06 มกราคม 2561

ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่ต่างกันมาก

จากข่าวสั้นเมื่อวันก่อนเรื่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลายท่านก็เริ่มสงสัยในวัคซีนว่าฉีดไปก็ยังเป็นไข้หวัดอยู่ดี จะฉีดต่อดีไหม จึงอยากมาบอกคร่าวๆว่า อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะข่าวการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่แต่ละปีออกมานั้นดูช่างน่ากลัว
อย่างแรกก่อน การระบาดนั้นอาจเพิ่มระดับการเฝ้าระวังและการสอบสวนโรค คือ ทำการเฝ้าระวังทุกรายที่มีอาการแต่ว่าจะถือว่ารายนั้นเป็นเมื่อมีการยืนยัน confirmed case การสงสัยเพื่อเพิ่มระดับการระวังมักออกข่าวแต่ว่ารายที่ได้รับการยืนยันจริงเท่าไร มีแต่รายงานทางวิชาการ ไม่ได้ออก CNN แต่อย่างใด ข่าวจะเพิ่มความตระหนกกับคนที่มีอาการไข้หวัดว่าฉันจะเป็นแบบในข่าวหรือไม่
ทำให้เวลาเป็นหวัดขึ้นมาทุกคนมักจะได้รับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) และได้รับการแปลผลต่างๆไป
จริงอยู่ว่าอาการของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่อาการจะคล้ายกันมาก ในคนแข็งแรงดีแทบไม่ต่างกัน แต่ในคนที่ร่างกายอ่อนแอ มีโรคปอด เด็ก จะมีอาการที่รุนแรงและส่วนมากเป็นอาการทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ไอ หอบ จนไปถึงระบบการหายใจล้มเหลว
ดังนั้น ข้อมูลเรื่องฤดูระบาด การสัมผัสแหล่งโรค โรคร่วมที่เป็นโดยเฉพาะโรคปอด จะมีส่วนสำคัญมากในการวินิจฉัย และเมื่อไปใช้ร่วมกับผลตรวจจะทำให้แม่นยำขึ้น
ประวัติการได้รับวัคซีน...ไม่มีส่วนสำคัญในการวินิจฉัยหรือให้การรักษา ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ฉีดวัคซีนนะครับ มันเป็นคนละส่วนกัน
ทำไมต้องแยกด้วย...ในเมื่อมันเป็นไวรัสอย่างไรก็หายเองได้ ...มันก็จริงส่วนหนึ่งที่ว่าหายเองได้ จริงเฉพาะคนที่แข็งแรงดีและโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนต่ำๆเท่านั้น สำหรับไข้หวัดใหญ่จะต่างจากไข้หวัดตรงที่ ไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนรุนแรงได้ และโอกาสเกิดโรคจะเกิดกับคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง
เราจึงต้องแยกว่าใช่หรือไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ และ คนที่ติดเชื้อนั้นแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง และการรักษาไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เริ่ม คือ ภายใน 48 ชั่วโมงแรกจะมีประสิทธิภาพสูง (ในบางกรณีการรักษาหลัง 48 ชั่วโมงแรกยังพอมีประโยชน์ เช่น โอกาสเกิดโรคแทรกสูงๆ หรือ ต้องเข้มรักษาในโรงพยาบาล หรือ หายใจล้มเหลว)
แข็งแรง ไม่แข็งแรง...ดูง่ายกว่า เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี, ชราเกิน 60, ตั้งครรภ์, มีโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน เอชไอวี ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันต่ำ ขาดอาหาร คนกลุ่มนี้ถ้าติดเชื้อไข้หวัดอาจไม่มีอันตรายมากมาย แต่ว่าไข้หวัดใหญ่จะทำให้เกิดอัตราตาย ผลแทรกซ้อนมากมายได้
ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ... อาการก็แยกยากจากโรคหวัด ตรวจร่างกายและเอกซเรย์ก็แยกยากจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เราจึงต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วย..ร่วมกับ ..ข้อมูลการระบาดในเวลานั้นของท้องถิ่นนั้นๆมาประกอบการแปลผล เสมอ !!!
ห้ามจับตรวจทดสอบแล้วเห็นว่าได้ผลอย่างไรก็แปลตามนั้น ไม่ได้ ไม่ได้ โน้ว โนว...
การทดสอบที่ถือว่าแม่นยำและเป็นมาตรฐานคือการตรวจ RT-PCR ได้ผลในไม่กี่ชั่วโมง ความไวและความจำเพาะสูง แยกชนิดไวรัส Influenza Aและ B ได้ แยกแอนติเจนของไวรัสชนิดเอ HxNx ได้ด้วย ถือว่าดีมากเพราะการแยกได้จะส่งผลต่อการให้ยารักษาแต่ละชนิดครับ แต่ในทางปฏิบัติเราทำได้ยาก ที่เรามักจะใช้กันคือ Rapid Diagnostic test เป็นการตรวจหาแอนติเจน หรือชิ้นส่วนของไวรัส
การทดสอบนี้ผลที่ออกมาแล้วแต่ว่าใช้ของบริษัทใด บางบริษัทแยกชนิด Aและ B บางบริษัทตรวจได้แต่ชนิด A การตรวจแบบนี้มีความไวในการวินิจฉัยไม่สูง 40-60% แต่มีความจำเพาะสูง หมายความว่ามีโอกาสที่เราเป็นโรคแล้วตรวจไม่พบได้ การแปลผลจึงต้องอาศัย การระบาดของโรคด้วย
ถ้าผลออกมาเป็นบวก ในฤดูระบาด หรือมีการสัมผัสโรคในบริเวณที่เป็นพื้นที่ปิด เช่น ในโรงเรียน ค่ายลูกเสือ บ้านพักคนชรา อย่างนี้ถือว่าโอกาสบวกจริงสูงมาก แต่ถ้าไม่มีประวัติสัมผัสโรคก็มีโอกาสบวกปลอมสูงมากเช่นกัน
ถ้าผลออกมาเป็นลบ นอกฤดูระบาดหรือไม่ได้สัมผัสโรค ก็ถือว่าโอกาสลบจริงสูงมาก แต่ถ้าอยู่ในช่วงพีคๆของการระบาด แถมอยู่ในห้องเดียวกับคนที่ป่วยสักสัปดาห์มาแล้วมีอาการไข้หวัดใหญ่ เอามาตรวจผลเป็นลบอันนี้แหละที่ต้องระวังว่าโอกาสลบปลอมสูงมาก
ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลปลอมขึ้นให้ส่งตรวจวิธีอื่นเพิ่มเติมครับ ดังนั้นกว่าที่จะวินิจฉัย "ไข้หวัดใหญ่" ต้องมีกระบวนการพอสมควร ยิ่งไปกว่านั้นการพิจารณาให้ยาชนิดต่างๆ หรือตามโอกาสการเกิดโรคแบบต่างๆ ก็จะมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้ความจริงที่ว่า "ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่ต่างกันมาก" นั่นเอง
การตรวจ วินิจฉัยและรักษาแบบต่างๆ ของ CDC และ IDSA สองอันนี้ สำหรับผมคิดว่าคือสุดยอดของไข้หวัดใหญ่แล้ว ใครสนใจไปดาวน์โหลดมาอ่านได้ ผมทำลิงค์มาให้แล้ว ที่สำคัญ ฟรีตามเคย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม