17 มกราคม 2561

กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนที่พบบ่อย

อันตรายอันดับต้นๆของผู้สูงวัย หรือ ผู้มีประสบการณ์ทางอายุนั้นคือ หกล้ม เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะนำพาไปสู่กระดูกหัก เดินไม่ได้ ข้อติด แผลกดทับ สูดสำลัก ติดเชื้อ หมดสภาพการทำงาน ซึมเศร้า เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องหกล้มมาก
  ผู้สูงวัยมีแนวโน้มล้มง่ายกว่าหนุ่มสาว เพราะหลายปัจจัย สายตาไม่ดี ประสาทรับสัมผัสที่เท้าไม่ดี กำลังกล้ามเนื้ออ่อนลง ท่าทางการเดินผิดไป แถมถ้าล้มก็จะเกิดกระดูกหักได้ง่ายเนื่องจากกระดูกบาง กระดูกพรุนนั่นเอง

  ข้อที่หักบ่อยๆก็ข้อมือ เพราะเอามือลงรับน้ำหนัก แต่ว่าปัญหาน้อยเพราะสามารถรักษาได้ดี ทั้งจับกระดูกเข้าที่หรือผ่าตัด  แต่การหักที่ถือว่าอันตรายและอาจนำพาสู่ผลเสียได้มากคือ กระดูกสะโพกและกระดูกสันหลัง ยาที่ใช้รักษากระดูกพรุนก็จะบอกไว้เลยว่าป้องกันกระดูกส่วนใดได้ ไม่ใช่ว่ายามันจะไปออกฤทธิ์ที่ตรงนั้นนะ แต่เพราะการศึกษามันพบความสัมพันธ์แบบนั้นต่างหาก

  จุดแรก จุดนี้สำคัญสุด กระดูกสะโพก อาจหักแล้วเคลื่อน ปวดมากขาผิดรูป อันนี้วินิจฉัยไม่ยาก แต่ที่ยากคือหักแต่ไม่เคลื่อน รอยหักไม่มาก ยังเดินได้ทรงตัวได้ ไม่ปวด ต่อเมื่อมันร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ อาการผิดรูปและปวดก็จะแสดงชัดเจน อัตราการเสียชีวิตถ้าไม่ซ่อม 10-30% ในปีแรกเลย ดังนั้นถ้าล้มควรไปพบแพทย์นะครับ
  การรักษาแนะนำการผ่าตัดนะครับ กลุ่มที่ไม่ผ่ามีแค่เสี่ยงสูงมากๆๆ จากการผ่าตัด และเพราะปัจจุบันเรารักษาโรคเดิมที่เสี่ยงได้ดีไม่ว่าโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต และการผ่าตัดก็พัฒนาไปมาก โอกาสอันตรายจากการผ่าตัดก็ลดลง  การผ่าตัดมีทั้ง เปลียนข้อ หรือยึดตรึงด้วยเหล็ก

 **เน้นว่าควรผ่ามากๆ*

  จุดที่สองกระดูกสันหลัง ประวัติมักจะเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อยเช่นก้นกระแทก ก้มยกของ เพราะกระดูกจะพรุนเอาไว้คอยท่าอยู่แล้ว อาจตรวจพบเตี้ยลง หรือบางทีพบโดยบังเอิญเวลาถ่ายภาพเอ็กซเรย์  อัตราการเสียชีวิตจากกระดูกสันหลังหักนี้น้อยกว่ากระดูกสะโพกคือแค่  5-10%
  การรักษาให้ตกลงกันระหว่างแพทย์กับคนไข้ อาจเลือกใช้ยาลดปวด และรักษากระดูกพรุนและทำกายภาพ บางรายก็เลือกการผ่าตัด ไม่เหมือนกับการผ่าข้อสะโพกที่ควรต้องผ่าตัดแก้ไข
 การผ่าตัดทำเมื่อกระดูกสันหลังไม่มั่นคงแข็งแรง ซึ่งอาจผ่าเล็กๆเช่นฉีดกาวซีเมนต์หรือผ่าแบบเปิดเลยก็มีซึ่งน่าจะน้อยลงๆไปเรื่อยๆ

 สำหรับการป้องกันคือการออกกำลังกาย(ตั้งแต่ประสบการณ์ทางอายุไม่มาก) การกินอาหารครบ ถ้าไม่ครบเสริมนมสักกล่องต่อวัน หากเป็นโรคกระดูกพรุนก็ควรเข้ารับการรักษาและใช้ยาตามกำหนด ระวังทางเดินให้ไม่รกเกะกะ แสงสว่างพอ มีไม้เท้า มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้โทร 1669 เวลาล้ม สมัยก่อนมีรุ่น อาม่า ปุ่มกดใหญ่มาก มีปุ่ม SOS ด้วย

  หกล้มในผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นั่นแน่..สะดุ้งเลยล่ะสิ ว่าที่คุณล้มเมื่อวานนี้ ฉันจะหักไหมนะ

  ที่มาจากเรื่อง กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนที่พบบ่อย ของ อ.อาศิส อุนนะนันทน์ ในหนังสือ พฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุสำหรับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุขั้นต้น  ...อภินันทนาการจาก ท่านอาจารย์ ชโลบล เฉลิมศรี ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม