29 พฤศจิกายน 2562

แผลไฟไหม้

ถ่านไฟเก่า ... โหมกระพือ มอดไหม้ และร้อนแรง ดังที่พี่เบิร์ดกล่าวไว้
"...เขากลับเข้ามาให้เธอเห็นใจ และขอให้เธออภัย แล้วฉันต้องทำอย่างไร.."
ทำอย่างไรน่ะหรือ
อย่างแรก ... ถ่านไฟที่มอดไหม้ ถือเป็น tetanus-proned wound มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดบาดทะยัก ยิ่งเกิดกับแผลจากไฟไหม้ด้วยแล้ว การพิจารณาให้ยาป้องกันบาดทะยักจำเป็นมาก
อย่างที่สอง ... ถ่านไฟที่มอดไหม้ ยิ่งแผดเผารุนแรงเป็นวงกว้าง จะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อมากขึ้น การทำแผลอย่างสะอาดคือปัจจัยป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด ข้อมูลของการใช้ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่คือแบบทาที่แผลนั่นแหละ ที่นิยมใช้เช่น silver sulfadiazine, silver nitrate มีทั้งช่วยลดการเกาะตัวของเชื้อ (colonisation) และลดการติดเชื้อ แต่ก็มีหลายการศึกษาบอกว่าเพิ่มการติดเชื้อ แล้วจะเชื่ออันใดดี
จากการทำ systematic review ใน BMJ และ Cochrane พบว่าลดการติดเชื้อได้ แต่ข้อมูลยังกระจัดกระจายและมีข้อมูลจากการศึกษาทดลอง RCTs ไม่มากนัก ถ้าจะใช้ต้องใช้ร่วมกับการทำแผลที่ดีครับ
อย่างที่สาม.. ถ่านไฟที่มอดไหม้ มันทำอะไรเรามากไม่ได้ การให้ยาฆ่าเชื้อแบบกินหรือฉีด เพื่อหวังผลป้องกันการติดเชื้อรุนแรง ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์ในภาพรวม อาจจะเกิดประโยชน์บ้างในผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและในคนที่ต้องรักษาโดยการปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft) ซึ่งประโยชน์ "บ้าง" ที่ว่านี้ไม่ได้มาจากหลักฐานที่หนักแน่นนัก
ปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำมาตรฐานว่าจะต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อทุกรายไป
สำหรับลุงหมอแนะนำให้คนที่ต้องเจอถ่านไฟเก่าว่า เข้มแข็งมาก ๆ นะครับ ...อย่าได้ปล่อยฉันตายในกองไฟ
ที่มา
1. Avni Tomer, Levcovich Ariela, Ad-El Dean D, Leibovici Leonard, Paul Mical. Prophylactic antibiotics for burns patients: systematic review and meta-analysis BMJ 2010; 340 :c241
2.Takashi Tagami, Hiroki Matsui, Kiyohide Fushimi, Hideo Yasunaga, Prophylactic Antibiotics May Improve Outcome in Patients With Severe Burns Requiring Mechanical Ventilation: Propensity Score Analysis of a Japanese Nationwide Database, Clinical Infectious Diseases, Volume 62, Issue 1, 1 January 2016, Pages 60–66, https://doi.org/10.1093/cid/civ763
3.อันนี้เขียนมาแย้งข้อสอง มันมาก James C. Hurley, Prophylactic Antibiotics for Severe Burns: Are They Safe?, Clinical Infectious Diseases, Volume 62, Issue 9, 1 May 2016, Pages 1191–1193,
4.Barajas‐Nava LA, López‐Alcalde J, Roqué i Figuls M, Solà I, Bonfill Cosp X. Antibiotic prophylaxis for preventing burn wound infection. Cochrane Database of Systematic Reviews 2013, Issue 6. Art. No.: CD008738. DOI: 10.1002/14651858.CD008738.pub2.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม