28 กุมภาพันธ์ 2561

ความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน

คำกล่าวคลาสสิกมาก "ทำไมผู้เฒ่าผู้แก่ สูบบุหรี่มาตลอดชีวิต ไม่เห็นเป็นอะไรเลย" หรือ "คนนั้นน่ะ เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ เป็นมะเร็งตายเฉยเลย" การอธิบายและเข้าใจเรื่องนี้จะยาวและยาก ที่สำคัญที่สุดต้องอ่านด้วยความรู้สึกเป็นกลาง ไม่มีบวกลบใดๆก่อน

  ประเด็นแรกก่อน การไม่เห็นไม่ใช่การไม่เป็น เพราะว่าเทคโนโลยีการตรวจจับโรคสมัยนี้มันดีกว่าสมัยก่อนมาก การไม่เป็นหรือการไม่พบโรคในสมัยก่อน ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้โรคนั้นมันไม่มีหรือมันไม่เกิด บางทีมันมีอยู่แต่เราไม่รู้  ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายๆเลยคือ มะเร็งปอด มันเป็นโรคที่ไม่มีอาการใดๆเลยในระยะแรก ต่อให้เป็นมากก็ไม่มีอาการ ในยุคที่เราไม่มีเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แพร่หลาย การที่จะบอกว่าเป็นมะเร็งปอดนั้นยากมาก ต้องผ่าดูหรือตรวจศพ
   ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่ง่ายและแม่นยำมาก โอกาสพบมากขึ้น ต่อให้สภาพแวดล้อมเท่าเดิม อัตราการเกิดโรคเท่าเดิมกับอดีต แต่ปัจจุบันเราจะตรวจพบมากขึ้น
  นั่นคือคนสมัยก่อนก็อาจจะเป็นแต่ตรวจไม่พบนั่นเอง ..

  ประเด็นที่สอง เรื่องปัจจัยแวดล้อม สิ่งแวดล้อมต่างๆ อาหารการกิน สภาพสารพิษในสังคม สารพิษในอาหาร สิ่งต่างๆเหล่านี้หากพิจารณาเพียงตัวเดี่ยวๆ อาจจะไม่ส่งผลใดๆ หรือแทบไม่ส่งผลกับโรคหนึ่งโรค แต่หากเราคิดรวมสิ่งที่เปลี่ยนเป็นปัจจัยรวม มันจะส่งผลมากทีเดียว
   ยกตัวอย่าง โรคภูมิแพ้...คนในอดีตอาจไม่ได้ดูแลตัวเองนัก กินเหล้าสูบยา แต่ก็ไม่เห็นเป็นมากเท่าปัจจุบัน แต่อย่าลืมโลกที่ร้อนขึ้น มลภาวะ น้ำเสีย อากาศเสีย มันก็ทำให้สิ่งที่คนยุคนั้น กับคนยุคนี้สัมผัสไม่เหมือนกัน แม้จะกินเหล้าสูบยาเหมือนกัน แต่สิ่งแวดล้อมอื่นๆมันต่างกันตามเวลา

  ประเด็นที่สาม เรื่องปัจจัยของตัวเอง อันนี้สมัยก่อนเราเชื่อว่าเป็นบุญกรรมที่ติดมาจากชาติที่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้ด้วยความก้าวหน้าทางพันธุกรรมเราเริ่มทราบแล้วว่า การกำหนดลักษณะทางพันธุกรรมมีผลต่อโอกาสการเกิดโรคมากมาย บุญกรรมก็มีนะแต่ว่ายังพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ไม่ชัดเท่า บางคนเกิดมามีพันธุกรรมที่จะเป็นมะเร็งมากกว่าคนอื่นๆ ต่อให้ทำตัวดีแค่ไหนก็โอกาสสูงอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่นมียีน BRCA 1 และ BRCA 2 ในตัวทั้งคู่ อันนี้อยู่เฉยๆก็มีโอกาสมะเร็งเต้านมสูงมากๆ คุณแองเจลลินา โจลี่ จึงตัดสินใจตัดนมทิ้งเลย
   ในขณะที่บางคน ไม่มีพันธุกรรมที่เสี่ยงโรคนัก ทำให้เขาทนต่อสิ่งกระตุ้นโดยไม่เป็นโรคมากกว่าคนอื่น ไม่ได้หมายความว่าจะทนทานเป็นอมตะต่อสิ่งกระตุ้นนั้นนะ เพียงแต่มันไม่ไวต่อสิ่งนั้น  เข้าใจยากมายกตัวอย่าง ก็นี่แหละอธิบายได้ดี ทำไมปู่ย่าสูบยาเส้นมาตลอดจึงไม่เป็นอะไร

  นอกเหนือจาก การตรวจที่อาจไม่พบ ยาเส้นกับบุหรี่ที่เสี่ยงไม่เท่ากัน สิ่งแวดล้อม อาหารยุคปัจจุบันที่เสี่ยงกว่า ประเด็นสำคัญคือ คุณปู่คุณย่าอาจมีพันธุกรรมที่ไม่ไวต่อบุหรี่ ที่จะไปเกิดมะเร็งปอดได้ คือสูบจัดมากๆก็ยังไม่เป็นว่างั้นเถอะ  ซึ่งอันนี้เป็นปัจจัยเฉพาะตัวนะครับ เอามาเทียบกันไม่ได้เลย
   ปัจจุบันแต่ละคนจะมี "destination" ตามความเสี่ยงของยีนตัวเอง เราพบหลายโรคหลายภาวะแล้วนะครับ เช่น ยีนที่ไวต่อการติดนิโคติน ใครมียีนนี้ก็ติดง่าย เลิกยาก ยีนที่ไวและเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ ใครมียีนนี้ไปกินอาหารไหม้ๆก็อาจเกิดมะเร็งได้ง่าย และปัจจุบันก็ตรวจได้แล้วด้วย เรียกวิชานี้ว่า Precision Medicine ไม่ใช่แค่ตรวจเจอ ยังออกแบบการรักษาที่ตรงเป้าไปที่ระดับยีนได้เลย

   ประเด็นทั้งสามนี้ถือว่าเป็น Fact คือข้อมูลจริงที่ได้จากการเก็บข้อมูลดิบ ไม่ใช่เกิดจากการคำนวณและตัดตัวแปรทางสถิติแต่อย่างใด ปัจจุบันเราถือว่าประเด็นที่สามคือ precision medicine เป็นสิ่งที่แม่นยำที่สุด
   และก็จะแปลความกลับกันไม่ได้ คือถ้าคุณไม่มียีนไวมะเร็งปอด ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสูบบุหรี่จัดเท่าไรก็ได้   เพราะอิทธิพลของตัวกระตุ้นก็ยังมีอยู่มากเช่นกัน เราเรียกทฤษฎีนี้ว่า 2 HIT hypothesis คือ การเกิดโรคนั้น ต้องเกิดมาพร้อมจะเป็นก่อนคือพันธุกรรม คือ first hit และมาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ชักพาให้เกิด คือ second hit ก็จะเกิดโรค

  ถามว่า ประเด็นแก้ไขพันธุกรรมทำได้ไหม..ตอนนี้ไม่ แต่อนาคตไม่แน่  ส่วนประเด็นสิ่งแวดล้อม เราปรับเท่าที่เราปรับได้ไงครับ ก็เป็นการลดความเสี่ยงการเกิดโรคลงได้
  การลดความเสี่ยง อะไรเสี่ยง เสี่ยงแค่ไหน...อันนี้แหละที่มันไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง แต่มาจากข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าทดลอง และใช้วิชาสถิติมาช่วยบอก "relation" นั่นเอง

  ก่อนจะไปว่ากันตอนต่อไป ทิ้งไว้ให้อ่านให้เข้าใจและถามได้ พร้อมกับช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ปิดไฟที่ไม่ใช้คนละดวงนะครับ และวันนี้ลดการขอถุงพลาสติกจากร้านค้าคนละหนึ่งใบนะครับ ช่วยกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม