06 เมษายน 2563

ห้ามพ่นแอลกอฮอล์ล้างมือบนอาหาร

แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ก็ควรไว้ทำความสะอาดมือเท่านั้น
นำแอลกอฮอล์ล้างมือไปพ่นผลไม้ ไม่แนะนำนะครับ อาจเกิดพิษจากแอลกอฮอล์ได้ 

แอลกอฮอล์ที่เราใช้ทำความสะอาดมือกันทุกวันนี้ ไม่นับอันที่ปลอมหรือไม่ได้มาตรฐานนะครับจะแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ

แอลกอฮอล์เจล ส่วนประกอบคือ เอธิลแอลกอฮอล์มากกว่า 70% 

แอลกอฮอล์แบบน้ำหรือฉีดพ่น ส่วนประกอบมีสองแบบคือ แบบเอธานอล และแบบ isopropranol ซึ่งส่วนมากในท้องตลาดและที่ใช้ในโรงพยาบาลก็เป็น isopropranol

ไม่ว่าแบบใด ออกแบบมาใช้งานกับการล้างมือเท่านั้น ห้ามไปใช้กับอาหารโดยเฉพาะกับการฉีดพ่นเปลือกผลไม้ เพราะมันไม่ระเหยไปหมดนะครับ มีบางส่วนยังคงอยู่ เปลือกผลไม้ไม่ใช่ผิวหนังเรา จะมาใช้หลักการเดียวกันไม่ได้ และเปลือกผลไม้ยังมีประจุอีกด้วย ทำให้เกิดพันธะเคมีที่จับกันแน่นกับแอลกอฮอล์ฉีดพ่น มันจึงไม่หายไปง่าย ๆ 

และยังมีส่วนที่ดูดซึมเข้าไปในเนื้อในเปลือกอีก เรียกว่าแอลกอฮอล์นั้นไม่หายไปอย่างที่เราคิด อย่างที่เราเข้าใจว่าคงเหมือนการล้างมือ
(ขอขอบพระคุณแหล่งความรู้เคมีจากพ่อครัวเคมีครับ)

แล้วอันตรายไหม ปริมาณที่เข้าไปคงไม่มากแต่บอกไม่ได้เต็มปากว่าปลอดภัย ทางที่ดี ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ล้างมือมาฉีดพ่นอาหารนะครับ 

คำถามคือหากเข้าไปมาก ๆ หรือดื่มเข้าไปจะเกิดอันตรายไหม (มีรายงานเยอะเลยนะครับ) ทั้งแบบเข้าใจผิด เช่นเด็กดื่มเข้าไป ไม่ติดฉลากให้ชัดเจน หรือพวกที่เจตนาดื่มเพราะต้องการแอลกอฮอล์

ปกติแล้วผู้ผลิตจะผสมสารที่ทำให้คลื่นไส้อาเจียนออกมาครับ กลิ่นจะไม่พึงประสงค์ ทำให้มีอาการระคายเคือง ที่สำคัญคืออาจทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้หากได้รับมากและอาเจียนมาก แม้จะอาเจียนมากแต่เจ้าไอโซโพรพรานอลนี้มันดูดซึมเร็วมาก ๆ เลยนะครับไม่เกินสามสิบนาทีดูดซึมเข้ากระแสเลือดหมดแล้ว 

พิษที่สำคัญคือจะไปกดการทำงานของสมอง ทำให้ซึม ง่วง เบลอ หมดสติ บางคนมีรายงานชักเกร็ง อันนี้อย่างเดียวไม่พอ ยังไปกดการหายใจ ทำให้หายใจช้าลง ลดการหายใจไม่ว่าจะขาดออกซิเจนเท่าไรหรือคาร์บอนไดออกไซด์คั่งเท่าไร ก็ไม่สามารถกระตุ้นกลไกการหายใจตามปรกติได้ แถมระบบประสาทถูกกดการทำงานอีก อันนี้จะอันตรายมาก ขาดออกซิเจนถึงตายหรือสมองพิการได้เลยครับ

สำหรับไอโซโพรพรานอล จะมีลักษณะสำคัญคือ จะพบคีโตนสูงมากในร่างกายทั้งในเลือดและปัสสาวะ โดยที่ไม่รบกวนสภาพความเป็นกรดด่างของร่างกายเลย (ketosis without acidosis)

การรักษาคือประคับประคองอาการให้ดี รอให้ร่างกายสลายสารพิษ แต่ถ้าในกรณีที่พิษมากจนกดการหายใจต้องใช้การรักษาโดยการฟอกเลือดครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม