22 พฤษภาคม 2565

ไขปริศนา การตายของโจโฉ

 ไขปริศนา การตายของโจโฉ

สาย ๆ วันอาทิตย์แบบนี้เรามานั่งโซฟานุ่ม ๆ จิบกาแฟอุ่น ๆ อ่านเรื่องราวเฟ้อฝันทางการแพทย์ของเราต่อไป วันนี้เรามาเล่าถึงโจโฉครับ
โจโฉ หรือ Cao Cao ในภาษาอังกฤษ หนึ่งในตัวละครเอกเรื่องสามก๊ก ผู้ควบคุมวุยก๊กและก่อร่างสร้างวุยก๊กจนยิ่งใหญ่
โจโฉดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ ควบคุมและรวบอำนาจทางการบริหารเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร อย่างเบ็ดเสร็จโดยควบคุมฮ่องเต้ทั้งหลังฉากและหน้าฉาก
เราอาจจะเคยอ่านหรือเคยรับฟังว่าโจโฉคือตัวร้ายสำคัญในสามก๊ก แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาคืออัจฉริยะคนหนึ่ง มีความเป็นเลิศทั้งบู๊และบุ๋น หมั่นเพียรศึกษา เรียนรู้ทุกศาสตร์เพื่อให้ตัวเองสามารถปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความฉลาดและเด็ดขาดยิ่ง กูรูหลายคนในไทยยกย่องโจโฉและเขียนเรื่องราวในมุมมองความโดดเด่นเชิงการปกครองของโจโฉมากมาย
แต่ข้อเสียสำคัญของโจโฉคือ ขี้กลัว หวาดระแวง ส่วนหนึ่งเป็นลักษณะนิสัยของเขา อีกส่วนเกิดจากมีคนจ้องจะสังหารเขาอยู่เสมอ ทำให้เขาประหารมือดีมือดัง ตัดขุนพลและเสนาบดีคู่ใจไปมากมาย และนี่ก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุของการตายของโจโฉ
หลังจากศึกเซ็กเพ็ก (ศึกผาแดง ในตอนโจโฉแตกทัพเรืออันโด่งดัง) โจโฉเริ่มมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง อาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อปวดก็จะรุนแรงพอสมควร ต้องให้แพทย์หลวงประจำราชสำนักมาทำการรักษาบ่อย ๆ
แพทย์หลวงคนหนึ่งของโจโฉ คือ จี๋ผิง (เกียดเป๋ง) ได้ร่วมกับฝ่ายปฏิวัติวางแผนสังหารโจโฉโดยการวางยาพิษ ผสมในยาแก้ปวด แต่โจโฉรู้ทัน เพราะมีหูตามากร่วมกับการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่ดี (หรือหมอยังละอ่อน) แพทย์หลวงจึงถูกสังหารไป
ระยะเวลากว่า 10 ปีหลังจากศึกเซ็กเพ็ก โจโฉสามารถยึดดินแดนและสยบกองกำลังอิสระในแคว้นต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก พร้อมกันกับอาการปวดหัวที่ค่อย ๆ รุนแรงขึ้น บรรดาแพทย์ราษฎร์แพทย์หลวง ได้รับการเทียบเชิญแกมบังคับให้มารักษาอยู่เรื่อย ๆ ผลัดหน้ากันเข้ามา รักษาดี โจโฉหายปวดก็รวยไป รักษาไม่หายก็ซวยไป
ทุกคนรักษาโดยการใช้ยาแก้ปวด ในนิยายไม่ได้ระบุ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มฝิ่นและกัญชา เพราะใช้เวลาไม่นานทุกคนและหายปวดแบบชะงัดในช่วงสั้น ๆ ต้องใช้ยาเดิมซ้ำอีก น่าจะเป็นสมบัติการติดยาของฝิ่น (ปัจจุบัน อนุพันธุ์ของฝิ่นที่มาใช้รักษาอาการปวดคือ มอร์ฟีน)
สุดท้ายอาการปวดรุนแรงขึ้นและเริ่มมีอาการเตือน (Red Flag Signs) อาการปวดศีรษะส่วนมากจะไม่ได้เกิดจากโรคอันตราย แต่ถ้ามีอาการเตือนบางอย่าง เช่น แขนขาอ่อนแรง ชักเกร็งกระตุก อาเจียนรุนแรง ตามัวภาพซ้อน อาจจะมีโรคในโพรงกะโหลกศีรษะ ต้องทำการสืบค้นเสมอ
อาการเตือนที่มาพร้อมปวดหัวของโจโฉคือ มีอาการวิงเวียนอาเจียน และตามัว (ไม่ได้ระบุว่าภาพซ้อนหรือไม่) อันเป็นอาการที่บ่งบอกถึงความดันในโพรงกะโหลกที่สูงขึ้น (increase intracranial pressure) อาจจะเกิดจากก้อนเนื้อที่โตขึ้น เกิดจากก้อนเนื้อไปอุดตันโพรงสมองทำให้น้ำในสมองคั่ง หรือเกิดจากลิ่มเลือดดำอุดตัน
ลักษณะสำคัญคือ ปวดรุนแรง เวลานอนมักจะปวดมากและปวดมากหลังตื่นนอน (อยู่ท่านอนทั้งคืน) เวลาไอจามจะปวดมากขึ้น อาจจะมีเดินเซ ตาพร่ามัวจากจอประสาทตาบวม และอาจมีภาพซ้อนจากเส้นประสาทสมองคู่ที่หกพิการ (lateral rectus palsy) จากความดันสมองไปกดนั่นเอง
และมีคุณหมอที่สามารถวินิจฉัยทะลุถึงสาเหตุด้วยคือ หมอฮัวโต๋ แพทย์ผู้โด่งดังในยุคสมัยสามก๊กของจีน
หมอฮัวโต๋ โด่งดังมากจากวิธีการรักษาตามพยาธิกำเนิดของโรค คือท่านไม่ได้รักษาตามอาการอย่างเดียว ยังไปแก้ไขต้นกำเนิดของโรคให้หายขาดจากโรคนั้นเลย หลายครั้งหมอฮัวโต๋ ใช้ยาหรือการรักษาที่ไม่ได้รักษาอาการแต่ไปแก้ไขกลไกการเกิดโรค
ถ้าเรามองภาพไม่ออกก็ยกตัวอย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การใช้ยา methotrexate ไม่ได้ลดปวด แต่ไปแก้ไขพยาธิสภาพ (DMARDs) ของโรค หรือในเรื่องสามก๊ก หมอฮัวโต๋รักษาอาการบาดเจ็บจากแผลเป็นหนองโดยการขูดโพรงหนองออก ท่านรักษากวนอูที่โดนเกาทัณฑ์ (ลูกธนู) ปักที่แขนขวา จนกลัดหนองและปวดมาก รักษาโดยไม่คำนึงว่ากวนอูรบอยู่ฝ่ายใดอีกด้วย
แน่นอนดังมาก ก็ได้รับเชิญจากโจโฉเช่นกัน …
หมอฮัวโต๋มาตรวจวินิจฉัยโจโฉและให้ยารักษาตามอาการ แบบหายชะงัด ผมคิดว่าน่าจะเป็น opioid ขนาดแรง จนโจโฉขาดหมอฮัวโต๋ไม่ได้ (หรือขาดยาไม่ได้นั่นแหละ) จนหมอฮัวโต๋ต้องหนีไป แต่โจโฉก็ไปตามกลับมา หมอฮัวโต๋จึงเสนอการรักษาที่สาเหตุ
อาการของโจโฉที่เกิดจากความดันในโพรงกะโหลกสูงมานานพอควร น่าจะเกิดจากเนื้องอกที่โตขึ้นเรื่อย ๆ หรือเนื้องอกที่ไปกดเบียดโพรงสมองทำให้น้ำในโพรงสมองไหลเวียนไม่ดี
ถ้าเราคิดถึงโรคเนื้องอกที่โตช้า ๆ และพบบ่อยในผู้ใหญ่ ก็น่าจะเป็น meningioma เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง มีมักกดเบียดโพรงสมองและโพรงเลือดดำบ่อย ๆ และเป็นเนื้องอกโตช้าที่พบบ่อยมาก หรือ astrocytoma เนื้องอกของเซลล์ที่คอยพยุงระบบประสาทในสมอง แต่เจ้า astrocytoma ที่ไม่รุนแรงและโตช้ามักพบในเด็ก ส่วน astrocytoma ที่พบในผู้ใหญ่มักจะรุนแรง เช่น Glioblastoma multiforme (แต่นั่นแหละ พบในผู้ใหญ่ได้)
อีกข้อที่อาจจะสนับสนุน astrocytoma คือ โจโฉเสียชีวิตค่อนข้างเฉียบพลันหลังปวดหัวรุนแรง ตรงนี้ผมคิดถึงเลือดออกที่ก้อนมะเร็งสมอง หรือ ก้อนมะเร็งไปเบียดหลอดเลือด ซึ่ง astrocytoma มักมีพฤติกรรมเช่นนี้บ่อย โดยเฉพาะ pilocytic astrocytoma
การรักษาเนื้องอกสมองที่มีการกดเบียดและความดันขึ้นสูง คือ การผ่าตัดและการใส่สายระบายน้ำและความดันโพรงสมอง หากตัดไม่หมดก็ฉายแสง หรือในบางรายอาจใช้ยามุ่งเป้าเพื่อไปทำลายหลอดเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกนั้น (EGFR inhibitor)
หมอฮัวโต๋ของเราคงคิดถึงเนื้องอกที่ไปกดเบียดโพรงสมอง จึงนำเสนอวิธีผ่าตัดกะโหลกให้กับโจโฉ เรามีหลักฐานการเจาะกะโหลกเพื่อรักษาจากโครงกระดูกชาวจีน ย้อนไปตั้งแต่สมัย ค.ศ. 200-300 ยุคสามก๊กนี่ด้วยนะครับ หรือน่าจะเป็นคุณหมอฮัวโต๋ที่ทำผ่าตัดเอาไว้ก็เป็นได้
แต่โจโฉเป็นคนขี้ระแวง โดยเฉพาะคนใกล้ตัว และโดยเฉพาะหมอใกล้ตัว
ครับ..โจโฉมองว่า หมอฮัวโต๋จะสังหารตนแบบเนียน ๆ ด้วยการเจาะหัวกะโหลก เลยขังลืมหมอฮัวโต๋เสียเลย จนหมอฮัวโต๋ตายในคุก (บางคนว่าเขาหนีออกไปได้) ลืมไปด้วยว่าหมอฮัวโต๋คือมือหนึ่งในการรักษาโรคนี้ในตอนนั้น (น่าจะเป็นมือเดียวด้วย ที่ทำการผ่าตัด) และทิฐิมานะก็สูงเกินกว่าจะอภัยหมอฮัวโต๋ ให้ออกมารักษาตนอีก
สุดท้ายก็ปวดหัวรุนแรงและเสียชีวิตเฉียบพลันในปี ค.ศ.220 ก็น่าจะเป็นเนื้องอกในสมองนี่แหละครับ และมีผลแทรกซ้อน ไม่เลือดออกก็ลิ่มเลือดดำอุดตัน
ทางการจีนได้เคยอ้างว่าพบหลุมศพและโครงกระดูกโจโฉ แต่ไม่มีรายงานการพิสูจน์ศพและสาเหตุการตายแต่อย่างใด
ถึงแม้เราไม่ทราบว่าโจโฉเป็นอะไรเสียชีวิต โจโฉก็ยังโลดแล่นในใจเรามายาวนานเกือบสองพันปี และน่าจะยังโลดแล่นต่อไปชั่วกาลนาน
จบบริบูรณ์
อาจเป็นภาพวาดรูป 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม