27 ตุลาคม 2561

ยา ACEI กับมะเร็งปอด

สวัสดีครับ ที่นี่รายการข่าวเช้าเขย่าโลก มาพบกับท่านผู้ชมทุกวันในเวลารับอรุณแบบนี้ วันนี้เราจะมาพูดถึงข่าวสำคัญที่ทาง CNN ลงพาดหัวว่าเป็น breaking news เลยนะครับ ว่ายาลดความดันกลุ่ม ACEI ยาลดความดันที่ลงท้ายชื่อด้วย อีปริ้ว ทั้งหลายนั้นอาจจะมีผลต่อการเกิดมะเร็งปอด !! แหม เรื่องนี้น่าตกใจทีเดียว เป็นกระแสมากมายในโลกสื่อสังคมออนไลน์ ทางรายการเราก็ได้เชิญแขกรับเชิญมาให้ความเห็นเรื่องนี้ แขกรับเชิญคนนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรเลยครับ หน้าตาก็งั้น ๆ แค่มีหลายคนบอกว่าแซ่บเหลือใจ ครับ..พบกับชายชราหน้าหนุ่ม หรือ ลึงหมอ เอ้ย...ลุงหมอใจดี ครับ
...ภาพตัดมาที่ลุงหมอ ..เดินกระย่องกระแย่งออกมาจากหลังฉาก นั่งลงและหอบเหนื่อยเป็นที่อเน็จอนาจยิ่งนัก....
พิธีกร : ลุงหมอครับ ข่าวที่ออกมาเรื่องยาลดความดันกับมะเร็งนี่มันจริงหรือครับ
ลุงหมอ : จริงสิครับ แต่ว่าเป็นจริงตามผลการศึกษาวิจัยนะครับ งานวิจัยเขากำหนดว่าถ้าตัวเลขตามนี้เรียกว่าใช่ เมื่อผลออกมาตามนั้นมันก็แปลว่าใช่ ส่วนจะเอามาแปลได้จริง ๆ หรือไม่ ก็ต้องดูองค์ประกอบอย่างอื่นด้วยครับ
พิธีกร : หมายความว่าไงครับ แสดงว่างานวิจัยมันไม่น่าเชื่อถือหรือครับ
ลุงหมอ : ก็ไม่ใช่ครับ งานวิจัยนี้ก็ดีนะ แต่บอกเพียงว่า ในกลุ่มคนที่ใช้ยา ACEI เราพบผู้ป่วยมะเร็งปอดมากกว่ากลุ่มที่ใช้ยา ARB ซึ่งเป็นยาคล้าย ๆ กันใช้แทนกันได้ มันเป็นแค่ความสัมพันธ์ไงครับ ไม่รู้ว่าคนที่หยุดยา ACEI แล้วมะเร็งมันจะลดลงไหม เราพิสูจน์แค่ขาไป ไม่ได้พิสูจน์ขากลับ มันจึงเป็นแค่ความสัมพันธ์ ไม่ได้เป็นเหตุผล
พิธีกร : แต่มันก็เกิดต่างกันนะครับ ในเนื้อข่าวบอกว่ามากกว่าถึง 14%
ลุงหมอ : ใช่ครับ นั้นคือเปรียบเทียบกันสองตัว ยา ACEI มีโอกาสพบมะเร็งมากกว่าการใช้ยา ARB 14% แต่ถ้ามาดูตัวเลขจริงที่ไม่ได้เทียบเปอร์เซ็นต์ จะพบว่า ACEI พบมะเร็ง 1.6 ต่อหนึ่งพันคน ส่วน ARB พบแค่ 1.2 ต่อหนึ่งพันคน ถ้ามาหักลบกันจริง ๆ นิดเดียวเองนะ อันนี้ถ้าความแตกต่างกันมันมากมายมหาศาลอาจจะพอคิดว่าเป็นเหตุผลได้ แต่นี่มันไม่มากครับ
พิธีกร : ลุงหมอจะบอกว่ามันเชื่อไม่ได้หรือครับ
ลุงหมอ : เชื่อได้ครับ เป็นข้อมูลที่ดีระดับหนึ่ง ไม่ได้แม่นยำ 100% เพราะเขาเก็บข้อมูลมาจากฐานข้อมูลทั่วไปมาวิเคราะห์ แม้จะตั้งคำถามเรื่องยาตัวนี้ มะเร็งชนิดนี้ แต่ฐานข้อมูลที่มีมันเป็นฐานข้อมูลรวมครับ ไม่ได้ออกแบบมาเก็บข้อมูลนี้โดยตรง มีตัวแปรปรวนมากมาย
พิธีกร : หมายความว่าข้อมูลที่มีนี้ ไม่ได้เก็บละเอียดพอหรือครับ
ลุงหมอ : จะว่าแบบนั้นก็ได้ หรือภาษาวิจัยเขาเรียกมีตัวกวน confounder เยอะครับ เวลาเก็บตั้งคำถามว่า กินยา ACEI เท่านั้น ไม่ได้ควบคุมว่ากินสม่ำเสมอแค่ไหน กิน ๆ หยุด ๆ ก็ถือว่ากิน หรือในฐานข้อมูลที่แสดงมีการจำแนกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ แต่ไม่ได้แยกว่าสูบมากสูบน้อย เพราะมันมีผลกับการเกิดมะเร็ง
พิธีกร : อันนี้ผมงงครับ ลุงหมอช่วยขยายความนิดนึง
ลุงหมอ : อย่างที่เขาแสดง เขาบอกว่าทั้งสองกลุ่มมีผู้ที่รายงานว่าสูบบุหรี่พอ ๆ กัน เมื่อตอนเริ่มต้นการศึกษา แต่เราไม่ได้ควบคุมว่าเขาต้องสูบไปตลอดการศึกษา เกิดคนที่สูบตอนแรกแล้วเลิกไปพบมากในคนที่กินยา ARB แบบนี้ ARB ก็อาจจะเกิดมะเร็งน้อยกว่าไง หรือ คนที่สูบบุหรี่นั้น ในกลุ่ม ACEI เป็นคนที่สูบจัดสูบนาน โอกาสที่คนกิน ACEI จะเป็นมะเร็งก็สูงขึ้น
พิธีกร : โอ้โห แบบนี้ตัวแปรปรวนก็มากสิครับ จะเชื่อได้หรือครับ
ลุงหมอ : ก็เป็นข้อจำกัดของการศึกษาแบบนี้ครับ แต่ผู้ทำเขาก็พยายามแยกมาให้แล้วล่ะว่า ถ้าแบ่งกลุ่มย่อย ๆ ต่าง ๆ ผลจะเปลี่ยนไหม แนวโน้มคือ พยายามคิดแยกตัวแปรปรวนออกมา ผลรวมก็ยังเหมือนเดิมคือ พบมะเร็งปอดในกลุ่ม ACEI มากกว่า
พิธีกร : ทำไมหรือครับ ทำไมยาสองตัวนี้มันถึงต่างกัน
ลุงหมอ : เจ้า ACEI มันทำให้มีโปรตีน bradykinin และ substance P เพิ่มขึ้นในปอด และเราพบว่าไอ้เจ้าสารสองตัวนี้มันส่งผลต่อการเจริญของเซลล์ในปอด มีมากเกินอาจทำให้เป็นมะเร็ง เคยมีการศึกษาก่อนหน้านี้เป็นสิบปีนะ ผลการศึกษากระจัดกระจายต่างกันออกไป บางอันออกแบบดีแต่ติดตามแค่สามปี ไม่ทันเห็นมะเร็ง บางทีก็ไปศึกษามะเร็งชนิดอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งปอด
พิธีกร : อ๋อ เลยเป็นที่มาของการศึกษานี้
ลุงหมอ : ใช่แล้วครับ การศึกษานี้รวบรวมขนาดใหญ่เกือบแสนคน ด้วยระยะเวลาติดตามมากถึง 10 ปีขึ้นไปเลย ผลการศึกษาออกมาน่าเชื่อดี ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอย่างที่เราคุยกัน แต่ก็เป็นฐานข้อมูลที่ดี อนาคตอาจจะมีการทดลองที่รัดกุมกว่านี้ ควบคุมมากกว่านี้มาให้คำตอบ
อีกอย่างเจ้า bradykinin เนี่ยมันทำให้ไอ เป็นผลข้างเคียงสำคัญของ ACEI ผู้วิจัยเขายังคิดว่า ก็เพราะมันมีผลทำให้ไอหรือเปล่า คนไข้จึงตื่นตัวเข้ามาตรวจและพบมะเร็งมากกว่าอีกกลุ่ม
พิธีกร : หมายความว่าตอนนี้เรายังใช้ ACEI ได้ใช่ไหมครับ
ลุงหมอ : ใช้ได้ครับ ยังไม่ถึงขั้นเลิกใช้เพราะข้อมูลยังไม่หนักแน่นพอ อีกอย่าง ยา ACEI ในการศึกษานี้ส่วนมากคือ ramipril, lisinopril และ perindopril แต่ในบ้านเราส่วนมากคือ enalapril ส่วนกลุ่มใหม่ ๆ ที่ใช้รักษาโรคหัวใจอย่าง sacubitril ที่ทำการศึกษาเทียบกับ enalapril ก็ยังไม่มีข้อมูลนะ ยา ACEI ยังเป็นยาที่ดี ราคาไม่แพง อยู่ในบัญชียาหลัก ถ้ามีผลข้างเคียงค่อยไปใช้ยา ARB แทนก็ได้ครับ
พิธีกร : ข่าวลงเสียน่ากลัวเลย แสดงว่าต้องมาอ่านรายละเอียดจึงได้ข้อเท็จจริงใช่ไหมครับ
ลุงหมอ : ใช่ครับ ข่าวคือขายข่าว โซเชียลต้องดึงใจคน ยุคนี้เร็ว ถ้าอะไรไม่ดึงดูดใจ นิ้วเลื่อนปรื้ดหรือกดรีโมทเปลี่ยนช่องเลย ส่วนข้อเท็จจริงต้องมาอ่านรายละเอียดและพิจารณาอย่างมีสติ
พิธีกร : ก่อนจบรายการ ลุงหมออยากฝากอะไรไหมครับ เห็นว่าไม่เคยออกรายการทีวีมาก่อน เป็นการเปิดเผยโฉมหน้าครั้งแรก
ลุงหมอ : คือเบื่อน่ะครับ ไปไหนคนจะทักว่า ติ๊ก เจษฎาภรณ์ตลอด ...ก็ดูที่หูนะครับ ติ่งหูผมจะสั้นกว่านิดนึง จะได้ไม่ทักผิดคน สุดท้ายนี้ก็ขอให้ลิเวอร์พูล ได้แช...
พิธีกร ..ตัดบทด้วยความหงุดหงิด : เรื่องข่าวสิลุงหมอ
ลุงหมอ : อ่อ..แหะ ๆ เผลอไป ก็เวลาฟังข่าวอะไร ช่องทางใด ให้มาคิดทบทวนก่อนเชื่อนะครับ ยุคนี้ข่าวสารมาก ต้องกรองให้ดี กรองแล้วต้องมากลั่นอีกด้วย
พิธีกร : วันนี้ต้องขอขอบคุณลุงหมอมากนะครับ ที่มาให้ความกระจ่างกับพวกเรา ไม่ให้เชื่อข่าวทันทีที่เห็นครับ แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าครับ สวัสดี ..อ้าว..ลุงหมอไปไหน
ทีมงาน ...ตะโกนบอก เมื่อกี้น้องมิวเดินผ่านมา แกวิ่งตามไปโน่นแล้วล่ะพี่
ที่มาการศึกษาที่เป็นต้นกำเนิดข่าว อ่านฟรี โหลดฟรี
Hicks Blánaid M, Filion Kristian B, Yin Hui, Sakr Lama, UdellJacob A, Azoulay Laurent et al. Angiotensin converting enzyme inhibitors and risk of lung cancer: population based cohort study BMJ 2018; 363 :k4209
https://www.bmj.com/content/363/bmj.k4209

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม