เพื่อความเข้าใจเรื่อง แอนติบอดี ตอนที่สาม : ข้อคิดก่อนใช้
เอาล่ะเมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว คิดว่าทุกคนคงเข้าใจพื้นฐานที่ง่ายที่สุดเกี่ยวกับแอนติบอดีเพื่อการวินิจฉัยแล้ว เรามาดูตัวอย่างที่น่าจะให้ความคิดรวบยอดได้ดี
ตัวอย่างที่หนึ่ง การตรวจแอนติบอดีเพื่อวินิจฉัยโรคติดเชื้อเอชไอวี ประเด็นเรื่องนี้คือ แอนติบอดีมันมี window ดังนั้นเมื่อพบผลเป็นลบ อย่าเพิ่งไปแปลว่าไม่เป็นโรค เพราะในช่วงสองสัปดาห์แรกที่ติดเชื้ออาจจะยังตรวจแอนติบอดีไม่พบ สิ่งที่จะช่วยคือ ประวัติการสัมผัสโรค ประวัติเสี่ยงนั่นเอง แม้ชุดตรวจปัจจุบันจะพัฒนามาถึงรุ่นที่สี่ ที่มีความไวและความจำเพาะสูงร่วมกับการตรวจจับแอนติเจน (ชิ้นส่วนของเชื้อ) ก็ยังมีช่วงที่ผิดพลาดเป็นลบปลอมได้เช่นกัน
ตัวอย่างที่สอง การตรวจแอนติบอดีเพื่อให้การวินิจฉัยว่าเคยติดเชื้อไข้เลือดออกหรือไม่ ประเด็นเรื่องนี้คือ แอนติบอดีมันมีอายุของมันและลดลงได้ตามกาลเวลา หากร่างกายมีการติดเชื้อไข้เลือดออกและสร้างแอนติบอดีออกมา เมื่อผ่านไปสักระยะ (แต่ละคนไม่เท่ากัน) ระดับแอนติบอดีจะลดลงจนถึงขั้นตรวจจับไม่ได้ เราอาจจะแปลผลพลาดว่าไม่เเคยติดเชื้อ โดยเฉพาะดารพิจารณาการให้วัคซีนไข้เลือดออก ที่เราอยากให้กับคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วมากกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อเลย หากเราตรวจแอนติบอดีชนิด anti Dengue IgG ด้วยวิธี ELISA อาจจะตรวจไม่พบได้ จึงต้องใช้วิธีการตรวจวิธีอื่นคือ วิธี PRNT50
ตัวอย่างที่สาม การตรวจแอนติบอดีเพื่อระบุการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประเด็นคือ มันไม่ใช่ protective antibody การตรวจพบหมายถึงเคยติดเชื้อเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะกำจัดเชื้อได้ หรือสามารถปกป้องร่างกายจากเชื้อ ต่างจากการตรวจพบแอนติบอดีต่อไวรัสสุกใส ที่เป็นแอนติบอดีที่สามารถปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อได้
สำหรับการตรวจหาแอนติบอดีเพื่อตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARs-CoV 2) จะต้องดูด้วยว่า มี window period นานแค่ไหน ข้ามกลุ่มได้ไหม และการพบหมายถึงแค่เคยติดเชื้อหรือกำจัดเชื้อหมดแล้ว เราจึงต้องพิจารณาดี ๆ และมาก ๆ เวลาจะใช้ระดับแอนติบอดีใด ๆ เพื่อการวินิจฉัยครับ
รวมสามตอน คงจะเข้าใจเรื่องแอนติบอดีและภูมิคุ้มกันมากขึ้นนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น