ไข้อันมีต้นกำเนิดจากเนื้องอก
ตามปรกติแล้วเวลามีไข้เราจะคิดถึงการอักเสบหรือการติดเชื้อก่อน และควรจะต้องสืบค้นเพื่อหาโรคดังกล่าวก่อนเสมอเพราะพบบ่อยกว่าและรักษาได้ดี แต่เมื่อแยกโรคต่าง ๆ ได้พอสมควรว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อหรือการอักเสบหรือจากยา สิ่งที่ต้องนึกถึงไว้ด้วยคือ ไข้จากเนื้องอก
เราเชื่อว่ามีเนื้องอกบางอย่างสามารถหลั่งสารหรือกระตุ้นสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดไข้ให้ทำงาน เช่น interleukin-1, tumor necrosis factor alpha ทำให้ผู้ป่วยโรคเนื้องอกเหล่านี้มีอาการไข้ร่วมหรือมีอาการไข้เป็นอาการนำ
ลักษณะสำคัญของไข้จากเนื้องอกคือ มีไข้สูงอย่างน้อยวันละครั้ง เวลาไม่ต่ำกว่าสองสัปดาห์ (เวลาอาจจะสั้นกว่านี้หากเจอสาเหตุเร็ว) ไข้ไม่ค่อยสัมพันธ์กับความดันที่ไม่ค่อยเพิ่มหรือชีพจรที่ไม่สูง ซักประวัติ ตรวจร่างกายและสืบค้นพื้นฐาน ไม่พบหลักฐานของการติดเชื้อ การอักเสบ ภูมิแพ้ ตัดสาเหตุจากยา การให้เลือด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง เราถึงจะคิดว่าเกิดจากเนื้องอก ไม่ว่าเราจะเจอเนื้องอกแล้วหรือกำลังจะหาเนื้องอกก็ตามที
อาการไข้มักจะไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้พาราเซตามอล แต่อาจจะตอบสนองต่อการใช้ยา NSAIDs โดยเฉพาะอย่างยิ่งยา naproxen จนมีการทดสอบที่เรียกว่า Naproxen โดยให้ยานี้ขนาดปรกติสามวัน ไข้จะลดลงเร็วและลดลงดี รวมถึงอาการไม่สุขสบายอื่น ๆ (แต่ต้องทดสองหลังจากแยกสาเหตุอื่นไปก่อนและสงสัยไข้จากเนื้องอกจริง ๆ )
เนื้องอกที่มักเกิดไข้บ่อยคือ เนื้องอกและมะเร็งของเม็ดเลือด (มีคำว่าเนื้องอกแสดงว่าอาจจะไม่ใช่มะเร็งก็ได้) เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ส่วนมะเร็งอื่นที่อาจพบได้คือ มะเร็งเนื้อไต (renal cell carcinoma), มะเร็งเนื้อตับ (hepatocellular carcinoma), มะเร็งเนื้อสมองชนิดรุนแรง (glioblastoma multiforme), มะเร็งรังไข่ และเนื้องอกของเซลล์ต่อมน้ำเหลือง
การรักษานอกจากรักษาเนื้องอกต้นสาเหตุแล้ว การรักษาตามอาการที่นิยมใช้คือ NSAIDs แต่ถ้ามีข้อห้ามอาจใช้ยาสเตียรอยด์แทนได้ (อย่าลืมว่าก่อนการวินิจฉัยนี้จะผ่านการแยกโรคติดเชื้อมาก่อนแล้ว)
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "ไข้มีหลายสาเหตุ ไม่ใช่ว่าไข้ต้องเป็นโรคติดเชื้อ และไม่ใช่ว่ามีไข้แล้วต้องให้ยาฆ่าเชื้อทุกครั้งไป"
จาก ลุงหมอ ศิษย์ครูป้อนสอนอังกฤษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น