07 ตุลาคม 2562

COPD ไม่เคยเหนื่อยเพราะไม่ออกแรง

คนไข้ปอดอุดกั้นเรื้อรังของผม ไม่เคยเหนื่อย !!
แหมถ้าโฆษณาออกไปแบบนี้คนคงแห่มารักษาเต็มไปหมด ผมไม่ได้พูดผิดนะแต่พูดไม่หมด ผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังหรือที่เราเรียกว่าถุงลมโป่งพอง จะมีอาการอันหนึ่งที่ถือเป็น cardinal symptoms อาการหลักสำคัญนอกเหนือจากไอ มีเสียงวี้ด มีเสมหะ นั่นคืออาการเหนื่อย ตอนที่เป็นไม่มากก็เหนื่อยตอนออกแรง พอเป็นมาก ๆ นั่งหายใจยังเหนื่อย ผู้ป่วยจึงไม่ยอมขยับ ไม่ยอมออกกำลังกาย เพราะไม่อยากเหนื่อย เวลาถามกี่ครั้งจึงไม่เคยเหนื่อย
แม้ว่าเราจะแนะนำการออกกำลังกาย แต่เรามักจะพบบ่อย ๆ ว่าการออกกำลังกายไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไร การศึกษาในอดีตที่ผ่านมาข้อมูลยังก้ำกึ่ง ๆ มีการศึกษาจากอเมริกาอันหนึ่งน่าสนใจ ตีพิมพ์ใน JAMA network open เรื่องการจัดโปรแกรมการออกกำลังกายในผู้ป่วยถุงลมโป่งพองว่าจะช่วยลดการป่วยการตายหรือไม่เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน
ผมขอเล่าคร่าว ๆ ผู้วิจัยนำข้อมูลผู้ป่วย COPD ที่มีการกำเริบมาแล้วในหนึ่งปี ตรงนี้หมายถึงมีโอกาสกำเริบต่อไปมากขึ้น มาทำการวิจัยไม่เอาคนอายุน้อยกว่า 40, การอุดกั้นไม่ชัดเจน, เป็นมะเร็ง, อ้วนมาก, ไม่สามารถออกกำลังกายได้ นอกจากนั้นใครที่มาห้องฉุกเฉินเพราะอาการกำเริบจะนับเข้าการศึกษา
แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกรักษาตามเดิม กลุ่มทดลองจะมีการส่งจดหมายและโทรไปติดตาม กลุ่มทดลองนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น ได้รับจดหมายแล้วสนใจเข้าร่วมและได้รับจดหมายแล้วไม่เข้าร่วม หากเข้าร่วมจะได้รับการฝึก การแนะนำ walk on coaching program มีคำแนะนำการเดิน การนับก้าว การตั้งเป้าก้าวเดินในแต่ละสเต็ป การโทรติดตามผล การเข้ากลุ่ม เป็นเวลาหนึ่งปี แล้วมาดูสิว่ากลุ่มนี้จะมีโรคกำเริบน้อยกว่าไหม เข้ารพ. น้อยกว่าไหม หรือตายน้อยกว่าไหม
สิ่งที่พบปรากฎว่าทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะรักษาธรรมดาหรือแบบออกกำลัง โรคที่แย่ลงก็แย่ลงพอ ๆ กัน แต่กลุ่มที่ออกกำลังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
ประเด็นที่ผมสนใจไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่มันอยู่ที่ มีเพียง 25% ของคนที่ได้รับการเชื้อเชิญมาออกกำลังกายแบบดี ๆ ฟรี ๆ ที่มาร่วมการออกกำลังกายจริง ๆ แถม 25% ที่มาเข้าร่วมก็ไม่สม่ำเสมอและลดขนาดการออกกำลังลงเรื่อย ๆ (ทั้งที่เราคาดหวังความสม่ำเสมอและเพิ่มขนาดมากขึ้นเรื่อย ๆ) แน่นอนว่าถ้านับเฉพาะคนที่สนใจและทำตามนั้น คุณภาพชีวิตจะดีกว่ากลุ่มที่ไม่ทำตามหรือกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังเลย
แต่ประเด็นคือ คนสนใจน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นคำแนะนำมาตรฐานเสียด้วย หลายคนบอกว่า..อ้าว แล้วไง ผลลัพธ์ออกมาตอนท้ายก็เหมือนกันนี่ เข้ารพ.พอ ๆ กัน, กำเริบพอ ๆ กัน ตายพอกัน ก็จริงนะครับ เพราะการออกกำลังกายอย่างเดียวมันไม่ได้วิเศษถึงขั้นตายน้อยลงในคนที่เป็นโรคแล้วและกำเริบบ่อย มันต้องใช้มาตรการอื่นร่วมด้วย
มาตรการที่ควรทำคู่กัน ราคาไม่แพง ไม่มีผลเสีย ดีต่อคุณภาพชีวิต เพิ่มความแข็งแรงหัวใจและสุขภาพโดยรวมยังได้รับความสนใจน้อยมากจริง ๆ การทดลองนี้เป็นการทดลองที่เรียกว่า pragmatic trial คือเลียนแบบการรักษาจริง ไม่ได้ควบคุมเป๊ะเหมือน randomised controlled trial อันนั้นเป๊ะจริง แต่ไม่ค่อยตรงกับชีวิตจริง
ก่อนจะไปขั้นสูง เราต้องทำขั้นพื้นฐานให้ดีก่อนนะครับ ก่อนจะสนใจและว้าวกับการรักษาไฮเทคสุด ๆ ถามตัวเองก่อนว่าสิ่งพื้นฐานที่ต้องทำ ...ทำได้แล้วหรือยัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม