31 ตุลาคม 2562

ยาขับปัสสาวะ (diuretics) สำหรับใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง

ยาขับปัสสาวะ (diuretics) สำหรับใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
ชื่อเป็นยาขับปัสสาวะ ความจริงทำงานโดยยับยั้งการดูดกลับเกลือแร่โซเดียมและคลอไรด์ที่ท่อไต ..ย้ำอีกรอบว่าโซเดียมสำคัญมากในเรื่องความดันโลหิตสูง มีกลไกการทำงานหลายขั้นตอนทั้งจากความเข้มข้นของเนื้อไตและประจุไฟฟ้าของเกลือแร่ต่าง ๆ ได้ผลโดยรวมคือ ขับเกลือพร้อมกับน้ำ ก็ปัสสาวะนั่นแหละจึงชื่อยาขับปัสสาวะ และลดความดันโลหิตลงได้
ยาขับปัสสาวะที่ใช้มากในบ้านเราเพื่อการลดความดันโลหิตมีสามตัว
🌞🌞Hydrochlorothiazide เรียกย่อ ๆ ว่า HCTZ ยาที่มีมาแต่เก่าก่อน ใช้ได้ดีสำหรับลดความดันโดยเฉพาะกับกลุ่ม salt-sensitive สมัยก่อนเราใช้ขนาดสูง 25-50 มิลลิกรัม พบว่าการลดความดันไม่ได้ดีไปกว่าขนาดต่ำกว่าแถมมีผลเสียมากขึ้นด้วย ปัจจุบันจึงแนะนำใช้ 6.25,12.5 หรือ 25 มิลลิกรัม นอกจากยาเดี่ยว ๆ แล้วมักจะไปผสมกับยาลดความดันตัวอื่นด้วยเช่น valsartan/HCTZ, irbesartan/HCTZ ราคายานี้ถูกมาก
จุดด้อยของยานี้คือออกฤทธิ์สั้น ไม่ครอบคลุม 24 ชั่วโมงแต่กินวันละครั้ง การใช้ยาในขนาดที่สูงหรือบ่อยจะเกิดผลข้างเคียงได้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยมากจริง ๆ คือผลข้างเคียงด้าน metabolic เช่น โปตัสเซียมต่ำ โซเดียมต่ำ ยูริกสูง ไขมันขึ้น ทำให้แนวโน้มการใช้ลดลง และการศึกษาเพื่อลดอันตรายแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตนั้นพบว่าด้อยกว่ายากลุ่มอื่นชัดเจน
** ดังนั้นการใช้ HCTZ จะต้องระวังผลข้างเคียงเหล่านี้เสมอ **
🌎🌎Chlorthalidone เป็นยาที่มักจะใช้แทนกลุ่มยา Thiazide diuretics เวลาทำการศึกษา เช่นการศึกษา ALLHAT ที่โด่งดังในอดีต (แต่ผมว่าล้าสมัยไปแล้ว) ยานี้ออกฤทธิ์ยาวนานกว่า HCTZ ในขนาดเท่า ๆ กัน ออกฤทธิ์ครอบคลุม 24 ชั่วโมงแน่ (ความจริงเกินกว่านั้น) ทำให้สามารถใช้ยาวันละครั้งได้อย่างสบายใจ ขนาดที่ใช้มีทั้ง 25,12.5 มิลลิกรัมที่มีทั้งยาเดี่ยวและยาผสม เช่น azilsartan/chlorthalidone ราคาจะขยับแพงกว่า HCTZ
ประสิทธิภาพการลดความดันดีกว่า HCTZ ประมาณ 3 มิลลิเมตรปรอท ผลการปกป้องอวัยวะจากความดันโลหิตสูงดีกว่า HCTZ ผลข้างเคียงด้านเมตาบอลิกน้อยกว่า HCTZ หลายเท่า เว้นแต่โซเดียมต่ำนี่จะพอ ๆ กัน
Indapamide sustained released เป็นยาขับปัสสาวะที่ไม่ใช่ thiazide ดังเช่นสองตัวแรก แต่ออกฤทธิ์ตำแหน่งใกล้กันและกลไกคล้ายกัน ยานี้ออกฤทธิ์ยาวนานกว่า HCTZ ที่ขนาดเท่ากันและครอบคลุมมากกว่า 24 ชั่วโมงชัดเจน อีกทั้งประสิทธิภาพการลดความดัน การปกป้องอวัยวะจากผลแทรกซ้อนความดัน ดีกว่า HCTZ ลดความดันได้มากกว่า HCTZ ประมาณ 5 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่มีเทียบตรง ๆ กับ chlorthalidone
แทบไม่มีผลข้างเคียงทางเมตาบอลิกเลย บริหารยาวันละครั้ง ขนาดที่ใช้คือ 1.25 หรือ 2.5 มิลลิกรัม ขนาด 5 มิลลิกรัมใช้น้อยมาก เช่นกันราคาแพงที่สุด มียาเดี่ยวและยาผสม เช่น perindopril/indapamide, amlodopine/indapamide
สำหรับ chlorthalidone และ indapamide มีการศึกษาประสิทธิภาพในการลดความดันและป้องกันผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากโรคความดัน ไปเทียบกับยากลุ่มอื่นเช่น CCB (ส่วนมากคือ amlodipine) หรือ ACEI (ส่วนมากคือ lisinopril) พบว่าประสิทธิภาพสูสีกับยากลุ่มอื่น เป็นที่เชิดหน้าชูตาของกลุ่มยาขับปัสสาวะได้
ขนาดที่เทียบเท่ากันของ diuretics คือ HCTZ 25 มิลลิกรัม, chlorthalidone 12.5 มิลลิกรัม, indapamide 2.5 มิลลิกรัม
จำไว้นะครับ
"ความดันสูงให้กินยาขับเยี่ยว ความดันเสียวให้ขับออกคงยาก"

30 ตุลาคม 2562

LEGEND-HTN

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนมีงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ยาลดความดันแบบต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษที่ยาขับปัสสาวะ ลงตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ชื่อการศึกษา LEGEND-HTN ผลสรุปออกมาว่า เมื่อใช้ยาขับปัสสาวะเป็นยาลดความดันตัวแรกและใช้ต่อเนื่อง (ศึกษาในผู้ที่เริ่มให้ยา) ประโยชน์ในการปกป้องหัวใจและหลอดเลือดดีกว่ากลุ่มยา ACEI ส่วนหากเทียบกับยาตัวอื่น ๆ ประโยชน์ไม่ต่างกันนัก
ผมสรุปสถานการณ์ปัจจุบันให้ฟังก่อน ปัจจุบันนี้เราไม่ได้ใช้ยาขับปัสสาวะเป็นยาลดความดันตัวแรกอีกต่อไป ยาตัวแรกที่นิยมใช้คือ ยากลุ่ม CCB ที่ลงท้ายด้วย -ipine เช่น amlodipine หรือยากลุ่ม ACEI/ARB ลงท้ายด้วย -ipril หรือ -sartan เช่น enalapril, losartan เมื่อไม่ได้ผลก็ให้จับสองตัวนี้มารวมกัน แล้วจึงใส่ยาตัวที่สามและสี่ต่อไป ยกเว้นมีข้อบ่งชี้อื่น ๆ ที่จะใช้ยาตัวใดก่อนหลังก็ว่ากันตามนั้น
แล้วยาขับปัสสาวะไปไหน... จากการศึกษาแบบทดลองทางการแพทย์ (RCTs) หลายอันที่มีการเปรียบเทียบยาลดความดันต่าง ๆ รวมทั้งนำเอาการศึกษาดี ๆ ทั้งหลายมารวบรวมและทำเป็นตำราและแนวทางการรักษา เราพบว่ายาขับปัสสาวะมีประสิทธิภาพในการลดความดันน้อยกว่ายาตัวอื่นและประสิทธิผลในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดอันเป็นอันตรายปลายทางของโรคความดันโลหิตสูง ประสิทธิผลอันนี้ด้อยกว่าตัวอื่น จึงออกมาเป็นคำแนะนำใช้ยาขับปัสสาวะหลังจากยากลุ่มที่ประสิทธิผลสูงกว่า เช่น ในรายที่ต้องให้ยาตัวที่สามหรือสี่หลังจากยาหลักไม่ได้ผล หรือกลุ่มคนไข้ที่เป็น salt-sensitive hypertensionที่เคยกล่าวไปแล้วในซีรี่ส์ยาวเรื่องเกลือ
แต่ทำไมการศึกษา LEGEND-HTN กลับบอกแบบนี้ล่ะ
1. การศึกษา LEGEND-HTN ไม่ได้เป็นการศึกษาแบบทดลองวิจัยที่ควบคุมตัวแปรปรวนอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ RCTs แต่เป็นการรวบรวมย้อนหลัง จากข้อมูลทางเวชระเบียนที่บันทึกเอาไว้ในระบบบันทึกแบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นจะมีความแปรปรวน มีตัวแปรมากมาย มาจากโรงพยาบาลและแพทย์หลายที่ซึ่งไม่ได้มีแนวคิดหรือแนวทางปฏิบัติเหมือนกันเลย แต่ข้อดีคือ มันเป็นการปฏิบัติของจริง สิ่งจริงที่เกิดขึ้น
2. ด้วยความที่มันแปรปรวนมาก ๆ แถมยังเก็บมาจากหลายที่ เริ่มตั้งแต่ปี 1996 จนถึงปี 2018 ช่วงเวลาที่ยาวนานมีการเปลี่ยนแนวทางในการรักษามากมายและแต่ละที่ต่างกันเสียด้วย จะส่งผลให้ผลการศึกษามีความแปรปรวนมาก ซึ่งจากความแปรปรวนอย่างหนักของข้อหนึ่งและข้อสอง ผู้วิจัยได้ใช้วิธีทางสถิติเพื่อเกลื่อนตัวแปรปรวนต่าง ๆ ให้ส่งผลต่อการศึกษาน้อยที่สุดที่เรียกว่า Propensity Score แต่ข้อดีก็มี คือมันมีความหลากหลายตรงกับชีวิตจริง ไม่ใช่โลกเสมือนอย่างใน RCTs รวบรวมมาได้ สี่ล้านห้าแสนคน
3. ผลที่ออกมาว่ายาขับปัสสาวะลดการเกิดโรคแทรกซ้อนสำคัญของความดันโลหิตสูง นั้นเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับ ACEI ในภาพรวม เมื่อเราไปดูว่าน้ำหนักมาจากชุดข้อมูลใด ก็พบว่ามาจากชุดข้อมูลที่มีการใช้ยาขับปัสสาวะปริมาณมาก แต่ไม่ได้มาจากชุดข้อมูลที่มีการใช้ ACEI ปริมาณมาก ตรงนี้ผู้วิจัยมีคำอธิบายว่า เป็นไปได้ที่หมอจะเลือกใช้ยาขับปัสสาวะในกลุ่มที่ระดับความดันต่ำกว่าหรือความเสี่ยงต่ำกว่า ทำให้ผลออกมาว่ากลุ่มที่ได้ยาขับปัสสาวะเกิดโรคน้อยกว่า
4. ข้อมูลที่เก็บมาได้ มีความไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ตามธรรมชาติของการเก็บข้อมูลย้อนหลัง แต่ก็คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
5. ผลเสียของยาออกมาในภาพรวมที่ไม่ต่างกัน แต่เมื่อเราไปดูผลเสียเฉพาะของแต่ละอัน คือยาขับปัสสาวะจะมีเกลือแร่โซเดียมและโปตัสเซียมในเลือดต่ำ ก็ปรากฏว่าเป็นแบบนั้นจริง ๆ ช่วยบอกเราว่าไอ้เจ้าผลข้างเคียงที่เตือน ๆ กันมา มันก็ยังเกิดนะและเกิดแบบคาดเดาได้ด้วยว่าแต่ละตัวจะเกิดอะไร แม้จะไม่รุนแรงจนบดบังประโยชน์แต่ก็ชัดเจนจนห้ามมองผ่าน
แล้วผมจะสรุปว่ายาขับปัสสาวะมันดีหรือไม่ดี ควรใช้หรือไม่ควรใช้ อันนี้เป้นความเห็นส่วนตัวและเหตุผลส่วนตัวที่ตัดสินจากข้อมูล ไม่ได้มีความรักชอบยาตัวใด ผมขอสรุปแบบนี้ (ท่านอื่นเห็นต่างได้เสมอและยินดีรับฟังเพื่อมาช่วยเติมความรู้กัน)
ผมสรุปว่ายาขับปัสาวะยังคงไม่สามารถขึ้นไปชนะยาหลักเวลาเลือกยาลดความดันได้ ด้วยข้อมูลการศึกษาที่รัดกุมกว่าของยาหลัก ยกเว้นจะมีข้อบ่งชี้เฉพาะ (compelling indication) แต่ไม่ใช่ว่ายาจะไม่มีประโยชน์ สามารถเลือกใช้ยาขับปัสสาวะได้อย่างมั่นใจว่าประโยชน์มันยังมีแน่นอน และยังเป็นที่นิยม เป็นที่ยอมรับ ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ถ้าใช้อยู่แล้วไม่มีผลข้างเคียงก็คงไม่ต้องไปหยุดครับ อนึ่ง ยาขับปัสสาวะที่ใช้มากสุดในการศึกษานี้คือ hydrochlorothiazide ยาสุดฮิตในบ้านเราด้วย
ว่าง ๆ จะมาสรุปเรื่องยาขับปัสสาวะสามตัวปัจจุบัน..แบบชาวบ้าน..ให้ฟังสักรอบครับ

วัคซีนในคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี

วัคซีนคือการฉีดเชื้อโรคหรือส่วนหนึ่งของเชื้อโรคไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ให้ร่างกายฝึกการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อชนิดนั้น หากพบเจออีกครั้งในอนาคตจะได้มีการป้องกันที่ดี ลดโอกาสการเกิดโรค ลดความรุนแรง (ย้ำหลายรอบไม่สามารถยับยั้งการ "ติด" ได้ แต่หากติดแล้วจะยับยั้งไม่ให้ "ต่อ" ได้)
ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประสิทธิผลการฉีดวัคซีนคือ ตัวคุณแข็งแรงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ หากคุณแข็งแรงดี กลไกการสร้างภูมิคุ้มกันจะยังดี ประสิทธิภาพของวัคซีนก็จะดี แต่ถ้าภูมิคุ้มกันคุณไม่ดีล่ะ....การฉีดวัคซีนจะยังมีประโยชน์ในการสร้างแอนติบอดีหรือไม่
ระบบภูมิคุ้มกันของเราที่เกี่ยวข้องกับการติดโรคและวัคซีนคือระบบเม็ดเลือดขาวและแอนติบอดี มีเซลล์ที่เกี่ยวข้องคือ T cell, B cell และระบบคอมพลีเม้นต์ ระบบต่าง ๆ ให้ผู้รู้ไปอ่านต่อนะครับ เรารู้เพียงว่าหากร่างกายเราบกพร่องในระบบต่าง ๆ ร่างกายเราจะตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันไป ชนิดวัคซีนและการตรวจติดตามระดับแอนติบอดีจะแตกต่างกันออกไปอีก
เราแบ่งวัคซีนง่าย ๆ ออกเป็นสองระบบคือ
วัคซีนที่เป็นเชื้อโรคที่ตายแล้ว เกือบทั้งหมดไม่มีข้อห้ามในการฉีดสำหรับคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ต้องมีกลยุทธเพื่อให้ภูมิคุ้มกันขึ้นดี
ส่วนอีกชนิดเรียกว่าวัคซีนตัวเป็นแต่อ่อนแอลง (live-attenuated vaccine) ได้แก่ วัคซีน คางทูม-หัด-หัดเยอรมัน, วัคซีนงูสวัด, วัคซีนโรต้าไวรัส, วัคซีนสุกใส, วัคซีนไทฟอยด์ชนิดกิน, วัคซีนโปลิโอชนิดกิน, วัคซีนบีซีจีของวัณโรค, วัคซีนไข้เหลือง, วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดตัวเป็น (พ่นจมูก) และล่าสุดวัคซีนไข้เลือดออก
เจ้าวัคซีนชนิดตัวเป็นแหละที่มักจะมีปัญหา เพราะอาจทำให้เกิดโรคได้ (ภูมิคุ้มกันปกติจะไม่เกิดโรค) ในแต่จะโรคของภูมิคุ้มกันบกพร่องและแต่ละวัคซีนจะมีคำแนะนำเฉพาะออกมา เพื่อกำหนดวัคซีนที่ห้ามฉีด วัคซีนที่ฉีดได้หากเงื่อนไขเหมาะสม เช่นการฉีดวัคซีนตัวเป็นสำหรับป้องกันงูสวัดในผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกัน สามารถใช้ได้หากขนาดยาไม่สูงมาก
และเราแบ่งชนิดของภูมิคุ้มกันบกพร่องออกเป็นสองอย่าง (ตามการแบ่งเพื่อรับวัคซีน) IDSA 2013
ภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง พวกนี้ต้องพิจารณาผลที่ได้และอันตรายที่เกิดอย่างถ้วนถี่ก่อนฉีดวัคซีน
- ภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดโดยที่ไม่ได้เกิดจากโรคอื่น ทั้งความบกพร่องของ T cell และ B-cell ทั้งคู่ (primary combined immunodeficiency)
- ได้รับยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
- หลังจากปลูกถ่ายอวัยวะในระยะเวลาสองเดือนแรก
- ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 cell/ mm3<
- ได้รับยาสเตียรอยด์ในขนาดที่มากกว่าหรือเทียบเท่ายาเพรดนิโซโลนขนาดมากกว่า 20 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันมากกว่าสองสัปดาห์
- ได้รับยาชีวภาพที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันคือ rituximab หรือ TNF-alpha
อีกที่เหลือคือการกดภูมิหรือความบกพร่องด้านภูมิคุ้มกันไม่รุนแรงนัก โดยมากวัคซีนตัวตายฉีดได้หมดและควรฉีดด้วย ส่วนวัคซีนตัวเป็นจะมีบางกรณีฉีดได้ ระดับความรุนแรงของการกดภูมิทั้งสองประการนี้จะใช้เพื่อพิจารณาชั่งน้ำหนักประโยชน์และโทษระหว่างประโยชน์จากวัคซีนเทียบกับอันตรายที่อาจเกิดจากโรคของวัคซีนหรือความคุ้มค่าหากฉีดแล้วภูมิไม่ขึ้น
นอกเหนือจากอันตรายจากวัคซีนแล้ว การฉีดเพื่อหวังผลให้ภูมิขึ้นจะต้องมีกลยุทธการฉีดที่เหมาะสมด้วย เช่น
1. หากทราบว่าจะต้องได้รับยาหรือปลูกถ่ายอวัยวะ ควรได้รับวัคซีนก่อน
2. ถ้าภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นแค่ชั่วคราว อาจรอให้ดีก่อนจึงฉีดวัคซีน
3. ในกรณีจำเป็นและภาวะกดภูมิหรือภูมิบกพร่องไม่มาก อาจหยุดยากดภูมิได้ เช่นกรณีที่มีการศึกษามากคือการหยุดยา methotrexate ในการรักษารูมาตอยด์ก่อนรับวัคซีน
4. ให้คนรอบตัวฉีดด้วย (cocooning effect)
5. พยายามเลี่ยง live-attenuated vaccines ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ให้ชั่งผลดีผลเสียและติดตามใกล้ชิด พวกที่ภูมิบกพร่องมาก ไม่ควรให้เลย
6. ติดตามระดับแอนติบอดีว่าเพียงพอต่อการป้องกันหรือไม่ หากไม่พออาจต้องฉีดซ้ำ
ที่กล่าวมาทั้งหมดหมายจะให้เห็นความสำคัญของวัคซีนยิ่งขึ้นว่าแม้เราภูมิคุ้มกันไม่ดีก็ยังต้องฉีดวัคซีน คนที่ภูมิดียิ่งต้องฉีด และให้ท่านผู้อ่านคิดทบทวนหากเราเป็นผู้ภูมิคุ้มกันไม่ดี ได้ยาเคมีบำบัด ยาชีวภาพรักษาโรค ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ปลูกถ่ายอวัยวะ เอดส์ โรคภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด มะเร็ง ว่าก่อนเราจะฉีดวัคซีนต้องปรึกษาหมอผู้รักษาให้รอบคอบก่อนจะฉีดเสมอเพื่อลดอันตรายที่จะเกิดและรีดศักยภาพของการฉีดวัคซีนให้สูงสุด
ผมแนบแนวทางมาสามแนวทาง ที่คิดว่าน่าเชื่อถือ อ่านง่ายและฟรีมาให้คุณหมอและบุคลากรทางการแพทย์เอาไว้ใช้รักษาและแนะนำวัคซีนในผู้ป่วยภูมิบกพร่องไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
1. แนวทางของแคนาดา ล่าสุดปรับปรุงปี 2018 อันนี้รายละเอียดเนื้อหาอ่านง่ายสุด
https://www.canada.ca/…/page-8-immunization-immunocompromis…
2. แนวทางของอเมริกา IDSA ปี 2013 มีตารางอ่านง่าย รายละเอียดมากและอ่านยาก
https://academic.oup.com/cid/article/58/3/e44/336537…
3. แนวทางของออสเตรเลีย สรุปมาแต่ไม่ละเอียดเท่าไร
https://immunisationhandbook.health.gov.au/…/vaccination-fo…

29 ตุลาคม 2562

Street Fighter II the World Worrier



มารำลึกเรื่องเก่า เล่าขานตำนานเกมตู้
ผมคิดว่าในบรรดาผู้ติดตามเพจเราจะต้องมีหนุ่มน้อยในอดีตที่เคยเล่นเกมอาเขต หรือเกมตู้หยอดเหรียญที่สุดฮิตเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน มีต่อคิวเล่น มีเล่นกินตัง บางคนมีเรื่องมีราวเลย และหากถามเกมต่อสู้ที่ถือว่า "แรง" ที่สุดในสมัยนั้น ไม่มีเกมไหนเกิน Street Fighter II the World Worrier
ตู้เกมจะมีจอภาพขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กเท่าทีวีก็มี คันบังคับเป็นจอยสติ๊กหมุนได้แปดทิศทาง และปุ่มบังคับท่าทางอีกหกปุ่มเรียงแถวสามปุ่มสองแถว ต่อยเบา-กลาง-หนัก เตะเบา-กลาง-หนัก เราจะหยอดเล่นกับคอมพิวเตอร์ก็ได้ เจอเครื่องที่ตั้งระดับไม่ยากนักก็ไม่ค่อยเปลืองเหรียญ แต่เจอเครื่องที่ปรับมาแบบยากมาก เรียกว่าหยอดจนหมดตังยังไม่ชนะ หรือจะเล่นสองคนสู้กันเองหยอดท้าชิงกับคนข้าง ๆ ประลองความเป็นเจ้าสนามตู้
กติกาก็ง่าย ๆ สู้ในเวลาที่กำหนด ใครน็อกเอาต์โดยทำให้อีกฝ่ายหมดพลังก่อนก็ชนะ หรือจนหมดเวลาใครเหลือพลังน้อยกว่าก็แพ้ไป แพ้ชนะสองในสามเกม ระบบเกมง่าย ๆ แต่สิ่งที่มันคือสิ่งนี้ต่างหาก
คาแรกเตอร์และท่าไม้ตายของตัวละคร ถือว่าสุด ๆ และเร้าใจมากสำหรับเกมในยุคนั้น ตัวละครแต่ละตัวจะมีการออกหมัดหรือเตะเท้าที่ต่างกัน ระดับความรุนแรงเบา-กลาง-หนัก ท่าก็ไม่เหมือนกัน การกระโดนต่อย กระโดดเตะ ย่อตัวต่อยเตะ จับทุ่ม การป้องกัน เรียกว่ามิติของการเล่นหลากหลายมาก
แม้ว่าเกมสไตล์นี้จะมีมากมายแต่ไม่มีเกมใดมาโค่นบังลังก์ได้ กับตัวละครพื้นฐานแปดตัว ริว, เคน, กิลล์, ชุนลี, ดัลซิม, ซังกิฟฟ์, บลังก้า, อี.ฮอนดะ
ริวและเคน ..ศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ท่าทางคล้ายคลึงกัน น่าจะออกไปทางคาราเต้ ไม่รู้จะทำตัวละครซ้ำกันมาทำไม แอบสังเกตว่าเคนจะมุทะลุและชอบใช้ท่าไม้ตายมากกว่า สำหรับท่าไม้ตายอันเป็นเอกลักษณ์คือการปล่อยลูกพลังโจมตีระยะไกล "ฮาโดเคน" และการกระโดดอัพเปอร์คัตหมุนตัวที่ชื่อว่า "โชริวเคน"
กิลล์ ... ทหารอากาศอเมริกันสุดแกร่งกับลีลาการต่อสู้ผสมผสาน มีความคล่องตัวและหนักหน่วงในท่าทางต่อสู้ แต่การป้องกันตัวไม่ดีนัก ท่าไม้ตายที่ถือว่าสวยงามที่สุดคือท่ากระโดดตีลังกาเตะ "ซัมเซอร์ซอลต์คิ้ก" และการอัดแรงอากาศออกมาเป็นลูกพลังโจมตีที่เรียกว่า "โซนิกบูม"
ชุนลี ... สาวสวยชาวจีน อาหมวยสุดแกร่ง แม้ร่างกายจะบอบบาง พลังป้องกันไม่เยอะและโจมตีแบบ kempo ที่ไม่หนักมาก แต่พลังการกระโดดและโจมตีทางอากาศช่างเหลือร้าย ท่าไม้ตายตีลังกากลับหัวและหมุนขาเตะเป็นวง "สปินนิ่งเบิร์ดคิ้ก" และการเตะรัวไม่นับเวลาโดนจะโดนเป็นชุด พลังแทบหมด
ดัลซิม ... นักสู้โยคะจากอินเดีย มาด้วยพลังมหัศจรรย์สามารถยืดหดมือเท้าได้ไกล ทำให้โจมตีศัตรูได้ใกลและยากที่ศัตรูจะประชิดตัว มาพร้อมท่าไม้ตายพ่นลูกไฟโจมตีระยะไกล "โยคะไฟเออร์" และพ่นเปลวเพลิงขนาดใหญ่เพื่อป้องกันและจู่โจมตรงหน้าตัวเองที่ชื่อว่า "โยคะเฟลม" แต่ว่าการเคลื่อนที่ช้ามาก มาก ๆ เลยทีเดียว
ซังกิฟ ... อดีตทหารโซเวียต นักมวยปล้ำ sambo ที่โด่งดังเพราะซ้อมมวยปล้ำกับหมี มาพร้อมพลังโจมตีและป้องกันที่ทรงพลังมากมายมหาศาล แต่ว่าอุ้ยอ้ายและช้าเชื่องช้า ตัวหนัก กระโดดไม่ขึ้น เขาจึงถนัดการจับทุ่มเป็นพิเศษ ถ้าประชิดตัวล่ะก็ทุ่มแต่ละครั้งพลังหายเลย ท่าไม้ตายที่ถือว่าทรงพลังที่สุดในหมู่นักสู้นี้คือ "สกรูไพล์ไดรเวอร์" จับหนีบตัวหัวทิ่ม กระโดดไปบนอากาศเกลียวสามรอบพร้อมทิ้งน้ำหนักตัวบนคอคู่ต่อสู้ อีกท่าคือหมุนตัวและกางแขนเป็นใบพัด กำหมัดกระแทกคู่ต่อสู้ "ดับเบิ้ลลาเรียต"
อี.ฮอนดะ ... ครูซูโม่ผู้แข็งแกร่งจากญี่ปุ่น พลังโจมตีสูงมาก โดนเตะโดนต่อยแต่ละทีพลังเราลดฮวบ แถมกระโดดได้ดี การป้องกันตัวดี ประชิดตัวนี่ยากมาก เช่นกันกับซังกิฟน้ำหนักตัวมากทำให้อุ้ยอ้าย และท่าไม้ตายคือ พลังมือซูโม่ที่รัวมือออกมากระแทกเราแบบไม่นับ โดนแต่ละครั้งสองสามดอกและหนักด้วย อีกท่าคือหัวพุ่งชนจากระยะไกล "โดสุโค่ย"
บลังก้า ... นักสู้ที่โตมาในป่าอเมซอน มีวิธีสู้ที่พิสดารที่สุดแต่ก็รุนแรงมาก รับดี รุกหนัก กระโดดสูง มือเท้ายาว แทบไม่มีจุดอ่อน มีท่าที่ใช้ได้มากมาย ท่าไม้ตายที่แปลกมากคือ กระแสไฟฟ้าแรงสูง นั่งปล่อยกระแสไฟฟ้ารอบตัวหากใครมาโดนเข้าจะไหม้เกรียม และท่าที่อันตรายมากท่าหนึ่งคือ "โรลลิ่งแอ็ทแท็ก" ม้วนตัวเป็นวงกลมแล้วพุ่งเข้าใส่ ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดอ่อนเพราะใช้พร่ำเพรื่อมาก โดนดักต่อยสวนทีล่ะก็เกือบตายเลย
ในวันเวลานั้น แม้ภาพจะไม่สวยเหมือนสมัยนี้ แต่สนุกมาก ผมก็เล่นนะ ไม่ถึงกับติด และมีนิสัยหาอ่านหาข้อมูลเพื่อความเข้าใจในตัวเนื้อหาเกม ... จะได้เข้าใจและสนุกมากขึ้น ได้อ่านถึงที่มาที่ไป การวาดตัวละคร แรงบันดาลใจการสร้าง รายละเอียดที่ทีมงานถกเถียงกันในรายละเอียดยิ่งสนุก ตอนนั้นมีหนังสือเบื้องหลังเกมเป็นภาษาอังกฤษ (แปลญี่ปุ่นมา) อยู่เล่มหนึ่ง อ่านไปเปิดดิคไปเลยครับ หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้
"ไม่ว่าเราจะสนใจอะไร ถ้าเราสนใจอย่างจริงจัง เอาใจใส่ เราจะได้ความรู้และข้อคิดจากสิ่งนั้นเสมอ" ชายชราหน้าหนุ่มได้กล่าวไว้

อ่อนเพลีย ไปนอนให้โปรตีนมา

"อ่อนเพลีย ไปนอนให้โปรตีนมา"
นี่คือประวัติสำคัญของผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการอักเสบที่หลอดเลือดดำส่วนพิ้นผิว ตามมาด้วยการติดเชื้อซ้ำซ้อน และผลการเพาะเชื้อขึ้นเชื้อดื้อยา MRSA
บางครั้งความเชื่อที่ผิดผสมกับความรู้ที่ไม่ถูกต้อง เกิดผลเสียได้มาก ในหลายที่ของประเทศไทยยังมีการให้สารโปรตีนนอกโรงพยาบาล (จากคำเล่าประวัติของคนไข้) ส่วนมากที่ได้คือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กินอะไรไม่ค่อยได้ เมื่อไปให้โปรตีนสักถุง รู้สึกมีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาทันที ... ผมอยากจะบอกว่าติดเชื้อรุนแรงปางตายแบบนี้มันก็มี
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างที่หนึ่ง ... การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำคือของดี
กฎของทางเดินอาหารและโภชนาการข้อแรก ใช้ทางเดินอาหารเสมอหากยังใช้ได้ ร่างกายสิ่งมีชีวิตออกแบบและวิวัฒนาการมาหลายร้อยล้านปีว่า ทางเดินอาหารคือสุดยอดเครื่องมือที่ใช้ย่อยและดูดซึม มีทั้งกลไกการย่อยอันน่าทึ่ง การดูดซึมที่แทบไม่เหลือขยะ การปรับการดูดซึมตามความต้องการร่างกาย การขับของที่ไม่ต้องการทิ้ง ทางการแพทย์เราจึงมีหลักการง่าย ๆ ว่า หากทางเดินอาหารยังใช้ได้ให้ใช้ก่อน หมายถึงว่า...
ทางเดินอาหารไม่อุดตัน ไม่มีรอยฉีกขาด อักเสบจนเคลื่อนที่ไม่ได้หรือเคลื่อนที่เร็วจนไม่ทันดูดซึม หรือจุดดูดซึมบกพร่องจากโรคเช่น โรคพยาธิบางชนิด โรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายผิวลำไส้
ถ้าไม่มีภาวะที่ห้ามใช้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ให้ใช้กระเพาะและลำไส้ ไม่ว่าจะกินอาหารปรกติ กินอาหารการแพทย์ ใส่สายให้อาหาร เจาะใส่สายทางกระเพาะหรือลำไส้ ต้องใช้สิ่งเหล่านี้ก่อน มีประโยชน์มากกว่า ไม่มีโทษ เราจะให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ไม่สามารถใช้ทางเดินอาหารได้เพียงพอเท่านั้น
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างที่สอง ... การให้โปรตีน
โปรตีนที่มักจะให้ทางการแพทย์ แบ่งเป็นอาหารหรือยา อาหารก็ตรงไปตรงมา คือ กรดอะมิโน อัลบูมิน ที่ผสมแบบปลอดเชื้อเพื่อให้ตามข้อบ่งชี้ใช้ทางเดินอาหารได้ไม่เพียงพอ สารอาหารทางหลอดเลือดมีหลายอย่าง ทั้งแบบสารอาหารเดี่ยวและสารอาหารรวม แต่ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารแบบใด จะมีความเข้มข้นและออสโมลาริตี้สูง โอกาสที่หลอดเลือดดำที่ใต้ผิวหนังจะทนไม่ไหว จะเกิดการอักเสบ มีมากมาย หากจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ต้องดูแลจุดแทงหลอดเลือดอย่างดี ต้องเปลี่ยนจุด หรือให้หลอดเลือดดำส่วนกลาง
หรือแบบที่เป็นใช้ยา
- อัลบูมินเพื่อให้เพิ่มสารน้ำในหลอดเลือด ในการหวังผลพยุงระบบไหลเวียนในกรณีที่น้ำเกลือมาตรฐานใช้ไม่ได้ผล และต้องระวังว่าการทำงานของไตจะแย่ลง
- โปรตีนชนิดพลาสมา สารการแข็งตัวของเลือดต่าง ๆ ที่ใช้เพราะต้องการหยุดเลือดหรือวัตถุประสงค์เฉพาะ
- อิมมูโนโกลบูลิน ใช้เพื่อรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง
- เซรุ่ม เพื่อนำเข้าโปรตีนเฉพาะแบบไปรักษาอาการหลายชนิด
- แอนติบอดี ใช้รักษาโรค
จะสังเกตว่าการให้โปรตีนไม่ว่าในสภาพใด จะมีข้อบ่งชี้จำเพาะ ต้องเฝ้าระวังสูง ไม่ได้ใช้เพื่อแก้อ่อนเพลียแต่อย่างใด
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนประการสุดท้าย ... ให้แล้วดีขึ้นทันที
การให้สารอาหารหรือยาจะต้องมีขนาดที่ถูก เวลาที่ถูก และใช้เวลานานเพียงใดกว่าจะตอบสนองหรือใช้ยาซ้ำหรือไม่ หากหวังผลให้เป็นอาหารกว่าจะเพิ่มระดับในเลือดให้เพียงพอ จนการเมตาบอลิซึมในร่างกายดี จะต้องให้อย่างต่อเนื่องจนถึงระดับคงที่ไม่ต่ำกว่า 5-7 วัน หรือถ้าให้เป็นยาต้องมีขนาดที่ใช้ชัดเจน และต้องให้ในโรงพยาบาลเกือบทั้งสิ้น
ดังนั้น การไปนอนให้โปรตีนทางหลอดเลือดสักขวด มันจึงไม่ได้เกิดผลทางคลินิกที่ดีขึ้นมากมายแต่ประการใด ที่ดีขึ้นมากเป็นเพราะตาเราเห็น จิตรับรู้ และพึงพอใจ เท่านั้นครับ ดีไม่ดีเกิดอันตรายหลอดเลือดอักเสบจะทุกข์ร้อนมากกว่าเดิมครับ

28 ตุลาคม 2562

pemphigus vulgaris

โรคนี้นานทีเจอครั้งหนึ่ง แต่เจอแล้วไม่ลืมเลย pemphigus vulgaris
โรคถุงน้ำใสที่ผิวหนัง (bullous) ไม่ใช้คำว่าตุ่มน้ำ (vesicle) เพราะตุ่มน้ำจะต้องเล็ก ๆ ..ดูช่างตรงข้ามกับความหมายทั่วไปของถุงและตุ่มเสียเหลือเกิน โรคถุงน้ำพองขึ้นตามผิวหนังนี้มีหลายโรคมาก วันนี้จะมาพูดถึงสองโรคที่พบบ่อย (บ่อย ๆ ของพวกที่พบน้อย) คือ pemphigus vulgaris และ bullous pemphigoid
โรคจะมีลักษณะคล้ายกันบ้างคือเป็นถุงน้ำ เป็นตุ่มเล็กและพองออกหรือมีหลายตุ่ม ครอบครองพื้นที่ผิวได้หลากหลายจุด อาจลุกลามที่หนังศีรษะ ฝ่ามือ ริมฝีปาก ถ้าไปพลิกดูตำราจะมีโรคที่ต้องแยกหลายโรค ชื่อโรคของระบบผิวหนังจะชื่อเพราะมาก เป็นภาษาละติน แต่สื่อความหมายได้ดี เช่น
- pemphigus foliaceus : folium คือ ใบไม้ หมายถึง pemphigus คือเกิดตื้นมาก ผิวลอกดั่งใบไม้ที่ปลิดปลิว เพราะจุดเกิดโรคอยู่ตื้นใกล้ผิวหนัง
- pemphigus gestationis : gestationis คือ เวลาตั้งครรภ์ เป็นเวลาตั้งครรภ์นั่นเอง
- paraneoplastic pemphigus : paraneoplastic คือ อาการอื่น ๆ อวัยวะที่ห่างไกลจากจุดกำเนิดมะเร็ง
- bullous pemphigoid : pemphigoid คือ เหมือน pemphigus แต่ไม่ใช่ แค่คล้าย ๆ ตาม suffix -iod เช่นคนที่คล้ายลุงหมอ ก็จะเรียกว่า ลุงหม...
- pemphigus valguris : valguris คือ มีมากมาย เยอะมาก หมายถึงเป็น pemphigus ที่พบมากสุด
สำหรับ pemphigus valguris จะมีถุงน้ำที่แบน ๆ เหี่ยว ๆ (ถุงน้ำนะครับ) และเจ็บ ในขณะที่ bullous pemphigoid จะเต่งตึง นูนเด่น (ถุงน้ำนะครับ ถุงน้ำ) ด้วยกลไกการเกิดโรคที่ต่างกันทำให้อาการต่างกัน เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องที่จะพูดต่อไป ต้องเข้าใจว่าผิวหนังคนเรามีเซลล์หลายชั้นเรียงกัน แต่ละชั้นก็จะมีเซลล์ประเภทเดียวกันเรียงตัวหนา ทำให้เห็นเป็นชั้น ๆ เราจะมาสนใจที่ชั้นบนสุด epidermis
เซลล์ที่เรียงตัวทับซ้อนกันจนเป็นชั้น epidermis จะยึดเกาะกันด้วยข้อต่อระหว่างเซลล์ หากมีแอนติบอดีต่อตัวเอง ปรกติแอนติบอดีมันจะไปจับทำลายสิ่งแปลกปลอม แต่หากมันทำงานผิดปกติจึงเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองไงครับ แอนติบอดีนี้มาจับทำลายข้อต่อเหล่านี้ เซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดจึงแยกออกจากกันได้ เวลาแยกออกจากกันจะมีการอักเสบเป็นสารน้ำมาสะสมแทนที่ เราจึงเห็นเป็น "ถุงน้ำ" และที่มันแบน เพราะเมื่อแอนติบอดีมาทำลายข้อต่อ มันจะโดนทำลายโดยรอบ ถุงน้ำก็จะเซาะออกไปรอบด้าน มันสามารถหาพื้นที่อาศัยได้กว้างออกไปในแนวราบ มันจึงไม่สะสม ไม่นูนเต่ง แต่ออกจะเหี่ยว ๆ แบน ๆ ออกไปด้านข้างแทน (flaccid bullous)
นอกเหลือจากนั้น ด้วยความที่โรค pemphigus valguris มันเกิดที่ผิวหนังด้านบนสุด ที่แสนจะเปราะบาง นี่ยังมาทำลายข้อต่อให้เปราะบางอีก หากเราเอานิ้วมือไปกดที่ถุงน้ำแบน ๆ เหี่ยว ๆ (เน้นจังเนอะ) แล้วคลึงไปด้านข้างเบา ๆ มันจะฉีกขาดง่ายมาก แต่ละฉีกขาดในชั้นบนสุด คือ epidermis ไม่ฉีกลงลึกถึงด้านล่าง หรือบางทีเราเอานิ้วรีดผิวหนังข้าง ๆ ถุงน้ำใส ๆ เป็นการฉีกข้อต่อ น้ำใส ๆ จะแทรกซึมตามรอยกดรีดของนิ้วเราแผ่ออกไปเลย เราเรียกอาการแสดงจากการตรวจนี้ว่า "Nikolsky's sign" เป็นการตรวจรอยโรคที่ข้อต่อยึดเซลล์ในชั้นบนสุดที่แยกจากกัน เช่น โรค pemphigus vulgaris, โรคถุงน้ำพุพองจากการแพ้ยา toxic epidermal necrolysis
ในขณะที่ bullous pemphigoid รอยโรคมันอยู่ใต้ชั้น epidermis รอยต่อของเซลล์ในชั้น epidermis ยังแข็งแรง จึงไม่มีรอยแตกรอยงา ฉีกขาดยาก การแยกตัวผิวหนังในชั้นลึกกว่านี้ไม่แผ่ขยายตัวออกไปง่ายนัก สารน้ำที่สะสมอยู่จึงเต่งตึง (tense bullous)
การแยกโรคทั้งสองนอกจากอาการและการตรวจ กลุ่มอายุที่ bullous pemphigoid ที่มักเกิดในผู้สูงวัย (แปลกดี ในผู้สูงวัยแต่เต่งตึง) เกิดที่ขามากกว่าจุดอื่น การวินิจฉัยที่ชัดเจนที่สุดคือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจย้อมสีทางพยาธิวิทยา ตรวจดูชั้นที่แยกจากกัน รอยแยกรอยแตกรอยงาระหว่างเซลล์ในชั้น และมีการย้อมสีหาชนิดของแอนติบอดีที่โรคแต่ละอย่างจะต่างกัน อย่างในสองโรคนี้จะมี anti desmogleins antibody ที่ต่างชนิดกัน
การรักษาคือการให้ยากดภูมิคุ้มกันสเตียรอยด์ที่มักจะตอบสนองดีมาก หากไม่ตอบสนองอาจเพิ่มยากดภูมิคุ้มกันตัวต่อไป ในกรณีเป็นมาก ๆ อาจเกิดอันตรายจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังซ้ำซ้อนได้ และเมื่อมีพื้นที่การเจ็บป่วยมาก (มีระบบคะแนนการติดตามโรค pemphigus ด้วยนะ) หรือคะแนนการป่วยสูงอาจต้องทำการให้ IVIG คือให้แอนติบอดีไปจับทำลาย แอนติบอดีที่ทำให้เกิดโรค หรือการฟอกเลือดโดยใช้ตัวกรองบ่งชนิดที่สามารถจับเอาแอนติบอดีก่อโรคออกไปได้
โรคถุงน้ำใส (โรคนะครับ ไม่ใช่ก๋วยจั้บ) ไม่ว่าจะเหี่ยวหรือจะตึง สามารถรักษาได้ดี การตอบสนองดี โอกาสเกิดโรคซ้ำไม่มาก ดังนั้นควรตรวจรักษาจริงจังต่อเนื่อง เพื่อให้พ้นความทุกข์ทรมาน ไม่เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน อย่าปล่อยละเลยหรือรักษาแบบอื่น
ภาพที่นำมาให้ดูเป็นภาพจริง ผลตัดชิ้นเนื้อที่ออกมาคือ pemphigus vulgaris นะครับ ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาสเตียรอยด์ไม่กี่สัปดาห์ก็หายเป็นปรกติ
ปล. 1 bulla เป็นเอกพจน์ พหูพจน์คือ bullae
ปล. 2 ผลสกอร์ 1-1 เรียกเสมอ แต่ถ้า 2-1 เรียกแชมป์ไร้พ่าย

27 ตุลาคม 2562

ซื้อหนังสือแบบออนไลน์คลิ้กแล้วส่ง กับไปเลือกหนังสือที่ร้าน แบบไหนโดนใจกว่ากัน

เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ลองทำโพลในเพจเราว่า ระหว่างเลือกซื้อหนังสือแบบออนไลน์คลิ้กแล้วส่ง กับไปเลือกหนังสือที่ร้าน แบบไหนโดนใจกว่ากัน
ผลของโพลออกมาแบบขาดลอยว่าการไปเลือกหนังสือที่ร้านได้รับความนิยมมากกว่า (555..readery อาจไม่พอใจสิ่งนี้) ผู้คนจะซื้อออนไลน์เมื่อหาตามร้านไม่พบหรือไม่มีเวลา
การไปร้านหนังสือนอกจากจะได้หนังสือไปอ่าน สิ่งที่จะได้นอกเหนือจากหนังสือน่าจะเป็นหัวข้อต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย
- ได้สัมผัสหนังสือด้วย ตา มือ จมูก จริง ๆ นะหลายคนยังมีความสุขแบบนี้ สัมผัสกระดาษ กลิ่นกระดาษ ช่วยเพิ่มอรรถรสในการเลือกซื้อหรืออ่านหนังสือ พี่เจ้าของร้านหนังสือที่เซฟวันเคยบอกผมว่าฝรั่งบางคนมาที่ร้านเพราะต้องการดมกลิ่นกระดาษเก่า
- ได้มองหนังสือเล่มข้าง ๆ ทำให้เราเกิดความอยากอ่านมากขึ้น และ...เสียตังค์มากขึ้น เช่นผมเองเวลาไปหานิยายอ่านเมื่อได้เห็นนิยายจีนยี่สิบเล่มเรียงกัน จะเกิดความอยากรู้อยากอ่าน มันเจ๋งเพราะอะไร มีตั้งยี่สิบเล่ม หรือพอเห็นปกชื่อหนังสือเล่มข้าง ๆ ก็อยากอ่านขึ้นมา เห็นนักเขียนคนนี้ที่เราอ่านประจำแต่ครั้งนี้แต่งเรื่องนี้แฮะ ความอยากนี้จะเกิดน้อยมากถ้าเราหาในร้านออนไลน์ครับ
- บรรยากาศ หนังสือรายล้อมตัว คนอ่านพลิกไปมารายล้อมตัว เด็ก ๆ ที่อ่านขวางทางเดินรายล้อมตัว มันคือเสน่ห์สำคัญ ชักชวนให้อ่านมากขึ้น มีความสุข ดังนั้น ร้านหนังสือจ๋า..บรรยากาศในร้านสำคัญมาก แสงไฟอบอุ่น แอร์ที่สบายพอดี เสียงดนตรีเบา ๆ กลิ่นกาแฟกรุ่น ทางเดินที่กว้างพอ ชั้นหนังสือที่ไม่สูงไปและหยิบง่าย สำคัญมาก มีเก้าอี้ตัวเล็ก ๆ กระจายตามร้านให้พักขาสักหน่อย
- ได้เรียนรู้เรื่องอื่น ๆ คุณอยากไปหาหนังสือพัฒนาตัวเอง คุณอาจได้หนังสือทำอาหารคลีน หรือ ท่องเที่ยวแบบประหยัด ทำมาเป็นแรงบันดาลใจ เปิดโลกกว้างมากขึ้น ก้าวออกไปจากความขี้เกียจที่อิ่มตัวของตัวเราเอง
- อันนี้สำคัญ หนุ่มโสดหรือสาวสวยที่เข้าไปร้านหนังสือเพื่อละเลียดเลือกหาหนังสือเล่มโปรด ช่างมีเสน่ห์ยิ่ง อบอุ่นและใจดี เธอชอบอ่านอะไรน้า เราจะเข้าไปคุยกับเขาเรื่องหนังสือเล่มนี้ดีไหมนะ
แต่โลกยุคปัจจุบันอำนวยความสะดวกเราอย่างมาก ร้านออนไลน์มากมาย ร้านหนังสือเล่มก็มีบริการส่งออนไลน์ แม้แต่แอปช้อปปิ้งชื่อดังต่าง ๆ ก็มีโปรโมชั่นลดราคา เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะหาซื้อ ข้อสำคัญคือ สะดวก ได้ตรงความต้องการไม่ต้องเสี่ยงดวงไปดูว่าเล่มที่เราต้องการจะมีหรือไม่ ได้ส่วนลดบ่อยมาก ผมเองก็สั่งนะครับ แต่จะสั่งเมื่อไปที่ร้านแล้วไม่เจอที่ต้องการเท่านั้น
ส่วนอีบุ๊ก อันนี้ยังคงมาแทนหนังสือเล่มไม่ได้แน่ ๆ ด้วยความที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก ในเจ้าที่เป็นของคนไทยก็จำกัดแค่สำนักพิมพ์หรือหนังสือของตนเท่านั้น หากเราเป็นนักอ่านจะต้องใช้แอปมากมาย (มันต้องอ่านออนไลน์ ต่างจากระบบการอ่านแบบหนังสือออฟไลน์) แต่ก็สะดวกมากเลยครับ ผมพกคินเดิลตัวเดียว อ่านได้ตลอดทุกที่ อีกอย่างคือ อีบุ๊กแบบสากลมันจะเข้าถึงและมีหนังสือที่คนอ่านนักเขียนทั่วโลกเขาอ่าน หนังสือสารพัดแบบ
เราต้องยอมรับว่าตลาดหนังสือในบ้านเรายังมีปริมาณและจำนวนปกน้อยกว่าต่างประเทศแบบ ไม่เห็นฝุ่น การอ่านอีบุ๊กจะเปิดโลกได้ดี ไม่ต้องไปหาซื้อมาจากต่างประเทศ ไม่เสียค่าส่งแสนแพง
สุดท้ายแล้วแต่ใครถนัดแบบใดครับ สำหรับผมนิยมหนังสือเล่มมากกว่า (บางเล่มมีทั้งแบบเล่ม แบบคินเดิล แบบออดิโอบุ๊กด้วย 555) เมื่อจบ ฮิงาชิโนะ เคโงะ ที่ออกมาใหม่พร้อมกันหลายเล่มแล้ว (ใจร้ายมาก ออกมาพร้อมกัน) ก็จับสามเล่มนี้ต่อไป เล่มแรกเป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง "สีเทา เจ้าตัวจิ๋ว" อ่านหนังสือพวกนี้แล้วสดชื่นหัวใจดี เล่มที่สองเป็นนิยายแปลจีนชื่อดัง "ฉางอันสิบสองชั่วยาม" ที่นักอ่านหลายคนบอกว่า วางไม่ลง อีกเล่มเจอโดยบังเอิญ "a short history of medicine" อ่านแนวนี้มาหลายเล่มแล้ว ก็ยังอ่านต่อไป และน่าจะมีเรื่องสนุก ๆ มาเล่าให้ฟังกันอีก
"อยากเซ็กซี่ให้หาหนังสืออ่าน อยากสำราญมาหาลุงหมอเถอะ"

ผันเปลี่ยนชีวิต หนุ่มออฟฟิศสุดเฮฮา..ไวรัสตับอักเสบซี

ผันเปลี่ยนชีวิต หนุ่มออฟฟิศสุดเฮฮา
เรื่องราวนี้เป็นเพียงเรื่องสมมุติ หาก "บังเอิญ" ไปพ้องกับชื่อท่านใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ณ ออฟฟิศแห่งหนึ่งที่แสนวุ่นวายในกรุงเทพมหานคร
ตลอดสัปดาห์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในออฟฟิศแห่งนี้ อีเจี๊ยบ ชายหนุ่มพนักงานออฟฟิศหน้าตาบ้าน ๆ มาทำงานด้วยท่าทีแปลกไป เขามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเรียกว่าจากฝ่าเท้าเป็นหลังมือเลย จากที่เคยมาทำงานสายโด่งแต่นี่เข้าออฟฟิศเป็นคนที่สองต่อจากแม่บ้าน จากที่เคยอู้งานตลอดแต่นี่ทำงานเสร็จก่อนเวลาเลิกงาน จากที่เคยแอบทำเพจขายของแต่นี่ไม่มีออนไลน์เลยตลอดเวลาทำงาน จากที่เคยเลิกงานก่อนแต่นี่แทบจะปิดประตูออฟฟิศทุกวัน จากที่เคยปากร้ายแต่นี่พูดจาสุภาพจนดอกพิกุลร่วงจากปาก เจี๊ยบกลายเป็นคนสุภาพ ทำเพื่อสังคม อ่อนน้อมถ่อมตน
เป็นที่ซุบซิบนินทาของเพื่อน ๆ ลามไปถึงครอบครัวเพื่อน ๆ ลามไปออฟฟิศข้าง ๆ ลามไปถึงประจวบคีรีขันธ์ ลามไปถึงปากีสถาน ลามไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายไปถึง " หัวล้าน" เจ้านายสุดเฮี้ยบของเจี๊ยบเลียบด่วน
บ่ายวันนั้น...
"พี่อีเจี๊ยบคะ หัวหน้าเรียกพี่เข้าห้องเย็นค่ะ ตามลำพังค่ะ หนูเอาผ้าเช็ดตัวให้ด้วยนะพี่ ถ้าทางผ้าเช็ดหน้าจะไม่พอซับน้ำตาพี่" น้องไอซ์เลขาสาวสวยมาบอก
"พี่ขอขอบพระคุณน้อง ด้วยความซาบซึ้งใจยิ่งนัก" แล้วลุกขึ้นเดิน ก้มตัวเมื่อผ่านน้องไอซ์ ท่ามกลางความตะลึงของทุกคน ปกติน้องไอซ์แซวขนาดนี้ จะโดนสวนกลับมาไม่น้อยกว่าสามดอก
ในห้องทำงานของหัวล้าน
"คุณอีเจี๊ยบ คุณเป็นอะไร คุณเปลี่ยนไปมาก คุณไม่เคยเป็นคนดีขนาดนี้ คุณพูดเพราะ คุณขยัน คุณสงบเสงี่ยม จนทุกคนเขาเรียกคุณว่า-เจี๊ยบเงี่ยว-กันหมด ผมถามจริง ๆ คุณมีเรื่องอะไรกลุ้มใจหรือเปล่า บอกผม ผมรับรองจะช่วยเต็มที่ ออฟฟิศนี้ดีไซน์มาเพื่อผม" เจ้านายผู้เข้มงวด ถามเข้าจุด พร้อมสะบัดนาฬิกาข้อมือสะท้อนแสงแดดเป็นประกายวิบวับ
"นายครับ มันจบ มับจบแล้ว" อีเจี๊ยบพูดเสียงสั่นเครือ (โอย พิมพ์ถึงตรงนี้ขอไปอ๊วกแพร้บ)
"จบอะไรเจี๊ยบ จบอะไร แล้วพูดเกรงใจออฟฟิศกูด้วย เดี๋ยวตำรวจจะมา" เจ้านายเริ่มเหงื่อหัวล้านออก
"ผม...ผม ผมติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ผมต้องตาย ตับผมต้องแข็ง มะเร็งจะถามหา โรคร้ายอื่นจะตามมาาา..."
เพี้ยะ...เสียงเจ้านายตบกบาลอีเจี๊ยบ
"โธ่ บักหำน้อยเอ้ย ไปฟังมาจากไหน" เจ้านายส่ายหัวพร้อมจะทึ้งผม แต่ก็ไม่มีผม ในขณะที่อีเจี๊ยบคิดในใจ บักหำน้อย นี่รู้ได้ไงฟระ
เจ้านายร่ายยาว "เจี๊ยบ ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีน่ะ มันรักษาได้ เมื่อตรวจพบแล้ว หมอจะนัดตรวจซ้ำเพื่อยืนยันการติดเชื้อจริงและเรื้อรัง หลังจากนั้นจะเจาะเลือดตรวจนับปริมาณไวรัสตับอักเสบซีและระบุสายพันธุ์ทั้งหก ว่าเป็นสายพันธุ์ใด มีการตัดชิ้นเนื้อที่ตับไปตรวจการอักเสบ วัดระดับการอักเสบ หรือปัจจุบันอาจใช้การตรวจทางรังสีที่ไม่ต้องเจาะ เพื่อวัดการอักเสบการเกิดพังผืดในเนื้อตับ โดยการตรวจเอ็กซเรย์พิเศษหรืออัลตร้าซาวนด์พิเศษ เพื่อมาพิจารณาการรักษา ปัจจุบันทำได้หลายที่แล้ว อย่างน้อยในทุก ๆ ภูมิภาคก็ทำได้"
"แต่ แต่ที่ผมไปอ่านมา เขาต้องรักษาด้วยยาฉีด และยากิน ครึ่งปีบ้าง หนึ่งปีนะครับเจ้านาย และข่าวว่าผลข้างเคียงสุดจะทานทน" อีเจี๊ยบเวอร์ชั่นเรียบร้อย นั่งตัวลีบ มือกุมไข่
เพี้ยะ ... กบาลเจี๊ยบโดนสัมผัสแรง ๆ จากมือเจ้านายอีกครั้ง
"โธ่ บักหำสั้น ไปฟังมาจากไหนอีกแล้ว" เจ้านายส่ายหัว และอีเจี๊ยบคิดในใจ ...รู้อีกแล้ว เล็กก็ใช่ สั้นก็ใช่
เจ้านายร่ายยาวอีก "เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ชาวโลกเขาพัฒนายากินรักษาไวรัสที่กินง่าย ผลข้างเคียงน้อยมาก ประสิทธิภาพการกำจัดไวรัสสูงถึง 98-99% เลยนะ ยากินที่ใช้ได้ทั้งตับแข็ง ตับไม่แข็ง รักษามาแล้ว หรือยังไม่เคยรักษา แถมใช้ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ทั้งหกสายเลยด้วย ส่วนมากใช้ยากินคู่กันสองตัว หรือมากกว่านั้นแล้วแต่กรณี กินยาง่ายแค่วันละครั้ง มีหลายสูตร ยกตัวอย่างที่มีในไทยนะ
ledipasvir/sofosbuvir (ตัวนี้บรรจุในยาหลักแห่งชาติ 2561 รักษาได้หมดเว้นจีโนไทป์ 3)
sofosbuvir (บรรจุในยาหลักแห่งชาติ 2561 ใช้ร่วมกับยาอื่น ในการรักษาแบบแยกเม็ดยา)
daclatasvir/sofosbuvir (ครอบคลุมทุกสายพันธุ์)
velpatasvir/sofosbuvir (ครอบคลุมทุกสายพันธุ์)
elbasvir/grazoprevir (รักษาได้หมดเว้นจีโนไทป์ 2)
หรือยาสูตรเก่า peginterferon alfa ให้คู่ยา ribavarin (สองตัวนี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2561 มักใช้ร่วมกับ sofosbuvir ในจีโนไทป์ 3)
เรียกว่ารักษาได้ดี จะได้ไม่เกิดตับแข็ง มะเร็งตับ ไม่แพร่เชื้อออกไป คุณภาพชีวิตดี ลงทุนคุ้มค่า"
อีเจี๊ยบอ้าปากหวอ นี่เจ้านายฉันหรือเนี่ย ทำไมมันเก่งยังงี้วะ คิดว่าเป็นแต่ด่าลูกน้องกับหาเมียน้อย
"แต่พนักงานออฟฟิศจน ๆ อดมื้อกินมื้อ ตาดำ ๆ แบบผมจะมีเงินไปรักษาหรือครับ ของดี ราคาก็แพง ผม...ผม เศร้าสุดจะบรรยาย..."
หมับ...เสียงอีเจี๊ยบจับมือหัวหน้าได้ทัน ก่อนจะสัมผัสกบาลของมัน นึกในใจ ไม่ได้แดรกกูหรอก
"555 รู้ทัน โธ่ บักหำมืด ความรู้ท่วมตัวเอาหัวไม่รอดอีกแล้ว" อีเจี๊ยบคิดในใจ ..รู้จริงเว้ย เล็ก สั้น ดำ
เจ้านายยิ้ม "เดี๋ยวนี้ยาหลายตัวบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชี จ.2 ใช้เมื่อมีความจำเป็นเฉพาะ ภายใต้การกำกับเป็นพิเศษ) สิทธิบัตรต่าง ๆ สามารถรักษาได้หมดทั้งบัตรทอง ประกันสังคมและข้าราชการ ทั้งการตรวจและค่ายาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพง เรียกว่าถูกมากจะดีกว่า หรืออยากไปรักษาภาคเอกชน ราคายาก็ไม่แพงจนหมดตัว แถมเป็นการรักษาลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะโอกาสหายมันสูงมาก"
อีเจี๊ยบหน้าตาสดใส ตาวาววับเป็นประกาย ความปีติอิ่มใจเกิดขึ้น
"เจ้านายครับ เมิงช่างเป็นเจ้านายที่หัวใสจริง ๆ ฉลาดมาก มิเสียทีที่หัวล้าน ฮ่า ๆ ๆ รอดแล้วกู กูได้อยู่ดูลิ้วพูนเป็นแชมป์แน่นอน อ้อ..เจ้านาย พรุ่งนี้ลาหยุดนะ จะไปโรงบาล หาหมอ ไม่ต้องโทรตามใช้ให้ไปขับรถไปไหนนะเฟ้ย ดีใจจังโว้ย พ่อจ๋าแม่จ๋า"
แล้วอีเจี๊ยบก็วิ่งออกไปด้วยความดีใจ ไปคุยกับเพื่อนร่วมงาน ไปชวนเขาเสียงานเสียการ และตามมาด้วยเสียงด่าไล่หลัง และการส่ายหน้าของทุกคน ...อีเจี๊ยบได้คืนชีวิตอันปรกติของเขามาแล้ว มันวิ่งไปเก็บของและออกจากออฟฟิศไปตั้งแต่บ่ายสองโมงกง
บทส่งท้าย
หัวล้านส่ายหัว นี่เราช่วยคนหนึ่งคนให้พ้นจากโรค คืนชีวิตเดิมอันมีความสุขให้เขา แต่ต้องแลกมาด้วยความกาลกิณีกับคนทั้งแผ่นดินหรือนี่ แต่เอาเถอะ มันกลับมาเป็นคนเดิมมีความสุขเหมือนเดิมก็ดีแล้ว หายจากโรคด้วย
หัวล้านเดินออกไปจากออฟฟิศ เดินไปทางบันไดหนีไฟ ไปถึงลานจอดรถด้านล่าง หันซ้ายขวาไม่มีคนเห็น ก็ถอดหัวล้านปลอม ถอดหนวด ดึงหน้ากาก ถอดสูทตัวนอกและถุงฟองน้ำพุงปลอมออก เผยให้เห็นชายหนุ่มร่างกายสมส่วน แข็งแรง เป้าตุง หน้าตาหล่อเหลาคมคาย เขาหยิบแว่นตาขึ้นมาแล้วโยนเสื้อและอุปกรณ์ปลอมตัวลงถังขยะ พร้อมกับมีรถเก๋งคันงามมาจอดตรงหน้า หน้าต่างเลื่อนลงพร้อมเสียงหวานจากพลขับสุดสวยเซ็กซี่ ตาเยิ้ม กัดริมฝีปาก "เราจะไปกันรึยังคะบอส ไอซ์หิว...เอ่อ ...หิว...ข้าวแล้วล่ะค่ะ"
ชายหนุ่มก้าวอย่างงามสง่าขึ้นรถด้านข้างพลขับ ดึงม่านบังแดด เปิดกระจกเงาสำรวจความเรียบร้อย พร้อมออกคำสั่ง "ไปร้านเดิมนะคุณไอซ์" รถเคลื่อนตัวโดยเร็ว ภาพในกระจกเงาสั่นไหวแต่พออ่านข้อความที่สกรีนอยู่บนอกเสื้อยืดคอกลมสีขาว เป็นตัวอักษรสีน้ำเงินเข้มว่า "อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว"
ไปรับยาช่องหนึ่งโดยพร้อมเพรียงกัน

26 ตุลาคม 2562

เล่าเรื่องเกลือ 5

เล่าเรื่องเกลือตอนที่ 5
นี่เป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญที่สุดในสี่ตอนที่ผ่านมา (ที่ผ่านมาโดนอิทธิพลของ ยูวาล แฮร์รารี่, ฮารุกิ มูราคามิ และพี่หมอเอ้ว ชัชพล มาเป็นแกนในการเขียนเยอะเลย) ก่อนหน้านี้เราได้รู้จักความเป็นมาของเกลือ การล่มสลายของเกลือ บทบาทของเกลือเกี่ยวกับโรคและความสำคัญของการลดเกลือ ตอนสุดท้ายนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการลดเกลือ
สำหรับสี่ตอนที่ผ่านมาท่านสามารถอ่านย้อนหลังได้ที่นี่
https://medicine4layman.blogspot.com/2019/10/1.html ตอนที่หนึ่ง มนุษย์และความโยงใยเกี่ยวเนื่องของเกลือ
https://medicine4layman.blogspot.com/2019/10/2.html ตอนที่สอง ยุคทองของเกลือและการล่มสลายของเกลือ
https://medicine4layman.blogspot.com/2019/10/3.html เหตุและผลที่เกลือเข้ามาสร้างความสุขในรสชาติ แต่แฝงมหันตภัยเงียบจากค่าความดัน
https://medicine4layman.blogspot.com/2019/10/4.html ความสำคัญของการควบคุมเกลือ ส่งผลสำคัญต่อการควบคุมโรค
เกลือในชีวิตประจำวันปัจจุบันนี้ มาจากแหล่งสำคัญไม่กี่แหล่งแล้ว แหล่งที่สำคัญที่สุดคือ เกลือที่ถูกใส่มาในอาหารเรียบร้อยจากกระบวนการแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหารในร้านอาหาร อาหารสำเร็จในซูเปอร์มาร์เก็ต อาหารแช่แข็งอันแสนสะดวกสบาย อาหารกระป๋องสารพัดอย่าง อาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมและปรุงแต่งเช่น หม่ำหมู กุนเชียง ผักดอง ไส้กรอก ขนมขบเคี้ยวสารพัดยี่ห้อ เกลือที่มาจากอาหารผ่านกระบวนการนี้เป็นเกลือหลักในชีวิตและที่สำคัญเราแทบไปควบคุมไม่ได้เลย
การควบคุมเกลือส่วนนี้จำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมาย ระบบระเบียบสังคม ปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมลดเค็ม มาตรการทางภาษี ทั้งหมดเป็นงานสำคัญในภาครัฐที่ต้องลงมาควบคุม หลายประเทศให้ความสำคัญและควบคุมตรงนี้เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา อินเดีย เมื่อบังคับการใช้การบริโภคเกลือในภาคอุตสาหกรรมและบริการ พบว่าการบริโภคเกลือลดลง ความดันโลหิตลดลง สุขภาพดีขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพลดลง ลงท้ายด้วยสุขภาวะของประชาชนดีขึ้น เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไป (แค่ลดเกลือ สะเทือนถึงดวงดาว)
แต่ประชาชนอย่างเราควรทำอย่างไร เราไม่สามารถไปออกกฎหมายหรือมีอำนาจบังคับ เราจึงได้แต่เรียนรู้และรู้ทันโภชนาการ เช่น เราเลือกอาหารที่เกลือไม่มากจากการอ่านสลากโภชนาการข้างบรรจุภัณฑ์ เราจะพอกะเกณฑ์เกลือต่อวัน สามารถลดเกลือและความดันโลหิตได้จริง
การเลือกรับประทานอาหารที่สดและมีการแปรรูปปรุงแต่งน้อย เช่นเลือกกินหมูทอดมากกว่าไส้กรอก ดีกว่าไส้กรอกกระป๋อง และดีกว่าไส้กรอกกระป๋องใส่ในพิซซ่า ยิ่งปรับเปลี่ยนแปรรูปเกลือจะเพิ่มขึ้น
หลีกเลี่ยงอาหารที่รู้แน่ว่าเค็ม หรือพูดให้ดีกว่านั้นคือรู้แน่ ๆ ว่าเกลือมากจากกระบวนการและวิธีทำ ไม่ตัดสินจากรสชาติเช่น ปลาร้า อันนี้เค็มแน่นอน ผักกาดดอง อันนี้เค็มแน่นอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อันนี้เค็มแน่นอน
รู้จักสังเกตฉลากโภชนการว่ามีเกลือเท่าไร (มักจะบอกเป็นโซเดียมมากกว่าเกลือ) เมื่อเลือกได้ให้เลือกที่มีเกลือน้อยกว่าและผลรวมเกลือต่อวันน้อยที่สุด
พยายามฝึกตัวเองให้ชินกับอ่อนเค็ม เมื่อเรากินเค็มไม่มากร่างกายเราจะค่อย ๆ ชินกับมัน อาตจะไม่ต้องตัดเค็มจากเกลือ 10 กรัมเป็นสองกรัมต่อวัน นอกจากทำไม่ได้ หรือทำได้วันเดียว อาจจะไปเพิ่มความอยากเกลือ มื้อต่อไปกินมากเกินทั้งวันก็ได้ ค่อย ๆ ลดเกลือดีกว่า แต่ขอให้ลดอย่างจริงจังสม่ำเสมอ
เริ่มจากลดและงดเครื่องปรุงรสที่จะใส่เพิ่ม อย่างที่เราอ่านมาจากตอนที่สี่ เรามีเกลือในอาหารปัจจุบันปกติสูงกว่ากำหนดเกือบสี่เท่าอยู่แล้ว ยิ่งเราใส่เพิ่มเข้าไปจะยิ่งเพิ่มเกลือเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว ซอส ผงปรุงรส
ลดขนมถุง ขนมขบเคี้ยว ลองไปอ่านข้างถุงจะพบว่ามีโซเดียมและเกลือสูงมาก ลองเปลี่ยนมาเคี้ยวฝรั่งหั่นเต๋า มันแกว หรือกินผลไม้ปริมาณไม่มากแทน หากอยากขบเคี้ยวจริง ข้าวโพดคั่วรสจืด (คือใส่เกลือหรือเนยปริมาณน้อยมากนั่นเอง) เป็นทางเลือกที่ดี
หากท่านมีฝีมือการทำอาหารหรือต้องเป็นผู้รับผิดชอบการปรุงอาหาร ให้ลดปริมาณเกลือ น้ำปลา ซ้อส ผงชูรส ผงปรุงรส ซุปก้อน ลดด้วยสายตาหรือปริมาตรชั่งตวงวัด อย่าลดด้วยการชิมเพราะลิ้นและการแปลผลสัมผัสแต่ละคนต่างกัน
อาหารที่เป็นซุป เช่น ก๋วยเตี๋ยว ต้มยำ แกงจืด (ที่ไม่เคยจืด) พยายามลดการกิน "น้ำ" ในจานหรือชามนั้น เกลือละลายน้ำได้ดีมาก ยิ่งซดน้ำมากจะยิ่งได้เกลือมาก รวมไปถึงน้ำส้มตำ น้ำปลาร้าที่เรามักจะชอบใช้ข้าวเหนียวจ้ำน้ำต่าง ๆ หรือบางคนยกซดเลย
*** หลักการเดียวกันกับการเลิกปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคทุกอย่างคือ รู้จักเข้าใจ อดทนทำสม่ำเสมอ เอาชนะใจตัวเอง ชนะความอยากอร่อย อยากเค็มให้ได้ ***
บางคนสงสัยว่าทำไมไม่กำหนดปริมาณเกลือคงที่แล้วใช้ยาขับเกลือคือยาขับปัสสาวะแทนไปเลย ขอตอบว่าทำไม่ได้ครับ ยาขับปัสสาวะมีข้อจำกัดการขับเกลือและหากใช้ยาขนาดสูงจะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ความดันและผลข้างเคียงจากความดันโลหิตลดลงจริง แต่ต้องเจอผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์มากมาย (ที่รุนแรงเสียด้วย) เช่นกัน
ผมไม่ทราบว่ากฎหมายการควบคุมเกลือ ภาษีความเค็ม จะออกมาให้เมื่อไร จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไร หรือผ่านไปรัฐบาลอื่นต่อไปจะเข้มงวดแค่ไหน เราประชาชนอย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า หวังปลาบ่อใคร เราต้องลด ละ เค็มด้วยตัวของเราเอง อย่างเข้าใจ จริงจัง สม่ำเสมอ จึงสามารถลดอันตรายจากโรคความดันโลหิตสูงและผลจากโรค หากทำทุกคนต่อเนื่อง คุณว่าประเทศเราจะลดงบประมาณการรักษาโรคขนาดไหน ประชากรจะแข็งแรงมากเพียงใด ประเทศและสังคมไม่ต้องมากังวลจุดนี้ แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาตนเองและพัฒนาประเทศได้ขนาดไหน
ผมหวังว่า salt the series คงสร้างความเข้าใจเรื่องเกลือ มนุษย์ และโรคความดันโลหิตสูงได้ไม่มากก็น้อยครับ เอาไปปรับใช้ตามความเหมาะสม อย่าปล่อยให้ความเค็มต้องตกอยู่บนความรับผิดชอบของคนเพียงคนเดียว...หลวงปู่เค็ม
สวัสดี

เรารักษากรดไหลย้อนไม่ได้ผลจริงหรือ

เรารักษากรดไหลย้อนไม่ได้ผลจริงหรือ ??
ข้อคิดอันหนึ่งจากการอ่านวารสารนี้คือคำถามนี้แหละ มันมาจากงานวิจัยนี้ครับ งานวิจัยที่เปรียบเทียบการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดสำหรับโรคกรดไหลย้อนที่รักษายากและไม่ค่อยตอบสนอง ผลออกมาว่าหากคัดเลือกคนไข้เหมาะสมแล้ว การรักษาด้วยการผ่าตัดได้ผลดีกว่า ก็ดูตรงไปตรงมาดี แต่ประเด็นมันอยู่ที่นี่ คนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ที่เราคิดว่าเรารักษาแล้วไม่ดีไม่เวิร์กนั้น พอมาพิจารณาดี ๆ แล้วไอ้ที่เรียกว่า ไม่ตอบสนองหรือรักษายาก มันมีน้อยมากครับ
ทำไมถึงน้อย วารสารนี้ให้คำตอบสองอย่างที่ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับพวกคุณ
หนึ่ง ... การใช้ยา proton pump inhbitor (PPI) ที่ผ่านมานั้นเรายังไม่ได้รีดประสิทธิภาพของมันออกมาเต็มที่ ปัญหาส่วนมากที่พบคือ ไม่ได้กินก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง ทำไมต้องกินก่อนอาหาร การออกฤทธิ์ของยาอธิบายได้ คือว่าเซลล์ที่หลั่งกรดในกระเพาะอาหารจะเข้าสู่ระยะ "แอคทีฟ" มากที่สุดคือช่วงก่อนกินอาหาร ไอ้เจ้ายา PPI นี้มันจะทำงานตอนที่เซลล์อยู่ในภาวะแอคทีฟนี่แหละ ถ้าเวลากินยาผิดเวลาที่เหมาะสม แน่นอนการออกฤทธิ์ย่อมไม่ดี การรักษาจะไม่ได้ผล
ถ้าใครกินยาตระกูลนี้อยู่นะครับ omeprazole, lansoprazole, esomeprazole, rabeprazole, pantoprazole, dexlansoprazole หากเดิมใช้ไม่ได้ผลหรือต้องการผลที่ดี ควรรับประทานยาก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงครับ
สอง ... แต่ละคนมีการตอบสนองต่อ PPI แต่ละตัวไม่เหมือนกัน เพราะสมบัติของ PPI แต่ละตัวไม่เท่ากัน สรีรวิทยาของแต่ละคน ยาที่กินที่อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา หรือมีพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้การออกฤทธิ์ของยาทำได้ไม่ดี ดังนั้นถ้าเรากินยาตัวนี้แล้วตอบสนองไม่ดี ลองเปลี่ยนตัวยา ยี่ห้อยาครับ แต่ราคาไม่เท่ากันนะครับ และสิทธิการรักษาก็ไม่เท่ากันด้วย
จากการศึกษานี้เมื่อปรับข้อด้อยสองข้อนี้ พบว่าคนที่จะถูกจัดมาอยู่ในกลุ่ม "ไม่ตอบสนองต่อการรักษา" มีน้อยมากเลยครับ การศึกษานี้นอกจากบอกประโยชน์ของการผ่าตัดรักษาโรคกรดไหลย้อนในบางกรณีแล้ว ยังบอกเราด้วยว่าการใช้ยาที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพยังเป็นปัญหาในการรักษานะครับ
"อยากเป็นกรดให้ไหลย้อนกลับ อยากถูกกินตับให้ไหลไปกอด"

25 ตุลาคม 2562

ISAR-REACT 5

ไม่ได้อ่านวารสารแล้วครับ หยิบวารสารนี้มาอ่านขัดสนิมกัน ISAR-REACT 5 ลงตีพิมพ์ใน NEJM และประกาศตั้งแต่งานประชุมสมาคมแพทย์โรคหัวใจยุโรปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (บทความนี้ยาวมาก เป็นการพรรณาและวิเคราะห์วารสาร มีการใช้สถิติวิจัยและคำศัพท์เทคนิคมากมาย)
ปูพื้นฐานกันก่อน การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน (acute coronary syndrome) ในยุคปัจจุบันนี้คือการสวนหลอดเลือดหัวใจและแก้ไขจุดตีบ อีกหนึ่งในการรักษาที่เป็นการรักษาหลักร่วมกับการทำหัตถการสวนหลอดเลือดคือการใช้ยาต้านการแข็งตัวเกล็ดเลือด (antiplatelet) และปัจจุบันเราใช้ยาต้านเกล็ดเลือดสองชนิดอีกด้วยที่เรียกว่า Dual AntiPlatelet Therapy (DAPT) เพื่อต้านเกล็ดเลือดด้วยสองกลไก ลดการเกิดซ้ำ ลดการเกิดขดลวดตีบตัน แต่จะมีเลือดออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถือว่ารับได้
หนึ่งในยาต้านเกล็ดเลือดคือ แอสไพริน และอีกชนิดเป็นหนึ่งในสองชนิดนี้คือ Ticagrelor หรือ Prasugrel โดยจะให้ยาสองชนิดตั้งแต่เริ่มรักษาจนถึงเวลาหนึ่งตั้งแต่สามเดือนถึงสิบสองเดือนแล้วแต่ข้อบ่งชี้ของแต่ละคน ต่างฝ่ายต่างมีการศึกษาเพื่อสนับสนุนการใช้ยาของตนและได้รับคำแนะนำการให้ยาทั้งคู่เหนือกว่ายาเดิมอย่าง clopidogrel
นอกเหลือจากกลไกการทำงาน ขนาดยาที่ต่างกันแล้ว หนึ่งในข้อแตกต่างของยาที่สำคัญอันทำให้ prasugrel มีความซับซ้อนและใช้ยากกว่าคือ prasugrel นั้นเราจะต้องทราบพยาธิสภาพและกายวิภาคของหลอดเลือดหัวใจก่อนให้ยา หรือต้องฉีดสีหัวใจก่อนให้ยานั่นเอง (ตามการศึกษา) ส่วน ticagrelor สามารถให้ยาเลยตั้งแต่วินิจฉัยจากอาการ คลื่นไฟฟ้าหัวใจและผลเลือด โดยไม่ต้องทราบพยาธิสภาพหลอดเลือดก่อน และการให้ยาโดยที่ไม่ได้ให้การรักษาหัตถการหลอดเลือดนั้น ดูเหมือนว่า ticagrelor จะเหนือกว่า prasugrel (ไม่ได้เทียบกันตัวต่อตัวแบบนี้)
ก่อนหน้านี้ไม่มีการศึกษาที่เทียบยาสองตัวนี้แบบตัวต่อตัว มีแต่นำการศึกษาของแต่ละตัวที่ใกล้เคียงกันมาเทียบกัน จึงมีการศึกษานี้ ISAR-REACT 5 ทำการศึกษาในเยอรมนีในหลายโรงพยาบาลที่ทำการศึกษา โดยมีแนวทางการคัดเลือกคนไข้ การเลือกใช้ยา โปรโตคอลเข้าร่วมการศึกษาจากส่วนกลาง แต่การรักษา การใส่สายสวน การใส่ขดลวด การติดตามและการตัดสินผล เป็นตามแต่ละโรงพยาบาลที่ทำการศึกษา การศึกษานี้จึงต้องมี adjudicated committee อีกชุด (จำ adjudication ได้ไหม)
คนที่เข้าข่ายมาศึกษาคือ ผู้ที่เป็น acute coronary syndrome (สามชนิดคือ ST-elevation, non ST-elevation, unstable angina) และวางแผนที่จะเข้าทำหัตถการหลอดเลือดอยู่แล้ว ที่ยุโรปมีศูนย์สวนหัวใจเพียงพอและได้ทำเกือบทุกรายอยู่แล้ว ข้อห้ามหลัก ๆ คือข้อห้ามการให้ยาต้านเกล็ดเลือด ได้รับยาสลายลิ่มเลือดมาภายใน 24-48 ชั่วโมง และได้ยามาก่อนหน้านี้ภายในห้าวัน โดยได้รับโปรโตคอลจากส่วนกลางทั้งสิ้น แต่การตัดสินใจรักษาที่เป็น investigator-based หมายถึงผู้วิจัยหลักส่วนกลางควบคุมได้เพียงการแบ่งกลุ่มและการเลือกใช้ยาเลือกใช้วิธีการตอนแรกเท่านั้น หลังจากเห็นพยาธิสภาพแล้ว การตัดสินใจรักษาต่อไปแบบใด แต่จะจุดที่ทำวิจัยจะเลือกการรักษาเอง ตรงนี้คิดว่า allocation concealment น่าจะมีปัญหารวมไปถึง invertigator bias ด้วย
เมื่อผู้ป่วยถึงเกณฑ์จะเข้าการศึกษาและยินยอม จะทำการแบ่งกลุ่มจากส่วนกลางและเริ่มการรักษา แต่ตรงนี้คง open-label แน่ ๆ ticagrelor เริ่มให้สองเม็ดต่อระยะยาวอีกวันละสองเม็ดเช้าเย็น ส่วน prasugrel จะเริ่มให้หกเม็ดต่อระยะยาววันละเม็ด โดยปรับตามอายุและน้ำหนักตัว และ open-labelled ที่สำคัญมากคือ ใน STEMI ให้ยาทันทีแล้วไปสวนหัวใจเหมือนกันทั้งสองกลุ่ม แต่สำหรับสำหรับหลอดเลือดหัวใจตีบแบบ Non ST-Elevation Myocardial Infarction และ unstable angina นั้น การให้การรักษาแบบให้ ticagrelor ทันทีหลังแบ่งกลุ่ม แต่ prasugrel จะให้ยาหลังสวนหัวใจและทราบผลพยาธิสภาพหัวใจแล้ว ตรงนี้อาจจะมี bias ได้มากจริง ๆ ครับ ทั้งการตัดสินใจรักษา ผลที่เกิดขึ้นเพราะ "กระบวนการที่เกิด" ต่างกัน ไม่ใช่แค่ "ยา" ที่ต่างกัน
หลังจากนั้นติดตามผู้ป่วยไปเป็นเวลาหนึ่งปี มีการนัดมาติดตามและวัดผลเป็นระยะคือหนึ่งเดือน หกเดือนและที่หนึ่งปี วัดผลอะไรบ้าง
1. ผลหลัก primary endpoint คือ ผลรวมของเหตุการณ์ (composite endpoints) ของการเสียชีวิต การเกิดหัวใจขาดเลือดซ้ำ การเกิดหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งแน่นอนผู้วิจัยได้วิเคราะห์แยกแต่ละผล ว่าผลอันใดที่มีน้ำหนักมาก ผลอันใดที่ไม่เป็นไปตามผลรวม และวิเคราะห์แบบ prespecified analysis คือคิดและวิเคราะห์ด้วยวิธีหลัก แต่คิดกับผลย่อย
2. ผลการศึกษาเรื่องผลเสีย ซึ่งผลที่สนใจคือ การเกิดเลือดออกเมื่อสิ้นสุดการศึกษาที่หนึ่งปี งานวิจัยนี้ใช้ BARC score เวลาเราอ่านงานวิจัยที่มีการวัดผลเรื่องเลือดออกว่าต่างหรือไม่ต่างกัน ต้องพิจารณาเกณฑ์ตรงนี้ดี ๆ นะครับ เพราะมันมีหลายวิธีที่เป็นมาตรฐาน
3. ผลการศึกษารอง secondary endpoint คือการตันของขดลวดและการเกิดเลือดออก ความสำคัญที่ stent thrombosis
4. prespecified analysis แน่นอนเพราะมีการรักษาต่างกัน ทั้งทำสายสวน ทั้งผ่าตัด หรือให้ยาเท่านั้น ที่โอกาสเกิดซ้ำและโอกาสเลือดออกย่อมไม่เท่ากัน การวิเคราะห์จึงต้องแยกแต่ละการรักษาออกมา และข้อกำหนดการเข้าร่วมคือ acute coronary syndrome ที่มีสามแบบรวมกัน แต่ละแบบมีการพยากรณ์โรคต่างกัน ดังนั้นการติดผลจึงต้องวิเคราะห์แยกให้ดูด้วย ว่าเมื่อคิดแยก มันแปลผลเหมือนภาพรวมหรือไม่
สถิติวิจัย เรื่องนี้เป็นยาขมที่สุด แต่ก็คงต้องพูดเช่นกันเพราะผู้วิจัยตั้งต้น null hypothesis ว่าผลทั้งสองไม่ต่างกัน ถ้าหากจะปฎิเสธ null hypothesis จะพบว่ายาอันใดอันหนึ่งเหนือกว่า ตัวเลขที่ใช้จากการศึกษาที่มีมาก่อนหน้าคืออัตราการเกิด endpoint ของ ticagrelor ที่ 10% และ prasugrel ที่ 12.9% และแอบคิดด้วยว่าอัตราการเกิดผลของ ticagrelor จะน้อยกว่า prasugrel เสียด้วย แม้จะเปิดทางว่าตัวใดตัวหนึ่งเหนือกว่า แต่การกำหนดแนวทางงานวิจัยเอียงไปทางแสดงว่าเป็นการเทียบ superiorty ของ ticagrelor ต่อ prasugrel อย่างแน่นอน
โดยเมื่อใช้ relative risk ที่ลดลง 22.5% จะใช้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มละ 1,895 คน มีการเก็บเผื่อออกจากการศึกษาเอาไว้แล้วด้วย และเมื่อคิดตัวเลขจริงเมื่อคิด drop out แล้วก็ยังสามารถเพียงพอจะเอามาคิดและ drop out ที่เกิดขึ้นไม่ได้มากเกินไป ผล Intention To Treat และ Per Protocol คงไม่ต่างกัน
มาดูคนที่ withdraw จะพบว่าแม้กลุ่ม ticagrelor จะน้อยกว่า แต่ว่าปริมาณคนที่เกิดผลข้างเคียงสำคัญคืออาการเหนื่อยจากยา ticagrelor พบว่ามากกว่ากลุ่มที่ได้รับยา prasugrel อย่างชัดเจน ตรงนี้อาจเป็นประเด็นสำคัญต่อผลการศึกษานอกจากกลุ่ม prasugrel ที่มีโอกาสเลือกการรักษาจากการเห็นพยาธิสภาพก่อนการให้ยาอีกด้วย
ใช้ Cox-Proportional Hazard ratio เพื่อเกลี่ยความแปรปรวนของช่วงเวลาของ time to event analysis และใช้ ITT ในการวิเคราะห์
คราวนี้มาดูผลพร้อมกับการวิเคราะห์ แล้ววิจารณ์ไปพร้อม ๆ กัน เรามาพูดถึงผลการวิเคราะห์หลักก่อนคือ อัตราการเสียชีวิต การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และการเกิดอัมพาตที่เป็นผลรวม ปรากฏว่าในด้านที่ให้การรักษาด้วย ticagrelor เกิดเหตุ 9.1% ส่วนด้าน prasugrel เกิด 6.8% เมื่อคำนวณทางสถิติแล้วพบว่า Hazard ratio 1.39 (95%CI 1.09 - 1.70) ได้ค่า p=0.006 มีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลที่เกิดเป็นผลรวม แล้วมาดูผลย่อยว่าความแตกต่างนี้เกิดจากผลอันใดกันแน่ในสามอัน ปรากฏว่าเกิดจากการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซ้ำที่ต้องแก้ไขเป็นหลัก (ทั้ง STEMI และ NSTEMI ที่การรักษาต่างกันนะ ..อย่าลืม !) อันนี้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการตายโดยรวมและการเกิดอัมพาตแทบไม่ต่างกันเลย
เมื่อมองแบบนี้เรียกว่าพลิกโผพอสมควร เพราะว่าตามตัวเลขที่ผ่านมา ticagrelor เกิดเหตุน้อยกว่า แต่พอผลการศึกษานี้กลับเกิดเหตุมากกว่า แถมมีนัยสำคัญด้วย แต่ส่วนตัวผมยังติดใจสองสามประการ
- ผลที่ต่างมาจากหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นหลัก และประเด็นนี้ที่มีความโน้มเอียงได้มาก เพราะกลุ่มที่ได้ prasugrel ได้เห็นพยาธิสภาพหลอดเลือดก่อนอีกกลุ่มและเลือกการรักษาก่อนให้ยาอีกด้วย น่าจะมีข้อกังขาเรื่อง bias ตรงนี้
- มาดูอัตราการเกิดโรคที่ไม่เกิน 10% ทั้งคู่ จะเห็นว่าน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ ผู้วิจัยบอกว่าเพราะ definitions ของ myocardial infarction ที่แตกต่างกัน แต่ไม่น่ามีผลกับ power และ type II errors
- มีคนที่เลิกใช้ยาและออกจากการศึกษาในกลุ่ม ticagrelor มากกว่า อย่าลืมว่าคิดแบบ intention to treat นะ ผลที่เกิดมากกว่าใน ticagrelor ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงของ ticagrelor ที่ทำให้ต้องออกจากการศึกษา ผลปกป้องจึงไม่ได้ดีกว่ากลุ่ม prasugrel ที่ออกจากการศึกษาเพราะตัวยาน้อยกว่า หรือเป็นจากกลไกการต้านเกล็ดเลือดของ ticagrelor ที่เป็นแบบ reversible จึงเกิดเหตุเมื่อหยุดยามากกว่า prasugrel
- stent thrombosis เกิดขึ้นน้อยกว่าในกลุ่มที่ได้ prasugrel แม้จะไม่มีนัยสำคัญ แต่ก็น่าคิดน่าสนใจ เพราะ primary endpoint ถูกขับเคลื่อนจากการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซ้ำ อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ticagrelor ด้อยกว่า
- เมื่อจบการศึกษาในโรงพยาบาล ทั้งสองกลุ่มได้รับยากลับไปเท่า ๆ กัน แต่เมื่อติดตามหลังจากออกโรงพยาบาลไป มีคนที่ไม่ใช้ยาต่อถึง 19% และพบมากกว่าในกลุ่มที่ได้ ticagrelor อันนี้อาจส่งผลให้ presugrel ดูดีกว่า
- การติดตามการรักษาใช้การโทรศัพท์สอบถาม ติดตามทางโทรศัพท์เป็นหลัก สูงถึงเกือบ 80% จุดนี้อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้
ส่วนเรื่องเลือดออกพบกว่าทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกัน
การศึกษาก่อนหน้านี้บอกว่า prasugrel ไม่ได้เหนือกว่า clopidogrel หากเป็นการรักษาแบบไม่ทำหัตถการหลอดเลือด (ฉีดสีดูเฉย ๆ หรือไม่ได้ฉีด) แต่ ticagrelor เหนือกว่า clopidogrel นะ แต่เมื่อ ISAR-REACT 5 ออกมาแล้วเอาละสิ prasugrel เหนือกว่า ลองไปชำเลืองมองดูสิ STEMI ก็พอกัน NSTEMI ก็พอ ๆ กัน คือ 40% กว่า ๆ ทั้งคู่ แถมทำหัตการหลอดเลือด 83-84% พอ ๆ กัน ที่ไม่ทำหัตถการหรือไม่ผ่าตัด แค่ให้ยามีประมาณ 15% เท่า ๆ กัน
แสดงว่าการได้เห็นพยาธิสภาพก่อนหรือหลังให้ยา ไม่ได้ส่งผลเปลี่ยนการรักษามากนัก ลดความโน้มเอียงที่กังวลตอนแรกลงไปได้สักหน่อย (investigator bias, allocation concealment) และไม่ว่าให้การรักษาในลักษณะใด กลุ่มย่อยแบบใด ผลออกมาก็แสดงไปในทางเดียวกันว่า การรักษาแบบ prasugrel มีโอกาสการเกิดโรคซ้ำน้อยกว่าการรักษาแบบ ticagrelor
**ขอย้ำอีกครั้งว่าลำดับการให้ยาและวิธีรักษาต่างกัน ไม่เพียงแค่ตัวยาต่างกัน**
จุดเด่นมากที่สุดของการศึกษานี้คือ head to head trial ที่ไม่มีมากนักและอาจนะไม่มีอีกแล้วก็ได้ การศึกษานี้จึงอาจจะเป็นการศึกษาสำคัญที่เปลี่ยนแนวทางได้
ผมคิดว่า ในการรักษา STEMI คงไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไรจะใช้ยาใดก็ได้ ส่วน NSTEMI อันนี้อาจจะเปลี่ยนได้ คือสามารถใช้ prasugrel ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ในระดับเดียวกันกับ ticagrelor และมั่นใจที่จะให้ยาต่อระยะยาว แม้ว่าจะไม่ได้ใส่ขดลวดค้ำยันก็ตามที รวมถึงมั่นใจว่าการใช้ยาน่าจะมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์น้อยกว่า ticagrelor อีกด้วย แต่จะเปลี่ยนจริงไหม คงต้องมีการศึกษามากกว่านี้ทั้งแบบเดียวกัน และการศึกษาเพื่อดู cost-benefit
ใครมีความเห็นอย่างไรบ้าง ???
#ticagrelorไม่ชอบสิ่งนี้

บทความที่ได้รับความนิยม