06 พฤศจิกายน 2562

เดินทางนาน ๆ จะแข็งไหม

เดินทางนาน ๆ จะแข็งไหม
คำแนะนำการป้องกันลิ่มเลือดดำอุดตันของสมาคมแพทย์โรคเลือดของอเมริกามีคำแนะนำออกมาในปี 2018 เกี่ยวกับการป้องกันลิ่มเลือดอุดตันเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมีแถมเรื่องการป้องกันหากต้องเดินทางนาน ๆ จะทำอย่างไร
คำว่าเดินทางนาน ๆ ของเขาคือเดินทางตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป นั่งหรือนอนเฉย ๆ โดยเฉพาะนั่งห้อยเท้านาน ๆ อย่างเช่นภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันบนเครื่องบินที่เรียกว่า economy class syndrome จริง ๆ ชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่งก็มีรายงานนะครับ ประเด็นคือนั่งนานลุกน้อย อย่างท่านที่เดินทางในกทม. เย็นวันศุกร์หลังเลิกงานที่ฝนตกและน้ำท่วม น่าจะใช้เวลาพอ ๆ กับเดินทางไปฟิลิปปินส์เลย
จริง ๆ แล้วสิ่งที่ควรทำคือจิบน้ำบ่อย ๆ ลุกนั่งยืนเดิน บริหารกล้ามเนื้ออย่างที่อยู่ในกระเป๋าหน้าที่นั่งของท่าน เป็นคำแนะนำสำหรับคนปรกติทั่วไป แต่ถ้ามีความเสี่ยงการเกิดเลือดดำอุดตันสูงกว่าปรกติล่ะ จะทำอย่างไร
ความเสี่ยงนั้นเช่น เคยเป็นลิ่มเลือดดำอุดตันมาก่อน เป็นมะเร็ง มีโรคหลอดเลือดอักเสบ เลือดแข็งตัวง่าย กินยาบางชนิดเช่น lenalidomide ใช้การรักษาชดเชยฮอร์โมนในคนที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิง หลังคลอด หลังผ่าตัดช่องท้องใหม่ ๆ คนกลุ่มนี้เสี่ยงมากกว่าคนปรกติ คำแนะนำคือ ใช้อุปกรณ์บีบรัดน่อง ถุงน่องที่ออกแบบมาพิเศษ รัดเท้ามากกว่าน่อง รัดส่วนปลายแรงและค่อย ๆ ผ่อนลงเมื่อรัดสูงขึ้น คือการบีบไล่เลือดเข้าหาตัวนั่นเอง เรียกถุงน่องประเภทนี้ว่า Graduated Compression Stockings
หรือจะเลือกฉีดยา low molecular weight heparin ที่ฉีดใต้ผิวหนังออกฤทธิ์ยาวนานเกือบวัน แทนการรัดน่องก็ได้ แน่นอนโอกาสเลือดออกมากกว่าบีบน่อง แต่ประสิทธิภาพก็สูงกว่าเช่นกัน
ทั้งหมดข้างต้นเป็นคำแนะนำที่มีหลักฐานไม่มากนัก และเลือกใช้เป็นกรณีไป ไม่ได้ทำทุกคน ต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์และโทษด้วย
ในกรณีที่ใช้อุปกรณ์บีบน่องก็ไม่ได้ ฉีดยากันเลือดแข็งก็ไม่ได้ ก็มีคำแนะนำในการใช้แอสไพรินเพื่อป้องกันเช่นกัน แต่น้ำหนักหลักฐานเบาหวิวมาก ไม่ได้เป็นคำแนะนำที่ควรทำหรือต้องทำ เป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น
คนปรกติทั่วไปเดินทางก็ไม่ต้องฉีดยากินยาหรือรัดน่องแต่อย่างใดครับ อ้อ..ใครอยากฟังสรุปแนวทางป้องกันลิ่มเลือดอุดตันฉบับนี้บ้าง ไปปิดไฟที่ไม่ใช้คนละหนึ่งดวงแล้วมารายงานตัวด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม