02 เมษายน 2563

ตรวจสารพันธุกรรมของมะเร็งได้จากการตรวจเลือด

ถ้าเราสามารถตรวจสารพันธุกรรมของมะเร็งได้จากการตรวจเลือดล่ะ !!!
ร้อยกว่าปีก่อน ในปี 1869 มีการค้นพบว่าเซลล์มะเร็งบางส่วน สามารถหลุดเข้ามาอยู่ในกระแสเลือดได้ (อันนี้ไม่นับมะเร็งระบบโลหิตวิทยานะครับ เพราะมันอยู่ในเลือดอยู่แล้ว) ทำให้ตอนนั้นเกิดจุดประกายความคิดว่า จะดีเพียงไหนหากเราสามารถตรวจมะเร็งได้จากการเจาะเลือด คำถามที่ยังคาอยู่ตอนนั้นคือ
× ไม่รู้ว่ามะเร็งชนิดใดบ้างที่จะเจอเซลล์ของมันในกระแสเลือด
x ความเข้มข้นของเซลล์เทียบกับน้ำเลือดหรือเซลล์เม็ดเลือดอื่น ๆ ก็เจือจางลางเลือนเหลือเกิน ยากที่จะตรวจจับได้
x เซลล์ที่เสื่อมอายุหลายเซลล์ก็มีหน้าตาเหมือนเซลล์มะเร็ง แล้วจะแยกอย่างไร
x คำถามนี้เริ่มคลี่คลาย ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้ามากขึ้น
เราเริ่มมีการตรวจพบสารพันธุกรรมของมะเร็ง แทนที่จะเป็นการตรวจเซลล์เพราะมีความเฉพาะเจาะจงเป็นรหัสประจำตัวมะเร็งมากกว่าที่จะใช้แค่หน้าตาดูคล้ายมะเร็งเท่านั้น เหมือนลุงหมอกับกงยู ถ้าไม่ดูพาสปอร์ตก็แยกกันไม่ออก พาสปอร์ตก็เปรียบเหมือนดีเอ็นเอนั่นเอง
วิทยาการปัจจุบันสามารถตรวจ cfDNA (circulating-cell free DNA) ตรวจหา DNA ของเซลล์ต่าง ๆ ที่ล่องลอยในกระแสเลือดโดยไม่ต้องเอาเซลล์เป็น ๆ มาสกัดเอา DNA ก่อน เรียกว่าย่นระยะเวลาและแม่นยำสูง หลังจากที่เราได้พิมพ์เขียวดีเอ็นเอของเซลล์ต่าง ๆ ในตัวคนอย่างครบถ้วนสมบูณ์ เราก็คาดหวังว่าเราน่าจะตรวจหาสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดได้เช่นกันที่เรียกว่า ctDNA (circulating tumor DNA)
เพราะเรารู้แล้วว่า เซลล์มะเร็งเกิดจากการควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของยีนในสายดีเอ็นเอนั้น และดีเอ็นเอเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวของเซลล์ รวมถึงเซลล์มะเร็ง การตรวจสอบดีเอ็นเอจึงมีความแม่นยำสูงมาก แต่ยังติดอีกสองปัญหา
หนึ่ง .. เราจะสกัดเอา ctDNA ออกมาจาก cfDNA ได้อย่างไร เพราะปริมาณเซลล์มะเร็งที่ร้ายกาจเพียงใดก็น้อยกว่าเซลล์ปรกติร่างกายอยู่ดี ต้องมีวิธีที่แม่นยำพอ นอกจากจะตาไวเลือกจับได้แม่น ยังจะต้องไม่จับผิดด้วย เพราะหาก cfDNA เกิดมีความผิดปรกติเล็กน้อยตามธรรมชาติแต่ไม่ใช่มะเร็ง จะต้องไม่ถูกโดนไปในกลุ่มมะเร็ง ทำให้วินิจฉัยพลาด (false positive)
สอง .. หากเราสกัดเอา ctDNA นั้นออกมาได้ หมายถึงเราจะต้องมีพิมพ์เขียวให้เทียบครบถ้วน ถ้า DNA นี้คือมะเร็ง เกิดมีมะเร็งที่ไม่ได้มีในพิมพ์เขียว หมายถึงจะหลุดรอดไปได้ จะถูกสรุปว่าไม่เป็นมะเร็ง (false negative) เพราะไม่มีฐานข้อมูล
มาถึงในยุคปัจจุบัน วิทยาการก้าวหน้าจนสามารถ "ใกล้" จะปิดจุดบกพร่องทั้งสองได้ด้วยวิธี digital PCR ที่ตาไวและแม่นเป๊ะ รวมกับวิธี next generation sequencing (NGS) ที่สามารถระบุความผิดปกตินอกพิมพ์เขียวและวิเคราะห์ความผิดปกติใกล้เคียงมะเร็งได้ และอีกไม่นาน big data กับ artificial intelligence จะมาช่วยตรงนี้ทำให้เราสามารถวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น
ปัจจุบันมีที่ใช้คือ การตรวจ ctDNA เพื่อหาลำดับยีนที่ผิดปกติในมะเร็งปอด เพื่อบอกชนิด บอกการตอบสนองต่อการรักษามุ่งเป้า เช่นหายีน EGFR ในกระแสเลือด เพื่อดูว่ามะเร็งปอดชนิด non-small cell lung cancer จะตอบสนองต่อยามุ่งเป้า Tyrosine Kinase Inhibitor หรือไม่
ในอนาคตน่าจะมีใช้มากกว่านี้ หลากข้อบ่งชี้ หลายชนิดมะเร็ง จากการตรวจเลือดที่เราเรียกว่า Liquid Biopsy แต่อย่างไรก็ต้องร่วมกับประวัติ การตรวจร่างกาย ภาพถ่ายรังสีหรือผลการตรวจชิ้นเนื้อเบื้องต้นอยู่ดี ยังไม่สามารถเจาะเลือดตรวจแล้วบอกได้ว่าเป็นหรือไม่เป็นมะเร็ง เรายังไม่ไปถึงขั้นนั้นนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม