28 พฤษภาคม 2565

ออกซิเจนกระป๋อง สดชื่น แก้เหนื่อย จริงหรือ จำเป็นหรือ

 ออกซิเจนกระป๋อง สดชื่น แก้เหนื่อย !!


ร่างกายคนเรามีวิธีการสกัดเอาออกซิเจนจากอากาศมาใช้ได้อย่างวิจิตรพิสดารมากและทรงประสิทธิภาพมากทีเดียว ตั้งแต่การใช้ระบบถุงลมปอดที่มีมากมายเพิ่มพื้นที่ การรีดเยื่อหุ้มเซลล์และผนังหลอดเลือดฝอยให้บางเฉียบสำหรับแก๊สออกซิเจน พัฒนาฮีโมโกลบินมาเพื่อจับออกซิเจนจากปอดไปส่งที่ต่าง ๆ มีระบบออกซิเจนละลายในน้ำเลือดเพื่อรักษาความดันออกซิเจน

ถ้าร่างกายเริ่มขาดออกซิเจน เนื้อเยื่อเริ่มขาดออกซิเจน (hypoxia) ไม่ว่าจะเกิดจากระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง (hypoxemia) เช่นมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือ เม็ดเลือดลดลง หรือเกิดจากส่งออกซิเจนไปไม่ถึงปลายทาง (decrease oxygen delivery) เช่น หัวใจล้มเหลว หรือช็อก

ร่างกายจะปรับตัวเพื่อทำให้การขนส่งออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อได้ดีที่สุด ไม่ว่าการหลั่งสารต่าง ๆ ไม่ว่าการเพิ่มการบีบตัวหัวใจ ไม่ว่าการเพิ่มการสร้างเม็ดเลือด หรือระดับออกซิเจนในเลือดที่ต่ำและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดที่คั่ง จะไปกระตุ้นให้สมองสั่งร่างกายสูดลมหายใจแรงขึ้นเร็วขึ้น

กระบวนการทั้งหมด ทำเพื่อรักษาระดับออกซิเจนให้คงที่และมากพอจะส่งถึงเนื้อเยื่อต่าง ๆ หากพบว่าความดันออกซิเจนในเลือดลดลง หรือความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดลดลง แสดงว่าสุดขีดที่กลไกร่างกายจะชดเชยได้และต้องช่วยเหลือ หนึ่งในวิธีนั้นคือ เพิ่มสัดส่วนและแรงดันออกซิเจนในอากาศที่เราสูดเข้าไป (มีหลายวิธีนะ เช่น เติมเลือด ให้สารน้ำ เพิ่มแรงบีบหัวใจ)

จากที่อธิบายมาจะเห็นว่าเราจะเติมออกซิเจนทางลมหายใจ เมื่อกลไกร่างกายชดเชยไม่ไหวเท่านั้น ซึ่งจะมีข้อบ่งชี้ชัดเจน เช่น ความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดต่ำและมีอันตรายจากออกซิเจนที่ต่ำนั้น ยังไม่พอนะครับ ควรจะมีการศึกษามารองรับด้วยว่าการเติมออกซิเจนในภาวะที่ขาดและอันตรายอันนั้นจะได้ประโยชน์ จึงเป็นข้อบ่งชี้การให้ออกซิเจนที่สำคัญ

เช่น การให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นและต้องกู้ชีพ โรคหืดกำเริบและออกซิเจนในเลือดต่ำ หรือบางภาวะเราก็ให้ออกซิเจนแม้ออกซิเจนในเลือดไม่ต่ำ เช่น ลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดแบบเกิดเอง

ในบางภาวะที่เราเคยให้ออกซิเจน ต่อมาพิสูจน์แล้วว่าไม่เกิดประโยชน์เช่น อัมพาตเฉียบพลัน หรือ หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ปัจจุบันนี้พบว่าหากไม่พบออกซิเจนในเลือดต่ำลง ก็ไม่ต้องให้ออกซิเจนทุกราย ออกซิเจน ถือเป็น 'ยา' ที่ให้ผิดพลาดและไม่มีข้อบ่งชี้มากที่สุดตัวหนึ่งของวงการแพทย์ครับ

ดังนั้น การสูดออกซิเจน โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่พิสูจน์แล้ว จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ในบางภาวะอาจเกืดอันตราย เช่น โรคถุงลมโป่งพองกำเริบ หากสูดออกซิเจนมากเกินไป อาจหยุดหายใจได้ และห้ามคิดว่า เติมไว้ให้เต็มไว้ก่อนหรือสำรองไว้ เพราะร่างกายเราใช้ออกซิเจนและปรับออกซิเจนแบบเรียลไทม์ ไม่มีสะสม มีระบบรักษาความอิ่มตัวออกซิเจนและความดันออกซิเจนในเลือดให้คงที่ เติมเข้าไปเท่าไร มันก็อาจไม่ได้เพิ่มจากจุดที่ดีที่สุดมากนัก

ดังนั้นหากไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ไม่ควรให้ออกซิเจนไม่ว่าในรูปแบบใดครับ แค่อาการเหนื่อย ไม่สดชื่น หรือกลัวว่าออกซิเจนจะต่ำ ไม่ต้องให้ออกซิเจนนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม