31 ตุลาคม 2562

ยาขับปัสสาวะ (diuretics) สำหรับใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง

ยาขับปัสสาวะ (diuretics) สำหรับใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
ชื่อเป็นยาขับปัสสาวะ ความจริงทำงานโดยยับยั้งการดูดกลับเกลือแร่โซเดียมและคลอไรด์ที่ท่อไต ..ย้ำอีกรอบว่าโซเดียมสำคัญมากในเรื่องความดันโลหิตสูง มีกลไกการทำงานหลายขั้นตอนทั้งจากความเข้มข้นของเนื้อไตและประจุไฟฟ้าของเกลือแร่ต่าง ๆ ได้ผลโดยรวมคือ ขับเกลือพร้อมกับน้ำ ก็ปัสสาวะนั่นแหละจึงชื่อยาขับปัสสาวะ และลดความดันโลหิตลงได้
ยาขับปัสสาวะที่ใช้มากในบ้านเราเพื่อการลดความดันโลหิตมีสามตัว
🌞🌞Hydrochlorothiazide เรียกย่อ ๆ ว่า HCTZ ยาที่มีมาแต่เก่าก่อน ใช้ได้ดีสำหรับลดความดันโดยเฉพาะกับกลุ่ม salt-sensitive สมัยก่อนเราใช้ขนาดสูง 25-50 มิลลิกรัม พบว่าการลดความดันไม่ได้ดีไปกว่าขนาดต่ำกว่าแถมมีผลเสียมากขึ้นด้วย ปัจจุบันจึงแนะนำใช้ 6.25,12.5 หรือ 25 มิลลิกรัม นอกจากยาเดี่ยว ๆ แล้วมักจะไปผสมกับยาลดความดันตัวอื่นด้วยเช่น valsartan/HCTZ, irbesartan/HCTZ ราคายานี้ถูกมาก
จุดด้อยของยานี้คือออกฤทธิ์สั้น ไม่ครอบคลุม 24 ชั่วโมงแต่กินวันละครั้ง การใช้ยาในขนาดที่สูงหรือบ่อยจะเกิดผลข้างเคียงได้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยมากจริง ๆ คือผลข้างเคียงด้าน metabolic เช่น โปตัสเซียมต่ำ โซเดียมต่ำ ยูริกสูง ไขมันขึ้น ทำให้แนวโน้มการใช้ลดลง และการศึกษาเพื่อลดอันตรายแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตนั้นพบว่าด้อยกว่ายากลุ่มอื่นชัดเจน
** ดังนั้นการใช้ HCTZ จะต้องระวังผลข้างเคียงเหล่านี้เสมอ **
🌎🌎Chlorthalidone เป็นยาที่มักจะใช้แทนกลุ่มยา Thiazide diuretics เวลาทำการศึกษา เช่นการศึกษา ALLHAT ที่โด่งดังในอดีต (แต่ผมว่าล้าสมัยไปแล้ว) ยานี้ออกฤทธิ์ยาวนานกว่า HCTZ ในขนาดเท่า ๆ กัน ออกฤทธิ์ครอบคลุม 24 ชั่วโมงแน่ (ความจริงเกินกว่านั้น) ทำให้สามารถใช้ยาวันละครั้งได้อย่างสบายใจ ขนาดที่ใช้มีทั้ง 25,12.5 มิลลิกรัมที่มีทั้งยาเดี่ยวและยาผสม เช่น azilsartan/chlorthalidone ราคาจะขยับแพงกว่า HCTZ
ประสิทธิภาพการลดความดันดีกว่า HCTZ ประมาณ 3 มิลลิเมตรปรอท ผลการปกป้องอวัยวะจากความดันโลหิตสูงดีกว่า HCTZ ผลข้างเคียงด้านเมตาบอลิกน้อยกว่า HCTZ หลายเท่า เว้นแต่โซเดียมต่ำนี่จะพอ ๆ กัน
Indapamide sustained released เป็นยาขับปัสสาวะที่ไม่ใช่ thiazide ดังเช่นสองตัวแรก แต่ออกฤทธิ์ตำแหน่งใกล้กันและกลไกคล้ายกัน ยานี้ออกฤทธิ์ยาวนานกว่า HCTZ ที่ขนาดเท่ากันและครอบคลุมมากกว่า 24 ชั่วโมงชัดเจน อีกทั้งประสิทธิภาพการลดความดัน การปกป้องอวัยวะจากผลแทรกซ้อนความดัน ดีกว่า HCTZ ลดความดันได้มากกว่า HCTZ ประมาณ 5 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่มีเทียบตรง ๆ กับ chlorthalidone
แทบไม่มีผลข้างเคียงทางเมตาบอลิกเลย บริหารยาวันละครั้ง ขนาดที่ใช้คือ 1.25 หรือ 2.5 มิลลิกรัม ขนาด 5 มิลลิกรัมใช้น้อยมาก เช่นกันราคาแพงที่สุด มียาเดี่ยวและยาผสม เช่น perindopril/indapamide, amlodopine/indapamide
สำหรับ chlorthalidone และ indapamide มีการศึกษาประสิทธิภาพในการลดความดันและป้องกันผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากโรคความดัน ไปเทียบกับยากลุ่มอื่นเช่น CCB (ส่วนมากคือ amlodipine) หรือ ACEI (ส่วนมากคือ lisinopril) พบว่าประสิทธิภาพสูสีกับยากลุ่มอื่น เป็นที่เชิดหน้าชูตาของกลุ่มยาขับปัสสาวะได้
ขนาดที่เทียบเท่ากันของ diuretics คือ HCTZ 25 มิลลิกรัม, chlorthalidone 12.5 มิลลิกรัม, indapamide 2.5 มิลลิกรัม
จำไว้นะครับ
"ความดันสูงให้กินยาขับเยี่ยว ความดันเสียวให้ขับออกคงยาก"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม