02 ตุลาคม 2562

"นม" (lactose intolerance)

วันนี้เรามาฝึกสู้กับ "นม" (lactose intolerance) ใครเจอนมแล้วทนไม่ได้ต้องอ่าน
เรามีนมปราศจากแลคโตส (lactose free milk) ที่ราคาแพงกว่านมกล่องธรรมดาหลายเท่า ผมเองจะควักเงินจ่ายก็เสียดายเหลือกำลัง มาลองดูข้อมูลใหม่ ๆ จาก clinical review ของ JAMA เรื่อง lactose intolerance กันบ้าง
ในน้ำนมมีน้ำตาลชื่อ lactose เป็นน้ำตาลที่เกิดจากการผสมกันของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว galactose และ glucose ร่างกายไม่สามารถดูดซึม lactose ได้ต้องอาศัยเอนไซม์ lactase ที่หลั่งออกมาจากผิวเซลล์ลำไส้เล็กช่วยย่อยให้เป็น glucose และ galactose จึงดูดซึมได้
ถ้าเราขาดเอนไซม์หรือเอนไซม์ไม่พอ แน่นอนว่าแลคโตสจะย่อยไม่ได้ ค้างอยู่ในลำไส้ ตัวมันเองจะดูดน้ำออกมาอยู่ในช่องลำไส้ทำให้ท้องเสียได้ และแบคทีเรียในลำไส้จะเข้ามาย่อยมาหมัก ทำให้เกิดอาการท้องอืดจากแก๊ส อึดอัด เป็นอาการหลักที่พบใน lactose intolerance
สาเหตุที่พบมากสุดคือ acquired type เกิดจากไม่ได้ดื่มนมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เอนไซม์ลดลง กรณีนี้เมื่อกลับมาดื่มอีกครั้งจะพอกระตุ้นได้ ...มีคำอธิบายเพิ่มด้านล่าง.. ส่วนอีกสองสาเหตุพบน้อยกว่าคือ congenital อันนี้ขาดตั้งแต่เกิด มีคำอธิบายเรื่องยีนที่ผิดปกติ และ secondary อันเกิดจากโรคของลำไส้ เกิดจากยา ที่ทำให้ผิวลำไส้เสียหาย เอนไซม์จึงพร่องไป
ปัจจุบันเราพบว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรม genetic polymorphisms ที่อธิบายว่าทำไมบางคนไม่ได้ดื่มนมมานานแล้วแต่ก็ไม่มีอาการเวลากลับมาดื่มใหม่ การตรวจสามารถใช้การตัดชิ้นเนื้อที่ลำไส้ไปตรวจทางพันธุกรรม 13910C>T แต่สาเหตุทางพันธุกรรมไม่ใช่อย่างเดียว ยังมีเรื่องแบคทีเรียในลำไส้ที่ย่อยแลคโตสด้วย หากเรากินนมตลอดเราจะมีแบคทีเรียช่วยย่อยแลคโตสเพิ่ม
จะเห็นว่าเมื่อเราทนแลคโตสไม่ได้ ย่อยแลคโตสไม่ได้ เราจึงเลิกดื่มนม ทิ้งสารอาหารอีกมากมายในนมทิ้งไป โดยเฉพาะแคลเซียมชั้นดี โปรตีนชั้นยอด แถมราคาไม่แพง แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ ทางเลือกแรกบอกแล้วคือดื่มนมที่แลคโตสน้อยมากจนเรียก lactose free milk
หรือเราไปหาแหล่งอาหารแคลเซียมอื่นแทนได้ เช่น บร็อกโคลี่ นมถั่วเหลือง (แลคโตสน้อยมาก) กุ้งหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมที่แลคโตสมันเปลี่ยนรูปไปแล้วเช่น ชีส หรือนมที่มีแบคทีเรียช่วยย่อยสำเร็จ คือ โยเกิรต์นั่นเอง แต่อย่าลืมว่ามันทดแทนนมแบบหนึ่งต่อหนึ่งไม่ได้ อาจจะต้องกินในสัดส่วนที่มากกว่านมหนึ่งแก้ว
ถ้าจะลองใช้น้ำนมนี่แหละ..เผื่อเราจะกลับมาทนนมได้ (ผมทนได้เสมอ) ให้ค่อย ๆ ดื่มนมทีละน้อยตั้งแต่หนึ่งฝา ไปเป็นหนึ่งเป๊ก เพิ่มไปเป็นหนึ่งก๊ง เพิ่มจนได้หนึ่งกั๊ก เราจะปรับตัวเพิ่มได้ เอนไซม์ lactase เราจะเพิ่มขึ้น แต่มันก็ไม่มากเหมือนในวัยเด็ก กินมาก ๆ ก็อืดเช่นกัน เป้าหมายคือ 240 ซีซีต่อวัน แค่นี้ก็พอ และใส่แคลเซียมจากแหล่งอื่นเพิ่ม ตีกลม ๆ วันละ 1 กรัม ถ้ากินอาหารหลายหลายจะพอแน่นอน
เมื่อเราทนนมได้ เราสบายเลย สามารถหาแหล่งแคลเซียมชั้นเลิศราคาไม่แพงได้ง่าย ๆ อิ่มอร่อยและนุ่มนิ่มอีกต่างหาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม