เล็ดรอดสายตาข้าพเจ้าไปได้อย่างไร น่าสนใจขนาดนี้ สงสัยสายตายาวมากขึ้น เพิ่งเจอก็จัดไป อย่าให้เสีย ตีพิมพ์สัปดาห์ที่แล้ว ใน JAMA ตอนนี้ฟรีนะครับ รีบเก็บไว้ มีลิงก์ให้ด้านล่าง
ก่อนหน้านี้เรามีข้อมูลมาว่า กรดไขมันโอเมก้าสาม สามารถลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ ในกรณีเกิดซ้ำได้ประมาณ 15-20% ได้รับการบรรจุเป็นคำแนะนำในการใช้ยาเม็ด โอเมก้าสาม ในผู้ป่วยที่หลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว ในระดับคำแนะนำที่เป็นแค่น่าจะให้ เพราะการศึกษายังไม่ชัดเจนมาก มีการศึกษาที่มีผลหลายอย่าง ตัวชี้วัดหลายประการที่ต่างกัน
ปัจจุบันก็มีการศึกษาที่กำลังทำต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจน ด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่รัดกุมมากขึ้น และปรับตามเวลา คือ การรักษาในอดีตอาจไม่ได้ส่งผลดีเหมือนปัจจุบัน การรักษาในอดีตก็มีพื้นฐานที่แตกต่างจากปัจจุบัน ดังนั้นการศึกษาสิ่งที่ยังก้ำกึ่งๆ จะช่วยบอกความช้ดเจนได้เมื่อเวลาและมาตรฐานการรักษาเปลี่ยนไป
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ meta analysis ที่รวบรวมการศึกษามาทั้งสิ้น 10 การศึกษาที่เป็นการทดลองทางการแพทย์ที่ขนาดตัวอย่างต้องเกิน 500 คนติดตามไปมากกว่าหนึ่งปี มีตัวชี้วัดเรื่องโรคหัวใจ โรคสมอง โรคหลอดเลือด อัตราการเสียชีวิต ที่ชัดเจน และมีการคิดแยกกลุ่มต่างๆว่าผลการศึกษาย่อยกับผลการศึกษารวมจะเหมือนกันหรือไม่ ทั้งเพศ อายุ การใช้ยาลดไขมัน แจกแจงแต่ละการศึกษาแต่ละตัววัดที่ชัดเจน เป็นจุดแข็งอันหนึ่งเลยที่ตัดตัวกวนเช่นการศึกษาเล็กๆ หรือการศึกษาที่มีตัวชี้วัดไม่แม่นยำ หรือการศึกษาที่มีอิทธิพลอย่างอื่นๆรบกวนมาก
เพื่อมาดูความสัมพันธ์ของการใช้ยาเสริมโอเมก้าสามในการรักษาผู้ป่วยหลังเกิดโรคหลอดเลือด ว่าอัตราการเกิดโรคซ้ำทั้งรุนแรงหรือไม่รุนแรงต่างกันหรือไม่
ใครอ่านรายละเอียดจะพบว่ามีการศึกษาหนึ่งที่ชื่อว่า JELIS ที่ศึกษาในคนญี่ปุ่นที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้รับยาลดไขมัน และได้โอเมก้าสาม แต่โอเมก้าสามในการทดลองนี้มีแต่ EPA การทดลองนี้เป็นการทดลองขนาดใหญ่ที่สุดเกือบสองหมื่นคน ส่งผลมากทั้งปริมาณกลุ่มตัวอย่าง ผลที่ได้ และเชื้อชาติ (มีเอเชียมากๆก็การศึกษานี้) จึงมีการคำนวณทั้งคิดรวม JELIS และคิดแยก JELIS
สำหรับคนที่ยัง งง กับเรื่องโอเมก้าสาม คือ กรดไขมันโอเมก้าสามที่มาใช้เป็นยา จะมีสัดส่วนของ EPA/DHA ที่ต่างๆกัน ทั้งสิบการศึกษานี่ก็ไม่เหมือนกันเลย ทำให้เป็นตัวแปรอันหนึ่งที่บอกยากถึง สัดส่วนที่เหมาะสมจริงๆเท่าไร แต่ว่าการศึกษานี้เป็นการมองรวมๆในทุกๆสัดส่วนครับ ตอบคำถามโดยรวมได้
ได้สิบการศึกษา 77,000 กว่าคน ส่วนมากเป็นผู้มีอายุมากหน่อยนะ 60 ปี ชายมากกว่าหญิงเล็กน้อย ระยะเวลาการติดตามก็ประมาณ 4ปีครึ่ง กลุ่มคนที่เป็นโรคส่วนใหญ่คือโรคหลอดเลือดหัวใจ
ประเด็นสำคัญคือ การได้รับยาลดไขมันที่ถือเป็นการรักษาหลักยังแปรปรวนต่างกันมาก ไม่ได้คิดเรื่องการสูบบุหรี่ ที่เป็นประเด็นร่วมสองประเด็นหลัก หากนำมาคิดร่วมหรือแจกแจงหรือคัดเลือกกลุ่มที่ได้ยาลดไขมันครบถ้วน ผลที่ได้อาจจะเปลี่ยนได้
ผลการศึกษาโดยรวมและโดยแจกแจงกลุ่มย่อยต่างๆ ออกมาในทางเดียวกัน คือ การใช้ยากรดไขมันโอเมก้าสาม ลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง การต้องไปทำหัตถการเปิดหลอดเลือดตีบตัน ลดลงแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (เกือบจะมีนัยสำคัญเลยทีเดียว) และสัดส่วนส่วนมากที่บอกว่าลด มาจากโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นหลัก หากควบคุมตัวแปรอื่นๆหรือมีกลุ่มตัวอย่างมากกว่านี้ (ซึ่งกำลังทำ) อาจมีผลเปลี่ยนแปลงได้
หมายความว่า ณ ตอนนี้ ความชัดเจนที่ยังไม่ชัดเจนแต่เดิม ก็มีแนวโน้มออกมาว่าการใช้ยากรดไขมันโอเมก้าสามอาจจะช่วยลดการเกิดซ้ำของโรคได้ไม่มากอย่างที่คิด น้ำหนักแห่งความจำเป็นในการให้ยาก็ลดลง (จากเดิมก็น้ำหนักไม่ค่อยมากอยู่แล้ว) จนกว่าจะมีหลักฐานใหม่ที่น่าเชื่อถือกว่ามาหักล้างได้ และตอนนี้มีอีกไม่น้อยกว่าสี่ห้าการศึกษาที่กำลังทำเพื่อตอบคำถามนี้ด้วย
แต่ไม่เกี่ยวกับการกินปลาทะเลสัปดาห์ละสองถึงสามครั้งในคำแนะนำเรื่องอาหารนะครับ นี่เป็นเรื่องของยาเม็ดที่ใช้รักษา มันคนละส่วนกัน
ใครเห็นอย่างไร อยากฟังความเห็นต่อยอดความรู้ เชิญได้เลยครับ
https://jamanetwork.com/journals/jamacardiology/fullarticle/2670752
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น