เรามากล่าวถึงตอนที่สองของปัจจัยการเกิดโรค คือ "ความสัมพันธ์" ซึ่งเป็นการคำนวณทางสถิติ ไม่ได้เป็นความจริงตรงไปตรงมา เราเริ่มต้นด้วยคำกล่าวนี้ก่อนแล้วกัน "ไรฝุ่นบ้านเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคภูมิแพ้" มันแปลความว่าอย่างไร และมีที่มาอย่างไร ก่อนจะไปตอบคำถามว่า บุหรี่ยาเส้น ทำไมจึงเป็นความเสี่ยงและทำไมบางคนจึงไมเกิดโรค ในแง่ความสัมพันธ์
"ไรฝุ่นบ้านเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคภูมิแพ้" หมายถึง คนที่สัมผัสไรฝุ่นบ้าน มีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้มากกว่า คนที่ไม่ได้สัมผัส อย่างชัดเจนอย่างเห็นได้ชัด เห็นไหมครับว่า มันคือโอกาส มันคือความน่าจะเป็น ไม่ได้เป็นความจริงและสาเหตุตรงไปตรงมา ในทางกลับกัน คนเป็นโรคภูมิแพ้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดจากไรฝุ่น หรือ สัมผัสไรฝุ่นทุกคนไป
เหมือนกับคำกล่าว ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็ง คือ คนที่สูบยานั้นเสี่ยงโรคมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบ และไม่ใช่ทุกคนที่สูบยาจะต้องเป็นมะเร็ง และคนที่เป็นมะเร็งก็ไม่ได้มาจากการสูบยาทุกคน
พื้นฐานความจริงนี้ส่วนมากมาจากการศึกษาที่เราเฝ้ามองดู คนที่รับความเสี่ยงกับไม่รับความเสี่ยง เช่น เราตั้งใจศึกษาคนที่สูบบุหรี่ กับ คนที่ไม่สูบบุหรี่ แล้วติดตามไปสิบปี ดูว่าอัตราการเกิดมะเร็งของแต่ละกลุ่มเป็นเท่าไร ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เราศึกษากลุ่มละ 100 คน ติดตามไป 10 ปี พบว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งปอด 30 คนส่วนคนที่ไม่สูบเป็นมะเร็งปอด 5 คน เราก็จะกล่าวได้ว่า คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบ 6 เท่า
แต่ดูตรงนี้ก่อน....คนที่สูบบุหรี่ เป็นมะเร็งปอด 30 คนจาก 100 คน นั่นคือมีคนที่สูบบุหรี่แล้วไม่เป็นมะเร็งถึง 70 คน
และตรงนี้เช่นกัน ..คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็ยังเป็นมะเร็งปอด 5 คนจาก100 คน
หมายความว่าการศึกษาแบบนี้เราบอกได้แต่ความสัมพันธ์ ว่าเกี่ยวข้องกันเท่านั้น เราจะบอกสาเหตุได้ชัดๆ หาก 100 คนที่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งทั้งสิ้น และ 100คนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีใครเป็นมะเร็งเลย แต่สิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้ครับ เราจึงยอมรับว่าถ้าค่าความสัมพันธ์อันนี้ มันมีมาก ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า 5 เท่าขึ้นไป ยิ่งมากยิ่งสนับสนุนว่า "น่าจะเป็นสาเหตุ" อันหนึ่งได้
การจะบอกสาเหตุได้จึงจะต้องมีความสัมพันธ์ที่มากพอ และทำการศึกษาซ้ำๆกันหลายครั้งก็ยังออกมาเป็นรูปแบบเดียวกัน อย่างเช่นคำกล่าวนี้แหละ ยาสูบเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งปอด ไม่ได้เกิด 100% ไงครับ เราจึงยังพบคนสูบบุหรี่จัดไม่เกิดมะเร็ง และคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เป็นมะเร็ง แต่ว่าถ้าคุณสูบ โอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น หกเท่า (จากการยกตัวอย่างเมื่อกี้นะ ตัวเลขจริงสูงกว่านี้) คุณจะสูบต่อไหมล่ะ หรือคุณจะเลิก หรือจะเริ่มไหมล่ะ
ก็เป็นที่มา ของคำแนะนำในการเลิกบุหรี่นั่นเองครับ เพื่อลดความเสี่ยงในภาพรวม
อันนี้เราพูดถึงแต่ตัวแปรแค่ตัวเดียว คือ บุหรี่ กับผลแค่อย่างเดียว คือ มะเร็งปอด ซึ่งมันง่าย แต่ในความเป็นจริงคนร้อยคนที่มาเข้าการศึกษาก็มีสิ่งที่ต่างกันออกไป ไม่ว่า อายุ เพศ โรคเดิมที่เป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมมีควันหรือไม่ ดื่มเหล้าด้วยหรือเปล่า ปัจจัยแปรปรวนเหล่านี้ เราใช้กระบวนการทางวิชาสถิติ เพื่อลดความแปรปรวนต่างๆเหล่านี้นั่นเอง
ผมจึงกล่าวว่า ความเสี่ยงหรือความสัมพันธ์ที่ได้จากกระบวนการเก็บข้อมูลทางสถิตินั้น มันไม่ได้บอกว่าเป็นสาเหตุ 100% มันมีความแปรปรวน
แต่เมื่อเราใช้การศึกษาหลายๆอัน ทำซ้ำในหลายๆกลุ่มคน มีการเกลี่ยความแปรปรวนด้วยวิธีการทางสถิติต่างๆ เป็นร้อยๆการศึกษา เอามารวบรวมและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้ความแปรปรวนคลาดเคลื่อนนั้น..ลดลง
เวลาเขียนในตำรา คำแนะนำต่างๆ เราจะใช้การศึกษาเป็นสิบๆ กลุ่มตัวอย่างเป็นหมื่นเป็นแสนมารวมกันครับ ทำให้ความแม่นยำสูงมาก (แต่อย่างไรก็ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ จึงจะยังมีกรณียกเว้นให้เห็นอยู่เนืองๆนั่นเอง)
หวังว่าในสองตอนนี้คงตอบคำถามและให้ความชัดเจนเรื่องความเสี่ยงต่างๆที่ไม่เท่ากันในแต่ละคนได้นะครับ
เรื่องของการลดความเสี่ยง ความเสี่ยงบางอย่างถ้ามีแล้วโรคมากขึ้น แต่ถ้าเราลดลงโรคก็ไม่ได้ลดลง มันก็มีนะครับ หรือความเสี่ยงบางอย่างแปลผลทางห้องทดลองได้ดี แต่ว่าในการนำมาใช้จริงกลับใช้ผลอันนั้นได้ไม่มากนัก มันก็จะยากขึ้น ผมพยายามที่จะทำให้ง่ายและยกตัวอย่างที่ชัดๆ ให้เข้าใจกัน แต่ไม่รู้มีคนอยากฟังอีกหรือไม่ เพราะดูจะยากขึ้นๆ มันจะกลายเป็น "อายุรศาสตร์ ยากมากมาย"
นับยอดแล้วกัน ใครเดินไปถอดปลั๊กไฟที่ไม่ใช้แล้วมากดไลค์ เกิน 100 ไลค์ ผมจะเหมาเอาเองว่ามีคนอยากฟังอีก ก็จะทยอยลงให้นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น