18 กุมภาพันธ์ 2561

ความเป็นมาของการให้เลือดตรงหมู่

ทำไมต้องให้เลือดตรงกลุ่ม เลือดฉันหมู่ใด มันมีที่มาอย่างไร เคยสงสัยกันบ้างไหม..เอาล่ะไปชงกาแฟมา หาเก้าอี้นุ่มๆนั่ง ขนมปังอุ่นๆสักชิ้นแล้วมาฟังเรื่องราวกัน

  ในสมัยโบราณนั้นเรามีความเชื่อว่าร่างกายมีของเหลวสี่ชนิดและถ่ายเทไปมาได้ สมดุลของของเหลวในตัวที่ผิดไปทำให้เกิดโรค ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่ก่อนยุคกลาง มาสู่ยุคมืด จนมาถึงยุคฟื้นฟู ผู้ที่ให้ความกระจ่างกับพวกเราคือ วิลเลียม ฮาร์วีย์ แพทย์ผู้ทำการศึกษาระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจจนพบว่าระบบนี้เป็นระบบปิด เลือดไหลเวียนทั่วร่างวนแล้ววนเล่าโดยมีปั๊มคือหัวใจ  มีการสร้างเลือดและสลายเลือดด้วยอัตราที่เท่าๆกันทุกวัน
  ปัญหาอยู่ที่หากมีการเสียเลือดที่เร็วกว่าการสร้างของร่างกาย เช่น อุบัติเหตุ หลอดเลือดฉีกขาด ตกเลือดเวลาคลอด เราจะเอาที่ไหนมาทดแทน

  แน่นอนก็ต้องให้เลือด หลายคนบอกว่าทุกวันนี้ให้น้ำเกลือนี่ ก็จริงอยู่ครับการให้น้ำเกลือทำเพียงเพื่อรักษาระบบไหลเวียนให้คงที่ แต่มันไม่ใช่เลือด มันไม่มีเม็ดเลือด ไม่มีโปรตีน ไม่มีสารอาหาร ถ้าขาดเลือดจนมีอาการไหลเวียนบกพร่องการให้เลือดก็ยังเป็นคำตอบสุดท้ายอยู่ดี

  ปี 1665 Richard Lower ได้ทดลองถ่ายเลือดจากสุนัขตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง สำเร็จเป็นครั้งแรก ไม่ตาย ต่อสายตรงๆเลยนะจากหลอดเลือดแดงที่คอต่อไปหลอดเลือดดำที่คอของตัวที่จะรับ 

  ปี 1667 แพทย์ชาวฝรั่งเศสสองคน Denys และ Emmerez ทดลองถ่ายเลือดจากแกะมาสู่คน ก็แน่นอนเริ่มมีปัญหาตั้งแต่คนแรกๆ (ก็แหงล่ะนะ) คนที่สองนี่เกิดไข้ ปัสสาวะสีดำ อันเป็นอาการแสดงที่สำคัญของเม็ดเลือดแดงแตกนั่นเอง ผู้ป่วยรายที่สาม Jean Baptist Denys ได้ทดลองถ่ายเลือดอีกครั้ง ครั้งนี้สำเร็จแต่ทว่าสำเร็จแต่เพียงครั้งแรก การให้เลือดครั้งที่สองเขาเกิดอาการไข้ ปัสสาวะดำเหมือนคนไข้คนที่สอง   Denys ทำการทดลองครั้งที่สาม ปรากฏว่าคนนั้นเสียชีวิต  แน่นอนเขาถูกฟ้องร้อง แต่ในวารสารที่ผมค้นมา ญาติผู้เสียหายให้การว่า เดนนิสวางยาพิษด้วยเลือดทำให้คนไข้ตาย ศาลตัดสินว่าผิดและประกาศการให้เลือดเป็นสิ่งต้องห้าม สิ่งนี้ถือเป็นคำสาปทางการรักษาไปเลย ทำให้การศึกษาและแนวคิดเรื่องการให้เลือดยุติไปเกือบ 200 ปี  

  จนกระทั่งในปี 1818 (ปี พ.ศ. 2351) สูตินรีแพทย์ชาวอังกฤษ James Blundell ได้กลับมาใช้การถ่ายเลือดจากคนอีกครั้งแต่ครั้งนี้เป็นการส่งตรงจากเลือดคนสู่คน  ในการรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด เจ็ดปีที่เขาทดลองกับคนตกเลือดสิบคน รอดห้าราย ด้วยเครื่องมือที่เขาคิดขึ้นเองเพื่อให้เลือดให้เร็วไม่งั้นเลือดจะแข็งและต้องระวังอากาศเข้าหลอดเลือด โดยใช้หลอดฉีดยาเป็นตัวดันเลือดเข้าร่างกายคนไข้ให้เร็วพอ เป็นเครื่องมือที่เรียกว่า impeller and gravitator ดูดเลือดผู้บริจาคไปใส่อุปกรณ์ที่ตั้งสูง ให้อากาศลอยขึ้นแล้วใช้แรงดันหลอดฉีดยากับแรงโน้มถ่วงผลักเลือดเข้าตัวคนไข้โดยเร็ว
   ภายหลังปี 1825 การให้เลือดด้วยวิธีนี้ก็แพร่หลาย ทำให้ Blundell ขายสิทธิบัตรเครื่องนี้จนร่ำรวย แต่ว่า ปัญหาเรื่องการให้เลือดแล้วมีปัญหาเลือดแดงแตกออกยังคงมีต่อไป

  ปี 1901 Karl Landsteiner นักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาภูมิคุ้มกัน แพทย์ ชาวออสเตรีย ได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังว่าทำไมบางคนรับเลือดกันได้ บางคนรับเลือดไม่ได้ สิ่งที่เขาพบคือ เม็ดเลือดของแต่ละคนจะถูกกำหนดด้วยโมเลกุลโปรตีนที่เกาะอยู่บนเม็ดเลือดแดง เพื่อใช้ระบุหมู่เลือดเรียกว่า แอนติเจน คือ แอนติเจน A หรือและ แอนติเจน B หากมีแอนติเจน A ก็เรียกว่าหมู่เลือดเอ มีแอนติเจน B ก็เรียกว่าหมู่เลือดบี มีทั้ง A และ B ก็คือหมู่เลือด AB

  ในขณะที่น้ำเลือดก็จะมีแอนติบอดี คือ สารที่จะมาจับแอนติเจนนั่นเอง เลือดหมู่ A ก็จะไม่มีแอนติบอดี A เพราะถ้ามีตรงกันมันจะจับกันเองตกตะกอน ส่วนหมู่เลือด AB ก็จะไม่มีแอนติบอดีทั้ง A และ B ดังนั้นถ้าเราให้เลือดข้ามกลุ่มก็จะเกิดปัญหา ยกเว้นหมู่เลือดเอบี ที่ไม่มีแอนติบอดีก็จะรับได้ทุกกลุ่ม
   แลนด์สไตนเนอร์ ระบุเลือดที่ไม่มีแอนติเจน แต่มีแอนติบอดีทั้งเอและบี เรียกว่าหมู่เลือด C ปัจจุบันนี้คือหมู่เลือด O นั่นเอง จะรับเลือดจากหมู่โอด้วยกันได้เท่านั้น

  ด้วยการค้นพบนี้ทำให้แลนสไตนเนอร์ ไขความลับของปฏิกิริยาของการให้เลือดผ่านระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้สำเร็จ โดยทำการทดสอบเรื่องการใช้หมู่เลือดที่ตรงกันเป็นครั้งแรกและประสบความสำเร็จสูงมากที่โรงพยาบาล Mt.Sinai ที่นิวยอร์ก ในปี 1907...อ้อ เขามาทำวิจัยต่อที่อเมริกานะครับ...และด้วยหลักการนี้ สามารถรักษาชีวิตทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้มากมายด้วยการถ่ายเลือดที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น  และยังทราบถึงกลไกการเกิดโรคเลือดแตกในเด็กทารกได้ด้วยเพราะรับแอนติบอดีต่างกลุ่มจากแม่ไปนั่นเอง

  ปี 1930 แลนสไตเนอร์ได้รับรางวัลโนเบลด้วยผลงานการค้นพบทางวิทยาภูมิคุ้มกันและหมู่เลือด ทำให้เขามีแรงบันดาลใจ และคิดค้นหมู่เลือดย่อยๆที่สำคัญได้อีกมากมาย โดยเฉพาะ หมู่ Rhesus ที่เราคุ้นเคยกันว่า Rh+ หรือ Rh- นั่นเอง

  สาระเบาๆ ผสมเรื่องราวที่มีที่มาที่ไป น่าจะทำให้เช้าวันอาทิตย์นี้สดใสนะครับ

   เครดิตภาพ : bensamfitness.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม