16 ตุลาคม 2562

คำศัพท์ โรคหืดและยา

มาเรียนรู้และรู้จักศัพท์ปอด ๆ กันนะครับ
asthma อ่านว่า แอ๊ธ-ม่า อย่าลืมแลบลิ้นออกมาแตะฟันบนตรงสะกด -th ด้วยนะครับ อยากให้เรียกชื่อโรคนี้ว่าโรค "หืด" ไม่ใช่โรคหอบหรือไม่ใช่โรคหอบหืด โรคหืดเป็นโรคการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้มีการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อหลอดลมและหากเป็นต่อเนื่องนาน ๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เรียกว่า airway remodelling ทางเดินหลอดลมและแคบลงถาวร ไม่ยืดหยุ่น ดังนั้นการควบคุมโรคจึงไม่ควรหยุดแค่ไม่มีอาการ แต่จะต้องป้องกันการเปลี่ยนแปลงถาวรและลดโอกาสจะกำเริบในอนาคตด้วย
COPD : Chronic Obsrtuctive Pulmonary Disease : โรคนี้ก็มีการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจเช่นกัน แต่เป็นมากกว่าโรคหืด ทำลายเยื่อบุ กล้ามเนื้อ ถุงลม เป็นการทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนอย่างโรคหืด การรักษาจึงทำเพียงชลอการดำเนินโรคเป็นหลัก โรคนี้มีชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่าโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง แต่เราเรียกง่าย ๆ เข้าใจกันว่า "ถุงลมโป่งพอง" ผู้ป่วยโรคนี้เกือบทั้งหมดเกิดจากการสัมผัสสารกระตุ้น (noxious gas or noxious stimuli) เช่น ควันบุหรี่
LABA : Long-Acting Beta adrenergic agonist : คือยาขยายหลอดลมที่มีฤทธิ์กระตุ้นตัวรับเบต้าสองที่หลอดลม ชนิดออกฤทธิ์ยาว ยากลุ่มนี้จะไปกระตุ้นตัวรับเบต้าสอง ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมที่บีบรัดหลอดลมให้คลายตัว เส้นผ่านศูนย์กลางหลอดลมจึงกว้างขึ้น ปัจจุบันถือเป็นยาขยายหลอดลมหลักในการควบคุมอาการ การควบคุมโรคดีกว่ายาที่ออกฤทธิ์สั้นอย่างชัดเจน มีทั้งแบบรวมกับ ICS หรือรวมกับ LAMA หรือรวมสามตัว ปัจจุบันมีแบบแยกใช้เดี่ยว ๆ อีกด้วย สิ่งที่อยากบอกอีกอย่างคือหากเรากินยาต้านเบต้าในการรักษาโรคหัวใจ ก็ไม่ได้ส่งผลมากมายอะไรกับการกระตุ้นเบต้าที่หลอดลมนะครับ
LAMA : Long-Acting Muscarinic Antagonist : คือยาขยายหลอดลม ที่มีฤทธิ์ยับยั้งตัวรับกระแสประสาทอัตโนมัติชนิด มัสคารินิก ออกฤทธิ์ยาวเช่นกัน สังเกตว่าเป็น anta-agonist คือออกฤทธิ์ยับยั้งหรือไปทางตรงข้าม เช่นกันคือนอกจากทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัวและหลอดลมขยายขนาด ยังลดการหลั่งสารคัดหลั่งจากเซลล์ทางเดินหายใจอีกด้วย การศึกษาที่ออกมาก็ทำงานได้ดีพอ ๆ กับ LABA สามารถใช้งานเดี่ยวก็ได้ และเมื่อรวมกับ LABA จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เรามักจะใช้ในโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังมากกว่าโรคหืดเล็กน้อย เพราะอยากจะใช้ LABA+LAMA มากกว่าการให้ ICS ในการรักษาหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง มีแบบยาเดี่ยวและยารวมครับ
ICS : inhaled corticosterois : คือยาสเตียรอยด์ที่ทำมาอยู่ในรูปละอองฝอย 5-10 ไมครอน เพื่อให้สูดได้ลึกพอ ลงไปถึงหลอดลมเล็ก ๆ ถ้าใหญ่ไปจะหนักลอยไปไม่ไกล ถ้าเล็กไปเดี๋ยวลอยออกมากับลมหายใจ เพื่อไปลดการอักเสบในหลอดลมนั่นเอง เมื่อออกฤทธิ์มากในหลอดลมและไม่ค่อยไปออกฤทธิ์ที่อื่น ทำให้ผลการรักษาดีในที่ที่เราต้องการคือหลอดลมและผลข้างเคียงกับระบบอวัยวะอื่นน้อยมาก ถือเป็นยาหลักในการรักษาโรคหืด แม้จะควบคุมอาการได้ดีแล้วก็ควรสูดต่อเพื่อยับยั้งการดำเนินโรค มีทั้งแบบเดี่ยว ๆ ที่เริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันมักจะรวมกับ LABA หรือบางทีมาเป็นรวมสามตัว LABA+LAMA+ICS
SABA : Short-Acting Beta adrenergic Agonist : ตรงข้ามกับ LABA คือเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้นแต่เร็ว ใช้เพื่อแก้ไขอาการเฉียบพลันไม่ว่าจะหืดกำเริบหรือถุงลมโป่งพองกำเริบ ไม่ใช้เป็นยาควบคุมระยะยาวอีกต่อไป เวลาพกไว้ก็พกไว้เกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ดังนั้นคนที่คุมอาการได้ดีจะแทบไม่ใช้ยานี้เลย หรืออีกแบบคือแบบพ่นละองฝอยในโรงพยาบาล ยาแบบหลอดส่วนมากจะเป็น meter-dose inhaler คือใช้แก๊สและกดพ่นเข้าปาก ต้องกะจังหวะการสูดให้สัมพันธ์กับการหายใจ (โอกาสใช้ผิดพลาดสูง ไม่นิยมใช้เพื่อควบคุมระยะยาว)
Red War Day : วันแดงเดือด คือวันที่มีการแข่งขันของสองทีมที่ใช้สัญลักษณ์สีแดงของลีกสูงสุด คือ ทีมที่มีอดีตอันยิ่งใหญ่ ทีมชุมชนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และทีมแชมป์ในปีนี้ ทีมแห่งจักรวาล ลิเวอร์พูล การแข่งขันมักจะดุเดือด ใบเหลืองพริ้วไหว ใบแดงปลิวว่อน ใส่กันไม่ยั้ง และจะจบลงด้วยชัยชนะแบบ "หืด"ขึ้นคอของหงส์แดงลิเวอร์พูลอยู่ร่ำไป ....เดี๋ยวหาว่าไม่เกี่ยวกับหืด มีคำว่าหืดนะ... 20 ตุลา หงสาครองบัลลังก์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม