุมวิชาการแบบทางไกล

 เข้าร่วมประชุมวิชาการแบบทางไกล

1. เวลาเมืองนอก คือ อุปสรรคอย่างหนึ่งในการฟังที่บ้านเรา เส้นเวลาที่ต่างกันบางทีก็เป็นอุปสรรคมาก เช่น เขาบรรยายที่ฝรั่งเศส แต่เรากำลังขับรถกลับบ้าน หรือหัวข้อสุดน่าฟัง แต่ดันตรงกับเวลาร่วมโต๊ะอาหารกับลูกผัว ผมแนะนำให้จัดการงานตรงหน้าก่อนครับ ประชุมวิชาการมันอ่านย้อนหลังได้ ฟังรีรันได้ รู้ช้าไปวันนึง ก็ไม่เปลี่ยนการรักษาของเราหรอกครับ แต่ครอบครัว การงาน ชีวิต ตรงหน้านี้มันไม่ควรพลาด

2. มาฟังวิชาการ ไม่ได้มาฝึกภาษา ผมไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ให้เลิกสนใจศัพท์ สำเนียง ของภาษานะครับ แต่อยากให้มุ่งประเด็นความสนใจไปที่เนื้อหา ที่สาร มากกว่าการสื่อ หลายคำหลายบริบท เข้าใจได้มันก็ดี แต่ถ้าไม่เข้าใจแล้วไปมุ่งโฟกัสตรงนั้น อาจจะพลาดสารจริง ๆ ที่เขาสื่อได้ ยิ่งบรรยายระดับนานาชาติ สำเนียงภาษาฟังยากมาก หลากหลาย

3. อันนี้แนะนำหลายครั้ง และใช้ได้ตลอด คือ อ่านล่วงหน้าในเรื่องนั้นครับ ค้นคร่าว ๆ ให้เข้าใจ รู้จักว่าเขาจะพูดเกี่ยวกับอะไร เวลาฟังจริงจะได้ไม่ 'เหวอ' ถึงเราฟังไม่ทัน ไม่คล่อง เราจะยังพอจับใจความจับต้นชนปลายได้ดีกว่าครับ สำหรับการบรรยายภาษาต่างประเทศยิ่งสำคัญ ชนเผ่าหูไม่กระดิกภาษาฝรั่งแบบผม เรื่องนี้สำคัญยิ่ง

4. ไม่ต้องเกร็ง เลือกที่สบายและมีความสุข จะกลิ้งบนเตียงดูมือถือ จะกินทุเรียนพร้อมฟังบรรยาย ให้สามีมานวดเท้าให้พร้อมฟังไปด้วย เอาที่สบายใจได้เลยครับ อย่าไปจริงจังแบบเต็มรูป ต้องใส่สูทฟัง เซ็ทผมเป๊ะ (ยกเว้นประชุมทางการ) จะทำให้เรามีความสุข ลดความตึงเครียดในข้อต้น ๆ ที่กล่าวมาได้ดี

5. งกสักหน่อย คิดไว้เลยว่าเราจ่ายเงินค่าลงทะเบียนไปไม่น้อยนะเว้ย ต้องได้อะไรสมน้ำสมเนื้อกลับมาบ้าง เพราะเราไม่ได้ไป onsite ไงครับ ถ้าได้ไป onsite บรรยากาศวิชาการมันพาไปเอง แต่นี่ชิลล์มากอยู่บ้าน โอกาส 'หลุด' มันสูงครับ ให้มีวินัยและแรงจูงใจ แต่ไม่ต้องเครียดตึงดังข้อ 4 หรืออย่างน้อย กลับมาดูรีรันตอนที่พร้อมก็ได้ครับ

6. พูดคุยกับคนอื่นได้นะ จัดกรุ๊ปจัดกลุ่ม เหมือนเล่นเกมออนไลน์ เขาบรรยายไปหน้าจอนึง เราก็ใช้โปรแกรมแชทกัน เฮ้ย..ประเด็นนี้ตรูว่าไม่ใช่ อันนี้มันไบแอสว่ะ เปิดกรุ๊ปไลน์ หรือดิสคอร์ดเลย สร้างความสนุกในกลุ่มเพื่อนฟังด้วยกัน

7. งานประชุมใหญ่ ๆ ต้องระวังกับดักข้อมูล อย่าลืมว่าไม่ได้มีแต่เราที่เฝ้ารอ บริษัทยา ผลิตภัณฑ์ เขาก็ใช้เวทีนี้นำเสนอเช่นกัน หลายการศึกษาที่ขับเคลื่อนจากบริษัทที่มาลงทุน อันนี้ต้องมีสติมาก ๆ หลายการศึกษาก็ 'ดีไซน์มาเพื่อพวกเขา' ออกแบบมาตั้งแต่กรรมวิธีเลยครับ ผลออกมาก็จะเป็นไปตามนั้น ดังนั้น ต้องมีความรู้เรื่อง critical appraisal และกระตุ้นต่อม 'เอ๊ะ' ให้ทำงานตลอด

8. ถ้าฟังแล้วไม่แน่ใจ คลางแคลงใจ เวลาช่วยคุณได้ รออาจารย์ที่เราเชื่อถือมาวิเคราะห์วิจารณ์ได้ครับ จะได้มุมมองเพิ่มขึ้น ลดทอนข้อสงสัยลงได้ เดี๋ยวนี้มีเวทีย่อยหลังเวทีใหญ่ให้ดีเบตและต่อยอด แต่…!!! เวทีย่อยหลายเวที ก็เป็นส่วนเก็บตกของข้อ 7 อย่างไรก็ต้องมีสติเสมอ

9. อันนี้ขอแนะนำส่วนตัวเลยนะ เรื่องเก้าอี้ บอกเลยว่าถ้าเก้าอี้ฟังบรรยายไม่สบาย ฟังได้ไม่นานครับ ยิ่งอารมณ์ฟังที่บ้านด้วยแล้ว พร้อมจะหนีตลอด ถ้าอยากฟังสบาย นาน ๆ ผมแนะนำลงทุนเก้าอี้ครับ สำหรับผม อะไรจะสบายไปกว่าเก้าอี้เล่นเกม

10. อันนี้ก็อีกอัน สุดท้ายแล้ว เป็นส่วนตัว ..เตรียมทุกอย่างให้พร้อม จะทำให้สนุกกับการเรียน … พจนานุกรมเอาไว้ใกล้มือ, สมุดปากกาต้องหยิบถึง, ไฟฟ้าสว่าง, แบตเตอรี่คีย์บอร์ด เม้าส์ อย่าให้หมด มันเสียอารมณ์, ปริ้นเตอร์ต้องมีหมึกพอ กระดาษเตรียมใส่ถาดเอาไว้เลย, หูฟังลำโพง ชอบแบบไหนจัดไว้, ปรับอุณหภูมิ จะพัดลมจะแอร์ สำคัญนะ, น้ำดื่มสักขวด แล้วคุณจะเรียนอย่างสนุกครับ

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ข่าว ESC

 1. แนวทางการจัดการโรคลิ้นหัวใจ ESC 2021 อ่านอันเดียวครบ ตารางและไดอาแกรมสีสวยขึ้น อ่านง่ายขึ้น เกณฑ์สำคัญคือ การแยกความรุนแรงเพื่อรักษา การเลือกใช้ยา และการส่งผ่าตัด

อ่านฟรี
https://www.escardio.org/…/Clin…/2021-Valvular-Heart-Disease

2. ยา finerenone ยากลุ่ม aldosterone antagonist มีประโยชน์ลด 'ผลเสียโดยรวม'​ ของโรคไตเสื่อม เมื่อใช้เพิ่มจากยา ACEI/ARB ถ้าเทียบกันเป็นสัดส่วน ลดได้ 13% แต่ดูตัวเลขจริง ๆ ไม่ค่อยลดมากนัก แถมผลลัพธ์หลัก ที่ไปดึงผลรวมให้ดี ก็ไม่ใช่ผลทางโรคไตโดยตรง

ไม่ฟรี
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2110956…

3. การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว หลังใส่ขดลวดค้ำยันในหลอดเลือดหัวใจ สำหรับขดลวดเคลือบยารุ่นใหม่ สามารถลดระยะเวลาจากสามเดือน ลงมาที่หนึ่งเดือนได้ โดยอันตรายไม่ได้เพิ่มขึ้นและเลือดออกน้อยกว่า แต่ต้องไปอ่าน 'กรรมวิธีการคัดเลือก และการตัดสินผล'​ให้ดีครับ

ไม่ฟรี
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2108749…

4. การใช้ยาต้านเลือดแข็ง edoxaban สำหรับผู้ป่วยที่เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน แล้วหัวใจเต้นผิดจังหวะ พบว่า การป้องกันลิ่มเลือดตัน ไม่ได้ด้อยไปกว่ายา warfarin แต่เลือดออก 'มากกว่า'​ อีกด้วย ใครอ่านให้ดู power of study ดี ๆ นะครับ อีกประการคือ 'ผลโดยรวม'​จะรวมอะไรมากนักหนา

ไม่ฟรี
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2111016…

5. ลิเวอร์พูล ไว้หน้า เชลซี เผื่อวันหน้าจะทำธุรกิจกันต่อไป เลือกทางสายกลาง ไม่เจ็บ ไม้แพ้

อาจเป็นภาพระยะใกล้ของ 1 คน

28 สิงหาคม 2564

ข่าว ESC

 ข่าวคืนนี้

1. ยา SGLT2i ที่ใช้ในการรักษาเบาหวาน ตอนนี้ได้รับการพิสูจน์ประโยชน์ในโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังแล้ว จากงานประชุม ESC 2021 ยา empagliflozin ที่ได้รับการรับรองในหัวใจล้มเหลวที่แรงบีบน้อย (HFrEF) ไปแล้ว ตอนนี้การศึกษาออกมาว่า มีประโยชน์ในโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังแบบแรงบีบยังดี (HFpEF) โดยที่คนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเบาหวาน เทียบกับการรักษามาตรฐานแล้วมีนัยสำคัญ แต่ตัวเลข absolute risk reductuion ไม่ได้สูงนัก สำคัญที่ลดการนอนโรงพยาบาลเป็นหลัก

ไม่ฟรี
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2107038…

2. แนวทางการรักษาโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเรื้อรัง สมบูรณ์มาก แต่ไม่ค่อยมีอะไรใหม่นัก ของไทยเราทำได้เกือบหมด

อ่านฟรี
https://www.escardio.org/…/…/Acute-and-Chronic-Heart-Failure

3. คริสเตียโน โรนัลโด บรรลุข้อสัญญากลับมาแมนยูอีกรอบ เจ็ทโด้มาแล้วว้อยยย

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

27 สิงหาคม 2564

การลดน้ำหนักและออกกำลังกาย

 ตั้งใจวิ่งซิ่งโลดอยากลดหุ่น

เขียนตารางทุ่มทุนกับข้าวของ

รองเท้าดีชุดครบตามครรลอง

พรุ่งนี้ต้องตื่นเช้าเอาจริงจัง

....

เริ่มต้นเด็ดเก็บเพซได้ตามคาด

จุดเป้าหมายคือตลาดอย่างที่หวัง

คิดถึงสิ่งจูงใจให้เกิดพลัง

เหงื่อชุ่มหลังหอบแฮกแทบเป็นลม

....

ถึงตลาดก็ไม่พลาดเข้าร้านค้า

หยิบตะกร้าใส่ข้าวเหนียวใส่ขนม

มันฝรั่งเบเกอรี่น้ำอัดลม

อิ่มอารมณ์สมความหวังที่ตั้งใจ
....

ออกมาสั่งแม่ค้าชาไข่มุก

เลือกของกินแสนสนุกน้ำแข็งไส

ก่อนกลับบ้านขอแถมเงาะซื้อลำใย

กินเอาไว้เตรียมวิ่งซิ่งตอนเย็น

......

กินเสร็จสรรพหลับก่อนนอนสักตื่น

สองชั่วโมงสดชื่นลื่นเห็นเห็น

เพราะออกวิ่งนี่เองคือประเด็น

ดูซีรี่ส์เตรียมวิ่งเย็นอีกสักที
.....

ตอนเย็นวิ่งสลับเดินเพลินแท้แท้

ซื้อข้าวขาหมูแน่แน่กล้วยสองหวี

กินทั้งหมดคงจะเฮลต์ตี้ดี

แต่ทำไมชั่งทุกทีเพิ่มเอาเพิ่มเอา
.....

ลดน้ำหนักต้องกินน้อยลงนะครับ ใช้พลังงานให้มากขึ้น ถ้ากินแบบนี้วิ่งจากบ้านผมไปห้องคุณกี่รอบก็น้ำหนักไม่ลดครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, กล้ามเนื้อหน้าแขนท่อนบน, กำลังยืน และกลางแจ้ง

คำแนะนำการคัดกรองโรคเบาหวานและภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ปี 2021 จาก USPSTF

คำแนะนำการคัดกรองโรคเบาหวานและภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ปี 2021 จาก USPSTF พวกท่านคิดเห็นประการใด เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ?

ปัจจุบันคำแนะนำการคัดกรองเบาหวานในผู้ที่มีความเสี่ยงเช่น มีประวัติครอบครัวโรคเบาหวาน มีน้ำหนักตัวเกิน เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ของสมาคมเบาหวานและต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ในอเมริกาแนะนำคัดกรองตั้งแต่อายุ 40-70 ปี แต่ในปีนี้ US Preventive Services and Task Forces ให้คำแนะนำที่ต่างไปดังนี้
-----------------------------------------------------------
แนะนำให้คัดกรองเบาหวานหรือภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes) ในผู้ที่อายุ 35-70 ปี ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 25) หรือโรคอ้วน (BMI มากกว่า 30) ที่ต้องไม่มีอาการของโรคเบาหวาน โดยวิธีคัดกรองเป็นหนึ่งในสามวิธีนี้คือ

1. ตรวจระดับน้ำตาลหลอดเลือดดำหลังงดอาหาร 6 ชั่วโมง (fasting blood sugar : FBS)

2. ตรวจวัดค่าระดับ Hemoglobin A1c โดยวิธีการทดสอบที่ได้รับการรับรอง

3. วัดค่าน้ำตาลหลอดเลือดดำที่สองชั่วโมง หลังกินน้ำตาล 75 กรัม (oral glucose tolerance test : OGTT)

ค่าที่ใช้เป็นเกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานและภาวะก่อนเบาหวานเป็นดังนี้

1. วัด FBS ตั้งแต่ 126 mg/dL , ถ้าอยู่ในช่วง 100-125 เรียก prediabetes

2. HbA1c ตั้งแต่ 6.5% , ถ้าอยู่ในช่วง 5.7% - 6.4% เรียก prediabetes

3. OGTT ตั้งแต่ 200 mg/dL , ถ้าอยู่ในช่วง 140-199 เรียก prediabetes

ถ้าปรกติ ให้ตรวจซ้ำทุก 3 ปี
------------------------------------------------------------
ทำไมแนะนำแบบนี้ เพราะการศึกษาปัจจุบันพบว่า พบอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานมากขึ้นในคนที่อายุน้อย ตัวเลขของการศึกษาพบว่าอายุ 35 ปีขึ้นไปก็พบมากขึ้นแล้ว และภาวะก่อนเบาหวานก็พบมากขึ้นเช่นกัน

โดยที่คนอายุ 35-40 นี้มีความตระหนักเข้าใจเรื่องเบาหวานว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงเพียง 20% เมื่อตรวจมากศึกษามาก ตัวเลขพบมากขึ้นแต่ปรากฏว่าความเอาใจใส่ทั้งหมอและคนไข้ ในกลุ่ม prediabetes มีแค่ 15%

คำแนะนำนี้น่าจะช่วยให้กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีเข้าถึงการดูแลรักษามากขึ้น และเพิ่มการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งตรวจเจอภาวะ prediabetes มากขึ้น

คำถามคือตรวจพบเร็วขึ้นแล้วดีอย่างไร .. การศึกษาปัจจุบันพบไปในทางเดียวกันคือ การดูแลรักษาโรคเบาหวานตั้งแต่แรกจะลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนและลดการเสียชีวิต หรือตั้งแต่ยังไม่เป็นเบาหวานแต่อยู่ในช่วง prediabetes จะลดการเกิดเบาหวานและหากเป็นเบาหวานก็จะลดผลแทรกซ้อนได้ แต่หลักฐานสนับสนุนไม่หนักแน่นเท่าป่วยเป็นเบาหวานแล้ว ไม่ว่าจะใช้ยา (metformin) หรือไม่ก็ตาม

เรื่องการชะลอการเกิดเบาหวาน มีทั้งการปรับชีวิตและการใช้ยา metformin ผมไม่ได้กล่าวถึงตรงนี้นะครับ ท่านสามารถไปอ่านเพิ่มได้ ผมระบุอ้างอิงไว้ตอนท้ายเรียบร้อยแล้ว

ดูในมุมมองของคนไข้ ก็น่าจะมีประโยชน์ในแง่รู้โรคและรู้ความเสี่ยงเร็วขึ้น จัดการได้ดีขึ้น ผลแทรกซ้อนในอนาคตลดลง ในแง่ผู้รักษาก็น่าจะดี เพราะเบาหวานระยะต้นรักษาไม่วุ่นวายนัก และไม่ต้องไปจัดการผลแทรกซ้อนมากมายในอนาคต

แต่ปัญหาจากคำแนะนำนี้ก็มีพอสมควร หากไปศึกษาในบทบรรณาธิการของวารสาร JAMA และ JAMA Internal Medicine ที่วิเคราะห์วิจารณ์คำประกาศของ USPSTF นี้ เขาสรุปข้อสังเกตของคำแนะนำนี้ว่า

เป็นสิ่งที่ดีที่ออกมาแนะนำแบบนี้ เพราะตอนนี้การรักษาโรคแทรกซ้อนของเบาหวานยุ่งยากและสิ้นเปลือง ถ้าจัดการได้ตั้งแต่แรกก็ดี แต่ที่สำคัญคือต้องทำให้เกิดมาตรการที่มีประสิทธิผลจริง

ที่ผ่านมาปริมาณคนไข้จากเกณฑ์เดิมคือ 40 ปียังไม่สามารถจัดการได้ดี ลงทุนแต่ไม่ได้ผลดีเลย หากมีปริมาณคนไข้มากขึ้นจากที่เราปรับลดอายุและตรวจมากขึ้น แล้วยังใช้มาตรการเดิม ความสำเร็จจะต่ำ ทำให้แม้จะลงทุนค้นหาคนไข้เร็วขึ้น แต่ผลลัพธ์อาจจะไม่ดีขึ้น เมื่อบวกลบคูณหารแล้วอาจจะแย่ลง ในแง่ภาพรวมสาธารณสุข

และอีกประการคือต้องระวังเรื่องผลเสียจากการใช้ยา ในกลุ่มที่เป็น prediabetes เนื่องจากประโยชน์จากยาไม่มาก แต่หากเกิดผลข้างเคียงจากยาคือน้ำตาลต่ำ ก็อาจทำให้การลงทุนปรับเกณฑ์และค้นหาผู้ป่วย ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ตั้งใจ

มันจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย สำหรับความตั้งใจที่จะคัดกรองมากขึ้นรักษาเร็วขึ้น และต้องปรับมาตรการใหม่ให้ทรงประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล ไม่อย่างนั้นการคัดกรองเพิ่มขึ้นก็สูญเปล่าและสิ้นเปลือง

ที่มา อ่านฟรี (เกือบหมด)

1. Grant RW, Gopalan A, Jaffe MG. Updated USPSTF Screening Recommendations for Diabetes: Identification of Abnormal Glucose Metabolism in Younger Adults. JAMA Intern Med. Published online August 24, 2021. doi:10.1001/jamainternmed.2021.4886

2. Gregg EW, Moin T. New USPSTF Recommendations for Screening for Prediabetes and Type 2 Diabetes: An Opportunity to Create National Momentum. JAMA. 2021;326(8):701–703. doi:10.1001/jama.2021.12559

3. Jonas DE, Crotty K, Yun JDY, et al. Screening for Prediabetes and Type 2 Diabetes: Updated Evidence Report and Systematic Review for the US Preventive Services Task Force. JAMA. 2021;326(8):744–760. doi:10.1001/jama.2021.10403

4. US Preventive Services Task Force. Screening for Prediabetes and Type 2 Diabetes: US Preventive Services Task Force Recommendation Statement. JAMA. 2021;326(8):736–743. doi:10.1001/jama.2021.12531

อาจเป็นรูปภาพของ แมว

26 สิงหาคม 2564

รายงานผลข้างเคียงแทรกซ้อนของวัคซีนโควิด BNT162b2 จากระบบการเก็บข้อมูลของอิสราเอล

 รายงานผลข้างเคียงแทรกซ้อนของวัคซีนโควิด BNT162b2 จากระบบการเก็บข้อมูลของอิสราเอล

ประเทศอิสราเอล มีระบบการเก็บข้อมูลสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีมาก สามารถใส่ข้อมูลใหม่และประมวลผลเข้ากับข้อมูลเดิมได้อย่างดี ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาออกนโยบายและประเมินสถานการณ์ความมั่นคงทางสาธารณสุขได้ดี

สำหรับสถานการณ์โควิด เราก็เห็นชัดเจนถึงพลังของระบบข้อมูลของอิสราเอล เขาวางแผนจัดการโรคและควบคุมโรคตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งเรื่องวัคซีนที่ออกแบบชัดเจนว่าจะใช้ชนิดใด กับประชากรกลุ่มใดก่อนหลัง ติดตามประสิทธิผลอย่างไร ในเรื่องของประสิทธิผลการป้องกันป่วยและตายนั้น วัคซีนได้แสดงออกมาชัดเจนว่าไม่ต่างจากการศึกษาทางคลินิกที่ผ่านมา และยังเพิ่มประสิทธิผลลดการติดต่อได้อีกด้วย

แต่ผลข้างเคียงแทรกซ้อนนั้น ไม่สามารถใช้ผลการศึกษาทดลองทางคลินิกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากกลุ่มทดลองถูกควบคุมมาก ต่างจากประชากรปรกติ และปริมาณการฉีดเพื่อจะมาวิเคราะห์ผลข้างเคียงได้นั้น ต้องใช้ปริมาณการฉีดมากมาย ที่ทำได้ยากจากการทดลองทางคลินิก

เช้าวันนี้วารสาร New England Journal of Medicine ได้ลงตีพิมพ์ผลการศึกษาผลข้างเคียงของวัคซีน หลังจากเก็บข้อมูลประชากรที่ได้รับวัคซีน BNT162b2 ไปมากกว่าครึ่งประเทศ เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก เพราะมีการเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนกับประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และเทียบกับผลจากการป่วยโควิดว่า ตกลงผลที่เกิดจากวัคซีนกับผลที่เกิดจากโรคหากไม่ได้รับวัคซีน อะไรน่ากลัวกว่ากัน

1. ข้อมูลมาจาก Clalit Health Services หนึ่งในสามผู้ให้บริการข้อมูลสาธารณสุข ที่รับผิดชอบข้อมูล 4.7 ล้านคนของอิสราเอล (เกินครึ่งประเทศ) โดยเก็บข้อมูลจากการรายงานและการ “ตรวจสอบแล้ว” ของผลข้างเคียงวัคซีน เทียบกับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน(ยังไม่ได้รับเท่านั้นนะครับ สักวันที่เขาได้รับก็จะย้ายไปอยู่ฝั่งที่เฝ้าระวังจากการรับวัคซีน) โดยติดตาม 42 วันหลังรับวัคซีนเข็มแรก ก็คือ 21 วันหลังเข็มแรก และ 21 วันหลังเข็มสอง เพียงพอกับการบอกผลข้างเคียงระยะสั้นและระยะกลางได้

2. มีการเปรียบเทียบผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนนี้ หากไปเทียบดูกับอาการเดียวกัน ผลเดียวกันนี้ ว่ามีเกิดขึ้นหรือไม่ในผู้ป่วยเป็นโควิด (รวมได้รับและไม่ได้รับวัคซีน) หากเกิดขึ้นเช่นกัน อะไรจะรุนแรงอันตรายกว่ากัน ระหว่างเกิดจากวัคซีนกับเกิดจากโรคโควิด

** สังเกตว่ากลุ่มประชากรข้อหนึ่งและข้อสอง อาจมีบางส่วนที่ซ้อนทับกัน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้วิจัยได้จำแนกและคิดแยกอย่างละเอียด เพื่อตัดความซ้ำซ้อนและแปรปรวนด้วยกระบวนการทางสถิติ เพราะในชีวิตจริงคงจะจัดกลุ่ม รับวัคซีนเทียบกับไม่รับวัคซีนตลอดการศึกษานั้น ทำไม่ได้จากเงื่อนไขทางจริยธรรม **

3. การศึกษาวิเคราะห์จัดทำในเวลาใกล้กัน เพื่อตัดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อที่อาจแตกต่างกันตามเวลาที่เปลี่ยนไป (จากตัวเชื้อที่กลายพันธุ์ สถานการณ์ระบาด และปริมาณผู้รับวัคซีนที่เพิ่มขึ้น) โดยมีระบบการคิดเมื่อมีการย้ายกลุ่มจาก ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเป็นฉีดวัคซีน จากกลุ่มควบคุมฉีดวัคซีนมาเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อ รายละเอียดตรงนี้ไปหาอ่านได้จากฉบับเต็ม แม้มีข้อแปรปรวนเหล่านี้ ก็ต้องยอมรับว่าทางผู้วิจัยคิดรับมือและจัดการได้ดีพอควร

4. มีกลุ่มวัคซีนและกลุ่มควบคุมคือยังไม่ได้รับวัคซีน ประมาณกลุ่มละ 880,000 คน และกลุ่มที่มาวิเคราะห์ผลจากการเป็นโรคโควิด แบ่งเป็นติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อ กลุ่มละประมาณ 170,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 16-40 ปี และจากผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดกว่า 90% ไม่มีปัจจัยที่เสี่ยงเป็นโควิดรุนแรงเลย โรคประจำตัวก็น้อย

5. มาดูผลข้างเคียงที่พบเป็นสัดส่วนมากที่สุดก่อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis)

กลุ่มที่รับวัคซีน เกิดมากกว่า กลุ่มยังไม่ได้วัคซีน 3.24 เท่า ฟังดูเหมือนเยอะ แต่ถ้าไปดูตัวเลขจริงไม่ได้เทียบกัน จะพบว่าต่างกันเพียง 2.7 รายต่อ 100,000 รายเท่านั้น และอย่างที่เราทราบ อาการเกือบทั้งหมดไม่รุนแรงและหายเองได้

มาดูอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากการป่วยโควิดดูบ้าง กลุ่มป่วยโควิดพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่ากลุ่มที่ไม่ป่วยถึง 18.2 เท่า ถ้าดูตัวเลขจริงคือต่างกัน 11 รายต่อแสนประชากร

6. อาการอื่น ๆ

ต่อมน้ำเหลืองโต ในกลุ่มวัคซีนพบมากกว่ากลุ่มไม่ได้รับวัคซีน 2.43 เท่า

พบรายงานการติดเชื้อเริมและงูสวัดในกลุ่มรับวัคซีนโควิดมากกว่ากลุ่มไม่ได้รับ 1.1-1.4 เท่า

อาการวิงเวียนพบในกลุ่มวัคซีนมากกว่า 1.12 เท่า

อาการเป็นลมพบในกลุ่มวัคซีนมากกว่า 1.12 เท่า

อาการชา พบในกลุ่มวัคซีนมากกว่า 1.1 เท่า

อาการหน้าเบี้ยว พบในกลุ่มวัคซีนมากกว่า กลุ่มไม่ได้้รับ 1.32 เท่า แต่หากคิดตัวเลขจริง ต่างแค่ 3.3 รายต่อแสนคน อัตราการเกิดไม่ได้มากไปกว่าการเกิดหน้าเบี้ยว (Bell’s palsy) ในสถานการณ์ปรกติ

การเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันพบในกลุ่มไม่ได้รับวัคซีนมากกว่ากลุ่มรับวัคซีนเสียอีก พบน้อยกว่า 1.1 รายต่อแสนคน อันนี้ต่ำกว่ากลุ่มประชากรปรกติ

7. ในข้อ 5และ 6 หากถ้าเทียบเป็นจำนวนเท่า พบว่ากลุ่มรับวัคซีนจะมากกว่ากลุ่มไม่ได้ฉีด แต่เมื่อไปดูตัวเลขเกิดจริงจะเห็นว่าไม่ได้เกิดมากเลย และไม่ได้มากกว่าสถานการณ์ปรกติที่ยังไม่มีวัคซีน และมีผลหลายอันที่การรับวัคซีนเกิดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเสียอีก ถึงตรงนี้คงสบายใจกันพอสมควรว่า ประโยชน์จากวัคซีนมีเหนือกว่าผลข้างเคียงวัคซีนอย่างชัดเจน

8. ถ้ายังไม่ชัดเรามาดูข้อมูลนี้ คือ อาการข้างเคียงแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคโควิด เทียบกับไม่เกิดโรค (วัคซีนมันไปช่วยลดการป่วยตรงนี้แหละครับ)

ไตวายเฉียบพลัน โควิดพบมากกว่าไม่ป่วย 14.8 เท่า คิดตัวเลขจริงพบว่ามากกว่าถึง 125 รายต่อแสนประชากร

ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด โควิดพบมากกว่าไม่ป่วย 12.1 เท่า คิดเป็นตัวเลขจริงคือ มากกว่าถึง 61.7 รายต่อแสนประชากร

ลิ่มเลือดดำอุดตันที่ขา โควิดพบมากกว่าไม่ป่วย 3.78 เท่า คิดเป็นตัวเลขจริงคือมากกว่าถึง 43 รายต่อแสนประชากร

9. สรุปว่าวัคซีน BNT162b2 มีผลข้างเคียงหลังการฉีด แต่พบน้อยมากและส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายเองได้ ผลข้างเคียงที่พบมากกว่าประชากรปกติก็มีแต่ไม่รุนแรงและหายเอง เกือบทั้งหมดพบน้อยกว่าโอกาสเกิดตามธรรมชาติ และหากไปเทียบกับป่วยเป็นโควิดแล้วโอกาสจะเกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงสูงกว่าการไม่ป่วยอย่างชัดเจน ซึ่งการรับวัคซีนก็จะช่วยลดการป่วยในจุดนี้นั่นเอง

10. ชุดความจริงนี้ เป็นจริงเฉพาะวัคซีน BNT162b2 ในสถานการณ์การระบาดประมาณครึ่งปีแรกของ 2021ในประเทศที่มีระบบการจัดการสาธารณสุขที่ดีมาก การนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้กับประเทศอื่นใดต้องดูบริบทในแต่ละประเทศ และไม่สามารถไปเทียบกับวัคซีนอื่นใดได้

ใครสนใจรายละเอียดก็ไปอ่านได้จาก NEJM.org ฉบับเช้านี้ ฟรีครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

25 สิงหาคม 2564

ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ต่อจากโควิด

 อย่าลืมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กันด้วยนะ

สำหรับท่านที่รับวัคซีนโควิดเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคโควิดรุนแรง ก็เป็นกลุ่มเดียวกันกับ คนที่จะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรงนั่นเอง ยิ่งผู้อายุเกิน 60 ปีหรือผู้มีโรคประจำตัวยิ่งต้องฉีดครับ

และมีรายงานพบติดเชื้อร่วมกันได้ และหากติดเชื้อร่วมกัน ความรุนแรงจะมากขึ้น หากเรารับวัคซีนทั้งคู่ก็จะลดความรุนแรงลงได้

ไม่ต้องกลัววัคซีนจะตีกัน หรือผลแทรกซ้อนมากขึ้นครับ ฉีดโควิดอะไร ก็ฉีดไข้หวัดใหญ่ได้ทุกยี่ห้อ

ตามเกณฑ์ทั่วไป ก็ให้เว้นห่างกันหนึ่งเดือน แต่ถ้ามีความจำเป็นก็อาจฉีดเร็วกว่านั้นได้ ซึ่งต้องปรึกษากับคุณหมอเป็นกรณีไปครับ

"วัคซีนมีไว้กันป่วยหนัก
ความรักมีไว้แก้ปวดใจ

วัคซีนฉีดซ้ำไม่เป็นไร
ถ้ารักซ้อนเมื่อไร.. ก็ตัวใครตัวมัน"

อาจเป็นภาพระยะใกล้ของ 1 คน

Antacil gel

 Antacil gel หรือยาธาตุน้ำขาว ถึงจะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ปลอดภัย แต่ก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

** ยาธาตุน้ำขาวจริงๆแล้วเป็นคนละตัวกันกับ antacil gel แต่ทุกวันนี้เราปะปนใช้กันจนเรียกเหมือนกัน ขอใช้คำเดียวกันไปนะครับ จะได้แจ้งคุณหมอทราบว่า มียา antacil gel หรือไม่ก็ยาธาตุน้ำขาวที่กินอยู่ด้วย เวลามาคิดปฏิกิริยาระหว่างยา **

ผมคิดว่าทุกคนคงเคยดื่มยาธาตุน้ำขาว กลิ่นมิ้นต์หอม ๆ ซ่า ๆ สมัยเด็กผมขโมยกินบ่อย ๆ ยาธาตุน้ำขาวเป็นยาสามัญที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งยา หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย ทุกทั่วหัวระแหง สรรพคุณสำคัญคือ ดื่มแก้จุกเสียดแน่นท้อง โดยเฉพาะกลุ่มโรคกระเพาะ โรคกรดเกิน เพราะองค์ประกอบหลักของยาคือเกลือของโลหะหนัก ที่จะไปทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร ลดความเป็นกรดลงไป

โลหะหนักต่าง ๆ ที่ใช้ทำยาธาตุน้ำขาวมีแคลเซียม อลูมิเนียม แมกนีเซียม แต่ละตัวก็สามารถทำปฏิกิริยากับยาต่าง ๆ กันไป ประเด็นคือในปัจจุบันยาธาตุน้ำขาวที่วางขาย ไม่ได้มีแค่เกลือโลหะเพียงชนิดเดียว แต่ใช้ปนกันไปหลายตัว ทำให้สิ่งสำคัญของการใช้ยาธาตุน้ำขาวคือ การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา

ทั้งจากการจับตัวของโลหะกับตัวยา ทั้งจากการขัดขวางการดูดซึมยา ทั้งปรับความเป็นกรดด่างในลำไส้ทำให้การดูดซึมยาไม่ดี หรือกระทั่งไปเกิดปฏิกิริยากันในเลือดก็มี (แต่ประเด็นหลังนี้เกิดน้อย เพราะยาธาตุน้ำขาวดูดซึมเข้าตัวน้อยมาก) โดยส่วนใหญ่แล้วยาธาตุน้ำขาวจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาอื่นด้อยลง

วิธีการที่ดีที่สุดคือ นำยาที่เราจะกินไปสอบถามเภสัชกร ว่าสามารถกินร่วมกันได้ไหม หลายคนใช้แอปตรวจสอบ แต่ปัญหาคือ ปฏิกิริยาของยาธาตุน้ำขาวมีทั้งแบบพบบ่อย พบน้อย พบได้แต่ไม่เป็นอันตราย พบแล้วต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร ต่าง ๆ ที่ว่ากันนี้เป็นหลายหน้ากระดาษครับ ถ้าอ่านเองอาจสับสน ไปปรึกษาคุณเภสัชกรดีกว่า

ผมขอนำเสนอยาที่เกิดปฏิกิริยากับยาธาตุน้ำขาว ที่พบบ่อย มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ และอาจเกิดปัญหาในการใช้งานจริงได้

1.ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม tetracycline doxycycline และยาฆ่าเชื้อกลุ่มควิโนโลน -floxacin ทั้งหลายโดยเฉพาะ ciprofloxacin ยาธาตุน้ำขาวจะทำให้ยาฆ่าเชื้อทำงานด้อยลง

2.ยาฆ่าเชื้อรา ketoconazole มีข้อมูลมากที่สุด แม้ว่ายาต้านเชื้อรา -conazole ทั้งหลายจะทำงานได้ดีในภาวะกรด แต่ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลกับยาลดกรดกลุ่ม PPI (กลุ่ม -prazole) เสียมากกว่าครับ แต่ถึงแม้เป็นยาตัวอื่นที่มาใช้กับยาธาตุน้ำขาวก็ต้องระมัดระวังให้ดีเช่นกัน

3.ยาต้านไวรัสเอชไอวี กลุ่ม protease inhibitor

4. ยารักษามะเร็งเม็ดเลือด dasatinib และยากระตุ้นเกล็ดเลือด elthrombopag จะลดการทำงานลงถ้าได้รับยาร่วมกับยาธาตุน้ำขาว

5.ยารักษากระดูกพรุนกลุ่ม bisphosphonate เช่น alendronate, risedronate

6.ยาหัวใจ lanoxin

7.ยากันเลือดแข็ง warfarin

บางทีเราก็คิดว่ายาธาตุน้ำขาวไม่ใช่ 'ยาอื่น' ที่ใช้ เพราะเราซื้อใช้กันง่ายจนแทบไม่คิดว่ามันคือยาและอาจมีปฏิกิริยาได้ เวลาหมอหรือเภสัชกรถามว่า กินยาอะไรอยู่ตอนนี้ไหม เพื่อจะตรวจสอบปฏิกิริยาระหว่างยาก่อนจ่ายยา บางทีก็ลืมบอกยาธาตุน้ำขาวนี่แหละครับ และอาจเกิดปัญหาได้เช่นกัน

"หาก็ง่าย ใช้ก็บ่อย จนชาชิน

ถ้าหากยาก ใช้แล้วฟิน ก็..ลุงหมอไง"

อาจเป็นรูปภาพขาวดำของ เครื่องดื่ม

24 สิงหาคม 2564

การป้องกันการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ

 การป้องกันการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ

สำหรับแนวทางการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดอัมพาตซ้ำในผู้ป่วยที่เกิดอัมพาตหรือหลอดเลือดสมองตีบแบบชั่วคราวของ AHA/ASA 2021 มีคำแนะนำที่ดีและปรับปรุงใหม่หลายคำแนะนำเลยทีเดียว แต่จุดที่สะดุดใจผมที่สุด และคิดว่ามันน่าจะมีค่ามากที่สุดสำหรับประชาชนทั่วไป น่าจะเป็นเรื่องนี้

แม้ว่าแนวทางนี้จะกล่าวถึงการป้องกัน 'การเกิดซ้ำ' เป็นหลักและทุกคำแนะนำก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นว่า สามารถลดการเกิดซ้ำได้ดีจริง แต่ถามว่า มีใครอยากป้องกันการเกิดซ้ำบ้าง ทุกคนอยากป้องกันไม่ให้เกิดครั้งแรกทั้งนั้น

ความเป็นจริงจากการศึกษาวิจัยเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของอัมพาต พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ อยู่ 5 ประการ ที่มีบทบาทสูงมากในผู้ป่วยอัมพาต และมีการศึกษาวิจัยเพื่อแสดงให้เห็นด้วยว่า การปรับลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ ลดโอกาสการเกิดอัมพาตลงได้อย่างมีนัยสำคัญจริง ๆ

การศึกษาชื่อ INTERSTROKE และ การรวบรวมข้อมูล Global Burden of Disease Study (อันนี้ส่วนใหญ่จะทำในหลายโรค ระยะเวลาที่ทำซ้ำคือประมาณ 5 ปี) บอกตรงกันว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้พบถึง 90% ของผู้ป่วยอัมพาตและเลือดออกในสมอง ที่สำคัญมัน...ปรับ..ลด..ลง..ได้

1. อาหาร ... ลดปริมาณอาหารไขมัน ลดไขมันอิ่มตัว ลดเกลือในอาหาร เพิ่มผักผลไม้ ธัญพืชเส้นใยสูง

2. การขยับตัว การออกแรง การออกกำลังกาย … อย่าขี้เกียจ ลุกนั่งยืนเดิน ขยับบ่อย ๆ ทำงานบ้าน ทำนี่นั่น หาเวลาไปออกกำลังกาย

3. การสูบบุหรี่ … เลิกสูบบุหรี่ดีที่สุด การลดปริมาณการสูบลง ยังไม่ลดความเสี่ยงอัมพาตได้มากนัก

4. ภาวะอ้วนลงพุง … ควบคุมปริมาณอาหาร อย่าให้อ้วน อย่ากินเกินกว่าที่จะใช้ ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

5. โรคความดันโลหิตสูง ควรตรวจวัดความดันโลหิตทุก 1-2 ปี และถ้าพบความดันโลหิตสูงให้รักษาเลย จะใช้ยาหรือไม่ใข้ยาก็แล้วแต่ แต่ต้องควบคุมระยะยาวให้ได้ ประเด็นความดันโลหิตสูงนี้ มีน้ำหนักประมาณครึ่งหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายครับ และควบคุมยากที่สุดด้วย

สำหรับผู้ที่เป็นอัมพาตแล้ว การปรับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ลดโอกาสการเกิดอัมพาตซ้ำ และต้องใช้ยาหรือหัตถการอื่น ๆ เพื่อลดการเกิดซ้ำ

สำหรับผู้ที่ยังไม่ป่วยเป็นอัมพาต ผมว่าคุณอย่ารอให้เป็นก่อน มาปรับลดกันเลย

อนาคตจะได้ไม่ป่วย

อนาคตถ้าป่วยก็ไม่หนัก

อนาคตถ้าป่วยหนักก็รักษาได้

อาจเป็นการ์ตูนรูป ข้อความ

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (urinary incontinence)

 บอกเลยนะครับ สถานการณ์แบบนี้ มันกลั้นไม่อยู่แล้วครับ

ครับ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (urinary incontinence) เป็นปัญหาหนึ่งที่มักจะแอบซ่อนอยู่ ถ้าไม่สืบค้นหาและแก้ไขก็จะมีปัญหาตามมาได้มาก ไม่ว่าจะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำซ้อน ไม่ว่าจะสูญเสียความมั่นใจในการดำรงชีวิต เมื่อเจอปัญหาปัสสาวะผิดปกติ ต้องแยกว่ามีการกลั้นไม่อยู่หรือไม่ และถ้ามีต้องแยกเหตุและรักษาตามเหตุครับ และอาจมีหลายสาเหตุปะปนกันอยู่อีกด้วย

1. Stress incontinence

2. Urge incontinence

3. Overflow incontinence

4. Functional incontinence

Stress Incontinence อันนี้พบบ่อยเลยครับ อาการปัสสาวะเล็ดเวลาไอจาม ปัสสาวะเล็ดเวลาออกแรงเบ่ง เกิดจากกระบังลมเชิงกราน (pelvic diaphragm) ผิดปกติเช่น มดลูกหย่อน อายุมาก มีการผ่าตัดเชิงกรานมาก่อน หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะทำงานบกพร่อง หรือมีโรคตรงจุดนั้น คอกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ยาที่ไปมีผลต่อการทำงานทำให้หูรูดหย่อนลง เช่น ยาต้านแอลฟาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือใช้ลดอาการของต่อมลูกหมากโต

Urge Incontinence เกิดจากกระเพาะปัสสาวะถูกกระตุ้น เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะโดยควบคุมไม่ได้ ทำให้ปัสสาวะบ่อย (เป็นกลไกของระบบประสาทอัตโนมัติ) สิ่งมากระตุ้นเช่น เลือดออกจากเนื้องอก ระคายเคืองจากนิ่ว จากการติดเชื้อ กลุ่ม urge incontinence จะมีความรู้สึกอยากขับถ่าย และเมื่อเกิดความรู้สึกแล้วมักจะควบคุมไม่ได้ ถ้าไม่ไปห้องน้ำก็จะฉี่เล็ดฉี่ราดได้

อีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้คือ โรคของระบบประสาทที่ทำให้กระแสประสาทควบคุมกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบกพร่อง เช่น โรคพาร์คินสัน โรคของเส้นประสาทอุ้งเชิงกราน

Overflow Incontinence อันนี้จะเกิดจากกล้ามเนื้อที่ควรต้องบีบตัวไล่ปัสสาวะ เกิดไม่ทำงานหรือบกพร่อง ทำให้ปัสสาวะคงค้างปริมาณมาก เมื่อปริมาณปัสสาวะเยอะมาก ก็เกิดความดันและแรงดันจนสามารถชนะแรงของหูรูดได้ ก็เกิดปัสสาวะไหลออกมา ไหลจนปริมาณลดลง ความดันลดลง พลังหูรูดกลับมาชนะอีกครั้งจะหยุด วนไปวนมาแบบนี้ ที่พบบ่อยคือโรคระบบประสาทอีกเช่นกัน เช่นไขสันหลังบาดเจ็บ หรือเป็นเบาหวานจนเส้นประสาทควบคุมบกพร่อง

อีกเหตุของ overflow คือ การอุดกั้นของกระเพาะปัสสาวะ พบบ่อยมากในเพศชายคือต่อมลูกหมากโตนี่แหละครับ มันไปอุดตันคอกระเพาะปัสสาวะพอดี การไหลไม่สะดวกและอุดกั้น มากเข้าก็ไปเข้าห้องน้ำไม่ทัน แต่ฉี่ไม่ค่อยพุ่ง

Funcional Incontinence อันนี้เกิดจากไม่สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้ครับ ไม่ว่าจากอัมพาตขาไม่มีแรง อุบัติเหตุทำให้เคลื่อนที่ไม่ได้ หรือมีความพิการทางสมองทำให้การรับรู้การขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติไป ต้องแยกเหตุต่าง ๆ ข้างต้น และเหตุอันรักษาได้ไปก่อน จึงจะมาโทษว่าเป็น functional incontinence ครับ

สุดท้ายคือ Champion in Continent หมายถึงแชมป์ยุโรปปีนี้คือทีมหงส์แดงลิเวอร์พูล นั่นเองครับ

ที่มา : หนังสือ Problem Based in Internal Medicine : Case Discussion ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

อาจเป็นภาพระยะใกล้ของ แหล่งน้ำ

บทความที่ได้รับความนิยม