เล่าย่อ ๆ เกี่ยวกับการศึกษาวัคซีน ChAdOx1 ของ AstraZeneca
เนื่องจากบทความยาวพอสมควร ผมขอยกเอาสรุปมาแปะไว้ต้นโพสต์เลยนะ ใครพร้อมอ่านต่อก็ต่อได้เลย พยายามเขียนให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะไม่ผิดความหมายครับ
👉👉ตอนนี้เราได้ข้อสรุปแล้วว่า ในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น (ที่ปริมาณการวิเคราะห์เพียงพอ) ของวัคซีน ChAdOx1 โดยแอสตร้าซีเนก้านั้น ประสิทธิภาพการป้องกันผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ระดับอยู่ที่ประมาณ 70% ในทุกกลุ่ม และความปลอดภัยสูง แม้มีรายงานความเสียหายต่อระบบประสาท แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ทำเพียงเฝ้าระวังต่อไป
*** การศึกษายังไม่เสร็จสิ้น ต้องติดตามต่อไป และ อย่าลืมเรื่องข้อสังเกตในระเบียบวิธีวิจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการวิจัย การปนเปื้อนของข้อมูล และไม่เป็นการสุ่มตัวอย่างที่สมบูรณ์ ทั้งหมดส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของผลการทดลอง และข้อผิดพลาดสูงขึ้น ***👉👉
วัคซีนนี้เป็นวัคซีน viral vector คือใช้ไวรัสอีกตัวเป็นตัวนำพาแอนติเจนของโควิดที่ปรับพันธุ์มาจากลิงชิมแปนซีเข้าไปในร่างกาย ไวรัสนั้นคือ อะดีโนไวรัส กรรมวิธีการผลิตและการศึกษา ผลข้างเคียงก็จะไม่เหมือน mRNA วัคซีนของทั้งสองเจ้าใหญ่ที่เคยเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ โดยเริ่มวางแผนผลิตและศึกษาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ตั้งแต่รู้จักไวรัสซาร์สโควีทู
การศึกษาผ่านขั้นตอนที่หนึ่งและสองเพื่อตรวจหาประสิทธิภาพและขนาดของไวรัสที่จะฉีดเข้าร่างกายคนมาแล้ว สรุปว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดีทั้งในคนอายุน้อยและอายุมาก
คราวนี้มาถึงการศึกษาเฟสสาม คือวิจัยประสิทธิภาพการป้องกันและความปลอดภัยในคน ขอย้ำว่าประสิทธิภาพในการศึกษานี้คือ การป้องกันการเกิดโรคโควิดแบบมีอาการหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วครบสองโด๊สไปแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน เป็นการวัดประสิทธิภาพเหมือนอีกสองวัคซีนที่เคยเล่าให้ฟัง ดังนั้นจะคิดเฉพาะคนที่ได้วัคซีนครบสองโด๊ส ไม่มีการติดเชื้อระหว่างโด๊สแรกกับโด๊สสอง และต้องเว้นระยะหลังโด๊สสองอีกด้วย
ส่วนความปลอดภัย จะคิดทุกคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เข็มแรก
และยังมีตัวเลขย่อยๆ อีกมากมาย อ่านแล้วต้องดูให้ดีว่าวัดผลอะไรในกลุ่มประชากรไหน ตัวหารมันไม่เท่ากัน ซึ่งเปเปอร์นี้อธิบายละเอียดดี เช่น ถ้าผู้ที่เข้าร่วมการศึกษาตรวจพบมีแอนติบอดี ก็จะเอามาคิดกลุ่มย่อยว่าเคยติดเชื้อมาแล้วนั้น ประสิทธิภาพดีไหม แต่ไม่ได้เอามาคิดในการคำนวณหลัก (primary efficacy outcome)
🚩🚩และนี่คือสิ่งสำคัญที่สุด ซับซ้อนที่สุด ในการศึกษานี้ คือกรรมวิธีการวิจัย ที่ต้องทราบก่อนจะอ่านต่อไป
การศึกษานี้แบ่งย่อยออกหลายอัน (COV001, COV002, COV003, COV005) ทำในหลายที่และเก็บตัวอย่างไม่พร้อมกัน มีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างตอนจัดเก็บที่มีเกณฑ์ไม่เหมือนกันด้วย(แต่เวลาคำนวณเอามารวมกัน) ทำให้ตรงนี้อาจเป็นจุดสังเกตอันหนึ่ง
เพราะกลุ่มประชากรมันไม่ได้เลือกแบบสุ่มมาแบบเดียวกันนั่นเอง เช่นในกลุ่ม COV002 เลือก อายุ 18-55 แล้วทำต่อ เก็บต่อเนื่องกันแต่เอาที่อายุเกิน 55 มาทีหลัง
เช่น เลือกเอากลุ่มเสี่ยงสัมผัสโรคสูง กลุ่มเสี่ยงสัมผัสโรคต่ำ ที่เก็บไม่พร้อมกัน
เช่นกลุ่มตัวอย่างในอังกฤษ มีการแบ่งกลุ่มวัคซีนขนาดต่ำและขนาดปกติ ส่วนในบราซิลให้แต่ขนาดปกติ แต่ตอนคิดข้อมูลเอามารวมกัน
แถมมีการปรับเปลี่ยนวิธีการวิจัยกลางทาง ตอนแรกจะดูประสิทธิภาพที่เข็มแรก ต่อมาก็จะมาดูประสิทธิภาพที่ครบสองเข็ม อ้าวแล้วกลุ่มที่ฉีดไปแล้วทำไง ทำให้บางส่วนทิ้งเวลาระหว่างเข็มแรกและเข็มสองไปนานกว่า 60 วันเพราะเปลี่ยนกรรมวิธีกลางคัน ผลิตมาไม่ทัน กลุ่มหลัง ๆ ตั้งใจใช้วิธีใหม่จะคือวางแผนฉีดสองเข็มแต่แรกที่ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ ก็รอระยะเวลาไม่นานเพราะเตรียมพร้อมกว่า
เอาล่ะ.. เนื่องจากมันมีวิธีวิจัยแบบนี้ (จริง ๆ แล้วมีงานวิจัยแบบนี้พอสมควรทีเดียว) ก็จะต้องมีกระบวนการทางสถิติเกลี่ยให้มันเทียบกันได้ ในเขตที่ยอมรับได้ แต่เนื่องจากข้อมูลมันไม่ใช่เนื้อเดียวกันตั้งแต่แรกและใช้กรรมวิธีเกลี่ย จึงอาจส่งผลเรื่องความผิดพลาดและแปรปรวน
เรามาต่อกัน
🚩🚩ศึกษาสามกลุ่มในสามประเทศ คือ ประเทศในเครือสหราชอาณาจักร (ส่วนใหญ่ของการศึกษา) ประเทศบราซิล และประเทศแอฟริกาใต้ ที่ต้องทำแบบนี้เพราะต้องการแสดงผลของวัคซีนในเชื้อชาติต่าง ๆ ซึ่งยังมีสัดส่วนคนเอเชียน้อยมากคือประมาณ 4%
ข้อมูลจากแอฟริกาใต้จะไม่ได้นำมาคิดในเรื่องประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ครั้งแรกนี้ (ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่ทำ double blind) แต่นำมาคิดเรื่องความปลอดภัยเลย โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่นำมาคิดประสิทธิภาพของวัคซีนในการวิเคราะห์ครั้งนี้ 11,636 ราย (ยังมีอีกครั้งนะเมื่อเก็บข้อมูลครบหมด ที่วิเคราะห์ครั้งแรกก่อนจบได้เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว)
รับวัคซีน 5807 ราย มีทั้งแบบขนาดมาตรฐานทั้งสองโด๊ส และขนาดต่ำโด๊สแรกและขนาดสูงในโด๊สสอง และรับยาหลอก 5829 ราย ประเด็นอีกข้อคือ ยาหลอกในกลุ่มการศึกษาแรกที่อังกฤษ COV001 มีบางส่วนการใช้ยาหลอกคือวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (ใช้ต่อเนื่องมาจากเฟสหนึ่งและสอง) แต่กลุ่มอื่นใช้ยาหลอกคือน้ำเกลือ
🚩🚩ผลการศึกษาหลักคือ การติดเชื้อแบบมีอาการหลังรับวัคซีนครบ 2 โด๊สไป 14 วัน
ระยะเวลาติดตามประมาณ 6 เดือน
พบติดเชื้อมีอาการในกลุ่มวัคซีน 30 ราย และในกลุ่มยาหลอก 101 ราย คิดประสิทธิภาพการป้องกันเป็น 70.4% โดยมีช่วงความเชื่อมั่น 54.8-80.6%
(แปลผลแบบนี้ : ทำการศึกษาแบบนี้ 100 ครั้ง บอกได้ว่าอย่างน้อย 95 ครั้งที่ประสิทธิภาพจะตกอยู่ในช่วง 54.8% ถึง 80.6%)
การศึกษานี้ใช้ lower boundary คือค่าขอบเขตล่างของการป้องกันที่เกิน 20% (การศึกษาทำได้ 54.8%) และต้องการค่าประสิทธิภาพที่เกิน 50% ก็ทำได้ที่ 70.4% เรียกว่าผ่านทั้งประสิทธิภาพที่ต้องการ และเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ในภาษาสถิติ ผ่านก็คือผ่าน ไม่มาคิดว่าผ่านมากหรือผ่านน้อยจะต่างกัน
ในกลุ่มย่อย อายุน้อย อายุมาก เคยมีแอนติบอดี หรือ ประเทศต่างกัน ผลออกมาไปในทางเดียวกันทั้งสิ้น คือ ผ่าน
ส่วนสูตรฉีดขนาดต่ำครั้งแรก ฉีดขนาดมาตรฐานในครั้งที่สอง เพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันของวัคซีนในขนาดต่ำ ว่าจะดีเพียงพอไหมในสถานการณ์ที่การทำวัคซีนต้องรีบ การกระจายวัคซีนก็ไม่มากนัก ผลแทรกซ้อนจะลดลงหรือไม่ การฉีดสูตรขนาดต่ำและสูงนี้ทำเฉพาะในประเทศอังกฤษเท่านั้น ในภาพรวมพบว่าใช้สูตรขนาดต่ำแล้วตามด้วยขนาดสูงก็มีประสิทธิภาพที่ดีเช่นกัน เว้นแต่ในกลุ่มที่อายุ 18-55 พบว่าประสิทธิภาพที่ทำได้ไม่เหมือนกับภาพรวมใหญ่การศึกษา
แต่อย่าลืมว่านี่ยังไม่ใช่ผลการศึกษาสุดท้ายนะครับ
🚩🚩ประสิทธิภาพอีกสองข้อที่น่าสนใจแต่ไม่ได้เป็นผลการศึกษาหลัก บอกได้เพียงพบว่าเกิดสิ่งนี้ขึ้น ไม่ได้แปลความหนักแน่นเหมือนวัตถุประสงค์หลัก คือ ประสิทธิภาพการปกป้องหลังเข็มแรก และการป้องกันการติดเชื้อไม่มีอาการ
การติดเชื้อไม่มีอาการ วัดแต่เฉพาะบางคนในกลุ่มการศึกษาที่อังกฤษ วัดตั้งแต่การฉีดยาเข็มแรก และอาสาสมัครต้องใช้วิธีแยงจมูกด้วยตัวเองเองที่บ้านแล้วส่งไปตรวจ แม้ประสิทธิภาพออกมาที่ 58% แต่ว่าขั้นตอนการศึกษามีความแปรปรวนสูงมาก ตั้งแต่ 1% จนถึง 82.9% ไม่สามารถบอกได้ว่ามีประสิทธิภาพพอ
ส่วนการป้องกันโรคตั้งแต่ฉีดวัคซีนโด๊สแรก ไม่ได้เป็นการศึกษาหลัก ตัวเลขการป้องกันหลังโด๊สแรกไปแล้ว 21 วันคือ 64% เช่นกันความแปรปรวนสูงมาก และเป็นจริงในวัคซีนขนาดมาตรฐานเท่านั้นไม่ใช่ขนาดต่ำ อีกข้อที่พบในกลุ่มวัคซีนจะไม่พบผู้ป่วยโควิดรุนแรงเลย น่าจะเป็นข้อดีที่สำคัญ
สรุปเรื่องประสิทธิภาพ บอกว่าประสิทธิภาพอยู่ที่ 70% และผ่านเกณฑ์การทำวัคซีนขององค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและยา และข้อกำหนดพื้นฐานของแต่ละประเทศที่ทดลอง ไม่ว่าจะฉีดสูตรใด ในกลุ่มย่อยใดหรือกลุ่มเสี่ยงใด
🚩🚩คราวนี้มาดูผลการศึกษาอีกข้อที่สำคัญคือ ความปลอดภัย ความปลอดภัยนี้จะนับทุกคนที่ได้รับวัคซีน รวมในแอฟริกาใต้ด้วย ซึ่งความปลอดภัยที่ได้มานี้ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ออกมาเป็นแนวโน้มเท่านั้น เพราะการบอกความปลอดภัยต้องรอจนจบการศึกษา ที่ออกมาเร็วได้ในตอนนี้เพราะมันสามารถคำนวณประสิทธิภาพได้แล้ว จึงตัดยอดมาคำนวณเรื่องความปลอดภัยก่อน
พบเหตุไม่พึงประสงค์ในกลุ่มวัคซีน 79 รายและพบในกลุ่มยาหลอก 89 ราย (อย่าลืมว่าบางส่วนของยาหลอกคือวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น) ซึ่งคำนวณแล้วพบว่าต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และเกือบทั้งหมดเป็นปฏิกิริยาไม่รุนแรงและเฉพาะที่ เช่น ปวด คัน เมื่อยตัว ไข้ต่ำ และหายเอง แต่ทว่า....
🚩🚩มีรายงานการอักเสบของไขสันหลังที่เรียกว่า transverse myelitis การอักเสบของไขสันหลัง ทำให้มีอาการเหมือนไขสันหลังถูกตัดขาดที่ระดับใดระดับหนึ่ง โดยเกิด 3 รายในกลุ่มที่รับวัคซีน และ 2 ใน 3 ราย น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนเสียด้วย ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในการวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไร
ในภาพรวมถือว่าความปลอดภัยของวัคซีนดีมาก ไม่ว่าจะเทียบกับน้ำเกลือหรือวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น และไม่เกินค่าขั้นสูงของการเกิดผลข้างเคียงตามกำหนด เรียกว่าสอบผ่านเรื่องความปลอดภัย
ตอนนี้เราได้ข้อสรุปแล้วว่า ในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น (ที่ปริมาณการวิเคราะห์เพียงพอ) ของวัคซีน ChAdOx1 โดยแอสตร้าซีเนก้านั้น ประสิทธิภาพการป้องกันผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ระดับอยู่ที่ประมาณ 70% ในทุกกลุ่ม และความปลอดภัยสูง แม้มีรายงานความเสียหายต่อระบบประสาท แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ทำเพียงเฝ้าระวังต่อไป
*** การศึกษายังไม่เสร็จสิ้น ต้องติดตามต่อไป และ อย่าลืมเรื่องข้อสังเกตในระเบียบวิธีวิจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการวิจัย การปนเปื้อนของข้อมูล และไม่เป็นการสุ่มตัวอย่างที่สมบูรณ์ ทั้งหมดส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของผลการทดลอง และข้อผิดพลาดสูงขึ้น ***
จบบริบูรณ์
🙏🙏🙏
ตอบลบ