21 พฤษภาคม 2565

เราจะคัดกรองว่าเราแพ้อาหารชนิดใดด้วยการตรวจเลือด ได้หรือไม่ ?

 เราจะคัดกรองว่าเราแพ้อาหารชนิดใดด้วยการตรวจเลือด ได้หรือไม่ ?

การแพ้อาหาร คือ กินอาหารเข้าไปแล้ว อนุภาคโปรตีนส่วนหนึ่งในอาหารที่กิน (antigen) ไปกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผ่านทางเซลล์หลายชนิดและสารเคมีหลายชนิดในร่างกาย อาการจะเกิดขึ้นเร็ว ทันที ลุกลามทั้งทางเดินอาหารและนอกทางเดินอาหาร เช่น ผื่น ลมพิษ คัน ตาบวม หน้าบวม อาเจียน หรือรุนแรงมากอาจถึงขั้นกล่องเสียงและท่อหลอดลมตีบแคบ ระบบไหลเวียนล้มเหลว
ปฏิกิริยาชนิดนี้เรียกว่า ภูมิคุ้มกันไวเกิน (hypersensitivity) ชนิดที่หนึ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่ชื่อ mast cell ส่วนมากเกิดผ่านกลไกของภูมิคุ้มกัน immunoglobulin E (IgE) และหลั่งสารเคมีสุดท้ายที่เป็นเหตุทำให้เกิดอาการคือ ฮีสตามีน เราจึงใช้ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีนในการรักษาโรคนี้
เอาล่ะ เราพักไว้ตรงนี้ก่อน เรามาดูชุดการตรวจหาแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจงกับอาหารแต่ละชนิดกัน
การวินิจฉัยโรคแพ้อาหารจะใช้ประวัติการกินอาหารและอาการที่เกิด ร่วมกับการตรวจร่างกาย หากไม่ชัดเจนหรือระบุชนิดอาหารได้ยากจะมีการตรวจหลายชนิดที่ช่วยระบุเช่น การตรวจปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (skin prick test) ที่จะนำแอนติเจนเฉพาะต่อสารนั้นในปริมาณน้อย มาทำปฏิกิริยากับตัวเรา แล้วดูผลการทดสอบว่ามีผื่น มีลมพิษหรือไม่
ในบางรายที่มีประวัติการแพ้อาหาร แต่ยังไม่ได้ระบุชนิดที่ชัดเจน การตรวจหา specific immunoglobulins ต่ออาหารชนิดนั้นนับเป็น 'ทางเลือก' ทางหนึ่งเพื่อช่วยวินิจฉัยว่าอาจจะแพ้อาหารนั้น ไม่ได้แม่นยำถึงขนาดบอกว่าจะแพ้อาหาร ส่วนมากจะสัมพันธ์กับ ทนอาหารชนิดนั้นไม่ได้มากกว่า (ไม่ใช่ปฏิกิริยาภูมิไวเกิน)
โดยชนิดของอิมมูโนโกลบูลินที่ตรวจส่วนมากจะเป็น IgG ก็อาจจะไม่ได้ตรงประเด็นกับกลไกการเกิดโรคที่ผ่าน specific IgE สักเท่าไรนัก หรือแม้การตรวจหา specific IgE ต่ออาหารชนิดนั้น ก็ยังบอกได้แค่ 'น่าจะ' หรือมีโอกาสเกิดการแพ้ เมื่อร่วมกับประวัติและตรวจร่างกาย
คราวนี้เราเอาสองเรื่องมาผสมกันนะครับ คือ ความรู้พื้นฐานเรื่องปฏิกิริยาภูมิไวเกินและการแพ้อาหาร ว่าจะสามารถใช้การตรวจหา specific IgG (หรือบางที่มี IgE) เพื่อมาบอกโรคหรือให้หลีกเลี่ยงอาหารใด ๆ ได้หรือไม่ หากไม่เคยมีอาการใดมาก่อนเลย
ข้อแรกนะครับ การตรวจพบ specific Ig ต่ออาหารใด ไม่ได้สัมพันธ์กับการแพ้อาหารนั้นนะครับ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับทนอาหารนั้นได้หรือไม่ มากกว่าการแพ้ และการ 'ทนได้' หรือไม่ก็ไม่ได้ระบุจากเจอ Ig เท่านั้น ต้องอาศัยข้อมูลทางคลินิกประกอบเสมอ ดังนั้นไม่น่าจะใช้ได้ครับ
ข้อสอง ถึงแม้รายงานจากการตรวจจะออกมาว่าคุณมี specific Ig ต่ออาหารชนิดนี้ ไม่ได้หมายความว่าคุณแพ้อาหาร เอาล่ะ ถ้าผมสมมติว่าเป็นการแพ้อาหารจริง ๆ แล้วกันนะ และตรวจ Ig ขึ้นด้วย รายงานบอกว่าคุณแพ้ผลิตภัณฑ์จากนม (dairy products) คำถามคือ แล้วแพ้ส่วนไหนของนมล่ะ โปรตีนเวย์ โปรตีนเคซีน โปรตีนเฉพาะในนมวัว หรือจากชีส ปฏิกิริยาภูมิไวเกินจะเฉพาะกับแอนติเจนอันใดอันหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงใช้ในการคัดกรองและบอกโอกาสก่อนเกิดแพ้อาหารได้ยาก
ต่อเนื่องจากข้อสองนะครับ เกิดรายงานออกมาว่าคุณแพ้ dairy products แล้วคุณจะต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนม (ที่ก็ไม่รู้ว่าแพ้จริงหรือไม่) คุณจะมีค่าเสียโอกาสที่จะได้รับอาหารที่มีคุณค่าสูง โดยใช้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนมาตัดสิน
ข้อสามนะครับ การตรวจพบแอนติบอดี หรือ specific Ig ต่ออาหารใด ไม่ได้หมายความว่า Ig นั้น ๆ จะทำงานในรูปแบบแพ้อาหาร หรือจะทำงานในรูปช็อกแพ้อาหาร การตรวจพบไม่ได้หมายถึงมันต้องทำงานอย่างที่มันควรจะเป็นหรือที่เราคิด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คริสเตียโน่ โรนัลโด คือเครื่องหมายของการถล่มประตู แต่การตรวจพบคริสเตียโน่ โรนัลโดในทีมแมนยู ไม่ได้หมายถึงทีมแมนยูจะได้ประตูเป็นกอบเป็นกำเสมอไป หรือจะต้องชนะได้แชมป์เอฟเอคัพเสมอไปครับ
อ้าว …ดูเหมือนการเดินไปตรวจหา specific IgG หรือ IgE ต่ออาหารหลากหลายชนิด โดยไม่เคยแพ้มาก่อน จะไม่เกิดประโยชน์ใช่ไหม ??
เราไปดูคำประกาศจาก American Academy of Allergy ,Asthma and Immunology 2010 ออกมาประกาศว่า "IgG and IgG subclass antibody tests for food allergy do not have clinical relevance, are not validated, lack of sufficient quality control, AND SHOULD NOT BE PERFORMED." และ NIAID ก็ประกาศเช่นกัน
เช่นกันกับแคนาดา (Canadian Medical Associations) , อังกฤษและยุโรป (European Academy of Allergy and Clinical Immunology), ออสเตรเลีย (Australasian Society of Clinical Immunology and Allergy) ไม่แนะนำในการตรวจเพื่อคัดกรองหรือตรวจหาการแพ้อาหารในผู้ใหญ่ที่ไม่มีประวัติอาการของการแพ้อาหารมาก่อน เหมือนกันหมด (ไปค้นหาเรื่องนี้ได้ครับ จากองค์กรดังกล่าว อ่านฟรีทุกตัวเลย)
เรียกว่าหลักฐานไม่หนักแน่น คำแนะนำที่ออกมาจึงไม่แนะนำ เพราะไม่เกิดประโยชน์และอาจเกิดความเข้าใจผิดและเสียโอกาสอีกด้วยครับ แต่ถ้ามีอาการ มีประวัติ ให้คุณหมอที่เขาสงสัยส่งตรวจและแปลผล อันนี้ 'พอได้' นะครับ
อ้อ..ตำราอีกเล่มที่แนะนำะครับคือ Clinical and Molecular Immunology ของ Abul Abbas ครับ เจ๋งมาก
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม