เรียกว่ากำลังโด่งดังมากกับยาเดิมแต่การศึกษาใหม่ colchicine
ยาเก่าแก่นี้ใช้มานานมาก ใช้มากที่สุดในโรคเก๊าต์โดยเฉพาะเวลาเก๊าต์กำเริบ เรียกว่าตัวนี้เอาอยู่ เอาจริงแล้วยาตัวนี้คุณสมบัติมันไม่เจาะจงเท่าใดนัก จึงมีที่ใช้ได้หลากหลายมากมาย และโรคทั้งหมดที่ใช้ colchicine เป็นโรคของการอักเสบ
กลไกการทำงานของมันจะเข้าใจยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนชีววิทยามา สรุปง่าย ๆ ว่าตัวยามันไปยับยั้งอวัยวะในเซลล์ที่ชื่อว่า microtubule และการสร้างสาร tubulin ทั้งสองอย่างจำเป็นอย่างยิ่งในการแบ่งตัวของเซลล์ ไม่ว่าจะเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือเซลล์แห่งการอักเสบทั้งหลาย ไม่สามารถแบ่งตัว ไม่สามารถขยับเซลล์ไปสู่บริเวณปัญหาได้ เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวไม่ไปหา การอักเสบก็ลดลง นอกจากโรคเก๊าต์ก็มีที่ใช้ในเก๊าต์เทียม โรคเบเช็ต (Behcet's disease) ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Dressler's syndrome)
ผลข้างเคียงที่สำคัญคืออาการทางระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียนท้องเสีย และปฏิกิริยาระหว่างยาอีกมากมายและรุนแรงทั้งนั้น ทำให้ colchicine ได้รับความนิยมและใช้ลดลงมากในปัจจุบัน
แล้วไปยุ่งอะไรกับโรคหัวใจ ... นอกจากภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่นิยมใช้ colchicine แล้วในช่วงปี 2009-2013 มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับการลดสารอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจขาดเลือดหลายอย่างเช่น NLRP-3 inflammasome activation ที่เกี่ยวกับการหายของกล้ามเนื้อหัวใจหลังบาดเจ็บจากขาดเลือด หรือคนไข้ที่ได้รับ colchicine จะพบสารอักเสบในหลอดเลือดลดลง สารเหล่านี้สัมพันธ์กับการเกิดการอักเสบและอุดหลอดเลือดเช่น VEGF
มีการศึกษาก่อนหน้านี้ศึกษาแบบสังเกต หรือศึกษาย้อนหลังว่า colchicine มีผลในการลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจซ้ำ มีการศึกษาในโรคหัวใจตีบเรื้อรังออกมาบ้างแต่ขนาดเล็กมาก และมีการศึกษาแบบ systematic review ตีพิมพ์ใน Cochrane ปี 2016 สรุปว่าการใช้ colchicine เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจซ้ำ มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ยังไม่ลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวม มีการศึกษาแบบทดลอง RCT ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้วให้ colchicine เพื่อป้องกัน ลงใน circulation 2015 พบว่าลดขนาดกล้ามเนื้อที่ตายลงได้ (ใช้การตรวจ MRI) ลดสารอักเสบต่าง ๆ ลงได้ แต่รูปแบบการศึกษายังไม่สามารถพิสูจน์ว่าลดอัตราการเสียชีวิตหรือเกิดโรคได้
จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ การศึกษา COLCOT ออกมาประกาศในงานประชุมแพทย์โรคหัวใจอเมริกา ศึกษาการใช้ยา colchicine ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันที่จะเข้าทำการฉีดสี ได้รับการรักษายุคปัจจุบันแบบฟูลคอร์ส และเกือบทั้งหมดเข้าทำบอลลูนหลอดเลือดและใส่ขดลวด แบ่งกลุ่มเปรียบเทียบกันระหว่างให้ยา colchicine วันละเม็ดกับไม่ให้ยา (ยาหลอก) ว่าการเกิดโรคหลอดเลือดซ้ำจะต่างกันไหม (ใช้คำว่า โรคหลอดเลือด เพราะเป็นการรวมหลาย ๆ โรค หลาย ๆ อาการ)
ติดตามไปเกือบสองปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับยา colchicine มีผลรวมการเกิดโรคหลอดเลือดต่ำกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ !!! แถมผลเสียแทบไม่เกิด...หยุด สต็อป อย่าอ่านแค่นี้แล้วแจกยา
1. ถึงแม้ผลสัมพัทธ์ระหว่างสองกลุ่มจะต่างกัน 5.5% กับ 7.1% เทียบสัมพัทธ์คือลดลงมากกว่ากลุ่มยาหลอก 23% และมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ถ้ามาดูตัวเลขจริงเอา 7.1 ลบ 5.5 คือต่างกันเพียง 1.6% เท่านั้น
2. และที่บอกว่าผลรวมโรคหลอดเลือดคือเอาผลย่อย ๆ มารวมกัน 5 อย่าง เมื่อมามองผล "แต่ละอย่าง" พบว่าประโยชน์ที่ได้ยิ่งเล็กลงไป (ถึงใช้ composite endpoint ไงครับ มันเร็วกว่าง่ายกว่า) ผลแต่ละอย่างช่างเบาบางเหลือเกิน แถม "ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติอีกด้วย" สองอันที่พอมีนัยสำคัญคือ การเกิดอัมพาต กลุ่มที่ได้ยาเกิด 0.2% ยาหลอกเกิด 0.8% และอีกอันคือการเข้าโรงพยาบาลเพราะเจ็บหน้าอก 1.1% กับ 2.1% เบาบางไหมครับ
โอเค แต่มันก็ใช้ได้ตามการศึกษา ออกมาแบบนี้นี่ (จริง ๆ ความรุนแรงของโรคก็ไม่มากด้วยนะ) คงต้องรอดูการศึกษาเพิ่มมากกว่านี้แน่นอน แค่นี้ยัง "เบาบางเกินไป"
นิทานเรื่องนี้สอนสองอย่าง
1. อ่านให้จบ วิเคราะห์ให้รอบคอบ ดังนั้นต้องอ่านเป็น ต้องฝึก ทักษะในการหาข้อมูลและจัดการข้อมูล คือ สิ่งสำคัญมากในโลกยุคนี้และยุคหน้า อย่าอ่านแต่พาดหัวเด็ดขาด ข่าวที่ออกมาน่ากลัวมาก "colchicine ลดการตายในผู้ป่วยโรคหัวใจ"
2. มองทะลุไปอีกนิด การเกิดโรคซ้ำที่น้อยมากแบบนี้ แสดงถึงว่าหากเกิดเหตุแล้ว ทำตามมาตรฐานการรักษาเต็มที่ อย่างในการศึกษานี้ทำมากกว่า 90% ผลลัพธ์มันออกมาดีตั้งแต่ต้นแล้ว จะใช้หรือไม่ใช้ colchicine ไม่สำคัญ ..สำคัญที่ของจำเป็นที่ต้องทำ ทำแล้วหรือยัง การรักษาที่ต้องทำ ทำแล้วหรือยัง ทำที่ต้องทำ ทำที่พิสูจน์แล้วว่าดีให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อน ก่อนจะไปไขว่คว้าหา อัศวินคนใหม่ในฝัน
ส่งท้าย
"กินลุงหมอที่เห็นแบบชัดชัด ดีกว่ารอกินก้องสหรัถแบบเพ้อเพ้อ"
"กินลุงหมอที่เห็นแบบชัดชัด ดีกว่ารอกินก้องสหรัถแบบเพ้อเพ้อ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น